วันอาทิตย์, มีนาคม 24, 2567

ภายหลังการรัฐประหาร 8 พฤศจิกายน พ.ศ. 2490 มีการบิดเบือนข้อเท็จจริงทางประวัติศาสตร์ของคณะราษฎรในประการสำคัญได้แก่ หลักการ อุดมการณ์ และการจัดทำนโยบายเพื่อประโยชน์ของคณะราษฎรตามหลัก 6 ประการ ชวนอ่าน บทความคณะราษฎรกับการอภิวัฒน์ประชาธิปไตย 24 มิถุนายน ของปรีดี พนมยงค์


สถาบันปรีดี พนมยงค์ Pridi Banomyong Institute

ข้อเท็จจริงทางประวัติศาสตร์เกี่ยวกับคณะราษฎรมีการเปลี่ยนแปลงตามบริบททางความรับรู้เกี่ยวกับคณะราษฎร 2475 โดยภายหลังการรัฐประหาร 8 พฤศจิกายน พ.ศ. 2490 มีการบิดเบือนข้อเท็จจริงทางประวัติศาสตร์ของคณะราษฎรในประการสำคัญได้แก่ หลักการ อุดมการณ์ และการจัดทำนโยบายเพื่อประโยชน์ของคณะราษฎรตามหลัก 6 ประการ และบทบาทของรัฐบาลคณะราษฎรในช่วงสงครามโลก ครั้งที่ 2 จนห่างไกลจากข้อเท็จจริงทางประวัติศาสตร์ในขณะที่คณะราษฎรก่อการอภิวัฒน์ในช่วงทศวรรษแรก
.
บทความคณะราษฎรกับการอภิวัฒน์ประชาธิปไตย 24 มิถุนายน ของปรีดี พนมยงค์ จึงเป็นบทความสำคัญอย่างยิ่งอีกชิ้นที่มีเนื้อหาเรื่องการก่อตั้งคณะราษฎรอย่างละเอียด และสำคัญอย่างยิ่งในบทบาทหัวหน้าคณะราษฎรสายพลเรือน ปรีดี พนมยงค์
.
อ่านบทความทั้งหมดต่อได้ที่นี่ :
https://pridi.or.th/th/content/2024/03/1895
.
#ราชาธิปไตยใต้รัฐธรรมนูญ #ไม่ได้ล้มเจ้า
.....
คณะราษฎรกับการอภิวัฒน์ประชาธิปไตย 24 มิถุนายน

ปรีดี พนมยงค์
23 มีนาคม 2567

Focus
  • สุนทรพจน์ของนายปรีดี พนมยงค์ ในโอกาสการจัดงาน “กึ่งศตวรรษประชาธิปไตย” วันที่ 24 มิถุนายน 2525 ณ จุฬาลงกรณ์มหาวิทยาลัย วันที่ 24-27 มิถุนายน 2525 ได้ชี้แจงถึงความเป็นมาและวัตถุประสงค์ของคณะราษฎร การเปลี่ยนแปลงการปกครอง 2475 (การอภิวัฒน์ประชาธิปไตย) กับ ท่าทีของสมเด็จพระปกเกล้าฯ (รัชกาลที่ 7) ผลงานของคณะราษฎร ความผิดพลาดของคณะราษฎร และข้อแนะนำเพื่อระบอบประชาธิปไตยไทยที่สมบูรณ์ในอนาคต
  • การก่อตั้ง “คณะราษฎร” (ในสมัยนั้นยังไม่นิยมเรียกว่า “พรรค”) เริ่มขึ้นโดยผู้ก่อการ 7 คน โดยจัดประชุมกันที่ประเทศฝรั่งเศส เมื่อเดือนกุมภาพันธ์ พ.ศ. 2470 (ค.ศ. 1927) ต่อจากนั้นได้ขยายสมาชิก (ทั้งในยุโรปและในประเทศไทย) กว่า 100 คน แบ่งตามประเภทดี 1, ดี 2 และ ดี 3 (ตามระดับความไว้เนื้อเชื่อใจ) โดยดำเนินการเป็นความลับ
  • พระบาทสมเด็จพระปกเกล้าฯ ทรงยอมรับการกระทำของคณะราษฎรในการเปลี่ยนแปลงการปกครองจากระบอบสมบูรณาญาสิทธิราชย์เป็นระบอบราชาธิปไตยภายใต้รัฐธรรมนูญ เพราะทรงดำริเช่นเดียวกัน ทรงยอมรับรัฐธรรมนูญของคณะราษฎรในฐานะฉบับชั่วคราว และทรงขอให้จัดทำฉบับถาวรขึ้นแทน จึงทรงนิรโทษกรรม อันทำให้คณะราษฎรมีฐานะถูกต้องตามกฎหมาย รวมทั้งในการจัดทำรัฐธรรมนูญฉบับถาวรทรงให้ความร่วมมือและพอพระราชหฤทัยมาก
  • คณะราษฎรมีวัตถุประสงค์ (1) เปลี่ยนแปลงการปกครองจากระบอบสมบูรณาญาสิทธิราชย์มาเป็นระบอบราชาธิปไตยภายใต้รัฐธรรมนูญประชาธิปไตย และ (2) พัฒนาชาติไทยตามหลัก 6 ประการ โดยรัฐธรรมนูญ พ.ศ. 2475 บัญญัติให้มีสส. ประเภทที่ 1 (มาจากการเลือกตั้ง) และประเภทที่ 2 (มาจากการแต่งตั้งของพระมหากษัตริย์) และต่อมามีการจัดทำรัฐธรรมนูญฉบับใหม่ พ.ศ. 2489 ตามลักษณะประชาธิปไตยสมบูรณ์ (ระบอบการปกครองที่ถือมติปวงชนเป็นใหญ่)
  • การประกาศใช้รัฐธรรมนูญประชาธิปไตยสมบูรณ์ฉบับ 9 พฤษภาคม 2489 นำไปสู่การสลายตัวของคณะราษฎร ผู้ก่อการฯหรือสมาชิกคณะราษฎรส่วนหนึ่งไปประกอบอาชีพธุกิจส่วนตัว อีกส่วนหนึ่งเข้าสังกัดพรรคการเมืองต่างๆ (ยกเว้นนายปรีดี พนมยงค์ ไม่ได้สังกัดพรรคการเมืองใด)
  • คณะราษฎรพยายามปฏิบัติตามหลัก 6 ประการ ที่ได้แถลงต่อมวลราษฎรเมื่อวันที่ 24 มิถุนายน 2475 กล่าวโดยย่อคือ (1) หลักเอกราช (2) หลักความปลอดภัย (3) หลักเศรษฐกิจ (4) หลักความเสมอภาค (5) หลักเสรีภาพ และ (6) หลักการศึกษา ดังผลงานต่างๆ ที่ปรากฏ
  • ความผิดพลาดของการอภิวัฒน์ประชาธิปไตย 24 มิถุนายน มีสองสาเหตุคือ (1) เหตุแห่งความผิดพลาดที่เหมือนกันกับทุกขบวนการเมือง และ (2) เหตุแห่งความผิดพลาดของคณะราษฎรโดยเฉพาะ จากทั้งสองสาเหตุ การปฏิบัติเพื่ออุดมการณ์และปณิธานจึงมีความผิดพลาดบกพร่องที่ทำให้การสถาปนารัฐธรรมนูญประชาธิปไตยนั้นต้องล่าช้ามาจนถึงวันที่ 9 พฤษภาคม 2489
  • ขอให้ประชาชาวไทยผู้รักชาติ รักประชาธิปไตย ที่มีใจเป็นธรรมโปรดพิจารณาเป้าหมายและวิธีการให้ถูกต้อง จึงจะต้องให้บังเกิดระบอบประชาธิปไตยสมบูรณ์ในประเทศไทยขึ้นมาได้ โดยใช้เวลาไม่เนิ่นนานกว่าที่คณะราษฎรส่วนรวมได้รับใช้ชาติและราษฎรมาแล้ว
สวัสดีด้วยความเคารพอย่างยิ่ง แด่ประชาชนชาวไทยผู้รักชาติ รักประชาธิปไตย ที่มีใจเป็นธรรมทั้งหลาย

ด้วยคุณเสวตร เปี่ยมพงศ์สานต์ ประธานคณะอำนวยการงาน “กึ่งศตวรรษประชาธิปไตย” ได้แจ้งมายังผมว่า เนื่องด้วยวันที่ ๒๔ มิถุนายน ๒๕๒๕ เป็นวันครบรอบ ๕๐ ปีแห่งประชาธิปไตยในประเทศไทย องค์การเอกชนและกลุ่มบุคคลต่างๆ ในประเทศจึงได้ร่วมกันกำหนดที่จะจัดให้มีงาน “กึ่งศตวรรษประชาธิปไตย” ขึ้น ณ จุฬาลงกรณ์มหาวิทยาลัย ในวันที่ ๒๔-๒๗ มิถุนายน ๒๕๒๕ โดยมีวัตถุประสงค์เพื่อ

๑. ระลึกถึงคุณงามความดีของผู้ที่ได้อุทิศตนเพื่อเสริมสร้างระบอบประชาธิปไตยขึ้นในประเทศไทย

๒. สะท้อนปัญหาการพัฒนาระบอบประชาธิปไตยในประเทศไทย

๓. เผยแพร่หลักการประชาธิปไตยและส่งเสริมการมีส่วนร่วมทางการเมืองของประชาชน

๔. เสนอข้อคิดเห็นเกี่ยวกับการพัฒนาระบอบประชาธิปไตยของ รัฐบาล และผู้มีส่วนเกี่ยวข้อง

๕. สร้างความสมานฉันท์ในบรรดากลุ่มประชาธิปไตย

ผมขอขอบคุณท่านประธานกับกรรมการอำนวยการและองค์การเอกชนกับบุคคลต่างๆ ในการที่ท่านทั้งหลายได้ระลึกถึงผู้ที่อุทิศตนเพื่อเสริมสร้างประชาธิปไตยและในการที่ท่านทั้งหลายมีความปรารถนาดีที่จะดำเนินการต่อไปเพื่อให้ชาติไทยบรรลุถึงซึ่งประชาธิปไตยสมบูรณ์ตามแนวทางแห่งวัตถุประสงค์ที่กำหนดไว้นั้น

อนึ่ง ท่านประธานฯ แจ้งว่าคณะอำนวยการฯ เห็นว่าผมเป็นผู้มีส่วนในการสถาปนาการปกครองระบอบประชาธิปไตยขึ้นในประเทศไทย จึงใคร่จะได้สุนทรพจน์ของผมเพื่อแสดงให้ปรากฏแก่ประชาชนชาวไทยในช่วงเวลาเปิดงานนั้น ผมยินดีสนองความปรารถนาของท่านทั้งหลาย

ส่วนเรื่องควรกล่าวในสุนทรพจน์นั้น ผมคำนึงว่านอกจากท่านทั้งหลายและประชาชนชาวไทยผู้รักชาติ รักประชาธิปไตย ที่มีใจเป็นธรรมเห็นว่าคณะราษฎรได้อุทิศตนรับใช้ชาติเพื่อสร้างประชาธิปไตยแล้ว ก็ยังมีบุคคลจำนวนหนึ่งที่ตั้งตนเป็นปรปักษ์ได้ดำเนินการโดยตนเองบ้าง และโดยใช้ลูกสมุนบ้าง ใส่ร้ายคณะราษฎรด้วยประการต่างๆ ที่ตรงกันข้ามกับวัตถุประสงค์ของท่านทั้งหลาย และยิ่งข่าวการที่ท่านทั้งหลายริเริ่มงาน “กึ่งศตวรรษประชาธิปไตย” ได้พัฒนาขยายกว้างขึ้นแล้ว ฝ่ายตั้งตนเป็นปรปักษ์ต่อคณะราษฎรก็ได้ทวีการใส่ร้ายคณะราษฎรยิ่งขึ้น และถึงขีดสูงสุดเมื่อไม่นานมานี้ โดยมีผู้เขียนบทความเผยแพร่ที่ใช้หัวเรื่องว่า “เผด็จการยุคแรก” กล่าวเบิกเรื่องมีความดังต่อไปนี้

“เผด็จการยุคแรกฟักตัวขึ้นในระบอบประชาธิปไตยที่ “คณะราษฎร” ได้สถาปนามันขึ้นมาเมื่อ ๒๔ มิถุนายน ๒๔๗๕ “ผู้เผด็จการ” คนแรกก็ไม่ใช่ใครที่ไหน บุคคลสำคัญใน “คณะราษฎร” นั่นเอง หลังจากที่ทอด “เงา” ของเขาจากชัยชนะในการปราบ “ขบถบวรเดช” เดือนตุลาคม ๒๔๗๖ ให้เด่นชัดขึ้นมาทีละน้อยชั่วเวลาไม่ถึง ๗ ปี เขาก็ได้ครองอำนาจ “เผด็จการ” เต็มตัว ผู้คนหวาดหวั่นกลัวกันทั้งแผ่นดิน”

“ต่อคำถามที่เหตุใด “คณะราษฎร” จึงด่วนทำลายอุดมการณ์ประชาธิปไตยเร็วนัก คนร่วมสมัยกับ “คณะราษฎร” คงให้คำตอบไม่ได้ชัดเจน โดยเฉพาะสมาชิกของ “คณะราษฎร” เอง เพราะภาวการณ์ภายนอกและสถานการณ์ภายใน “คณะราษฎร” ได้เอื้ออำนวย จนทุกคนเห็นเป็นความจำเป็นที่จะมอบอำนาจที่ได้มาให้รวมศูนย์อยู่ที่หลวงพิบูลสงครามแต่ผู้เดียว....”

