วันพุธ, กรกฎาคม 09, 2568

วิสัยทัศน์ของผู้นำเวียดนามในสมรภูมิสงครามภาษีกับทรัมป์

https://www.eliteplusmagazine.com/Article/1179/Vietnam_s_Gamble_to_Reduce_Tariffs_May_Have_Paid_Off

Kamol Kamoltrakul
Yesterday
·
วิสัยทัศน์ของผู้นำเวียดนามในสมรภูมิสงครามภาษี
กมล กมลตระกูล
นักวิเคราะห์กล่าวว่า ในขณะที่ทีมเจรจาไทยที่เดินทางไปต่อรองเรื่องสงครามภาษีของทรั๊มป์ ซึ่งมีผลผลกระทบและสร้างแรงเสทือนต่อเศรษฐกิจต่อประเทศต่างๆทั่วโลก เพราะอเมริกาเป็นตลาดใหญ่ที่นำเข้าสินค้าจากทั่วโลก นั้น “ ไทยไปมือเปล่า และกลับมาด้วยมือเปล่า”
ลองหันมาดูกลยุทธในการต่อรองของเวียดนามกันดู ซึ่งเวียดนามมีการวางแผนเป็นขั้นตอนอย่างเป็นระบบทำนอง “ รู้เขา รู้เรา รบร้อยศึกบ่พ่าย” รู้จุดอ่อน จุดแข็งของคู่เจรจา และทะลวงที่จุดนั้น คือมีทั้งแผนงาน มียุทธศาสตร์ ยุทธวิธี และที่สำคัญที่สุด คือ มี “วิสัยทัศน์”
จึงไม่แปลกที่สามารถชนะศึกฝรั่งเศสที่เดียนเบียนฟู และเอาชนะสงครามเวียดนามต่ออเมริกาได้
เวียดนามเผชิญภาษีนำเข้า 46% ที่อดีตประธานาธิบดีโดนัลด์ ทรัมป์ ประกาศขู่จะเก็บจากสินค้าเวียดนามเมื่อเดือนเมษายนที่ผ่านมา ซึ่งต่อมาได้ผ่อนผันมาถึงเดือนกรกฎาคม นี้ ซึ่งเป็นผลจากดุลการค้าที่เวียดนามได้เปรียบสหรัฐฯ อย่างมหาศาล
หากภาษีนี้มีผลบังคับใช้ อาจสร้างความเสียหายทางเศรษฐกิจอย่างรุนแรงต่อเวียดนาม เพราะว่า เศรษฐกิจเวียดนามพึ่งพาการส่งออกเป็นหลักถึงร้อยละ 70 โดยการส่งออกไปสหรัฐฯ มีมูลค่าต่อผลิตภัณฑ์มวลรวมในประเทศ (GDP) ตามที่มีรายงานทั่วไปว่าอยู่ระหว่าง 80% ถึง 95% ของ GDP เนื่องจากนโยบายเศรษฐกิจของเวียดนามเน้นการส่งออกเป็นหลักในการพัฒนาเศรษฐกิจของชาติ ทำให้ประเทศมีความเสี่ยงอย่างมาก เมื่อเผชิญกับสงครามภาษีของทรัมป์
ภายใต้การนำของนายเหงียน ถิ เหวียน เลียม (To Lam) เลขาธิการใหญ่พรรคคอมมิวนิสต์เวียดนาม (VCP) คนใหม่ เวียดนามกำลังผลักดันวาระการเติบโตทางเศรษฐกิจอย่างแข็งขัน เพื่อการพัฒนาประเทศอย่างก้าวกระโดด และเพื่อเอาชนะประเทศอื่นๆในอาเซียน โดยยกระดับชีวิตความเป็นอยู่ของประชาชนให้สูงขึ้นเหมือนประเทศที่พัฒนาแล้ว
การเผชิญหน้ากับสงครามภาษีของทรัมป์จะทำลายวาระดังกล่าว ดังนั้น เวียดนามจึงเดินหมากอย่างชาญฉลาดด้วยการทุ่มเดิมพันสูงสุดตัวเพื่อเอาใจทรัมป์
