วันพุธ, ธันวาคม 20, 2560

สังคม “ศรีธนญชัย”



AFP PHOTO/Christophe ARCHAMBAULT

ลักษณะเด่นของคนไทย โดย วีรพงษ์ รามางกูร


ที่มา ประชาชาติธุรกิจ
16 ธันวาคม 2560

คอลัมน์ คนเดินตรอก
โดย ดร.วีระพงษ์ รามางกูร

สังคมไทยเป็นสังคมที่แปลก ไม่เหมือนสังคมประเทศอี่น ๆ ทั้งที่อยู่ในภูมิภาคเดียวกัน คือเอเชียตะวันออก และภูมิภาคอื่น ๆ เช่น เอเชียใต้ เอเชียกลาง ยุโรปและอเมริกา เป็นต้น

สังคมไทยถูกนักสังคมวิทยาฝรั่งให้คำอธิบายโดยใช้ทฤษฎีมาร์คว่า เป็นสังคมที่ส่วนบนเป็นสังคมที่มีวัฒนธรรมจากอินเดีย เพราะอิทธิพลของพุทธศาสนา

และศาสนาพราหมณ์ในราชสำนัก วัฒนธรรมและความสัมพันธ์ระหว่างชนชั้น เป็นโครงสร้างส่วนบนที่ได้รับอิทธิพลอย่างมากจากศาสนาพราหมณ์ผ่านมาจากเขมร ซึ่งเป็นผู้ปกครองพื้นที่ที่เป็นสยามประเทศมาก่อนก่อนที่คนไทยจะประกาศเป็นอิสระ เมื่อมีการสถาปนาราชอาณาจักรสยาม ราชสำนักจึงรับเอาวัฒนธรรมเขมร ซึ่งเป็นวัฒนธรรมศาสนาพราหมณ์มาผสมกับพุทธศาสนาฝ่ายเถรวาทอย่างเต็มที่ พระราชพิธีในราชสำนักซึ่งเป็นองค์ประกอบสำคัญของการปกครอง จึงเป็นพิธีกรรมของศาสนาพราหมณ์ทั้งสิ้น เพิ่งจะเอาการสวดมนต์แบบพุทธเถรวาทเข้าไปผสมในราชพิธีในสมัยพระบาทสมเด็จพระจอมเกล้ารัชกาลที่ 4 นี้เอง

สำหรับประชาชนชั้นกลางและชั้นล่างซึ่งเป็นผู้อยู่ใต้การปกครอง ความสัมพันธ์ระหว่างบุคคลเป็นความสัมพันธ์ที่ได้รับอิทธิพลมาจากวัฒนธรรมจีน มีครอบครัวเป็นศูนย์กลาง ไม่ใช่สังคม ไม่ว่าจะเป็นหมู่บ้านหรือเมืองที่เหมือนวัฒนธรรมทางฝรั่งในยุโรปหรืออเมริกา

คนไทยจึงมีคุณลักษณะหรือวัฒนธรรมที่เอาครอบครัวหรือตัวเองเป็นศูนย์กลาง ไม่ชอบถูกบังคับขับไล่ อยากทำอะไรก็ทำ ไม่ต้องคำนึงถึงผู้อื่นหรือสังคมส่วนรวม เข้าทำนอง “ทำตามใจ คือไทยแท้”

พ่อแม่คนไทยมักจะสอนลูกหลานไม่ยอมให้ “เสียเปรียบ” ใคร แม้ตนเองไม่ได้ประโยชน์อะไรเลย แต่ก็ไม่ยอมให้ใครเอาเปรียบ หากรู้สึกว่าลูกหลานยอมให้เพื่อนฝูงเอาเปรียบ กลับบ้านก็จะถูกลงโทษเฆี่ยนตี ในขณะเดียวกันจะชมเชยลูกหลานถ้าหากสามารถ “เอาเปรียบ” เพื่อนฝูงหรือผู้อื่นได้

การถูกอบรมสั่งสอนอย่างนี้ จะทำอย่างลับ ๆ ไม่เปิดเผย แต่ในส่วนเปิดเผยจะสั่งสอนลูกหลานดัง ๆ ว่าไม่ให้เอารัดเอาเปรียบผู้อื่น ซึ่งเป็นลักษณะของศรีธนญชัยแบบ “หน้าไหว้หลังหลอก”

