‘หมุดคณะราษฎร’ ถูกแทนที่ด้วย ‘หมุดหน้าใส’ เมื่อช่วงต้นเดือนเมษายนที่ผ่านมา (ภาพจาก : คมชัดลึก)
ส่วนหนึ่งของบทความ
ศิลปะร่วมสมัย การเมืองไทย และหมุดเจ้าปัญหา กับ ธนาวิ โชติประดิษฐ
เวป 101 World
พันธวัฒน์ เศรษฐวิไล เรื่องและภาพ
May 9, 2017
II.
หมุดคณะราษฎร-หมุดหน้าใส : การช่วงชิงประวัติศาสตร์ในวัตถุทางการเมือง
“… ลานพระบรมรูปทรงม้าที่เป็นจุดสิ้นสุดของถนนราชดำเนิน เป็นทั้งเขตพระราชฐานและทางสาธารณะ … พื้นที่ตรงนี้จึงเป็นจุดยุทธศาสตร์ที่สำคัญมากในแง่ของภูมิศาสตร์การเมือง”
จากกรณีที่มีการรื้อถอนหมุดคณะราษฎร และเปลี่ยนเป็น ‘หมุดหน้าใส’ ในแง่ประวัติศาสตร์ศิลป์ มันสะท้อนให้เห็นอะไรบ้าง
การที่คนหันมารำลึกถึงศิลปะสมัยคณะราษฎรกันในยุคนี้ ถือเป็นปรากฏการณ์ที่น่าสนใจ เพราะตั้งแต่คณะราษฎรหมดอำนาจไปตั้งแต่ช่วงปี 2490 และถูกดิสเครดิตมาตลอด คนทั่วๆ ไปก็ไม่มีความทรงจำกับงานศิลปะในยุคนั้น สิ่งก่อสร้างทั้งหลายไม่ได้รับการให้คุณค่ามากนัก เพราะเหมือนว่ามันเป็นมรดกของกลุ่มคนที่เป็นตัวร้ายในประวัติศาสตร์ และเมื่อมันไม่ถูกให้คุณค่า คนก็หลงลืมกันเป็นธรรมดา
ถึงแม้ว่าเราจะมองเห็นมันอยู่ทุกวัน นั่งรถผ่านก็เห็นว่าเป็นอนุสาวรีย์ประชาธิปไตย แต่คนจำนวนมากไม่รู้หรอกว่าจริงๆ มันถูกสร้างขึ้นมาเพื่ออะไร กระทั่งนักประวัติศาสตร์ศิลปะเองก็ไม่ได้ให้ความสนใจด้วยซ้ำ จนกระทั่งอาจารย์ชาตรี ประกิตนนทการ เขียนหนังสือเกี่ยวกับสถาปัตยกรรมและศิลปะสมัยคณะราษฎรขึ้นมา เรื่องนี้ถึงได้รับความสนใจและมีการศึกษาเกี่ยวกับมันมากขึ้น
ส่วนหมุดคณะราษฎร คนส่วนใหญ่ก็ไม่รู้หรอกว่ามันฝังอยู่ตรงนี้ จนกระทั่งมีคนมาจัดกิจกรรมรำลึกเมื่อไม่กี่ปีที่ผ่านมานี้เอง คนทั่วไปถึงรู้ว่ามันมีอยู่
แล้วการที่จู่ๆ คนหันมาให้ความสนใจ หรือรื้อฟื้นเรื่องราวของศิลปกรรมเหล่านี้ขึ้นมาใหม่ คุณมองว่ามีสาเหตุมาจากอะไร
การที่ของพวกนี้ถูกหลงลืมไป แล้วกลับมามีพลังอีกครั้ง ไม่ใช่เพราะว่าจู่ๆ คนก็นึกถึงคณะราษฎรขึ้นมาเอง หรือจู่ๆ นักวิชาการบางกลุ่มก็อยากจะรื้อฟื้นขึ้นมา แต่ว่ามันมีสถานการณ์บางอย่างที่ทำให้นำไปสู่การรื้อฟื้นอดีต ก็คือปัญหาการเมืองร่วมสมัยนั่นเอง
