จับความคำปราศรัยหาเสียงเลือกนายก อบจ.ที่ลำพูน จึงถึงบางอ้อว่าทำไมพรรคก้าวไกลเน้นนักหนากับการเลือกตั้งท้องถิ่น แม้ในระดับ อบจ.ดูจะยากเย็นแสนเข็ญ สู้กับแรงกระสุนของ ‘บ้านใหญ่’ ในแต่ละท้องที่อย่างลำเค็ญ
“ผมได้พยายามชี้ให้เห็นว่าแม้อำนาจและงบประมาณหลายส่วนยังคงกระจุกอยู่ที่รัฐราชการส่วนกลาง แต่องค์การปกครองส่วนท้องถิ่นยังคงสร้างการเปลี่ยนแปลงในระดับพื้นที่ได้” พริษฐ์ วัชรสินธุ นำนโยบายการศึกษาไปเป็นตัวตั้ง
ไม่ว่าเป้าหมายผ่อนคลายความเหลื่อมล้ำ จ้องดูนักเรียนในพื้นที่ซึ่ง “มีความเสี่ยงจะหลุดออกจากระบบการศึกษา” แล้วจัดสรรงบประมาณสมทบ อุดหนุนนักเรียนดังกล่าวในสังกัด อบจ. หรือว่าออกแบบเพิ่มคุณภาพหลักสูตร
กรณีหลังนี่ ยกตัวอย่างนำเอาประวัติศาสตร์เข้มข้นของเมืองลำพูน ไปใช้เป็นวัตถุดิบในการวิเคราะห์ชุดข้อมูล นอกนั้นจะเป็นการเพิ่มทักษะให้แก่ผู้สูงวัยในท้องที่ ทั้งด้านสุขภาพ และความรู้ในระบบดิจิทัล ทั้งหมดนั้นเพื่อแสดงให้เห็นระบบการบริหารจัดการ
“แม้วันนี้ก้าวไกลไม่ได้เป็นรัฐบาล แต่วิธีการหนึ่งที่จะทำให้แนวนโยบายของพรรคก้าวไกลเกิดขึ้นได้จริงในระดับจังหวัด” ‘ไอติม’ เปิดเผยระหว่างปราศรัยว่านี่คือ การนำ ‘รัฐบาลก้าวไกล’ มาไว้ที่จังหวัด อย่างน้อยๆ ๖ แห่งที่ก้าวไกลจัดส่งผู้สมัคร
อีกอย่างเพื่อเป็นการลบคำปรามาสที่ว่าก้าวไกลไม่เคยเป็นรัฐบาลจะไปรู้อะไร หากทีมก้าวไกลชนะเลือกตั้ง ได้นำเอานโยบายและแนวทางการบริหารงานไปใช้ได้ผล มันคือความสำเร็จทางการเมืองของพรรคก้าวไกลแล้วอย่างหนึ่ง