วันพฤหัสบดี, ตุลาคม 10, 2567

คดีตากใบ 2547 กับวัฒนธรรมพ้นผิดลอยนวลด้วยการหมดอายุความ


08/10/2024
iLaw

กลุ่มญาติของผู้เสียชีวิตในเหตุการณ์ตากใบ 2547 รวมตัวกันฟ้องศาลเพื่อเอาผิดเจ้าหน้าที่รัฐผู้มีส่วนเกี่ยวข้องกับการสลายการชุมนุมและควบคุมตัวผู้ชุมนุมในเหตุการณ์จนเป็นเหตุให้มีผู้เสียชีวิตถึง 85 คน หลังรอความยุติธรรมที่ถูกดองไว้มานานกว่า 19 ปี จนล่าสุดศาลมีคำสั่งประทับรับฟ้อง และออกหมายจับจำเลยทั้ง 7 คน แต่กระบวนการเพื่อคืนความยุติธรรมให้กับผู้ได้รับบาดเจ็บและเสียชีวิตในเหตุการณ์ตากใบ อาจต้องสิ้นสุดลง หากวันที่ 25 ตุลาคม 2567 จำเลยทั้งหมดไม่มาปรากฎตัวต่อศาล

เหตุการณ์ตากใบเป็นหนึ่งในเหตุการณ์ในประวัติศาสตร์การเมืองไทยที่รัฐมีการใช้ความรุนแรงกับประชาชนจนนำไปสู่การได้รับบาดเจ็บ ทุพพลภาพหรือพิการ และเสียชีวิตของประชาชนในเหตุการณ์นั้น คดีตากใบทั้งสองคดีอาจนำไปสู่การคืนความยุติธรรมให้แก่บรรดาญาติของผู้เสียชีวิต ไม่สานต่อวัฒนธรรมพ้นผิดลอยนวลของการใช้ความรุนแรงโดยรัฐต่อประชาชน และอาจนำไปสู่เงื่อนไขในการลดความขัดแย้งในพื้นที่ชายแดนภาคใต้

เกิดอะไรขึ้นในเหตุการณ์ตากใบ 2547


ย้อนกลับไปในช่วงเดือนตุลาคม 2547 เจ้าหน้าที่ตำรวจได้เข้าทำการควบคุมตัวชุดรักษาความปลอดภัยหมู่บ้าน (ชรบ.) ต.พร่อน อ.ตากใบ จ.นราธิวาส จำนวนหกคนโดยกล่าวหาว่า ชรบ. ทั้งหกคนนี้มีส่วนเกี่ยวข้องกับการยักยอกอาวุธปืนลูกซองเพื่อนำไปมอบให้กับผู้ก่อความไม่สงบ ในขณะที่กลุ่มชาวบ้านในพื้นที่อำเภอตากใบเห็นต่างโดยคิดว่า ชรบ. เหล่านั้นไม่มีความผิด จึงนำไปสู่การชุมนุมเพื่อเรียกร้องให้มีการปล่อยตัว ชรบ.ทั้งหกคนที่หน้าสถานีตำรวจภูธร (สภ.) ตากใบ จังหวัดนราธิวาส ในวันที่ 25 ตุลาคม 2547

แม้จะมีการเจรจาขอให้เลิกการชุมนุมแล้วก็ไม่เป็นผล จนเกิดการปะทะกันระหว่างเจ้าหน้าที่ตำรวจ-ทหารและผู้ชุมนุม โดยฝ่ายเจ้าหน้าที่ได้ใช้แก๊สน้ำตา รถฉีดน้ำ และใช้ “กระสุนจริง” ทำให้มีผู้เสียชีวิตทันทีจากการสลายการชุมนุมของเจ้าหน้าที่หกคน บาดเจ็บสาหัสและชีวิตที่โรงพยาบาลอีกหนึ่งคน ภายหลังจากการสลายการชุมนุมได้มีการควบคุมตัวผู้ชุมนุมกว่า 1,300 คน เพื่อนำตัวสอบสวนต่อที่ค่ายอิงคยุทธบริหาร จังหวัดปัตตานี ซึ่งอยู่ห่างจาก สภ.ตากใบ ราว 150 กิโลเมตร

โดยในการควบคุมตัวของเจ้าหน้าที่ได้มีการสั่งให้ผู้ชุมนุมชายถอดเสื้อและมัดมือไพล่หลัง เนื่องจากผู้ชุมนุมมีจำนวนมากและโดยใช้รถบรรทุกทหารในการใช้ควบคุมตัวผู้ชุมนุม แต่มีจำนวนไม่พอกับจำนวนผู้ชุมนุม เจ้าหน้าที่จึงได้นำตัวผู้ชุมนุมวางซ้อนทับกันหลายชั้นบนรถบรรทุก ทั้งนี้ในช่วงเวลานั้นเป็นช่วงที่มีการถือศีลอดของชาวมุสลิมและผู้ชุมนุมส่วนใหญ่นับถือศาสนาอิสลาม จนเป็นเหตุให้มีผู้เสียชีวิตเพิ่มในระหว่างที่มีการควบคุมตัวอีก 78 คน ผลการชันสูตรพลิกศพในปี 2552 ระบุว่าผู้ชุมนุมนเสียชีวิตจากการขาดอากาศหายใจ ถูกกดทับ ขาดอาหาร-น้ำ และไตวายเฉียบพลันที่ค่ายอิงคยุทธบริหาร

