วันพฤหัสบดี, สิงหาคม 22, 2562

์New Mandala : ยุคของ “แดง ปะทะ เหลือง” ในประเทศไทยจบแล้วจริงหรือ?





ยุคของ “แดง ปะทะ เหลือง” ในประเทศไทยจบแล้วจริงหรือ?


JAMES BUCHANAN - 21 AUG, 2019
New Mandala


ประชาธิปไตยไทยขณะนี้เหมือนใบบัวที่ห่อหุ้มการปกครองแบบเผด็จการไว้ หลังจากที่ถูกแช่แข็งมาร่วมห้าปี การเมืองไทยขณะนี้ก็กลับมาร้อนระอุอีกครั้ง และมีการแบ่งฝักแบ่งฝ่ายกันมากยิ่งกว่าเดิม—แต่จะแบ่งกันเป็นแนวไหน

การที่พรรคเพื่อไทยขาดประสิทธิภาพในการเลือกตั้งครั้งที่ผ่านๆมา ประกอบกับการปรากฏตัวของพรรคอนาคตใหม่ ทำให้นักวิเคราะห์บางท่านคิดว่ามีการเปลี่ยนแปลงบางอย่างเกิดขึ้นในการเมืองไทย “ยุคสีแดงสีเหลืองมันจบไปแล้ว (The era of Red versus Yellow is over)” แอนดรูว์ แม็กเกรเกอร์ มาร์แชลล์ ประกาศไว้หลังจากการเลือกตั้งเดือนพฤษภาคม “ตอนนี้ความขัดแย้งยิ่งชัดเจนขึ้นไปอีก—ประชาธิปไตยปะทะเผด็จการ อิสระภาพเจอกับการเทิดทูนบูชาราชวงศ์ อนาคตกับเหล่าไดโนเสาร์”

เมื่อไม่นานมานี้ เจมส์ ไวส์ อดีตนักการทูตประเทศออสเตรเลีย ก็ได้เขียนความเห็นกล่าวถึงการสิ้นสุดของการเมือง “แดงกับเหลือง” และการอุบัติขึ้นของ “สองขั้วใหม่ ฝ่ายสนันสนุนทหารหรือฝ่ายต่อต้านทหาร”

ฐิตินันท์ พงษ์สุทธิรักษ์ นักรัฐศาสตร์ ตั้งข้อสังเกตไว้ในบทความหนังสือพิมพ์บางกอกโพสต์ว่า “เส้นแบ่งทางความคิดที่เกิดขึ้นใหม่นั้นเป็นเรื่องของยุคสมัยและอุดมการณ์ (Newer fault lines are generational and ideological in orientation)” หากไม่มีการเชื่อมช่องว่างระหว่างวัยอย่างเพียงพอ ประเทศไทยก็จะมุ่งเข้าสู่ “ความขัดแย้งที่ไม่ได้เกี่ยวเนื่องกับทักษิณและอริของเขา แต่เป็นความขัดแย้งระหว่างประชาชนที่เติบโตในช่วงยุคสงครามเย็นกับประชาชนที่เติบโตในช่วงปลายศตวรรษที่ 21

ข้อความด้านบนเหล่านั้นไม่ได้ให้คำอธิบายอย่างเพียงพอว่าวิกฤติทางการเมืองของประเทศไทยในยุคที่เรียกกันว่า “แดงปะทะเหลือง” นั้นคืออย่างไรแน่ อีกทั้งไม่ได้อธิบายการคาดการณ์ว่าต่อไปจะเป็นอย่างไรแม้แต่น้อย เพราะที่จริงแล้วสาระสำคัญของสถานการณ์การเมืองของประเทศไทยก็ไม่ได้เปลี่ยนแปลงไปเลย

คนไทยหลายคนประจานกลุ่มคนเสื้อแดงว่าเป็นเชื้อร้ายต่อร่างกายการเมืองไทย ดังเช่นที่ ธงชัย วินิจจะกูล กล่าวไว้ ขณะเดียวกันในมุมมองของผู้สังเกตการณ์ภายนอก การได้เห็นความเกลียดชังที่หยั่งรากลึกของคนที่มีต่อกลุ่มคนเสื้อแดง และต่อการที่กลุ่มคนเสื้อแดงคบค้าสมาคมกับทักษิณ หรือการสมัครใจใช้กำลังในการเคลื่อนไหวแม้เพียงส่วนน้อยก็ทำให้ผู้สังเกตุการณ์เกิดความรู้สึกขัดแย้งในใจกับการที่จะเรียกการเคลื่อนไหวเหล่านั้นว่าเป็นการเคลื่อนไหวเพื่อประชาธิปไตย ดังนั้นเสมือนกับว่าได้ขจัดความรู้สึกที่เหมือนน้ำขุ่นออกไป จึงเป็นการดีที่ได้ประกาศว่ายุคของ “แดงปะทะเหลือง” ถึงกาลอวสานแล้ว เพราะนั่นหมายถึงว่า “เชื้อร้าย” ได้รับการรักษาและทุกอย่างในประเทศได้กลับมาสู่สภาพปกติอีกครั้ง

