ไหมล่ะ บึ้มปาตานีอีกแล้วไง ทหารครองเมืองแบบ ‘ไม่มีน้ำยา’
ไม่เห็นมันจะได้เรื่องกว่าใช้ ‘น้ำพริกป่า’
(เผ็ดโลด) จัดการปัญหาใต้แบบทักษิณ หรือน้ำพริกปนน้ำยาสูตรชุมพรของพ่อจิ๋ว
ตรงไหน
ระเบิดหน้าห้างบิ๊กซีในอำเภอเมืองปัตตานีสองลูก
ทำให้มีคนบาดเจ็บไม่น้อยกว่า ๓๕ น่าจะมากถึงเกือบ ๕๐ คน สาหัสอย่างน้อยสี่คนนั้น อาจเป็นการส่งสัญญานจากกลุ่ม
‘บีอาร์เอ็น’ (Barisan Revolusi Nasional) หนึ่งในขบวนการประกาศอิสรภาพมลายูในสามจังหวัดชายแดนภาคใต้
ซึ่งมักใช้วิธีการโหดเหี้ยมรุนแรงเพื่อกดดันตามข้อเรียกร้องของตน
โดยกลุ่มนี้ที่เรียกร้องให้ ‘นานาชาติร่วมสังเกตการณ์เจรจาสันติภาพโดยตรงกับไทย’ ไม่ได้เป็นส่วนหนึ่งของการเจรจาสันติสุขที่
คสช. อุตส่าห์ตั้ง ครม.ส่วนหน้าลงไปแก้ปัญหาไฟใต้ ย่อมแสดงให้เห็นไม่มากก็น้อยว่า
ถ้าจะเจรจาสันติสุข แล้วไม่สามารถแม้แต่จะ ‘เปิด’ การเจรจาได้ มันจะมีความหมายอะไร
แน่นอนทีเดียว การวางระเบิดก่อการร้ายที่ปัตตานีครั้งนี้ถูกประณามจากรอบด้าน
เนื่องจากก่อเกิดความเสียหายต่อพลเรือน “หลายสิบคน โดยในจำนวนนั้นมีเด็กรวมอยู่ด้วย” ดังแถลงการณ์ของนายโธมัส ดาวิน
ผู้แทนองค์การยูนิเซฟ ประเทศไทย
“ยูนิเซฟขอประณามเหตุระเบิดครั้งนี้
ซึ่งเป็นการก่อเหตุในสถานที่ที่ทราบกันดีว่ามีเด็กและประชาชนอยู่พลุกพล่าน
ทั้งหมดนี้เป็นสิ่งที่ยอมรับไม่ได้โดยสิ้นเชิง
เพราะไม่ควรมีเด็กคนใดต้องตกอยู่ในความเสี่ยงอันตรายเช่นนี้”
แถลงการณ์กล่าวในตอนหนึ่ง
นอกจากนั้น สุณัย ผาสุก
ตัวแทนฮิวแมนไร้ท์ว้อทช์ประจำประเทศไทย ก็ได้แสดงท่าทีด้วยข้อความทางทวิตเตอร์ว่า
“HRW ขอประณามการวางระเบิดห้างบิ๊กซีปัตตานี
ชี้เจตนาทำร้ายพลเรือนถือเป็นอาชญากรรมสงคราม
และอาจเข้าข่ายอาชญากรรมต่อมนุษยชาติตามกติการะหว่างประเทศ”
“เจตนาทำร้ายพลเรือน”
นี่เหมือน ‘ล้วงคำพูดออกจากปาก’ รายงานข่าวเนชั่นทีวี ๒๒ ที่ว่า
“มีระเบิด ๒
ลูก ลูกแรกระเบิดขึ้นภายในห้างเพื่อไล่คนออกมา
ก่อนมีระเบิดลูกที่สองตามมา บริเวณด้านนอกแถวจุดตรวจ รปภ.”