ทักษิณ ชินวัตร นายกรัฐมนตรีในขณะนั้น ได้สั่งการให้มีการตั้งคณะกรรมการอิสระขึ้นมาไต่สวนข้อเท็จจริงในกรณีตากใบ โดยคณะกรรมการอิสระชี้ว่า พล.ท.พิศาล วัตนวงษ์คีรี แม่ทัพภาคที่ 4 ปฏิบัติหน้าที่บกพร่อง-ขาดความรับผิดชอบในฐานะผู้บังคับบัญชา ในขณะที่ผู้ใต้บังคับบัญชา เช่น พล.ต.เฉลิมชัย วิรุฬห์เพชร ผบ.พล.ร.5 ผู้รับผิดชอบในเหตุการณ์สลายการชุมนุมหน้า สภ.ตากใบ และการควบคุมตัวผู้ชุมนุมลำเลียงไปยังค่ายอิงคยุทธบริหาร โดย พล.ต.เฉลิมชัย ไม่ได้อยู่ในพื้นที่เพื่อรับผิดชอบเหตุการณ์จึงมีความบกพร่องในการปฏิบัติหน้าที่ และ พล.ต.สินชัย นุตสถิตย์ รองแม่ทัพภาคที่ 4 ได้รับคำสั่งจาก พล.ท.พิศาล แม่ทัพภาคที่สี่ให้จัดเตรียมน้ำ อาหาร และพื้นที่รองรับผู้ชุมนุมในค่ายอิงคยุทธบริหารปฏิบัติหน้าที่บกพร่องและไม่ครบถ้วนตามที่ได้รับคำสั่ง เมื่อพบว่ามีผู้ชุมนุมเสียชีวิตในค่ายก็ไม่ได้มีการดำเนินการใดๆ

ความล้มเหลวในการจัดการสถานการณ์การชุมนุมในเหตุการณ์ตากใบ 2547 นำไปสู่การเสียชีวิตของประชาชน เป็นอีกหนึ่งชนวนที่ทำให้สถานการณ์ความไม่สงบในพื้นที่สามจังหวัดชายแดนภาคใต้ยังดำเนินต่อไป โดยสถิติของ ศอ.บต. ระบุว่านับตั้งแต่ปี 2547 – 2565 มีผู้เสียชีวิตจากเหตุการณ์ความไม่สงบในสามจังหวัดชายแดนภาคใต้กว่า 5,800 คน และได้รับบาดเจ็บกว่า 12,000 คน

กลุ่มญาติรวมตัวฟ้อง หลังตำรวจ-อัยการดองคดี 19 ปี
ตำรวจไม่ฟ้อง-อัยการดอง-สำนวนหาย


สำนักข่าวอิศรารายงานในปี 2555 ระบุว่าจากกรณีที่มีผู้เสียชีวิตจากการสลายการชุมนุมที่หน้า สภ.ตากใบ เจ็ดคน เนื่องจากไม่สามารถสืบทราบได้ว่าใครเป็นผู้ทำให้เสียชีวิต เหตุการณ์ดังกล่าวอยู่ในช่วงชุลมุน พนักงานอัยการปัตตานีจึงมีคำสั่งให้งดการสอบสวน ในขณะที่คดีการเคลื่อนย้ายผู้ชุมนุมพนักงานอัยการปัตตานีได้เคยมีการยื่นคำร้องขอให้ศาลจังหวัดสงขลาโอนย้ายคดีจากศาลจังหวัดปัตตานีไปยังศาลจังหวัดสงขลา เพื่อไต่สวนการเสียชีวิต โดยศาลจังหวัดสงขลาไต่สวนเสร็จสิ้นและมีคำพิพากษาว่าผู้ตายทั้ง 78 คน เสียชีวิตที่ค่ายอิงคยุทธบริหาร โดยเสียชีวิตเนื่องจากขาดอากาศหายใจระหว่างอยู่ในการควบคุมตัวของเจ้าหน้าที่ซึ่งเป็นการปฏิบัติราชการตามหน้าที่ พนักงานอัยการจึงส่งสำนวนกลับไปยังพนักงานสอบสวน สภ.หนองจิก (ในพื้นที่ของค่ายอิงคยุทธบริหาร) ให้ดำเนินการต่อไป