การถวิลหาอดีต หรือการรื้อฟื้นอดีตบางช่วงขึ้นมาใหม่ มักเกิดขึ้นในช่วงวิกฤต เมื่อเกิดวิกฤตจึงเกิดการมองย้อนกลับไปหาโมเดลบางอย่างในอดีต เพื่อเชื่อมโยงหรือใช้เป็นแนวทางบางอย่างในการแก้ปัญหา หรือแม้แต่เพียงเป็นการฝันถึง
สำหรับการรื้อฟื้นเรื่องราวคณะราษฎรขึ้นมาตั้งแต่ช่วงหลังรัฐประหารปี 2549 ก็สัมพันธ์กับการเมืองร่วมสมัยโดยตรง คณะราษฎรที่ถูกรื้อฟื้นขึ้นมา ก็คือคณะราษฎรในฐานะของบรรพบุรุษทางอุดมการณ์ของขบวนการต่อต้านรัฐประหาร หรือขบวนการขับเคลื่อนประชาธิปไตย นี่คือการขุดเอาอดีตขึ้นมาเพื่อใช้กับปัจจุบัน
อย่างการที่มีคนไปจัดงานรำลึก 24 มิถุนาฯ ที่หมุดคณะราษฎร มันก็คือการย้อนกลับไปหา 24 มิถุนาฯ โดยต้องการบอกว่าจนถึงทุกวันนี้ การปฏิวัติ 24 มิถุนายน 2475 เป็นโครงการที่ยังไม่แล้วเสร็จ และคนกลุ่มนี้ที่เป็นเหมือนทายาทเชิงอุดมการณ์ ก็ต้องการที่จะสานต่อ จึงต้องมาสร้างความเชื่อมโยงกันระหว่างคนสองรุ่น ผ่านกิจกรรมรำลึกที่หมุดนี้
ทีนี้ในบรรดาศิลปกรรมของคณะราษฎรเนี่ย หมุดเป็นสิ่งที่มีขนาดเล็กที่สุด มองเห็นได้ยากที่สุด รถวิ่งทับผ่านตลอดเวลา แต่สำหรับเรา มันเป็นสิ่งที่มีพลังทางการเมืองมากที่สุด
ถ้าเทียบกับอนุสาวรีย์ประชาธิปไตย คุณมองว่าหมุดคณะราษฎรมีพลังกว่า ?
เรามองว่าอนุสาวรีย์ประชาธิปไตยมีบทบาทที่ประหลาดอยู่เหมือนกัน เพราะปกติอนุสาวรีย์หรือวัตถุที่สร้างขึ้นเพื่อเป็นที่รำลึก มันจะรำลึกถึงเหตุการณ์เฉพาะบางอย่าง หรือรำลึกถึงบุคคลที่ทำอะไรสักอย่างที่สำคัญ แปลว่าต้องมีจุดประสงค์ชัดเจนว่ารำลึกเรื่องอะไร หรือรำลึกถึงใคร แต่การมีอยู่ของอนุสาวรีย์ประชาธิปไตยไม่ใช่แบบนั้น
ถึงแม้ว่าตัวอนุสาวรีย์ จะมีองค์ประกอบจำนวนมากที่อ้างอิงถึง 24 มิถุนาฯ เป็นต้นว่า มีปีกที่สูง 24 เมตร มีพระขรรค์ 6 อันอยู่บนประตู ซึ่งหมายถึงหลัก 6 ประการของคณะราษฎร แต่นัยยะโดยรวมของมันคือการรำลึกถึง ‘อุดมการณ์ประชาธิปไตย’ มากกว่าการรำลึกถึงเหตุการณ์วันที่ 24 มิถุนาฯ 2475
ฉะนั้นในเมื่อมันเป็นตัวแทนของอุดมการณ์ทางการเมืองอย่างหนึ่ง ไม่ว่าคนกลุ่มไหนก็สามารถเคลมได้หมด โดยที่คุณไม่จำเป็นต้องยึดโยงตัวเองเข้ากับคณะราษฎรก็ได้ แค่คุณอ้างถึงอะไรสักอย่างที่เกี่ยวกับประชาธิปไตย คุณก็สามารถไปทำกิจกรรมที่นั่นได้แล้ว