บทความดังกล่าวเป็นการใส่ร้ายสมาชิกคณะราษฎรทุกคนเพื่อให้เสียชื่อเสียง และถูกดูหมิ่นเกลียดชัง แต่อันที่จริงนั้นสมาชิกมากมายหลายคนได้อุทิศตนต่อสู้จอมพลพิบูลสงครามในกรณีที่ท่านผู้นี้ปฏิบัติผิดหลักประชาธิปไตย อันเป็นผลให้ท่านต้องลาออกจากตำแหน่งนายกรัฐมนตรีและอีกหลายกรณีที่ผู้ต่อต้านท่านผู้นั้นต้องถูกจองจำหรือต้องลี้ภัยอยู่ในต่างประเทศ สมาชิกฯ ที่เสียหายหรือทายาท จึงมีสิทธิขอให้ศาลยุติธรรม พิจารณาผู้ใส่ร้ายนั้นได้ บทความดังกล่าวข้างบนนั้นจึงขัดต่อวัตถุประสงค์ของคณะกรรมการฯ

ฉะนั้น เพื่อให้เรื่องในสุนทรพจน์ของผมเป็นไปตามวัตถุประสงค์ของคณะกรรมการฯ ผมจึงขอเสนอเรื่อง “คณะราษฎรกับการอภิวัฒน์ประชาธิปไตย ๒๔ มิถุนายน”

ผมขอเรียนว่า เพื่อทุ่นแรงออกเสียงของผมที่ชราแล้ว ผมจึงขอให้ประธานสมาคมนักเรียนไทยในฝรั่งเศสเป็นผู้อ่านข้อเขียนของผมต่อไปนี้ส่วนข้อสรุปท้ายนั้นผมจะกล่าวเอง


๑. ชื่อของคณะราษฎร

๑.๑ สถานการณ์ก่อตั้งคณะการเมืองในสมัยสมบูรณาฯ

ในบรรดาเหตุหลายประการซึ่งเกจิอาจารย์ที่ตั้งตนเป็นปรปักษ์ต่อคณะราษฎร ได้เสาะหาเอามาโจมตีคณะราษฎรนั้น ก็มีประการหนึ่งที่ท่าน กับพวกได้สั่งสอนสานุศิษย์ว่าผู้ก่อการเปลี่ยนแปลงการปกครอง มิถุนายนฯ เรียกตนเองว่า “คณะราษฎร” โดยราษฎรไม่รู้เห็นด้วย อันเป็นการจูงใจให้สานุศิษย์ไม่ยอมรับรู้การมีอยู่ของคณะราษฎรตั้งแต่เริ่มก่อตั้ง ผมจึงขอให้ท่านที่ยังมีชีวิตอยู่และจำความสมัยสมบูรณาฯ โปรดระลึกและท่านที่เกิดภายหลังสมัยนั้นโปรดศึกษาถึงสถานการณ์ก่อตั้งคณะการเมืองสมัยสมบูรณาฯ และเกี่ยวกับวิชาการแท้จริงดังต่อไปนี้

(๑) ในสมัยสมบูรณาฯ นั้น บุคคลไม่มีสิทธิ์รวมกันก่อตั้งคณะการเมือง ฉะนั้นการก่อตั้งคณะการเมืองจึงต้องทำเป็นการลับมาก ไม่อาจประกาศป่าวร้องให้ราษฎรหรือประชาชนจำนวนมากเข้าร่วมในคณะการเมืองได้ ฉะนั้นจะนำเอาตัวอย่างของ “คณะเก๊กเหม็ง” ภายใต้การนำของซุนยัดเซ็นมาใช้แก่คณะการเมืองไทยในระบอบสมบูรณาฯ ไม่ได้ เพราะคณะเก็กเหม็งอาศัยเขตสัมปทานที่รัฐบาลจีนให้แก่ต่างประเทศนั้นป่าวร้องให้ชาวจีนจำนวนมากเข้ามาร่วม

(๒) ผู้เริ่มก่อตั้งคณะราษฎร ๗ คนที่ปารีสนั้นเป็นราษฎรไทยสมบูรณ์ ต่อมาได้ดำเนินการลับ ตามสภาพที่เหมาะสมสมัยนั้นร่วมกับราษฎรไทยอีกกว่าหนึ่งร้อยคนเข้าร่วมเป็นสมาชิกคณะราษฎรเป็นประเภทดี ๑ ซึ่งเป็นกองหน้า แล้วมีราษฎรประเภทดี ๒, ดี ๓, อีกมากมายที่สนับสนุนและสมทบกับกองหน้า ทั้งนี้แสดงชัดเจนว่าราษฎรไทยจำนวนพอสมควรทำการเปลี่ยนแปลงการปกครองเมื่อ ๒๔ มิถุนายนนั้นรู้เห็นด้วยฉะนั้นจึงต่างดำเนินการตามยุทธศาสตร์จีนซึ่งต้องการใช้วิธีชนบทล้อมเมือง จึงต้องการให้มีพลเมืองจำนวนล้านๆ คนรู้เห็นด้วย ซึ่งจะต้องทำการรบกับรัฐบาลให้ถึงแก่ล้มตายจำนวนมากๆ

(๓) ขอให้นักวิชาการที่มีใจเป็นธรรมตรวจค้นว่ามีตำรารัฐศาสตร์ของประเทศใดบ้างที่สอนว่าถ้าจะตั้งเป็นคณะหรือพรรคการเมืองที่แปลชื่อเป็นภาษาไทยว่า “ราษฎร” หรือ “ประชาชน” ไซร้ ก็จะต้องเสนอให้ราษฎรหรือประชาชนจำนวนเท่าใดรู้เห็นด้วยก่อน

ถ้าสมมติว่านักวิชาการผู้ใดยืนยันว่าตำราศาสตร์เช่นนั้น ก็ขอได้โปรดวินิจฉัยด้วยว่าในสมัยที่บางรัฐบาลไทยได้อนุญาตให้ตั้งพรรคการเมืองได้นั้นมีคนตั้งพรรคชื่อว่า “พรรคราษฎร” “พรรคประชาชน” และ “พรรคสหประชาไทย” (จอมพลถนอมฯ เป็นหัวหน้า) แต่มีดอกเตอร์หรือนักวิชาการใดบ้างทักท้วงว่าพรรคเหล่านั้นเรียกตนเองตามชื่อดังกล่าวโดยราษฎร หรือประชาชน หรือประชาไทยมิได้รู้เห็นด้วย?

๑.๒ การรับรองชื่อคณะราษฎรโดยผู้สำเร็จราชการรักษาพระนคร แทนองค์พระมหากษัตริย์, และพระบาทสมเด็จพระปกเกล้าฯ ประมุขของปวงราษฎรไทยรับรองชื่อคณะราษฎรตั้งแต่ ๒๔ มิถุนายน ๒๔๗๕

เอกสารหลักฐานแท้จริงของทางราชการแสดงชัดแจ้งว่า เมื่อคณะราษฎรได้แสดงตนเปิดเผยแก่ราษฎรในเช้าวันที่ ๒๔ มิถุนายน ๒๔๗๕ แล้ว ผู้สำเร็จราชการรักษาพระนครแทนองค์พระบาทสมเด็จพระปกเกล้าฯ และพระบาทสมเด็จพระปกเกล้าฯ ซึ่งเป็นประมุขของปวงชนราษฎรไทยได้ทรงรับรองชื่อ ของคณะราษฎรดังต่อไปนี้

(๑) ก่อน ๒๔ มิถุนายน ๒๔๗๕ พระบาทสมเด็จพระปกเกล้าฯ เสด็จแปรพระราชฐาน ณ หัวหิน พระองค์จึงทรงแต่งตั้งสมเด็จเจ้าฟ้าบริพัตร กรมพระนครสวรรค์ฯ ดำรงตำแหน่ง “ผู้สำเร็จราชการรักษาพระนคร” มีพระราชอำนาจแทนพระมหากษัตริย์ ครั้นถึงเวลาเช้าของวันที่ ๒๔ มิถุนายน ๒๔๗๕ คณะราษฎรได้อัญเชิญสมเด็จเจ้าฟ้าบริพัตร กรมพระนครสวรรค์ฯ ไปประทับ ณ พระที่นั่งอนันตสมาคม ครั้นแล้ว สมเด็จเจ้าฟ้าพระองค์นั้นทรงมีคำประกาศซึ่งแสดงถึงการรับรองคณะราษฎรรวมอยู่ด้วยกันดังต่อไปนี้


คำประกาศ
ของผู้สำเร็จราชการรักษาพระนคร


ด้วยตามที่คณะราษฎรได้ยึดอำนาจการปกครองแผ่นดินไว้โดยมีความประสงค์ข้อใหญ่ที่จะให้ประเทศสยามมีธรรมนูญการปกครองแผ่นดินนั้น ข้าพเจ้าขอให้ทหาร ข้าราชการ และราษฎรทั้งหลายช่วยกัน รักษาความสงบ อย่าให้เสียเลือดเนื้อคนไทยด้วยกันโดยไม่จำเป็น

(ลงนาม) บริพัตร



(๒) เวลา ๑๖.๐๐ น. ของวันที่ ๒๔ มิถุนายน ๒๔๗๕ พระยาพหลพลพยุหเสนา ผู้รักษาพระนครฝ่ายทหารได้เชิญคณะเสนาบดีและปลัดทูลฉลองกระทรวงต่างๆ ไปประชุมร่วมกับคณะราษฎร ณ พระที่นั่งอนันตสมาคม เพื่อพิจารณาข้อตกลงกับคณะราษฎรในระเบียบการที่กระทรวงพึงปฏิบัติ ซึ่งได้ตกลงกันดังต่อไปนี้


ข้อตกลงในระเบียบการที่กระทรวงพึงปฏิบัติ

พระที่นั่งอนันตสมาคม
วันที่ ๒๔ มิถุนายน พุทธศักราช ๒๔๗๕

วันนี้ เวลา ๑๖.๐๐ นาฬิกา คณะเสนาบดีและปลัดทูลฉลองกระทรวงต่างๆ ได้ตกลงกับคณะราษฎรด้วยวิธีปฏิบัติราชการว่า

๑. ถ้าราชการปกติอันเป็นระเบียบแบบแผน การและเคยปฏิบัติมาแล้ว ก็ให้ปฏิบัติไปตามเคย

๒. ถ้าเป็นราชการที่เคยนำความขึ้นกราบบังคมทูล ก็ให้นำเสนอผู้รักษาพระนครฝ่ายทหารจงทุกเรื่อง

๓. ถ้ามีเหตุขัดข้องหรือสงสัย ก็ขอให้นำข้อนั้นๆ มาหารือต่อผู้รักษาพระนครฝ่ายทหารได้

๔. ให้ทุกกระทรวงบอกไปยังกรมขึ้นของกระทรวงนั้นให้ทราบทั่วกันว่า เวลานี้ผู้รักษาพระนครฝ่ายทหารได้เป็นผู้ใช้ “อำนาจการปกครองชั่วคราว” ส่วนกิจการในหน้าที่ให้คงปฏิบัติราชการไปตามเคย อย่าให้มีการตื่นเต้น

(ลงพระนาม) ศุภโยค (พระองค์เจ้า)
(ลงนาม) ธานี (พระองค์เจ้า)
พิชัยญาติ (เจ้าพระยา)
ศรีธรรมาธิเบศ (เจ้าพระยา)
ราชนิกูล (พระยา)
พิพิธสมบัติ (พระยา)
วิมวาทิตย์ (หม่อมเจ้า)
มโหสถศรีพิพัฒน์ (พระยา)
วิทยาปรีชามาตย์ (พระยา)
ประเสริฐสงคราม (พระยา)


(๓) พระบาทสมเด็จพระปกเกล้าฯ เสด็จจากหัวหินกลับกรุงเทพฯ โดยขบวนรถไฟพิเศษเมื่อวันที่ ๒๕ มิถุนายน เวลา ๑๙.๔๕ น. เสด็จลงที่สถานีรถไฟจิตรลดา เมื่อวันที่ ๒๖ มิถุนายน เวลา ๐.๓๗ น. แล้วเสด็จไปประทับที่วังสุโขทัย โปรดเกล้าฯ ให้คณะราษฎรเข้าเฝ้าที่วังสุโขทัย เวลา ๑๑.๐๐ น. ของวันที่ ๖ มิถุนายน นั้น

ผู้แทนคณะราษฎรได้ไปเฝ้าตามพระกระแสรับสั่งและนำร่างพระราชกำหนดนิรโทษกรรมในคราวเปลี่ยนแปลงการปกครองแผ่นดินพุทธศักราช ๒๔๗๕ ขึ้นทูลเกล้าฯ ถวายเพื่อขอพระมหากรุณาทรงลงพระปรมาภิไธยพระราชทาน

ขณะนั้นยังมิได้มีธรรมนูญการปกครองแผ่นดินหรือรัฐธรรมนูญที่จำกัดพระราชอำนาจ พระบาทสมเด็จพระปกเกล้าฯ จึงยังทรงมีพระราชอำนาจที่จะกระทำการใดๆ แทนปวงชนชาวสยามได้อย่างสมบูรณ์ โดยไม่ต้องมีบุคคลที่ได้รับอำนาจให้เป็นตัวแทนของปวงชนชาวสยามเป็นผู้ลงนาม รับสนองพระบรมราชโองการ

พระบาทสมเด็จพระปกเกล้าฯ ได้ทรงมีพระมหากรุณาธิคุณลงพระปรมาภิไธยในพระราชกำหนดนั้น ซึ่งมีข้อความแสดงถึงการทรงรับรองให้คณะราษฎรมีฐานะถูกต้องตามกฎหมายด้วย ดังมีความต่อไปนี้


พระราชกำหนดนิรโทษกรรม
ในคราวเปลี่ยนแปลงการปกครองแผ่นดิน
พุทธศักราช ๒๔๗๕

การที่คณะราษฎรคณะหนึ่งซึ่งมีความปรารถนาอันแรงกล้า ในอันที่จะแก้ไขขจัดความเสื่อมโทรมบางประการของรัฐบาลสยามและชาติไทยให้หายไป แล้วจะพากันจรรโลงสยามรัฐและชาติไทยให้เจริญรุ่งเรืองวัฒนาถาวรมั่นคงเท่าเทียมกับชาติและประเทศอื่นต่อไป จึงพากันยึดอำนาจการปกครองแผ่นดินไว้ด้วยความมุ่งหมายที่จะให้มีธรรมนูญการปกครองแผ่นดินนั้น ทั้งนี้แม้ว่าการจะได้เป็นไปโดยขัดกับความพอพระทัยพระบรมวงศานุวงศ์บางพระองค์ และขัดใจสมาชิกในรัฐบาลเดิมบางคนก็ดี ก็เป็นธรรมดาที่จะต้องเป็นไปเช่นนั้นในทุกประเทศ ไม่ว่าจะเจริญรุ่งเรืองแล้วเท่าไรๆ ก็ไม่อาจจะก้าวล่วงการนี้เสียได้ ถึงกระนั้นก็เพิ่งปรากฏเป็นประวัติการณ์ครั้งแรกของโลกที่การได้เป็นไปได้ราบรื่นปกติมิได้รุนแรง

