วันอาทิตย์, พฤษภาคม 15, 2559

คลิปเสวนา เรื่อง “การร่างรัฐธรรมนูญ ประชาธิปไตย : บทเรียนจากป๋วยและปรีดี”




เสวนา เรื่อง “การร่างรัฐธรรมนูญ ประชาธิปไตย : บทเรียนจากป๋วยและปรีดี”
โดย รองศาสตราจารย์ ดร.สิริพรรณ นกสวน สวัสดี, ผู้ช่วยศาสตราจารย์
ดร.ปริญญา เทวานฤมิตรกุล และ
รองศาสตราจารย์สมชาย ปรีชาศิลปะกุล 

ในงาน“วันปรีดี ประจำปี 2559” วันพุธที่ 11 พฤษภาคม 2559 เวลา 10.15 น. 
ณ มหาวิทยาลัยธรรมศาสตร์ ท่าพระจันทร์
.....

เสวนา วันปรีดี พนมยงค์ 11 พฤษภาคม 2559 มหาวิทยาลัยธรรมศาสตร์ ท่าพระจันทร์




https://www.youtube.com/watch?v=zE9gjNpYKOk

เสวนา วันปรีดี พนมยงค์ 11 พฤษภาคม 2559 มหาวิทยาลัยธรรมศาสตร์ ท่าพระจันทร์


yingpsp

Published on May 12, 2016

เสวนา เรื่อง "การร่างรัฐธรรมนูญประชาธิปไตย : บทเรียนจากป๋วยและปรีดี"
ใน วัน ที่ 11 พฤษภาคม 2559 ที่ มหาวิทยาลัยธรรมศาสตร์ ท่าพระจันทร์ เรียนรู้ ต่อยอด ถกเถียง

ปกหลังหนังสือ ปรีดีบรรณานุสรณ์ 2559

ข้าพเจ้าไม่พึงประสงค์ที่จะให้มีระบอบเผด็­จการในประเทศไทย
ในการนี้ก็จำเป็นต้องป้องกันหรือขัดขวางมี­ให้อนาธิปไตย
อันเป็นทางที่ระบอบเผด็จการจะอ้างได้
ข้าพเจ้าเชื่อว่า
ถ้าเราช่วยกัน ประคองให้ระบอบประชาธิปไตยนี้
ได้เป็นไปตามระเบียบเรียบร้อย
ระบอบเผด็จการ
ย่อมมีขึ้นไม่ได้
ปรีดี พนมยงค์

.....

จาก FB

Siripan Nogsuan Sawasdee

ในฐานะที่ไม่ได้เป็น “คนธรรมศาสตร์” อดไม่ได้ที่จะรู้สึกภูมิใจที่ผู้จัดงานวันปรีดี ให้เกียรติร่วมเป็นวิทยากรเสวนาเรื่อง "การร่างรัฐธรรมนูญประชาธิปไตย: บทเรียนจาก ป๋วยและปรีดี" จึงนำสิ่งที่พูดในวันนั้น มาบันทึกไว้ ณ ที่นี้

อาจารย์ปรีดี เขียนหนังสือชื่อ “ประชาธิปไตยและรัฐธรรมนูญเบื้องต้น กับการร่างรัฐธรรมนูญ” ลงวันที่เขียน ในวันเกิดตัวเอง 11 พ.ค. 2517 ณ ชานกรุงปารีส เพื่อเป็นการระลึกถึงท่านในวันเกิด จึงนำงานเขียนชิ้นนี้เป็นกรอบในการวิเคราะห์ร่างรัฐธรรมนูญ 2559

อ.ปรีดี ให้ความหมายประชาธิปไตยว่า คือ “ระบอบที่ถือมติปวงชนเป็นใหญ่” และเชื่อว่า มนุษยชาติ รวมถึงคนไทย ใช้การปกครองที่ถือมติปวงชนเป็นใหญ่มาแต่บรรพกาลแต่ถูกทำลายลงด้วยระบบทาสและศักดินา

ในส่วนที่เกี่ยวกับรัฐธรรมนูญ มีประเด็นสำคัญที่ อ.ปรีดี กล่าวถึง ดังนี้

1. การมีบทเฉพาะกาลใน รธน. อ.ปรีดี ระบุชัดเจนว่า บทเฉพาะกาลไม่ได้ขัดขวาง ปชต เสมอไป แต่มีความจำเป็นในระยะหัวต่อแต่ต้องเป็นเรื่องชั่วคราว สิ่งสำคัญต้องดูว่า บทเฉพาะกาลนำไปสู่บทถาวรที่ประชาธิปไตย หรือ อมาตยาธิปไตย