โดยในระหว่างปี 2547 – 2566 ไม่ได้มีความคืบหน้าในการดำเนินคดีใดๆ กับเจ้าหน้าที่รัฐที่ต้องรับผิดชอบกับการตายของผู้ชุมนุม จนกระทั่งเมื่อวันที่ 13 ธันวาคม 2566 ที่ประชุมกรรมาธิการ (กมธ.) การกฎหมาย การยุติธรรม และสิทธิมนุษยชน สภาผู้แทนราษฎรได้พิจารณาการดำเนินคดีที่เกี่ยวข้องกับเหตุการณ์ตากใบ 2547 โดยประธานมูลนิธิศูนย์ทนายความมุสลิม จังหวัดยะลาได้ยื่นเรื่องร้องเรียนเพื่อติดตามความคืบหน้าในคดีนี้ เพราะคดีนี้ยังไม่มีความคืบหน้าและใกล้จะหมดอายุความ โดยทาง กมธ. ได้เชิญ ศูนย์อำนวยการบริหารจังหวัดชายแดนภาคใต้ (ศอ.บต.), สำนักงานอัยการภาค 9, ตำรวจภูธรภาค 9, สภ.ตากใบ และสภ.หนองจิกมาชี้แจงในประเด็นดังกล่าว

เจ้าหน้าที่รัฐชี้แจงว่าในขณะนี้ไม่พบสำนวนคดี จึงไม่สามารถดำเนินการต่อในทางกฎหมายได้ ท้ายที่สุดทาง กมธ. มีมติทำหนังสือถึงอัยการสูงสุด และผู้บัญชาการตำรวจแห่งชาติ (ผบ.ตร.) ให้ทำการเร่งรัดความคืบหน้าของคดีนี้ โดยทางสำนักงานอัยการภาค 9 และตำรวจภูธรภาค 9 ได้ขอเวลาติดตามสำนวนภายใน 30 วันนับจากวันที่ประชุม

อับดุลเลาะห์ หะยีอาบู ทนายความในคดีตากใบ เปิดเผยว่าหลังไม่มีความคืบหน้าในการดำเนินคดี กลุ่มญาติของผู้เสียชีวิตได้มีการฟ้องเอาผิดเจ้าหน้าที่รัฐต่อศาลนราธิวาสด้วยตัวเอง ในวันที่ 25 เมษายน 2567 วันเดียวกับที่กลุ่มญาติได้ยื่นฟ้องต่อศาลนราธิวาส พนักงานสอบสวน สภ.หนองจิกได้มีการตั้งสำนวนขึ้นมาใหม่และมีความเห็นว่าควรสั่งไม่ฟ้องเจ้าหน้าที่รัฐคนใดที่เกี่ยวข้องกับเหตุการณ์ตากใบ
 
กลุ่มญาติรวมตัวฟ้องเอาผิดหลังรอ 19 ปี

25 เมษายน 2567 วันเดียวกันกับที่พนักงานสอบสวน สภ.หนองจิกมีความเห็นไม่สั่งฟ้องคดี หลังรอความยุติธรรม 19 ปี กลุ่มญาติของผู้เสียชีวิตในเหตุการณ์ตากใบ 2547 รวมกันตัวฟ้องเอาผิดเจ้าหน้าที่รัฐเก้าคนที่มีส่วนเกี่ยวข้องกับการสลายการชุมนุมและควบคุมตัวผู้ชุมนุมจนเป็นเหตุให้มีผู้เสียชีวิตถึง 85 คน หลังศาลนัดไต่สวนมูลฟ้องเสร็จสิ้นได้มีการประทับรับฟ้องในวันที่ 23 สิงหาคม 2567 โดยนัดสอบคำให้การจำเลยครั้งแรกในวันที่ 12 กันยายน 2567 โดยจำเลยทั้งเก้ามีดังนี้
  • จำเลยที่ 1 พล.อ.พิศาล วัฒนวงษ์คีรี อดีตแม่ทัพภาคที่ 4
  • จำเลยที่ 2 พล.ท.สินชัย นุตสถิตย์ อดีตรองแม่ทัพภาคที่ 4
  • จำเลยที่ 3 พล.ต.เฉลิมชัย วิรุฬห์เพชร อดีตผู้บัญชาการกองพลทหารราบที่ 5
  • จำเลยที่ 4 พล.ต.อ.วงกต มณีรินทร์ อดีตผู้อำนวยการศูนย์ปฏิบัติการสำนักงานตำรวจแห่งชาติส่วนหน้า
  • จำเลยที่ 5 พล.ต.ท.มาโนช ไกรวงศ์ ยศขณะนั้นในฐานะอดีตผู้บัญชาการตำรวจภูธรภาค 9
  • จำเลยที่ 6 พล.ต.ต.ศักดิ์สมหมาย พุทธกุล อดีตผู้กำกับการ สภ.ตากใบ
  • จำเลยที่ 7 พ.ต.อ.ภักดี ปรีชาชน อดีตรองผู้กำกับการ สภ.ตากใบ
  • จำเลยที่ 8 นายศิวะ แสงมณี อดีตรองผู้อำนวยการกองอำนวยการเสริมสร้างสันติสุขจังหวัดชายแดนภาคใต้ และเป็นรองปลัดกระทรวงมหาดไทย
  • จำเลยที่ 9 นายวิชม ทองสงค์ อดีตผู้ว่าราชการจังหวัดนราธิวาส
ศาลไต่สวนมูลฟ้องแล้วเห็นว่าจำเลยที่ 1, 3 – 6, และ 8 – 9 มีมูลความผิดตามประมวลกฎหมายอาญา ในข้อหาร่วมกันฆ่าผู้อื่น (มาตรา 288 ประกอบมาตรา 83) ข้อหาร่วมกันพยายามฆ่าผู้อื่น (มาตรา 288 ประกอบมาตรา 80 และมาตรา 83) และข้อหาร่วมกันหน่วงเหนี่ยวกักขังผู้อื่นจนเป็นเหตุให้ถึงแก่ความตาย (มาตรา 310 วรรคสองประกอบมาตรา 290 และมาตรา 83)

