วันจันทร์, พฤษภาคม 16, 2559

18 พฤษภาคม วันแห่งความเจ็บปวด ที่ชาวเกาหลีจะไม่มีวันลืม บทเรียนจากกวางจู สู้กว่า 20 ปี เพื่อนำคนผิดมาลงโทษ




https://www.youtube.com/watch?v=k10PgpN2dXc

18 พฤษภาคม วันแห่งความเจ็บปวด ที่ชาวเกาหลีจะไม่มีวันลืม

Jay Saingt

Uploaded on Jul 19, 2010


ooo


บทเรียนจากกวางจู “ประวัติศาสตร์ที่ไม่ถูกจดจำจะถูกซ้ำรอยเดิม”





20 ต.ค. 2558
โดย iLaw

หากกล่าวถึงเมืองสำคัญของประเทศเกาหลีใต้ คนไทยคงรู้จักเพียงกรุงโซล หรือปูซานเสียเป็นส่วนใหญ่ นอกจากเมืองข้างต้นแล้ว เกาหลีใต้ยังมีอีกเมืองหนึ่งที่น่าสนใจ คือ กวางจู (Gwangju) เมืองนี้เป็นเมืองทางตอนใต้ หากนั่งรถทัวร์มาจากสนามบินอินชอนจะใช้เวลาราว 4 ชั่วโมง ความสำคัญของเมืองนี้คือเป็นเมืองที่นักศึกษาและประชาชนร่วมกันลุกขึ้นต่อต้านเผด็จการทหารเมื่อวันที่ 18 พฤษภาคม 1980 เหตุการณ์นี้นับเป็นจุดเริ่มต้นของประวัติศาสตร์การเมืองเกาหลีใต้สมัยใหม่





นักศึกษาและประชาชนชาวกวางจู ชุมนุมเรียกร้องประชาธิปไตยในเหตุการณ์ May18 บริเวณลานน้ำพุ หน้าศาลากลาง

ช่วงเดือนกันยายน 2015 ผู้เขียนมีโอกาสไปเยือนเมืองกวางจู ในฐานะผู้เข้าร่วมโครงการ The May 18 Academic 2015 ซึ่งจัดโดยมูลนิธิ The May 18 Memorial โครงการนี้คัดเลือกนักกิจกรรมทางสังคม นักสิทธิมนุษยชน และผู้ที่ทำงานในภาคประชาสังคม จำนวน 20 คน จากประเทศด้อยพัฒนาด้านประชาธิปไตยและสิทธิมนุษยชนทั่วโลก มาร่วมแลกเปลี่ยนเรียนรู้เรื่องประชาธิปไตย สิทธิมนุษยชน และสันติภาพโดยใช้องค์ความรู้ทางประวัติศาสตร์การเมืองของประเทศเกาหลีใต้เป็นฐาน

เรื่องราวของขบวนการประชาธิปไตยที่กวางจูและเกาหลีใต้ไม่เป็นที่รับรู้มากนักในสังคมไทย แม้แต่ตัวผู้เขียนเองก็ไม่มีความรู้มาก่อน ดังนั้นการเดินทางมากวางจูครั้งนี้จึงเป็นช่วงเวลาที่เหมาะสม เพราะอยู่ในช่วงที่ประเทศไทยปกครองอยู่ภายใต้ระบอบเผด็จการทหารที่ละเมิดสิทธิมนุษยชนในหลากหลายรูปแบบ ช่วงเวลาประมาณสองสัปดาห์ที่กวางจูทำให้ผู้เขียนเห็นภาพเปรียบเทียบบางอย่างกับประเทศไทย จึงขอนำประสบการณ์จากการเดินทางครั้งนี้มาแบ่งปัน

การล้อมปราบนักศึกษาและประชาชนที่กวางจู

การเดินทางมาที่กวางจู ผู้จัดโครงการนี้ได้นำผู้เขียนและผู้เข้าร่วมโครงการเยี่ยมชมพิพิธภัณฑ์ สถานที่สำคัญทางประวัติศาสตร์ ซึ่งเกี่ยวข้องการเหตุการณ์ ‘การประท้วงเรียกร้องประชาธิปไตยที่กวางจูง’ (Gwangju Democratic Uprising) เมื่อวันที่ 18 พฤษภาคม 1980 หรือเหตุการณ์ ‘May18’ ซึ่งเป็นเหตุการณ์ที่นักศึกษาและประชาชนชาวกวางจูรวมตัวการประท้วงเรียกร้องให้รัฐบาลของนายพลชุน ดูวาน ประกาศยกเลิกกฎอัยการศึก รวมถึงเรียกร้องการปกครองระบอบประชาธิปไตย