รัฐธรรมนูญที่ไม่เป็นอมาตยาธิปไตย เมื่อหมดบทฉพาะกาล ประชาชนจะเป็นผู้เลือกสมาชิกรัฐสภา ได้แก่
- ธรรมนูญการปกครองแผ่นดินชั่วคราวฉบับ 24 มิถุนายน 2475
- รัฐธรรมนูญ 10 ธันวาคม 2475
- รัฐธรรมนูญฉบับ 2489 ไม่ใช่อมาตยาธิปไตยเพราะพฤฒสมาชิก และสมาชิกสภาผู้แทนเป็นผู้ที่ราษฎรเลือกตั้งขึ้นมาจึงไม่ใช่ “อำมาตย์” และมาตรา 24 กับ 29 กำหนดไว้ว่าพฤฒสมาชิก และสมาชิกสภาผู้แทนต้องไม่เป็นข้าราชการประจำ ในขณะนั้นต้องถือว่าก้าวหน้ามาก

รัฐธรรมนูญที่เป็นอมาตยาธิปไตย ได้แก่
- รัฐธรรมนูญฉบับ 9 พ.ย. 2490 (ใต้ตุ่ม) เป็นอมาตยาธิปไตย เพราะ วุฒิสมาชิกมาจากการแต่งตั้ง
- รัฐธรรมนูญฉบับ 2492 เป็นอำมาตยาธิปไตยครบถ้วนทั้งบทถาวรและบทเฉพาะกาล เพราะบทถาวรกำหนดไว้ว่าวุฒิสมาชิกเป็นผู้ที่มาจากการแต่งตั้ง และบทเฉพาะกาลได้ยกยอดวุฒิสมาชิกซึ่งได้รับแต่งตั้งตามฉบับ 2490 (ใต้ตุ่ม) ให้เป็นวุฒิสมาชิกตามฉบับ 2492 ด้วย
- รัฐธรรมนูญฉบับ 2517 เนื่องจากวุฒิสมาชิก แม้จะมาจากการเลือกตั้งทางอ้อมโดย ส.ส. แต่ ส.ส. ต้องเลือกวุฒิสมาชิกจากบัญชีลับ

วุฒิสภาจึงเป็นตัวบ่งชี้ว่า รัฐธรรมนูญเป็นของประชาชนหรือของอภิสิทธิ์ชน อ. ปรีดีเน้นว่า อภิสิทธ์ชนหมายความรวมถึงลูกสมุนที่ยอมตนเป็นเครื่องมือของอภิสิทธิ์ชนด้วย ถ้าหากตัวแทนของอภิสิทธิ์ชนได้เป็นวุฒิสมาชิกโดยไม่ต้องรับเลือกจากราษฎร อภิสิทธิ์ชนกับลูกสมุนก็สามารถผูกขาดอำนาจการปกครองไว้โดยเด็ดขาดตลอดกาล

สำหรับบทเฉพาะกาลร่าง รธน 2559 บัญญัติไว้ในมาตรา 262-279 จะมีผลบังคับใช้ 5 ปี

สาระสำคัญอยู่ที่ การได้มาซึ่งนายกรัฐมนตรี: หากมีกรณีที่ไม่อาจแต่งตั้งนายกรัฐมนตรีจากรายชื่อที่พรรคแจ้งไว้ ให้ ส.ส. ไม่น้อยกว่าครึ่งหนึ่งขอให้รัฐสภายกเว้น โดยโหวตร่วมกับ ส.ว. ด้วยคะแนนเสียง 2 ใน 3 ความหมายคือ ให้อำนาจวุฒิสภาลงคะแนนร่วมกับ ส.ส. ให้ ส.ส.เลือกนายกรัฐมนตรีที่อาจไม่ได้มาจากการเสนอชื่อของพรรคการเมือง และ/หรือไม่ได้มาจากการเลือกตั้ง

2. อ.ปรีดีให้ความสำคัญกับสมาชิกรัฐสภาประเภทที่ 2 นั่นคือ ให้พิจารณา วุฒิสภา ว่ามีไว้เพื่อ “ช่วยพยุง” ประชาธิปไตยให้ทรงตัวอยู่ได้แล้วก้าวหน้าต่อไป หรือเอามา “ถ่วงอำนาจ” สภาผู้แทนราษฎร