กรณีนี้เป็นตัวอย่างกรณีหนึ่ง นอกจากการเปิดประเทศเสรีให้กับสินค้าและการลงทุนจากอเมริกา โดยละเว้นการเก็บภาษีสินค้านำเข้า รวมทั้งสัญญาที่จะซื้ออาวุธ เช่นเครื่องบินรบจากอเมริกา เมื่อเดือนพฤษภาคม ที่ผ่านมา นายกรัฐมนตรีเวียดนาม ฝั่ม มิญ จิ๊น และ เอริค ทรัมป์ บุตรชายของอดีตประธานาธิบดีสหรัฐฯ มาร่วมเป็นประธานในพิธีเปิดตัวโครงการพัฒนอสังหาริมทรัพย์ระดับหรูผสมผสานกับการโปรโมตการท่องเที่ยวสีเขียว หรือ อีโค่ทัวริซึมและสนามกอล์ฟมูลค่า 1.5 พันล้านดอลลาร์สหรัฐ ซึ่งเป็นความร่วมมือ และร่วมทุน ระหว่างทรัมป์ ออร์แกนไนเซชั่น และกลุ่มคินห์บั๊กซิตี้ (Kinh Bac City) ของเวียดนาม
ทรัมป์ ออร์แกนไนเซชั่น ซึ่งเป็นบริษัทลงทุนของตระกูลทรั๊มป์ ยังเล็งเห็นโอกาสลงทุนในทำเลทองของนครโฮจิมินห์ อันเป็นศูนย์กลางเศรษฐกิจและการเงินของประเทศ เพื่อสร้างสร้าง ทรัมป์ ทาวเวอร์ เป็นอาคารอเนกประสงค์ เหตุการณ์เหล่านี้เกิดขึ้นพร้อมกับการเจรจาทางการค้ากับ-สหรัฐฯ ที่กำลังดำเนินอยู่ในกรุงวอชิงตัน ซึ่งฝ่ายฮานอย (รัฐบาลเวียดนาม) พยายามเรียกร้องให้สหรัฐฯ ผ่อนคลายการขู่เก็บภาษี 46% ต่อสินค้าส่งออกของเวียดนามที่ส่งไปอเมริกา
นักวิเคราะห์ระบุว่าการเคลื่อนไหวเหล่านี้เน้นย้ำถึงกลยุทธ์เดิมพันสูงของผู้นำเวียดนามในการบริหารความสัมพันธ์ และบริหารความเสี่ยงของประเทศกับสหรัฐฯ
ในขณะเดียวกันก็ขับเคลื่อนวาระการเติบโตและการรวมอำนาจทางการเมืองในช่วงหัวเลี้ยวหัวต่อที่สำคัญของประเทศ การลงทุนของทรัมป์ ออร์แกนไนเซชั่น ในเวียดนามได้จุดประกายการวิพากษ์วิจารณ์ถึงความไม่โปร่งใส เกี่ยวกับการผสมผสานระหว่างอำนาจทางการเมืองของประธานาธิบดีสหรัฐฯ กับผลประโยชน์ทางธุรกิจของครอบครัวของเขา
ตามรายงานของนิวยอร์กไทม์ส รัฐบาลเวียดนามเร่งกระบวนการทางกฎหมายและให้สิทธิพิเศษเป็นกรณีพิเศษเพื่อให้โครงการนี้ได้รับการอนุมัติอย่างรวดเร็ว จึงสร้างความกังวลเกี่ยวกับการขาดการปรึกษาหารือกับชุมชนท้องถิ่นอย่างเพียงพอ และผลกระทบจากการอพยพโยกย้ายชุมชนในพื้นที่ ออกไป
