FC ‘ประยุทธ์’ สู่จำเลย ชูป้าย ‘I Here ตู่’ ย้อนโมงยามพลิกผันแปรของ ‘ไบค์ คบเพลิง’
18/11/2565
ศูนย์ทนายความเพื่อสิทธิมนุษยชน
กำแพงแสน อำเภอที่อยู่ถัดจากตัวเมืองนครปฐมไปทางทิศเหนือ เส้นทางที่นำไปสู่ สุพรรณบุรี ราชบุรี และกาญจนบุรี ในทิศตะวันตกของประเทศ แม้จะดูคล้ายเมืองทางผ่าน แต่ก็ขึ้นชื่อในเรื่องความอุดมสมบูรณ์ทางวัฒนธรรมและทรัพยากรธรรมชาติ รวมถึงสถานศึกษาที่มีมหาวิทยาลัยถึง 2 แห่ง กำแพงแสน ยังเป็นเมืองขึ้นชื่อเรื่องอาหารป่า เช่นที่ครอบครัวของ ไบค์ หัสวรรษ นักกิจกรรมกลุ่มคบเพลิง มีธุรกิจประเภทร้านอาหารป่าปลาแม่น้ำ ดำเนินกิจการมาถึงทุกวันนี้
ย้อนไปเมื่อแรกชีวิต ไบค์อาศัยอยู่กับครอบครัวฝั่งแม่ในตัวอำเภอเมือง ก่อนขยับมาอยู่กับครอบครัวพ่อที่กำแพงแสน หลังจบมัธยมปลายโรงเรียนประจำอำเภอ จากเด็กต่างอำเภอที่มีความสนใจทางการเมืองและอยากรับราชการ ไบค์หวังจะเรียนต่อด้านรัฐศาสตร์ หรือไม่อย่างนั้นเส้นทางชีวิตก็อาจจะมุ่งมั่นไปในทางทหาร เพราะมี พล.อ.ประยุทธ์ จันทร์โอชา เป็นบุคคลต้นแบบ
วันเด็กแห่งชาติ 2 ปีแรกที่ไบค์อยู่มัธยมปลาย เขาเลือกเดินทางไปทำเนียบรัฐบาลเพื่อพบกับ พล.อ.ประยุทธ์ ครั้งแรกเขายื่นภาพที่วาดหน้าหัวหน้า คสช. ให้กับมือเจ้าตัว ส่วนครั้งที่สองเป็นโอกาสพิเศษกว่านั้น เมื่อมีโอกาสได้เล่มเกมส์ FIFA Online ด้วยกันในขณะที่ พล.อ.ประยุทธ์ ตรวจเยี่ยมบูธแห่งหนึ่งในงานวันเด็ก
“FC ประยุทธ์เลยหรอ เขาก็ถาม ผมบอกใช่ครับ เขาก็โอเค ถ้าอย่างงั้นเดี๋ยวพี่ดูคิวให้ นายกฯ จะมาเล่นเกมตรงบูธนี้” ไบค์เล่าถึงตัวเองในวันนั้น วันที่ไปทำเนียบครั้งที่สองที่เขารู้สึกประทับใจในความเป็นกันเองด้วยบุคลิก ‘ลุง’ ของ พล.อ.ประยุทธ์ อย่างที่สุด
ผ่านวันนั้นได้ 1 ปี โชคชะตาก็นำพาให้ไบค์สอบเข้าเรียนต่อที่คณะรัฐศาตร์ มหาวิทยาลัยอุบลราชธานี ที่นั่น ด้วยสังคมวิชาการ การบ่มเพาะทางความคิด เป็นผลให้ไบค์กลายเป็นนักกิจกรรมที่ออกมาต่อต้าน พล.อ.ประยุทธ์ เพียงปี 2564 ปีเดียว ไบค์ถูกดำเนินคดีจากการใช้เสรีภาพการแสดงออกถึง 3 คดี สองคดีแรก ด้วยข้อหาฝ่าฝืน พ.ร.ก.ฉุกเฉินฯ จากกิจกรรมคาร์ม็อบ และอีกคดีมาจากวันที่เขากับภูมิ เพื่อนคณะรัฐศาสตร์ เดินทางไปพบ พล.อ.ประยุทธ์ ขณะเดินทางมาตรวจเยี่ยมราชการที่อุบลราชธานี