เมื่อนำมาวิเคราะห์ ร่าง รธน 2559 จะเห็นว่า ที่มาและอำนาจของ ส.ว. ถูกออกแบบมาถ่วงอำนาจ ส.ส. โดยมีที่มาจากการแต่งตั้ง>>> สว 250 คน>>> 50 คน คสช. แต่งตั้งจากบัญชีของ กกต. + 194 คน คสช. แต่งตั้งจากบัญชีของ คกก.สรรหา + 6 คน ได้แก่ปลัดกระทรวงกลาโหม ผู้บัญชาการเหล่าทัพ และผู้บัญชาการตํารวจ วาระ 5 ปี

3. ระบบเลือกตั้งที่เชื่อใน 1 คน ต้องมี 1 เสียงเสมอกัน อ.ปรีดีระบุชัดเจนว่า ไม่เห็นด้วยกับระบบเลือกตั้งที่รวมเขตจังหวัด ทำให้จังหวัดที่มี ส.ส ได้หลายคน ประชาชนออกเสียงได้มากกว่า 1 เสียง ขัดกับหลักการเสมอภาค

ระบบเลือกตั้งจัดสรรปันส่วนผสม (MMA) อาจส่งผลให้ มติประชาชนถูกบิดเบือนด้วยการให้โอกาสพรรคขนาดกลางมีบทบาทนำในการจัดตั้งรัฐบาล นอกจากนั้นการที่ให้มีบัตรใบเดียวเลือก ส.ส. เขตจะนำไปสู่การแข่งขันเลือกตั้งที่เน้นตัวบุคคลมากกว่านโยบายพรรค การซื้อเสียงจะสูงขึ้น เจ้าพ่อ เจ้าแม่ ผู้มีอิทธิพลท้องถิ่นจะกลับมา พรรคเล็กไม่สามารถแข่งขันได้ แรงจูงใจในการสร้างสถาบันพรรคการเมืองจะลดลง ประชาชนจะขาดความรู้สึกมีประสิทธิภาพทางการเมืองเพราะไม่ได้เป็นผู้เลือกนายกรัฐมนตรี และเกิดความสับสนระหว่างความชอบผู้สมัคร vs. พรรค vs. ผู้ถูกเสนอชื่อเป็นนายกรัฐมนตรี

4. คุณค่าของรัฐธรรมนูญ มี 2 ด้านที่อาจารย์ปรีดีให้ความสำคัญ คือ

a. ผู้ร่างกับสมาชิกสภานั้นมีทรรศนะยืนหยัดในปวงชนหรือไม่ หากผู้ร่างยืนหยัดในปวงชน บทบัญญัติในรัฐธรรมนูญนั้นก็กระจ่างชัดแจ้งว่าเป็นประชาธิปไตยที่ถือปวงชนเป็นใหญ่โดยไม่มีสิทธิพิเศษของอภิสิทธิ์ชนแฝงไว้

b. รธน. ต้องเป็นแม่บทสูงสุดแห่งกฎหมายทั้งหลาย ถ้ามีบทบัญญัติขัดกับ หลักการของ รธน. จะถือเป็นโมฆะ บทเฉพาะกาลมาตรา 265 ในร่างรัฐธรรมนูญ 2559 ยังคงอำนาจ คสช.ตาม รธน.ชั่วคราว (2557 และ แก้ไขเพิ่มเติม 2558) จนกว่า ครม.ชุดใหม่จะรับหน้าที่ ผลก็คือ เกิดสภาวะคู่ขนานของกฎหมายสูงสุดระหว่าง รธน. และ คำสั่งของ คสช. เช่น มาตรา 44 และ 13/2559 ดังนั้น การผ่านประชามติไม่ได้ทำให้ รธน. 2559 มีผลบังคับใช้อย่างเด็ดขาดในทันที

5. วิธีการร่าง รธน. ต้องกระทัดรัด ไม่มีมากมายหลายมาตราให้ฟุ่มเฟือย ใช้คำง่าย สามัญชนเข้าใจได้ และกล่าวว่า ถ้า รธน ฉบับก่อน ๆ มีบทบัญญัติที่เป็น ปชต อยู่แล้ว ก็ไม่ควรแยกออกเป็นมาตราใหม่ให้ฟุ่มเฟือย