การที่คนไทยมองตนเองเป็นศูนย์กลางเช่นนี้ ทำให้เกิดความรู้สึกว่าตนเองสำคัญกว่าสังคมโดยส่วนรวม ทรัพย์สินของตนสำคัญกว่าทรัพย์สินของส่วนรวม มักจะได้ยินเสมอว่า “ช่างมัน มันเป็นของหลวง ไม่ใช่ของเรา” ต่างกับสังคมฝรั่งที่เห็นของสาธารณะเป็นสิ่งที่ทุกคนต้องดูแลรักษา ไม่ทำให้เสียหาย ประชาชนในประเทศที่เจริญแล้วผู้คนจะรักษาดูแลทรัพย์สินของส่วนรวมเท่า ๆ กับทรัพย์สินของส่วนตัว เพราะเขารู้สึกว่าทรัพย์สินของส่วนรวมก็มาจากเงินภาษีอากรที่เขาเป็นคนจ่าย

เมืองไทยอยู่ในเขตร้อน อยู่ในพื้นที่อุดมสมบูรณ์ ไม่ขาดแคลนอาหาร ไม่จำเป็นต้องมีเครื่องนุ่งห่มมากมาย แม้แต่ที่พักอาศัยก็ไม่จำเป็นต้องเป็นตึกรามบ้านช่องที่มิดชิด หรือต้องมีเตาผิงที่ต้องมีเชื้อเพลิงเพื่อสร้างความอบอุ่น ผู้คนจะอยู่เป็นครอบครัวในที่ห่างไกลกันไม่ได้ ต้องอยู่รวมกันเป็นสังคม ต้องทำงานร่วมกันเป็นทีม แต่คนไทยชอบทำงานคนเดียว ไม่ชอบทำงานเป็นทีม งานต่าง ๆ

ที่ต้องทำกันเป็นทีมจึงไม่ค่อยประสบความสำเร็จเมื่อเทียบกับคนที่อยู่ในเขตหนาว กีฬาที่คนไทยเก่งและสามารถชนะการแข่งขันระหว่างประเทศต้องเป็นกีฬาที่เล่นคนเดียวหรือไม่เกิน 2-3 คน เช่น หมากรุก แบดมินตัน ตะกร้อ ว่ายน้ำ ส่วนกีฬาที่คนไทยไม่ประสบความสำเร็จคือกีฬาที่ต้องเล่นเป็นทีม เช่น ฟุตบอล บาสเกตบอล รักบี้ เป็นต้น

หลายครั้งข้อมูลข่าวสารที่ปรากฏบนสื่อหลักเป็นข้อมูลที่ไม่จริง เป็นข่าวปล่อยที่ใคร ๆ ก็รู้ว่าไม่จริง แต่ไม่มีใครสนใจจะแสดงตัวคัดค้าน หรือมีการค้นหาความจริง ทั้ง ๆ ที่ทุกคนหรือคนส่วนใหญ่

ก็ทราบดีว่าไม่เป็นความจริง แต่ต่อหน้าก็จะแสดงว่าตนเชื่อข่าวเช่นว่า แต่ลับหลังก็ป้องปากบอกว่าไม่จริง อย่าไปเชื่อบางครั้งคนไทยยอมรับค่านิยมที่ผิด ๆ เช่น ยอมรับและเกรงกลัวผู้มีอำนาจมากกว่าความถูกต้อง เช่น ในด้านหนึ่งก็สนับสนุนต่อต้านคอร์รัปชั่น แต่เมื่อมีข่าวว่าผู้หลักผู้ใหญ่มีทรัพย์สินที่มีราคาแพง มีการเสนอข่าว ตั้งประเด็นถกเถียงในข้อสงสัย แต่ก็ไม่ได้ให้น้ำหนักที่จะกดดัน สอบสวนให้ความจริงปรากฏ พอเวลาผ่านไปกระแสเบาลง เรื่องก็ค่อย ๆ หายไป การแสดงตนว่าต่อต้านคอร์รัปชั่นจึงเป็นแฟชั่น แสดงเพื่อให้ได้ชื่อว่าตนเป็นคนดี บริสุทธิ์ ทั้ง ๆ ที่ความจริงตนก็ไม่ได้เป็นคนสะอาดสะอ้านอย่างที่แสดงลักษณะของคนไทยที่เด่นชัดคือการเอาตัวรอดเมื่อทำผิด โดยการพูดเท็จแบบขอไปทีหรือแบบข้าง ๆ คู ๆ โดยผู้บังคับบัญชาก็รู้ แต่ก็ไม่ว่าอะไร เพราะตนก็เคยทำเช่นนั้นมาก่อน การเอาตัวรอดกลายเป็นสิ่งถูกต้อง เข้าทำนอง “รู้รักษาตัวรอดเป็นยอดดี”