และแม้ว่าจะได้อัญเชิญพระบรมวงศานุวงศ์และข้าราชการบางคนมาประทับ และไว้ในพระที่นั่งอนันตสมาคมก็เพียงเพื่อประกันภัยของคณะ และเพื่อให้การดำเนินลุล่วงไปได้เท่านั้น หาได้กระทำการประทุษร้ายหรือหยาบหยามอย่างใดๆ และไม่มุ่งหมายจะกระทำเช่นนั่นด้วย ได้แต่บำรุงไว้ด้วยดี สมควรแก่พระเกียรติยศทุกประการ

อันที่จริงการปกครองด้วยวิธีมีพระธรรมนูญการปกครองนี้ เราก็ได้ดำริอยู่ก่อนแล้ว ที่คณะราษฎรนี้กระทำมาเป็นการถูกต้องตามนิยมของเราอยู่ด้วย และด้วยเจตนาดีต่อประเทศชาติ อาณาประชาชนแท้ๆ จะหาทางกระทำหรือแต่เพียงเจตนาชั่วร้ายแม้แต่น้อยก็มิได้

เหตุนี้ จึ่งทรงพระกรุณาโปรดเกล้าฯ ให้ตราพระราชกำหนดไว้ดังต่อไปนี้

มาตรา ๑ พระราชกำหนดนี้ให้เรียกว่า “พระราชกำหนดนิรโทษกรรม ในความเปลี่ยนแปลงการปกครองแผ่นดิน พุทธศักราช ๒๔๗๕”

มาตรา ๒ ให้ใช้พระราชกำหนดนี้ตั้งแต่ขณะที่พระบาทสมเด็จพระเจ้าอยู่หัวได้ทรงลงพระปรมาภิไธยเป็นต้นไป

มาตรา ๓ บรรดาการกระทำทั้งหลายทั้งสิ้นเหล่านั้น ไม่ว่าของบุคคลใดๆ ในคณะราษฎรนี้หากว่าจะเป็นการละเมิดบทกฎหมายใดๆ ก็ดี ห้ามมิให้ถือว่าเป็นการละเมิดกฎหมายเลย

ประกาศมา ณ วันที่ ๒๖ มิถุนายน พุทธศักราช ๒๔๗๕
(พระปรมาภิไธย) ประชาธิปก ป.ร.


๑.๓ แม้ว่าสมเด็จเจ้าฟ้าบริพัตรฯ ผู้สำเร็จราชการรักษาพระนครแทนองค์พระมหากษัตริย์และพระบาทสมเด็จพระปกเกล้าฯ ทรงรับรองคณะราษฎรซึ่งถือได้ว่าได้ทรงกระทำแทนราษฎรแล้วก็ดี แต่ราษฎรไทยจำนวนมากก็ได้รับรองคณะราษฎรโดยตรงด้วย

เมื่อคณะราษฎรได้แสดงตนเปิดเผยต่อราษฎรตั้งแต่วันที่ ๒๔ มิถุนายน ๒๔๗๕ เป็นต้นมาราษฎรที่ทราบเรื่องเป็นจำนวนมากก็ได้ตอบรับเห็นดีเห็นชอบในการปฏิบัติของคณะราษฎร จะมียกเว้นก็เพียงคนจำนวนน้อยที่นิยมชมชอบระบอบสมบูรณาฯ ยิ่งกว่าองค์พระมหากษัตริย์หรือ “ผู้เกินกว่าราชา” (Ultra Royalists)

ฝ่ายคณะราษฎรและรัฐบาลของคณะราษฎรได้ขออาราธนาคณะสงฆ์ ซึ่งมีราษฎรไทยส่วนมากนับถือนั้นได้โปรดสั่งวัดทุกวัดในราชอาณาจักรช่วยชี้แจงแก่ทายกทายิกาถึงการที่พระบาทสมเด็จพระปกเกล้าฯ ซึ่งทรงเป็นอัครศาสนูปถัมภกได้ทรงพระกรุณาโปรดเกล้าฯ พระราชทานระบอบการปกครองแผ่นดินประชาธิปไตยตามธรรมนูญการปกครองแผ่นดินชั่วคราวฉบับ ๒๗ มิถุนายน ๒๔๗๕ ซึ่งคณะราษฎรได้ขอพระราชทานในนามของราษฎร และต่อมาเมื่อได้ทรงพระกรุณาโปรดเกล้าฯ ให้ใช้รัฐธรรมนูญถาวรฉบับ ๑๐ ธันวาคม ๒๔๗๕ แทนฉบับชั่วคราว ๒๗ มิถุนายนนั้นแล้ว คณะราษฎรและรัฐบาลของคณะราษฎร ก็ได้ขออาราธนาคณะสงฆ์โปรดสั่งวัดทุกวัดให้ชี้แจงแก่ทายกทายิกาดังกล่าวแล้ว อนึ่ง กระทรวงธรรมการได้ขอให้หัวหน้ามุสลิมชี้แจงแก่มุสลิมไทยและหัวหน้าคริสต์ศาสนาชี้แจงแก่คริสต์ศาสนิกไทยทั่วราชอาณาจักรเช่นเดียวกัน กระทรวงธรรมการก็ได้รายงานยืนยันถึงการที่ทายกทายิกาและมุสลิมไทยรวมทั้งคริสต์ศาสนิกไทยได้อนุโมทนาเห็นชอบในการที่คณะราษฎรได้ปฏิบัติไปนั้น พร้อมทั้งสนับสนุนที่จะให้คณะราษฎรและรัฐบาลของคณะราษฎรปฏิบัติให้สำเร็จตามหลัก ๖ ประการของคณะราษฎร กระทรวงธรรมการได้ยืนยันด้วยว่า โรงเรียนทั่วราชอาณาจักรสมัยนั้น ได้สอนให้นักเรียนเข้าใจระบอบปกครองประชาธิปไตยและหลัก ๖ ประการของคณะราษฎร ส่วนกระทรวงมหาดไทยก็ได้ยืนยันว่าเจ้าหน้าที่ปกครองได้ปฏิบัติการให้เจ้าหน้าที่จังหวัด, อำเภอ, กำนัน, ผู้ใหญ่บ้าน, ประชุมชี้แจงให้ราษฎรให้ทราบและเข้าใจการปกครองที่พระมหากษัตริย์พระราชทานโดยคำร้องขอของคณะราษฎร และหลัก ๖ ประการของคณะราษฎร ผลปรากฏจำนวนส่วนข้างมากที่สุด (ยกเว้นบุคคลจำนวนน้อยดังกล่าวแล้ว) ได้เห็นชอบด้วยกับการที่คณะราษฎรได้ทำไปเพื่อราษฎร

อนึ่ง ในระหว่าง ๑๓ ปีเศษที่คณะราษฎรรับผิดชอบในการบริหารแผ่นดิน และในการควบคุมการบริหารราชการแผ่นดิน คณะราษฎรและรัฐบาลของคณะราษฎรได้จัดให้มีงานฉลองรัฐธรรมนูญเป็นประจำปี (ยกเว้นบางปีในระหว่างสงครามและบางกรณีที่มีเหตุฉุกเฉิน) ทั้งในกรุงเทพฯ และในต่างจังหวัดทุกๆ จังหวัด ซึ่งแสดงให้ราษฎรทราบถึงการปฏิบัติของรัฐบาลของคณะราษฎร ได้ทำไปตามระบอบประชาธิปไตยและตามหลัก ๖ ประการ ซึ่งไม่ปรากฏว่ามีผู้ใดทักท้วงว่าคณะราษฎรขึ้นโดยราษฎรไม่รู้เห็นด้วย

๑.๔ เหตุที่เรียกชื่อคณะของผู้ก่อการฯ ว่า “คณะราษฎร”

ก่อนที่ผู้คิดก่อการเปลี่ยนแปลงการปกครองฯ หลายคนหลายกลุ่มจะได้รวมเป็นคณะเดียวกันนั้นแต่ละกลุ่มก็มีชื่อเสียงของตนเองบ้าง และยังไม่มีชื่อกลุ่มของตนบ้าง แต่เมื่อผู้คิดก่อการเปลี่ยนแปลงการปกครองได้รวมเป็นคณะเดียวกันแล้ว ก็ได้ใช้ชื่อคณะเดียวกันว่า “คณะราษฎร” ตามที่ผมได้เสนอในที่ประชุมก่อตั้งคณะราษฎรที่กรุงปารีสเมื่อเดือนกุมภาพันธ์ พ.ศ. ๒๔๗๐ (ค.ศ. ๑๙๒๗) ต่อจากนั้นมาผู้ที่เข้าร่วมก่อการเปลี่ยนแปลงการปกครองที่อยู่ในต่างประเทศและที่อยู่ในประเทศไทยก็ใช้ชื่อคณะว่า “คณะราษฎร” ดังที่ปรากฏตามคำแถลงการณ์ของคณะราษฎรเมื่อวันที่ ๒๔ มิถุนายน ๒๔๗๕ ซึ่งผู้สำเร็จราชการรักษาพระนครแทนองค์พระบาทสมเด็จพระปกเกล้าฯ และพระบาทสมเด็จพระปกเกล้าฯ ประมุขของปวงราษฎรไทยและราษฎรไทยได้รับรองชื่อของคณะราษฎรดังกล่าวมาแล้วในข้อ ๑.๑, ๑.๒ และ ๑.๓ ส่วนผู้ก่อการเปลี่ยนแปลงการปกครองฯ ที่เป็นสมาชิกสภาผู้แทนราษฎรก็ได้ปฏิญาณตนในที่ประชุมสภาผู้แทนราษฎรเมื่อวันที่ ๒๘ มิถุนายน ว่าจะซื่อสัตย์ต่อคณะราษฎรและจะช่วยรักษาหลัก ๖ ประการของคณะราษฎรไว้ให้มั่นคง อนึ่ง คณะรัฐมนตรีตั้งแต่ชุดแรกและต่อๆ มาอีกหลายชุดนั้นก็ได้แถลงยืนยันต่อสภาผู้แทนราษฎรที่ถือเอาหลัก ๖ ประการของคณะราษฎรเป็นนโยบายของรัฐบาลนั้นๆ ด้วย (ท่านผู้สนใจอาจศึกษาจากเอกสารหลักฐานของทางราชการได้)

เหตุที่ผมใช้ชื่อ “คณะราษฎร” นั้นคือ

๑.๔.๑ ความเป็นมาของศัพท์ไทย “คณะ” และ “พรรค”

การร่วมกันทำการเปลี่ยนแปลงการปกครองจากระบอบสมบูรณาญาสิทธิราชย์มาเป็นระบอบราชาธิปไตยภายใต้ธรรมนูญการปกครองแผ่นดิน ซึ่งสมัยนั้นเรียกว่าการปกครองที่พระมหากษัตริย์อยู่ใต้กฎหมายนั้น ผู้ร่วมคิดกระทำการก็ต้องจัดตั้งองค์การหรือสมาคมการเมืองที่เรียกเป็นภาษาอังกฤษว่า “Political Party” หรือที่เรียกโดยย่อว่า “Party”

(๑) เมื่อก่อน พ.ศ. ๒๔๗๕ นั้น ปทานุกรมของกระทรวงธรรมการก็ดีและทางราชการก็ดี ยังมิได้ใช้คำว่า “พรรค” เพื่อเรียกองค์การหรือพรรคการเมือง หากทางราชการทหารเรือได้ใช้คำว่า “พรรค” เพื่อหมายถึงเหล่าต่างๆ ของทหารเรือ ซึ่งแยกเป็น ๓ เหล่าใหญ่คือ (๑) “พรรคกลิน” หมายถึงเหล่าทหารเรือที่เป็นช่างกลประจำท้องเรือ (๒) “พรรคนาวิกโยธิน” หมายถึงเหล่าทหารเรือที่ประจำการพลรบฝ่ายบก (๓) “พรรคนาวิน” หมายถึงเหล่าทหารเรือที่ประจำการพลรบ

สมัยนั้นนักวิชาการใช้คำไทยว่า “คณะ” แปลคำอังกฤษ “Party” ที่ย่นย่อมาจากคำเดิม “Political Party” เช่นแปลคำว่า “ConservativePary” ว่า “คณะคอนเซอร์เวทีฟ”, แปลคำ “Socialist Party” ว่า “คณะโซเซียลิสต์” และแปลคำ “Chinese Nationalist Party” หรือคำจีน “ก๊กมินตั๋ง” เป็นภาษาไทยว่า “คณะชาติจีน” หรือ “จีนคณะชาติ” ซึ่งนิยมเรียกจีนก็กมินตั๋งว่าจีนคณะชาติติดสืบมาจนทุกวันนี้ มิใช่เรียกว่า “พรรคชาติจีน”, “จีนพรรคชาติ”

ฝ่ายองค์การหรือสมาคมการเมืองที่ประกอบขึ้นเมื่อ ร.ศ. ๑๓๐ เพื่อล้มระบอบสมบูรณาฯ ในประเทศไทยก็ได้ใช้คำว่า “คณะ” เรียกองค์การการเมืองหรือสมาคมการเมืองนั้นว่า “คณะ ร.ศ. ๑๓๐”

ผมขอให้ท่านที่สนใจประวัติภาษาไทยโปรดสังเกตหลักฐานเอกสารแท้จริงก็จะพบได้โดยไม่ยากว่าภายหลังที่พระบาทสมเด็จพระปกเกล้าฯ ได้พระราชทานธรรมนูญการปกครองแผ่นดินฉบับชั่วคราวฉบับ ๒๗ มิถุนายน ๒๔๗๕ แล้ว ได้มีบุคคลกลุ่มหนึ่งได้ร่วมกันจัดตั้งองค์การหรือสมาคมการเมือง อันมีวัตถุประสงค์จารีตนิยม (Conservatism) โดยใช้ชื่อว่า “คณะชาติ” ซึ่งมีหลวงวิจิตรวาทการเป็นเลขาธิการ ท่านผู้นี้เป็นเปรียญมีความรู้ภาษาบาลีและภาษาไทย อีกทั้งภาษาอังกฤษและฝรั่งเศส แต่เมื่อปทานุกรมหรือพจนานุกรมไทยยังมิได้ใช้คำว่า “พรรค” เพื่อเรียกองค์การหรือสมาคมการเมือง หลวงวิจิตรฯ จึงได้ใช้คำว่า “คณะ” เพื่อเรียกองค์การหรือสมาคมการเมืองของตน