"การดำเนินการเป็นพิเศษ" แก่โครงการที่เชื่อมโยงกับครอบครัวของประธานาธิบดีสหรัฐฯ นั้น ฮานอยกำลังหวังผลตอบแทนในการเจรจาทางการค้ากับวอชิงตัน ซึ่งสะท้อนให้เห็นถึงการยึดถือประโยชน์ในแนวทางยืดหยุ่นในภาคปฏิบัติ (Pragmatism ) ซึ่งคำนวณมาแล้วเป็นอย่างดี เพื่อรับมือกับนโยบายภาษีของทรั๊มป์โดยเน้นการแลกเปลี่ยนผลประโยชน์ (สินบน)(transactionalism) ของรัฐบาลทรัมป์และผลประโยชน์ส่วนตัวของประธานาธิบดีทรัมป์เอง
แม้ว่าผู้นำเวียดนามมีความจำเป็นเร่งด่วนในการเอาใจทรัมป์เป็นแรงจูงใจ แต่ก็มีเหตุผลเบื้องหลังการให้สิทธิพิเศษเหล่านี้ด้วย การสนับสนุนโครงการภายใต้แบรนด์ทรัมป์ของเวียดนามก็ไม่ควรมองข้ามในบริบทที่กว้างขึ้นของยุทธศาสตร์การส่งเสริมการเติบโตทางเศรษฐกิจ และการเพิ่มประสิทธิภาพในบริหารงานโดยลดกฎระเบียบงานรัฐการที่รุ่มร่ามของเวียดนามเอง ที่ดำเนินควบคู่กันไปด้วย
นอกจากนี้ เวียดนามยังมุ่งมั่นให้โครงการคอมเพล็กซ์กอล์ฟแล้วเสร็จภายในปี 2027 ซึ่งเป็นปีที่เวียดนามเป็นเจ้าภาพการประชุมผู้นำเอเปค ซึ่งสามารถนำมาใช้เป็นข้อต่อรองเพื่อดึงดูดให้ทรัมป์กลับมาเยือนประเทศและยกระดับภาพลักษณ์ของการประชุม สุดยอดครั้งนี้
นอกจากนี้ รัฐบาลเวียดนามยังพยายามใช้ประโยชน์จากโครงการนี้เพื่อเพิ่มความน่าสนใจแก่นักลงทุนต่างชาติ โดยเฉพาะในภาคอสังหาริมทรัพย์ระดับหรู และเพื่อกระตุ้นการพัฒนาท้องถิ่น การจ้างงาน และการท่องเที่ยวด้วย
นักวิจารณ์ชี้ว่า ในทางกลับกัน การเดิมพันที่กล้าหาญของฮานอยมีความเสี่ยงทางการเมืองสูง โดยเฉพาะหากไม่สามารถบรรลุผลเป็นรูปธรรมในการเจรจาภาษีกับวอชิงตันได้ภายในเดือนกรกฎาคมนี้ เวียดนามยังต้องเผชิญกับการผูกติด(duality) ของแบรนด์ทรัมป์ที่ยังคงอยู่
นามสกุลทรัมป์มีความเกี่ยวพันกับภาพลักษณ์แห่งอำนาจและความหรูหราระดับสูงที่ดึงดูดกลุ่มชนชั้นนำบางกลุ่ม โดยเฉพาะอย่างยิ่งในขณะที่ทรัมป์ยังอยู่ในทำเนียบขาว แต่มันก็มาพร้อมกับประวัติทางการเมืองและจริยธรรมที่น่าสงสัยของตระกูลนี้หลังจากทรั๊มป์หมดวาระไปแล้ว
มีการแสดงความเห็นบนโซเชียลมีเดีย ซึ่งชาวเวียดนามจำนวนมากแสดงความตื่นเต้นกับการมาถึงของแบรนด์ทรัมป์ในเวียดนามและชื่นชมวิธีการดำเนินการเชิงปฏิบัติที่พลิกพลิ้วของรัฐบาล แต่ก็มีเสียงคัดค้านที่แสดงความกังวลด้านจริยธรรมและแสดงความชาตินิยมต่อสิ่งที่พวกเขาเห็นว่าเป็นความพยายาม "ติดสินบน" ครอบครัวทรัมป์
