จะเอา ๗ ท่า ๘ ตัว หรือ ๗ ธนาคาร ๙ บัญชี
มันก็กะลาแลนด์ด้วยกัน นอกจาก “เด็กไทย (ไม่) ก้าวไกลด้วยเทคโนโลยี่” แล้ว “ธนาคาร (ก็) ไม่บูรณาการข้อมูลบัญชีจากสาขาต่างๆ ด้วยเทคโนโลยี”
ได้เช่นกัน
(ฉันใดก็ฉันนั้น คัตเอ๊าท์
๘ ตัว ๗ ท่า ตั้งแทนตัว พล.อ.ประยุทธ์ จันทร์โอชา สำหรับเด็กๆ
ได้ถ่ายเซลฟี่ในโอกาสวันเด็กแห่งชาติ ไม่มีคุณค่าอะไรมากกว่าเป็นสัญญลักษณ์แห่งการปลอมแปลงและสวมรอย)
ประโยคเกี่ยวกับธนาคารนั่นคัดมาจากตอนหนึ่งในทวี้ตของ
อจ.กานดา นาคน้อย “กรณีคนโดนขโมยบัตรประชาชนไปเปิดบัญชีธนาคาร ทั้งๆ ที่เจ้าของอายัดบัตรแล้วเป็นเพราะอะไร”
(@kandainthai)
เธอประมาณการว่า
ถ้าไม่ใช่เหตุผลข้างต้นก็น่าจะเป็นอีกอย่างหนึ่งอย่างใดในสองข้อต่อมา คือ “ธนาคารบูรณาการแล้วแต่พนักงานเลินเล่อเอง”
หรือ “ธนาคารบูรณาการแล้วแต่มีคอมมิชชันให้พนักงานที่ทำยอดบัญชีใหม่ เป็นแบบไหนต้องถามธนาคาร”
กรณีหลัง เรื่องพนักงานแข่งกันทำยอดนี่
ใครที่อยู่อเมริกาคงได้ยินข่าวใหญ่ปีกว่ามาแล้ว เมื่อธนาคารยักษ์ภาคตะวันตกสหรัฐ ‘เวลส์ฟาร์โก’ ถูกเรียกไต่สวนในรัฐสภา
หลังจากปรากฏว่าพนักงานพยายามทำยอดด้วยการเปิดบัญชีเก๊เป็นล้านๆ บัญชี
ของไทยไปไกลกว่า แม้จะมีแค่
๙ บัญชีเปิดใหม่ปลอมที่กระจายไป ๗ ธนาคาร แต่ก่อผลกระทบร้าวลึกถึงระบบการบังคับกฎหมายและการศาล
เพราะคนที่ตกเป็นเหยื่อของกระบวนการฉ้อฉลนี้ กลับตกเป็นผู้ต้องหาโดนคดีเสียเอง
หญิงวัย ๒๔ ติดคุกฟรี ๓
วัน เนื่องจากกระเป๋าเก็บเงินหายบนรถเมล์พร้อมบัตรประชาชน แล้วมีมิจฉาชีพนำบัตรประชาชนของเธอไปเปิดบัญชีใช้สำหรับลวงล่อโอนเงินเข้าในขบวนการต้มตุ๋น
เกือบสามเดือนต่อมาธนาคารแจ้งเบาะแสว่ามีการเคลื่อนไหวเงินผิดปกติ
เธอจึงไปแจ้งความไว้กับสถานีตำรวจนนทบุรี
ขณะเดียวกันที่จังหวัดตากมีหญิงวัยกลางคนเข้าแจ้งความ
ว่าถูกแก๊งต่างชาติหลอกให้ร่วมลงทุนซื้อที่ดิน จากนั้นมีคอลเซ็นเตอร์ปลอมลวงว่าเป็นศุลกากรเก็บภาษี
ให้โอนเงินเข้าบัญชี น.ส. ณิชา เกียรติธนะไพบูลย์ ผู้ที่บัตรประชาชนหาย
