วันเสาร์, มีนาคม 25, 2566

คนอยู่ต่างประเทศ อยากเลือกตั้ง ต้องอ่าน


iLaw
16h

เลือกตั้ง 66: ไปเที่ยว-อยู่ต่างประเทศ รีบเช็คด่วน! เลือกตั้งนอกราชอาณาจักรต้องทำอะไรบ้าง?
17 มีนาคม 2566 ระเบียบคณะกรรมการการเลือกตั้ง ว่าด้วยการเลือกตั้งสมาชิกสภาผู้แทนราษฎรนอกราชอาณาจักร พ.ศ. 2566 (ระเบียบ กกต. เลือกตั้งนอกราชอาณาจักร) ถูกประกาศในราชกิจจานุเบกษา โดยมีสาระสำคัญที่ผู้มีสิทธิเลือกตั้งที่ประสงค์จะใช้สิทธิเลือกตั้งในต่างประเทศควรจะทราบเพื่อให้สามารถไปใช้สิทธิใช้เสียงได้อย่างถูกต้อง ดังนี้
+++ผู้มีสิทธิเลือกตั้งนอกราชอาณาจักรและวิธีการแจ้งขอใช้สิทธินอกราชอาณาจักร+++
คุณสมบัติของผู้มีสิทธิเลือกตั้งเลือกตั้งนอกราชอาณาจักรจะเหมือนกับคุณสมบัติของผู้มีสิทธิเลือกตั้งปกติ เช่น ต้องมีสัญชาติไทย มีอายุไม่ต่อกว่า 18 ปี ในวันเลือกตั้ง และเป็นผู้มีชื่อในทะเบียนบ้านติดต่อกันไม่น้อยกว่า 90 วัน รวมถึงไม่เป็นผู้มีคุณสมบัติต้องห้ามตามมาตรา 32 ของพ.ร.ป.การเลือกตั้งฯ เช่น ไม่ได้เป็นภิกษุ สามเณร ไม่ถูกคุมขังตามหมายของศาล หรือไม่อยู่ระหว่างถูกเพิกถอนสิทธิการเลือกตั้ง
.
สำหรับผู้มีสิทธิเลือกตั้งที่อยู่นอกราชอาณาจักร : ระยะเวลาการแจ้งใช้สิทธิเลือกตั้งนอกราชอาณาจักร กกต ประกาศ.กำหนดให้ผู้ประสงค์ใช้สิทธิเลือกตั้งนอกราชอาณาจักรแจ้งความประสงค์ขอใช้สิทธิระหว่างวันที่ 25 มีนาคม ถึง 9 เมษายน 2566 ในวันและเวลาราชการ ขณะที่ในระเบียบ กกต. ข้อ 21 กำหนดให้ผู้มีสิทธิเลือกตั้งไปแจ้งความประสงค์ขอใช้สิทธิก่อนวันเลือกตั้งไม่น้อยกว่า 30 วัน ก่อนวันเลือกตั้ง ซึ่งหากยึดตามระเบียบอย่างเคร่งครัด วันลงทะเบียนก็อาจขยายได้ถึง 14 เมษายน 2565 อย่างไรก็ดี ในทางปฏิบัติ กกต. ก็ประกาศวันลงทะเบียน ซึ่งวันหมดเขตสั้นกว่าวันสุดท้ายของกรอบเวลาที่กำหนดไว้ในระเบียบ โดยจากการสอบถามสายด่วนกกต. 02-141-8888 ได้รับข้อมูลว่าแม้ตามระเบียบจะกำหนดให้สามารถลงทะเบียนขอใช้สิทธิไม่น้อยกว่า 30 วัน ก่อนการเลือกตั้ง แต่ในทางปฏิบัติขอให้ลงทะเบียนในห้วงเวลาที่กกต.กำหนด
.
วิธีการแจ้งความประสงค์ใช้สิทธิเลือกตั้งนอกราชอาณาจักร ระเบียบ กกต.ข้อ 24 กำหนดผู้มีความประสงค์ยื่นคำร้องพร้อมแสดงหลักฐานเป็นบัตรประชาชน หรือเอกสารอื่นที่ราชการออกให้ที่มีรูปถ่ายและมีเลขประจำตัวประชาชน 13 หลัก ต่อเอกอัคราชทูตในประเทศที่อาศัยอยู่ หรือต่อเอกอัคราชทูตที่ประเทศที่พำนักอยู่ในเขตอาณา ระเบียบกกต. ข้อ 26 ยังกำหนดให้ผู้มีสิทธิเลือกตั้งสามารถแสดงความประสงค์ขอใช้สิทธิเลือกตั้งนอกราชอาณาจักรผ่านทางเว็บไซต์ที่ทางราชการกำหนดหรือทางแอพพลิเคชันของกรมการปกครองได้ด้วย
.