คนเสื้อแดงมักจะออกมาเคลื่อนไหวเพื่อการเลือกตั้งและการเลือกผู้แทน ซึ่งประเด็นก็ไม่ได้แตกต่างออกไปจาก “ประชาธิปไตยปะทะเผด็จการ” ที่นักวิจารณ์ทั้งหลายเอ่ยถึงว่าเป็นสาเหตุของการแบ่งแยกประเทศไทยจากการเลือกตั้งครั้งล่าสุด การเคลื่อนไหวทั้งหลายโดยคนเสื้อแดงที่เป็นไปเพื่อปัจจัยขั้นพื้นฐานสำหรับประชาธิปไตยนั้น เริ่มจากที่ผู้คนมากหน้าหลายตาออกมาต่อต้านการรัฐประหารในปี 2549 จนกระทั่งถึงวันที่มีการเปลี่ยนผ่านอำนาจไปยัง อภิสิทธิ์ เวชชาชีวะ ในปี 2551-2554 แล้วจบลงด้วยฝูงชนที่คราคร่ำกันมาสนับสนุนรัฐบาลของยิ่งลักษณ์ ณ ถนนอักษะ ในปี 2557 ต่อมาพอมีคนในสังคมจำนวนมากออกมาต่อต้านการเคลื่อนไหวเหล่านั้นก็แสดงให้เห็นถึงการแบ่งฝักฝ่ายที่ฝังลึกอยู่ในสังคมไทย และเป็นฝักฝ่ายที่เวียนวนอยู่กับสองแนวคิดที่แตกต่างกัน

แนวคิดหนึ่งคือกลุ่มคนที่หวังให้ประเทศไทยเป็นรัฐชาติสมัยใหม่ ที่ประชาชนมีสิทธิที่ได้รับการรับรองตามรัฐธรรมนูญอย่างเท่าเทียมกัน โดยความเท่าเทียมกันนี้ให้ผูกพันถึงราชวงศ์และองค์กรต่างๆของรัฐด้วย อีกทั้ง ศาล หน่วยงานราชการ และกองทัพ ให้มีหน้าที่เพื่อรับใช้สาธารณะ โดยอำนวยการตามกฎหมายและนโยบายจากผู้แทนที่มาจากการเลือกตั้ง

อีกแนวคิดหนึ่งคือกลุ่มคนที่ยึดติดอยู่กับเศษซากอดีต ที่มีสถาบันกษัตริย์เป็นศูนย์กลางของชีวิตประชาชนคนไทย โดยแนวคิดนี้ไม่สอดคล้องกับงานของเบเนดิกต์ แอนเดอร์สันเรื่องความสัมพันธ์ฉันท์มิตรสหายที่เท่าเทียมกัน (deep horizontal comradeship) กล่าวคือ ชาติไทยไม่ได้มีความสัมพันธ์เช่นมิตรสหายที่เท่าเทียมกัน แต่เป็นความสัมพันธ์ที่มีลำดับชั้นจากบนลงล่าง ที่คนไทยบางคนถูกตัดสินว่าด้อยกว่าคนอื่น โดยสิ่งนี้จะเห็นได้ชัดในกลุ่มคนที่มาจากแถบภาคเหนือและอีสาน ซึ่งครั้งหนึ่งเคยเป็นรัฐบรรณาการของสยาม

คนที่อยู่ตรงกลางวิถีโคจรของแนวคิดนี้ก็จะได้เสพสุขบนสถานะอันสูงส่ง เช่น บรรดาข้าราชการในหน่วยงานใหญ่ที่ได้รับโองการให้บริหารประเทศที่ได้รับประโยชน์จากการบริหาร และกองทัพที่ได้รับสิทธิพิเศษให้เข้ามาเกี่ยวกับกับการเมือง

