วันอังคาร, พฤษภาคม 17, 2559
ประชามติมึนจนโฮ!
โดย สุธาชัย ยิ้มประเสริฐ
คอลัมน์ : ถนนประชาธิปไตย
โลกวันนี้
ในที่สุดกระบวนการทางการเมืองไทยก็ก้าวไปสู่เส้นทางของการลงประชามติร่างรัฐธรรมนูญ พ.ศ. 2559 ซึ่งกำหนดให้วันที่ 7 สิงหาคม จะเป็นการลงประชามติครั้งที่ 2 ในประวัติศาสตร์ไทย
ทำไมถึงต้องมีการลงประชามติ คำตอบเบื้องต้นคือ คณะทหาร คสช. ต้องการใช้คะแนนเสียงประชาชนสร้างความชอบธรรมให้กับรัฐธรรมนูญที่ร่างโดยคณะกรรมการที่นำโดยนายมีชัย ฤชุพันธุ์ ที่ คสช. แต่งตั้งให้มาร่างรัฐธรรมนูญ แต่ปัญหาอยู่ที่ว่า ร่างรัฐธรรมนูญฉบับนี้ถูกวิจารณ์ว่ามีเนื้อหาแย่ที่สุดฉบับหนึ่ง ทั้งด้านการทำลายหลักประชาธิปไตย การจำกัดสิทธิของประชาชน และสืบทอดอำนาจฝ่ายทหาร ทั้งยังมีที่มาอันไม่ชอบธรรม
ดังนั้น ร่างรัฐธรรมนูญฉบับนี้จึงกลายเป็นฉบับสารพัดฉายา แต่เมื่อต้นปีที่ผ่านมาเฟซบุ๊คประชามติได้จัดกิจกรรมให้สมาชิกช่วยตั้งชื่อเล่นให้ร่างรัฐธรรมนูญฉบับนี้ ปรากฏว่าชื่อที่ได้รับยอดไลค์สูงสุดคือ รัฐธรรมนูญฉบับ “มึน จน โฮ” เสนอโดยกฤต บรรณาศรม โดยมีคำอธิบายเป็นกาพย์ว่า
“เปิดอ่านแบบมึนมึน ยิ้มฝืนฝืนแบบงงงง ยิ่งอ่านยิ่งปลงปลง อ่านจบลงร้องไห้โฮ รัฐธรรมนูญแย่แย่ คนแก่แก่คุยโวโว ประชาเตรียมโซโซ ร้องไห้โฮ จนมึนมึน!!!”
เนื้อหาของร่างรัฐธรรมนูญมีลักษณะชวนมึนโฮ กลุ่มสลิ่มเหลืองและฝ่ายสนับสนุนเผด็จการพยายามอ้างประเด็นให้เป็น “รัฐธรรมนูญฉบับปราบโกง” หรือ “รัฐธรรมนูญปฏิรูป” เพื่อสร้างความชอบธรรม แต่ก็ไม่อาจทำให้เป็นกระแสใหญ่พอที่จะให้ประชาชนสนับสนุนอย่างชัดเจน ขณะที่เจตนารมณ์ของ คสช. ก็แสดงให้เห็นชัดเจนว่าต้องการให้ประชาชนลงคะแนนเสียงเห็นชอบ จึงพยายามควบคุมการเคลื่อนไหวทางการเมือง กระบวนการลงประชามติจึงไม่ได้เป็นไปตามหลักสากลที่ต้องให้มีการเผยแพร่ข้อมูลและเปิดกว้างทางความคิด มีการอภิปรายโต้เถียงกันอย่างจริงจัง เพื่อให้ประชาชนมีความรู้และเห็นถึงข้อดีข้อเสียให้มากที่สุดก่อนจะลงเสียงประชามติ แต่ครั้งนี้ คสช. กลับใช้วิธีควบคุมทางความคิดเป็นสำคัญ
ตั้งแต่การกำหนดในกฎหมายประชามติ มาตรา 61 ที่ว่า “ผู้ใดดำเนินการเผยแพร่ ข้อความ ภาพ เสียง ในสื่อหนังสือพิมพ์ วิทยุ โทรทัศน์ สื่ออิเล็กทรอนิกส์ หรือในช่องทางอื่นใดที่ผิดไปจากข้อเท็จจริง หรือมีลักษณะรุนแรง ก้าวร้าว หยาบคาย ปลุกระดม หรือข่มขู่ โดยมุ่งหวังเพื่อให้ผู้มีสิทธิออกเสียงไม่ไปใช้สิทธิออกเสียง หรือออกเสียงอย่างใดอย่างหนึ่ง หรือไม่ออกเสียง ให้ถือว่าผู้นั้นกระทำการก่อความวุ่นวายเพื่อให้การออกเสียงไม่เป็นไปด้วยความเรียบร้อย” โดยกำหนดโทษผู้กระทำผิดจำคุกไม่เกิน 10 ปี ปรับไม่เกิน 2 แสนบาท และศาลอาจสั่งเพิกถอนสิทธิเลือกตั้งไม่เกิน 5 ปี