(๒) เมื่อประมาณ พ.ศ. ๒๔๘๐ พระเจ้าวรวงศ์เธอ กรมหมื่นนราธิปฯ ครั้งดำรงฐานันดรศักดิ์เป็น “หม่อมเจ้าวรรณไวทยากร” ได้ทรงแนะนำให้ใช้คำไทยว่า “คณะพรรค” เพื่อถ่ายทอดคำอังกฤษ “Political Party” หรือที่ย่นย่อว่า “Party”

ส่วนทางราชการได้รับรองใช้คำว่า “คณะพรรค” เพื่อเรียกองค์การหรือสมาคมการเมืองตั้งแต่ประกาศใช้รัฐธรรมนูญฉบับ ๙ พฤษภาคม ๒๔๘๙ ดังปรากฏในมาตรา ๑๔ มีความว่า

“บุคคลย่อมมีเสรีภาพ... การตั้งคณะพรรคการเมือง…”

ต่อมารัฐธรรมนูญฉบับ ๒๔ มีนาคม ๒๔๙๒ มาตรา ๓๙ ได้เปลี่ยนคำว่า “คณะพรรคการเมือง” ของรัฐธรรมนูญฉบับ ๒๔๘๙ เป็น “พรรคการเมือง” คือตัดคำว่า “คณะ” ที่นำหน้าคำว่า “พรรค” ออกไปจึงเป็นอันว่าคำว่า “พรรคการเมือง” เพิ่งเริ่มใช้เป็นทางการเมื่อ พ.ศ. ๒๔๙๒


ข้อสังเกต

(ก) ตามประวัติคำไทย “คณะ”, “พรรค” ดังกล่าวมาแล้วนั้น ชื่อของคณะราษฎรที่ตั้งขึ้นในสมัยที่ปทานุกรมของกระทรวงธรรมการและรัฐธรรมนูญไทยยังมิได้ใช้คำว่า “พรรค” เพื่อหมายเรียกองค์การหรือพรรคการเมืองนั้น จึงหมายถึงพรรคการเมืองที่ใช้ชื่อว่า “ราษฎร” เอกสารภาษาอังกฤษสมัยนั้นเรียกคณะราษฎรว่า “People's Party”

(ข) สารานุกรมจีนชื่อ “ซือเจี่ยจือซือเหนียนเจี้ยน” ที่แปลว่า “ความรู้แห่งโลกประจำปี” และสารานุกรมจีนชื่อ “ซือเจี่ยจือซื่อ” ที่แปลว่า “ความรู้แห่งโลก” พิมพ์ที่ปักกิ่งติดต่อกันมาหลายปีนั้นได้เรียกองค์การหรือพรรคการเมืองเป็นภาษาจีนว่า “ตั่ง” เช่น “เสียนโหลก้งฉานตั่ง”, “ไท้กั๊วะก้งฉานตั่ง” ต่อมาภายหลังสงครามโลกครั้งที่ ๒ มีผู้แปล “เสียนโหลก้งฉานตั่ง” ว่า “พรรคคอมมิวนิสต์แห่งสยาม” ที่อ้างว่าตั้งขึ้นในสยามตั้งแต่ ค.ศ. ๑๙๒๗ (พ.ศ. ๒๔๗๐) และแปล “ไท้กั๊วะก้งฉานตั่ง” ที่อ้างว่าตั้งขึ้นเมื่อ ค.ศ. ๑๙๔๒ (พ.ศ. ๒๔๘๕) นั้นว่า “พรรคคอมมิวนิสต์แห่งประเทศไทย” จึงมีปัญหาว่าโดยเหตุที่คำไทย “พรรค” เพิ่งมีผู้นำเอามาใช้เรียกคณะหรือพรรคการเมืองดังที่ผมได้กล่าวใน ๑.๔.๑ (๑) และ (๒) นั้นซึ่งเป็นเวลาหลายปีหลังจากที่องค์การทั้งสองนั้นอ้างว่าได้ตั้งขึ้นในสยามหรือประเทศไทยแล้ว ดังนั้นองค์การทั้งสองจะแปลชื่อองค์การของตนเป็นภาษาไทยโดยวิธีทับศัพท์จีน “ตั่ง” หรือใช้คำไทยว่าอะไร ?

๑.๔.๒ เหตุที่ใช้คำว่า “ราษฎร” เป็นชื่อของคณะ

ในการที่ผมเสนอให้คณะใช้ชื่อของคณะว่า “คณะราษฎร” นั้นก็เพราะผู้ก่อการฯ ทุกคนเป็นราษฎรไทยแท้จริง และสมาชิกของคณะราษฎรทั้งหลายยอมอุทิศตนและความเหนื่อยยากเพื่อราษฎรให้บรรลุถึงซึ่งประชาธิปไตย ดังที่นักประชาธิปไตยส่วนมากย่อมทราบว่าประธานาธิบดีลินคอล์นได้สรุปคำว่า “ประชาธิปไตย” ไว้อย่างเหมาะสมว่า “รัฐบาลของราษฎร, โดยราษฎร, เพื่อราษฎร

๑.๔.๓ คำว่า "ผู้ก่อการฯ"

ผมได้เสนอที่ประชุมก่อตั้งเห็นชอบด้วยว่า ในการก่อตั้ง “คณะ” หรือ “สมาคมการเมือง” นั้นจะต้องมี “ผู้ก่อการ” ที่ในภาษาอังกฤษเรียกว่า “Promoters” ซึ่งประกอบเป็นกองหน้าของราษฎร เราจึงตกลงกันจำแนกสมาชิกคณะราษฎรออกเป็น ๓ ประเภท คือ

ดี ๑ ได้แก่บุคคลที่สมควรได้รับคำชักชวนให้เข้าร่วมเป็นสมาชิกคณะราษฎรก่อนวันลงมือยึดอำนาจรัฐ

ดี ๒ ได้แก่บุคคลที่จะได้รับคำชักชวนต่อเมื่อได้ลงมือปฏิบัติในการยึดอำนาจรัฐแล้ว

ดี ๓ ได้แก่บุคคลที่จะได้รับคำชักชวนในวันลงมือปฏิบัติการยึดอำนาจนั้นภายหลังที่การยึดอำนาจรัฐได้มีท่าที่แสดงว่าจะเป็นผลสำเร็จมากกว่าเป็นความไม่สำเร็จ

ผมได้ชี้แจงไว้ในหนังสือของผมชื่อ “บางเรื่องเกี่ยวกับการก่อตั้งคณะราษฎร และระบอบประชาธิปไตย” พิมพ์ครั้งแรกเมื่อ พ.ศ. ๒๕๑๕ มีความดังต่อไปนี้

“๒. การที่คณะราษฎรเรียกสมาชิกประเภท ดี ๑ ว่า “ผู้ก่อการเปลี่ยนแปลงการปกครอง” หรือโดยย่นย่อว่า “ผู้ก่อการฯ” นั้นก็แสดงอยู่ในตัวแล้วว่า บุคคลประเภทนี้เป็นเพียงกองหน้า (Vanguard) ของมวลราษฎรที่มีความต้องการเสรีภาพและความเสมอภาคยิ่งกว่าระบอบสมบูรณาญาสิทธิราชย์”

(๓) การผูกขาดชื่อแห่งพรรคการเมืองนั้น เคยปรากฏครั้งหนึ่ง ณ ที่ประชุมคอมมิวนิสต์สากลภายหลังที่สตาลินตายแล้ว พรรคคอมมิวนิสต์โซเวียตได้กลับคืนเป็นมิตรกับสันนิบาตคอมมิวนิสต์ยูโกสลาเวียซึ่งได้รับเชิญให้เข้าร่วมประชุมด้วย นายหวูซิ๋วฉวน กรรมการกลางพรรคคอมมิวนิสต์จีนได้คัดค้านว่า สันนิบาตคอมมิวนิสต์ยูโกสลาเวียมิใช่คอมมิวนิสต์ แต่ฉกชิงคำว่า “คอมมิวนิสต์” ไปใช้เป็นชื่อของพรรคตนแสดงว่ากรรมการกลางของพรรคคอมมิวนิสต์จีนคนนั้นผูกขาดการใช้ชื่อคอมมิวนิสต์ไว้เฉพาะของพวกตนเท่านั้น

๒. วัตถุประสงค์ของคณะราษฎร

วัตถุประสงค์ของคณะราษฎร คือ

(๑) เปลี่ยนการปกครองจากระบอบสมบูรณาญาสิทธิราชย์มาเป็นระบอบราชาธิปไตยภายใต้รัฐธรรมนูญประชาธิปไตย

(๒) พัฒนาชาติไทยตามหลัก ๖ ประการ

๒.๑ เปลี่ยนการปกครองจากระบอบสมบูรณาญาสิทธิราชย์มาเป็นระบอบประชาธิปไตย ภายใต้รัฐธรรมนูญประชาธิปไตย

ก่อนอื่นขอให้ท่านทั้งหลายระลึกว่า การปกครองแผ่นดินสยามตามระบอบสมบูรณาญาสิทธิราชย์นั้นไม่มีบทกฎหมายกำหนดอำนาจการปกครองแผ่นดิน เพราะพระมหากษัตริย์ทรงอยู่เหนือกฎหมายมีพระราชอำนาจเด็ดขาดในการปกครองแผ่นดินตามพระราชอัธยาศัย

ดังนั้นเมื่อวันที่ ๒๔ มิถุนายน ๒๔๗๕ คณะราษฎรจึงได้ยึดอำนาจรัฐเพื่อเปลี่ยนการปกครองจากระบอบสมบูรณาญาสิทธิราชย์มาเป็นระบอบประชาธิปไตยภายใต้รัฐธรรมนูญประชาธิปไตยเป็นขั้นๆ ตามลำดับต่อไปนี้

๒.๑.๑ วันที่ ๒๖ มิถุนายน นั้น คณะราษฎรได้ส่งคณะผู้แทนเข้าเฝ้าขอพระราชทาน “ธรรมนูญการปกครองแผ่นดินตามที่คณะราษฎรได้ร่างถวาย” พระมหากษัตริย์ทรงรับไว้พิจารณา

ต่อมาเมื่อวันที่ ๒๗ เดือนนั้น ขณะที่พระบาทสมเด็จพระปกเกล้าฯ ยังทรงมีพระราชอำนาจสมบูรณ์ทำการแทนปวงชนชาวสยามได้นั้น ได้ทรงพระกรุณาโปรดเกล้าฯ ลงพระปรมาภิไธยพระราชทานธรรมนูญการปกครองแผ่นดินฉบับที่กล่าวถึงข้างบนนั้นโดยทรงเติมคำว่า “ชั่วคราว” ไว้ต่อท้ายคำว่า “ธรรมนูญการปกครองแผ่นดิน” ทั้งนี้มีพระราชกระแสรับสั่งแก่คณะราษฎรว่าให้ใช้รัฐธรรมนูญฯ นั้นไปชั่วคราวก่อน แล้วให้เสนอสภาผู้แทนราษฎรตั้งอนุกรรมการร่างรัฐธรรมนูญฯ ฉบับถาวรขึ้นใช้ต่อไป

ข้อสังเกต

(๑) ธรรมนูญการปกครองแผ่นดินชั่วคราวฉบับ ๒๗ มิถุนายน ๒๔๗๕ จึงตราขึ้นโดยถูกต้องทั้งทางนิตินัยและพฤตินัยตามหลักนิติศาสตร์ทุกประการ ซึ่งต่างกับธรรมนูญและรัฐธรรมนูญหลายฉบับที่เป็นโมฆะ

(๒) ธรรมนูญฯ ฉบับ ๒๗ มิถุนายน ๒๔๗๕ ได้สถาปนาระบอบราชาธิปไตยภายใต้รัฐธรรมนูญประชาธิปไตยในระยะหัวต่อระหว่างระบอบสมบูรณาฯ ที่ปกครองสยามเป็นเวลาหลายพันปี กับระบอบประชาธิปไตยที่เพิ่งเริ่มเกิดขึ้น (ดูรายละเอียดในธรรมนูญฉบับนั้น)

๒.๑.๒ (๑) รุ่งขึ้นวันที่ ๒๘ เดือนนั้นสภาผู้แทนราษฎรที่ได้รับแต่งตั้งตามธรรมนูญฯ ชั่วคราวฉบับ ๒๗ มิถุนายน ได้มีการประชุมครั้งแรก ปรากฏรายงานการประชุมสภาผู้แทนราษฎรครั้งที่ ๑/๒๔๗๕ ว่า ในบรรดาระเบียบวาระหลายประการนั้นมีระเบียบวาระสำคัญประการหนึ่ง คือระเบียบวาระที่จะต้องตั้งอนุกรรมการร่างพระราชบัญญัติธรรมนูญการปกครองแผ่นดินใหม่ให้เรียบร้อยบริบูรณ์ มีความตามรายงานการประชุม ดังต่อไปนี้

“๙. เจ้าพระยาธรรมศักดิ์มนตรี (ประธานสภาฯ) กล่าวว่า บัดนี้ถึงระเบียบวาระที่จะต้องตั้งอนุกรรมการร่างพระราชบัญญัติธรรมนูญการปกครองแผ่นดินใหม่ให้เรียบร้อยบริบูรณ์”

"หลวงประดิษฐ์มนูธรรมแถลงต่อไปนี้ว่าธรรมนูญการปกครองแผ่นดินฉบับนี้เป็นธรรมนูญชั่วคราวเพราะว่าเราได้สร้างขึ้นด้วยเวลาฉุกละหุกกะทันหัน อาจจะยังมีที่บกพร่องอยู่บ้างก็ได้ จึ่งควรที่จะได้มีผู้มีความรู้ความชำนาญในการนี้เป็นอนุกรรมการตรวจแก้ไขเพิ่มเติมเสียใหม่ให้เรียบร้อยบริบูรณ์”

“เจ้าพระยาธรรมศักดิ์มนตรีกล่าวว่า ถ้ากระนั้นขอให้ท่านเลือกผู้ควรเป็นอนุกรรมการขึ้นชุดหนึ่ง แล้วจะได้มอบให้ร่างธรรมนูญการปกครองแผ่นดินนี้แก้ไขเพิ่มเติมต่อไป

