วันจันทร์, กรกฎาคม 22, 2567
ในบรรดาประโยคจีนที่มีคนไทยแปลผิด และ เข้าใจผิดมากที่สุด ผมว่าต้องมีประโยคว่า 知己知彼,百戰不殆 "รู้เขารู้เรา, รบร้อยครั้งชนะร้อยครั้ง" อย่างแน่นอน
Qi Men Alchemy
July 19
·
ในบรรดาประโยคจีนที่มีคนไทยแปลผิด และ เข้าใจผิดมากที่สุด ผมว่าต้องมีประโยคว่า
知己知彼,百戰不殆
"รู้เขารู้เรา, รบร้อยครั้งชนะร้อยครั้ง" อย่างแน่นอน
และผมมั่นใจเลยว่าทุกคนที่อ่านโพสต์นี้ต้องเคยได้ยินประโยคนี้มาแน่นอน
แต่มีใครรู้ไหมว่าประโยคนี้มันแปลผิด และก็ยังพยายามยัดเยียดความหมายผิดให้เรา ทำให้เราเข้าใจผิดไปไกลจากเดิมากเลย
วันนี้ผมอยากจะมาแชร์ ในมุมที่แหกคอกจากความเชื่อของคนไทยกันดูครับ
ใครสนใจติดตามอ่านกันได้เลยครับ
--------------------------------------------------
ประโยคนี้มาจากตำรา ซุนจื่อปิงฝ่า (孫子兵法) หรือ พิชัยสงครามซุนจื่อ ซึ่งเป็นประโยคสรุปของบทที่ 3 โดยบทที่ 3 ชื่อบทว่า แผนการโจมตี (謀攻)
ในบทที่ 3 ย่อหน้าแรกสุดจะเขียนไว้ว่า
孫子曰:凡用兵之法,
ซุนจื่อกล่าวว่า: กฏการใช้กำลังทหารพื้นฐาน
全國為上,破國次之;
ยึดประเทศอย่างสมบูรณ์เป็นเลิศ ทำลายประเทศเป็นรอง
全旅為上,破旅次之;
ยึดกองทัพอย่างสมบูรณ์เป็นเลิศ, ทำลายกองทัพเป็นรอง
全卒為上,破卒次之;
ยึดกองพลอย่างสมบูรณ์เป็นเลิศ, ทำลายกองพลเป็นรอง
全伍為上,破伍次之。
ยึดหมู่ทหารอย่างสมบูรณ์เป็นเลิศ, ทำลายหมู่ทหารเป็นรอง
是故百戰百勝,非善之善者也;
ดังนั้นคือ รบร้อยชนะร้อย, ไม่ใช่ผู้ที่เลิศอย่างแท้จริง
不戰而屈人之兵,善之善者也。
ไม่รบแต่ทหารศัตรูยอมสยบ, คือผู้ที่เลิศแท้จริง
คำว่า 全 ในโบราณหมายถึง "ผู้ปกครองที่จัดทุกสิ่งอย่างครบถ้วน/สมบูรณ์", ในบริบทนี้จึงหมายถึงการเข้าไปมีอำนาจอย่างสมบูรณ์ในสิ่งนั้่น ๆ ซึ่งในการทำสงครามก็คือการเข้าไปยึดและปกครองเองอย่างสมบูรณ์นั้นเอง
ประโยคก่อนสุดท้ายนี่น่าสนใจมากเพราะว่า ซุนจื่อกล่าวไว้อย่างชัดเจนตอนย่อหน้าแรกว่า "รบร้อยชนะร้อย, ไม่ใช่ผู้ที่เลิศอย่างแท้จริง"
ดังนั้นขึ้นบทมาซุนจื่อก็ประกาศชัดแล้วว่าเขาไม่ได้สนใจว่าต้องรบร้อยครั้ง ชนะร้อยครั้ง สิ่งที่ซุนจื่อสนใจมากกว่าคือ ทำยังไงให้สยบศัตรูโดยไม่ต้องรบ ทำยังไงให้ไม่เกิดความสูญเสีย ซึ่งซุนจื่อก็บอกว่า
ดังนั้นการทหารชั้นเลิศคือ:
- เลิศสุด - โจมตีแผนการ (伐謀) ของศัตรู
- รองมา - โจมตีการเป็นพันธมิตร (伐交) ของศัตรู
- ถัดมา - โจมตีกองทัพ (伐兵) ของศัตรู
- ห่วยสุด - โจมตีเมือง (攻城) ของศัตรู
ถ้าเรามองมาจากต้นบทเลยเราก็จะพบว่า จริง ๆ ที่ซุนจื่อต้องการคือ "ชนะร้อยครั้ง โดยไม่ต้องรบ"
--------------------------------------------------