สำหรับประชาชนที่จะเดินทางออกนอกประเทศและมีความประสงค์จะไปใช้สิทธิเลือกตั้งนอกราชอาณาจักร : สามารถยื่นคำร้องต่อนายทะเบียนท้องถิ่นหรือนายอำเภอเพื่อขอใช้สิทธิก่อนวันเลือกตั้งภายในห้วงเวลาที่กกต.กำหนดข้างต้นได้เช่นกัน อย่างไรก็ดี รายละเอียดอาจต้องรอข้อมูลเพิ่มเติมจากกกต.เกี่ยวกับช่องทางการลงทะเบียนซึ่งกกต.จะประกาศต่อไปว่าสามารถทำได้ผ่านช่องทางใดบ้าง
.
จากการโทรศัพท์ไปสอบถามเจ้าหน้าที่กกต. ผ่านทางสายด่วนกกต.ได้รับข้อมูลเพิ่มเติมว่าผู้ประสงค์ใช้สิทธิเลือกตั้งนอกราชอาณาจักร ไม่จำเป็นต้องเป็นผู้มีถิ่นพำนักถาวรหรือพำนักระยะยาวในต่างประเทศ ขอเพียงลงทะเบียนขอใช้สิทธินอกราชอาณาจักรภายในเวลาที่กำหนดและเดินทางไปแสดงตัวหรือออกเสียงด้วยวิธีการอื่นตามที่สถานเอกอัคราชทูตนั้นๆกำหนดก็สามารถใช้สิทธิเลือกตั้งนอกราชอาณาจักรได้
.
กรณีที่ผู้มีสิทธิเลือกตั้งลงทะเบียนขอใช้สิทธิเลือกตั้งนอกราชอาณาจักรสำเร็จแล้ว แต่ต้องการเปลี่ยนกลับมาใช้สิทธิในประเทศ สามารถดำเนินการโดยแจ้งความประสงค์ขอถอนชื่อเพื่อกลับมาใช้สิทธิในราชอาณาจักร โดยต้องไปแจ้งความประสงค์และให้เอกอัคราชทูตคัดชื่อออกจากรายชื่อผู้มีสิทธิเลือกตั้งนอกราชอาณาจักรก่อนวันเลือกตั้งไม่น้อยกว่า 30 วัน (ดูระเบียบข้อ 28 ประกอบ 29 (2)) หากไม่ไปดำเนินการกับสถานทูตสามารถกลับมาแจ้งขอถอนชื่อจากฐานข้อมูลผู้มีสิทธิเลือกตั้งต่อนายทะเบียนอำเภอหรือนายทะเบียนท้องถิ่นที่ตนเองมีชื่ออยู่ในทะเบียนบ้านก่อนวันเลือกตั้งไม่น้อยกว่า 30 วัน กรณีที่ดำเนินการไม่ทันตามกรอบเวลาที่กำหนด ผู้มีสิทธิจะไม่สามารถใช้สิทธิเลือกตั้งในราชอาณาจักรได้
+++เอกอัครราชทูตมีอำนาจจัดการเลือกตั้ง อำนวยความสะดวกให้ผู้ไปใช้สิทธิ+++
ข้อ 10 ของระเบียบกกต.ฉบับนี้ กำหนดให้เอกอัครราชทูตมีอำนาจหน้าที่เช่นเดียวกับคณะกรรมการเลือกตั้งประจำเขตเลือกตั้ง ทำหน้าที่ตามที่ระเบียบกำหนด เช่น จัดการเลือกตั้ง กำหนดหน่วยเลือกตั้ง ที่เลือกตั้ง และแต่งตั้งคณะกรรมการประจำที่เลือกตั้ง เป็นต้น
.