ด้วยเหตุนี้ ตัวอนุสาวรีย์เองจึงเปิดโอกาสให้ใครเข้ามาเคลมก็ได้ ตั้งแต่ 14 ตุลาฯ 6 ตุลาฯ พฤษภาฯ 2535 เสื้อเหลืองเสื้อแดง รวมทั้งการประท้วงอื่นๆ อีกมากมาย ทำให้ความหมายของอนุสาวรีย์ประชาธิปไตยซับซ้อนขึ้นเรื่อยๆ และไปไกลกว่าความหมายตั้งต้นที่เกิดขึ้นในสมัยรัฐบาลจอมพล ป. พิบูลสงคราม
แต่ในทางกลับกัน เสื้อเหลือง หรือ กปปส. กลับไม่เคยไปทำพิธีในลักษณะนี้ที่หมุดคณะราษฎร เพราะว่าความเชื่อมโยงของคณะราษฎรกับหมุดนั้นชัดเจน ขณะที่อนุสาวรีย์ประชาธิปไตย-ไม่ชัด
แล้วทำไมคณะราษฎรถึงเลือกที่จะไปฝังหมุดตรงจุดนั้น มีนัยยะอะไรแฝงอยู่
ที่ตรงนั้นเป็นภูมิทัศน์ที่สร้างขึ้นในสมัยรัชกาลที่ 5 ซึ่งมีการขยายวังจากพระบรมมหาราชวังตรงวัดพระแก้วออกไปบริเวณโดยรอบ มีการสร้างวังใหม่คือพระราชวังดุสิต แล้วเชื่อมสองวังนี้เข้าด้วยกันด้วยถนนราชดำเนิน ซึ่งถนนราชดำเนินก็ไปสิ้นสุดตรงหน้าพระที่นั่งอนันตสมาคม ที่มีพระบรมรูปทรงม้าของรัชกาลที่ 5 ตั้งอยู่ พื้นที่ตรงนั้นจึงเป็นทั้งเขตพระราชฐาน และเป็นทั้งทางสาธารณะที่คนทั่วไปสัญจรไปมาได้
ดังนั้น การที่คณะราษฎรเลือกจุดนี้เป็นสถานที่ในการประกาศระบอบใหม่ ก็เพราะว่ามันเป็นจุดยุทธศาสตร์สำคัญ ที่ทำให้การยืนยันชัยชนะนั้นมีความหมายมากขึ้น เป็นการปักหมุดว่าฉันได้ทำการเปลี่ยนแปลงแล้วนะ มันสำเร็จแล้ว และมันเกิดขึ้น ณ ตรงนี้
เมื่อมองในแง่นี้ พื้นที่ตรงนี้จึงมีความทรงจำที่ไม่น่าพึงพอใจสำหรับฝั่งกษัตริย์นิยมอยู่ และหมุดคณะราษฎรก็คือเครื่องหมายยืนยันว่าสิ่งนี้ได้เคยเกิดขึ้นในอดีต เป็นเหตุการณ์ที่ทำให้พลังอำนาจของสถาบันกษัตริย์ลดลง ฉะนั้น หมุดที่เป็นเครื่องรำลึกถึงเหตุการณ์นี้ จึงมีลักษณะเป็นหนามยอกอก พูดง่ายๆ ว่าเป็นรอยมลทินหรือรอยด่างที่ปักอยู่ตรงกลางภูมิทัศน์ที่เป็น royal space
ด้วยเหตุนี้ เราถึงมองว่าหมุดคณะราษฎรเป็นวัตถุที่มีพลังทางการเมืองมากที่สุดในบรรดาศิลปกรรมทั้งหมดที่สร้างขึ้นในยุคนั้น
แล้ว ‘หมุดหน้าใส’ ที่ถูกนำมาใส่แทน บอกอะไรได้บ้าง
มันบอกถึงการจบสิ้นของบางสิ่ง พร้อมกับการเริ่มต้นใหม่ของอีกสิ่งหนึ่ง ก็คือการเปิดศักราชใหม่
ในหมุดคณะราษฎร รูปตรงกลางมันชัดเจนว่าคือ ‘ลายประจำยาม’ ที่ถูกผ่าครึ่งด้วยข้อความ ลายประจำยามคือลายดอกไม้ที่มีสี่กลีบ ซึ่งไม่ว่าจะมีรายละเอียดแตกลายหรือเปลี่ยนแปลงอย่างไรก็ตาม สี่กลีบของดอกไม้จะอยู่ติดกันเสมอ การตัดครึ่งลายประจำยามที่เป็นลายโบราณด้วยข้อความที่บ่งบอกการมาถึงของผู้มาใหม่ จึงสื่อถึงการมาของยุคสมัยใหม่ ซึ่งก็คือยุคของประชาธิปไตยที่มีประชาชนเป็นใหญ่ในแผ่นดิน
