อย่างนี้ก็แสดงว่ามาตรฐานจริยธรรมของตุลาการกับนักการเมืองไม่เท่ากันน่ะสิ ทั้งที่เป็นกฎหมายเดียวกันซึ่งออกแบบมาให้ใช้กับ ตลก. แต่ ตลก.กลับเอาไปใช้ทำร้ายพรรคการเมืองและนักการเมือง มิน่าคำตอบจึงออกมาแบบนี้
“การแสดงความคิดเห็นของ นายอุดม สิทธิวิรัชธรรม ตุลาการศาลรัฐธรรมนูญ...มิได้เป็นการแสดงความคิดเห็นอันมีลักษณะเป็นการเสียดสี หรือประชดประชันพรรคการเมืองใด...ไม่กระทบกระเทือน หรือก่อให้เกิดความเสื่อมเสียต่อการปฏิบัติหน้าที่ หรือเกียรติศักดิ์ของการดำรงตำแหน่ง”
ต้นเรื่องเนื่องจากนายอุดมไปสัมมนาทางวิชาการ ที่เทศบาลนครสุราษฎร์ธานี แต่พูดยกตัวอย่าง ‘ไม่เป็น’ วิชาการ เรื่องที่พรรคก้าวไกลเตรียมตั้งรับการยุบพรรคไว้พร้อมสรรพแต่เนิ่นๆ พอยุบปั๊บ ก็ย้าย ส.ส.พรรคไปอยู่ ‘ถิ่นกาขาวฯ’ ทันที
เมื่อพรรคที่ตั้งใหม่พร้อม ก็ย้ายต่อไปเข้าพรรคประชาชนอย่างถาวร พร้อมกันทั้ง ๑๔๓ คน อันน่าจะสร้างความไม่พอใจแก่ ตลก.รธน.จนเก็บอาการไม่อยู่ เอาไปพูดเสียดสีในที่สาธารณะ “เห็นไหมครับ เขาได้เงินตั้งกี่ล้านภายในสองวัน...
ต้องขอบคุณผมนะ ทำให้เขามีเงินเข้าไปตั้ง ๒๐-๓๐ ล้าน” หวังจะให้เขาล่มทะลายไปต่อหน้าหรือนั่น แต่พวกเขาทันเกม เตรียมตัวรับได้อย่างมีประสิทธิผล ก็เลย ‘ตาร้อน’ ไง พูดส่อเสียดอย่างนี้ มักจะเป็นนักการเมืองเขี้ยวโง้งทำกัน
เมื่อตุลาการมาทำเสียเอง อย่างน้อยที่สุดเอาวิธี Impunity ของพวกเผด็จการมาใช้ ชาวบ้านทำอะไรไม่ได้ เขาก็ว่าปากพล่อย ปากหะมา นั่นละ เช่นนี้จึงต้องมีการปฏิรูปศาลรัฐธรรมนูญ และยกเครื่องตุลาการขนานใหญ่ บ้านเมืองจึงจะเข้าร่องรอยคลองธรรม
ดัง พริษฐ์ วัชรสินธุ ส.ส.พรรคประชาชนเสนออีกครั้ง ๓ ประเด็นหลัก ข้อแรกเลย แก้ไขกระบวนการได้มาซึ่งตุลาการ โดยวางเกณฑ์คุณสมบัติให้มีความรอบรู้หลากหลาย ไม่ทึ่มมุทะลุ และข้อสำคัญ “ยึดโยงกับประชาชน” เช่น ต้องรับรองโดยคณะที่มาจากการเลือกตั้ง
อีกข้อก็สำคัญมากเช่นกัน ตลก.รธน.และองค์กรอิสระ ต้องถูกตรวจสอบและถอดถอนได้โดยประชาชน กลไกนี้เคยมีอยู่ในรัฐธรรมนูญ ๔๐ และ ๕๐ แต่มาถึง ๖๐ ฉบับ ‘มีชัย’ โดนคณะรัฐประหารสั่งให้ร่างอย่างมีเลศนัยเพื่อสืบทอดอำนาจ
ข้อที่สามนี่ก็จำเป็น ว่าจักต้องกำหนดขอบข่ายอำนาจของ ตลก.รธน.และองค์กรอิสระให้อยู่ในกรอบที่แน่นอนและชัดเจน ว่าจะไม่ทำให้ ตลก.เหลิง ตีความให้อำนาจตัวเองจนกลายเป็น ‘พ่อง’ ทุกองค์กรอย่างที่เห็นเป็นอยู่
(https://x.com/paritw92/status/1844943845064310816 และ https://thestandard.co/thai-judge-party-dissolution-comment/)