ยิ่งไปกว่านั้น พื้นที่โครงการยังเสี่ยงต่อการต่อต้านจากคนท้องถิ่นเกี่ยวกับสิทธิการใช้ที่ดิน ซึ่งข้อพิพาทเรื่องที่ดินเป็นชนวนก่อความไม่สงบทางสังคมที่รุนแรงที่สุดในประวัติศาสตร์ของประเทศมาโดยตลอด โครงการทรัมป์ทำให้มูลค่าอสังหาริมทรัพย์ในท้องถิ่นพุ่งสูงขึ้นกว่าเท่าตัวภายในหนึ่งปี เปลี่ยนพื้นที่ห่างไกลที่เงียบเหงาให้เป็นจุดร้อนด้านอสังหาริมทรัพย์ ซึ่งทำให้ราคาที่ดินถีบตัวสูงขึ้นอย่างรวดเร็วนี้ และเกิดขึ้นทั่วประเทศที่มีโครงการก่อสร้างโครงสร้างพื้นฐานและอสังหาริมทรัพย์ขนาดใหญ่ ที่เป็นสาเหตุผลักดันให้มูลค่าที่ดินเพิ่มสูงขึ้นจนชาวบ้านทั่วไปจับต้องไม่ได้
อย่างไรก็ตาม นักวิเคราะห์ให้ความเห็นว่า เวียดนาม เดิมพันถูกทางแล้ว โดยเมื่อวันพุธที่ 2 กรกฎาคมที่ผ่านมานี้ อดีตประธานาธิบดีโดนัลด์ ทรัมป์ ประกาศว่าสหรัฐฯ ได้บรรลุข้อตกลงทางการค้าระดับทวิภาคีฉบับแรกกับประเทศสมาชิกอาเซียน คือ เวียดนาม หลังจากการเจรจานอกรอบมาหลายเดือน โดยสหรัฐฯจะเก็บภาษีในอัตรา 20% สำหรับสินค้านำเข้าจากเวียดนาม ซึ่งต่ำกว่าอัตราภาษี 46% ที่ทรัมป์ประกาศในเดือนเมษายน
ทรัมป์กล่าวว่า "นับเป็นเกียรติอันสูงยิ่งที่ได้ประกาศว่า ผมเพิ่งบรรลุข้อตกลงทางการค้ากับสาธารณรัฐสังคมนิยมเวียดนาม หลังการหารือกับท่านเหงียน ถิ เหวียน เลียม เลขาธิการใหญ่พรรคคอมมิวนิสต์เวียดนามผู้ทรงเกียรติอย่างสูง"
เขากล่าวว่า "สินค้าจากเวียดนามจะต้องเผชิญภาษี 20% เท่านั้น และสินค้าที่ถูกส่งผ่าน (transshipments) จากประเทศที่สามจะต้องเผชิญภาษี 40% เวียดนามจะเปิดตลาดให้สหรัฐฯ มากขึ้น โดยสินค้าส่งออกจากสหรัฐฯ ไปเวียดนามจะไม่ถูกเก็บภาษี"
นอกจากนี้ ทรัมป์ยังกล่าวว่า "ผมมีความเห็นว่า รถยนต์เอสยูวี หรือที่บางครั้งเรียกว่า ยานพาหนะเครื่องยนต์ใหญ่ ซึ่งขายดีมากในสหรัฐฯ จะเป็นสินค้าที่ยอดเยี่ยมในการเพิ่มเข้ามาในสายของผลิตภัณฑ์ส่งออกมายังเวียดนาม"
ท้ายที่สุดแล้ว ผู้เชี่ยวชาญระบุว่า แนวทางของเวียดนามในการให้สิทธิพิเศษ และปฏิบัติเป็นพิเศษ ต่อโครงการทรัมป์ ชี้ให้เห็นถึงจุดตัดระหว่างการทูตภายนอกกับความจำเป็นเร่งด่วนภายในประเทศ ภายใต้การบริหารความสัมพันธ์แบบเน้นการแลกเปลี่ยนผลประโยชน์ (transactional) กับสหรัฐฯ ในท่ามกลางภัยคุกคามด้านภาษี พร้อมกับขับเคลื่อนการเติบโตอย่างเร่งด่วนไม่หยุดยั้ง ในช่วงเวลาที่การประชุมใหญ่พรรคคอมมิวนิสต์เวียดนาม (VCP’s National Congress) ใกล้เข้ามา ทั้งเลขาธิการใหญ่เลียมและนายกรัฐมนตรีจิ๊นต่างเผชิญแรงกดดันที่เพิ่มขึ้นในการแปลงวิสัยทัศน์นโยบายให้เป็นความสำเร็จรูปธรรมที่จับต้องได้ เพื่อเสริมสร้างความชอบธรรมในการปกครองและสถานะทางการเมืองของพวกเขา
