เขาต้องตาย 3 ครั้ง ในเหตุวิสามัญฆาตกรรม
สมชาย ปรีชาศิลปกุล
9 Oct 2024
เมื่อบุคคลต้องเผชิญกับความรุนแรงจากน้ำมือของเจ้าหน้าที่รัฐจนกระทั่งถึงแก่ความตาย ไม่ว่าจะในรูปแบบของการซ้อมทรมานผู้ต้องหา การสังหารด้วยอาวุธปืนขณะเข้าจับกุม การใช้กำลังปราบปรามต่อบุคคลที่ถูกกล่าวหาว่าฝ่าฝืนกฎหมาย หรือแม้กระทั่งการควบคุมตัวผู้ถูกจับกุมจนทำให้เกิดการเสียชีวิตจำนวนมากดังเช่นที่เกิดขึ้นในกรณีเหตุการณ์ตากใบ
ผู้ที่ตกเป็นเหยื่อในเหตุการณ์เหล่านี้จะไม่ได้ตายเพียงครั้งเดียว แต่มีโอกาสในการเผชิญกับความตายถึง 3 ครั้งด้วยกัน โดยการตายแต่ละครั้งจะมีลักษณะดังต่อไปนี้
การตายครั้งแรกจะเป็นการตายทางกายภาพ อันเป็นผลมาจากการใช้ความรุนแรงจากเจ้าหน้าที่รัฐ ซึ่งอาจเป็นผลมาจากการกล่าวอ้างว่าผู้ตายต่อสู้ขัดขืน เจ้าหน้าที่รัฐใช้กำลังป้องกันตัวพอสมควรแก่เหตุ หรือการตายที่เกิดขึ้นไม่ได้เป็นผลมาจากเจตนาของเจ้าหน้าที่หากเป็นการกระทำที่เป็นไปตามกฎหมาย ข้อต่อสู้จากทางผู้กระทำในลักษณะเช่นนี้เป็นสิ่งที่สามารถได้ยินมาอย่างต่อเนื่อง
การตายครั้งที่สองจะเป็นการตายด้วยน้ำมือของกระบวนการยุติธรรม ภายหลังจากการตายในเชิงกายภาพของผู้ตกเป็นเหยื่อ การเสียชีวิตดังกล่าวต้องมีการดำเนินการทางกฎหมายติดตามมา ในเชิงหลักการ เมื่อบุคคลถึงแก่ความตายด้วยการใช้ความรุนแรงของเจ้าหน้าที่รัฐจะต้องมีกระบวนการในการค้นหาความจริงว่าการกระทำดังกล่าวเกิดขึ้นในลักษณะเช่นไร เจ้าหน้าที่รัฐได้ใช้กำลังหรือความรุนแรงไปอย่างเหมาะสมหรือไม่ และหากเป็นการกระทำให้ถึงแก่ความตายโดยไม่ชอบด้วยกฎหมายก็ต้องมีความรับผิดติดตามมา
อย่างไรก็ตาม กระบวนการยุติธรรมในการค้นหาความจริงต่อการตายของบุคคลจากน้ำมือเจ้าหน้าที่รัฐก็ไม่ใช่สิ่งที่จะเกิดขึ้นได้อย่างง่ายดาย นับตั้งแต่เริ่มต้นกระบวนการค้นหาข้อเท็จจริงจวบจนกระทั่งมีคำตัดสินของศาลเกิดขึ้น
ในขั้นตอนแรกคือ การชันสูตรพลิกศพและการไต่สวนการตายเพื่อตรวจสอบว่าการตายนั้นเกิดขึ้นอย่างไร สำหรับการชันสูตรพลิกศพเป็นการตรวจศพเพื่อหาสาเหตุของการเสียชีวิต หรือเพื่อหาสาเหตุและพฤติการณ์ที่ทำให้เกิดการตาย โดยจะทำการตรวจดูศพภายนอกเพื่อพิสูจน์ว่าผู้ตายเป็นใคร สืบหาสถานที่และเวลาที่ตาย หาสาเหตุและพฤติการณ์ของการตาย หรือเพื่อให้ทราบว่าถ้าตายโดยคนทำร้ายให้ระบุว่าใครหรือสงสัยว่าใครเป็นผู้กระทำเท่าที่จะทราบได้ ตลอดจนการค้นหาข้อเท็จจริงว่ามีการกระทำผิดทางอาญาหรือไม่และเป็นความผิดฐานใด