ปัญหาคือคำว่า “ลักษณะรุนแรง ก้าวร้าว หยาบคาย ปลุกระดม” ไม่มีคำนิยามทางกฎหมายที่ชัดเจน จึงทำให้เจ้าหน้าที่ตีความเอาความผิดผู้รณรงค์ต่อต้านได้ตามใจชอบ แต่เมื่อวันที่ 29 เมษายนที่ผ่านมา คณะกรรมการการเลือกตั้ง (กกต.) ได้ออกข้อกำหนดสิ่งที่ประชาชนทำได้ 6 ข้อ และทำไม่ได้ 8 ข้อ เพื่อสร้างมาตรการควบคุมให้ชัดเจน
ประสบการณ์จากการลงประชามติครั้งแรกในร่างรัฐธรรมนูญปี 2550 เมื่อวันที่ 19 สิงหาคม 2550 นั้น ประเทศไทยก็อยู่ภายใต้ระบอบเผด็จการ แต่รัฐบาล พล.อ.สุรยุทธ์ จุลานนท์ ยังใจกว้างเปิดให้ฝ่ายสนับสนุนและฝ่ายคัดค้านรณรงค์ได้อย่างเสรี ปรากฏว่าประชาชนลงคะแนนสนับสนุน 14 ล้าน คัดค้าน 10 ล้าน ทำให้ประกาศใช้รัฐธรรมนูญฉบับ 2550 ซึ่งชนชั้นนำขณะนั้นก็หวังว่าจะทำให้รัฐสภาหรือรัฐบาลที่มาจากการเลือกตั้งแก้รัฐธรรมนูญได้ยาก ขณะที่เรื่องประชามติก็ถูกนำมาอ้างเสมอเมื่อมีความพยายามแก้ไขรัฐธรรมนูญให้เป็นประชาธิปไตย
ประชามติครั้งนั้นจึงไม่ศักดิ์สิทธิ์ เพราะเกิดรัฐประหาร พ.ศ. 2557 ฉีกรัฐธรรมนูญ 2550 ทั้งฉบับ จากนั้นก็ไม่มีกลุ่มใดสนใจความชอบธรรมของรัฐธรรมนูญปี 2550 อีกเลย การใช้ประชามติสร้างความชอบธรรมครั้งแรกจึงไม่ได้ผล แต่ทำไมครั้งนี้จึงต้องมีการลงประชามติอีก คำตอบที่ชัดเจนคือ การลงประชามติไม่เพียงรับรองร่างรัฐธรรมนูญฉบับมึนจนโฮเท่านั้น แต่ยังรับรองความชอบธรรมของคณะรัฐประหาร 2557 ด้วย อย่างน้อยถ้าประชามติผ่านก็ยังอ้างได้ว่าประชาชนส่วนใหญ่เห็นด้วยกับกระบวนการทางการเมืองทั้งหมด
คงต้องกล่าวว่าการลงประชามติครั้งนี้เกิดขึ้นในสถานการณ์ที่เป็นเผด็จการมากยิ่งกว่าครั้งแรก เพราะภายใต้ คสช. ถูกมองว่าการละเมิดสิทธิมนุษยชนเป็นไปอย่างกว้างขวาง การกวาดล้างจับกุมผู้บริสุทธิ์เกิดขึ้นจนเป็นเหตุการณ์ปรกติ และยังมีการควบคุมความคิดในการรณรงค์ทางการเมืองอีกด้วย
ดังนั้น หากผลการลงประชามติคือรับร่างรัฐธรรมนูญ ก็ไม่ทำให้ร่างรัฐธรรมนูญฉบับที่จะประกาศใช้มีความชอบธรรมมากขึ้นแต่ประการใด แต่สะท้อนถึงความจนตรอกทางความคิดของชนชั้นนำ เพราะสิ้นปัญญาในการสร้างความชอบธรรมต่อระบอบปกครอง การลงประชามติจึงเป็นเพียงเกมเฉพาะหน้าที่ถูกมองว่าเป็นการรักษาเสถียรภาพชั่วคราวและสืบทอดอำนาจของฝ่ายรัฐประหารต่อไป
ปฏิกิริยาของฝ่ายประชาชน หากลงประชามติไม่รับร่างรัฐธรรมนูญและปฏิเสธคำถามพ่วงที่จะเพิ่มอำนาจให้วุฒิสมาชิกแต่งตั้งในการเลือกนายกรัฐมนตรีก็เท่ากับเป็นการแสดงฉันทามติปฏิเสธการรัฐประหารและชนชั้นปกครองเผด็จการที่จะสืบทอดอำนาจอย่างชอบธรรมตามกฎหมาย แม้ไม่ได้หมายถึงการล้มรัฐบาล พล.อ.ประยุทธ์ จันทร์โอชา หรือล้ม คสช. แต่ก็ทำให้อำนาจเหล่านี้ดำรงอยู่อย่างไม่ชอบธรรมต่อไป นี่คือสิ่งที่ฝ่ายประชาชนสามารถทำได้