คำถามพ่วงประชามตินั้นยากต่อการทำความเข้าใจของประชาชนทั่วไป ประโยคคำถามว่า>>> ท่านเห็นชอบหรือไม่ว่าเพื่อให้การปฏิรูปประเทศเป็นไปอย่างต่อเนื่องตามแผนยุทธศาสตร์ชาติ สมควรกำหนดในบทเฉพาะกาลว่าระหว่าง 5 ปีแรกนับตั้งแต่มีรัฐสภาชุดแรก ให้ที่ประชุมร่วมกันของรัฐสภาเป็นผู้พิจารณาให้ความเห็นชอบบุคคลซึ่งสมควรแต่งตั้งเป็นนายกรัฐมนตรี" อาจแปลงให้ง่ายขึ้นด้วยการถามว่า>>>

“ท่านเห็นชอบหรือไม่ว่าให้วุฒิสภาที่ไม่ได้มากจากการเลือกตั้ง เลือกนายกรัฐมนตรี ร่วมกับสมาชิกสภาผู้แทนราษฎร”

6. การทำประชามติ อ.ปรีดี มองว่าเป็นการให้ประชาชนออกเสียงโดยตรง ทำได้เฉพาะใน สักกะชนบทไม่เหมาะกับสังคมขนาดใหญ่ อาจเป็นเพราะในยุคสมัยนั้น ไม่มีเครื่องมือสื่อสารที่เชื่อมโยงสังคมได้กว้างขวางพอที่จะทำให้ประชาชนมีข้อมูลมากพอต่อการตัดสินใจ ประเด็นนี้นำมาสู่ คำถามพื้นฐานในการทำประชามติร่างรัฐธรรมนูญ 7 สิงหาคม 2559 กล่าวคือ การไม่แจกร่าง รธน. ทั้งฉบับให้ประชาชน แต่แจกเฉพาะบทสรุป จะมั่นใจได้อย่างไรว่าสรุปได้ตรงความหมาย และประชาชนจะได้รับข้อมูลที่จำเป็นครบถ้วน ถูกต้องอย่างตรงไปตรงมา โดยปราศจากอคติ

ในส่วนของอาจารย์ป๋วย อึ๊งภากรณ์ ขอยกข้อความนี้เป็นเครื่องเตือนใจ

“ผมมีความเชื่อมั่นอย่างแน่นแฟ้นในระบอบประชาธิปไตย และในศักดิ์ศรีของมนุษย์ทุกคน… การปฏิเสธไม่ให้สิทธิเหล่านั้นแก่เขา เพราะเขายากจนหรือเพราะเขาขาดการศึกษา ผมถือว่าเป็นความร้ายกาจอย่างหนึ่ง ผมเกลียดชังเผด็จการไม่ว่าจะมีรูปแบบสีสันอย่างใดก็ตาม ผมมีความเชื่อว่าระบอบประชาธิปไตยควรจะได้มาอย่างสันติวิธี เพราะผมต้องการหลีกเลี่ยงการใช้กำลังอาวุธในการรักษาอำนาจของรัฐบาล”

นอกจากนั้น บทความ “คุณภาพแห่งชีวิต ปฏิทินแห่งความหวัง จากครรภ์มารดาถึงเชิงตะกอน" ของอ.ป๋วย ได้เป็นแรงบันดาลใจให้คนรุ่นต่อมาได้สืบสานปณิธานที่ท่านได้วางไว้อย่างเป็นรูปธรรม เช่น การประกันสุขภาพถ้วนหน้า ที่นายแพทย์สงวน นิตยารัมพงษ์ เป็นผู้ริเริ่ม แต่เรากลับพบว่า ร่างรัฐธรรมนูญ 2559 ลดทอนสวัสดิการที่ประชาชนสมควรได้รับตามสิทธิ โดยเปลี่ยนถ้อยคำจาก “สิทธิในการได้รับบริการสาธารณสุขและ “สวัสดิการจากรัฐ” มาเป็น “บุคคลย่อมมีสิทธิได้รับบริการสาธารณสุขของรัฐ” นัยยะ คือ รธน 60 ตัดคำว่า สวัสดิการออก

การได้อ่านงานของ อ.ปรีดี และศึกษาวิธีคิดของ อ.ป๋วย และนำหลักคิดที่เห็นว่าเป็นประโยชน์มาใช้ในทางปฏิบัติจริง ๆ และนำมาเป็นแรงบันดาลใจ โดยเฉพาะในการร่าง รธน น่าจะเป็นวิธีการระลึกถึงอาจารย์ทั้งสองท่านในวันเกิด ที่ดีที่สุด