โดยในชั้นไต่สวนมูลฟ้องศาลจังหวัดนราธิวาสได้มีคำสั่งยกฟ้อง พล.ท.สินชัย นุตสถิตย์ จำเลยที่ 2 และพ.ต.อ.ภักดี ปรีชาชน จำเลยที่ 7

ส่วนข้อหาอื่น เช่น ร่วมกันฆ่าผู้อื่นโดยทรมานหรือกระทำทารุณโหดร้าย ร่วมกันพยายามฆ่าผู้อื่นโดยทรมานหรือกระทำทารุณโหดร้าย ร่วมกันข่มขืนใจผู้อื่นให้กระทำการใด ไม่กระทำการใด หรือจำยอมต่อสิ่งใด โดยทำให้กลัวว่าจะเกิดอันตรายต่อชีวิต ร่างกาย เสรีภาพ ชื่อเสียง หรือทรัพย์สินของผู้ถูกข่มขืนใจนั้นเอง หรือของผู้อื่น หรือโดยใช้กำลังประทุษร้าย จนผู้ถูกข่มขืนใจต้องกระทำการนั้น ไม่กระทำการนั้น หรือจำยอมต่อสิ่งนั้น โดยมีอาวุธ หรือโดยร่วมกระทำความผิดด้วยกันตั้งแต่ห้าคนขึ้นไป และร่วมกันหน่วงเหนี่ยวหรือกักขังผู้อื่น หรือกระทำด้วยประการใดให้ผู้อื่นปราศจากเสรีภาพในร่างกาย เป็นเหตุให้ผู้ถูกหน่วงเหนี่ยวกักขังหรือต้องปราศจากเสรีภาพในร่างกายนั้นรับอันตรายสาหัส โดยกระทำทารุณโหดร้าย ศาลพิจารณาไม่รับฟ้อง

อย่างไรก็ดี หลังศาลออกหมายเรียกให้จำเลยทั้งเจ็ดคนมาสอบคำให้การ แม้ว่าจำเลยทั้งทั้งหมดจะทราบแล้วว่ามีนัดศาลพร้อมทั้งแต่งตั้งทนายให้มาร่วมฟังการไต่สวนมูลฟ้อง แต่ก็ปรากฎว่าจำเลยทั้งเจ็ดคนไม่มาตามนัดศาล มูลนิธิผสานวัฒนธรรม (CRCF) ระบุว่า ศาลรอจนกระทั่งเวลา 10.30 น. จำเลยทั้งเจ็ดคนยังไม่มาศาล เมื่อศาลติดต่อไปยังทนายจำเลยทั้งหมดก็พบว่าทนายจำเลยก็ไม่สามารถติดต่อลูกความได้ ศาลพิจารณาเห็นว่าจำเลยไม่มาศาลโดยไม่แจ้งเหตุขัดข้อง มีพฤติการณ์หลบหนี จึงได้มีคำสั่งออกหมายจับจำเลยที่ 3-6 และ 8-9 ส่วนจำเลยที่ 1 พล.อ. พิศาล นั้นเป็นสมาชิกสภาผู้แทนราษฎรบัญชีรายชื่อพรรคเพื่อไทย ศาลไม่มีอำนาจออกหมายจับเนื่องจากมีเอกสิทธิ์คุ้มครอง ตามรัฐธรรมนูญ 2560 มาตรา 125 วรรคหนึ่งและวรรคสี่ ที่ระบุว่า