ระเบียบในข้อ 10 วรรคสองให้อำนาจเอกอัคราชทูตจัดยานพาหนะรับส่งเพื่ออำนวยความสะดวกให้กับผู้มีสิทธิเลือกตั้งได้ด้วย นอกจากนั้นระเบียบข้อ 12 ยังให้อำนาจเอกอัคราชทูตเป็นผู้กำหนดวันเลือกตั้งใหม่หรือจัดให้มีการเลือกตั้งด้วยวิธีการอื่น ในกรณีที่มีเหตุจำเป็นเช่น การจลาจล อุทกภัย อัคคีภัย โดยหากมีเหตุขัดข้องข้างต้นสองครั้งติดต่อกันก็ให้เอกอัคราชทูตมีอำนาจสั่งงดการลงคะแนนด้วย (ดูข้อ 12 วรรคสอง)
.
สำหรับประเทศที่ไม่มีสถานเอกอัคราชทูตแต่อยู่ในเขตอาณา ซึ่งหมายถึงอยู่ในความดูแลของสถานเอกอัคราชทูตซึ่งตั้งอยู่ในประเทศอื่น ก็ให้เอกอัคราชทูตของประเทศนั้นๆ เป็นผู้ดำเนินการจัดการเลือกตั้งในประเทศที่อยู่ในเขตอาณาด้วย เช่น เอกอัคราชทูตประจำกรุงพริทอเรีย สาธารณรัฐแอฟริกาใต้ จะเป็นผู้จัดการลงคะแนนในประเทศที่อยู่ในเขตอาณา เช่น สาธารณรัฐแองโกลา สาธารณรัฐบอตสวานา และ ราชอาณาจักรเอสวาตินี เป็นต้น
+++เอกอัคราชทูตเคาะวันเลือกตั้ง ภายใน 10 วันนับแต่ประกาศ พ.ร.ฎ. เลือกตั้งทั่วไป+++
ระเบียบ กกต. กำหนดให้ ให้เอกอัคราชทูตกำหนดวัน เวลา วิธีการลงคะแนน และปิดประกาศให้ผู้มีสิทธิเลือกตั้งทราบ ภายในสิบวันนับจากมีพระราชกฤษฎีกาให้มีการเลือกตั้ง หากมีความจำเป็นต้องดำเนินการเปลี่ยนแปลงข้างต้นก็สามารถทำได้ โดยต้องประกาศให้ผู้มีสิทธิทราบไม่น้อยกว่า 10 วันก่อนวันลงคะแนนยกเว้นกรณีฉุกเฉิน จะประกาศเปลี่ยนแปลงน้อยกว่า 10 วันก็ได้
.
ในระเบียบ กตต. ยังเปิดช่องให้ การออกเสียงในต่างประเทศ สามารถดำเนินการมากกว่าหนึ่งวันได้ (ตามระเบียบข้อ 17 วรรคสามใช้คำว่าให้เอกอัครราชทูตกำหนดวันออกเสียงอย่างน้อยหนึ่งวัน) และการลงคะแนนในต่างประเทศไม่จำเป็นต้องดำเนินการพร้อมกันในวันเดียวกัน แต่จะต้องเกิดขึ้นก่อนวันเลือกตั้งทั่วไปในประเทศไม่น้อยกว่าเจ็ดวัน สำหรับวิธีการเลือกตั้ง ข้อ 18 ของระเบียบกำหนดให้สามารถใช้วิธีลงคะแนนทางไปรษณีย์หรือวิธีการอื่นที่ไม่ใช่การเลือกตั้งในสถานที่ออกเสียงได้ โดยให้คำนึงถึงความเหมาะสมของแต่ละประเทศ
+++ระเบียบ กกต. เปิดช่อง เอกอัครราชทูตจัดให้เลือกตั้งทางไปรษณีย์ได้+++
ระเบียบ กกต. ข้อ 49 กำหนดให้เอกอัคราชทูตประกาศวัน เวลา สถานที่ และวิธีการออกเสียง บัญชีผู้มีสิทธิเลือกตั้ง รวมถึงตัวอย่างบัตรเลือกตั้งในสถานที่เลือกตั้งหรือสถานที่ใกล้เคียงไม่น้อยกว่าสิบวันก่อนวันเลือกตั้ง ในวันเลือกตั้ง ระเบียบกกต.ข้อ 54 กำหนดให้ผู้มีสิทธิเลือกตั้งแสดงตัวพร้อมด้วยเอกสารสำคัญได้แก่บัตรประชาชน หรือบัตรประชาชนหมดอายุ หรือเอกสารที่ทางราชการออกให้โดยมีรูปถ่ายและหมายเลขประจำตัวประชาชน 13 หลักปรากฎอยู่ รวมถึงสามารถใช้ภาพเอกสารสำคัญที่เปิดผ่านแอปพลิเคชันของรัฐ เช่น แอป ThaID เป็นหลักฐานในการแสดงตัวได้ด้วย
.