“ระเบิดที่ลูกที่
๒ ซึ่งอยู่ภายนอกห้างเป็นคาร์บอม โดยระเบิดถูกวางไว้ในรถกระบะ ป้ายทะเบียน บจ ๓๓๐๓
ยะลา ซึ่งจดทะเบียนในชื่อ นุสน ขจรคำ”
ดังได้เกริ่นไว้แต่ต้นว่าปัญหาไฟใต้ไม่เคยมีรัฐบาลไหนแก้ไขได้
ไม่ว่าจะใช้ไม้แข็งหรือไม้นวม
เพราะความเกลียดชังที่กรุ่นอยู่ภายในพื้นที่มันฝังลึกยิ่งกว่าความแตกต่างทางเชื้อชาติและศาสนา
สุรพศ
ทวีศักดิ์ นักวิชาการด้านศาสนาซึ่งเป็นที่รู้จักอย่างกว้างขวางคนหนึ่ง
โพสต์ข้อความอันชวนให้หดหู่
“รู้สึกอึดอัดกับบรรยากาศที่อยู่ร่วมกันยากขึ้นทุกที
ไม่ว่าในสังคมการเมืองระดับชาติ
หรือสังคมการเมืองอัตลักษณ์ทางศาสนาและวัฒนธรรมในภาคใต้”
เขาปรารภเช่นนั้นด้วยแรงสะท้อนจากถ้อยคำ
‘มันยากที่จะไม่ใช่มลายู’
ในอีกโพสต์ของ Anticha Sangchai ซึ่งเอามาแบ่งปัน อันเป็นวลีย้อนแย้งชื่อหนังสือแพร่หลายในแดนใต้ถึงความอัดอั้นของคนพื้นเมืองที่ว่า
‘มันยากที่จะเป็นมลายู’
“ระยะหลัง
ได้ยินการบอกเล่าของคนพุทธหรือคนกลุ่มน้อยในพื้นที่สามจังหวัด ไปในทางที่หมดจิตหมดใจมากขึ้นทุกที”
โดยเฉพาะกรณีนักศึกษาใน
ม.อ.ตานี บางคนผิดหวังกับการไปเรียนที่นั่น “สิ่งที่ทำให้เขาอึดอัดไม่ใช่สถานการณ์ความรุนแรง
แต่กลับเป็นนักศึกษาด้วยกันเองที่กีดกันความเป็นอื่น อะไรที่ไม่ใช่อิสลาม มลายู
จะค่อยๆ ถูกลดความสำคัญ ถูกผลักออก ถูกทำให้ไร้ตัวตนมากขึ้นเรื่อยๆ”
ไม่ใช่เพียงเพราะคนมลายูในพื้นที่แสดงความเดียจฉันท์คนในวัฒนธรรมอื่น
“หลังๆ ภาคประชาสังคมกระแสหลักก็เคลื่อนไหวกันไปในทิศทางที่เชิดชูวัฒนธรรมเชิงเดี่ยว”
เช่นกัน
“ไม่ต้องพูดถึงงานภาครัฐหรอกค่ะ
เพราะนั่นงมๆ งุมๆ กันไปเรื่อยเปื่อยมานานแล้ว
ความหลากหลายและวัฒนธรรมนี่เป็นอะไรที่ไม่เคยอยู่ในระบบคิดของรัฐไทย”
มันเป็นสัญญานของการสิ้นหวังที่สร้างความเป็นอันหนึ่งอันเดียวกันกับสามจังหวัดภาคใต้
(และใครล่ะจะรู้ดีว่ามีแค่สามจังหวัด ไม่มากกว่านั้น) หากรูปการณ์ไปทางนั้นโดยไม่ได้รับการแก้ไขให้ถูกต้อง
ก็เท่ากับมันกำลังมุ่งไปสู่การแบ่งแยกในไม่ช้า
ความรุนแรงจะเพิ่มขึ้นเรื่อยๆ