“ ในระหว่างสมัยประชุม ห้ามมิให้จับ คุมขัง หรือหมายเรียกตัวสมาชิกสภาผู้แทนราษฎรหรือสมาชิกวุฒิสภาไปทำการสอบสวนในฐานะที่สมาชิกผู้นั้นเป็นผู้ต้องหาในคดีอาญา เว้นแต่จะได้รับอนุญาตจากสภาที่ผู้นั้นเป็นสมาชิก หรือเป็นการจับในขณะกระทำความผิด

ในกรณีที่มีการฟ้องสมาชิกสภาผู้แทนราษฎรหรือสมาชิกวุฒิสภาในคดีอาญา ไม่ว่าจะได้ฟ้องนอกหรือในสมัยประชุม ศาลจะพิจารณาคดีนั้นในระหว่างสมัยประชุมก็ได้ แต่ต้องไม่เป็นการขัดขวางต่อการที่สมาชิกผู้นั้นจะมาประชุมสภา”


เลขาธิการสภาผู้แทนราษฎร เปิดเผยว่าได้เคยมีการทำหนังสือแจ้งไปยังศาลแล้วว่าสามารถดำเนินการตามมาตรา 125 วรรคสี่ได้ ไม่จำเป็นต้องขออนุญาตต่อสภา และยังเปิดเผยอีกว่า พล.อ.พิศาล ได้ยื่นหนังสือลาประชุมสภาเพื่อไปรักษาตัวที่ต่างประเทศระหว่างวันที่ 26 สิงหาคม – 30 ตุลาคม 2567 (หลังศาลประทับฟ้องในคดีนี้สามวัน) โดยมีพิเชษฐ์ เชื้อเมืองพาน สส. พรรคเพื่อไทย จังหวัดเชียงราย ในฐานะรองประธานสภาคนที่หนึ่งเป็นผู้อนุมัติหนังสือให้

ท้ายที่สุด ในวันที่ 1 ตุลาคม 2567 ศาลจังหวัดนราธิวาส พิจารณาแล้วเห็นว่า พล.อ.พิศาล เป็น สส. ซึ่งไม่มาตามนัดศาล และก็ไม่ปรากฎว่า พล.อ.พิศาล ได้เข้าร่วมการประชุมสภา ถือได้ว่ามีพฤติการณ์หลบหนี จึงมีคำสั่งให้ออกหมายจับ พล.อ.พิศาล วัฒนวงษ์คีรี เท่ากับว่าจำเลยทั้งหมดถูกออกหมายจับ โดยเจ้าหน้าที่ตำรวจจะต้องดำเนินการจับกุมตัวเพื่อนำตัวมาดำเนินคดีตามกฎหมายให้ทันก่อนที่คดีนี้จะหมดอายุความในวันที่ 25 ตุลาคม 2567

เอกสิทธิ์ สส. ไม่คุ้มครอง พล.อ. พิศาล จากคดีนี้

หนึ่งในจำเลยที่ถูกฟ้องในคดีที่ญาติฟ้องเอาผิดมีตำแหน่งเป็นสมาชิกสภาผู้แทนราษฎร นั่นคือ พล.อ.พิศาล วัฒนวงษ์คีรี ผู้ซึ่งกรรมการอิสระไต่สวนข้อเท็จจริงระบุว่าอดีตแม่ทัพภาคที่ 4 ผู้นี้เป็นผู้ที่ต้องรับผิดชอบต่อเหตุการณ์ตากใบ 2547 กรณีของ พล.อ.พิศาล จะคล้ายกับกรณีของ สว.อุปกิต ปาจรียางกูรที่ถูกกล่าวหาว่ามีความผิดเกี่ยวกับยาเสพติดและความผิดฐานฟอกเงินหรือไม่

ย้อนกลับไปวันที่ 9 ตุลาคม 2566 ที่ประชุมวุฒิสภาชุดพิเศษนัดพิจารณาในวาระที่สำนักงานตำรวจแห่งชาติต้องการที่จะออกหมายเรียก สว.อุปกิตให้ไปพบพนักงานสอบสวนเพื่อแจ้งข้อกล่าวหาเพิ่มเติม โดยวุฒิสภาในวันนั้นต้องลงมติว่าอนุญาตให้เจ้าหน้าที่ตำรวจออกหมายเรียก สว.อุปกิตเพื่อไปสอบสวนในฐานะผู้ต้องหาคดีอาญาหรือไม่ โดยเสียงข้างมากในวุฒิสภาไม่เห็นชอบให้มีการออกหมายเรียก สว.อุปกิต

