วันจันทร์, ตุลาคม 14, 2567

#ตามหาขุมทรัพย์ของกองทัพไทย สำหรับคนที่ไม่ชอบฟังคลิป



Atukkit Sawangsuk
17 hours ago
·
ยาวมาก แต่เนื้อหาครบสมบูรณ์ เก็บไว้เป็นปูมอ้างอิงได้ตลอด
นี่เฉพาะเรื่องธุรกิจกองทัพ ยังไม่เกี่ยวกับเรื่องลดกำลังพล
(ความเห็นส่วนตัว ในเรื่อง ททบ.5 และวิทยุทหาร เมื่อก่อนเคยเป็นบ่อน้ำมัน ทำมาหากินกันสนุก แต่ปัจจุบันและอนาคต ไม่มีคนดูคนฟังแล้วครับ ไม่มีใครมาประมูลรายการ เว้นแต่จะได้ราคาถูกๆ จะมีแต่ขาดทุนๆๆ และต้องพึ่งงบประมาณมากขึ้นๆ โดยอ้างว่ามีไว้เพื่อความมั่นคง)

พรรคประชาชน - People's Party
a day ago
·
[ ตามหาขุมทรัพย์ของกองทัพไทย พบขาดทุนมากกว่าสร้างกำไร แนะทบทวนตัวเองให้โปร่งใสตรวจสอบได้ ]
.
วันที่ 12 ตุลาคม 2567 ที่คณะรัฐศาสตร์ มหาวิทยาลัยธรรมศาสตร์ คณะกรรมาธิการการทหาร สภาผู้แทนราษฎร และคณะกรรมาธิการวิสามัญพิจารณาศึกษาแนวทางการถ่ายโอนธุรกิจของกองทัพไปอยู่ในความดูแลของหน่วยงานอื่นหรือย้ายไปสถานที่อื่นที่เหมาะสม ได้ร่วมกันจัดงานเสวนา “ตามหาขุมทรัพย์ของกองทัพไทย : การบริหารธุรกิจเชิงพาณิชย์ของกองทัพ”
.
วิโรจน์ ลักขณาอดิศร สส.บัญชีรายชื่อ พรรคประชาชน และประธานคณะกรรมาธิการการทหาร กล่าวเปิดงานถึงความจำเป็นในการปฏิรูปกองทัพ ระบุว่า การปฏิรูปกองทัพมีองค์ประกอบย่อยหลายอย่าง หนึ่งในเรื่องสำคัญไม่แพ้กัน คือ การยกเลิกการเกณฑ์ทหารหรือการเปลี่ยนเป็นระบบรับสมัครทหารกองประจำการ 100%
.
ประเทศไทยมีหน่วยรบพิเศษมากมาย การฝึกของหน่วยรบพิเศษหลายครั้ง คือ การฝึกมนุษย์เหล็กที่โหดและหนักมาก แต่ที่ผ่านมาคณะกรรมาธิการการทหารไม่เคยได้รับข้อร้องเรียนใด ๆ จากการฝึกหน่วยรบพิเศษเหล่านี้เลย เพราะเป็นการฝึกที่มีแบบแผนและคนที่เข้าร่วมการฝึกก็ล้วนแต่มาจากความสมัครใจและรู้อยู่ก่อนแล้วว่า จะเจอกับการฝึกแบบไหน ความสมัครใจจึงเป็นเรื่องที่มีความสำคัญมาก ๆ ที่จะทำให้เราได้ทหารมืออาชีพ
.
วิโรจน์ กล่าวต่อไปว่า ที่ผ่านมาตั้งแต่มีการเปิดโครงการพลทหารปลอดภัย คณะกรรมาธิการการทหารได้รับเรื่องร้องเรียนถึง 38 เรื่อง หลายกรณีปัญหามาจากตัวพลทหารที่ไม่พร้อมเอง หลายกรณีมีเรื่องยาเสพติดเข้ามาเกี่ยวข้อง หลายกรณีมาจากความไม่พร้อมและความไม่สมัครใจที่จะเป็นทหารทำให้ครูฝึกดำเนินการได้ไม่เป็นไปตามแผน หลายครั้งมีการระบายอารมความรู้สึกส่วนตัว กระทำการที่เข้าข่ายซ้อมทรมาน หลายครั้งมีการชี้แจงว่า พลทหารกระทำความผิดอย่างร้ายแรง แต่คณะกรรมาธิการฯ ก็ตั้งคำถามกลับไปเสมอว่า ทำไมไม่ดำเนินคดีสั่งฟ้องต่อศาลทหาร แต่กลับใช้วิธีทำทารุณกรรมในค่ายทหารแทน
.
ความไม่สมัครใจทำให้เกิดปัญหา ทั้งการฝึกให้ได้ทหารมืออาชีพและทำให้เกิดหลายกรณีที่มีการซ้อมทรมาน สิ่งที่คณะกรรมาธิการฯ ทำได้ คือ การชี้เบาะแสและรวบรวมข้อเท็จจริงส่งให้ดีเอสไอ อัยการฝ่ายสำนักงานสอบสวนบ้างหรือล่าสุดกรณีพลทหารศิริวัฒน์ ใจดี คณะกรรมาธิการฯ ได้ส่งเรื่องให้คณะกรรมการป้องกันและปราบปรามการซ้อมทรมานเพื่อดำเนินคดีตาม พ.ร.บ.อุ้มหายฯ ซึ่งมีความสำคัญอย่างมาก เพราะผู้กระทำจะต้องขึ้นศาลอาญาคดีทุจริต โดยในมาตรา 42 ให้มีการเอาผิดครึ่งหนึ่งกับผู้บังคับบัญชาด้วย
.
[ จากซ้อมทรมานถึง พ.ร.บ.อุ้มหาย ]
.
วิโรจน์ กล่าวต่อไปว่า จากกรณีที่เข้าข่ายการซ้อมทรมานที่ผ่านมา ไม่เคยมีครั้งใดเลยที่กองทัพบังคับใช้ พ.ร.บ.อุ้มหายฯ หรือเอาผิดกับนายทหารระดับบังคับบัญชาอย่างจริงจัง จนมีข้อเสนอสำคัญขึ้นมาว่า ตราบใดที่ัยังไม่มีระเบียบภายในของกระทรวงกลาโหมที่จะเอาผิดนายทหารระดับบังคับบัญชา โดยออกระเบียบอิงกับ พ.ร.บ.อุ้มหายฯ หรือ พ.ร.บ.ค้ามนุษย์ฯ มาตรา 13 ที่ให้ข้าราชการมีความรับผิดถึงสองเท่า และถ้าไม่เห็นการเอาผิดระดับบังคับบัญชา วัฒนธรรมการลอยนวลพ้นผิดก็จะคงอยู่เรื่อยไป
.
ที่ผ่านมาจากการติดตามโดยคณะกรรมาธิการฯ ได้มีการทำหนังสือถึงเจ้ากรมพระธรรมนูญทหารขอให้ส่งข้อมูลผลแห่งคดีที่มีการซ้อมทรมานทหารชั้นผู้น้อยทั้งหมดว่า ที่ผ่านมาเป็นอย่างไร ผู้กระทำยังคงรับราชการอยู่หรือไม่ ชั้นยศเปลี่ยนแปลงขึ้นหรือลดลงอย่างไร จากการติดตามที่ผ่านมาพบว่า ผู้กระทำได้รับเพียงการลงโทษโดยถูกจำขัง 45 วัน ผู้บังคับบัญชาถูกกักบริเววณและงดบำเหน็จ ซึ่งโทษเพียงแค่นี้ไม่เพียงพอที่จะยุติหรือขจัดปัญหาการซ้อมทรมานพลทหารในค่ายทหารได้
.
[ กำลังพล 2.5 แสนถูกหักเงินกู้สหกรณ์ฯ ]
.
วิโรจน์ กล่าวต่อไปว่า สำหรับเรื่องของเสนาพาณิชย์ที่จะมีการพูดถึงในวันนี้ ทุกครั้งมักมีการอธิบายจากกองทัพว่า มีความจำเป็นต้องใช้เงินนอกงบประมาณเพื่อมาจัดสวัสดิการให้ทหารชั้นผู้น้อย แต่ขัดกับข้อเท็จจริงที่ว่า ปัญหาหนี้สินของทหารชั้นผู้น้อยที่ผ่านมามีความรุนแรงมาก จากจำนวนกำลังพลของทุกเหล่าทัพ 2.5 แสนนาย คนที่ถูกหักเงินกู้สหกรณ์จนเหลือเงินเดือนน้อยกว่า 30% มีจำนวนถึง 53,210 นาย หรือ 21% และมีคนที่ถูกหักแล้วเหลือเงินเดือนน้อยกว่า 9,000 บาทถึง 81,030 นาย หรือ 32% ของกำลังพลทั้งหมด ทั้งที่มีมติคณะรัฐมนตรีแล้วว่า ห้ามหักเงินเดือนข้าราชการจนเหลือน้อยกว่า 30% แต่เหล่าทัพต่าง ๆ ก็ยังคงไม่ปฏิบัติตาม เว้นแต่กองทัพอากาศที่มีการออกประกาศมาชัดเจนแล้วว่าจะไม่หักเงินเดือนกำลังพลให้ต่ำกว่า 30% และน้อยกว่า 9,000 บาท
.
“นี่คือภัยความมั่นคงของทหารทั้งหมด ทั้งที่ควรจะการแก้ไขปัญหาได้ไม่ยาก แต่ทำไมเหล่าทัพต่าง ๆ จึงยังไม่ยอมทำตามมติคณะรัฐมนตรีที่ออกมา มีข้อสังเกตจากกรรมาธิการว่า นายพลจำนวนไม่น้อยมีตำแหน่งแห่งที่ในสหกรณ์ออมทรัพย์ต่าง ๆ และได้ผลประโยชน์จากดอกผลจากการปล่อยกู้กับนายทหารชั้นผู้น้อย ที่พูดมานี้ไม่ใช่หมายความว่า ให้พลทหารเบี้ยวหนี้ แต่การที่จะปล่อยให้ใครกู้ต้องเช็คเครดิตด้วย ไม่ใช่ปล่อยกู้แบบไม่อั้นแล้วหวังว่า จะได้ดอกเบี้ยจากเขา อยู่ในฐานะทั้งเจ้านายและเจ้าหนี้ในตัวคนเดียวกัน นี่เป็นการหน่วงรั้งที่ทำให้ไม่เกิดการแก้ไขหรือออกกฎระเบียบไม่ให้หักเงินเดือนทหารให้เหลือน้อยกว่า 30% และ 9,000 บาทหรือไม่”
.
วิโรจน์ ยังระบุอีกว่า สิ่งสำคัญที่สุด คือ แหล่งเงินที่จะเอามาใช้ดูแลทหารชั้นผู้น้อย คณะกรรมาธิการทหารไม่เคยมีเจตนาว่า จะเอาเงินนอกงบประมาณของกองทัพทุกอย่างคืนกลับมา แต่เราต้องการความโปร่งใส อะไรที่ตอบไม่ได้ว่า เกี่ยวพันกับภารกิจกองทัพอย่างไรก็ควรจะถ่ายโอนคืนกลับมาให้อยู่ภายใต้การบริหารของรัฐที่มีประสิทธิภาพมากกว่า อย่างเช่น คลื่นวิทยุ ที่ต้องสงสัยว่าจะขาดทุนมาศาล ไม่มีประสิทธิภาพแล้ว เหตุผลที่ไม่ถ่ายโอนคืนคืออะไร
.