เป็นเรื่องธรรมดาที่สองแนวคิดที่แตกต่างกันอย่างยิ่ง เช่น แนวคิดการมีผู้แทน กับ แนวคิดการมีลำดับชั้นการปกครอง จะแตกแขนงออกไปอย่างกว้างขวางเป็นความขัดแย้งในส่วนอื่นของสังคมไทย เป็นต้นว่า ส่วนกลางกับรอบนอก เมืองกับต่างจังหวัด คนมั่งมีกับคนยากไร้ ข้าราชการกับเอกชน ดังนั้นยุคที่เรียกว่า “แดงปะทะเหลือง” จึงจัดเป็นประเด็นความแตกต่างในทางพื้นที่ กลุ่มชาติพันธุ์ภาษา และชนชั้นวรรณะ เสียมากกว่า

ที่กล่าวไปทั้งหมดข้างต้นนั้นล้วนเป็นคำอธิบายที่ชัดเจนถึงแต่ละแนวคิดที่ต่างฝักต่างฝ่าย แต่กลับไม่ได้อธิบายถึงว่าอะไรคือสาเหตุที่ทำให้เกิดเป็นความขัดแย้งปะทุขึ้นมา อีกทั้งไม่ได้อธิบายถึงการดิ้นรนว่าใครจะเป็นตัวแทนด้านการเมือง และประเทศควรจะมีระบบการเมืองแบบใด

ฉะนั้น ยุค “แดงปะทะเหลือง” ยุติลงแล้วใช่หรือไม่? ถกเถียงกันว่ามันได้ยุติลงแล้วเกือบสิบปี ตั้งแต่สมัยที่กลุ่มคนเสื้อเหลืองพันธมิตรประชาชนเพื่อประชาธิปไตยลดบทบาท ผลัดมือให้กับกลุ่มชาตินิยมและฝั่งขวารายอื่น เช่น กลุ่มเสื้อหลากสีที่นำโดยนายแพทย์ตุลย์ สิทธิสมวงศ์ หรือองค์กรพิทักษ์สยาม นำโดยพลเอกบุญเลิศ แก้วประสิทธิ์ และม็อบนกหวีดหรือคณะกรรมการประชาชนเพื่อการเปลี่ยนแปลงประเทศไทย นำโดยสุเทพ เทือกสุบรรณ แต่ไม่ว่าพวกเขาจะย้อมเปลี่ยนสีเสื้อที่ใส่ออกมาเคลื่อนไหวอย่างไร ก็คงจะปิด “สีเหลือง” เดิมนั้นไม่มิด

การระดมพลขนาดใหญ่ของเสื้อแดงที่เข้าปิดถนนก็ผ่านไปแล้วหลายปี แต่พวกเขายังคงมีการเคลื่อนไหวอย่างต่อเนื่อง แต่เป็นไปในรูปแบบการพบปะสมาคม โดยที่กรุงเทพฯ มีศูนย์กลางการพบปะที่ศูนย์การค้าอิมพีเรียลลาดพร้าว และสำหรับกลุ่มเล็กๆที่ยิบย่อยลงไปนั้นก็มีการพบปะกันอยู่รอบนอก กลุ่มคนเสื้อแดง แตกต่างออกไปจากกลุ่มเสื้อเหลืองตรงที่พวกเขาไม่เห็นว่ามีความจำเป็นที่จะต้องเปลี่ยนสีเสื้อของตนเองแต่อย่างใด ตัวตนความเป็น “แดง” ยังคงยืนหยัดแข็งแกร่งสำหรับบรรดาผู้เข้าร่วมการเคลื่อนไหว เสื้อแดงที่สวมใส่ ความเป็นสมาชิกที่ยึดถือ และสิ่งละอันพันละน้อยจะถูกเก็บรวบรวมไว้ด้วยความระมัดระวัง ไกลจากสายตาสอดส่องของเจ้าหน้าที่ทหารที่อาจจะมาเยี่ยมเยือนโดยไม่ได้รับเชิญ

หากป้ายสีแดงไม่ได้ถูกนำออกมาชูขึ้นอีกก็ไม่ได้สลักสำคัญเนื่องจากว่าผู้เข้าร่วมการเคลื่อนไหวทางการเมืองก็คือคนคุ้นหน้าคุ้นตาที่มาจากกลุ่มคนเสื้อแดง เฉกเช่นเดียวกับกลุ่มคนเสื้อเหลืองยามออกมาเคลื่อนไหวภายใต้รูปลักษณ์ใหม่ในฐานะคนอุดมการณ์ขวาจัด และทั้งสองฝ่ายนี้ก็จะยังคงวนเวียนแข่งกันอยู่ร่ำไปไม่มีที่สิ้นสุด