ในก่อนจบบทที่ 3 ซุนจื่อยังบอกไว้ในย่อหน้าก่อนสุดท้ายอีกว่า หลักแห่งชัยชนะ ข้อแรกคือ
知可以戰與不可以戰者勝
"ผู้ที่รู้ว่าเมื่อไหร่สามารถรบได้ เมื่อไหร่ไม่สามารถรบได้ จะเป็นผู้ชนะ"
ยิ่งเป็นการตอกย้ำอีกว่า การจะเป็นผู้ชนะ ต้องรู้ด้วยว่าเมื่อไหร่สามารถรบได้ เมื่อไหร่ไม่สามารถรบได้ หรือพูดให้เข้าใจง่ายก็คือ เมื่อไหร่ควรรบแล้วทุ่มกำลัง เมื่อไหร่ควรรบแล้วถอย เมื่อไหร่ควรรบแล้วหนี เมื่อไหร่ควรรบแล้วหลอกล่อ หรือเมื่อไหร่ไม่ควรจะรบเลย (เช่น หนี หรือยอมแพ้ในศึกนั้นไปเลย)
--------------------------------------------------
ทำให้ย่อหน้าสุดท้ายของบทที่ 3 ซุนจื่อสรุปว่า
故曰:
โบราณกล่าวว่า:
知彼知己,百戰不殆;
รู้ศัตรู รู้ตนเอง, ร้อยการรบ ไม่อันตราย (จากการถูกบดขยี้)
不知彼,而知己,一勝一負;
ไม่รู้ศัตรู, แต่รู้ตนเอง, มีชัยหนึ่ง เผ่นหนีหนึ่ง (หมายถึงติดหนี้ได้ด้วย)
不知彼,不知己,每戰必敗。
ไม่รู้ศัตรู, ไม่รู้ตนเอง, ทุกการรบ แตกพ่ายแน่นอน (หมดตัวแน่นอน)
คำว่า 殆 แปลว่าอันตรายจากการถูกบดขยี้ - อักษรเดิม คือ การเหยียบย้ำบนศพ จนกระดูกแตก ในบริบทนี้ก็คือ เราโดนฆ่าจนศพเกลื่อนพื้นแล้วทหารก็ยังสู้รบอยู่บนศพเหล่านั้น
คำว่า 負 โบราณคือ คนก้มตัวแบกของ/สินค้า ซึ่งในบริบทนี้หมายถึง การเก็บของแล้วหนีเมื่อรบแพ้ ที่น่าสนใจก็คือ 負 ยังหมายถึงการติดหนี้ได้ด้วย
คำว่า 敗 โบราณคือ ด้านซ้ายคือ หอยเบี้ย หรือ ของมีค่า, ด้านขวาคือตีให้แตก ก็คือการทำลายทรัพย์สินของมีค่า ในบริบทนี้ก็คือการตีกองทัพให้แตกผ่าย แล้วทำลายของมีค่าทิ้ง
เป็นการสรุปจบบทที่ 3 อย่างสวยงาม
--------------------------------------------------
ดังนั้นจะเห็นว่า ประโยคว่า "知彼知己,百戰不殆。" มันไม่ได้แปลแบบที่คนไทยแปลว่า "รู้เขารู้เรา, รบร้อยครั้ง ชนะร้อยครั้ง"
แต่ความหมายจริง ๆ ของมันคือ "รู้ศัตรู รู้ตนเอง, ร้อยการรบ ไม่อันตราย (จากการถูกบดขยี้)"
ซึ่งก็คือ ถ้าเราเข้าใจตนเองและศัตรูแล้ว เมื่อต้องรบเราก็ไม่เสี่ยงที่จะถูกศัตรูโจมตีจนกองทัพย่อยยับ กลายเป็นซากศพเกลื่อทั้งสนามรบ
เพราะว่าถ้าเรารู้ศัตรูแล้ว วิเคราะห์แล้วเราสู้ไม่ได้ เราก็วางแผนหนี วางแผนรับมือ วางแผนลดการสูญเสียได้ ดังนั้นการที่ไปรบแล้วจะสูญเสียย่อยยับจนถึงกับถูกบดขยี้จึงเกิดขึ้นได้ยาก ถ้าในภาษาปัจจุบันก็คือ ไม่ถึงกับเจ๊งหรือหมดตัว หรือหนักกว่าคือ เป็นหนี้อีกต่างหาก
การเข้าใจว่ามันหมายถึง "ไม่อันตราย" ไม่ใช่ "ชนะร้อยครั้ง" ถือเป็นเรื่องสำคัญที่เปลี่ยนมุมมองของเราไปเยอะ เพราะว่ามันทำให้เราเข้าใจว่า การรบไม่จำเป็นต้องชนะเสมอไป บางครั้งเราก็ต้องวางแผนหนี ต้องวางแผนสละหรือเลิกอะไรไปด้วย