คนไทยพูดเท็จ พูดปดจนเป็นนิสัย จนมีคำพังเพยที่ว่า “ไทยพูดปด เจ๊กกลัวอด ฝรั่งกลัวตาย” เพราะคำทักทายเมื่อพบกันคือ “ไปไหนมา” “เปล่า ไปเที่ยวฮ่องกง” หรือยังไม่ทันถามก็ตอบว่า “เปล่า” ไว้ก่อน ส่วนคนจีนทักทายกัน “กินข้าวหรือยัง” “กินแล้ว” ส่วนฝรั่งทักทายกันว่า “เป็นอย่างไร” “สบายดี” คำทักทายกันบางครั้งก็สะท้อนอุปนิสัยของคนแต่ละชาติ แต่ข้อสำคัญบุคคลที่ดำรงตำแหน่งสูง ๆ ทางการเมืองและราชการ บางครั้งเมื่อจะต้องตอบคำถามก็มักจะต้องพูดปดไว้ก่อน ทั้ง ๆ ที่ไม่มีความจำเป็นต้องพูดเท็จเลย

การไม่ตรงต่อเวลาเป็นลักษณะที่เด่นชัดอีกประการหนึ่ง โดยเป็นที่ยอมรับกันทั้งผู้นัดและผู้ถูกนัด ดังนั้นถ้าจะนัดคนไทยต้องนัดล่วงหน้าอย่างน้อยครึ่งชั่วโมงหรือ 15 นาที การมาตรงเวลาเป็นของที่แปลก ซึ่งเหมือนกับพวกละตินอเมริกัน

ในห้องเรียน นักเรียนมักจะไม่ออกความเห็น หรือไม่ยกมือถามครูถ้าไม่เข้าใจ เพราะคนตั้งใจเรียนจะยกมือถามครูหรือแสดงความคิดความเห็นในชั้นเรียน เมื่อออกนอกชั้นเรียน เพื่อนฝูงจะเล่นงานว่าทำให้เสียเวลาเล่น หรือล้อเลียนว่า “เอาหน้า” กับครู จนกลายเป็นนิสัย ที่เรียนไม่เข้าใจแต่ไม่ยกมือถามครู ไม่ใช่เกรงกลัวครูแต่เกรงใจเพื่อนในชั้นเรียน

คนไทยเป็นชาติเดียวที่ล้อชื่อพ่อ ชื่อแม่ ชอบเรียกเพื่อนโดยใช้ชื่อพ่อจนบางครั้งเรียกเพื่อนด้วยชื่อพ่อโดยใช้คำว่า “ไอ้” จนลืมชื่อจริงไปเลยก็มี

คนที่ถูกเรียกโดยชื่อพ่อ ทีแรกก็จะโกรธ ซึ่งไม่มีเหตุผลว่าโกรธทำไม ต่อมาก็ชิน ผิดกับฝรั่งซึ่งมักจะเอาชื่อตัวไปตั้งเป็นชื่อลูกชาย แต่ใส่คำว่า “ลูก” หรือ “Junior” ต่อท้าย ไม่พยายามปิดบังชื่อพ่อเหมือนเด็กไทย ที่เป็นเช่นนี้อาจจะเป็นเพราะคนไทยเคารพบิดามารดาและบรรพบุรุษมากกว่าชาติอื่น จึงไม่ต้องการให้เพื่อนฝูงเอาชื่อพ่อชื่อแม่มาล้อเลียนก็ได้

คนไทยจำนวนมากเป็นคนมักได้ ตามคำพังเพย “ด้านได้อายอด” จึงเห็นคนไทยแย่งกันรับของแจก ไม่ว่าจะเป็นวัน “เทกระจาด” หรือ “การรับประทานอาหารบุฟเฟต์” หรือในการเลี้ยงอาหารก่อนเข้าประชุมผู้ถือหุ้นที่ตักอาหารเต็มจานโดยไม่คำนึงถึงผู้ที่จะมาทีหลัง บางครั้งก็เอาปิ่นโตหรือเอาถุงมาใส่อาหารกลับบ้านโดยไม่อายใคร จนอาหารที่จัดมาล้นเหลือแต่ไม่พอสำหรับผู้ที่มาทีหลัง

ความไม่เคารพสิทธิของผู้อื่น จะเห็นได้ชัดโดยการแย่งกันขอหรือแย่งกันไปก่อน แย่งกันขึ้นรถลงรถแทนที่จะเข้าแถวอย่างเป็นระเบียบ ถ้าไม่ถูกบังคับโดยการกั้นเป็นแถวทางเดิน ซึ่งคนในประเทศที่เจริญแล้วไม่เป็นเช่นนั้น