แต่ในหมุดหน้าใส ถึงแม้ว่าเราจะไม่รู้ว่ารูปตรงกลางคืออะไร แต่ข้อความที่อยู่ในหมุดนั้นน่าสนใจมาก
เริ่มจากข้อความที่อยู่รอบๆ ตามแนวโค้งของหมุด เป็นข้อความที่เอามาจากเครื่องราชฯ ในสมัยรัชกาลที่ 5 ส่วนตรงกลางเป็นคำว่า ประชาชนสุขสันต์หน้าใส
คือเวลาเราได้ยินคำว่าหน้าใส คนส่วนใหญ่ก็ต้องนึกไปถึง ‘ไพร่ฟ้าหน้าใส’ ในสมัยสุโขทัยใช่ไหม แต่ในหมุดนี้ มีการเปลี่ยนคำว่า ‘ไพร่ฟ้า’ ให้เป็น ‘ประชาชน’ ซึ่งดูเป็นความพยายามที่จะทำให้เข้ากับบริบทของปัจจุบัน แต่โดยรวมมันก็ยังคงมีนัยยะที่ยึดโยงกับสมัยสุโขทัย ที่ได้ชื่อว่ามีการปกครองแบบ ‘พ่อปกครองลูก’ ซึ่งสอดคล้องกับข้อความรอบๆ ที่บอกว่าคนไทยต้องประกอบด้วยอะไรและอย่างไรบ้าง
แต่ไม่รู้ว่าด้วยความที่เขาคิดไม่รอบคอบ หรืออะไร ถึงได้เอาคำที่อยู่กับเครื่องราชฯ ซึ่งถือกันว่าเป็นของสูง ไปอยู่บนพื้นถนนซึ่งรถจะต้องวิ่งผ่านตลอดเวลา แต่ว่าพอมีคนพูดถึงประเด็นนี้บ่อยเข้า เขาก็เลยเอารั้วไปล้อมแล้วติดป้ายว่า ‘เขตพระราชฐาน’ จะได้ไม่มีใครข้ามหรือเหยียบได้
ส่วนตัวมองว่าการถอนหมุดที่เกิดขึ้นครั้งนี้ เป็นการทำให้ความสำคัญของหมุดคณะราษฎรพุ่งสูงกว่าครั้งไหนๆ ที่ผ่านมา แม้ว่าตัวหมุดจะไม่ได้อยู่ตรงนั้นแล้วก็ตาม เพราะถึงแม้ว่าองค์ประกอบของหมุดใหม่จะดูงงๆ จากการปะติดปะต่อสิ่งที่มาจากต่างยุคสมัย และยังมีรูปที่อธิบายไม่ได้ แต่เมื่อมองในภาพรวมแล้ว ความหมายของมันค่อนข้างชัดเจน คือเป็นแถลงการณ์ทางการเมืองที่บ่งบอกว่ายุคสมัยของประชาธิปไตยที่คณะราษฎรสถาปนาขึ้นนั้น ได้จบสิ้นลงแล้ว และการประกาศนี้ก็จำเป็นต้องทำที่หมุดคณะราษฎรด้วย เพื่อเป็นการย้อนเกล็ดประวัติศาสตร์ 2475
แล้วนอกจากคำอธิบายที่ว่ามา มีข้อสันนิษฐานอื่นๆ อีกไหม
คำอธิบายอีกชุดที่ปรากฏขึ้นมาก็คือเรื่องของความเชื่อทางไสยศาสตร์ ที่มีคนหยิบยกมาอธิบายกันเยอะเหมือนกัน แต่ประเด็นคือมันพิสูจน์ไม่ได้ ถามว่าฟังขึ้นไหม ก็ฟังขึ้นแหละ เพราะว่าในอำนาจแบบไทยๆ ชุดความเชื่อของคนไทย เรื่องโชคลางถือเป็นเรื่องสำคัญและมีบทบาทกับชีวิตจริงๆ เพียงแต่กรณีนี้เราคงไม่อาจฟันธงได้ว่ามันเกี่ยวข้องมากน้อยแค่ไหน ตราบที่มันยังไม่มีหลักฐานยืนยันหรือพิสูจน์ให้เห็นกันแบบชัดๆ