“สิ่งที่ทั้งกรรมาธิการวิสามัญถ่ายโอนฯ และกรรมาธิการการทหารต้องการมากที่สุด คือ ความโปร่งใส การที่เอาเงินไปใช้อุดหนุนดูแลสวัสดิการทหารชั้นผู้น้อยต้องเต็มเม็ดเต็มหน่วยให้กำลังพลมีขวัญและกำลังใจในการปฏิบัติหน้าที่อย่างเต็มภาคภูมิ ในฐานะที่เขาเป็นมดงานที่สำคัญของประเทศ แต่ถ้าเงินนอกงบประมาณถูกใช้อย่างไม่เต็มเม็ดเต็มหน่วย ถูกใช้อย่างปกปิดอำพราง ไม่เปิดเผยต่อสาธารณะ สิ่งที่อ้างว่า ทำเพื่อทหารชั้นผู้น้อยก็ยากที่ประชาชนจะเชื่ออย่างไว้วางใจได้ 100%” วิโรจน์ กล่าว
.
[ ภาพรวมที่ดินและธุรกิจกองทัพ ]
.
ส่วน รศ.พวงทอง ภวัครพันธุ์ อาจารย์ประจำคณะรัฐศาสตร์ จุฬาลงกรณ์มหาวิทยาลัย และกรรมาธิการถ่ายโอนธุรกิจกองทัพ กล่าวในหัวข้อ “ภาพรวมที่ดินและธุรกิจกองทัพ” ระบุว่า แม้กองทัพจะดูเหมือนเป็นอันหนึ่งอันเดียวกัน แต่ในความเป็นจริงมีการบริหารจัดการธุรกิจอย่างต่างคนต่างทำสูง หน่วยงานหลักทั้ง 5 มีอาณาจักรธุรกิจของตัวเอง ถือคนละบัญชี ไม่มีการตรวจสอบซึ่งกันและกัน ต่างคนต่างดูแลผลประโยชน์ของตัวเองไป ปัญหาของการมีอาณาจักรธุรกิจที่แยกกันทำคือบางครั้งเกิดความซ้ำซ้อนกัน
.
สิ่งสำคัญที่ต้องคำนึงถึงเมื่อพูดถึงธุรกิจกองทัพก็คือที่ดิน เป็นปัจจัยสำคัญที่เอื้อให้กองทัพสามารถทำธุรกิจสารพัดชนิดได้ ทั้งสนามกอล์ฟ ปั๊มน้ำมัน โรงแรม รีสอร์ท การขายน้ำไฟให้ประชาชน ฯลฯ คำว่าที่ดินของกองทัพนี้ ส่วนใหญ่ก็ไม่ใช่ของกองทัพเองแต่เป็นที่ดินราชพัสดุในการดูแลของกรมธนารักษ์ กระทรวงการคลัง โดยที่ราชพัสดุนี้อยู่ในความครอบครองกองทัพมากที่สุดถึง 5.8 ล้านไร่ ผู้ครอบครองมากที่สุดคือ กองทัพบก คิดเป็นจำนวนถึง 45.5% และเมื่อรวมกับที่ดินส่วนอื่น ๆ ทั้งที่เป็นพื้นที่ป่าสงวนในความรับผิดชอบของกรมป่าไม้ และที่ดิน ส.ป.ก. ที่อยู่ในความรับผิดชอบของกระทรวงมหาดไทยเข้าไปด้วย กองทัพก็จะมีที่ดินรวมกันถึง 6.5 ล้านไร่
.
รศ.พวงทอง กล่าวต่อไปว่า ธุรกิจของกองทัพนั้นสามารถแบ่งออกเป็นหมวดหมู่ได้ 3 หมวดใหญ่ด้วยกัน คือ กองทุนสวัสดิการ เงินนอกงบประมาณ และการลงทุนในบริษัทจำกัด โดยในส่วนของกองทุนสวัสดิการสามารถแบ่งออกได้เป็นสองส่วน คือ 1) สวัสดิการภายในที่มุ่งเน้นให้บริการกำลังพลหรือครอบครัวของกองทัพโดยรายได้ทั้งหมดไม่ต้องส่งคืนกระทรวงการคลัง ภายใต้กฎหมายที่กำกับดูแลคือระเบียบสำนักนายกรัฐมนตรี และ 2) สวัสดิการเชิงธุรกิจ ที่ผู้ใช้บริการมากกว่า 50% เป็นบุคคลภายนอกไม่แตกต่างจากที่เอกชนทำ เป็นส่วนที่ตามกฎหมายต้องแบ่งรายได้ให้กรมธนารักษ์ โดยสวัสดิการภายในมีทั้งหมด 277 กิจการ สวัสดิการเชิงธุรกิจมี 161 กิจการ รวมทั้งหมดเป็น 438 กิจการ
.
แม้กองทุนสวัสดิการภายในจะเป็นสิ่งที่หน่วยงานรัฐอื่น ๆ ก็มีเช่นกัน ไม่ว่าจะเป็นร้านค้าสวัสดิการ สหกรณ์ออมทรัพย์ ร้านตัดผม ร้านอาหาร ฯลฯ ไว้บริการบุคลากรภายในในราคาที่ถูก สิ่งที่กองทัพแตกต่างจากหน่วยงานอื่น คือ มีธุรกิจแบบนี้จำนวนมาก หลายรายการมีการถือครองทรัพย์สินมูลค่าสูง โดยเฉพาะที่ดินและธุรกิจที่หน่วยงานอื่นไม่มี
.
[ 4 ปีเหลือ 87 กิจการ ]
.
กมธ.ทหาร กล่าวต่อว่า แม้สวัสดิการเชิงธุรกิจจะเป็นส่วนที่ตามกฎหมายกำหนดไว้ว่า ต้องแบ่งรายได้ให้กรมธนารักษ์ แต่ที่ผ่านมากลับไม่เคยมีการปฏิบัติตามกฎหมายจริงเลย จนกระทั่งเมื่อ 4 ปีที่แล้วหลังเหตุกราดยิงที่นครราชสีมา จึงทำให้มีการปรับปรุงการบริหารงานกองทัพให้เป็นไปตามกฎหมายยิ่งขึ้น แต่ 4 ปีผ่านไปก็ยังเหลืออีกกว่า 87 กิจการที่ยังทำข้อตกลงไม่เสร็จเสียที
.
สิ่งที่เป็นปัญหาสำคัญของกองทุนสวัสดิการ คือ การที่นอกเหนือจากเหล่าทัพอื่นแล้ว กองบัญชาการกองทัพไทยและกองทัพบก ไม่เคยให้ข้อมูลตัวเลขรายรับรายจ่ายและกำไรขาดทุนกับคณะกรรมาธิการฯ เลยแม้แต่ครั้งเดียว เท่ากับว่ากองทัพกำลังทำกิจการเอง ทำบัญชีเอง ตรวจสอบบัญชีเอง โดยที่การจัดทำงบประมาณการเงินและหมายเหตุประกอบงบประมาณการเงินที่ได้รับจากกองทัพบางส่วน มีคุณภาพไม่ได้มาตรฐานตามมาตรฐานการสอบบัญชีทั้งของสำนักงบประมาณ สำนักงานตรวจเงินแผ่นดิน หรือบริษัทเอกชน
.
สำหรับกรณีเงินนอกงบประมาณของกองทัพนั้น สามารถแบ่งได้เป็นสองประเภท คือประเภทที่ 1 ที่ไม่ต้องส่งเงินให้กระทรวงการคลัง แต่ยังมีสถานะต้องปฏิบัติตาม พ.ร.บ.วินัยการเงินการคลัง ประกอบด้วยกิจการ 9 กลุ่ม เช่น ศูนย์อำนวยการสร้างอาวุธ โรงงานแบตเตอรี่ทหาร โรงงานเภสัชกรรมทหาร เงินทุนอุตสาหกรรมป้องกันประเทศ โรงงานผลิตวัตถุระเบิดทหาร โรงพยาบาลในสังกัดกองทัพ สถานศึกษาในสังกัดกองทัพ และยังมีรายได้จากโครงการระเบียงเศรษฐกิจภาคตะวันออกและเมืองการบิน ซึ่งอยู่ในการดูแลของกองทัพเรือด้วย
.
เงินนอกงบประมาณประเภทนี้มีตัวเลขที่สูงมาก ตัวเลขรวมปี 2565 มีจำนวนสูงถึง 4.5 หมื่นล้านบาท และเพิ่มขึ้นมาในปี 2568 เป็น 4.9 หมื่นล้านบาท โดยเป็นตัวเลขรวมของเงินที่ยกมาจากปีก่อนหน้านี้บวกกับรายได้ที่ได้ในปีนั้นๆ โดยหน่วยงานที่มีเงินนอกงบประมาณมากที่สุดคือกองทัพบก ซึ่งเป็นตัวเลขที่การใช้จ่ายค่อนข้างสม่ำเสมอ แต่ไม่อาจทราบได้ว่าใช้จ่ายอะไรบ้างเนื่องจากไม่ยอมเปิดเผย
.
เงินนอกงบประมาณประเภทที่สอง เกิดจากระเบียบกระทรวงการคลังว่าด้วยการเบิกจ่าย การรับเงิน การจ่ายเงิน การเก็บรักษาเงิน และการนำส่งกระทรวงการคลัง บวกกับข้อบังคับกระทรวงกลาโหมว่าด้วยการเงิน สรุปความได้ว่า กระทรวงการคลังอนุญาตให้กองทัพสร้างเงินนอกงบประมาณประเภทใหม่ขึ้นมาได้ ซึ่งหน่วยงานอื่นไม่มี โดยกองทัพสามารถตั้งงบประมาณเอง อนุมัติเอง ทำบัญชีเอง สอบบัญชีเองได้โดยไม่ต้องรายงานคนนอก
.
มีตัวอย่างสำคัญ คือ กิจการวิทยุและโทรทัศน์ ททบ.5 ซึ่งเป็นธุรกิจที่มีปัญหาที่สุดทั้งในแง่กฎหมายและความโปร่งใส ซึ่งไม่ได้มีแค่สถานีโทรทัศน์ แต่ยังเป็นเจ้าของ MUX sinv สถานีที่ทำการส่งสัญญาณดิจิทัล 2 สถานีที่ให้บริษัทเอกชนมาเช่าคลื่นความถี่ หลายบริษัทโทรทัศน์ที่มีชื่อเสียงก็อาศัยการเช่าจาก ททบ.5 นี้ และยังมีจำนวนคลื่นวิทยุ fm/am รวมกันถึง 196 คลื่น เป็นของกองทัพบกถึง 122 คลื่น ซึ่งไม่มีตัวเลขรายรับรายจ่ายเช่นกัน
.
สำหรับกรณีการลงทุนในบริษัทจำกัดนั้น กองทัพมีการลงทุนในบริษัทที่อยู่ในตลาดหลักทรัพย์ถึง 8 บริษัทใหญ่ มีมูลค่ารวมกันถึง 1,400 ล้านบาท เช่น ธนาคารทหารไทยธนชาติ ธนาคารกรุงเทพ บริษัทเกียรตินาคิน และบริษัททางด่วนและรถไฟกรุงเทพ โดยสัดส่วนส่วนใหญ่ 82% อยู่ที่ธนาคารทหารไทย-ธนชาติ และยังมีการลงทุนในบริษัทจำกัดที่มีนัยยะสำคัญสองบริษัท คือ บริษัท อาร์ทีเอเอ็นเตอร์ไพรซ จำกัด และบริษัท อุตสาหกรรมการบิน จำกัด ในกรณีหลังมีปัญหาประสิทธิภาพ 20 ปีที่ผ่านมายังไม่สามารถคืนกำไรให้ผู้ถือหุ้นได้เลย
.
