วันศุกร์, มีนาคม 18, 2565

มหัศจรรย์เศรษฐกิจลิธัวเนียหลังโซเวียต (มิน่ายูเครนถึงสู้ตาย)


Theerapat CharoensukThe Wild Chronicles Group สมาคมผู้สนใจประวัติศาสตร์ สงคราม ข่าวต่างประเทศ
March 11 at 6:49 AM ·
·
มหัศจรรย์เศรษฐกิจลิธัวเนียหลังโซเวียต
วันนี้ (11 มีนาคม) ถือเป็นวันชาติและวันประกาศฟื้นฟูเอกราชของสาธารณรัฐลิธัวเนีย หนึ่งในสามชาติบอลติกที่แยกตัวออกจากสหภาพโซเวียตหลังคอมมิวนิสต์โซเวียตล่มสลาย ลิธัวเนียถือเป็นชาติเก่าแก่ของยุโรปตะวันออก เคยเป็นอดีตมหาอำนาจในนามเครือจักรภพโปแลนด์-ลิธัวเนีย (Commonwealth of Poland-Lithuania) ลิธัวเนียเข้าสู่ยุคทองในรัชสมัยพระเจ้าไวทอทัสมหาราช ได้ชัยชนะเหนือมองโกล มัสโควีรัสเซีย และติมูริดข่าน แต่ก็ถูกจักรวรรดิรัสเซียแบ่งแยกและกลืนชาติในเวลาต่อมา แม้ว่าจะมีการลุกฮือขึ้นต่อสู้เพื่อเอกราชหลายครั้ง แต่หลังสงครามโลก ลิธัวเนียก็ถูกโซเวียตรัสเซียรุกรานและผนวกรวมเป็นหนึ่งในรัฐบริวารในนามของสาธารณรัฐสังคมนิยมลิธัวเนียจนถึงปี 1990
ระหว่างการเป็นรัฐบริวารของโซเวียต ลิธัวเนียประสบความยากแค้นแสนสาหัส ประชาชนชาวลิธัวเนียถูกยึดทรัพย์สิน ที่ดิน ลบล้างภาษา บังคับให้เรียนภาษารัสเซีย บังคับอพยพไปบุกเบิกไซบีเรียมากกว่าแสนคน โดยบรรทุกไปในรถไฟขนส่งปศุสัตว์ แม้มีการต่อต้านในนาม miško broliai หรือภราดาแห่งพงไพร ที่ซ่อนตัวในป่าเพื่อลอบโจมตีทหารโซเวียต แต่ก็ไม่เป็นผล และมีผู้ถูกจับกุม กดขี่ ทำให้สูญหายมากมาย ทำลายโบสถ์วิหารเก่าแก่ที่สืบทอดมาตั้งแต่ครั้งสมัยการบุกเบิกของภาคีอัศวินทิวทอนิค รวมถึงความพยายามจะทำลายล้างเนินมหากางเขน (Hill of the crosses) สถานที่ศักดิ์สิทธิ์ของคริสตศาสนิกชนชาวลิธัวเนีย
ภายหลังนโยบายกลาสนอสต์ของกอร์บาชอฟ ได้มีการเคลื่อนไหวทางการเมืองเพื่อเรียกร้องเอกราชในลิธัวเนียเช่นเดียวกับชาติบอลติกอื่นๆ และมีการรณรงค์ประท้วงด้วยเสียงเพลง ไขว้มือประสานกันด้วยผู้คนยาว 600 กิโลเมตรจากกรุงทาลลินน์ของเอสโตเนีย กรุงริกาของลัทเวีย จรดกรุงวิลนิอุสของลิธัวเนีย เพื่อเรียกร้องเอกราชจากโซเวียต จนในที่สุด วันที่ 11 มีนาคม 1990 สภาสูงสุดของลิธัวเนียได้ประกาศเอกราชออกจากสหภาพโซเวียต เป็นประเทศแรกที่ออกจากม่านเหล็กอย่างเป็นทางการ แม้ว่ามีความพยายามทำรัฐทหารโดยทหารรัสเซียในเวลาต่อมา แต่มวลชนชาวลิธัวเนียจากทั้งประเทศก็มุ่งหน้าเข้าสู่กรุงวิลนีอุสเพื่อสกัดกั้นทหารรัสเซียจนไม่สามารถทำได้สำเร็จ หลังจากนั้นจึงได้ทำประชามติเพื่อประกาศอิสรภาพด้วยคะแนน 93.2% ของประชาชนทั้งประเทศ โดยมีไอซ์แลนด์เป็นประเทศแรกที่รับรองความเป็นรัฐเอกราชของลิธัวเนีย