ความไม่รับผิดชอบต่อหน้าที่การงานและสิ่งที่ตนกระทำ หรือที่ฝรั่งเขาเรียกว่า “accountability” สังเกตได้จากการไม่มีคำแปลตรง ๆ สำหรับคำคำนี้ ถ้ากระทำแล้วจะเกิดความเสียหายก็ไม่สนใจ ถ้าไม่มีใครรู้ใครเห็น ความสามารถปิดบังซ่อนเร้นความผิดมีความสำคัญกว่าความพยายามทำให้ถูกต้อง ทำให้ไม่ผิดพลาด หรือถ้าผิดพลาดก็ยอมรับความผิดพลาดแล้วแก้ไขไม่ให้เกิดความผิดพลาดอีกต่อไปในภายภาคหน้า

การไม่รับผิดชอบและโยนความผิดให้เพื่อนร่วมงานหรือลูกน้องผู้อยู่ใต้บังคับบัญชา ตัวเองไม่กล้าทำแต่แอบสั่งให้ลูกน้องทำแทน จะมีให้เห็นอยู่เสมอ โดยไม่ละอายใจ ลูกน้องจึงไม่มีความเคารพนับถืออย่างจริงใจ แต่ก็ยอมทำให้นายหรือผู้บังคับบัญชา เพียงเพื่อหวังความก้าวหน้าแทนที่จะยึดถือความถูกต้อง และปฏิเสธที่จะทำสิ่งที่ไม่ถูกต้อง

คนไทยจะชอบทิ้งขยะมูลฝอยในที่ที่มีป้ายเขียนไว้ว่า “ห้ามทิ้งขยะ” และจะปัสสาวะในที่ที่เขียนไว้ว่า “ห้ามปัสสาวะ” หรือ “ที่หมาเยี่ยว” ทิ้งขยะในที่ไม่ควรทิ้ง แม้ทางเทศบาลจะจัดวางถังขยะแยกประเภท แต่ก็ไม่สนใจจะให้ความร่วมมือ แม่น้ำลำคลองก็กลายเป็นที่ทิ้งขยะ ปัญหาท่อระบายน้ำอุดตันเมื่อฝนตกหนัก ปัญหา “น้ำรอระบาย” จึงมีให้เห็นอยู่ตลอดมาและเป็นเช่นนี้ในเมืองใหญ่ทุกภูมิภาคของประเทศ

ระบบอุปถัมภ์เป็นลักษณะเด่นมากของคนไทย เป็นสิ่งที่คาดหวังจากทั้งผู้ให้และผู้รับ การเคารพตัวเองและศักดิ์ศรีในการเลื่อนยศ เลื่อนขั้น หรือการแข่งขันด้วยความสามารถในการเข้าโรงเรียน ในการเข้ารับราชการ ทุกคนจะต้อง “วิ่ง” และหาเส้นสายเพื่อ “ฝาก” ทั้ง ๆ ที่บางครั้งหรือส่วนมากฝากไม่ได้แต่ต้อง “วิ่ง” ต้องฝากไว้ก่อนเพื่อความอุ่นใจ

ผู้บังคับบัญชาชอบให้ลูกน้อง “วิ่ง” แม้จะเลือกสรรด้วยระบบ “คุณธรรม” แต่ถ้าไม่มา “วิ่ง” กับตนก็รู้สึกว่าลูกน้องไม่ให้ความสำคัญกับตน เราจึงมักจะเห็น “นาย” เปิดบ้านแต่เช้าเพื่อให้ลูกน้องมานั่งเฝ้า 2-3 ชั่วโมง เพื่อรับประทานอาหารเช้าและดื่มกาแฟด้วย เพื่อให้นายเห็นหน้า ถ้าไม่เห็นหน้ามัวแต่ทำงานนายมักจะลืม เมื่อถึงคราวจะพิจารณาความดีความชอบ การมีของกำนัลจึงเป็นธรรมเนียม แม้จะมีระเบียบสำนักนายกรัฐมนตรีห้ามข้าราชการรับของกำนัลหรือของขวัญที่มีมูลค่าเกิน 3,000 บาทก็ตาม แต่ถ้าไม่มีใครรู้ใครเห็นก็ไม่เป็นไร แม้นายจะสั่งห้ามอย่างเปิดเผยแต่ก็เป็นไปตามธรรมเนียมศรีธนญชัยที่ต้องไม่เชื่อคำสั่งเช่นว่า


สังคมไทยจึงเป็นสังคม “ศรีธนญชัย”