ปัญหา คือ การที่กองทัพลงทุนกับบริษัทเอกชนเหล่านี้ ไม่มีกฎหมายอนุญาตหรือรองรับให้กระทรวงกลาโหมหรือหน่วยงานในสังกัดกระทรวงกลาโหมไปดำเนินกิจการเชิงพาณิชย์หรือถือหุ้นบริษัทเอกชนได้ ถ้าจะทำต้องทำด้วยการจัดตั้งเป็นรัฐวิสาหกิจในการควบคุมของกลาโหม หรือให้กระทรวงการคลังเป็นผู้ถือหุ้นในบริษัทนั้น แล้วให้คณะรัฐมนตรีมอบหมายให้หน่วยงานเหล่าทัพไปควคุมกำกับดูแล แต่ที่ผ่านมาเราพบว่ากองทัพและหน่วยงานในสังกัดกองทัพเข้าไปถือหุ้นในบริษัทเอกชนและตลาดหุ้นจำนวนมาก และเวลาที่มีกำไรปันผลขึ้นมาก็ไม่มีใครทราบได้ว่ากำไรไปอยูที่ไหนและบริหารจัดการอย่างไร
.
เรื่องความโปร่งใสเป็นปัญหาใหญ่นำมาสู่คำถามเรื่องประสิทธิภาพและความไม่เป็นธรรม กองทัพมักอ้างว่า รายได้เหล่านี้นำไปเลี้ยงดูกำลังพล บางครั้งก็อ้างว่ากิจการบางอย่างทำให้กองทัพสามารถเลี้ยงตัวเองได้ แต่ความเป็นจริงกิจการเหล่านี้ดำเนินงานโดยใช้ทรัพยากรพื้นฐานขของชาติ คือที่ดิน อาคารสำนักงาน กำลังพล น้ำ ไฟ บางกิจการเข้าไปดูรายละเอียดจริงๆ แล้วขาดทุน ที่ระบุว่าไม่ขาดทุนก็เพราะเอาเงินงบประมาณที่ตั้งขอจากรัฐมาบวกเข้ากับรายรับด้วย
.
“นี่คือการขยายตัวออกไปเรื่อย ๆ อย่างไม่มีข้อจำกัดโดยอาศัยทรัพยากรของชาติ พอไม่เปิดเผยข้อมูลทั้งหมดเราก็ตั้งคำถามได้ว่ารายได้ที่เป็นจริงแล้วน่าจะสูงมากกว่านี้หรือไม่ แล้วกองทัพต้องใช้เงินมากเพียงใดในนามของสวัสดิการภายในของกำลังพล แต่เราก็ได้ยินขาวบ่อยๆ ว่าทหารชั้นผู้น้อยถูกเบียดบังอย่างมาก แล้วรายได้พวกนี้มันหายไปไหน” รศ.พวงทอง กล่าว
.
[ ผูกขาดชั่วนิรันดร์ วิทยุโทรทัศน์ทหาร ]
.
สุภลักษณ์ กาญจนขุนดี สื่อมวลชนอิสระและที่ปรึกษาคณะกรรมาธิการทหาร กล่าวในหัวข้อ “ผูกขาดชั่วนิรันดร์ วิทยุโทรทัศน์ทหาร” ว่า กองทัพรับใบอนุญาตครอบครองคลื่นวิทยุ-โทรทัศน์ โครงข่ายทีวีดิจิทัล และโทรคมนาคม ทั้งสิ้น 200 ใบอนุญาต มากกว่ากรมประชาสัมพันธ์ ซึ่งมีหน้าที่โฆษณางานของรัฐและประกาศข่าวทางราชการ 2 เท่า เริ่มต้นจากสถานีโทรทัศน์กองทัพบกช่อง 5 หรือ ททบ. 5 ครอบครองคลื่นโทรทัศน์ 1 เป็นสถานีโทรทัศน์ “สาธารณะประเภท 2” เพื่อความมั่นคง และได้ใบอนุญาตให้บริการโครงข่าย 2 โครงข่ายคือ MUX 2,5
.
สุภลักษณ์ กล่าวอีกว่า สถานี ททบ. ไม่ตอบโจทย์ทางด้านความมั่นคง เพราะมีเนื้อหาที่เกี่ยวข้องกับความมั่นคงจริง ๆ เพียง 8 % ไม่นับรายการข่าว เพราะก็เป็นข่าวสารทั่วไปเหมือนกับสถานีอื่น ๆ เนื้อหาด้านบันเทิงและกีฬาก็คล้าย ๆ กับทีวีทั่วไปเช่นกัน ส่วนเรตติ้งของช่อง 5 ก็ค่อนข้างต่ำ อยู่ในอันดับ 19 ผู้ชมเฉลี่ย 8,915 เข้าถึงผู้ชมทั้งหมด 7.1 ล้านคน
.
“ผลประกอบการ ททบ. 5 ในรอบ 6 ปีที่ผ่านมาขาดทุนเฉลี่ย 100 ล้านบาทต่อปี แต่ไม่ทราบว่า ขาดทุนจากการดำเนินงานทีวีหรือส่วนอื่นใด เพราะ ททบ.5 ไม่ยอมเปิดเผย บัญชีงบดุล แต่มีรายได้ที่สามารถประเมินได้จากค่าเช่าโครงข่ายของทีวีดิจิตอล 11 สถานี รวมทั้ง ททบ. 5 เอง คิดเป็นเงินประมาณ 882 ล้านบาทต่อปี”
.
ที่ปรึกษาคณะกรรมาธิการทหาร ยังกล่าวอีกว่า สิ่งที่ต้องการเน้นย้ำเป็นพิเศษ คือ ความผิดปกติและปัญหาเงื่อนงำใน ททบ.5 ที่ผู้แทนทั้งจากสถานีและกองทัพบกชี้แจงอย่างไรก็ไม่กระจ่าง คือ 1.สถานะทางกฎหมาย ททบ.5 ไม่ชัดเจนนัก โดยแจ้งว่า เป็นหน่วยงานสังกัดกองทัพบก แต่ไม่รวมงบประมาณเข้ามาอยู่ในบัญชีกองทัพบก
.
2.เมื่อวันที่ 14 มีนาคม 2540 ระหว่างที่อุตสาหกรรมสื่อสารมวลชนกำลังเฟื่องฟู ก่อนวิกฤตเศรษฐกิจไม่นานมีการจัดตั้งบริษัท ททบ.5 โดยกองทัพบกถือหุ้น 100 % เพื่อทำธุรกิจสถานี ททบ.5 รายงานผู้สอบบัญชี ปี 2543, 2544 แจ้งว่า บริษัทนี้มีรายได้จากการค่าโฆษณาและเช่าช่วงเวลาสถานี ททบ.5 บริษัทนี้ มีหนี้สินกับสถานี ททบ.5 จำนวน 1,400 ล้านบาท นอกจากนี้ยังปรากฏชื่อ นายทหารยศนายพลถือหุ้นในนามกองทัพบก และ นายทหารหลายคนเป็นผู้ถือหุ้นส่วนที่เหลือร่วมกับพลเรือนจำนวนหนึ่ง ต่อมาวันที่ 19 พฤษภาคม 2547 ปรากฏชื่อบริษัท RTA Entertainment จดทะเบียนในตลาดหลักทรัพย์แห่งประเทศไทย
.
3.ครม.มีมติเมื่อปี 2547 ให้ตั้งคณะกรรมการสอบสวนพบความผิดปกติหลายประการเกี่ยวกับการดำเนินการของบริษัทและททบ.5 เช่น สถานีให้บริษัท RTA Entertainment เช่าเวลาและทำการตลาดนานถึง 30 ปีได้อย่างไร, ทำไมจึงมีการโอนสิทธิการซื้อหุ้นเพิ่มทุนธนาคารทหารไทยให้บริษัทที่จดทะเบียนที่เกาะบริติสเวอร์จิน และอาจจะมีปัญหาเรื่องผลประโยชน์ทับซ้อน เพราะผู้บริหารสถานีกับผู้บริหารบริษัทเป็นคนกลุ่มเดียวกัน
.
“กรรมการฯ ในช่วงนั้นเสนอให้ ครม.ส่งเรื่องให้ ปปช. ปรากฏว่า ปปช. นั่งทับอยู่นานถึง 19 ปี เพิ่งจะมีมติตีตกเมื่อปี 2566 เพราะเหตุที่ไม่พบว่า ผบ.ทบ.ในขณะนั้นมีส่วนเกี่ยวข้องใด ๆ กับความผิดปกติทั้งหมด แต่มีข้อสังเกตว่า บริษัท ททบ.5 ควรมีฐานะเป็นรัฐวิสาหกิจ”
.
[ หนี้สิน ททบ.5 ]
.
นอกจากนี้ยังมีปัญหาหนี้สินระหว่างบริษัทกับ ททบ.5 ที่เริ่มจากปี 2541 ที่บริษัท ททบ.5 กู้เงินจาก สถานีโทรทัศน์กองทัพบกช่อง 5 จำนวน 1,446.7 ล้านบาทไปซื้อหุ้นธนาคารทหารไทย 114 ล้านหุ้น เพื่อช่วยพยุงฐานะธนาคารช่วงวิกฤตเศรษฐกิจ เพราะมีหน่วยงานสังกัดกระทรวงกลาโหมหลายหน่วยถือหุ้นธนาคารแห่งนี้ ต่อมาสถานีททบ.5 ให้บริษัทททบ.5 กู้เงินจากธนาคารทหารไทย 1,615 ล้านบาท เพื่อลงทุนโครงการโทรทัศน์ดาวเทียมตามกระแสความนิยมในวงการสื่อสมัยนั้น
.
“ผลการสอบของคณะกรรมการชุดที่ครม.ตั้งเมื่อปี 2547 ระบุว่า 2547 RTA Entertainment เป็นหนี้สถานี ททบ.5 จำนวน 1,320 ล้านบาท และ สถานี ททบ.5 เป็นหนี้ RTA Entertainment 1,536 ล้านบาท หากมีการหักกลบหนี้กัน สถานีจะต้องใช้เงินคืนให้บริษัท 216 ล้านบาท เรื่องนี้ไม่มีความกระจ่างเพราะ ปปช.ไม่สืบสาวเอาเรื่อง”
.
เมื่อวันที่ 15 กันยายน 2564 มีการเปลี่ยนแปลงทางทะเบียนเป็นชื่อ RTA Enterprise ความจริงแล้วก็คือบริษัท RTA Entertainment เดิมนั่นเอง แต่บริษัทใหม่นี้มีบริษัทในเครือเพิ่มขึ้น เมื่อตรวจสอบพบว่า กรรมการบริษัททั้งหมดเป็นนายทหาร ที่สำคัญ คือ ในรายงานผู้สอบบัญชีพบว่า ปี 2565 บริษัทมีผลการดำเนินงานขาดทุนเกินทุน 1,005.21 ล้านบาท ในปี 2565 เช่นกัน รายงานที่ประชุมผู้ถือหุ้น เปลี่ยนแปลงประเพณี กรรมการบริหารททบ. ต้องเป็นกรรมการและประธานกรรมการบริษัท เพราะคนที่เพิ่งหมดวาระในปีนั้น
.
[ จี้ ผบ.ทบ.เปิดเผยข้อมูลทำธุรกิจ ]
.
สื่อมวลชนอิสระ กล่าวอีกว่า ที่น่าสนใจไปกว่านั้น คือ ปี 2565 รายงานการสอบบัญชีระบุว่า ความสามารถในการดำเนินงานของบริษัทขึ้นอยู่กับความสำเร็จในการประกอบการของ ททบ.5 ที่ยืนยันจะสนับสนุนด้านการเงินแก่บริษัทต่อไป แต่เมื่อปี 2566 หมายเหตุผู้สอบบัญชีระบุว่า สถานีไม่ยืนยันที่จะสนับสนุนทางการเงินแก่บริษัทอีกต่อไปแล้ว แต่ในปี 2566 นั้นข้อมูลจากกรมพัฒนาธุรกิจกระทรวงพาณิชย์ระบุว่า ผู้ถือหุ้นใหญ่ของบริษัท 49 % ยังคงเป็นกองทัพบก
.