ที่ประชุมตกลงเลือก

พระยามโนปกรณ์นิติธาดา
พระยาเทพวิทุรพหุลศรุตาบดี
พระยามานวราชเสวี
พระยานิติศาสตร์ไพศาลย์
พระยาปรีดานฤเบศร์
หลวงประดิษฐ์มนูธรรม
หลวงสินาดโยธารักษ์
๗ นายนี้เป็นอนุกรรมการ”

ต่อมาสภาฯ ได้ลงมติตั้งคณะอนุกรรมการเพิ่มอีก ๒ นายคือ พลเรือโทพระยาราชวังสัน และพระยาศรีวิสารวาจา

ผู้สอนและผู้ศึกษาประวัติรัฐธรรมนูญของประเทศไทยที่อาศัยเอกสารหลักฐาน (Authenetic document) เป็นหลัก แทนที่จะสอนหรือศึกษาจากคำบอกเล่า (หรือสอนจากเรื่องที่กฎหมายลักษณะพยานอังกฤษเรียกว่า “Hearsay”) นั้น ก็คงจะให้ความเป็นธรรมแก่คณะราษฎรว่าในบรรดารายชื่ออนุกรรมการร่างรัฐธรรมนูญ ๙ คนนั้น มีสมาชิกคณะราษฎรเพียงคนเดียว คือ “หลวงประดิษฐ์มนูธรรม” ส่วนอีก ๘ คนเป็นผู้ทรงคุณวุฒิที่มิใช่สมาชิกคณะราษฎร ฉะนั้นการที่ผู้สอนบางคนได้สอนให้สานุศิษย์ของตนหลงเข้าใจว่าการร่างธรรมนูญฯ ซึ่งต่อมาเรียกชื่อว่า “รัฐธรรมนูญแห่งราชอาณาจักรสยาม” (ฉบับ พ.ศ. ๒๔๗๕) ได้เป็นไปตามความประสงค์ของหลวงประดิษฐ์มนูธรรม (ปรีดี พนมยงค์) นั้น จึงเป็นการสอนที่บิดเบือนความจริงคือ ประการที่หนึ่ง ในทางปฏิบัตินั้น หลวงประดิษฐ์มนูธรรมคนเดียวไม่สามารถที่จะบังคับหรือใช้อิทธิพลต่อผู้ทรงคุณวุฒิอีก ๘ คนให้ต้องยอมตามความเห็นของหลวงประดิษฐ์ฯ คนเดียวได้ ประการที่สองพระยามโนปกรณ์ฯ ประธานคณะกรรมการร่างรัฐธรรมนูญฯ ก็ได้แถลงต่อสภาผู้แทนราษฎรเมื่อวันศุกร์ที่ ๒๕ พฤศจิกายน ๒๔๗๕ ว่าธรรมนูญฯ ซึ่งต่อมาเรียกว่า “รัฐธรรมนูญฉบับ ๒๔๗๕” นั้น ได้มีการติดต่อกับพระบาทสมเด็จพระเจ้าอยู่หัวรัชกาลที่ ๗ ซึ่งปรากฏในรายงานการประชุมสภาผู้แทนราษฎรเมื่อวันที่ ๒๕ พฤศจิกายน ๒๔๗๕ ดังต่อไปนี้

“อนึ่ง ข้าพเจ้า (พระยามโนฯ) ขอเสนอด้วยว่า ในการร่างพระธรรมนูญนี้ อนุกรรมการได้ติดต่อกับสมเด็จพระเจ้าอยู่หัวตลอดเวลา จนถึงอาจจะกล่าวได้ว่าได้ร่วมมือกันทำข้อความตลอด ในร่างที่เสนอมานี้ ได้ทูลเกล้าฯ ถวายและทรงเห็นชอบด้วยทุกประการแล้ว และที่กล่าวได้ว่าทรงเห็นชอบนั้น ไม่ใช่แต่เพียงทรงเห็นชอบด้วยอย่างข้อความที่กราบบังคมทูลเกล้าขึ้นไป ยิ่งกว่านั้น เป็นที่พอพระราชหฤทัยมาก บัดนี้ ข้าพเจ้าขอโอกาสกล่าวถึงข้อความในรัฐธรรมนูญนี้บ้าง เพียงเป็นข้อความนำความคิดของท่านทั้งหลายที่จะไปพิจารณาและจะได้มาโต้เถียงกันในวันหน้า”

(๒) ท่านที่สอนและท่านที่ศึกษาตัวบทรัฐธรรมนูญฉบับ ๑๐ ธันวาคม ๒๔๗๕ ย่อมพบว่ามาตรา ๑๖ อันเป็นบทถาวรของรัฐธรรมนูญฉบับนั้นได้บัญญัติไว้ว่า

“สภาผู้แทนราษฎรประกอบด้วยสมาชิกซึ่งราษฎรเป็นผู้เลือกตั้งขึ้น”

ทั้งนี้แสดงว่าบทถาวรของรัฐธรรมนูญฉบับนั้นเป็นไปตามระบอบประชาธิปไตยดังกล่าวมาแล้ว คือ สมาชิกผู้แทนราษฎรเป็นผู้ที่ราษฎรเลือกตั้งขึ้น มิใช่โดยการแต่งตั้ง

(๓) รัฐสภาตามระบบรัฐธรรมนูญฉบับนั้นประกอบด้วยสภาผู้แทนราษฎรสภาเดียวโดยมิได้มีพฤฒสภาหรือวุฒิสภา

(๔) ประธานอนุกรรมการร่างรัฐธรรมนูญฉบับ ๑๐ ธ.ค. ๒๔๗๕ ได้แถลงชี้แจงตามที่ปรากฏในรายงานการประชุมสภาฯ เมื่อวันที่ ๒๕ พฤศจิกายน ๒๔๗๕ ดังต่อไปนี้

“หมวด ๗ เป็นบทเฉพาะกาล ในพระราชบัญญัติธรรมนูญชั่วคราวกำหนดเวลาไว้เป็น ๓ สมัย คือ สมัย ๑ สมัย ๒ สมัย ๓ บทเฉพาะกาลนี้เป็นบทที่บัญญัติเฉพาะระหว่างเวลาที่ก่อนถึงสมัยที่ ๓ อันเป็นสมัยสุดท้าย ความสำคัญของหมวดนี้มีอยู่ในมาตรา ๖๕ บัญญัติลักษณะแห่งการก่อตั้งสภาขึ้นให้มีสมาชิกประเภทที่ ๑ ราษฎรเลือกตั้งขึ้น สมาชิกประเภทที่ ๒ พระมหากษัตริย์ทรงตั้งขึ้น ที่มีสมาชิก ๒ ประเภทนี้ก็เพราะเหตุว่าเราพึ่งมีรัฐธรรมนูญขึ้น ความคุ้นเคยในการปฏิบัติการตามรัฐธรรมนูญยังไม่แพร่หลายทั่วถึง ฉะนั้นจึ่งให้มีสมาชิกประเภทซึ่งเห็นว่าเป็นผู้คุ้นเคยการงาน และช่วยพยุงกิจการ ทำร่วมมือกันไปกับสมาชิกประเภทที่ ๑ ที่ราษฎรเลือกตั้งมา

การทำเช่นนี้ ถ้าแม้เราอ่านรัฐธรรมนูญที่มีใหม่แล้ว มีอย่างนี้เสมอ เมื่อต่อไปสมาชิกที่ราษฎรเลือกตั้งขึ้นทำงานไปได้เองแล้วก็จักดำเนินการต่อไป”

อนึ่ง ก่อนแถลงต่อสภาฯ พระยามโนฯ ได้แจ้งให้คณะรัฐมนตรีทราบว่าพระบาทสมเด็จพระเจ้าอยู่หัว ทรงเห็นชอบด้วยที่ให้มีบทเฉพาะกาลดังกล่าว โดยรับสั่งว่าการเปลี่ยนแปลงการปกครองจากระบอบสมบูรณาฯ มาเป็นการปกครองที่มีพระมหากษัตริย์อยู่ใต้กฎหมายรัฐธรรมนูญฯ นั้นเป็นการ “เปลี่ยนหลักมูลสำคัญ” ของระบอบปกครองแผ่นดิน ฉะนั้นจึงต้องมีเวลาพอสมควรที่ระบอบใหม่จะรับช่วงต่อไปโดยเรียบร้อยได้

มาตรา ๖๕ แห่งบทเฉพาะกาลของรัฐธรรมนูญ ๑๐ ธันวาคม ๒๔๗๕ มีความดังต่อไปนี้

“มาตรา ๖๕ เมื่อราษฎรผู้มีสิทธิออกเสียงเลือกตั้งสมาชิกสภาผู้แทนราษฎรตามบทบัญญัติแห่งรัฐธรรมนูญนี้ ยังมีการศึกษาไม่จบประถมศึกษาสามัญมากกว่ากึ่งจำนวนทั้งหมดและอย่างช้าต้องไม่เกินกว่าสิบปี นับแต่วันใช้พระราชบัญญัติธรรมนัูญการปกครองแผ่นดินสยามชั่วคราว พ.ศ. ๒๔๗๕ สภาผู้แทนราษฎรประกอบด้วยสมาชิก ๒ ประเภทมีจำนวนเท่ากัน

(๑) สมาชิกประเภทที่ ๑ ได้แก่ผู้ที่ราษฎรเลือกตั้งขึ้นตามเงื่อนไขในบทบัญญัติมาตรา ๑๖ และ ๑๗

(๒) สมาชิกประเภทที่ ๒ ได้แก่ผู้ซึ่งพระมหากษัตริย์ทรงตั้งขึ้นตามพระราชบัญญัติว่าด้วยการเลือกตั้งสมาชิกผู้แทนราษฎรในระหว่างเวลาที่ใช้บทเฉพาะกาลในรัฐธรรมนูญแห่งราชอาณาจักรสยาม พุทธศักราช ๒๔๗๕”

๒.๑.๓ เมื่อวันที่ ๑๕ สิงหาคม พ.ศ. ๒๔๘๓ ขุนบุรัสการกิตติคดีผู้แทนราษฎร (ประเภทที่ ๑) แห่งจังหวัดอุบลราชธานี ซึ่งมีสมาชิกราษฎรประเภทที่ ๑ จำนวนไม่ต่ำกว่า ๑ ใน ๔ แห่งจำนวนสมาชิกสภาผู้แทนราษฎรทั้งหมดเป็นผู้รับรอง โดยอ้างเหตุจำเป็นหลายประการเพื่อความมั่นคงของประเทศ ได้เสนอบัญญัติแก้ไขบทเฉพาะกาลแห่งรัฐธรรมนูญจาก ๑๐ ปี เป็น ๒๐ ปี

รัฐบาลสมัยนั้น (จอมพล ป.พิบูลฯ เป็นนายกรัฐมนตรี) เห็นว่าสงครามใหญ่ในยุโรปได้เกิดขึ้นแล้วตั้งแต่ ค.ศ. ๑๙๓๙ (พ.ศ. ๒๔๘๒) และสงครามที่ญี่ปุ่นทำต่อประเทศจีนได้ลุกลามมาถึงอินโดจีนนั้น กำลังขยายตัวที่จะเข้ามาถึงประเทศไทย ฉะนั้นจึงห็นด้วยกับญัตติของผู้แทนราษฎรประเภทที่ ๑ ดังกล่าวนั้น

ที่ประชุมสภาผู้แทนราษฎรลงมติรับหลักการแก้ไขรัฐธรรมนูญดังกล่าวด้วยคะแนนเสียงไม่ต่ำกว่า ๓ ใน ๔ แห่งจำนวนสมาชิกทั้งหมดและพิจารณาต่อไปตามวิธีการแก้ไขรัฐธรรมนูญตามที่บัญญัติไว้ในรัฐธรรมนูฉบับนั้นมาตรา ๖๓ แล้วประกาศใช้เป็นกฎหมายเมื่อวันที่ ๑๙ กันยายน พ.ศ. ๒๔๘๓

๒.๑.๔ เมื่อบทเฉพาะกาลดังกล่าวแล้วได้ใช้มาถึงปีที่ ๑๔ ก็ได้เลิกไป ดังปรากฏความในพระราชปรารภของรัฐธรรมนูญแห่งราชอาณาจักรไทย ฉบับ ๒๔๘๙ ดังต่อไปนี้

“ต่อมานายปรีดี พนมยงค์ ซึ่งดำรงตำแหน่งผู้สำเร็จราชการแทนพระองค์ในขณะนั้นได้ปรารภกับนายควง อภัยวงศ์ นายกรัฐมนตรีว่ารัฐธรรมนูญแห่งราชอาณาจักรไทยนี้ พระมหากษัตริย์ได้พระราชทานแก่ชนชาวไทยมาแล้วเป็นปีที่ ๑๔ ถึงแม้ว่าการปกครองระบอบประชาธิปไตยอันมีรัฐธรรมนูญเป็นหลักนี้ จะได้ยังความเจริญให้เกิดแก่ประเทศชาตินับเป็นอเนกประการ ทั้งประชาชนจะได้ซาบซึ้งถึงคุณประโยชน์ของการปกครองระบอบนี้อย่างดีแล้วก็จริง แต่เหตุการณ์บ้านเมืองก็ได้เปลี่ยนแปลงไปมาก ถึงเวลาแล้วที่ควรจะได้เลิกบทเฉพาะกาลอันมีอยู่ในรัฐธรรมนูญนั้น และปรับปรุงแก้ไขเพิ่มเติมรัฐธรรมนูญแห่งราชอาณาจักรไทย นายกรัฐมนตรีจึงนำความนั้นปรึกษาหารือกับสมาชิกสภาผู้แทนราษฎรประเภทที่ ๒ พร้อมกับคณะผู้ก่อการฯ ขอพระราชทานรัฐธรรมนูญ เมื่อได้ปรึกษาตกลงกันแล้วรัฐบาลคณะนายควง อภัยวงศ์ จึงเสนอญัตติต่อสภาผู้แทนราษฎร เมื่อวันที่ ๒๙ กรกฎาคม พุทธศักราช ๒๔๘๘ ขอให้ตั้งกรรมาธิการวิสามัญคณะหนึ่ง เพื่อพิจารณาค้นคว้าตรวจสอบว่ารัฐธรรมนูญแห่งราชอาณาจักรไทยนี้ สมควรได้รับการปรับปรุงแก้ไขเพิ่มเติมอย่างไรเพื่อให้เหมาะสมกับสถานการณ์ของบ้านเมืองและเพื่อให้การปกครองระบอบประชาธิปไตยเป็นหลักสมบูรณ์ยิ่งขึ้น

