วันพุธ, กุมภาพันธ์ 16, 2565

บทบรรณาธิการมติชน : อย่าซ้ำเติมความทุกข์ยากให้ประชาชน กรณีกระทรวงสาธารณสุขประกาศเตรียมปรับแนวทางการดูแลรักษาผู้ป่วยติดเชื้อโควิด-19 ออกจากสิทธิยูเซ็ป หรือสิทธิรักษาฟรีสำหรับอาการป่วยฉุกเฉิน



บทบรรณาธิการ : อย่าซ้ำเติมประชาชน

16 ก.พ. 2565
มติชนออนไลน์

สร้างความวิตกกังวลให้ประชาชนในสังคม กรณีปลายสัปดาห์ก่อนมีกระแสข่าวว่า กระทรวงสาธารณสุขประกาศเตรียมปรับแนวทางการดูแลรักษาผู้ป่วยติดเชื้อโควิด-19 ออกจากสิทธิยูเซ็ป (UCEP:Universal Coverage for Emergency Patients) หรือสิทธิรักษาฟรีสำหรับอาการป่วยฉุกเฉิน

ให้ประชาชนใช้สิทธิรักษาตามที่ตนเองมี เช่น สิทธิบัตรทอง ประกันสังคม ประกันสุขภาพ ตลอดจนสวัสดิการข้าราชการเช่นเดียวกับการป่วย โรคอื่นๆ โดยจะเร่งลงนามให้มีผลบังคับใช้ภายในวันที่ 1 มี.ค.นี้ อย่างไรก็ตามต่อมาเลขาธิการสำนักงานหลักประกันสุขภาพปฏิเสธว่า กรมสนับสนุนบริการสุขภาพซึ่งมีอำนาจหน้าที่ดูแลเรื่องนี้

ยังไม่มีนโยบายปลดโควิด-19 ออกจากยูเซ็ปแต่อย่างใด

สิทธิยูเซ็ป คือ สิทธิการรักษาตามนโยบายรัฐบาลเพื่อคุ้มครองผู้ป่วยฉุกเฉินวิกฤต ให้สามารถเข้ารับการรักษาในโรงพยาบาลทุกแห่งโดยไม่ต้องเสียค่าใช้จ่ายจนพ้นวิกฤต หรือสามารถเคลื่อนย้ายได้อย่างปลอดภัย แต่ไม่เกิน 72 ชั่วโมง โดยประชาชนที่เป็นผู้ป่วยฉุกเฉินวิกฤตที่เข้าเกณฑ์การคัดแยก มีสิทธิในการใช้สิทธิยูเซ็ป

ที่ผ่านมาโรคโควิด-19 ถือเป็นภาวะฉุกเฉิน จัดเข้าอยู่ในสิทธิยูเซ็ปตั้งแต่ปี 2563 ซึ่งกำหนด ให้ผู้ป่วยโควิดเป็นผู้ป่วยฉุกเฉินจำเป็นต้องได้รับ การรักษาพยาบาลเร่งด่วนจากสถานพยาบาล โดยประชาชนสามารถเข้ารับการรักษาฟรีไม่ว่า โรงพยาบาลรัฐหรือเอกชน โดยไม่ต้องจ่ายส่วนต่างใดๆ แม้จะเข้ารักษาโรงพยาบาลเอกชน ยกเว้นการขอใช้สิทธิเพิ่มเติมเพื่ออำนวยความสะดวก

ให้เป็นสิทธิของผู้ป่วยหรือญาติตกลงยินยอมกับโรงพยาบาล

ผลกระทบต่อประชาชนหากปลดโควิดออกจาก ยูเซ็ป คือผู้ป่วยโควิดที่ต้องการรักษาฟรี จะเข้าได้เฉพาะโรงพยาบาลที่ตนเองมีสิทธิบัตรทอง สิทธิประกันสังคม ประกันสุขภาพ และสวัสดิการราชการเท่านั้น การเข้ารักษาโรงพยาบาลเอกชนที่ไม่ได้มีสิทธิใดๆ อยู่ ต้องจ่ายค่ารักษาเองทั้งหมดทุกบาททุกสตางค์ ไม่สามารถเบิกจ่ายกับภาครัฐได้

ขณะที่สถานการณ์โควิดปัจจุบันยังอยู่ช่วงวิกฤต จำนวนผู้ป่วยติดเชื้อมากกว่า 1 หมื่นรายต่อวัน ประกอบกับวิกฤตเศรษฐกิจ แพงทั้งแผ่นดิน หลายคนรายได้ไม่พอรายจ่าย การปลดโควิดออกจาก ยูเซ็ป นอกจากเป็นการผลักภาระให้โรงพยาบาลของรัฐ เสี่ยงต่อปัญหาคนไข้ล้นโรงพยาบาล

ยังเป็นการซ้ำเติมความทุกข์ยากให้ประชาชนอีกด้วย