“การจำกับการลืมมันมาคู่กัน เป็นสองด้านของเหรียญเดียวกัน คุณจะสถาปนาความทรงจำอะไรบางอย่างได้ คุณก็ต้องทำให้ความทรงจำที่ขัดแย้งหรืออยู่ด้านตรงกันข้ามนั้น ถูกลบหรือลืมไปก่อน”
ถ้าเรามองกลับไปที่ฝั่งอนุรักษนิยม มีการสร้างศิลปกรรมอะไรทำนองนี้บ้างไหม
มีสิคะ เรามีอนุสาวรีย์ที่เป็นรูปกษัตริย์อยู่เต็มไปหมดเลยในประเทศนี้
แล้วอย่างรูปปั้นพระบรมรูปทรงม้า ที่อยู่ใกล้ๆ กับหมุดเจ้าปัญหา มีที่มาที่ไปอย่างไร
รูปปั้นนี้มาจากช่วงที่รัชกาลที่ 5 เสด็จประพาสยุโรป แล้วได้ไปเห็นสภาพบ้านเมืองของต่างประเทศ พอเสด็จกลับมาก็อยากให้เมืองไทยมีแบบนั้นบ้าง เมื่อสร้างวังใหม่เสร็จ ก็สร้างถนนราชดำเนินขึ้นมาตามแบบ Avenue ในยุโรป แล้วจึงสร้างพระบรมรูปทรงม้าขึ้นมา ซึ่งพระบรมรูปทรงม้าที่เราเห็นกันอยู่นี้ ถือเป็นอนุสาวรีย์แบบสมัยใหม่อันแรกของสยาม
แต่เดิมคนไทยจะไม่ทำรูปเหมือนของคนที่ยังมีชีวิตอยู่ เพราะเรามีความเชื่อว่าเดี๋ยวจะทำให้อายุสั้น แต่ความคิดแบบนั้นเริ่มเปลี่ยนไปเมื่อเราได้ติดต่อกับตะวันตกมากขึ้นในช่วงรัชกาลที่ 4 ซึ่งเป็นกษัตริย์สยามพระองค์แรกที่ยอมถ่ายรูป แล้วก็มีรูปเหมือนที่เป็นรูปปั้นกับภาพเขียน ก่อนที่จะกลายเป็นที่แพร่หลายในสมัยรัชกาลที่ 5
พระบรมรูปทรงม้าก็เกิดขึ้นมาในช่วงเวลานี้ จากที่พระองค์ได้ไปเห็นรูปทรงม้าของกษัตริย์ในยุโรป ก็เลยอยากทำบ้าง โดยนัยยะของการสร้างอนุสาวรีย์นี้ขึ้นมา สะท้อนถึงการปกครองระบอบใหม่ที่พระองค์ได้สถาปนา ก็คือระบอบสมบูรณาญาสิทธิราชย์ ซึ่งกษัตริย์เป็นผู้มีอำนาจเต็ม
นี่คือการยืนยันอำนาจของกษัตริย์ผ่านการมีตัวตนในพื้นที่สาธารณะ ในรูปของอนุสาวรีย์ รูปทรงม้าแสดงถึงความเป็นกษัตริย์ ความเป็นผู้นำหรือนักรบที่ยิ่งใหญ่ ซึ่งคนธรรมดาไม่สามารถมีบทบาทนี้ได้
ในอำนาจแบบเก่า คนธรรมดาจะไปมองหน้ากษัตริย์ตรงๆ ไม่ได้ ถ้ากษัตริย์เสด็จผ่านคุณก็ต้องหมอบคลาน หมายความว่ากษัตริย์ยังเป็นสิ่งที่สูงส่ง ห่างไกล เกินกว่าที่คนธรรมดาจะเข้าถึงได้ ต่อมาเมื่อภาพเหมือนกลายเป็นสิ่งที่ยอมรับได้ ก็ถูกนำมาใช้ในการยืนยันอำนาจเหมือนกัน แต่เป็นทางตรงกันข้าม ก็คือกษัตริย์ต้องมองเห็นได้ สัมผัสได้ และจะมองเห็นได้ก็ต่อเมื่อไปอยู่ในที่สาธารณะ