ส่วนการไต่สวนการตาย เป็นขั้นตอนที่บัญญัติขึ้นเพื่อค้นหาความจริงเกี่ยวกับสาเหตุการตายและคุ้มครองสิทธิของญาติผู้ตาย รวมทั้งเป็นการตรวจสอบการกระทำของเจ้าหน้าที่ในการชันสูตรพลิกศพ กระบวนการไต่สวนการตายจะดำเนินการโดยอัยการยื่นคำร้องต่อศาล ให้นำบุคคลที่เกี่ยวข้องเข้าไต่สวนและเรียกพยานหลักฐานต่างๆ เข้าประกอบการพิจารณา เพื่อให้ศาลออกคำสั่งแสดงว่า ผู้ตายเป็นใคร ตายที่ไหน เมื่อไร สาเหตุและพฤติการณ์ของการตายเป็นอย่างไร
แม้ในขั้นตอนนี้จะมีวัตถุประสงค์เพื่อค้นหาความจริงเกี่ยวกับการตายโดยเฉพาะอันเป็นผลมาจากการกระทำโดยเจ้าหน้าที่รัฐ แต่ในทางปฏิบัติจริงจะพบว่าต้องเผชิญกับอุปสรรคเป็นอย่างมาก ในขั้นตอนการชันสูตรพลิกศพ ในหลายครั้งแพทย์และโรงพยาบาลที่ทำหน้าที่ไม่ใช่หน่วยงานในพื้นที่ มีการส่งมาให้กับโรงพยาบาลภายใต้สังกัดของกองทัพ หรือการเข้าควบคุมสถานที่เกิดเหตุโดยตำรวจแต่พื้นที่ส่วนใหญ่อยู่ภายใต้การดูแลของหน่วยงานความมั่นคง อันทำให้การเข้าถึงสถานที่เกิดเหตุเป็นไปอย่างลำบาก
ในส่วนการไต่สวนการตาย องค์กรที่มีบทบาทสำคัญในการวินิจฉัยชี้ขาดถึง ‘เหตุและพฤติการณ์’ แห่งการตายก็คือศาล ได้มีการปรับแก้บทบัญญัติเพื่อให้ศาลสามารถมีบทบาทในเชิงรุก ด้วยการให้อำนาจกับศาลในการที่จะเรียกเอกสารหรือพยานมาสืบเพิ่มเติม อันจะทำให้สามารถค้นหาความจริงที่เกี่ยวข้องกับเหตุแห่งการตายได้มากขึ้น[1] แต่จะพบว่าในการทำหน้าที่ของศาลก็ยังคงจำกัดตนเองไว้เฉพาะเหตุของการตายเชิงกายภาพ เช่น ตายเพราะขาดอากาศหายใจ, กระสุนปืนทำลายเส้นเลือดใหญ่หัวใจและปอดจนเป็นเหตุให้ถึงแก่ความตาย เป็นต้น
คำตัดสินต่อการไต่สวนการตายในลักษณะเช่นนี้ไม่ได้มีส่วนช่วยให้เกิดความกระจ่างขึ้นว่าการตายเกิดขึ้นจากการกระทำของเจ้าหน้าที่รัฐที่ชอบด้วยกฎหมายหรือไม่
เมื่อขั้นตอนการชันสูตรพลิกศพและการไต่สวนการตายปราศจากการยืนยันถึงสาเหตุการตายว่าเป็นการกระทำโดยชอบด้วยกฎหมายของเจ้าหน้าที่รัฐหรือไม่ ก็จะเป็นผลสืบเนื่องให้การดำเนินคดีในชั้นศาลเพื่อพิสูจน์ความรับผิดของจำเลยเป็นสิ่งที่เกิดขึ้นได้อย่างยากลำบาก
ยิ่งหากในกรณีที่การดำเนินการของหน่วยงานในกระบวนการยุติธรรมไม่ได้ให้ความสำคัญอย่างจริงจัง ไม่มีการเร่งรัดในการรวบรวมพยานหลักฐานและค้นหาข้อเท็จจริง เมื่อเวลาผ่านไปเนิ่นนานมาก โอกาสที่จะลงโทษเจ้าหน้าที่รัฐก็ยิ่งมีน้อยลงไป กรณีเหตุการณ์ตากใบที่เกิดขึ้นเมื่อเดือนตุลาคม พ.ศ. 2547 แต่ทางอัยการเพิ่งมาตัดสินใจสั่งฟ้องคดีในเดือนกันยายน พ.ศ. 2567 ก็คือตัวอย่างที่แสดงถึงความมุ่งมั่นต่อการค้นหาความจริงในคดีนี้ของหน่วยงานที่เกี่ยวข้องอย่างชัดเจน