มหาวิทยาลัยแห่งชาติโชนนัม (Chonnam National University) คือจุดเริ่มต้นของการประท้วง


การชุมนุมประท้วงที่กวางจูถูกรัฐบาลเข้าสลายการชุมนุมจากกองกำลังทหาร (paratroopers) ที่ฝึกฝนมาสำหรับทำสงคราม การสลายการชุมนุมทำให้การชุมนุมขยายไปทั่วทั้งเมืองมีประชาชนเข้าร่วมมากขึ้นจนมีจำนวนมากกว่าหนึ่งแสนคน ขณะเดียวกันรัฐบาลพยายามปกปิดข่าวและพยายามสร้างความชอบธรรมให้กับการเข้าปราบปรามโดยกล่าวอ้างว่าเหตุการณ์ที่เกิดขึ้นเป็นการก่อจลาจลของพวกป่วนเมืองที่ถูกครอบงำโดยสายลับเกาหลีเหนือและบรรดาพวกสนับสนุนคอมมิวนิสต์




ประชาชนชาวกวางจูตั้งกองกำลังของตนเพื่อตอบโต้กับทหาร


การถูกปราบปรามอย่างรุนแรงทำให้ประชาชนจำนวนหนึ่งรวมตัวกันเป็นกองกำลังติดอาวุธเพื่อปกป้องเมืองจากกองกำลังของรัฐบาล โดยประชาชนสามารถยึดศาลากลางและสถานีตำรวจ พร้อมทั้งขับไล่กองกำลังทหารออกจากเมืองไปได้ อย่างไรก็ตามกองกำลังทหารได้ล้อมเมืองอยู่ด้านนอกและตัดการติดต่อสื่อสารระหว่างเมืองกวางจูกับโลกภายนอก จนกระทั่งวันที่ 27 พฤษภาคม ทหารกว่า 20,000 นาย เข้าล้อมปราบปรามครั้งใหญ่และยึดสถานที่สำคัญคืนภายใต้กองเลือดของประชาชน

จากเหตุการณ์การปะทะกันตลอดระยะเวลา 10 วัน มีผู้บาดเจ็บมากกว่า 3,000 คน เสียชีวิต 500 คน นอกจากนี้ยังมีผู้ที่ต้องทนทุกข์ทั้งทางร่างกายและจิตใจจากความสูญเสียที่เกิดขึ้นอีกจำนวนมาก จนถึงปัจจุบันก็ยังไม่มีการยืนยันตัวเลขที่แน่ชัดว่ามีผู้บาดเจ็บและเสียชีวิตจากเหตุการณ์ดังกล่าวจำนวนเท่าไร




นำร่างผู้เสียชีวิตจากการสลายการชุมนุมเข้าโลงศพ




รูปถ่ายวีรชนผู้เสียชีวิตจากเหตุการณ์ May18


การรับรู้และรับชมเหตุการณ์ที่เกิดขึ้นทำให้อดนึกถึงประเทศไทยไม่ได้ เพราะเหตุการณ์ที่เกาหลีใต้ไม่ใช่เหตุการณ์ที่ใหม่สำหรับประวัติศาสตร์การเมืองไทย เราผ่านการต่อสู้และความเจ็บปวดมาหลายเหตุการณ์ เรามี “เหตุการณ์ขบวนการนักศึกษาและประชาชน 14 ตุลาคม 1973” ที่ได้สร้างวีรชนประชาธิปไตยจำนวนมาก เรามี “พฤษภาคมประชาธรรม 1992” ที่เห็นพ้องว่าเราจะไม่เอาอำนาจนอกระบบแล้ว เรามีบาดแผลจาก “เหตุการณ์ล้อมปราบนักศึกษา 6 ตุลาคม 1976” ที่บางคนอยากลืม บางคนอยากจำ นอกจากนี้ยังมีบาดแผลจากเหตุการณ์ร่วมสมัยที่ยังไม่สามารถสะสางได้อีก

เหตุการณ์ May18 แง่หนึ่งคือความเจ็บปวดของประชาชนเกาหลีใต้ที่ถูกกระทำอย่างโหดร้ายจากกองทัพ แง่หนึ่งคือจุดเริ่มต้นของความเป็นหนึ่งเดียวของสังคมเกาหลีใต้ที่ไม่ต้องการเห็นการกระทำอันโหดเหี้ยมไร้มนุษยธรรมจากรัฐ จนนำไปสู่การเรียกร้องให้แสวงหาความจริงเพื่อนำคนที่ทำผิดมาลงโทษ ขณะที่ประเทศไทยประชาชนยังคงต่อสู้และเจ็บปวดซ้ำแล้วซ้ำเล่า