วันนั้นไบค์ไม่ได้มีรูปวาดใส่กรอบมอบแทนใจ ไม่ได้เตรียมตัวไปเล่นเกมกระชับมิตรภาพ มีเพียงป้ายข้อความเขียนด้วยปากกาเมจิกว่า ‘I HERE ตู่ รัฐบาลฆาตกร’ หลังเหตุการณ์นั้นไบค์และภูมิถูกแจ้งข้อหา ดูหมิ่นผู้อื่นด้วยการโฆษณา ก่อนต่อสู้คดีจนศาลยกฟ้อง ไบค์สะท้อนถึงตัวเองว่า
“ยอมรับว่าเราผ่านมาไกลมาก ไม่กลับไปตรงนั้นแล้ว เรามีความรู้สึกว่าคนมันเปลี่ยนได้ หมายถึงว่าหากเราจะเป็นคนทำงานเพื่อเปลี่ยนแปลงทางสังคมสิ่งที่ต้องยึดถือคือ คนเราสามารถเปลี่ยนแปลงได้”
วัยเด็ก: ชอบเผด็จการ เพราะง่ายเบ็ดเสร็จดี
จากชีวิตวัยเด็กที่ไปมาระหว่าง อ.เมือง กับ อ.กำแพงแสน พอถึงจุดหนึ่งเมื่อธุรกิจร้านอาหารเริ่มอยู่ตัว ไบค์จึงได้อยู่กับครอบครัวพ่อที่กำแพงแสน ตอนเรียนชั้น ม.ปลาย ที่กำแพงแสนวิทยา ไบค์เล่าถึงตัวเองว่าเขาเป็นเด็กกิจกรรมประเภท สภานักเรียน ชอบทำงานจิตอาสา นั่นจึงเป็นที่มาของการได้เดินทางไปร่วมกิจกรรมนอกโรงเรียนอยู่เสมอ ๆ นอกจากการไปค่ายอาสา หนึ่งในนั้นคือการไปทำเนียบรัฐบาลที่เขาตั้งใจไปเพื่อจะเข้าพบ พล.อ.ประยุทธ์ จันทร์โอชา ให้ได้
“ผมยอมรับนะว่า เราไม่ได้ถูกเลี้ยงดูมาด้วยพ่อแม่ที่พร้อม หรือด้วยสภาพแวดล้อมที่พร้อม อาจารย์หรือว่าครูที่ปรึกษาขณะนั้นก็ชวนเราทำกิจกรรม ต้องขอบคุณประสบการณ์เหล่านั้นมากหมายถึงว่ามันทำให้ผมเป็นผู้เป็นคนจนถึงทุกวันนี้”
ตอน ม.4 เมื่อมีโอกาสเข้าค่ายแห่งหนึ่งที่กระทรวงวัฒนธรรมจัดขึ้น ไบค์ได้พบกับพี่เลี้ยงค่ายที่จะไปเปิดบูธในช่วงวันเด็กที่ทำเนียบรัฐบาล เขาจึงตัดสินใจเองว่า กลับจากค่ายนั้นจะเดินทางไปงานวันเด็กด้วยตัวเอง โดยเตรียมภาพวาดใส่กรอบที่เขาวาดรูป พล.อ.ประยุทธ์ เพื่อเอาไปฝากเจ้าตัว หลังได้พบกันวันนั้นที่บูธดังกล่าว ไบค์ย้อนเล่าว่า
“มันก็ภูมิใจนะ โอ้โห มีโอกาสได้เจอนายกฯ ประยุทธ์ สุดยอดเลย ตอนนั้นเรารู้สึกเขาเป็นกันเองอะไรแบบนี้”