“ขอเรียกร้องให้ ผบ.ทบ.คนใหม่ทำความกระจ่างเกี่ยวกับความเคลือบแคลงทางกฎหมายและธุรกิจดังต่อไปนี้ 1.กองทัพบกจัดตั้งบริษัท ททบ. 5 และต่อมา คือ RTA Enterprise ในปัจจุบันได้อย่างไร ในเมื่อ พ.ร.บ.จัดระเบียบกระทรวงกลาโหมปี 2551 ไม่ได้ให้อำนาจหน่วยงานในสังกัดดำเนินการเชิงพาณิชย์หรือร่วมกับเอกชนทำธุรกิจ 2.นายพลทั้งหลายเป็นผู้ถือหุ้นและกรรมการบริษัท RTA Enterprise ได้อย่างไร ในเมื่อคำสั่งคณะปฏิรูปแผ่นดินที่ 38/2519 ห้ามข้าราชการกระทรวงกลาโหม เป็นกรรมการหรือผู้จัดการบริษัท 3.จะเกิดอะไรขึ้นเมื่อผู้แทนสถานี ททบ.5 ปฏิเสธความสัมพันธ์และไม่ยืนยันความเกี่ยวข้องไม่ให้การสนับสนุนทางการเงินกับบริษัทอีกต่อไป และ 4.ผู้แทนสถานี ททบ.5 ยอมรับว่า บริษัทมีฐานะเป็นลูกหนี้ แต่ปฏิเสธที่จะให้รายละเอียดการบังคับชำระหนี้ และหนี้นี้อาจจะเป็น “หนี้เสีย ที่สงสัยว่าจะกลายเป็นหนี้สูญ”
.
นอกจากยังพบว่า วิทยุทหารมี 196 สถานีทั่วประเทศ ทั้งระบบ AF/FM อยู่ในกรุงเทพฯ และปริมณฑล 19 จาก 40 สถานีเป็นของกองทัพ ซึ่งรายได้จากสถานีวิทยุลดลงอย่างมีนัยสำคัญในรอบ 10 ปี อีกทั้งสถานีวิทยุจำนวนไม่น้อยไม่มีรายได้หรือขาดทุนและพบว่า ระบบบัญชีไม่ได้มาตรฐาน มีรายจ่ายที่น่าเคลือบแคลงมากมาย การดำเนินการส่วนหนึ่งให้บริษัทเอกชนเป็นผู้ร่วมผลิตรายการ แต่หลายสถานีน่าจะเกิน 40 % ของ
.
“ที่น่าตกใจที่สุด คือ ค่าใบอนุญาตรายปีที่จ่ายให้ กสทช.เพียง 3,631.51 บาทต่อปี เมื่อหารด้วย 14 สถานีก็จะตกใบอนุญาตละ 259.40 บาทเท่านั้น”
.
ส่วนกองทัพเรือมี 21 คลื่น ก็มีสภาพไม่ต่างกันเท่าใดนัก มีคลื่นในครอบครองเป็น FM 14 คลื่น มีเอกชนแบ่งเวลา 12 คลื่น AM 7 คลื่น มีเอกชนแบ่งเวลา 2 คลื่น ส่วนกองทัพอากาศมี 36 สถานีเจอปัญหาเหมือนกัน คือ ขาดทุน
.
ผมมีข้อเสนอ 4 ข้อ คือ 1.ในแง่ของความจำเป็นที่จะธำรงสภาพสถานี-วิทยุโทรทัศน์ทหารคงไม่มากนัก เพราะมีเนื้อหาที่เกี่ยวกับความมั่นคงเพียงไม่เกิน 10 เปอร์เซ็นต์ 2.ความมีประสิทธิภาพ ททบ. 5 นั้นเรตติ้งต่ำมาก ไม่คุ้มค่ากับการลงทุน อีกทั้งผลการดำเนินงานก็ขาดทุน 3.การดำเนินงานของสถานีวิทยุ-โทรทัศน์ทหารส่วนใหญ่ไม่โปร่งใส เช่น ททบ.5 และกองทัพบกไม่เคยแสดงบัญชีให้ กมธ. ดูเลย และ 4.ความเหลื่อมล้ำ ไม่เป็นธรรมต่อหน่วยทหารด้วยกันระหว่างหน่วยที่ครอบครองคลื่นกับหน่วยที่ไม่ได้ครอบครอง ไม่เป็นธรรมกับหน่วยราชการอื่นที่ไม่ได้มีคลื่นวิทยุโทรทัศน์เป็นของตัวเอง
.
“อยากจะเรียกร้องให้ผู้เกี่ยวข้องตั้งแต่ รัฐบาล รัฐมนตรีกลาโหม ผบ.เหล่าทัพทุกท่าน ได้แน่วแน่แก้ไขในสิ่งผิดเพื่อให้เป็นเกียรติเป็นศรีแก่วงศ์ตระกูล เพื่อความเจริญก้าวหน้าวัฒนาถาวรของกองทัพและประเทศชาติสืบไป” สุภลักษณ์ กล่าว
.
[ สนามกอล์ฟทหารมีไว้ทำไม ]
.
ขณะที่เชตวัน เตือประโคน สส.ปทุมธานี พรรคประชาชน และรองประธานคณะกรรมาธิการการทหาร ได้รายงานข้อมูลที่เกี่ยวกับกิจการสนามกอล์ฟของกองทัพ โดยระบุว่า จากการชี้แจงของกองทัพมีรายงานสนามกอล์ฟของกองทัพในปัจจุบันรวมทุกเหล่าทัพมีทั้งหมด 57 แห่ง บนที่ดินรวมกัน 20,871 ไร่ จากการตรวจสอบของคณะกรรมาธิการฯ พบว่า ยังมีส่วนที่กองทัพไม่ได้แจ้งอีก 4 แห่ง ทำให้ในความเป็นจริงกองทัพมีสนามกอล์ฟรวมทั้งหมด 61 สนามบนที่ดินถึง 21,454 ไร่ โดยเป็นสนามของกองทัพเรือ 4 สนาม ที่ดินรวมกัน 2,354 ไร่ กองทัพอากาศ 13 สนาม ที่ดินรวมกัน 4,047 ไร่ และของกองทัพบก 40 สนาม ที่ดินรวมกัน 14,470 ไร่ เมื่อลองนำสนามกอล์ฟทั้งหมดจากทุกเหล่าทัพมาปักหมุดในแผนที่ประเทศไทยพบว่า สนามกอล์ฟเหล่านี้กระจายอยู่ในทุกภูมิภาค ซึ่งเป็นที่เข้าใจได้ แต่ที่เข้าใจไม่ได้ คือ การมีสนามของกองทัพหลายแห่งอยู่ติดกันใกล้กันมาก ทั้งจากคนละเหล่าทัพและจากเหล่าทัพเดียวกัน
.
เชตวัน กล่าวต่อไปว่า เป็นสิ่งที่ประชาชนไม่เข้าใจว่า ทำไมกองทัพถึงใช้ที่ดินรัฐไปทำสนามกอล์ฟมากมายถึงเพียงนี้ และทำไมแต่ละเหล่าทัพต้องมีคนละสนามในพื้นที่ใกล้เคียงกัน ไม่นับรวมว่า มีสนามกอล์ฟของกองทัพที่อยู่ใกล้สนามกอล์ฟของเอกชนด้วย ที่ผ่านมากองทัพเคยชี้แจงว่า ใช้เพื่อเป็นที่ออกกำลังกายของทหาร มีไว้รับรองแขกบ้านแขกเมือง มีไว้เพื่อควบคุมค่าใช้จ่ายและค่าบริการของสนามกอล์ฟเอกชนที่อยู่ใกล้เคียง และมีไว้เพื่อการบริหารจัดการพื้นที่ในเชิงความมั่นคง
.
แต่ในระยะหลังทุกเหตุผลที่กองทัพเคยยกมาเหมือนจะถูกลืมไปแล้ว มีการรวมกันเป็นเหตุผลเดียว คือ เพื่อเป็นสวัสดิการของทหารชั้นผู้น้อย เพราะเป็นแหล่งรายได้เข้าสู่กองทุนสวัสดิการ อย่างไรก็ตามข้ออ้างดังกล่าวนั้นยังไม่สามารถตอบคำถามได้ว่า กองทัพจำเป็นต้องมีสนามกอล์ฟจำนวนมากขนาดนี้ไปทำไม นั่นทำให้ตนและพรรคประชาชนมีข้อเสนอว่า ต้องมีการนำสนามกอล์ฟเหล่านี้มาพิจารณาความสมเหตุสมผลใหม่อีกครั้งว่า จะให้กองทัพบริหารจัดการต่อไปหรือควรต้องส่งคืนให้รัฐใช้ประโยชน์อยางอื่น
.
เชตวัน ยกตัวอย่าง เช่น กรณีสนามกอล์ฟธูปะเตมีย์ บนพื้นที่กว่า 625 ไร่ หากเปลี่ยนเป็นสวนสาธารณะจะทำให้ประชาชนได้ใช้ประโยชน์เกือบ 3 แสนคน เฉพาะสำหรับชาวปทุมธานี หากรวมประชาชนในพื้นที่ใกล้เคียงอื่นด้วยจะมีประชาชนได้ประโยชน์กว่า 5 แสนคน อีกทั้งเมื่อพิจารณาจากกำไร 11 เพียงล้านบาทต่อปีที่สนามกอล์ฟธูปะเตมีย์ได้รับ ถือว่าน้อยมากเมื่อเทียบกับค่าเสียโอกาสจากการไม่ได้พัฒนาพื้นที่กว่า 625 ไร่ ราคาประเมินไร่ละ 16.4 ล้านบาท มูลค่ารวมถึง 10,250 ล้านบาทนี้ให้เกิดประโยชน์สูงสุด
.
[ แนะนำสนามกอล์ฟทำประโยชน์เพื่อประชาชน ]
.
เชตวัน ยังระบุว่า การนำสนามกอล์ฟเหล่านี้มาทำประโยชน์ในทางอื่น จะสามารถสร้างประโยชน์ให้กับประเทศและประชาชนได้มากกว่านี้มาก เช่น สนามกอล์ฟธูปะเตมีย์ หากเปลี่ยนให้เป็นสวนสาธารณะให้ประชาชนได้ใช้ประโยชน์ แม้ไม่ได้สร้างรายได้ แต่ประชาชนเกือบ 3-5 แสนคนจะได้ใช้ที่ดินแห่งนี้เป็นที่ออกกำลังกาย มีสุขภาพที่ดี และจะสามารถประหยัดงบประมาณของประเทศในการดูแลความเจ็บไข้ได้ป่วยได้มหาศาล เปลี่ยนจากผู้ใช้งานที่เป็นนายพลจำนวนไม่มาก ไปสู่ประชาชนที่ครอบคลุมทุกเพศวัยและข้อจำกัดด้านความพิการ สามารถออกแบบให้เป็นได้ทั้งศูนย์การเรียนรู้ตลอดชีวิตครบวงจรกลางเมือง ศูนย์กีฬาและพื้นที่จัดงานอีเวนต์ สวนสาธารณะสีเขียวขนาดใหญ่
.