สู้กว่า 20 ปี เพื่อนำคนผิดมาลงโทษ

ประชาชนชาวเกาหลีใต้ใช้ความพยายามไม่ต่ำกว่า 20 ปี ในการเรียกร้องให้รัฐบาลสมัยต่างๆ สืบสวนสอบสวนค้นหาความจริงในเหตุการณ์ May18 แม้แต่ในสมัยประธานาธิบดีโร แดวู หนึ่งในผู้สั่งการล้อมปราบเองก็ยังต้องตอบสนองข้อเรียกร้องของประชาชนด้วยการยกย่องเหตุการณ์ประท้วงที่กวางจูว่าเป็น “การเคลื่อนไหวเพื่อเรียกร้องประชาธิปไตย” (Democratization Movement) มีการผ่านกฎหมายจ่ายค่าชดเชยให้แก่ผู้เสียหายจากเหตุการณ์ และมีการนำอดีตประธานาธิบดีชุน ดูวานเข้าสู่การไต่สวนโดยรัฐสภา อย่างไรก็ตามการดำเนินการต่างๆ ยังไม่สามารถสร้างความพึงพอใจให้กับประชาชน




สุสานวีรชน May18 มีการสลักชื่อของชุน ดูวาน และโร แดวู ที่พื้นใครเดินเข้า-ออกต้องเหยียบตรงนี้ก่อน


แรงกดดันของประชาชนอย่างต่อเนื่องทำให้ในปี 1995 สภานิติบัญญัติแห่งชาติผ่าน “กฎหมายพิเศษเพื่อพิจารณาเกี่ยวกับเหตุการณ์การเรียกร้องประชาธิปไตยวันที่ 18 พฤษภาคม” (the Special Act Concerning the May 18 Democrazation Movement) โดยเจตนารมณ์ของกฎหมายฉบับนี้คือการดำเนินคดีกับบุคคลที่มีส่วนในการกระทำความผิดฐานละเมิดรัฐธรรมนูญ ซึ่งเป็นการเปิดทางให้มีการสืบสวนเพื่อลงโทษอดีตผู้นำประเทศคือชุน ดูวาน และโร แดวู ในฐานความผิดเป็นผู้สั่งการให้มีการใช้กำลังทหารเข้าปราบปรามประชาชนและการก่อกบฏ จนที่สุดสามารถนำอดีตประธานาธิบดีทั้งสองขึ้นศาล โดยชุน ดูวานถูกพิพากษาจำคุกตลอดชีวิต และโร แดวู ถูกพิพากษาจำคุก 17 ปี (อย่างไรก็ตามมีการนิรโทษกรรมให้ทั้งสองคนในภายหลัง)




โร แดวู (ซ้าย) และ ชุน ดูวาน (ขวา) ภาพจาก www.scpr.org


นอกจากนี้คำวินิจฉัยของศาลยังกลายเป็นบรรทัดฐานให้กับการออกกฎหมายฉบับอื่นๆ ที่ตามมาอีกหลายฉบับ ไม่ว่าจะเป็นการออกกฎหมายเพื่อยกย่องประชาชนที่เข้าร่วมการชุมนุม การเยียวยาความสูญเสีย และการค้นหาความจริงเกี่ยวกับเหตุการณ์

การส่งเสริมประชาธิปไตย และสิทธิมนุษยชน

ความแข็งขันและอดทนของภาคประชาชนสังคมเกาหลีใต้ ทำให้ในที่สุดการก่ออาชญากรรมรัฐที่กวางจูถูกสะสาง ผลสำเร็จนี้ส่วนหนึ่งมาจากเหยื่อผู้รอดชีวิตจากเหตุการณ์เรียกร้องประชาธิปไตย ในเดือนสิงหาคม 1994 พวกเขาก่อตั้งมูลนิธิ The May 18 Memorial เหตุผลหนึ่งของการก่อตั้งคือเพื่อเป็นอนุสรณ์เพื่อรำลึกถึงจิตวิญญาณการต่อสู้เพื่อประชาธิปไตยของประชาชน และเพื่อเตือนใจผู้คนรุ่นใหม่ให้เห็นถึงการละเมิดสิทธิมนุษยชนอย่างโหดเหี้ยมของรัฐบาลทหารที่กระทำต่อประชาชนในเหตุการณ์ May18