สภาผู้แทนราษฎรจึ่งตั้งกรรมาธิการวิสามัญคณะหนึ่งเพื่อพิจารณาค้นคว้าตรวจสอบรัฐธรรมนูญตามคำเสนอข้างต้น กรรมาธิการคณะนี้ได้ทำการตลอดสมัยของรัฐบาลคณะนายควง อภัยวงศ์ คณะนายทวี บุณยเกตุ และคณะหม่อมราชวงศ์เสนีย์ ปราโมช

ต่อมาคณะรัฐบาลหม่อมราชวงศ์เสนีย์ ปราโมช ได้ตั้งกรรมการขึ้นคณะหนึ่งเพื่อรวบรวมความเห็นและเรียบเรียงบทบัญญัติขึ้นเป็นร่างรัฐธรรมนูญ เมื่อกรรมการคณะนี้ทำสำเร็จเรียบร้อยแล้ว คณะรัฐมนตรีได้พิจารณาแก้ไขอีกชั้นหนึ่ง แล้วนำเสนอผู้สำเร็จราชการแทนพระองค์ ผู้สำเร็จราชการแทนพระองค์ได้ประชุมปรึกษาหารือสมาชิกสภาผู้แทนราษฎรประเภทที่ ๒ และคณะผู้ก่อการฯ ขอพระราชทานรัฐธรรมนูญที่ประชุมได้ตั้งกรรมการขึ้นพิจารณา เมื่อกรรมการได้ตรวจพิจารณาแก้ไขแล้ว สมาชิกสภาผู้แทนราษฎรประเภทที่ ๒ จึงได้เสนอญัตติขอแก้ไขเพิ่มเติมรัฐธรรมนูญแห่งราชอาณาจักรไทยต่อสภาผู้แทนราษฎร เมื่อสภาผู้แทนราษฎรพิจารณารับหลักการแล้ว จึงตั้งกรรมาธิการวิสามัญขึ้นคณะหนึ่ง

บัดนี้คณะกรรมการวิสามัญของสภาผู้แทนราษฎรได้พิจารณาและแก้ไขเพิ่มเติมบทบัญญัติแห่งร่างรัฐธรรมนูญสำเร็จเรียบร้อยแล้ว เสนอต่อสภาผู้แทนราษฎร สภาผู้แทนราษฎรได้พิจารณาเป็นการสำเร็จบริบูรณ์จึ่งได้ทูลเกล้าทูลกระหม่อมถวาย เมื่อทรงพระราชวิจารณ์ถี่ถ้วนกระบวนความแล้ว ทรงพระราชดำริเห็นว่า ประชากรของพระองค์ประกอบด้วยวุฒิปรีชาในรัฐาภิบาลนโยบายสามารถจรรโลงประเทศชาติของตนในอันที่จะก้าวไปสู่สากล อารยธรรมแห่งโลกได้โดยสวัสดี

จึ่งที่มีพระบรมราชโองการดำรัสเหนือเกล้าเหนือกระหม่อม โดยคำแนะนำและยินยอมของสถาผู้แทนราษฎร ให้ตรารัฐธรรมนูญแห่งราชอาณาจักรไทยฉบันนี้ขึ้นไว้ ประสิทธิ์ประสาทประกาศให้ใช้ตั้งแต่วันที่ ๑๐ พฤษภาคม ๒๔๘๙ เป็นต้นไป และให้ใช้รัฐธรรมนูญฉบับที่ได้แก้ไขเพิ่มเติมนี้แทนรัฐธรรมนูญแห่งราชอาณาจักรไทย พุทธศักราช ๒๔๗๕ รัฐธรรมนูญแก้ไขเพิ่มเติมว่าด้วยนามประเทศ พุทธศักราช ๒๔๘๒ รัฐธรรมนูญแก้ไขเพิ่มเติมว่าด้วยบทเฉพาะกาล พุทธศักราช ๒๔๘๓ และ รัฐธรรมนูญแก้ไขเพิ่มเติมว่าด้วยการเลือกตั้งสมาชิกสภาผู้แทนราษฎร พุทธศักราช ๒๔๘๕”

(๑) รัฐธรรมนูญฉบับ ๙ พฤษภาคม ๒๔๘๙ ได้บัญญัติให้รัฐสภาประกอบด้วย “พฤฒสภา” (Senate) กับ “สภาผู้แทน”

สมาชิกพฤฒสภาและสมาชิกผู้แทนเป็นผู้ที่ราษฎรเลือกตั้งขึ้น มิใช่โดยการแต่งตั้ง จึงเป็นผู้แทนของปวงชนอย่างสมบูรณ์ในการแสดงมิตรแทนปวงชนในสภาฯ และรัฐสภาดังกล่าวนั้น ฉะนั้นรัฐธรรมนูญฉบับ ๒๔๘๙ จึงเป็นรัฐธรรมนูญประชาธิปไตยตามลักษณะแห่งความเป็น “ประชาธิปไตยสมบูรณ์” ตามที่พจนานุกรมฉบับราชบัณฑิตยสถานได้นิยามคำว่า “ประชาธิปไตย” ไว้ว่า “ระบอบการปกครองที่ถือมติปวงชนเป็นใหญ่”

(๒) มาตรา ๒๔ แห่งรัฐธรรมนูญ ๒๔๘๙ ได้บัญญัติไว้ดังต่อไปนี้

“พฤฒสภาประกอบด้วยสมาชิกที่ราษฎรเลือกตั้งมีจำนวนแปดสิบคน (๘๐)”

“สมาชิกพฤฒสภาต้องไม่เป็นข้าราชการประจำ”

“การเลือกตั้งสมาชิกพฤฒสภา ให้ใช้วิธีลงคะแนนออกเสียงโดยทางอ้อมและลับ”


หมายเหตุ

(ก) นอกจากสมาชิกพฤฒสภาเป็นผู้แทนที่ราษฎรเลือกตั้งขึ้นแล้ว รัฐธรรมนูญฉบับ ๒๔๘๙ ยังได้กำหนดไว้ว่า “สมาชิกพฤฒสภาต้องไม่เป็นข้าราชการประจำ” ทั้งนี้เพื่อป้องกันรัฐบาลสั่งข้าราชการที่อยู่ต้องอยู่ใต้บังคับบัญชาของรัฐบาลลงสมัครเป็นสมาชิกพฤฒสภา ซึ่งจะทำให้รัฐบาลที่เป็นฝ่ายบริหารมีอำนาจเหนือพฤฒสภาซึ่งเป็นฝ่ายปฏิบัตินิติบัญญัติ อันจะเป็นการทำลายหลักการซึ่งจะขัดต่อประชาธิปไตย

(ข) จำนวนสมาชิกพฤฒสภานั้นกำหนดไว้ให้มีเพียง “แปดสิบ (๘๐) คน” คือ เป็นจำนวนต่ำกว่ากึ่งหนึ่งของจำนวนสมาชิกสภาผู้แทน ๑๗๘ คน ที่ได้รับเลือกตั้งตามหลักเกณฑ์แห่งมาตรา ๙๑ ของรัฐธรรมนูญฉบับ ๒๔๘๙

(ค) ส่วนรัฐธรรมนูญฉบับ ๒๔๙๒ ซึ่งเป็นแม่บทของรัฐธรรมนูญฉบับ ๒๕๑๗ ที่มีผู้โฆษณาชวนเชื่อว่าเป็นรัฐธรรมนูญที่เป็นประชาธิปไตยยิ่งกว่ารัฐธรรมนูญใดๆ ของไทยนั้น ได้บัญญัติให้สมาชิกวุฒิสภาเป็นผู้ที่ได้รับการแต่งตั้ง มิใช่เป็นที่ผู้ที่ราษฎรเลือกตั้ง

แม้กระนั้นก็ยังได้กำหนดให้วุฒิสมาชิกมีจำนวน ๑๐๐ คน จึงเป็นผลว่าในระยะเริ่มแรกของรัฐธรมนูญฉบับ ๒๔๙๒ นั้น วุฒิสภามีจำนวนมากกว่าสมาชิกผู้แทน ๑ คน เพราะบทเฉพาะกาลของฉบับ ๒๔๙๒ นั้นให้สมาชิกสภาผู้แทน ๙๙ คน (ที่ได้รับเลือกตั้งตามหลักเกณฑ์ของรัฐธรรมนูญชั่วคราวฉบับ ๙ พ.ย. ๒๔๙๑ ซึ่ง “คณะรัฐประหาร ๘ พ.ย.” เป็นผู้จัดทำขึ้นมีฉายาว่า “รัฐธรรมนูญฉบับใต้ตุ่ม”) นั้นเป็นสมาชิกสภาผู้แทนต่อไปตามรัฐธรรมนูญฉบับ ๒๔๙๒ ด้วย และแม้ต่อมาจะได้มีการเลือกตั้งสมาชิกสภาผู้แทนเพิ่มขึ้นตามหลักเกณฑ์ของรัฐธรรมนูญฉบับนั้นก็ดี แต่จำนวนที่เลือกตั้งเพิ่มขึ้นก็มีเพียงจำนวน ๒๑ คน เมื่อรวมกับ ๙๙ คน ที่โอนมาจาก “ฉบับใต้ตุ่ม” แล้ว จำนวนสมาชิกสภาผู้แทนตามฉบับ ๒๔๙๑ ก็มีจำนวน ๑๒๐ คือ มากกว่าวุฒิสมาชิกเพียง ๒๐ คนเท่านั้น

(๓) เมื่อได้ประกาศใช้รัฐธรรมนูญประชาธิปไตยสมบูรณ์ฉบับ ๙ พฤษภาคม ๒๔๘๙ ซึ่งคณะราษฎรถือว่า ได้ปฏิบัติหน้าที่สำเร็จตามที่ได้แถลงไว้แก่ราษฎร เมื่อวันที่ ๒๔ มิถุนายน ๒๔๗๕ แล้วคณะราษฎรจึงสลายตัว ผู้ก่อการฯ หรือสมาชิกคณะราษฎรจึงได้แยกย้ายกันไปประกอบอาชีพธุกิจของตนส่วนตัวที่ไม่เกี่ยวข้องกับการเมือง, อีกส่วนหนึ่งสมัครใจรับใช้ชาติทางการเมือง โดยสังกัดพรรคการเมืองต่างๆ ตามทัศนคติของแต่ละคน อาทิ นายควง อภัยวงศ์กับเพื่อนส่วนหนึ่งสังกัดพรรคประชาธิปัตย์, พล.ร.ต.ถวัลย์ ธำรงนาวาสวัสดิ์กับเพื่อนส่วนหนึ่งสังกัดพรรคแนวรัฐธรรมนูญ นายสงวน ตุลารักษ์กับเพื่อนส่วนหนึ่งสังกัดพรรคสหชีพ ฯลฯ ส่วนผมมิได้สังกัดพรรคใด


ข้อสังเกต

ระบอบรัฐธรรมนูญประชาธิปไตย ๒๔๘๙ ได้ใช้มาเพียง ๑ ปี ๕ เดือน ๓๐ วัน เท่านั้น ครั้นแล้วบุคคลคณะหนึ่งที่เรียกว่า “คณะรัฐประหาร” ก็ได้ยึดอำนาจรัฐทำการล้มระบอบประชาธิปไตยที่สถาปนาโดยรัฐธรรมนูญฉบับ ๒๔๘๙

ต่อจากนั้นก็มีบุคคลหรือคณะบุคคลอื่นๆ อีกหลายคณะ หลายกลุ่ม ซึ่งมิใช่คณะราษฎรบริหารราชการแผ่นดินตามระบอบที่แตกต่างกับคณะราษฎร คณะบุคคลหรือบุคคลอื่นๆ ดังกล่าวก็มีชื่อของแต่ละคณะปรากฏแจ้งอยู่แล้ว อาทิ

(๑) คณะรัฐประหาร (๘ พ.ย. ๒๔๙๐)
(๒) คณะบริหารประเทศชั่วคราว (๒๙ พ.ย. ๒๔๙๔)
(๓) คณะทหาร (๑๖ ก.ย. ๒๕๐๐)
(๔) คณะปฏิวัติ (๒๐ ต.ค. ๒๕๐๑)
(๕) คณะปฏิวัติ (๑๗ พ.ย. ๒๕๑๔)
(๖) สมัชชาแห่งชาติ (๑๐ ธ.ค. ๒๕๑๖)
(๗) คณะปฏิรูปการปกครองแผ่นดิน (๖ ต.ค. ๒๕๑๙)
(๘) คณะปฏิวัติ (๒๐ ต.ค. ๒๕๒๐)
(๙) รัฐบาลที่ตั้งขึ้นตามระบอบต่าง ๆ ซึ่งมิได้เป็นไปตามรัฐธรรมนูญประชาธิปไตย

๒.๒ หลัก ๖ ประการของคณะราษฎรที่ได้แถลงต่อมวลราษฎรเมื่อวันที่ ๒๔ มิถุนายน ๒๔๗๕ ซึ่งคณะราษฎรได้ปฏิบัติสำเร็จไปก่อนสลายตัวเมื่อวันที่ ๙ พฤศจิกายน ๒๔๘๙ นั้น มีดังต่อไปนี้

หลักประการที่ ๑ จะต้องรักษาความเป็นเอกราชทั้งหลาย เช่น เอกราชในทางการเมือง ในทางศาล ในทางเศรษฐกิจ ฯลฯ ของประเทศไว้ให้มั่นคง