“ผมเข้าใจเรื่องความจำเป็นในการออกกำลังกายของทหาร ความมั่นคง สวัสดิการกองทัพ ข้อเสนอการเปลี่ยนสนามกอล์ฟธูปะเตมีย์เป็นสวนสาธารณะ การยกเลิกสนามกอล์ฟกานต์รัตน์ การยกเลิกสนามกอล์ฟในตัวเมืองโคราช หรือเชียงราย ไม่ใช่ว่าต้องตะบี้ตะบันเอามาให้ได้ อะไรที่จำเป็นสำหรับกองทัพและความมั่นคง ถ้ากองทัพอธิบายกับสังคมได้ว่าจำเป็นอย่างไรก็บริหารต่อไป แต่อะไรที่อธิบายตอบไม่ได้ ไม่สมเหตุสมผล ใช้ที่ดินไม่คุ้มค่า กองทัพก็ต้องพิจารณาตัวเอง ให้มีความโปร่งใส ตรวจสอบได้ มีประสิทธิภาพ และเป็นธรรมกับทุกคน เพื่อประโยชน์ของคนส่วนใหญ่และประเทศ” เชตวัน กล่าว
.
[ ขุมทรัพย์พลังงาน ]
ในส่วนของ เบญจา แสงจันทร์ กรรมการบริหารคณะก้าวหน้า และกรรมาธิการวิสามัญพิจารณาศึกษาแนวทางการถ่ายโอนธุรกิจของกองทัพฯ ได้รายงานข้อมูลกิจการของกองทัพที่เกี่ยวกับพลังงานปิโตรเลียม โดยระบุว่า ตามหลักกฎหมายไทย ทรัพยากรธรรมชาติใต้ดินไม่ได้สมบัติของผู้หนึ่งผู้ใด เจ้าของที่ดินมีสิทธิครอบครองและใช้ประโยชน์บนผืนดินเท่านั้น รัฐบาลต้องเป็นผู้บริหารจัดการทรัพยากรใต้ดินนั้น โดยมอบสิทธิให้เอกชนเป็นผู้สำรวจ ผลิต และนำทรัพยากรมาใช้ รัฐยังต้องเป็นผู้ได้รับรายได้จากค่าภาคหลวงและภาษีต่าง ๆ และยังมีกฎหมายปิโตรเลียม ที่ระบุว่า น้ำมันดิบเป็นของรัฐ ผู้ใดจะสำรวจขุดเจาะไม่ว่า บนที่ดินของตนเองหรือบุคคลอื่นต้องได้รับสัมปทานจากรัฐ ตามหลักเกณฑ์และวิธีการที่รัฐเป็นคนกำหนด
.
แต่ที่ผ่านมากว่าครึ่งศรวรรษ มีแหล่งน้ำมันอยู่แห่งหนึ่งที่กองทัพไทยเป็นเจ้าของ คือ แหล่งน้ำมันหลุมแอ่งฝาง โดยเป็นบ่อน้ำมันที่กองทัพผลิตเอง สำรวจเอง ขุดเจาะเอง กลั่นเอง และเก็บเงินไว้ใช้เองโดยไม่ต้องส่งคืนคลัง โดยอ้างว่า เป็นการสำรองไว้เพื่อความมั่นคงทางพลังงานอยู่ในการดูแลของศูนย์พัฒนาปิโตรเลียมภาคเหนือ กรมการพลังงานทหาร ซึ่งมีพื้นที่รับผิดชอบครอบคลุม 6 จังหวัดในภาคเหนือ เป็นพื้นที่นอกกฎหมายปิโตรเลียมที่รัฐไม่ต้องสัมปทานให้กับใคร ให้เพียงแค่ศูนย์พัฒนาปิโตรเลียมภาคเหนือเป็นผู้รับผิดชอบ โดยไม่ต้องรายงานปริมาณที่ผลิตได้เหมือนเอกชนหรือรัฐวิสาหกิจรายอื่น
.
[ หลุมแอ่งฝางกับอนาคตพลังงานไทย ]
.
เบญจา กล่าวต่อไปว่า จากข้อมูลการชี้แจงโดยศูนย์พัฒนาปิโตรเลียมภาคเหนือ มีการระบุว่า ศูนย์ฯ เป็นผู้ผลิตน้ำมันมาตั้งแต่ปี 2499 มีน้ำมันดิบหลายลุ่มแอ่งใน 6 จังหวัดภาคเหนือ แต่แหล่งฝางเป็นแหล่งที่มีคุณภาพและศักยภาพมากที่สุด มีการขุดมาใช้แล้ว 16 ล้านบาร์เรลจากหลุ่มผลิตสะสมทั้งหมดประมาณ 300 หลุม โดยหลุมแอ่งฝางยังผลิตน้ำมันไปได้อีก 11 ปี และในอนาคตจะมีการสำรวจและขุดเจาะเพ่มเติมต่อไปในพื้นที่
.
หลุมแอ่งฝางมีปริมาณสำรองน้ำมันอยู่ 63 ล้านบาร์เรล มีกำลังผลิตอยู่ที่วันละ 800 บาร์เรลต่อวัน จากการสืบค้นข้อมูลยังพบว่า ศูนย์พัฒนาปิโตรเลียมภาคเหนือเคยรายงานต่อกรมเชื้อเพลิงธรรมชาติว่า มีปริมาณน้ำมันดิบที่ขุดเจาะได้ 3 แสนบาร์เรลต่อปี เมื่อเปรียบเทียบกับภาพรวมน้ำมันดิบของทั้งประเทศ ที่ผลิตน้ำมันดิบได้ราว 29 ล้านบาร์เรลต่อปี หรือวันละ 80,000 บาร์เรล จะเท่ากับว่าน้ำมันที่ผลิตได้ที่ฝางคิดเป็นเพียง 1% ของปริมาณการผลิตน้ำมันทั่วประเทศเท่านั้น เป็นสัดส่วนที่ผลิตได้น้อยมากเมื่อเทียบกับรัฐวิสาหกิจและเอกชนรายอื่น ทำให้ข้ออ้างที่กองทัพมักอ้างเสมอว่า บ่อน้ำมันที่ฝางเป็นไปเพื่อสร้างหลักประกันความมั่งคงทางพลังงานให้แก่กองทัพและประเทศในยามวิกฤติแทบเป็นไปไม่ได้เลย
.
เบญจา กล่าวต่อไปว่า หากนำเอาปริมาณน้ำมันดิบในปีที่ขุดเจาะได้น้อยที่สุด มาคำนวณด้วยราคาค่าเฉลี่ยกลางด้วยระยะเวลา 68 ปี น้ำมันดิบที่ผลิตจากแหล่งฝางจะมีมูลค่าอย่างน้อยที่สุด 34,000 ล้านบาท ค่าภาคหลวงที่ต้องเสีย 12.5% คิดเป็นเงินจำนวน 4,250 ล้านบาท ไม่รวมภาษีอื่น ๆ นี่เป็นมูลค่าต่ำสุดที่รัฐต้องเสียไปกับการแลกให้กองทัพเอาทรัพยากรของประเทศไปแบ่งปันรายได้ภายในค่ายทหารเท่านั้น คำถามคือ รายได้เหล่านั้นได้ถูกนำไปจัดสรรสวัสดิการให้กำลังพลได้อย่างเป็นธรรมทั่วถึงมากน้อยเพียงใด และเหมาะสมที่กองทัพจะเป็นผู้ลงทุนในธุรกิจนี้ต่อไปหรือไม่
.
[ กองทัพกลั่นน้ำมันวันละ 2,500 บาร์เรล ]
.
นอกจากนี้กองทัพยังเป็นเจ้าของโรงกลั่นน้ำมันขนาดกำลังกลั่นวันละ 2,500 บาร์เรล โดยน้ำมันที่กลั่นได้ทั้งหมดถูกนำออกไปขายให้ลูกค้าที่เป็นหน่วยงานกองทัพด้วยกัน โดยผลิตภัณฑ์อื่นๆ ยังนำไปขายให้เอกชนที่เป็นคู่ค้าภายนอก ที่เหลือขายออกไปยังต่างประเภท เช่น ลาว เมียนมา และจีนตอนใต้ โดยที่ต้องส่งน้ำมันไปขายยังต่างประเทศ ก็เพราะน้ำมันดีเซลของโรงกลั่นที่ฝางไม่เป็นไปตามมาตรฐานการรับซื้อของประเทศ เนื่องจากมีค่ากำมะถันสูงเกินไปเทียบเท่าได้กับยูโร 1 ทำให้ศูนย์พัฒนาปิโตรเลียมภาคเหนือวันนี้ต้องการงบประมาณเพิ่มเพื่อนำไปสร้างโรงกลั่นแห่งใหม่ และได้เสนอแผนโครงการต่อรัฐบาลแล้ว เรื่องนี้ตนขอให้ทุกคนได้ติดตามอย่างใกล้ชิดว่า รัฐบาลจะอนุมัติงบประมาณถึง 400 ล้านบาทเพื่อสานต่อธุรกิจเดิมของกองทัพที่ไม่คุ้มค่าต่อการลงทุนต่อไปหรือไม่
.
เบญจา ระบุว่า กองทัพเองไม่มีความจำเป็นใด ๆ ต้องสร้างโรงกลั่นใหม่เพื่อรองรับปริมาณน้ำมันเพียงเท่านี้ ศูนย์ปิโตรเลียมภาคเหนือสามรถส่งน้ำมันดิบของตัวเองออกไปยังโรงกลั่นภายนอกที่มีขีดความสามารถและเทคโนโลยีที่เหมาะสม จะเป็นการไม่สิ้นเปลืองและคุ้มค่ามากกว่ามาก นอกจากนี้ศูนย์พัฒนาปิโตรเลียมภาคเหนือยังมีโรงไฟฟ้าพลังงานร่วมขนาด 10.4 เมกะวัตต์ ดำเนินธุรกิจขายไฟฟ้าให้กับการไฟฟ้าฝ่ายลิตแห่งประเทศไทย มีรายได้หลายร้อยล้านบาทต่อปี แม้จะปลดระวางไปแล้วแต่ก็ต้องตั้งคำถามว่าเงินรายได้มหาศาลกว่า 20 ปีโดยเป็นเงินอุดหนุนที่ไม่ต้องส่งคืนคลังหายไปไหนหมด
.
แม้จะไม่เคยปรากฏต่อสาธารณะอย่างแน่ชัดว่า รายได้เหล่านี้ได้ถูกจัดสรรให้ใคร จัดสรรสวัสดิการให้กำลังพลเท่าไหร่ แต่ที่แน่ ๆ มีการสะสมทุนนำเม็ดเงินนี้ไปสร้างโรงแรมสองแห่ง คือ Petro Hotel Chiangmai ที่แม้จะมีการอ้างว่า มีภารกิจเพื่อเป็นศูนย์ฝึกบุคลากร แต่จากเพจเฟซบุ๊กอย่างเป็นทางการพบว่า ใช้เป็นที่จัดอบรมจริยธรรมและศีลธรรม ไม่ได้เกี่ยวกับการให้ความรู้ด้านพลังงานอย่างที่กล่าวอ้าง และยังเปิดขายแพคเกจทัวร์และห้องพักแบบทั่วไปด้วย และยังมีโรงแรมที่วิวดีที่สุดในจังหวัดระยองมูลค่ากว่า 770 ล้านบาท โดยใช้ที่ดินราชพัสดุติดริชายหาด ทำธุรกิจท่องเที่ยวครบวงจรภายใต้ชื่อ Serene Phla Resort Rayong อ้างว่าเพื่อเป็นศูนย์ฝึกบุคลากรด้านปิโตรเลียมและพลังงานเช่นกัน แต่ในเพจเฟซบุ๊กหลักมีการเปิดทำธุรกิจเป็นห้องพักโรงแรม ขายทัวร์ บริการท่องเที่ยวครวงจร สวนสนุก สวนน้ำ ลานคอนเสิร์ต โดยบางห้องมีราคาสูงถึง 33,000 บาทต่อคืน โดยใช้เงินอุดหนุนจากบ่อน้ำมันที่ฝาง
.