มูลนิธิ The May 18 Memorial ไม่ใช่แค่ทำงานเชิงรับ พวกเขาเห็นว่าเพื่อไม่ให้ชีวิตและเลือดเนื้อของเหล่าวีรชนสูญเปล่า พวกเขายังคงทำงานเชิงรุกอย่างต่อเนื่องเผยแพร่ประวัติศาสตร์และการต่อสู้เพื่อประชาธิปไตยของเกาหลีใต้ ตลอดจนเป็นส่วนหนึ่งของการพัฒนาประชาธิปไตย มูลนิธิมีการจัดทำแบบเรียนประวัติศาสตร์ซึ่งเกี่ยวกับการต่อสู้เพื่อประชาธิปไตยของเกาหลีใต้ มีการทำหนังสือการ์ตูนเพื่อปลูกฝังเยาวชนตั้งแต่เล็กๆ มีหอจดหมายเหตุเพื่อรวบรวมเอกสารที่เกี่ยวข้องกับเหตุการณ์ May18




สิ่งพิมพ์ของมูลนิธิ The May 18 Memorial


เป้าหมายของมูลนิธินี้ไม่ใช่แค่เพียงวางตำแหน่งแห่งที่ของตนเองอยู่ภายในประเทศเกาหลีใต้เท่านั้น แต่พวกเขาวางตำแหน่งแห่งที่ของตนเองในระดับนานาชาติด้วย พวกเขามีการจัดโครงการจำนวนมากเพื่อขยายจิตวิญญาณและการต่อสู้ของขบวนการประชาธิปไตย 18 พฤษภาคม เช่น การสร้างหลักสูตรอบรมเพื่อนักวิชาการหรือนักวิจัยจากต่างประเทศ การนำนักกิจกรรมทางสังคมและภาคประชาสังคมจากหลายประเทศมาเรียนรู้ การเผยแพร่ข้อมูลสู่สาธารณะ และการมอบรางวัล Gwangju Prize for Human Rights ซึ่งเป็นการมอบรางวัลให้กับบุคคลหรือองค์กรที่ต่อสู้เพื่อประชาธิปไตยและสิทธิมนุษยชน ผู้ที่ได้รับรางวัลนี้ในอดีต เช่น ออง ซาน ซูจี ผู้นำพรรคฝ่ายค้านประเทศพม่า และอังคณา นีละไพจิตร จากประเทศไทย

ผู้เขียนเห็นการทำงานของมูลนิธิ The May 18 Memorial ทำให้นึกถึงมูลนิธิในประเทศไทยที่น่าจะมีที่มาและรูปแบบคล้ายคลึงกัน เช่น มูลนิธิ 14 ตุลา และมูลนิธิพฤษภาประชาธรรม ด้วยความโลกแคบของผู้เขียนจึงขอยอมรับว่าแทบจะไม่รู้เลยว่าสองมูลนิธินี้ทำงานอะไรเพื่อรักษาสิ่งที่พวกเขาได้ต่อสู้กันมาอย่างเจ็บปวด นอกเสียจากการรำลึกถึงวีรชนในวันสำคัญซึ่งนับวันผู้เข้าร่วมงานจะเหลือเพียงแต่คนผมหงอกเท่านั้น

เอาเข้าจริงบทเรียนทางประวัติศาสตร์ของประเทศเกาหลีใต้ไม่ใช่สิ่งแปลกใหม่สำหรับประเทศไทย เรามีประสบการณ์ที่ดีและเลวซึ่งเหมือนและคล้ายคลึงกับเขา บางอย่างเกิดขึ้นซ้ำแล้วซ้ำอีกจนมากกว่าเขา ปัจจุบันเกาหลีใต้ยังปกครองด้วยระบบประชาธิปไตยอย่างไม่สะดุดมาเกือบสามทศวรรษ ปัจจุบันประเทศไทยยังคงวนกลับมาสู่การปกครองโดยทหารเป็นครั้งที่ 3 ในรอบเกือบสามทศวรรษ

อะไรคือความต่างระหว่างเรากับเกาหลีใต้?

ระหว่างที่ผู้เขียนเดินชมนิทรรศการเกี่ยวกับเหตุการณ์ May18 ที่หอจดหมายเหตุ 518 ผู้เขียนสะดุดกับประโยคหนึ่งซึ่งแสดงอยู่ในนิทรรศการว่า “Unremembered history repeats itself” ถ้าแปลเป็นไทยสำนวนของบัณฑิต จันทร์โรจนกิจ ก็หมายความว่า“ประวัติศาสตร์ที่ไม่ถูกจดจำจะถูกซ้ำรอยเดิม” และนั่นก็น่าจะเป็นเหตุผลง่ายๆ ว่าทำไมเรากับเกาหลีใต้จึงต่างกัน




หลุมฝังศพจำนวนมากที่ฝังเหล่าวีรชน เป็นเครื่องเตือนใจถึงความเลวร้ายของเผด็จการทหาร




ภาพวาดการสลายชุมนุมของทหาร




ภาพปัจจุบันบริเวณน้ำพุ หน้าศาลากลาง ซึ่งเป็นพื้นที่รวมตัวชุมนุมในเหตุการณ์ May18