ทาง สภ.บ้านตากได้ออกหมายจับเธอในข้อหาฉ้อโกง
ครั้นเมื่อเธอไปรายงานตัว กลับถูกควบตัวไว้ทันทีและไม่ยอมให้ประกัน
น.ส.ณิชาผุ้เสียหายในกรณีนี้จึงต้องเสียอิสรภาพไปตั้งแต่เมื่อวันที่ ๖ มกรา จนกระทั่งศาลยอมให้ประกันปล่อยออกมาเมื่อเช้าวันนี้
(๑๐ มกรา)
(ดูรายละเอียดที่ https://today.line.me/TH/pc/article/G9nZ7Z?utm_source=ttshare)
การนี้มีคำชี้แจงจากสำนักงานตำรวจฯ
โดยพ.ต.อ.กฤษณะ พัฒนเจริญ รองโฆษกฯ แถลงว่า “พนักงานสอบสวนได้ดำเนินการตามพยานหลักฐานอยู่แล้วด้วยความตรงไปตรงมา
เพื่อให้ความเป็นธรรมกับทั้งฝ่ายผู้เสียหายที่สูญเสียเงินจากการถูกหลอก
และน.ส.ณิชา ที่ถูกคนร้ายนำบัตรประชาชนไปเปิดบัญชีด้วย”
ทางด้าน พล.ต.ต.ไมตรี
ฉิมเฉิด ผบ.ปราบปราม ชี้แจงว่าขณะนี้มีการประสานระหว่างส่วนกลางกับ สภ.ตากแล้ว
และจะมีการประชุมผ่านระบบวิดีโอเสียด้วย ทั้งยังมีคำแนะนำอีกว่า
“อยากฝากเตือนไปยังประชาชนเป็นอุทาหรณ์ หากบัตรประชาชนหรือเอกสารสำคัญหาย
ให้ไปลงบันทึกประจำวัน ก่อนทำบัตรใหม่ เพื่อใช้เป็นหลักฐานปกป้องตนเองหากเกิดกรณีเช่นนี้”
ทว่าจากลำดับเหตุการณ์ที่เกิด
น.ส.ณิชาได้ไปแจ้งความไว้เมื่อวันที่ ๑๑ ธันวา ๖๐
แล้วหญิงสาวที่ถูกแก๊งต่างชาติต้มตุ๋นไปแจ้งความที่ สภ.บ้านตาก ออกหมายจับ
น.ส.ณิชาเมื่อ ๖ มกรา ๖๑ ห่างกันเกือบเดือน
เป็นความบกพร่อง
สะเพร่า หรือกระทั่งขาดประสิทธิภาพของใคร
เอาเป็นว่าระบบฐานข้อมูลทางอีเล็คโทรนิคของ สตช.ยังล้าหลัง
เลยไม่รู้กันระหว่างส่วนกลางและภูมิภาค
ถึงอย่างนั้นเมื่อมีการแจ้งความที่เป็นคุณเป็นโทษต่อบุคคล
ทำไมไม่มีการตรวจสอบข้อเท็จจริงเสียก่อนที่จะออกหมายจับเขา
ถ้าทำอย่างนั้นก็น่าจะทราบว่าผู้เสียหายกรณีถูกลักลอบใช้บัตรประชาชนได้แจ้งความไว้แล้ว
มิควรที่จะต้องทำให้เขาเสียอิสรภาพ ทั้งที่อุตส่าห์เดินทางไปแสดงตัว
เช่นนี้ย่อมแสดงว่ากระบวนการปกครองและบังคับใช้กฎหมายของไทยนี่
‘อำนาจนิยม’ มากมายเสียจนเจ้าพนักงานเหลิง
เอะอะก็จะอายัดตัว โวยวายก็จะควบคุมตัว สิทธิบุคคลอยู่ที่ไหน สิทธิมนุษยชนใช้ได้กับใครกันล่ะ