เบญจา กล่าวต่อไปว่า คำถามคือกองทัพมีความชำนาญเชี่ยวชาญในการบริหารธุรกิจมากน้อยเพียงใด ใช้เงินงบประมาณอย่างคุ้มค่าสมเหตผลหรือไม่ หลายกิจการเป็นการนำไปต่อยอดในธุรกิจอื่นที่ไม่ต้องกับภารกิจหลักของกองทัพ โรงแรมสองแห่งนี้นอกจากใช้เงินอุดหนุนของกองทัพแล้วยังใช้ทรัพยากรของรัฐ ไม่ว่าจะเป็นบุคลากรจากกำลังพล รับเงินเดือนจากภาษีประชาชน ใช้ที่ดินที่ราชพัสดุที่ทำเลดีที่สุด แต่ที่น่ากังวลที่สุด คือเม็ดเงินที่สร้างโรงแรมทั้งสองแห่งมีมูลค่ามหาศาล แต่กิจการกลับขาดทุนสะสมต่อเนื่องมาโดยตลอด ทำให้เกิดคำถามว่าในอนาคตจะกลายเป็นภาระทางงบประมาณที่รัฐและประชาชนต้องเข้าไปช่วยอุ้มหรือไม่
.
[ ถึงเวลากองทัพคืนสมบัติชาติให้รัฐ ]
.
ถึงเวลาแล้วที่กองทัพต้องคืนสิทธิในทรัพยากร คืนสมบัติของชาติให้รัฐนำไปจัดสรรและบริหารจัดการให้เกิดประโยชน์อย่างเป็นธรรมต่อประชาชนทั้งประเทศ เปิดสัมปทานให้เอกชนสำรวจ ผลิต นำทรพยากรนี้ใช้พัฒนาประเทศ รัฐจะได้รายได้จากค่าภาคหลวงและค่าภาษีต่าง ๆ เพื่อนำมาบริหารประเทศด้วย ทั้งนี้เพื่อประโยชน์ในการศึกษาวิจัยและพัฒนาด้านพลังงานของกองทัพ กองทัพยังสามารถส่งบุคลากรมาฝึกงานและปฏิบัติงานร่วมกันได้ ส่วนโรงแรม กองทัพควรเปิดให้เอกชนเข้ามาพัฒนาพื้นที่เช่า ให้เอกชนที่มีประสบการณ์เข้ามาบริหารแล้วแบ่งรายได้ส่งให้รัฐ จะสามารถนำไปสนับสนุนเป็นสวัสดิการให้กำลังพลและบริหารจัดการได้อย่างโปร่งใสคุ้มค่ามากกว่า
.
“เราทุกคนเชื่อว่า สมบัติของชาติเป็นของประชาชน ธุรกิจกองทัพต้องถูกปฏิรูปเพื่อให้โปร่งใส มีประสิทธิภาพ เป็นธรรมต่อประชาชน และนำไปจัดสรรเป็นสวัสดิการให้เหมาะสมต่อกำลังพลชั้นผู้น้อยได้ด้วย ถึงเวลาแล้วที่ต้องคืนทหารให้ประชาชน คืนนายพลกลับไปทำงานในกองทัพ และคืนธุรกิจกองทัพให้รัฐบาลนำไปจัดสรรและกระจายทรัพยากรให้ประชาชนอย่างเป้นธรรม เพื่อสร้างความมั่นคงมั่งคั่งให้เศรษฐกิจของประเทศนี้” เบญจา กล่าว
.
[ ธุรกิจชิล ๆ สากกะเบือยันเรือรบ ]
.
จิรัฏฐ์ ทองสุวรรณ์ สส.ฉะเชิงเทรา พรรคประชาชน ในฐานะกรรมาธิการทหาร กล่าวในหัวข้อ “ธุรกิจชิล ๆ สากกะเบือยันเรือรบ” ว่า กองทัพไทยยังทำธุรกิจอีกจำนวนมาก ทั้งที่เคยรู้และไม่เคยรู้ กองทัพยังมีธุรกิจอสังหา ร้านค้าสวัสดิการ จำนวนมากที่ยังไม่ได้ทำสัญญา โดยมีตลาดสด 18 แห่ง นอกจากนี้ยังมีเรื่องการท่องเที่ยว ภายใต้สำนักงานส่งเสริมการท่องเที่ยวและกีฬา สังกัดกองทัพ โดยกองทัพมีสถานที่จัดแต่งงานอีกเป็นจำนวนมาก อีกทั้งยังเป็นองค์กรที่มีสถานที่จัดอบรมสัมมนามากที่สุด
.
กองทัพยังลงทุนทำค่ายมวยที่ควรทำเงิน เช่น สนามมวยลุมพินี เรื่องนี้ กมธ.ได้เรียกร้องให้กองทัพบกเปิดเผยตัวเลขรายรับว่า มีการแบ่งกับเอกชนอย่างไร เพราะบางครั้งมีคนดูการถ่ายทอดสดถึง 400 ล้านคน ถ่ายทอดสดไปหลายประเทศ มากกว่าฟุตบอลพรีมีลีกส์อีก แต่จนถึงขณะนี้ก็ยังไม่เปิดเผยข้อมูล ทราบว่า มีการขายสปอร์ตโฆษณา 3 แสน 5 หมื่นบาทต่อนาทีเท่านั้น
.
ส่วนโรงงานอุตสาหกรรมก็พบว่า ในอดีตเคยทำโรงงานฟอกหนัง ผลิตวิทยุ โทรทัศน์ ต่อมาแบกภาระขาดทุนไม่ไหวจึงทยอยปิดตัว เช่น โรงงานแบตเตอร์รี่ เป็นต้น แต่ก็ยังมีโรงงานน้ำแข็งและโรงงานอื่น ๆ ดำเนินกิจการอยู่ ทั้งที่ขาดทุนสะสม
.
นอกจากนี้ยังพบว่า มีกิจการขนส่งมวลชน กิจการลอยอังคารของกองทัพเรือ ที่ฐานทัพเรือสัตหีบ การทำธุรกิจการเกษตรที่ทำตั้งแต่ฟาร์มจิ้งหรีด ปลูกข้าวอินทรีย์จนถึงการแปรรูปอาหาร ทั้งนี้ยังพบการลงทุนอีกเป็นจำนวนมากที่ไม่ใช่งานของกองทัพ
.
“ที่ผ่านมาการทำงาน 9 เดือนของคณะกรรมาธิการพบว่า กองทัพก็มีพฤติกรรมเลี่ยงการถูกตรวจสอบ เห็นชัดมาก คือ การของบการเงินย้อนหลัง 5 ปี แต่กองทัพส่งเฉพาะหน้าปกงบการเงิน 5 ปีมาให้ ซึ่งคงไม่เกินเกินไปจริง ๆ ที่จะบอกว่า กองทัพธุรกิจตั้งแต่สากกระบือยันเรือรบ ผมคิดว่า การมีต้นทุนที่ดินจำนวนมากบวกกับงบประมาณปีละ 2 แสนล้านบาท มีแรงงานวัยหนุ่มจากการเกณฑ์ทหารทำให้เป็นปัญหา”
.
[ เจ้าที่ดิน (Landlord ที่ดินของรัฐในมือกองทัพ ]
.
พิจารณ์ เชาวพัฒนวงศ์ สส.บัญชีรายชื่อ พรรคประชาชน กล่าวในหัวข้อ “ เจ้าที่ดิน (landlord) ที่ดินของรัฐในมือกองทัพ” ว่า ที่ดินจำนวน 5.8 ล้าน คือ ที่ราชพัสดุ ครึ่งหนึ่งของประเทศนี้อยู่ภายใต้กระทรวงกลาโหม เมื่อรวมกับที่ดินของหน่วยงานอื่น ๆ โดย 91 เปอร์เซ็นต์อยู่ภายใต้กองทัพบก โดยใน 77 จังหวัดทั่วประเทศมีเพียง จ.อ่างทองไม่มีพื้นที่ของทหาร ประจวบคีรีขันธ์มี 6 แสนไร่ ส่วนกาญจนบุรี 2.5 ล้านไร่เป็นของกองทัพ ส่วน กทม.ที่มีชุมชนแออัดที่เป็นที่อยู่ของผู้รายได้น้อย 600 กว่าแห่ง ครอบคลุมพื้นที่ 11,000 ไร่ 146,000 ครัวเรือน
.
ส่วนกองทัพมีที่ดินจำนวน 2 หมื่นไร่ หรือเกือบครึ่งหนึ่งของที่รัฐทั้งหมดใน กทม.ไม่ได้บอกว่า จะนำที่ดินทหารมาทำเป็นที่อยู่ให้ผู้มีรายได้น้อย แต่นี่คือข้อเท็จจริงในสังคม
.
ค่ายทหารทั้งหมดทั่วประเทศ 107 แห่งตั้งอยู่ในเขตเมือง 69 แห่งอยู่ในชนบท มันถึงเวลาหรือยังที่รัฐบาลจะต้องทำงานเชิงรุก มีการทบทวน พิจารณาในการใช้ประโยชน์ที่ดิน ที่ตั้งต่าง ๆ ของหน่วยงานทหารมีความจำเป็นเหมาะสมต่อการเปลี่ยนแปลงโครงสร้างทางเศรษฐกิจ สังคมและภัยคุกคามที่เปลี่ยนแปลงอย่างไร ควรหรือเปล่าที่จะย้ายที่ตั้งหน่วยงานต่าง ๆ ออกไป แล้วนำที่ดินมาใช้ให้เกิดประโยชน์มากขึ้น เมื่อกองทัพมีที่ดินมากมายก็ถูกตั้งคำถามว่า ได้ใช้งานอย่างมีประสิทธิภาพ ตรวจสอบได้ โปร่งใส เป็นธรรม ทั้งต่อทหาร หน่วยงานกองทัพ หน่วยงานของรัฐและประชาชนอย่างไร
[ กองทัพเรือ-กองทัพอากาศมีทรัพย์สินเกือบ 7 พันล้าน ]
.
ประการที่ 1.อาณาจักรที่มากมายและตรวจสอบไม่ได้ ข้อเท็จจริงพบ คือ กองทัพบก กองบัญชาการกองทัพไทย สำนักงานปลัดกระทรวงกลาโหม ไม่ได้ส่งงบการเงินตามที่ กมธ.ร้องขอ สนามมวยลุมพินีก็เป็นสนามมวยที่มีผู้ชมมากที่สุดในโลกรายการหนึ่ง แต่ก็ไม่ส่งงบการเงิน ส่วนกองทัพเรือและกองทัพอากาศส่งงบการเงินให้ โดยพบว่า 2 เหล่าทัพมีทรัพย์สินรวมกัน 6,960 ล้านบาท ส่วนใหญ่เป็นเงินสด เงินฝาก รายได้และอาคารสถานที่ เมื่อตรวจสอบงบการเงินกลับพบว่า ลงงบไม่เป็นไปตามหลักการบัญชี ซึ่งตรวจสอบยาก
.
“ทรัพย์สินเหล่านี้ไม่มีที่ดินรวมอยู่ด้วย สนามกอล์ฟ 61 แห่ง ประมาณ 21,500 ไร่ มูลค่าตามราคาประเมินประมาณ 150,000 ล้านบาท ส่วนโรงแรมหรือสถานพักฟื้นและศูนย์อบรม 17 แห่งบนที่ดิน 1 พันไร่มีมูลค่า 11,000 ล้านบาท”
.