ส่วนในกรณีของ พล.อ.พิศาลนั้นมีความแตกต่างกับกรณีของ สว.อุปกิตอยู่ตรงที่ “สถานะ” รัฐธรรมนูญ 2560 มาตรา 125 ระบุไว้ว่าห้ามไม่ให้จับ-ขัง-ออกหมายเรียก สส. หรือ สว. ไปสอบสวนในฐานะ “ผู้ต้องหา” ในคดีอาญาเว้นแต่จะได้รับอนุญาตจากสภาที่ผู้นั้นเป็นสมาชิกหรือเป็นการจับในขณะที่ทำความผิด ในคดีที่ญาติของผู้เสียชีวิตในเหตุการณ์ตากใบ 2547 ยื่นฟ้องนั้น ไม่ได้เป็นการฟ้องต่ออัยการหรือตำรวจ แต่เป็นการยื่นฟ้องเอาผิดต่อศาลโดยตรง ซึ่งจะทำให้สถานะของผู้ถูกฟ้องในชั้นศาลคือสถานะ “จำเลย” โดยประมวลกฎหมายวิธีพิจารณาความอาญามาตรา 2 กำหนดนิยามของคำว่าผู้ต้องหาและจำเลยไว้ต่างกัน โดย “ผู้ต้องหา” หมายถึง บุคคลผู้ถูกกล่าวหาว่าได้กระทำความผิด แต่ยังมิได้ถูกฟ้องต่อศาล ส่วน “จำเลย หมายถึง บุคคลซึ่งถูกฟ้องศาลแล้วโดยข้อหาว่าได้กระทำความผิด

ประกอบกับรัฐธรรมนูญ 2560 มาตรา 125 วรรคสี่ที่อนุญาตให้ศาลสามารถพิจารณาคดีในระหว่างสมัยประชุมได้ โดยจะต้องไม่ขัดขวางต่อที่ สส. หรือ สว. ที่จะมาประชุมสภา ดังนั้นในกรณีของ พล.อ.พิศาล จึงเป็นขั้นตอนตามปกติที่ศาลจะออกหมายเรียกหรือหมายจับให้มารายงานตัวต่อศาลได้

หาก สส. หรือ สว. เป็นผู้ถูกกล่าวหาความกระทำความผิดในชั้นของตำรวจจำเป็นต้องได้รับความเห็นชอบจากสภาให้ออกหมายเรียกผู้นั้นไปรับทราบข้อกล่าวหาและดำเนินคดีต่อไป แต่หากว่าคดีอยู่ในชั้นศาลแล้วก็ไม่จำเป็นต้องได้รับความเห็นชอบจากสภาแต่อย่างใดเพียงแต่ะจะต้องไม่เป็นการขัดขวางไม่ให้ สส. หรือ สว. มาร่วมประชุมสภา

เจตนารมณ์ของรัฐธรรมนูญ 2560 มาตรา 125 กำหนดไว้เช่นนี้ก็เพื่อคุ้มครองเสรีภาพของ สส. หรือ สว. ในการป้องกันการถูกกลั่นแกล้งทางการเมืองโดยฝ่ายที่ใช้อำนาจรัฐ ในขั้นตอนการจับ-ขัง-ออกหมายเรียก เป็นขั้นตอนของเจ้าหน้าที่ตำรวจซึ่งเป็นข้าราชการที่ขึ้นตรงต่อสำนักนายกรัฐมนตรีสามารถสั่งการได้ จึงอาจมีการใช้อำนาจในทางกฎหมายเพื่อกลั่นแกล้งกันในทางการเมือง โดยจับ-ขัง-ออกหมายเรียกในคดีอาญาได้ แต่ความคุ้มครองที่ สส. หรือ สว. ได้รับนี้จะคุ้มครองแค่ในชั้นที่เป็น “ผู้ต้องหา” เท่านั้น หากเปลี่ยนสถานะเป็น “จำเลย” แล้วก็สามารถถูกพิจารณาคดีและได้รับโทษเหมือนบุคคลทั่วไป
 