เมื่อแรกที่ลิธัวเนียปลดแอกจากโซเวียต ลิธัวเนียเป็นประเทศยากจนที่ดำรงชีพด้วยการทำเหมือง ป่าไม้ และอุตสาหกรรมโลหะที่ใช้เครื่องจักรเก่าแก่จากโซเวียต รัฐบาลเอกราชของลิธัวเนียเริ่มต้นปฏิรูปเศรษฐกิจ ปฏิรูปการเงิน แปรรูปรัฐวิสาหกิจไร้ประสิทธิภาพที่ตกค้างมาจากสมัยโซเวียต
การปฏิรูปที่น่าสนใจเป็นอย่างยิ่งประการหนึ่งของลิธัวเนีย คือการแจกตั๋วเงินลงทุน (Investment Voucher) ให้แก่ประชาชน เพื่อให้ประชาชนเลือกลงทุนในรัฐวิสาหกิจที่ถูกแปรรูปได้อย่างอิสระ ทำให้การแปรรูปรัฐวิสาหกิจไม่ตกไปอยู่ในมือของกลุ่มนายทุนเฉพาะกลุ่มใดบางกลุ่ม และไม่เกิดชนชั้นธนกิจการเมือง (Oligarch) แบบที่เกิดขึ้นในยูเครน เบลารุสหรือรัสเซีย โดยพบว่า ตั๋วเงินลงทุนที่รัฐบาลแจกให้ชาวลิธัวเนีย 65% ถูกนำมาใช้ลงทุนคืนในรัฐวิสาหกิจที่แปรรูปแล้ว สร้างผลกำไร รายได้ และปันผล คืนให้แก่ประชาชนผู้ลงทุนอย่างเต็มเม็ดเต็มหน่วย และ 19% ถูกนำไปใช้ลงทุนในอสังหาริมทรัพย์ภาคที่อยู่อาศัย ทำให้ชาวลิธัวเนียปรับปรุงที่อยู่อาศัยดั้งเดิมยุคโซเวียตให้ทันสมัยขึ้น
จากทศวรรษ 1990 จนถึงปัจจุบัน เศรษฐกิจลิธัวเนียเติบโตขึ้นกว่า 5 เท่า โดยการเติบโตสูงสุดในทศวรรษ 2000 ลิธัวเนียสามารถเติบโตเฉลี่ยปีละ 12% และเติบโตสูงสุด 18.8% ในปี 2007 สามชาติบอลติก ได้แก่ ลิธัวเนีย ลัทเวีย เอสโตเนีย ถูกเรียกรวมกันว่า พยัคฆ์แห่งบอลติก (Baltic Tigers) โดยมีเอสโตเนียที่มุ่งเน้นพัฒนาด้านไอทีเป็นผู้นำ ตามด้วยลิธัวเนียที่พัฒนาอุตสาหกรรมการเกษตร สิ่งทอ แปรรูปไม้และไบโอเทคโนโลยี และลัทเวียที่พัฒนากาสิโนและสถานที่ท่องเที่ยวตากอากาศตามมา
ลิธัวเนียยังเป็นที่ตั้งของบริษัทเทคโนโลยีด้านเลเซอร์ที่ก้าวหน้าที่สุดระดับต้นๆ โดยส่งออกเครื่องเร่งความเร็วแสงพาราเมทริกระดับเฟมโตเซคันด์ที่กินส่วนแบ่งตลาดกว่า 80% ของอุปกรณ์ที่ใช้ทั่วโลก และระดับพิโคเซคันด์ครึ่งหนึ่งของโลก เทคโนโลยีเลเซอร์ที่ก้าวหน้าทำให้ลิธัวเนียก้าวจากประเทศเกษตรกรรมเป็นประเทศอุตสาหกรรมเทคโนโลยีนำสมัยได้สำเร็จ โดยรากฐานอุตสาหกรรมเลเซอร์ของลิธัวเนียเกิดจากแล็บค้นคว้าของมหาวิทยาลัยวิลนิอุส และต่อยอดการทำเป็นธุรกิจหลังรัฐบาลแปรรูปรัฐวิสาหกิจ ซึ่งได้รับคำสั่งซื้อเพื่อประกอบในโรงงานผลิตไมโครชิปของไต้หวัน ทำให้ความสัมพันธ์ของลิธัวเนีย-สาธารณรัฐจีน (ไต้หวัน)