สำหรับการเลือกตั้งนอกราชอาณาจักร นอกจากผู้มีสิทธิจะได้รับบัตรเลือกตั้งแล้วก็จะได้รับซองบรรจุบัตรเพื่อจำแนกบัตรส่งกลับไปนับที่เขตเลือกตั้งในประเทศด้วย โดยในขั้นตอนนี้ระเบียบ กกต. ข้อ 56 กำหนดว่าหลังทำเครื่องหมายในบัตรเลือกตั้งทั้งสองใบ ให้นำบัตรทั้งสองใบบรรจุลงในซอง แต่ยังไม่ปิดซอง ให้แสดงให้เจ้าหน้าที่ประจำหน่วยเห็นว่ามีบัตรเลือกตั้งบรรจุอยู่ทั้งสองใบจากนั้นจึงค่อยปิดซองและให้กรรมการประจำหน่วยเซ็นชื่อกำกับตรงรอยต่อที่ผนึกซอง จากนั้นจึงนำซองบรรจุบัตรเลือกตั้งไปหย่อนในหีบต่อหน้าเจ้าหน้าที่ เป็นอันแล้วเสร็จ (ระเบียบกกต. ข้อ 56)
.
นอกจากการมาลงคะแนนในสถานที่ที่สถานเอกอัคราชทูตประกาศไว้แล้ว ระเบียบกกต. ข้อ 62 ยังให้อำนาจเอกอัครราชทูต จัดให้มีการเลือกตั้งผ่านระบบไปรษณีย์ได้ โดยจะต้องส่งเอกสาร เช่น แนะนำวิธีการเลือกตั้ง บัตรออกเสียง ซองใส่บัตรที่ระบุจังหวัดและเขตเลือกตั้งของผู้มีสิทธิคนนั้นๆ รวมถึงต้องส่งรายชื่อผู้สมัครส.ส.เขต ตามทะเบียนบ้านของผู้มีสิทธิและรายชื่อแคนดิเดตนายกฯ ของแต่ละพรรคการเมืองไปให้ผู้มีสิทธิเลือกตั้ง พร้อมทั้งซองเอกสารติดแสตมป์จ่าหน้าถึงสถานเอกอัคราชทูต เพื่อให้ผู้มีสิทธิเลือกตั้งส่งบัตรเลือกตั้งที่ลงคะแนนแล้วกลับมาให้สถานทูตเพื่อดำเนินการจัดส่งบัตรมานับที่ประเทศไทยต่อไปด้วย โดยเอกอัคราชทูตจะเป็นผู้กำหนดวันรับคืนเอกสารและวันสุดท้ายของการรับคืนเอกสาร (บัตรเลือกตั้ง) ต้องก่อนวันเลือกตั้งในประเทศไม่น้อยกว่าเจ็ดวัน ซึ่งในกรณีนี้วันเลือกตั้งคือวันที่ 14 พฤษภาคม 2566 บัตรเลือกตั้งจะต้องถูกส่งกลับมาถึงสถานเอกอัคราชทูตภายในวันที่ 7 พฤษภาคม 2566
.
นอกจากการเลือกตั้งตามสถานที่ที่กำหนดและการเลือกตั้งโดยไปรษณีย์แล้ว ระเบียบกกต.ข้อ 67 ยังให้อำนาจเอกอัครราชทูตจัดให้มีการเลือกตั้งด้วยวิธีอื่นด้วย โดยจะต้องประกาศให้ผู้มีสิทธิทราบถึงหลักเกณฑ์และวิธีการภายใน 10 วันนับแต่วันที่มีพระราชกฤษฎีกาให้มีการเลือกตั้ง
+++หลังปิดหีบ ส่งบัตรกลับมานับในประเทศ แต่เปิดช่องให้นับคะแนนจากต่างประเทศได้+++
การดำเนินการหลังเวลาปิดหีบการเลือกตั้งนอกราชอาณาจักร มีสองลักษณะ หนึ่ง คือการนับคะแนนนอกราชอาณาจักร สอง คือการส่งบัตรเลือกตั้งกลับมานับในวันเลือกตั้งทั่วไป
.