อัยการสูงสุดมีคำสั่งฟ้อง หลังศาลรับฟ้องคดีญาติ

12 กันยายน 2567 วันเดียวกับที่มีการนัดสอบคำให้การจำเลยในคดีที่ญาติผู้เสียชีวิตเป็นผู้ฟ้อง สำนักงานอัยการสูงสุด เปิดเผยว่าอัยการสูงสุดได้รับสำนวนคดีทั้งหมดจากสำนักงานตำรวจแห่งชาติแล้ว และได้มีคำสั่งให้สอบสวนเพิ่มในหลายประเด็น แม้ว่าในชั้นการสอบสวนของตำรวจจะยืนยันความเห็นไม่สั่งฟ้องแต่อัยการสูงสุดพิจารณาสำนวนแล้วมีความเห็นควรสั่งฟ้องผู้ต้องหาทั้งแปดคน ได้แก่ผู้ต้องหาที่ 
  • 1 พล.อ. เฉลิมชัย วิรุฬห์เพชร ในฐานะผู้สั่งการ
  • ผู้ต้องหาที่ 2 ร.ต. ณัฐวุฒิ เลื่อมใส พลขับ
  • ผู้ต้องหาที่ 3 วิษณุ เลิศสงคราม พลขับ
  • ผู้ต้องหาที่ 4 ร.ท. วิสนุการณ์ ชัยสาร ร.น. พลขับ
  • ผู้ต้องหาที่ 5 ปิติ ญาณแก้ว พลขับ
  • ผู้ต้องหาที่ 6 พ.จ.ต. รัชเดช หรือพิทักษ์ ศรีสุวรรณ พลขับ
  • ผู้ต้องหาที่ 7 พ.ท. ประเสริฐ มัทมิฬ ผู้ควบคุมขบวนรถ
  • ผู้ต้องหาที่ 8 ร.ท. ฤทธิรงค์ พรหมฤทธิ์ พลขับ
อัยการสูงสุดระบุว่า แม้ผู้ต้องหาทั้งแปดจะไม่ประสงค์ต่อผลที่จะทำให้ผู้อื่นถึงแก่ความตาย แต่การจัดหารถบรรทุกที่เหมาะสม โดยผู้ต้องหาที่ 1 – 7 รู้อยู่แล้วว่าจำนวนรถกับจำนวนคนไม่เหมาะสมกัน ผู้ต้องหาที่ 2 – 6 และ 8 ซึ่งเป็นพลขับก็เห็นสภาพรถดังกล่าว จนเป็นเหตุให้มีผู้เสียชีวิตถึง 78 คน การกระทำของผู้ต้องหาทั้งแปดจึงเข้าฐานความผิดร่วมกันฆ่าผู้อื่น จึงสั่งฟ้อง โดยจะแจ้งให้ ผบ.ตร. ดำเนินการมอบหมายให้เจ้าหน้าที่ตำรวจแจ้งข้อกล่าวหาและส่งตัวผู้ต้องหาไปยังอัยการจังหวัดปัตตานีต่อไป

ความเคลื่อนไหวล่าสุดในคดีของฝ่ายอัยการคือได้มีการออกหมายจับตามหมายค้นของศาลจังหวัดตรังที่ ค. 365/2567 และหมายจับของศาลจังหวัดปัตตานีที่ จ. 514/2567 โดยในวันที่ 4 ตุลาคม 2567 เจ้าหน้าที่ตำรวจพร้อมอาวุธครบมือตามคำสั่งของผู้บัญชาการตำรวจภูธรภาค 9 ได้นำกำลังเข้าบุกค้นบ้านพักเพื่อจับกุม ร.ต. ณัฐวุฒิ เลื่อมใส แต่ยังคงไม่พบตัว ไล่เลี่ยกับการตามล่าตัว ร.ต.ณัฐวุฒิ ในวันที่ 5 ตุลาคม ที่จังหวัดชุมพรได้มีการสนธิกำลังเข้าจับกุมตัว พ.ท.ประเสริฐ มัทมิฬ แต่ก็ยังคงไม่พบตัวเช่นกัน

*ข้อมูลล่าสุด เมื่อวันที่ 5 ตุลาคม 2567 *

จะเห็นได้ว่าทั้งสองคดี ทั้งคดีของญาติ และคดีในฝ่ายอัยการนั้นมีเนื้อหาในคดีที่แตกต่างกัน โดยคดีในฝ่ายอัยการนั้นเฉพาะเจาะจงไปที่การเสียชีวิตของผู้ชุมนุมในระหว่างที่มีการควบคุมตัว โดยไม่มีประเด็นของการสลายการชุมนุมที่มีการใช้กระสุนจริงจนเป็นเหตุให้มีผู้เสียชีวิต เนื่องจากฝ่ายอัยการได้เคยยุติการสอบสวนในประเด็นดังกล่าวแล้วโดยให้เหตุผลว่าไม่สามารถหาตัวผู้กระทำความผิดจากการใช้กระสุนจริงได้ ในขณะที่คดีของญาตินั้นรวมตั้งแต่การสลายการชุมนุมไปจนถึงการควบคุมตัว ทั้งสองคดีนี้มีผู้ต้องหาร่วมเพียงคนเดียวคือ พล.อ.เฉลิมชัย วิรุฬห์เพชร ซึ่งเป็นผู้ที่กรรมการอิสระไต่สวนข้อเท็จจริงกรณีตากใบระบุว่าเป็นผู้มีอำนาจสั่งการและต้องรับผิดชอบต่อกรณีการสลายการชุมนุมและการควบคุมตัวผู้ชุมนุมไปยังค่ายอิงคยุทธบริหาร