ต่อมาเมื่อพรรคอนาคตใหม่พร้อมทั้งนักกิจกรรมรุ่นใหม่ปรากฎตัวขึ้น พวกเขาก็กลายมาเป็นหัวข้อที่น่าสนใจสำหรับผู้สังเกตการณ์ภายนอก ซึ่งก็เป็นเรื่องที่เข้าใจได้ไม่ยากนัก เนื่องจากพวกเขายังเยาว์ การศึกษาดี ทันสมัยและมีความสร้างสรรค์ หัวหน้าพรรคดูมีเสน่ห์และปราศจากเรื่องราวอื้อฉาวสะสมมาจากอดีต นอกจากนี้ยังมีความเป็นสากลและสามารถเข้าถึงได้

กระนั้นพรรคอนาคตใหม่กลับมีความสัมพันธ์ใกล้ชิดกับกลุ่มคนเสื้อแดงเกินกว่าที่ใครหลายคนจะยอมรับ โดยจะเห็นได้จากการที่พวกเขาจับมือกับพรรคเพื่อไทยภายหลังจากการเลือกตั้ง คนที่มีแนวคิดฝ่ายขวาเองก็รับรู้ในจุดนี้ จึงเป็นสาเหตุที่ทำให้พรรคอนาคตใหม่และผู้สนับสนุนของพรรคได้รับความรังเกียจเดียดฉันท์เช่นเดียวกับที่สงวนไว้สำหรับทักษิณและพรรคเพื่อไทย

ถ้าจะกล่าวว่าความทุกข์ตรมผสมกับความโกรธแค้นและสับสนของประเทศไทยที่สะสมมาช้านาน ได้ขยายอิทธิพลมาถึงคนรุ่นใหม่ด้วยแล้ว ก็ไม่ได้เป็นกล่าวเกินจริง แต่มีสิ่งที่น่าสนใจคือ ในช่วงเริ่มแรกของความขัดแย้งของสองฝั่งแนวคิดของไทยนั้น เราจะเห็นบรรดาแกนหลักส่วนมากจะอยู่ในช่วงอายุ 50-60 ปี นั่นหมายความว่าเหล่าแกนหลักนี้คือคนเดือนตุลา ผู้เคยมีประสบการณ์ด้านการเมืองที่โหมขึ้นมาก่อนแล้วตอนที่พวกเขายังเยาว์ และตรงนี้เองเป็นจุดที่ทำให้เห็นว่าการดิ้นรนเรื่องอัตลักษณ์ของประเทศไม่ใช่เรื่องที่เพิ่งจะเกิดขึ้น เพียงแต่ที่ผ่านมาคนไทยรุ่นยุคศตวรรษที่ 21 ไม่ค่อยได้ให้ความสนใจด้านการเมืองเท่าใดนัก เพิ่งจะมาสนใจกันก็ในขณะนี้

เราไม่ควรที่จะด่วนสรุปไปว่าประเทศไทยกำลังเผชิญกับความขัดแย้งอันเนื่องมาจากยุคสมัยและช่วงวัย ในเมื่อคนรุ่นก่อนก็ยังมีความขัดแย้งกันเอง คนไทยรุ่นใหม่ไม่ได้ต่อต้านคนยุคก่อนเสียทีเดียวเพียงแต่ว่าพวกเข้าต่อต้านผู้คนที่มีแนวคิดอุดมการณ์ฝ่ายขวา และยิ่งถ้าจะให้ควบรวมคนไทยรุ่นใหม่เข้ากับฝ่ายใดในสองขั้วความคิดที่ขัดแย้งกันอยู่ ก็คงจะต้องลงเอยที่ฝั่งที่มีความคิดหัวก้าวหน้ามากกว่า ดังนั้นพวกเขาจึงถูกตัดสินว่าเป็นเพื่อนร่วมทางของกลุ่มคนเสื้อแดงไปโดยปริยาย คล้ายกับครั้งการประท้วงของขบวนการประชาธิปไตยใหม่โดยกลุ่มนักศึกษาในปี 2558 ที่นอกเหนือจากนักศึกษาแล้วผู้เข้าร่วมยังคงเป็นกลุ่มคนเสื้อแดงในจำนวนที่เท่าๆกัน แม้ว่าการประท้วงในครั้งนั้นจะไม่ได้เกี่ยวข้องกับครั้งปัจจุบันนี้ แต่ความคล้ายคลึงกันในแง่ของการตัดสินควบรวมกันยังคงปรากฏชัด ตัวอย่างเช่น คุณป้าคุณน้าเสื้อแดงชื่นชมและสนับสนุนนักร้องวงฮิปฮอป Rap Against Dictatorship