จากวันนั้นไบค์เริ่มคิดกับตัวเองว่า อนาคตอยากสอบเข้ารับราชการทหาร
“ก็ประทับใจก็เลยแบบเห่อ วางตัวเองว่าจะไปสายทหาร ถ้าไม่มีอะไรผิดพลาด สอบนายร้อยไม่ได้ไม่เป็นไรเดี๋ยวไปทาง รด.(รักษาดินแดน) ก็ได้ ถ้าเรียน รด.ถึงปี 5 เสร็จบรรจุเข้าว่าที่ร้อยตรี เดี๋ยวไปสอบเอายศอีกทีหนึ่ง” ไบค์กล่าวไว้อีกตอนหนึ่ง
ปีถัดมาเมื่ออยู่ชั้น ม.5 สมาชิกสภานักเรียนผู้นี้ก็ตัดสินใจไม่ยากที่จะกลับมางานวันเด็กที่ทำเนียบรัฐบาลอีก ไบค์เล่าว่า
“ใส่ชุดนักเรียนไปเลยเพราะรู้สึกว่า มันดูมีสถานะอะไรบางอย่างมากกว่าชุดทั่วไป มีโอกาสมากกว่าที่จะเข้าไปงานได้ง่าย เพราะเป็นงานวันเด็ก”
เสาร์ที่สองของปีนั้น ไบค์วาดภาพ พล.อ.ประยุทธ์ไปเหมือนเดิม เขาเริ่มรู้จังหวะและแผนผังการเดินเข้าไปว่า บุคคลที่อยากมาพบจะออกมาตอนไหน ในช่วงเวลาใด จนมาเจอบูธแห่งหนึ่งที่กำลังเตรียมให้ พล.อ.ประยุทธ์ เล่นเกม E-Sport เมื่อไบค์ไปถึงจุดนั้น จากที่เจ้าหน้าที่สอบถามให้แน่ชัดว่า เขาสนใจจะมาหานายกฯ จริง จึงถูกชวนให้เล่นเกมส์แข่งขัน FIFA (เกมฟุตบอลชนิดหนึ่ง) หลังจากเล่นกันเสร็จในราว 10 นาที ไบค์ยื่นกรอบรูปให้ ก่อนจะได้รับซองเอกสารมา 1 ซอง ในนั้นมีเงินสดอยู่ 2,000 บาท
“เราก็แบบ ภาคภูมิ ระดับหนึ่งเลย เพราะได้เงินด้วย ก่อนเดินทางกลับบ้าน แต่จากนั้นปีถัดมาที่เริ่มเรียน ม. 6 เราไม่ได้ไปงานนั้นอีกแล้ว แต่ความรู้สึกยังเท่าเดิม ชอบ พล.อ.ประยุทธ์ เหมือนเดิม”
ไบค์กล่าวถึงช่วงเวลานั้นว่า ต่อให้อยู่ท่ามกลางครอบครัวที่มีความเป็นเสื้อแดงเสื้อเหลือง ตอนนั้นก็ไม่รู้ว่าการเมืองคืออะไรกันแน่ “แต่ประยุทธ์ทำให้ผมสนใจการเมืองระดับหนึ่งเลย ก็พอเวลาผมจะติดตามประยุทธ์ใช่ไหม ผมจะติดตาม วาสนา นาน่วม นักข่าวสายทหารที่รายงานแบบฉับไว ก็ยอมรับตอนนั้นชื่นชอบในความเป็นเผด็จการ เพราะมันง่ายเบ็ดเสร็จดี”
วัยมหาลัยฯ: เริ่มตั้งคำถาม ขบถในสิ่งที่รัฐบาลทหารทำไว้