1) การนับคะแนนนอกราชอาณาจักร ระเบียบกกต. ข้อ 44 กำหนดให้กกต. โดยความเห็นชอบของกระทรวงการต่างประเทศ สามารถจัดให้มีการนับคะแนนนอกราชอาณาจักรได้ หากจะเป็นการสะดวก และประหยัดกว่าการส่งบัตรเลือกตั้งกลับมานับคะแนนในประเทศ ในกรณีนี้ หลังเวลาปิดหีบเลือกตั้งนอกราชอาณาจักรในแต่ละพื้นที่ เอกอัคราชทูตหรือผู้ได้รับมอบหมายต้องคัดแยกบัตรเพื่อจัดเก็บเป็นรายจังหวัดและรายเขตเลือกตั้ง โดยต้องจัดให้มีเจ้าหน้าที่รักษาความปลอดภัยหีบจนกว่าจะมีการเบิกไปนับคะแนน (ดูระเบียบกกต.ข้อ 72) โดยเอกอัครราชทูตจะต้องประกาศสถานที่นับคะแนนก่อนวันนับคะแนนไม่น้อยกว่าห้าวัน (ดูระเบียบกกต.ข้อ 74)
.
หลังจากนั้นภายในเวลา 12 ชั่วโมง นับจากเวลา 17.00 น. ของวันเลือกตั้งในประเทศ ให้คณะกรรมการนับคะแนนได้รับแต่งตั้งจากเอกอัคราชทูตเบิกหีบเก็บบัตรเลือกตั้งจากที่เก็บมานับ โดยให้นับบัตรเลือกตั้งแบบแบ่งเขตจนหมดแล้วประกาศคะแนน จากนั้นจึงนับและประกาศคะแนนบัตรเลือกตั้งแบบบัญชีรายชื่อ จากนั้นจึงรายงานผลคะแนนให้เอกอัคราชทูตทราบต่อไป (ดูระเบียบกกต. ข้อ 75)
.
หลังการนับคะแนนนอกราชอาณาจักรแล้วเสร็จ คณะกรรมการนับคะแนนจะต้องจัดทำรายงานผลการนับคะแนนสามชุด แล้วแยกติดไว้ที่สถานที่นับคะแนน ใส่ไว้ในถุงชั้นนอกของถุงที่ใช้บรรจุบัตรลงคะแนนที่นับคะแนนแล้ว และรายงานเอกอัครราชทูตอย่างละชุด (ดูระเบียบกกต.ข้อ 81 และ 82)
.
หลังดำเนินการตามขั้นตอนเหล่านี้เอกอัคราชทูตหรือผู้ได้รับมอบหมายจะต้องรวบรวมผลการนับคะแนนทั้งแบบแบ่งเขตและแบบบัญชีรายชื่อส่งต่อคณะกรรมการการเลือกตั้งเพื่อนำไปรวมกับผลการนับคะแนนในประเทศต่อไป (ดูระเบียบกกต.ข้อ 82 - 86)
.
2) การนับคะแนนในราชอาณาจักร ระเบียบกกต.ข้อ 68 (2) กำหนดให้นำบัตรเลือกตั้งที่ผ่านการจำแนกเขตแล้วบรรจุลงถุงเมล์การทูตหรือหีบเลือกตั้ง สำหรับบัตรเลือกตั้งที่เอกอัคราชทูตได้รับหลังพ้นประกาศรับบัตร ให้เอกอัครราชทูตดำเนินการจัดส่งโดยเร็ว แต่หากเอกอัครราชทูตได้รับบัตรลงคะแนนที่ส่งทางไปรษณีย์หลังเริ่มมีการนับคะแนนในประเทศแล้วให้ถือเป็นบัตรเสีย นอกจากนั้นระเบียบกกต.ข้อ 70 วรรคสามยังกำหนดด้วยว่าบัตรเลือกตั้งนอกราชอาณาจักรที่จัดส่งไปถึงสถานที่นับคะแนนภายหลังจากที่เริ่มนับคะแนนไปแล้วให้ถือเป็นบัตรเสีย