พร้อมด้วยการตอบโต้กันไปมาแต่ละฝ่าย ความสูญเสียย่อมเพิ่มตามไปติดๆ
ในเมื่อกองบัญชาการส่วนหน้าที่ลงไปในพื้นที่ ได้แต่ไปนั่ง ‘คุม’ สถานการณ์ ความปั่นป่วนภายใต้ครอบของการคุมนั้น
ยังคงร้อนรุ่มไม่หยุดยั้ง เพราะบรรยากาศมันไม่ให้
ภิกษุรูปหนึ่งซึ่งถูกวัยรุ่นมุสลิมกลั่นแกล้ง
(ตามคำเล่าของ อัญทิชา แสงชัย) ถึงขั้นตบหัว เปรยว่า “เขาสอนกันมาให้เกลียดเรา”
ผู้ได้ฟังที่อยู่ในส่วนหลังย่อมเคืองขุ่น หรือ ‘ของขึ้น’ ว่าสอนกันอย่างนั้นได้อย่างไร
แต่จะมีใครบ้างฉุกคิดว่า
‘ทำไมเขาถึงสอนกันอย่างนั้น’
แทนที่จะโมโหโกรธาสถานเดียว แล้วก็เข้าสู้รบต่อกรไม่รู้จบ
จนกว่าจะร่วงผลอยไปหมดทั้งสองฝ่าย คิดกันบ้างไหมว่าเป็นเพราะบรรยากาศมันไม่ให้
ไม่เคยให้ และไม่มีท่าทางจะให้
แน่ละหรือเพราะเขาเกิดกันมาอย่างนั้น
สอนกันมาอย่างนั้นเอง ไม่ใช่เคยถูกกดดัน กลั่นแกล้ง เอาเปรียบ
และเหยียดหยามเสียจนความโกรธฝังลึกกลายเป็นเกลียด ไฟใต้เกิดมากี่สิบปีแล้ว ก่อน
๒๔๗๕ ก็ว่าได้
ในยุคสมัยหนึ่งมีนายกรัฐมนตรีที่มีเชื้อสายสุไลมาน
(อดีตเจ้าผู้ปกครองอาณาจักรปาตานี) มีโครงการดับไฟใต้ที่ดูเหมือนจะเดินถูกทาง
ด้วยการนำแนวคิดของคนมลายูในท้องที่มาปรับเป็นแผนงาน
แต่ก็น่าเสียดายที่นายกฯ
คนนั้นมีอายุการทำงานสั้นเกินไป และการเปลี่ยนแปลงทางการเมืองไทยมักหักล้างสลับขั้วกันอยู่เสมอ
เลยไม่มีการสานต่อแผนงานนั้นให้ได้พิสูจน์ว่าถูกทางแน่หรือไม่
ไฟใต้จึงยังคุและเริ่มกระพือหนักตอนที่
คสช. กำลังจะเปลี่ยนจากหลังเสือไปขึ้นคอช้างนี่ละ
เห็นแล้วชวนให้พะวงถึงแผนการปรองดองที่คณะรัฐประหาร
คสช. เอามาโฆษณาปาวๆ เมื่อไม่นานมานี้ ดูทีจะฝ่อลงไปเรื่อยๆ เพราะ ‘บรรยากาศมันไม่ให้’ เหมือนกัน
ในเมื่อฝ่ายหนึ่งยังคงโดนกด ถูกกระทำ โดนขย้ำไม่หยุดยั้ง
กระทั่งผู้มีบาตรใหญ่ที่
‘เข้าครอง’ และ ‘บังคับขับไส’ มาจนขณะนี้จะครบสามปี
ยังอดไม่ได้ที่จะออกมาโพล่งว่าอย่าไปเลือกมัน ไอ้พรรคที่ถูกรัฐประหารไปแล้วนั่น
(หมายเหตุ ภาพประกอบส่วนใหญ่จาก โพสต์เฟชบุ๊คของ ดร.ดำเนิน ยาท้วม)