แม้จะเป็นกรณีที่ทางฝ่ายผู้สูญเสียเป็นผู้ฟ้องคดีด้วยตนเอง แต่การค้นหาพยานหลักฐานเพื่อมายืนยันความผิดต่อทางเจ้าหน้าที่รัฐก็จะเผชิญกับอุปสรรคไม่น้อย เนื่องจากพยานหลักฐานส่วนใหญ่อยู่ในการควบคุมดูแลของหน่วยงานรัฐ คดีเหล่านี้จึงมักจบลงด้วยคำตัดสินว่าไม่มีเจ้าหน้าที่รัฐกระทำความผิดในความตายที่เกิดขึ้น ความพยายามในการหน่วงเหนี่ยวคดีให้ล่าช้าจนกระทั่งทำให้คดีหมดอายุความก็ถือเป็นส่วนหนึ่งที่ทำให้เกิดการตายภายใต้กระบวนยุติธรรม
การดำเนินการเช่นนี้ไม่ได้เกิดขึ้นเพียงเพราะหน่วยงานใดหน่วยงานหนึ่ง หากเป็นภาพสะท้อนโดยรวมของกระบวนการยุติธรรมไทยว่าไม่ได้ดำรงอยู่ในสถานะที่เป็นอิสระ ตรงไปตรงมา ด้วยหลักการทางกฎหมายแบบที่มักเข้าใจกัน
สำหรับการตายครั้งที่สามเป็นการตายที่สร้างความเจ็บปวดกับผู้สูญเสียไม่น้อยไปกว่าความตายทางกายภาพหรือความตายในกระบวนการยุติธรรม ก็คือการตายโดยสังคมไม่ได้รับรู้หรือตระหนักต่อเหตุการณ์ที่ได้เกิดขึ้น
สำหรับการตายที่กลายเป็น ‘บาดแผล’ ของสังคม (ซึ่งอาจหมายถึงจำนวนของผู้ตาย ความเกี่ยวพันกับเหตุการณ์ทางการเมืองขนาดใหญ่) ยังอาจเป็นการตายที่มีการกล่าวถึง มีการระลึกในวาระต่างๆ มีการศึกษาวิจัย อันช่วยทำให้คนรุ่นหลังได้ทบทวนบทเรียน ได้เรียนรู้ ผู้คนที่เกี่ยวข้องได้รับการเยียวยาในด้านมิติต่างๆ แต่ขณะเดียวกันการตายของสามัญชนจากเงื้อมมือของเจ้าหน้าที่รัฐก็จะมีสภาพเป็นเพียงความทรงจำของผู้คนที่เกี่ยวข้อง แต่ไม่ได้เป็นส่วนหนึ่งของความทรงจำในสังคม ผู้คนเหล่านั้นต่างต้องแบกรับความเจ็บปวดไว้และเยียวยาความรวดร้าวไปตามลำพัง
หากต้องการลดทอนการตายจากเงื้อมมือของรัฐและไม่ต้องการให้เกิดการตายเกิดขึ้นซ้ำแล้วซ้ำเล่ากับคนใดคนหนึ่งหรือกลุ่มใดกลุ่มหนึ่ง การบันทึกข้อเท็จจริง บอกเล่าเรื่องราว สร้างเครือข่ายทางสังคม รวมทั้งการตอบโต้ต่อเครือข่ายแห่งการวิสามัญฆาตกรรมเป็นเรื่องที่ต้องกระทำอย่างต่อเนื่องและจริงจัง ไม่ว่าโอกาสในการประสบความสำเร็จจะยากเย็นเพียงใดก็ตาม
References↑1 ประมวลกฎหมายวิธีพิจารณาความอาญา มาตรา 150 วรรคเก้า
“เมื่อศาลเห็นสมควรเพื่อประโยชน์แห่งความยุติธรรม ศาลจะเรียกพยานที่นำสืบมาแล้วมาสืบเพิ่มเติมหรือเรียกพยานหลักฐานอื่นมาสืบก็ได้ และศาลอาจขอให้ผู้ทรงคุณวุฒิหรือผู้เชี่ยวชาญมาให้ความเห็นเพื่อประกอบการไต่สวนและทำคำสั่ง แต่ทั้งนี้ไม่ตัดสิทธิของผู้นำสืบพยานหลักฐานตามวรรคแปดที่จะขอให้เรียกผู้ทรงคุณวุฒิหรือผู้เชี่ยวชาญอื่นมาให้ความเห็นโต้แย้งหรือเพิ่มเติมความเห็นผู้ทรงคุณวุฒิหรือผู้เชี่ยวชาญดังกล่าว”
https://www.the101.world/death-in-extrajudicial-killing/