ดังนั้น โครงการทรัมป์จึงไม่ใช่แค่การลงทุนเชิงพาณิชย์ แต่เป็นกลยุทธ์เดิมพันที่มุ่งรักษาการเติบโตของชาติท่ามกลางกระแสการเมืองโลกที่เปลี่ยนแปลงไป อันมีลักษณะเฉพาะของยุคนี้ คือแนวทางที่เน้นการแลกเปลี่ยนผลประโยชน์แบบทรัมป์ (Trumpian transactionalism) และการเลือนหายไปของเส้นแบ่งจริยธรรมระหว่างตำแหน่งหน้าที่สาธารณะกับผลประโยชน์ส่วนตัว
โครงการนี้ยังให้ภาพเบื้องต้นเกี่ยวกับลักษณะการบริหารประเทศ (statecraft) ของผู้นำเวียดนามชุดใหม่ นั่นคือ ยึดถือประโยชน์ของชาติในแนวทางยืดหยุ่นเชิงปฏิบัติที่พลิกพลิ้วอย่างมั่นคง และเคลื่อนไหวอย่างรวดเร็ว โดยไม่เกรงกลัวที่จะวางเดิมพันอย่างกล้าหาญแม้เดิมพันนั้นจะมีมูลค่าสูง
อย่างไรก็ตาม นักวิเคราะห์ชี้ว่า ทรั๊มป์วางหมากกลไว้ในคำพูดที่ว่า “ สินค้าที่ถูกส่งผ่าน (transshipments) ” หรือ “สินค้าสวมสิทธิ์” จะถูกเก็บภาษีร้อยละ 40 ซึ่งมีความกำกวมไม่ชัดเจน และเวียดนามอาจจะเสียเดิมพันในอนาคตเมื่อมีการตีความออกมาว่า หมายความว่าอะไร เพราะในสายพานการผลิตยุคนี้ ล้วนยึดหลักการความคุ้มค่า (Cost effectiveness) ดังนั้น ชิ้นส่วน วัตถุดิบ ส่วนประกอบล้วนนำเข้ามาจากประเทศอื่น โดยเฉพาะนำเข้าจากจีน เช่นแร่หายาก ชิปคอมพิวเตอร์ โทรศัพท์มือถือ แผงวงจรไฟฟ้า ฯลฯ นอกจากนั้น เศรษฐกิจของเวียดนามและประเทศอาเซียนส่วนใหญ่ล้วนต้องพึ่งพาการลงทุนทางตรงจากต่างประเทศในขับเคลื่อนเศรษฐกิจของตน จึงอาจจะเจอภาษีร้อยละ 40 แทนที่จะเป็น 20 ในกรณีของเวียดนาม
ด้วยเหตุนี้ ประเทศอาเซียนอื่นๆ โดยเฉพาะประเทศไทย จึงควรเรียนรู้ยุทธวิธีและกลยุทธ์ของเวียดนามในการรับมือสงครามการค้าของทรัมป์ เป็นกรณีศึกษา ว่า ผู้นำของเขามีวิสัยทัศน์ มีความกล้าหาญในการตัดสินใจอย่างรวดเร็วทันต่อสถานะการณ์เพื่อนำพาประเทศให้เอาตัวรอดจากวิกฤติ โดยแปรมันเป็นโอกาส ศึกษาจุดอ่อนของคู่เจรจา และทะลวงที่จุดนั้น คือเรื่องผลประโยชน์ทับซ้อน และเลี่ยงการติดกับดัก คำพูด และคำสัญาที่กำกวมข้างต้น

https://www.facebook.com/ken.mona.1/posts/24257987620484617