เมื่อเข้าสู่ช่วงสอบเข้ามหาวิทยาลัย คณะอะไรก็ได้ที่เป็นรัฐศาสตร์เป็นหมุดหมายของไบค์ หลังตัดสินใจเลือกอยู่หลายที่ ไบค์ตัดสินใจสมัครรอบ portfolio ที่มหาวิทยาลัยอุบลราชธานี ที่ที่ไกลห่างจากบ้านราว 650 กิโลเมตร ก่อนจะเดินทางไปสอบสัมภาษณ์ จากแฟ้มสะสมผลงานที่มีรูปไบค์คู่กับ พล.อ.ประยุทธ์ อาจารย์ผู้สอบสัมภาษณ์จึงอดไม่ได้ที่จะถามคำถามถึงความชื่นชอบของเขา
“จำได้ว่า ตอบไปว่าเราชอบเพราะว่าเขาบริหารสงบ ความเป็นลุงดูเป็นกันเอง จากที่ติดตามข่าวเรารู้สึกว่าชอบผู้นำที่เข้าถึงได้ง่าย มีเพจเฟซบุ๊กประเภทนายกเป็นคนตลก ผมติดอะไรแบบนั้นก็เพราะว่าเพจนี้แหละ มีความแบบทะเล้นอยู่”
จนวันตัดสินใจจะเข้าเรียน ที่บ้านก็ไม่ได้ทัดทานเรื่องระยะทางที่ห่างไกล ส่วนไบค์เองคิดว่า ถ้าจะมีเพื่อนเขาสามารถหาเอาข้างหน้าได้ และพร้อมจะปรับตัวชีวิตกับที่ใหม่ ตั้งเป้าทำกิจกรรมแบบชีวิตที่กำแพงแสน ตอนนั้นไบค์ตั้งเป้าไว้ว่าจะเป็นนายกสโมสรนักศึกษาคณะรัฐศาสตร์ให้ได้
กระทั่งเปิดเทอมปี 2561 เขาเป็นนักศึกษารัฐศาสตร์เต็มตัว ในนามสิงห์แสด รุ่นที่ 14 ไบค์เริ่มทำกิจกรรมตั้งแต่ปี 1 ที่นั่นกลายเป็นจุดหักเหจุดหนึ่งในชีวิตของเขาคนนี้ จากการที่ได้พบกับรุ่นพี่คนหนึ่งที่เป็นทายาทนักการเมืองพรรคเพื่อไทย แต่ก่อนนั้นเขาจะถูกถามซ้ำ ๆ เสมอว่า ทำไมชอบนายกฯ ที่มาจากการรัฐประหาร
“ผมเป็นที่โจษจันอยู่ว่าชอบประยุทธ์ น่าจะเป็นคนเดียวในทั้งคณะที่ชอบเขา เช่น ตอนเรียนวิชาความรู้เบื้องต้นทางรัฐศาสตร์ มีคำถามว่าชอบการปกครองแบบไหม ผมยืนยันตอบเลยว่า ประชาธิปไตยมันก็ดีนะ แต่ชอบเผด็จการ”
เมื่อเทอม 2 เริ่มขึ้น การเลือกตั้งทั่วไปของประเทศกำลังจะเกิดในเดือนมีนาคม 2562 ไบค์มีโอกาสไปช่วยรุ่นพี่หาเสียงให้กับพรรคที่เป็นคู่แข่งพรรคพลังประชารัฐของ พล.อ.ประยุทธ์
“พอเราเรียนรู้มากขึ้น เราเห็นภาพปัญหา ก่อนตั้งคำุถามและเริ่มขบถกับสิ่งที่รัฐบาลทหารทำไว้ เริ่มมีความเป็นขบถกับตัวประยุทธ์เอง เริ่มค่อย ๆ เปลี่ยน ยิ่งช่วงก่อนเลือกตั้ง หมายถึงว่าเราไม่สามารถไปกับประยุทธ์ได้ เพราะผมก็จะเลือกพรรคอนาคตใหม่”