ผมขอให้ท่านที่สนใจโปรดระลึกถึงฐานะของสยามหรือประเทศไทยก่อน ๒๔ มิถุนายน ๒๔๗๕ ว่าสมัยนั้นประเทศไทยไม่มีความเป็นเอกราชและอธิปไตยสมบูรณ์ เพราะจำต้องทำสนธิสัญญาไม่เสมอภาคกับประเทศทุนนิยมสมัยใหม่ที่เรียกว่า “จักรวรรดินิยม (Imperialism)” หลายประเทศ ที่มีสิทธิพิเศษเหนือประเทศไทยหลายประการ อาทิ คนในบังคับต่างประเทศเหล่านั้นทำผิดในดินแดนประเทศไทย แต่ศาลไทยก็ไม่มีอำนาจตัดสินชำระลงโทษคนทำผิดเหล่านั้น หากรัฐบาลต้องส่งตัวคนต่างประเทศที่ทำผิดให้ศาลกงสุลของต่างประเทศชำระคดี แม้ต่อมาบางประเทศ อาทิ อังกฤษ และฝรั่งเศส ยอมผ่อนผันให้มีศาลต่างประเทศและศาลคดีต่างประเทศซึ่งประกอบด้วยผู้พิพากษาไทยและที่ปรึกษากฎหมายชาวยุโรปร่วมพิจารณาพิพากษาคนในบังคับอังกฤษและฝรั่งเศสนั้นก็ตาม แต่ในสนธิสัญญาก็ได้กำหนดไว้อีกว่าถ้าความเห็นของผู้พิพากษาไทยกับที่ปรึกษากฎหมายชาวยุโรปขัดแย้งกัน ก็ให้ถือเอาความเห็นของที่ปรึกษากฎหมายชาวยุโรปเป็นใหญ่กว่าความเห็นของผู้พิพากษาไทยโดยไม่ต้องคำนึงว่าผู้พิพากษาไทยมีจำนวนมากกว่าที่ปรึกษาชาวยุโรป แม้กระนั้นในสนธิสัญญาก็ยังได้กำหนดไว้อีกว่า คดีที่อยู่ในศาลต่างประเทศมากกว่าที่ปรึกษาชาวยุโรป แม้กระนั้นในสนธิสัญญาก็ยังได้กำหนดไว้อีกว่า คดีที่อยู่ในศาลต่างประเทศนั้นกงสุลอังกฤษก็ยังมีอำนาจที่จะถอนคดีไปชำระที่ศาลกงสุลอังกฤษได้ สถานกงสุลของหลายประเทศมีศาลและมีคุกสำหรับคนในบังคับของตนโดยเฉพาะ และสิทธิพิเศษอื่นๆ ที่เรียกตามศัพท์กฎหมายระหว่างประเทศว่า “สภาพนอกอาณาเขต” (Extraterritoriality)

ส่วนในทางเศรษฐกิจนั้นประเทศจักรวรรดินิยมดังกล่าวมีสิทธิพิเศษตามสนธิสัญญาไม่เสมอภาคคือ ประเทศไทยถูกบังคับให้เก็บภาษีขาเข้าได้ตามที่สนธิสัญญากำหนดไว้คือ เดิมเก็บภาษีขาเข้าได้เพียงร้อยละ ๓ ของราคาสินค้าขาเข้า แม้รัฐบาลสมบูรณาญาสิทธิราชย์ได้มีการแก้ไขสนธิสัญญาให้ได้สิทธิมากขึ้น แต่ยังมีข้อกำหนดอัตราภาษีศุลกากรไว้อีกหลายประการ อีกทั้งจักรวรรดินิยมหลายประเทศได้มีสิทธิพิเศษโดยได้สัมปทานป่าไม้ เหมืองแร่ การเดินเรือ ฯลฯ และมีอำนาจกับอิทธิพลในทางการเมืองเหนือประเทศไทย

ต่อมาใน พ.ศ. ๒๔๘๐ รัฐบาลซึ่งพระยาพหลฯ หัวหน้าคณะราษฎรเป็นนายกรัฐมนตรีนั้น ได้บอกเลิกสนธิสัญญาไม่เสมอภาคกับประเทศจักรวรรดินิยมหลายประเทศดังกล่าวแล้ว ได้มีการเจรจาสนธิสัญญาฉบับใหม่ที่ประเทศไทยได้เอกราชและอธิปไตยสมบูรณ์ทุกประการ

ต่อมาในระหว่างสงครามโลกครั้งที่ ๒ ซึ่งประเทศไทยถูกกองทัพญี่ปุ่นรุกราน สมาชิกคณะราษฎรจำนวนมากก็ได้เป็นสมาชิกขบวนการเสรีไทย ซึ่งได้ร่วมมือกับสัมพันธมิตรในการต่อสู้ญี่ปุ่นผู้รุกราน อันเป็นผลให้สัมพันธมิตรรับรองความเป็นเอกราชของชาติไทย ดังปรากฏตามเอกสารหลักฐานต่างๆ ซึ่งผมได้นำลงพิมพ์ไว้ในหนังสือของผมว่าด้วย “จดหมายของนายปรีดี พนมยงค์ ถึงพระพิศาลสุขุมวิท เรื่องหนังสือจดหมายเหตุของเสรีไทยเกี่ยวกับปฏิบัติการในแคนดี นิวเดลฮี และสหรัฐอเมริกา”

หลักประการที่ ๒ จะต้องรักษาความปลอดภัยในประเทศให้การประทุษร้ายต่อกันลดน้อยลงให้มาก

ผมหวังว่าท่านที่มีใจเป็นธรรมสามารถเปรียบเทียบสถิติการประทุษร้ายต่อกันสมัยก่อนวันที่ ๒๔ มิถุนายน ๒๔๗๕ กับภายหลัง ๒๔ มิถุนายน ปีนั้นว่าจำนวนการประทุษร้ายภายหลังวันที่ ๒๔ มิถุนายน นั้นได้ลดน้อยลงมากเพียงใด และขอให้เปรียบเทียบสถิติการประทุษร้ายภายหลังวันที่ ๘ พฤศจิกายน ๒๔๙๐ อันเป็นวันล้มระบอบประชาธิปไตยตามรัฐธรรมนูญ ๙ พฤษภาคม ๒๔๘๙ เป็นต้นมาจนถึงปัจจุบันนี้ว่าการประทุษร้ายต่อกันได้เพิ่มมากขึ้นขนาดไหน

หลักประการที่ ๓ จะต้องบำรุงความสุขของราษฎรในทางเศรษฐกิจ โดยรัฐบาลใหม่จะหางานให้ราษฎรทุกคนทำ จะวางโครงการเศรษฐกิจแห่งชาติ ไม่ปล่อยให้ราษฎรอดอยาก

ผมหวังว่าหลายคนก็ทราบแล้วว่า ผมในนามของสมาชิกคณะราษฎรส่วนมากได้เสนอเค้าโครงการเศรษฐกิจแห่งชาติตามหลักประการที่ ๓ นั้น แต่ก็เกิดอุปสรรคขัดขวางที่ไม่อาจวางโครงการตามคำโครงการที่ผมได้เสนอนั้นได้ แม้กระนั้นคณะราษฎรก็ได้พยายามที่จะบำรุงความสุขสมบูรณ์ของราษฎรในทางเศรษฐกิจ โดยหางานให้ราษฎรจำนวนมากได้ทำ จึงไม่ปล่อยให้ราษฎรอดอยาก ขอให้ท่านที่มีความปรารถนาดีโปรดพิจารณาสถิติการโจรกรรมอันเนื่องจากความอดอยากของราษฎรนั้นในสมัยก่อน ๒๔ มิถุนายน ๒๔๗๕ กับภายหลัง ๒๔ มิถุนายน ๒๔๗๕ และภายหลัง ๘ พฤศจิกายน ๒๔๙๐ เป็นต้นมา ตามที่ปรากฏชัดแจ้งอยู่ในเวลานี้

หลักประการที่ ๔ จะต้องให้ราษฎรได้สิทธิเสมอภาคกัน

ผมขอให้ท่านศึกษาประวัติศาสตร์แห่งความไม่เสมอภาคระหว่างคนไทยนั้น ย่อมทราบแล้วว่าก่อน ๒๔ มิถุนายน ๒๔๗๕ พระบรมวงศานุวงศ์ตั้งแต่ชั้นหม่อมเจ้าขึ้นไป มีสิทธิพิเศษกว่าสามัญชนหลายประการ อาทิ ในทางการศาลที่ท่านเหล่านั้นต้องหาเป็นจำเลยในคดีอาญา ก็ไม่ต้องขึ้นศาลอาญา หากพระองค์ทรงขึ้นต่อศาลกระทรวงวังเป็นพิเศษ ฯลฯ

ต่อมา ธรรมนูญการปกครองแผ่นดินสยามฉบับชั่วคราว ๒๗ มิถุนายน ๒๔๗๕ ได้สถาปนาสิทธิเสมอภาคกันของราษฎรไทยทั้งหลาย อันเป็นแม่บทของรัฐธรมนูญฉบับ ๑๐ ธ.ค. ๒๔๗๕ และ ๙ พ.ค. ๒๔๘๙

หลักประการที่ ๕ จะต้องให้ราษฎรได้มีเสรีภาพ มีความเป็นอิสระ เมื่อเสรีภาพนี้ไม่ขัดต่อหลัก ๔ ประการดังกล่าวข้างต้น

ผมหวังว่าท่านที่มีใจเป็นธรรมย่อมเปรียบเทียบได้ว่าเมื่อก่อน ๒๔ มิถุนายน ๒๔๗๕ นั้น ราษฎรมีสรีภาพสมบูรณ์อย่างใดบ้าง เมื่อเทียบกับหลัง ๒๔ มิถุนายนนั้น และเทียบกับภายหลังรัฐประหาร ๘ พฤศจิกายน ๒๔๙๐ อันเป็นวันล้มระบอบประชาธิปไตยตามรัฐธรรมนูญฉบับ ๒๔๘๙ นั้นว่า แม้แต่จะได้มีการเขียนเรื่องสิทธิเสรีภาพของราษฎรไว้ แต่ในทางปฏิบัติได้มีการหลีกเลี่ยงโดยวิธีประกาศภาวะฉุกเฉิน และประกาศกฎอัยการศึกเกินกว่าความจำเป็นเพียงใดบ้าง

หลักประการที่ ๖ จะต้องให้การศึกษาอย่างเต็มที่แก่ราษฎร

ผมหวังว่าท่านที่ใจเป็นธรรมย่อมเปรียบเทียบได้ว่าเมื่อก่อนวันที่ ๒๔ มิถุนายน ๒๔๗๕ นั้น การศึกษาได้ถูกจำกัดอย่างไร และภายหลัง ๒๔ มิถุนายน ๒๔๗๕ ราษฎรได้สิทธิศึกษาอย่างเต็มที่เพียงใด และภายหลังพฤศจิกายน ๒๔๙๐ เป็นต้นมาจนถึงปัจจุบันนี้ ราษฎรต้องถูกจำกัดการศึกษาอย่างใดบ้าง

๓. เหตุแห่งความผิดพลาดของการอภิวัฒน์ประชาธิปไตย ๒๔ มิถุนายน

เหตุแห่งความผิดพลาดของการอภิวัฒน์ประชาธิปไตย ๒๔ มิถุนายน มี ๒ ประเภท คือ

ประเภท ๑ เหตุแห่งความผิดพลาดที่เหมือนกันกับทุกขบวนการเมือง

ประเภท ๒ เหตุแห่งความผิดพลาดของคณะราษฎรโดยเฉพาะ

๓.๑ เหตุแห่งความผิดพลาดที่เหมือนกันกับทุกขบวนการเมือง คือ ความขัดแย้งภายในขบวนการฯ

ทุกคณะพรรคการเมืองที่ต่อสู้ระหว่างกันตามวิถีทางรัฐสภานั้น ก็มีความขัดแย้งภายในพรรคนั้นๆ แม้ว่าคณะพรรคใดได้อำนาจรัฐแล้วก็ดี แต่ความขัดแย้งภายในคณะพรรคนั้นก็ยังคงมีอยู่ ดังนั้นจึงปรากฏว่าคณะพรรคมากหลายได้มีการแตกแยกออกเป็นหลายส่วนหรือสลายไปทั้งคณะพรรค

ส่วนคณะพรรคหรือขบวนการที่ใช้วิธีต่อผู้ทางอาวุธนั้น ก็ปรากฏความขัดแย้งและการแตกแยกทำนองเดียวกันดังกล่าวข้างบนนั้น

ประวัติศาสตร์แห่งสมัยระบบศักดินาแห่งมนุษยชาตินั้น แสดงตัวอย่างที่มีคณะบุคคล ซึ่งใช้วิธีต่อสู้ทางอาวุธต่อสู้ผู้ครองอำนาจรัฐได้สำเร็จแล้ว ภายในคณะพรรคนั้นเองก็มีบุคคลที่มีความโลภและความริษยาซึ่งเกิดจากรากฐานแห่งความเห็นแก่ตัว (Egoism) ขนาดหนักนั้นใช้วิธีทำลายคนในคณะเดียวกันเพื่อคนคนเดียวเป็นศูนย์กลางแห่งกิจการทั้งหลาย (Egocentrism)

ประวัติศาสตร์แสดงตัวอย่างด้วยว่าคณะพรรคหรือขบวนการเปลี่ยนระบอบสมบูรณาญาสิทธิราชย์มาเป็นระบอบประชาธิปไตยแบบเจ้าสมบัติ (Bourgeois Democray) โดยการอภิวัฒน์ใหญ่ฝรั่งเศสเมื่อ ค.ศ. ๑๗๘๙ (พ.ศ. ๒๓๓๒) นั้น ภายหลังที่ขบวนการนั้นได้ชัยชนะต่อระบบเก่าแล้ว ภายในขบวนการนั้นก็เกิดความขัดแย้งระหว่างส่วนที่ก้าวหน้ากับส่วนที่ถอยหลังเข้าคลอง

ในประเทศจีน ขบวนการ “ไท้ผิง” ได้จัดตั้งขึ้นเมื่อ ค.ศ. ๑๘๕๐ (พ.ศ. ๒๓๙๓) แล้ว สามารถต่อสู้ได้ชัยชนะต่อราชวงศ์แมนจูในดินแดนส่วนใต้ของจีน จึงได้ตั้งเมืองหลวงขึ้นที่เมืองนานกิง แล้วในไม่ช้า “หงซิ่วฉวน” หัวหน้าขบวนไท้ผิงได้ตั้งตนเป็นจักรพรรดิองค์ใหม่ของจีนและตั้งหัวหน้ารองๆ เป็นเจ้าตามลำดับ ครั้นแล้วในขบวนการไท้ผิงก็เกิดขัดแย้งกันเอง ในที่สุดราชวงศ์แมนจูกลับมีชัยชนะต่อขบวนการไท้ผิง ต่อมาขบวนการอภิวัฒน์ภายใต้การนำของ “ซุนยัดเซ็น” ได้ชัยชนะล้มระบอบสมบูรณาญาสิทธิราชย์ของจีนสำเร็จใน ค.ศ. ๑๙๑๑ (พ.ศ. ๒๔๕๔) ภายในขบวนการอภิวัฒน์นั้น ก็เกิดขัดแย้งกันและแตกแยกออกเป็นหลายส่วน