ทั้งยังเป็นการเน้นไปถึงการลดความเสี่ยง ลดความสูญเสีย ซึ่งเป็นส่วนสำคัญมากในปรัชญาของซุนจื่อ
ซึ่งสอนคล้องกับชีวิตจริงที่ บางสนามรบ (ทางธุรกิจ, การค้า) เราอาจจะไม่สามารถสู้ได้จริง ๆ วิธีที่ดีสุดอาจจะเป็นวิธีอื่น เช่น เป็นพันธมิตร หรือไม่ก็เปลี่ยนสนามรบไปรบที่อื่นแทน เพื่อรักษาทรัพยากรอันมีค่าต่าง ๆ ของเราไว้ ไม่ว่าจะเป็นเงิน เวลา คน
หรือถ้ามองแบบการลงทุนเพื่อให้เข้าใจง่ายคือ ทำยังไงให้ไม่สูญเสียเยอะ คือมันไม่ใช่ว่าทุกครั้งที่คุณลงทุนทันจะได้กำไร ที่เราต้องรู้คือ ทำยังไงไม่ให้สูญเสียจนหมดตัว ทำไงให้อยู่รอด ทำไงให้ได้ผลตอบแทนโดยรวมดี ซึ่งเราต้อง รู้ว่าเมื่อไหร่ควรขาย, เมื่อไหร่ cut loss, เมื่อไหร่ควรถือรอต่อ เป็นต้น
--------------------------------------------------
เรื่องการแปลผิด หรือ เข้าใจผิด นี้ไม่ได้มีผลแต่เฉพาะในแง่ของการทำธุรกิจ หรือการค้า แม้แต่วงการอภิปรัชญาจีน เช่น ในวิชาฉีเหมิน เมื่อแปลผิดก็กลายเป็นว่าเราใช้ฉีเหมินเพื่อมุ่งแสวงหาแต่หนทางที่จะเอาชนะเพียงอย่างเดียวเท่านั้น
ทั้งที่จริง ๆ บางทีสิ่งที่ดีที่สุดจากผังฉีเหมิน อาจจะบอกว่า ก็แค่เลิกทำ ก็แค่เปลี่ยน ก็แค่ถอยไป ก็แค่ยอมแพ้ หรือเป็นพันธมิตรแทน เป็นต้น
ใครศึกษาซุนจื่อ จะเข้าใจดีเลยว่า ซุนจื่อไม่ได้อยากให้เกิดการสูญเสียกับฝ่ายไหน ไม่ว่าจะเป็นฝ่ายตนเองหรือฝ่ายศัตรู ก็เลยทำให้ไม่ได้อยากจะรบอะไรกับใคร
แต่ที่ต้องรบเพราะว่ามันเป็นเรื่องสำคัญ เป็นความอยู่รอดของประเทศชาติและบ้านเมือง ประมาณว่าถ้าเราไม่รบ คนอื่นเขาก็มาตีเมืองเราอยู่ดี (เป็นเรื่องปกติในสมัยนั้น) ถ้าเราไม่ให้ความสำคัญกับการรบก็จะเกิดการสูญเสียอย่างยิ่งใหญ่กับประเทศนั้น ๆ ได้
ความจริงแล้ว "รู้ศัตรู รู้ตนเอง" อาจจะไม่จำเป็นต้องรบกันยังได้ ถ้าเราหาจุดที่มีประโยชน์ร่วมกันได้ เช่น พอรู้จักศัตรูแล้วก็พบว่า เขาอาจจะอยากได้อะไรจากเรา ส่วนศัตรูก็มีของที่เราอยากได้พอดี ก็เลยขอเจรจาแลกกันดีกว่า จะได้ไม่ต้องสูญเสียกำลังทหารและทรัพยากรไปเปล่าประโยชน์
ทรัพยากรต่าง ๆ ไม่ว่าจะเป็นชีวิต เวลา คน เงิน อุปกรณ์ อาหาร เป็นสิ่งมีค่า รักษาไว้ให้ดีที่สุด
รบเมื่อไม่มีทางเลือกเท่านั้นถึงเป็นเลิศสุด คุณเห็นด้วยไหมครับ?
ถ้าจะแปลแบบให้ถูกใจคนไทย อาจจะแปลว่า “รู้เขา รู้เรา, รบร้อยครั้ง รอดร้อยครั้ง” - คุณ Piyalak Nushim คอมเมนต์มาแล้วผมชอบว่า "รู้เขา รู้เรา, ร้อยรบ ไม่ย่อยยับ"
https://www.facebook.com/photo/?fbid=1005557648238769&set=a.507761728018366