ถ้าความคิดที่เปลี่ยนอย่างชัดเจน คงเป็นหลังเลือกตั้งปี 2562 จากกิจกรรมที่ไบค์เป็นตัวตั้งตัวตีรณรงค์ถอดถอนคณะกรรมการการเลือกตั้ง (กกต.) เรื่องนับคะแนนไม่โปร่งใสและเรื่องสูตรคำนวน ส.ส.แบบสัดส่วนอันพิสดาร แล้วก็ได้มาพบปะกลุ่มดาวดิน ที่ จ.ขอนแก่น ทำให้โลกนักกิจกรรมของไบค์เริ่มกว้างไกลขึ้น จนมาสู่การตั้งกลุ่มคบเพลิงปลายปี 2562 อันเกิดจากอาจารย์และนักศึกษาคณะรัฐศาสตร์ คิดว่าควรมีการรวมกลุ่มไว้ทำกิจกรรม
ไบค์กล่าวว่า “ตอนนั้นผมไม่ได้เป็นตัวหลักขนาดนั้นหรอก อยู่ดี ๆ เพื่อนชวนมา พอคุยกันไปคุยกันมากลายเป็นข้อตกลง จะจัดตั้งคบเพลิง ทำงานเสริมสร้างพัฒนาประชาธิปไตย สร้างเวทีการมีส่วนร่วมระหว่างชุมชนรอบมหาวิทยาลัยและนักศึกษา”
เวลาในมหาวิทยาลัยผ่านไปเมื่อขึ้นชั้นปีที่ 3 ไบค์ตัดสินใจเข้าฝึกงานที่ศูนย์กฎหมายสิทธิมนุษยชนเพื่อสังคม ที่ขอนแก่น ที่ที่เขาได้พบกับนักกิจกรรมดาวดิน และสุวิทย์ กุหลาบวงศ์ นักพัฒนาเอกชน มากประสบการณ์ในพื้นที่อีสาน
ขณะฝึกงานอยู่หลายเดือน ไบค์ทำหน้าที่ติดตามข้อมูล ลงพื้นที่โรงงานน้ำตาลที่สร้างแล้วเกิดผลกระทบต่อประชาชน ทั้งที่ศรีสะเกษ ชัยภูมิ และขอนแก่น การพบปัญหาสิ่งแวดล้อมที่ต่อเนื่องจากเรื่องการเมือง ทำให้ไบค์ตระหนักว่า
“เรารู้สึกไม่ได้มีการสร้างการมีส่วนร่วมกับชุมชน บางทีมันส่งผลกระทบต่อคนในพื้นที่ มีคนที่เสียชีวิตจากสารพิษที่มาจากโรงงาน มันทำให้รู้สึกเป็นปัญหา ที่สำคัญไม่ได้ถามคนในชุมชนว่าเขาต้องการอะไร หรือต้องการให้มีไหม รู้สึกว่าเป็นสิ่งที่ต้องค้าน”
วัยทำงาน: เชื่อสุดใจ มุมมองใหม่ ๆ เปลี่ยนแปลงความคิดผู้คนได้
ปี 2564 ระหว่างที่อยู่ชั้นปีที่ 4 เขามองทิศทางชีวิตขณะนั้นไว้หลายอย่าง เปรยว่า “ตอนแรกก็เลือกไว้อยู่ 2-3 อย่าง ไปเรียนต่อต่างประเทศแต่ว่าหาจังหวะก่อน อีกทางบ้านผมทำธุรกิจร้านอาหารผมมองไว้ว่าอาจกลับไปทำที่นั่นต่อ ส่วนทางที่สามถ้ามีองค์กรทำงานด้านขับเคลื่อนประชาธิปไตยรองรับ ผมก็เอาเลยไม่คิดอย่างอื่น จนได้งานประจำที่ศูนย์กฎหมาย ที่ที่เคยฝึกงาน”