ต่อมาขบวนการปลดแอกของประชาชนจีนภายใต้การนำของพรรคคอมมิวนิสต์ได้ชัยชนะฝ่ายก็กมินตั๋งบนผืนแผ่นดินใหญ่จีนและได้สถาปนาสาธารณ์รัฐประชาชนจีนขึ้นใน ค.ศ. ๑๙๔๙ (พ.ศ. ๒๔๙๒) ภายในขบวนการประชาชนจีนและภายในพรรคคอมมิวนิสต์จีน ก็เกิดความขัดแย้งเป็นเหตุให้มีการกวาดล้างในพรรคที่เดินตามแนวทางทุนนิยม และกวาดล้างพวกที่เดินนอกแนวทางพรรคคอมมิวนิสต์จีน

ในสหภาพโซเวียต และประเทศสังคมนิยมในยุโรปตะวันออก ก็มีปรากฏการณ์ที่แสดงความขัดแย้งภายในพรรคอย่างรุนแรงถึงขนาดมีการกวาดล้างบุคคลที่ดำเนินตามแนวทางขวาจัดกับซ้ายจัด

ส่วนคณะหรือขบวนการซึ่งทำการ “โต้อภิวัฒน์” (Counter-Revolution) ที่ได้ชัยชนะต่อการอภิวัฒน์แล้ว ภายในคณะหรือขบวนการ นั้น เกิดขัดแย้งกันขึ้น เช่น ฝ่ายนิยมราชาธิปไตยฝรั่งเศสทำการโต้อภิวัฒน์ได้ชัยชนะแล้ว ภายในขบวนการนั้นก็เกิดขัดแย้งระหว่างกันเองในการแย่งชิงการสืบราชสันตติวงศ์

ขบวนการฟาสซิสม์อิตาเลียนและขบวนการนาซีเยอรมันซึ่งได้ชัยชนะต่อการอภิวัฒน์ประชาธิปไตยในประเทศของตนแล้ว ขบวนการดังกล่าวก็เกิดขัดแย้งภายในซึ่งได้มีการกวาดล้างบุคคลที่มีทรรศนะต่างกับผู้นำของประเทศนั้นๆ

ทุกๆ คณะพรรค ทุกๆ ขบวนการก็มีคำขวัญเรียกร้องให้สมาชิกของตนมีความสามัคคีกลมเกลียวกัน แต่ก็ไม่ปรากฏว่าภายในขบวนการใด สมาชิกจะมีความสามัคคีกลมเกลียวกันได้ตลอด ทั้งนี้ย่อมเป็นไปตามกฎธรรมชาติแห่งความขัดแย้งที่มีอยู่ภายในกลุ่มและสังคมของมนุษย์ ซึ่งเป็นเรื่องยึดยาวลึกซึ้งควรแก่การศึกษา

การที่มีความขัดแย้งภายในคณะพรรคหรือขบวนการซึ่งมีวัตถุประสงค์เปลี่ยนระบบสังคมเก่ามาเป็นระบบสังคมใหม่ที่ก้าวหน้านั้น ก็เพราะเหตุสำคัญๆ ดังต่อไปนี้

(๑) คณะพรรคหรือขบวนการดังกล่าวย่อมจุติขึ้นในสังคมเก่านั้นเอง เพราะเมื่อยังไม่มีระบบสังคมใหม่ ก็จะมีการจุติคณะพรรคหรือขบวนการอภิวัฒน์นั้นในสังคมใหม่ที่ยังมิได้เกิดขึ้นอย่างไร เมธีท่านหนึ่งได้เปรียบเทียบเป็นใจความว่า “การจุติของการอภิวัฒน์นั้น เปรียบเหมือนมนุษย์ก่อนจะเป็นตัวตนก็ต้องเริ่มจุติขึ้นจาก “มดลูก (Womb) ของมารดา” หมายความว่าสังคมเก่านั้นเองเป็นที่จุติของการอภิวัฒน์เพื่อสังคมใหม่”

(๒) ดังนั้นคณะพรรคหรือขบวนการอภิวัฒน์เพื่อสถาปนาระบบสังคมใหม่ จึงประกอบด้วยบุคคลที่กำเนิดในสังคมเก่านั้นเอง แต่เป็นบุคคลส่วนที่ก้าวหน้า ซึ่งสละจุดยืนในระบบเก่ามาพลีชีพเพื่อสถาปนาระบบสังคมใหม่ที่ก้าวหน้า

แต่โดยที่บุคคลส่วนที่ก้าวหน้านั้นเกิดมาและเคยมีความเป็นอยู่ในสังคมเก่า จึงย่อมมีซากทรรศนะและความเคยชินของสังคมเก่าติดตัวอยู่ซึ่งสละซากเก่าๆ ได้ต่างๆ กัน คือ

ประเภทที่ ๑ สละทรรศนะและความเคยชินของสังคมเก่าได้มากตลอดไป เพื่อรับใช้สังคมใหม่ที่สถาปนาขึ้นนั้น ให้พัฒนาก้าวหน้าเพื่อเข้าสู่ระบอบประชาธิปไตยสมบูรณ์ยิ่งๆ ขึ้น

ประเภทที่ ๒ สละเพียงเท่าที่ได้สถาปนาระบบสังคมใหม่ขึ้นแล้วพอใจเพียงแค่นั้น

ประเภทที่ ๓ สละสิ่งดังกล่าวจนถึงสถาปนาระบบสังคมใหม่ ครั้นแล้วก็ฟื้นซากทรรศนะเผด็จการทาส-ศักดินาขึ้นมาจนกลายเป็น “การโต้อภิวัฒน์” ต่อการอภิวัฒน์ ซึ่งตนเองได้เคยพลีชีพร่วมกับคณะพรรคหรือขบวนการได้กระทำ บุคคลดังกล่าวนี้จึงขัดแย้งกับส่วนที่เป็น “อภิวัฒน์”ภายในคณะพรรคหรือขบวนการนั้น

๓.๒ เหตุแห่งความผิดพลาดของคณะราษฎรโดยเฉพาะ

ประการที่ ๑ ขาดการศึกษาถึงกฎแห่งความขัดแย้งในขบวนการเมืองและตัวอย่างในประวัติศาสตร์ดังกล่าวในข้อ ๓.๑ นั้น จึงทำให้สมาชิก ส่วนมากขาดความระมัดระวังต่อการที่สมาชิกจำนวนหนึ่งฟื้นซากทรรศนะเผด็จการทาส-ศักดินา ซึ่งเป็น “การโต้อภิวัฒน์” ต่อการอภิวัฒน์ซึ่งตนเองได้เคยพลีชีพร่วมกับคณะ

ประการที่ ๒ คิดแต่เพียงเอาชนะทาง “ยุทธวิธี” ในการยึดอำนาจรัฐเป็นสำคัญ โดยมิได้คิดให้รอบคอบว่าจะรักษาชัยชนะนั้นไว้ได้อย่างไรจึงจะไม่ถูก “การโต้อภิวัฒน์” (Counter-Revolution) ซึ่งจะทำให้ชาติต้องเดินถอยหลังเข้าคลอง

ประการที่ ๓ นอกจากท่านหัวหน้าคณะราษฎร ๓ ท่านคือ พระยาพหลพลพยุหเสนา, พระยาทรงสุรเดช, และพระยาฤทธิอัคเนย์, มีความรู้ความชำนาญการทหารสามารถนำคณะยึดอำนาจรัฐได้สำเร็จแล้ว ส่วนสมาชิกหลายคนแม้มีความรู้ทางทฤษฎีเกี่ยวกับการสถาปนาประเทศ แต่ก็ขาดความชำนาญในการปฏิบัติและขาดความชำนาญในการติดต่อกับราษฎรอย่างกว้างขวาง

ประการที่ ๔ การเชิญท่านข้าราชการเก่ามาร่วมบริหารประเทศนั้น ผมหวังให้ท่านเหล่านั้นก้าวหน้ามากเกินไปกว่าที่ท่านจะทำได้ จึงเป็นเหตุให้เกิดความขัดแย้งอย่างรุนแรงในขบวนการอภิวัฒน์ ถึงกับมีการปิดสภาและงดใช้รัฐธรรมนูญถาวรฉบับ ๑๐ ธันวาคม พ.ศ. ๒๔๗๕

สรุป

ผมขอเสนอเรื่อง “คณะราษฎรกับการอภิวัฒน์ประชาธิปไตย ๒๔ มิถุนายน” พอสังเขปเพียงเท่าที่ได้กล่าวมานั้น โดยขอยืนยันว่าคณะราษฎรส่วนรวมมีอุดมการณ์และปณิธานอย่างบริสุทธิ์เพื่อประชาธิปไตยสมบูรณ์ แต่การปฏิบัติเพื่ออุดมการณ์และปณิธานนั้น มีความผิดพลาดบกพร่องที่ทำให้การสถาปนารัฐธรรมนูญประชาธิปไตยนั้นต้องล่าช้ามาจนถึงวันที่ ๙ พฤษภาคม ๒๔๘๙

แม้ว่าในระหว่างทางดำเนินนั้น คณะราษฎรส่วนรวมต้องประสบแก่การโต้อภิวัฒน์ภายในคณะและจากภายนอกคณะ แต่คณะราษฎรส่วนรวม ก็ได้พัฒนาชาติไทยให้สำเร็จตามหลัก ๖ ประการดังที่ผมเสนอไว้แล้วในข้อ ๒.๒ นั้น

ขอให้ท่านทั้งหลายโปรดสังเกตว่า ภายหลังรัฐประหาร ๘ พฤศจิกายน ๒๔๙๐ ที่ได้ล้มระบอบปกครองตามรัฐธรรมนูญประชาธิปไตยสมบูรณ์ฉบับ ๙ พฤษภาคม ๒๔๘๙ เป็นต้นมาจนถึง ๒๔ มิถุนายน ๒๕๒๕ ก็เป็นเวลากว่า ๓๕ ปีแล้ว ประชาธิปไตยก็ยังล้มลุกคลุกคลานตลอดมา

เกจิอาจารย์บางพวกที่แสดงว่าก้าวหน้า ก็ไม่เกื้อกูลชนรุ่นใหม่ให้เข้าใจเหตุแท้จริงที่เป็นอุปสรรคแก่การพัฒนาประชาธิปไตย หากท่านเหล่านั้นมุ่งหน้าที่จะขุดเอาคณะราษฎรที่ล่มสลายไปแล้วนั้นขึ้นมาต่อสู้ด้วยการเสาะหาเรื่องที่เป็นคำบอกเล่า (Hearsay) มาเป็นหลักวิชาการใส่ความคณะราษฎร ดังที่ผมได้กล่าวถึงบางประการแล้วนั้น และซัดว่าคณะราษฏรไม่ทำให้ราษฎรเข้าใจรัฐธรรมนูญประชาธิปไตยราษฎรจึงเข้าใจว่า “รัฐธรรมนูญคือ ลูกพระยาพหลฯ” ท่านที่มีสติปัญญาก็ย่อมสังเกตเห็นตรารัฐธรรมนูญซึ่งมีพานประดิษฐานคัมภีร์รัฐธรรมนูญซึ่งใช้มาจนถึงปัจจุบันนี้นั้น ได้ทำขึ้นตั้งแต่คณะราษฎรยังมีหน้าที่บริหารหรือควบคุมการบริหารราชการแผ่นดิน ราษฎรไทยจึงไม่อาจเข้าใจผิดว่า “รัฐธรรมนูญคือลูกพระยาพหลฯ” ส่วนใจความสำคัญตามรัฐธรรมนูญนั้น เกจิอาจารย์บางจำพวกก็ไม่ควรดูหมิ่นคณะสงฆ์ที่ได้รับอาราธนาจากรัฐบาลคณะราษฎร ขอให้สั่งวัดทุกวัดชี้แจงแก่ราษฎร และไม่ควรดูหมิ่นหัวหน้าอิสลาม, หัวหน้าคริสต์ศาสนิก, เจ้าหน้าที่จังหวัด, อำเภอ, กำนัน, ผู้ใหญ่บ้าน, ที่มีสติปัญญาพอชื้แจงให้ราษฎรทราบใจความรัฐธรรมนูญประชาธิปไตย

ผมจึงขอให้ประชาชาวไทยผู้รักชาติ รักประชาธิปไตย ที่มีใจเป็นธรรมโปรดพิจารณาเป้าหมายและวิธีการให้ถูกต้อง จึงจะต้องให้บังเกิดระบอบประชาธิปไตยสมบูรณ์ในประเทศไทยขึ้นมาได้ โดยใช้เวลาไม่เนิ่นนานกว่าที่คณะราษฎรส่วนรวมได้รับใช้ชาติและราษฎรมาแล้ว

ก่อนจบสุนทรพจน์นี้ ผมขอขอบคุณท่านประธานฯ และท่านกรรมการทุกท่านแห่งงาน “กึ่งศตวรรษประชาธิปไตย” อีกครั้งหนึ่งในความปรารถนาดี อันเป็นวัตถุประสงค์ ๕ ประการของท่าน และผมขออวยพรให้ท่านทั้งหลาย รวมทั้งประชาชนชาวไทยผู้รักชาติ รักประชาธิปไตยที่มีใจเป็นธรรม ประสบสิริสวัสดิพิพัฒนมงคลเจริญด้วยอายุ วรรณะ สุขะ พละและประสบความสำเร็จในการรับใช้ชาติและราษฎร ให้บรรลุถึงซึ่งประชาธิปไตยสมบูรณ์ทุกประการ เทอญ.

ชานกรุงปารีส
วันที่ ๒๔ มิถุนายน พ.ศ. ๒๕๒๕

ที่มา:

  • “คณะราษฎรกับการอภิวัฒน์ประชาธิปไตย ๒๔ มิถุนายน” ถอดจากเทปบันทึกเสียง สุนทรพจน์งาน “กึ่งศตวรรษประชาธิปไตย ๒๔ มิถุนายน ๒๕๒๕” พิมพ์ครั้งแรก
  • เอกสารรายงานสัมมนา “กึ่งศตวรรษประชาธิปไตย” (กรุงเทพฯ : โครงการกึ่งศตวรรษ ประชาธิปไตย, ๒๕๒๕) พิมพ์ครั้งที่สอง ปรีดี พนมยงค์ กับสังคมไทย (สำนักพิมพ์มหาวิทยาลัยธรรมศาสตร์ จัดพิมพ์, ๒๕๒๖).

หมายเหตุ :คงอักขระเดิมตามเอกสารชั้นต้น