หากคดีหมดอายุความ วัฒนธรรมพ้นผิดลอยนวลยังคงดำเนินต่อไป

ประเด็นปัญหาใหญ่ของทั้งสองคดีที่มีร่วมกันคือการที่คดีนั้นใกล้จะหมดอายุความ โดยข้อหาที่ฟ้องในทั้งสองคดีนี้คือประมวลกฎหมายอาญามาตรา 288 ซึ่งกำหนดว่า “ผู้ใดฆ่าผู้อื่น ต้องระวางโทษประหารชีวิต จำคุกตลอดชีวิต หรือจำคุกตั้งแต่สิบห้าปีถึงยี่สิบปี” โดยการนับอายุความตามประมวลกฎหมายอาญา มาตรา 95 กำหนดว่าถ้ามิได้ฟ้องและได้นำตัวผู้กระทำความผิดมายังศาลภายในกำหนด นับแต่วันกระทำความผิด เป็นอันขาดอายุความ โดยโทษของสองคดีคือ ประหารชีวิต จำคุกตลอดชีวิต หรือจำคุกยี่สิบปี จึงเข้าข่ายการนับอายุความ 20 ปี ตามประมวลกฎหมายอาญา มาตรา 95 (1) ซึ่งถ้านับจากวันที่ 25 ตุลาคม 2547 ก็จะครบอายุความ 20 ปี ในวันที่ 25 ตุลาคม 2567

หากผู้ต้องหาหรือจำเลยในคดีในคดีหนึ่งไม่ได้มามอบตัวตามหมายจับ ถูกจับกุม หรือถูกส่งตัวไปยังศาลได้ทันเวลาในวันที่ 25 ตุลาคม 2567 ทั้งสองคดีก็จะหมดอายุความทันทีและโอกาสในการแสวงหาความยุติธรรมจากรัฐก็จะสิ้นสุดลงเช่นกันสำหรับญาติของผู้เสียชีวิตและผู้ได้รับบาดเจ็บ

แม้ว่าชนชั้นนำผู้มีอำนาจในทางการเมืองตั้งแต่ในช่วงที่เกิดเหตุการณ์จะแสดงออกว่ารู้สึกเสียใจต่อเหตุการณ์ที่เกิดขึ้น โดยทั้งทักษิณ ชินวัตร นายกรัฐมนตรีในขณะนั้น พล.อ.สุรยุทธ์ จุลานนท์ นายกรัฐมนตรีที่ได้รับการแต่งตั้งหลังจากที่มีการยึดอำนาจรัฐบาลทักษิณ ภูมิธรรม เวชยชัย รองนายกฯและรัฐมนตรีกระทรวงกลาโหม รวมถึง พล.อ.พิศาล วัฒนวงษ์คีรี ผู้ถูกกล่าวหาว่าจะต้องรับผิดชอบกับเหตุการณ์ จะเคยได้ออกมาแสดงความเสียใจและขอโทษประชาชนในเหตุการณ์ตากใบ 2547 แต่หนึ่งในทางออกของการคืนความยุติธรรมและไม่สานต่อวัฒนธรรมการพ้นผิดลอยนวลคือการพิจารณาคดีอย่างเป็นธรรมเพื่อให้ผู้ที่กระทำความผิดจนเป็นเหตุให้มีผู้เสียชีวิตจากการสลายการชุมนุมและการควบคุมตัวผู้ชุมนุมได้รับโทษตามกฎหมาย

วัฒนธรรมพ้นผิดลอยนวล โดยเฉพาะกับกรณีที่มีการใช้ความรุนแรงโดยรัฐต่อประชาชนเกิดขึ้นในสังคมไทยนับแต่เหตุการณ์ 14 ตุลาคม 2516 จนถึงปัจจุบันโดยเฉลี่ยจะเกิดเหตุการณ์การใช้ความรุนแรงโดยรัฐต่อประชาชนเก้าปีต่อหนึ่งครั้ง หากเรานับตั้งแต่เหตุการณ์ 14 ตุลาคม 2516, 6 ตุลาคม 2519, พฤษภาฯ 35, กรือเซะ-ตากใบ 2547, พฤษภาฯ 53-54, ม็อบราษฎร 2563 จะเห็นได้ว่าวัฒนธรรมพ้นผิดลอยนวลมักจะมาคู่กับการใช้ความรุนแรงโดยรัฐต่อประชาชนอยู่เสมอ แต่ความแตกต่างหนึ่งของเหตุการณ์ตากใบ 2547 กับเหตุการณ์อื่น ๆ คือความรุนแรงของเหตุการณ์นั้นเกิดขึ้นก่อน-หลังที่จากที่มีการใช้ความรุนแรงต่อประชาชน และนัยสำคัญของเหตุการณ์ตากใบ 2547 คือผลกระทบของเหตุการณ์ยังส่งผลต่อปัจจุบัน ซึ่งทั้งภาคประชาชนและฝ่ายความมั่นคงเห็นตรงกันว่าคดีนี้คือเงื่อนไขที่จะนำไปสู่การลดความขัดแย้งในพื้นที่และนำไปสู่การแสวงหาสันติภาพในสามจังหวัดชายแดนภาคใต้

https://www.ilaw.or.th/articles/45135