แต่ก่อนจะได้เรียนจบและทำงานประจำตามที่วาดหวังไว้ ไบค์ในวัย 22 ปี ก็ต้องเผชิญการถูกดำเนินคดีจากการแสดงออกทางการเมืองถึง 3 คดี 2 คดีแรกเป็นเหตุจากกิจกรรมคาร์ม็อบอุบลฯ เมื่อวันที่ 1 ส.ค. 2564 และเมื่อวันที่ 15 ส.ค. 2564 ทั้งสองคดีพนักงานสอบสวน สภ.เมืองอุบลฯ แจ้งข้อหาไบค์กับผู้ต้องหารายอื่น ๆ ตาม พ.ร.ก.ฉุกเฉินฯ “ร่วมกันจัดชุมนุมและเข้าร่วมการชุมนุมที่มีความเสี่ยงต่อการแพร่โรคในพื้นที่ควบคุมสูงสุดโดยไม่ได้รับอนุญาตจากเจ้าหน้าที่”
ซึ่งไบค์ให้การปฏิเสธและจะให้การในชั้นศาล ทั้งสองคดีอยู่ในระหว่างการพิจารณาของอัยการ
ไม่เพียงเท่านั้น ยังมีอีกคดีที่หากย้อนไปในไม่กี่ปี คนรอบตัวคงไม่มีใครคาดคิดว่าจะเกิดเรื่องนี้ขึ้นกับเด็กหนุ่มที่ชื่อ หัสวรรษ หรือ ไบค์ ที่วันนั้นมีสิ่งเติมท้ายชื่อเป็น ไบค์ คบเพลิง แล้ว
ไบค์ถูกฟ้องข้อหาดูหมิ่นผู้อื่นด้วยการโฆษณา ตามประมวลกฎหมายอาญามาตรา 393 จากการชูป้าย ‘I HERE ตู่ รัฐบาลฆาตกร’ ในระหว่าง พล.อ.ประยุทธ์ จันทร์โอชา เดินทางไปตรวจราชการที่ อ.วารินชำราบ จ.อุบลราชธานี
ย้อนไป 15 ต.ค. 2564 ขณะกำลังอ่านหนังสือสอบปลายภาคอยู่ที่มหาวิทยาลัย ก่อนบทสนทนาระหว่างเขากับกัมพล หรือ ภูมิ คบเพลิง กลายมาเป็นแผนทำกิจกรรมเชิงสัญลักษณ์ ไบค์เล่าถึงเหตุคดีว่า
“เป้าของเราคือต้องเข้าใกล้ประยุทธ์ที่สุด ไม่ว่าวิธีใดก็ตาม ก็ซื้ออุปกรณ์ป้ายกับปากกา ขับรถกันไปดื้อ ๆ จำได้ว่าช่วงบ่ายวันนั้นที่ศาลาประชาวาริน ตอนเดินไปตำรวจและเจ้าหน้าที่รัฐหน่วยอื่นยังไม่ได้สังเกตเห็นเรา จนเดินไปถึงตรงกลางงานเราก็ชูป้าย ‘I HERE ตู่’ และพูดออกไปว่า รัฐบาลฆาตกร เพราะต้องการด่าให้เห็น จนถือป้ายได้ราว ๆ 1 นาที ก็มีตำรวจมากระชากป้ายผ้าไปจากมือเรา”
ตอนนั้นทั้งไบค์และภูมิคิดว่าคงจะโดนคดีภายหลัง แต่ยังไม่รู้ว่าเป็นข้อหาไหน ไบค์เปิดใจถึงตอนที่ถูกแจ้งข้อกล่าวหาว่า
“ก็ไม่ผิด ไม่ยอมรับ ก็พร้อมสู้ เพราะเรารู้สึกว่าไหน ๆ ก็เสียเวลาแล้ว ทั้งโจทก์ ทั้งตำรวจ ก็เสียเวลาด้วยกันสิ เข้าใจว่าเขาพยายามทำให้เราเสียเวลาชีวิต แต่เรารู้สึกว่าเราจัดการได้ อย่างตำรวจที่มาเป็นพยาน เห็นชัดว่าเกษียณแล้วไม่ได้อยากมาศาล ไม่ได้หรอก เราต้องไปด้วยกัน”
