ฝันร้าย ฝันสลาย รัฐประหาร ‘เสียของ’ เลือกตั้ง ปี 2561
9 พฤษภาคม พ.ศ.2560
ที่มา มติชนสุดสัปดาห์
คําขอร้องของ พล.อ.ประยุทธ์ จันทร์โอชา ในที่ประชุม ไทยแลนด์4.0 ณ มหาวิทยาลัยมหิดล ศาลายา เมื่อปลายสัปดาห์ก่อนที่ว่า
อย่าเลือกคน หน้าเก่า อย่าให้ เหมือนเดิม
สะท้อนความรู้สึกลึกๆ ที่ไม่แน่ใจเท่าใดนักว่า กฎกติกาอันกำหนดผ่าน รัฐธรรมนูญ พ.ศ.2560 อาจจะไม่เป็นไปตาม ธง ที่กำหนดวางเอาไว้
เหมือนกับผลอันเนื่องแต่ รัฐธรรมนูญ พ.ศ.2540
เหมือนกับผลอันเนื่องแต่ รัฐธรรมนูญ พ.ศ.2550
นั่นก็คือ การเลือกตั้งเมื่อเดือนมกราคม 2544 ทำให้พรรคไทยรักไทยผงาดขึ้นมาและยึดครองอำนาจได้อย่างเบ็ดเสร็จในการเลือกตั้งเมื่อเดือนกุมภาพันธ์ 2548
นั่นเป็นผลอันมาจาก รัฐธรรมนูญ พ.ศ.2540
จึงจำเป็นต้องเกิดรัฐประหารเมื่อเดือนกันยายน 2549 และมีการร่างรัฐธรรมนูญใหม่ แต่การเลือกตั้งเมื่อเดือนธันวาคม 2550 ก็ยังเป็นเหมือนเดิม และการเลือกตั้งเมื่อเดือนกรกฎาคม 2554 ก็ยังเป็นเหมือนเดิม
จึงจำเป็นต้องเกิดรัฐประหารเมื่อเดือนพฤษภาคม 2557
รัฐประหารเมื่อเดือนพฤษภาคม 2557 เกิดขึ้นจากบทสรุปที่เห็นว่ารัฐประหารเมื่อเดือนกันยายน 2549 เป็นรัฐประหารที่ เสียของ
มิอาจสกัดพรรคพลังประชาชนได้ มิอาจสกัดพรรคเพื่อไทยได้
ไม่ว่าพรรคเพื่อไทย ไม่ว่าพรรคพลังประชาชน ก็ล้วนแต่เป็น อวตาร แห่งพรรคไทยรักไทยซึ่งผงาดมาจากการเลือกตั้งเมื่อเดือนมกราคม 2544 ตามรัฐธรรมนูญ พ.ศ.2540 ทั้งสิ้น
เป้าหมายของรัฐประหารเมื่อเดือนพฤษภาคม 2557 จึงเพื่อมิให้ “เสียของ”
การรุกไล่ต่อ น.ส.ยิ่งลักษณ์ ชินวัตร ตั้งแต่ถอดถอนกระทั่งนำฟ้องร้องผ่านศาลฎีกาแผนกคดีอาญาของผู้ดำรงตำแหน่งทางการเมืองในคดีจำนำข้าวก็เพื่อเป้าหมายนี้
เพื่อตัดหนทาง น.ส.ยิ่งลักษณ์ ชินวัตร เหมือนกับตัดหนทาง นายทักษิณ ชินวัตร
ยิ่งกว่านั้น บรรดาขุนพลของพรรคเพื่อไทยไม่ว่า นายสุรพงษ์ โตวิจักษณ์ชัยกุล ไม่ว่า พล.อ.อ.สุกำพล สุวรรณทัต ไม่ว่า นพ.สุรพงษ์ สืบวงศ์ลี เป็นต้น ล้วนถูกตัดตอน
ลิดรอนมิให้แสดง บทบาท ใดๆ ในทางการเมือง
หากรุกไล่และเล่นงานในระดับนี้แล้วยังไม่สามารถ “ทำหมัน” หรือ “มัดตราสัง” พรรคการเมืองอย่างพรรคเพื่อไทยได้อีกก็ต้องยอมรับว่า “เสียของ”
ความหวั่นไหวอันมาจาก พล.อ.ประยุทธ์ จันทร์โอชา มิใช่เพราะว่า คสช.ไม่มีฝีมือ คสช.ไม่สามารถกำหนดมาตรการใดๆ ในทางการเมือง
หากแต่น่าจะมาจาก พันธมิตร
นี่ย่อมเป็น ยุทธวิธี อย่างเดียวกันกับที่เคยมีการกำหนดแผนเอาไว้หลังรัฐประหารเมื่อเดือนกันยายน 2549
ที่รู้กันในชื่อ บันได 4 ขั้น ของ คมช.
นั่นก็โดยการแยกเอาคนของพรรคไทยรักไทยออกมาจัดตั้งพรรคเพื่อแผ่นดิน พรรคมัชฌิมาธิปไตย เพื่อเป็นพันธมิตรกับพรรคประชาธิปัตย์ พรรคชาติไทย ในการจัดตั้งรัฐบาล
แต่ผลการเลือกตั้งเดือนธันวาคม 2550 ทำให้ ฝันสลาย
มาถึงการเลือกตั้งเดือนกรกฎาคม 2554 หลังสถานการณ์เดือนเมษายน พฤษภาคม 2553 ก็มีความพยายามเช่นเดียวกัน แต่ก็เกิด ฝันสลายอีก
สะท้อนว่า พันธมิตร ของ คสช.อาจจะไม่มี ความมั่นใจ
เส้นทางนับจากเดือนเมษายน 2560 จนกว่าจะมีการเลือกตั้งไม่เกินเดือนธันวาคม 2561 จึงสำคัญอย่างยิ่ง
สำคัญต่อผลและความต่อเนื่องจากรัฐประหารเมื่อเดือนพฤษภาคม 2557 สำคัญต่อพันธมิตรของ คสช.ว่าจะสามารถกำชัยเหนือกว่าพรรคเพื่อไทยได้หรือไม่
แต่ละจังหวะก้าวจึงสะท้อนการต่อสู้อันแหลมคมยิ่งในทางการเมือง
ขอบคุณมติชนออนไลน์