แน่นแฟ้นถึงขนาดกล้าตั้งสำนักงานไต้หวันเทียบเท่าสถานทูตอย่างเป็นทางการโดยไม่ง้อสาธารณรัฐประชาชนจีน
ปัจจุบัน GDP ต่อหัวของลิธัวเนียอยู่ที่ประมาณ 20,233$ และค่าเฉลี่ยรายได้ครัวเรือนต่อปีอยู่ที่คนละประมาณ 8,274$ เมื่อเทียบกับประเทศไทยที่ 7,186$ และ 3,707$ ตามลำดับ เศรษฐกิจลิธัวเนียได้รับผลกระทบจากโควิด-19 ค่อนข้างน้อยเมื่อเทียบกับประเทศรอบข้าง เนื่องจากไม่ได้มีภาคการท่องเที่ยวและการบริการที่ใหญ่โต รวมถึงลิธัวเนียเป็นแหล่งผลิตสินค้าจำเป็นต่างๆ ทั้งด้านเกษตร สารเคมี ยา รวมถึงเป็นแหล่งป้อนไม้ให้เฟอร์นิเจอร์อีเกียที่ใหญ่ที่สุดอันดับ 4 ของโลก มีหนี้สาธารณะเพียง 36% ของ GDP ดุลงบประมาณเป็นบวกสูงถึง 129 ล้าน$ และเครดิตเรตติ้งระดับ A- จากมูดี้ส์ และ Stable จาก S&P ถือเป็นประเทศพัฒนาแล้วที่มีรายได้สูง ความเหลื่อมล้ำต่ำ และมีภาคการผลิตที่มั่นคง
จากความสำเร็จทางเศรษฐกิจ ทำให้ลิธัวเนียสามารถเข้าร่วมสหภาพยุโรปได้ในปี 2004 และใช้เงินยูโรแทนเงินลิตาสเดิมได้ในปี 2015 เข้าร่วมองค์กร NATO ในปี 2004 มีความเข้มแข็งทางเศรษฐกิจ สังคม และการเมืองระบอบประชาธิปไตยในระบบกึ่งประธานาธิบดี โดยพรรคแกนนำรัฐบาลเป็นฝ่ายขวากลางอนุรักษนิยมคริสเตียนร่วมกับพรรคเสรีนิยม แต่การบริหารท้องถิ่นส่วนมากอยู่ในการทำงานของพรรคสังคมนิยมประชาธิปไตย (ซ้ายกลาง) และประธานาธิบดีคนปัจจุบัน (Gitanas Nauseda) ชนะเลือกตั้งในนามอิสระ
ลิธัวเนีย เป็นอีกหนึ่งประเทศที่ประสบความสำเร็จหลังการแยกตัวออกจากโซเวียต ด้วยวิถีทางเปิดกว้าง โปร่งใส แปรรูปรัฐราชการที่ล้าหลัง ส่งเสริมการวิจัยพัฒนาเทคโนโลยียุคใหม่ และให้ประชาชนมีส่วนร่วมตามแนวทางประชาธิปไตยตามแบบตะวันตก
Happy Independence Day Lithuania!
https://data.worldbank.org/country/LT
https://lithuania.lt/.../laser-leader-lithuania-how-a.../
https://www.verslilietuva.lt/.../electronic-laser-industry/
https://techtaiwan.com/20211021/taiwan-lithuania-laser/
https://ec.europa.eu/.../best-practices/lithuania/1892
(ภาพงานฉลองวันชาติลิธัวเนีย)