หลังต่อสู้คดีมาร่วม 1 ปี วันที่ 10 พ.ย. 2565 ศาลแขวงอุบลราชธานีมีคำพิพากษายกฟ้อง ทั้งไบค์และภูมิ ใจความสรุปได้ว่า
I HERE ตู่ หากจะแปลความหมายก็ขึ้นอยู่กับประสบการณ์ของบุคคลนั้นๆ และคำว่า I HERE ไม่พ้องเสียงกันกับ ไอ้เหี้ย ตามที่พยานผู้เชี่ยวชาญเบิกความว่า ไม่ใช่คำพ้องเสียง คำพ้องเสียงต้องมีการออกเสียง (Sound Tone) เหมือนกันตามหลักภาษาศาสตร์ ดังเช่น คำว่า Sun ที่แปลว่าพระอาทิตย์ กับ Son ที่แปลว่า บุตรชาย คำว่า Here แปลว่า ที่นี่ กับคำว่า Hear ที่แปลว่า ได้ยิน ยังพ้องเสียงของคำว่า เฮีย ที่ใช้เรียกพี่ในคนไทยเชื้อสายจีน
ส่วนคำว่า รัฐบาลฆาตกร ด้วยสถานการณ์ขัดแย้งขณะนั้น ย่อมชี้ชัดว่าเป็นรัฐบาลปัจจุบัน แต่ข้อความไม่ได้หมายถึงบุคลใดโดยเฉพาะ และนายกรัฐมนตรีย่อมถูกวิพากษ์วิจารณ์ในลักษณะกระทบกระทั่งได้ ตามที่รัฐธรรมนูญฉบับปัจจุบันบัญญัติรับรองเสรีภาพในการแสดงออกไว้ในมาตรา 34 และตามหลักการเสรีภาพในการแสดงออก ประกอบกับพยานหลักฐานโจทก์มีความน่าสงสัย ยกประโยชน์แห่งความสงสัยให้จำเลย พิพากษายกฟ้อง
เป็นที่น่าตั้งคำถาม จากวันที่เคยชอบ พล.อ. ประยุทธ์ จนวันที่ไม่เอาด้วยในแนวทาง แล้วยังมาโดนคดีเป็นคู่ขัดแย้งอีก ไบค์ให้ทัศนะว่า “ผมคิดว่าเราเปลี่ยนไปเยอะด้วยปัจจัยหลาย ๆ อย่าง แล้วผมก็รู้สึกว่าความคิดที่จะกลับไปตรงนั้นไม่มีแล้ว ถ้าเชื่อว่าคนเปลี่ยนได้ การที่เคยชอบประยุทธ์แล้วเปลี่ยนมาสู่การไม่ชอบเผด็จการก็เป็นเรื่องปกติ แต่ผมคิดว่า สิ่งที่มันไม่เป็นปกติคือการที่ใช้กฎหมายในการกีดกัน หรือว่าทำอะไรก็ได้ให้ผู้คนไม่กล้าทำบางสิ่ง”
ก่อนนักเรียนรัฐศาสตร์กล่าวทิ้งท้าย “การเมืองมันเป็นเรื่องการรับรู้ของคน อย่างที่ผมอาจอยู่ท่ามกลางเสื้อแดงเสื้อเหลือง เท่าที่เล่าไปเบื้องต้นนั่นแหละ แต่ว่าประเด็นคือเราไม่สนใจ แต่มาคิดย้อนหลัง ถ้าเราเข้าไปคลุกคลีศึกษาโดยตรง จะทำให้เห็นมุมมองอะไรบางอย่างที่แตกต่างจากมุมมองเดิมที่เรายึดถือกันมา บางครั้งมุมมองใหม่ ๆ อาจจะมาเปลี่ยนแปลงทางความคิดของเราก็ได้ ซึ่งมันก็เป็นอย่างนั้นจริง ๆ ที่เกิดขึ้นกับผม”