ด้วยเหตุนี้ ลานพระบรมรูปทรงม้าที่เป็นจุดสิ้นสุดของถนนราชดำเนิน จึงเป็นทั้งเขตพระราชฐานและเป็นทางสาธารณะไปในตัว เพราะไม่อย่างนั้นแล้ว คนก็จะมองไม่เห็นว่ารูปตัวแทนของอำนาจที่ดูแลปกปักษ์รักษาประเทศอยู่นั้น มีหน้าตาเป็นอย่างไร ฉะนั้นพื้นที่ตรงนี้จึงเป็นจุดยุทธศาสตร์ที่สำคัญมากในแง่ของภูมิศาสตร์การเมือง
สามารถสรุปได้ไหมว่า เรื่องราวหรือความทรงจำที่บรรจุอยู่ในวัตถุต่างๆ ทางประวัติศาสตร์ จะถูกรื้อขึ้นมาก็ต่อเมื่อประเทศเกิดวิกฤต
ใช่ วิกฤตนำไปสู่การหวนหาอดีต แต่อดีตที่ย้อนกลับไปจะเป็นอะไร ขึ้นอยู่กับว่าคุณมีความคิดแบบไหน เพราะมันจะส่งผลต่อการประเมินอดีตว่า เหตุการณ์ใดหรือยุคใดในอดีตที่จะดีสำหรับคุณ ซึ่งแต่ละฝ่ายเขาก็เลือกมองอดีตกันคนละแบบ
สุดท้ายแล้ว วัตถุทางการเมืองต่างๆ เหล่านี้ มันทำหน้าที่อะไรมากกว่ากัน ระหว่างทำให้จำ กับทำให้ลืม
การจำกับการลืมมันมาคู่กัน เป็นสองด้านของเหรียญเดียวกัน คุณจะสถาปนาความทรงจำอะไรบางอย่างได้ คุณก็ต้องทำให้ความทรงจำที่ขัดแย้งหรืออยู่ด้านตรงกันข้ามนั้น ถูกลบหรือลืมไปก่อน ผ่านกระบวนการอะไรก็แล้วแต่ ในแง่วัตถุอาจเป็นการรื้อทำลาย ส่วนในแง่ลายลักษณ์อักษร อาจจะเขียนขึ้นมาใหม่ เพื่อลบล้างอันเก่า ซึ่งทั้งสองฝั่งต่างก็ทำกันทั้งคู่ การสร้างและลบความทรงจำจึงมีความเป็นแถลงการณ์ทางการเมืองในตัว
หมายความว่าต่างฝ่ายก็ต้องพยายามต่อสู้ช่วงชิงความหมายกันต่อไปเรื่อยๆ ?
เรื่องความทรงจำ 24 มิถุนาฯ 2475 เรื่องเหตุการณ์ 6 ตุลาฯ 2519 หรือกระทั่งเหตุการณ์วันที่ 10 เมษาฯ 2553 ทำไมทุกคนจะต้องมาจัดงานรำลึก ต้องพยายามย้ำว่าเรื่องนี้สำคัญ เรื่องนี้ต้องพูด ก็เพราะเหตุการณ์เหล่านี้มันยังไม่เคยถูกบรรจุเข้าไปในประวัติศาสตร์กระแสหลักอย่างจริงจัง ที่สำคัญคือมันยังไม่ถูกชำระ และตราบใดที่มันยังไม่ถูกชำระ คนที่รู้สึกว่าเหตุการณ์จะต้องถูกชำระก็จะต้องพูดเรื่องนี้กันอยู่ซ้ำแล้วซ้ำเล่า
แต่ใครจะไปพูดเรื่องแบบนี้ทุกวัน มันจึงต้องมีโอกาส มีวาระที่ทำให้เรื่องเหล่านี้ถูกพูดถึงได้ เพื่อที่จะทำให้ความทรงจำที่ยังไม่ถูกทำให้เป็นประวัติศาสตร์ได้มีตัวตนขึ้นมา โดยหวังว่าสักวันมันจะเข้าไปเป็นส่วนหนึ่งของประวัติศาสตร์บ้าง