แม้จะมีข้อสงสัยหลายประการเกี่ยวกับการเลือกตั้งครั้งล่าสุด แต่จากความสำเร็จของพรรคพลังประชารัฐและอนาคตใหม่ ก็สามารถกล่าวได้ว่าความเป็นกลางทางความคิดกำลังพังทลาย มีคนไทยที่รวมตัวกันเป็นกลุ่มก้อน สนับสนุนพรรคใหม่ๆที่มีแนวคิดหลากหลายมากขึ้น คนไทยอุดมการณ์ฝ่ายขวาที่ความมั่นคงทางภววิทยา (Ontological Security) ของพวกเขาได้แหลกสลายไป ก็ลงคะแนนให้กับพรรคทหาร แสดงให้เห็นถึงความคิดที่แข็งกร้าวขึ้น สืบเนื่องมาจากมาจากเหตุการณ์ความวุ่นวายทางการเมือง และการสวรรคตของพระราชาภูมิพล

และการที่คนไทยหลายคนแสดงความประสงค์ทางการเมืองโดยลงคะแนนให้กับพรรคอนาคตใหม่ ทำให้คนไทยอุดมการณ์ฝ่ายขวาเดือดดาล และทำให้สถานการณ์ของประเทศไทยยิ่งซ้ำร้าย แม้ว่าหลายคนจะหวังใจไว้ว่าพรรคนี้จะเป็นทางออกตรงกลางสำหรับความขัดแย้ง แต่เนื่องจากด้วยอุดมการณ์อันเยาว์วัยและการเข้าร่วมแคมเปญวิพากษ์วิจารณ์กฎหมายหมิ่นพระบรมเดชานุภาพในอดีต ทำให้พรรคอนาคตใหม่ถูกมองว่าเป็นพวกหัวรุนแรงและก่อให้เกิดความปลุกปั่นแตกแยกในประเทศไทย

การเข้ามามีบทบาทของการเมืองโดยคนรุ่นใหม่ได้มีขึ้นมานานแล้ว มีมาเสียก่อนตั้งแต่พรรคอนาคตใหม่จะปรากฏตัวขึ้น จะเห็นได้จากผู้สร้างสรรค์รุ่นเยาว์ที่แสดงความเห็นทางการเมืองปรากฏชัดบนสกรีนเสื้อยืด ปาดระบายไว้บนกำแพง และร้องกึกก้องออกมาจากเนื้อเพลง เพราะว่าการอยู่ภายใต้ “ลุงตู่” มานานถึงห้าปีมันช่าง “ไม่เท่” เสียจนพวกเขาต้องลุกขึ้นมาต่อต้าน กลุ่มชาตินิยมและอุดมการณ์ฝั่งขวาก็ช่างไร้เหตุผล ไร้ยางอาย และต้องการจะยัดเยียดความคิดของตัวเองที่มีต่อประเทศไทยมากจนพยายามที่จะกีดกันคนไทยรุ่นใหม่จำนวนมหาศาล

นักวิเคราะห์บางท่านตั้งคำถามว่า ถ้าความพยายามในรัฐสภาล้มเหลว ( อาจมีการระดมพลคนรุ่นใหม่ที่สนใจการเมืองออกมาเคลื่อนไหวเพื่อประท้วงหรือไม่ แต่คำถามที่ดีกว่านั้นคือ การระดมผลเพื่ร่วมมือกันออกมาเคลื่อนไหวระหว่าง “Futuristas” และคนเสื้อแดงจะประสบความสำเร็จอย่างไร จะว่าไปการเคลื่อนไหวที่มาจากกลุ่มคนที่สถานภาพและวัยต่างกันในปัจจุบันอาจเป็นไปได้ก็ได้

ยุค “แดงปะทะเหลือง” ยังไม่เชิงว่ายุติ อย่างน้อยที่สุดคือยังไม่ยุติในแง่ที่ว่าแกนหลักก็ยังคงแบ่งออกเป็นสองฝักฝ่ายและยังคงเป็นสาเหตุที่ซุกซ่อนอยู่ในปัญหาต่างๆของประเทศไทย ทว่า “แดงและส้ม” ที่กำลังจะมีขึ้นนั้นอาจมีพลังแผ่ออกไปได้ไกล ก็คงต้องรอดูกัน

แปลและเรียบเรียง โดย มณสิการ ยอดนิล

ที่มา