ส่วนเรื่องที่ 2 ข้อพิพาทที่ดินระหว่างกองทัพกับประชาชนมีจำนวน 1.3 ล้านไร่ โดย 99 % ส่วนใหญ่อยู่ใต้กองทัพบก ตัวอย่างเช่น โครงการหนองวัวซอโมเดล อ.หนองวัวซอ จ.อุดรธานี ซึ่งประชาชนอยู่มาก่อนกองทัพ อยู่มาตั้งแต่ พ.ศ. 2476 มีเอกสาร สค.1 มีวัดบ้านหนองแวงยาว ตั้งตั้งแต่ พ.ศ.2482 ถือว่า ประชาชนมีหลักฐานว่า อยู่มาก่อน
ส่วนเรื่องที่ 3.เป็นการเสียโอกาสในการใช้ที่ดิน ยกตัวอย่างเช่น บริเวณท่าเรือจุกเสม็ด หาดนางรำที่มีการสร้างอาคารยาว 250 เมตร ซึ่งกองทัพเรืองบประมาณ 250 ล้านบาท เมื่อปี 2563 แต่สร้างสิ่งปลูกสร้างได้ 2 ปีครึ่งก็ถูกปล่อยทิ้งร้าง ไม่ได้ใช้ประโยชน์
.
ส่วนประเด็นสุดท้าย คือ ค่าเช่าที่ดินราชพัสดุเข้ากระเป๋ากองทัพ ไม่เข้าเป็นรายได้แผ่นดิน ปกติเวลาที่เอกชนเช่าที่ดินของรัฐ กระทรวงการคลังเป็นผู้ได้รับค่าเช่า โดยเกิดขึ้นภายใต้โครงการ EECa หรือเมืองการบินภาคตะวันออก เกิดขึ้นเมื่อวันที่ 6 มิถุนายน 2560 ในรัฐบาลของ ประยุทธ์ จันทร์โอชา ที่ทำหน้าที่ประธานบอร์ดคณะกรรมการนโยบายพัฒนาระเบียงเศรษฐกิจภาคตะวันออกที่มอบหมายให้กองทัพเรือ และกอส.ร่วมกันเป็นหน่วยงานหลักเพื่อผลักดันเขตเศรษฐกิจนี้
.
“มีคำถามว่า ทำไมจึงไม่ให้หน่วยงานอื่นดูแล แต่ทำไมถึงให้กองทัพเรือเป็นผู้ดูแล คำตอบคือ ตอนนั้นเราอยู่ใต้รัฐบาลทหาร สนามบินอู่ตะเภามีที่ดิน 6,500 ไร่ ที่จะพัฒนาเป็นเมืองการบิน หลังจากที่กองทัพเรือได้เป็นหน่วยงานหลักตามมติ ครม.ก็มาเป็นผู้จัดการประมูล โดยรัฐลงทุน 17,000 ล้านบาทเพื่อทำรันเวย์แห่งที่ 2 ซึ่งกองทัพเรือเป็นผู้ได้รับประมูล ทั้งที่ไม่มีความเชี่ยวชาญ ส่วนเอกชนลงทุน 184,445 ล้านบาท”
.
ทั้งนี้พิจารณ์เห็นว่า เราเห็นความเสียโอกาสจากการใช้ที่ดินเป็นจำนวนมากและขึ้นอยู่กับว่า ใครเป็นรัฐบาลและมีนโยบายกำกับดูแลอย่างไร ซึ่งตนยังยืนยันปฏิรูปกองทัพเป็นหนึ่งในแนวทางการพัฒนาเศรษฐกิจ ถ้าอยากเห็นรัฐบาลที่เข้ามาบริหารแล้วมีความจริงใจที่จะนำไปสู่การปฏิรูปกองทัพก็ช่วยกันสนับสนุนและผลักดัน เมื่อประชาชนเห็นตรงกัน การปฏิรูปกองทัพก็เกิดขึ้นได้ เพราะทหารก็คือประชาชน
.
[ ติดๆ ดับๆ ไฟฟ้าสัตหีบเพื่อความมั่นคงของใคร? ]
.
ขณะที่ อนาลโย กอสกุล ที่ปรึกษา กมธ.ทหาร กล่าวในหัวข้อ “ติดๆ ดับๆ ไฟฟ้าสัตหีบเพื่อความมั่นคงของใคร? ว่า ประเทศไทยมี 878 อำเภอ มี 50 เขต แต่กลับพบว่า อ.สัตหีบ กองทัพเรือกลับเป็นผู้ควบคุมการจ่ายไฟ โดยอ้างเหตุผลเรื่องความมั่นคง อีกเหตุผลหนึ่งอ้างว่า ระบบอาวุธทางเรือมีความละเอียดอ่อนจึงต้องการควบคุมการจ่ายไฟเอง แต่ประชาชนในพื้นที่ อ.สัตหีบกลับร้องเรียนว่า ไฟตกเป็นประจำ
.
นอกจากนี้ยังพบอีกว่า กองทัพเรือไม่ได้ผลิตไฟเอง โดยมีการรับไฟมาจากการไฟฟ้าแห่งประเทศไทย เพื่อมาขายต่อ โดยรับบทบาทเป็นพ่อค้าคนกลางได้เงินปีละ 1,600-1,800 ล้านบาท และมีกำไรกว่า 100 ล้านบาทต่อปี
.
“ปัญหาของเรื่องนี้ คือ กองทัพเรือไม่ได้ทำเพื่อความมั่นคง แต่ทำเพื่อสวัสดิการบางอย่าง โดยทราบว่า ได้นำเงินมาใช้ในสวัสดิการต่างๆ เช่น สถานรับเลี้ยงเด็กหรือประกันชีวิตให้กับกำลังพล แต่มีสวัสดิการบางอย่างที่ไม่ควรเกิดขึ้น ซึ่งกองทัพเรือควรเขียนโครงการเสนอต่อสภาผู้แทนราษฎรเพื่อให้อนุุมัติงบประมาณรายปีที่จะทำให้ตรวจสอบได้”
.
อนาลโย กล่าวอีกว่า กองทัพเรือได้ชี้แจงว่า เคยเสนอให้มีการถ่ายโอนการบริการไฟฟ้าไปอยู่ในความรับผิดชอบของ กฟผ.มาแล้ว แต่เรียกเก็บเงินกว่า 6,000 ล้านบาท คาดว่า เป็นเงินค่าสัมปทานที่จะหมดในปี 2588
.
“ถึงเวลาหรือยังที่กองทัพเรือจะคืนสิทธิการจ่ายไฟให้กับ กฟผ. เหมือนที่เคยเกิดขึ้นแล้วที่บ้านฉาง จ.ระยองและควรมีการประเมินมูลค่ากิจการต้องทำอย่างเป็นธรรมและปล่อยการจ่ายไฟไปสู่ประชาชนให้กับหน่วยงานที่มีขีดความสามารถอย่าง กฟผ.ดูแล”
.
[ ข้อเสนอ ผลประโยชน์ที่ยิ่งใหญ่ต้องโปร่งใสและเป็นธรรม ]
ธนาธร จึงรุ่งเรืองกิจ ประธานคณะก้าวหน้า และกรรมาธิการวิสามัญพิจารณาศึกษาแนวทางการถ่ายโอนธุรกิจของกองทัพฯ ได้กล่าวสรุปถึงข้อเสนอในการปฏิรูปกองทัพพาณิชย์ โดยระบุว่า การปฏิรูปธุรกิจของกองทัพต้องแบ่งเป็นส่วน ๆ มีการจัดการที่ไม่เหมือนกัน
.
ขอไล่เรียงตั้งแต่เรื่องของสวัสดิการภายใน ซึ่งเข้าใจดีว่า กำลังพลที่อยู่ในค่ายทหารหลายครั้งไม่สามารถเข้าถึงบริการต่างๆ ข้างนอกได้ก็จำเป็นต้องมีบริการบางอย่างที่เป็นสวัสดิการภายในให้กำลังพล ดังนั้น สวัสดิการภายในที่จำเป็นต้องมี มีขนาดไม่ใหญ่ทั้งทางรายได้และจำนวนทรัพย์สิน กองทัพสามารถมีได้เหมือนกับหน่วยงานภาครัฐอื่น ๆ มี เช่น การพื้นที่ให้ทำร้านข้าวแกงในค่ายทหาร ต่อให้ขาดทุนก็ของบประมาณอุดหนุนได้ เพื่อทำให้พลทหารและครอบครัวที่อยู่ในพื้นที่นั้นมีสวัสดิการที่ดีเพียงพอ
.
ส่วนสวัสดิการในเชิงพาณิชย์ ตั้งแต่เหตุการณ์กราดยิงโคราชที่ ผบ.ทบ. ในสมัยนั้นก็ได้ริเริ่มให้ปรับเปลี่ยนจากสวัสดิการภายในเป็นสวัสดิการเชิงธุรกิจ เป็นสิ่งที่กฎหมายระบุไว้อยู่แล้วแต่กองทัพไม่เคยทำ เพิ่งมาเห็นในช่วงหลังๆ สิ่งที่แตกต่างคือสวัสดิการเชิงพาณิชย์นั้นต้องนำค่าเช่าที่ดินบวกด้วยส่วนแบ่งของรายได้หรือส่วนแบ่งของกำไรคืนกลับให้รัฐ ดังนั้น ถ้าปรับเป็นสวัสดิการเชิงพาณิชย์เมื่อไหร่ เช่น สนามกอล์ฟ ก็ต้องส่งรายได้คืนกลับคลัง
.
ทั้งนี้เงินนอกงบประมาณกับสวัสดิการเชิงพาณิชย์น่าจะมีการจัดการคล้าย ๆ กัน คือกิจกรรมที่ไม่ควรเป็นของรัฐควรขายที่ยังควรเป็นของรัฐควรโอนให้หน่วยงานที่เหมาะสมเป็นผู้บริหาร ส่วนกิจการที่ยังควรอยู่ในการดูแลของกองทัพก็ประมูลให้เอกชนที่มีความเชี่ยวชาญในด้านนั้นมาเป็นผู้บริหารในระยะยาว ส่วนกิจการที่ไม่จำเป็นและขาดทุนก็ให้ยกเลิกเสีย
.
[ ไม่ใช่ลดสวัสดิการชั้นผู้น้อย ]
.
ธนาธร กล่าวต่อไปว่า ทั้งนี้ข้อเสนอของตนไม่ใช่การลดสวัสดิการของพลทหารชั้นผู้น้อย แต่ถ้าสวัสดิการของพลทหารขึ้นอยู่กับกำไรของกิจการก็จะเท่ากับว่า ปีไหนกำไรมากก็มีสวัสดิการ แต่ถ้าปีต่อไปขาดทุนก็ไม่มีสวัสดิการ สวัสดิการพลทหารก็จะไม่มีความเสมอต้นเสมอปลายและไม่มีความมั่นคง เเต่ถ้าสวัสดิการเกิดจากการของบประมาณก็จะมั่นคงทุกปี ไม่ต้องลุ้นว่าปีนี้จะกำไรหรือขาดทุน ถ้าทำให้ถูกต้องครบกระบวนการในกระบวนการงบประมาณปกติทั่วไป สวัสดิการก็จะมีความมั่นคงมากกว่า
.
ทั้งนี้การปฏิรูปองค์กรของรัฐเป็นสิ่งที่ทำกันเป็นปกติรัฐในหน่วยงานอื่นอยู่แล้ว ที่ผ่านมามีการพิจารณาถ่ายโอนสินทรัพย์ระหว่างหน่วยงาน การยุบหรือควบรวมการบริหารจัดการ ทั้งหมดเป็นเรื่องปกติเพื่อเพิ่มประสิทธิภาพในการบริหารจัดการของภาครัฐ ดังนั้นกิจการของกองทัพเหล่านี้ก็สามารถถ่ายโอนไปให้หน่วยงานรัฐอื่นบริหารสินทรัพย์ได้เช่นกัน เช่น การถ่ายโอนศูนย์ประชุมไปให้กรมธนารักษ์ กิจการไฟฟ้าก็ถ่ายโอนไปที่การไฟฟ้าส่วนภูมิภาค สนามกอล์ฟธูปะเตมีย์ก็สามารถถ่ายโอนไปให้กับ อบจ.ปทุมธานี โรงงานเภสัชกรรมทหารก็ถ่ายโอนให้องค์การเภสัชกรรม เป็นต้น
.
ธนาธร กล่าวต่อไปว่า เวลากองทัพพูดถึงความจำเป็นที่ต้องมีกิจการเหล่านี้เป็นไปเพื่อความมั่นคง แต่ในความเป็นจริงคือความมั่นคงหลายด้านมีองค์กรที่เชี่ยวชาญอยู่แล้ว เช่น เรื่องของยาก็มีองค์การเภสัชกรรม ประเทศสามารถมีความมั่นคงทางยาได้โดยไม่จำเป็นต้องให้หน่วยรับผิดชอบภารกิจนี้เป็นกองทัพ เพื่อให้เกิดความเชี่ยวชาญและการบริหารทรัพย์สินที่มีประสิทธิภาพสูงที่สุด เกิดประโยชน์กับประชาชนมากที่สุด การถ่ายโอนไปหน่วยงานที่เหมาะสมจึงเป็นเรื่องที่สมเหตุสมผล
.
สำหรับเงินนอกงบประมาณประเภท 2 เช่น โครงข่ายวิทยุ โทรทัศน์ ทีวีดิจิทัล และ ททบ.5 ข้อเสนอสำหรับกรณีคลื่นวิทยุ คือ กองทัพสามารถเก็บไว้ได้ แต่ควรเก็บไว้เฉพาะเท่าที่จำเป็นในภารกิจหลักของกองทัพเท่านั้น เช่น กองทัพเรือจำเป็นจะต้องมีคลื่นวิทยุและสถานีวิทยุที่ติดชายหาด โดยเฉพาะอย่างยิ่งคลื่น AM เพื่อให้สามารถสื่อสารเข้าไปในทะเลได้ หรือกองทัพอากาศต้องมีสถานีและคลื่นวิทยุในบริเวณที่ใกล้สนามบินในปฏิบัติการที่เป็นภารกิจหลัก เช่นนี้กองทัพควรจะมีได้และควรมีต่อไป ส่วนที่เหลือควรคืนให้ กสทช. แล้วเปิดประมูลให้หมด
.
สำหรับ MUX กองทัพไม่มีความจำเป็นใดที่จะต้องถือครองโครงข่ายทีวีดิจิทัลด้วยตัวเอง เพราะเวลาทั้งหมดก็เอาไปให้เอกชนเช่าแล้วก็เก็บรายได้เข้าสู่ตัวเองอยู่แล้ว โดยที่ประชาชนตรวจสอบไม่ได้ แต่จากการคาดการณ์ รายได้น่าจะสูงถึงปีละ 700-1,000 ล้านบาท
.
ส่วนกรณี ททบ.5 รายได้หลักมาจากรัฐ หมายความว่ามีเงินฟรี 600-800 ล้านบาทต่อปี ถ้าอยู่ด้วยตัวเองนี่คือสภาวะขาดทุน ดังนั้น ททบ.5 จึงมีทางเลือกที่จะเป็นอย่าง NBT หรือ MCOT หรือทีวีรัฐสภาหรือถ้าต้องการผลิตรายการเพื่อความมั่นคงเพื่อสื่อสารกับประชาชนจริง ๆ ก็ให้กองทัพผลิตรายการที่เกี่ยวข้องกับความมั่นคงแล้วเอารายการไปออกอากาศทางช่อง 9 ช่อง 11 หรือในทีวีรัฐสภา หรือไทยพีบีเอสก็ได้ แต่กองทัพไม่จำเป็นต้องเป็นเจ้าของสถานีโทรทัศน์ด้วยตัวเอง
.
[ เสนอยกเลิกไม่ให้มีเงินนอกงบประมาณประเภทที่ 2 ]
.
ธนาธร กล่าวต่อไปว่า ที่สำคัญที่สุด คือ จะต้องยกเลิกไม่ให้มีเงินนอกงบประมาณประเภทที่ 2 ซึ่งกองทัพเป็นเพียงหน่วยงานเดียวเท่านั้นที่มีอยู่ ไม่มีหน่วยงานอื่นที่มีเงินนอกงบประมาณประเภทนี้ ที่กระทรวงการคลังอนุญาตให้เขียนระบบการใช้งบประมาณเอง อนุมัติเอง จัดซื้อจัดจ้างเอง สอบบัญชีเอง อย่างในกรณีคลื่นวิทยุที่มีการพูดถึงในวงเสวนานี้ เวลากองทัพทำสัญญาจัดรายการกับบริษัทเอกชน ไม่มีสัญญาจัดซื้อจัดจ้าง สิ่งเดียวที่อ้างอิงได้คือเอ็มโอยู ไม่มีแม้แต่สัญญาเชิงพาณิชย์ และไม่มีความผูกพันทางกฎหมาย
.
ส่วนการลงทุนในบริษัทต่าง ๆ ของกองทัพ ที่มีนัยสำคัญ คือ การลงทุนในบริษัทที่จดทะเบียนในตลาดหลักทรัพย์ คือ กรณีบริษัท อุตสาหกรรมการบิน จำกัด ข้อเสนอของตน คือ นำบริษัทนี้เข้าจดทะเบียนในตลาดหลักทรัพย์ เมื่อจดทะเบียนในตลาดหลักทรัพย์แล้วให้กองทัพขายหุ้นให้ลดลงเหลือต่ำกว่า 25% ส่วนกรณีบริษัท อาร์ทีเอเอ็นเตอร์ไพรส์ จำกัด ความเสียหายเกิดขึ้นไปจนจบแล้ว หรือพูดง่าย ๆ คือ หนี้ที่กองทัพไทยให้อาร์ทีเอกู้ไปพันกว่าล้านบาท ต้องยอมรับว่า วันนี้เป็นหนี้สูญแล้ว เก็บจากใครไม่ได้แล้ว แต่ที่สำคัญ คือ ต้องมีการยอมรับข้อผิดพลาดในอดีต ไม่ใช่พยายามปกปิดอย่างที่เป็นอยู่ตอนนี้
.
ธนาธร กล่าวต่อไปถึงกรณีที่ดินว่า ที่ดินกว่า 5.8 ล้านไร่ที่กองทัพถือครองอยู่ กองทัพยังสามารถถือครองที่ดินเป็นของตัวเองได้ แต่ต้องถือครองเฉพาะที่มีส่วนเกี่ยวข้องกับการดำเนินภารกิจหลักเท่านั้น ส่วนที่ดินที่ไม่เกี่ยวข้องให้นำคืนกระทรวงการคลังเพื่อแจกจ่ายให้ประชาชนเอาไปทำประโยชน์ต่อไป ไม่ว่าจะเป็นด้านที่ดินทำกิน การพัฒนาพื้นที่สาธารณะ หรือการพัฒนาเป็นพื้นที่เชิงพาณิชย์ เช่น กรณีเชียงใหม่ กองทัพมีที่ดินอยู่ทั้งในเขตที่เป็นทั้งเมืองและป่า มีหลายกรณีที่เป็นพื้นที่ทับซ้อนกับพื้นที่ของชาวบ้านและมีข้อพิพาทกัน ไม่มีเหตุผลใดๆ ที่กองทัพจะต้องถือครองที่ดินในบริเวณนี้ ซึ่งสามารถเอามาพัฒนาในเชิงพาณิชย์หรือเอามาปรับเป็นพื้นที่สาธารณะเพื่อให้ประชาชนใช้ประโยชน์ได้
.
[ เมื่อปฏิรูปกองทัพ เราจะได้เงิน 1 หมื่นล้านพัฒนาประเทศ ]
เมื่อเกิดการปฏิรูปกองทัพพาณิชย์แล้ว ประเทศจะสามารถลดงบประมาณที่ไม่จำเป็นได้ ทั้งค่าน้ำค่าไฟ จำนวนบุคลากร ค่าดำเนินการที่ไม่เกี่ยวข้องกับภารกิจหลักก็จะลดลงไป ทรัพย์สินที่ได้มาเอามาบริหารปรับปรุงให้ถูกต้องโดยมืออาชีพและคนที่มีความเชี่ยวชาญโดยตรง ก็จะทำให้ได้ผลตอบแทนจากการลงทุนในทรัพย์สินเพิ่มขึ้น รัฐไทยจะมีรายได้เพิ่มขึ้นอย่างน้อยปีละ 10,000 ล้านบาทนำมาพัฒนาประเทศในด้านอื่นๆ ได้ ส่วนผลตอบแทนที่ไม่ใช่ตัวเงินคือกองทัพจะเล็กลง มุ่งเน้นเฉพาะภารกิจหลัก มีสมาธิโดยไม่ไขว้เขว และสุดท้ายจะนำมาสู่คุณภาพชีวิตประชาชนที่ดีขึ้น และกองทัพได้รับการยอมรับจากประชาชนมากขึ้น
.
ธนาธร กล่าวต่อไปว่า เหตุผลที่ต้องมีการพูดถึงกองทัพพาณิชย์ ก็เพราะนี่คือการใช้ทรัพยากรของรัฐ ไม่ว่าจะเป็นคลื่นความถี่ ที่ดิน งบประมาณ น้ำมัน โดยเป็นการใช้ฟรีด้วย นี่คือเหตุผลที่ทำไมงบประมาณของประเทศไม่เคยเพียงพอในการพัฒนาด้านต่าง ๆ ที่ประชาชนตั้งคำถามขึ้นมา ไม่ว่าจะเป็นเรื่องการขนส่งสาธารณะ การศึกษา หรือสวัสดิการต่างๆ ที่ต้องพูดถึงเรื่องนี้ก็เพราะในการบริหารจัดการรัฐ มันคือการบริหารทรัพยากรที่มีอยู่ให้เกิดประสิทธิภาพสูงสุด เพราะทรัพย์สินที่อยู่ในการดูแลของกองทัพมีลักษณะร่วมกันอย่างหนึ่งคือการไม่ถูกตรวจสอบ เมื่อไม่ถูกตรวจสอบก็ไม่รู้ว่า มีประสิทธิภาพหรือไม่และจัดการอย่างไม่เป็นธรรมทั้งกับหน่วยงานอื่นและกับประชาชนหรือไม่
.
“สามารถเรียกได้ว่า กองทัพมีสภาวะยกเว้นทางเศรษฐกิจ คือ การที่มีคนกลุ่มหนึ่งมีอภิสิทธิ์บางอย่างที่ไม่ต้องทำตามกฎหมายและคนกลุ่มนี้ก็ได้สร้างชุดคำอธิบายมาสารพัดเพื่อสร้างความชอบธรรมให้กับการดำรงอยู่ของอภิสิทธิ์เหล่านี้ เมื่อพูดถึงว่าคำว่า ความมั่นคงเมื่อไหร่ เมื่อพูดถึงคำว่า ปกป้องชาติ ศาสนา พระมหากษัตริย์เมื่อไหร่ คุณไม่ต้องพูดอะไรที่เป็นเหตุเป็นผลอีกเลย” ธนาธร กล่าวสรุป
#ตามหาขุมทรัพย์ของกองทัพไทย #ปฏิรูปกองทัพ

https://www.facebook.com/PPLEThai/posts/pfbid02BCVBAWE7frrHd5a8X1TEBF9AMwoDk2q1zqhU1VPqjUCqZTWmrY1pvNEvGFhPf86Dl