วันพฤหัสบดี, มกราคม 26, 2560

งานศิลปะ 3 ชิ้นล่าสุดที่คุณปอร์เช่ได้จากโรงแรมญี่ปุ่น (ขออภัย ไม่เกี่ยวข้องกับเรื่องข้าราชการกรมทรัพย์สินทางปัญญาไทย 'ปลด' รูปจากโรงแรม ที่เป็นข่าว)




ที่มา เวป Dudesweet.Org

25 JAN 17 / THIRD WORLD

วงการศิลปะร่วมสมัยของไทยก้าวสู่ยุครุ่งเรือง เมื่อไฮโซไทยต่างเข้าใจแล้วว่า แค่มีรถสปอร์ต หรือของแบรนด์เนม แม่ค้าขายครีมใน IG ก็มีกันได้ ปีที่ผ่านมานี้ ไฮโซปอร์เช่-ปรพจน์ สัตถารุ่งเจริญวัฒนากิจไพบูลย์ เจ้าของสัมปทานประมงและผู้ส่งออกปลานกแก้วรายใหญ่ที่สุดของไทย จึงเริ่มสะสมงานศิลปะ ซึ่งเขาบอกว่า เป็นสิ่งที่เขาหลงไหลมานานแล้ว เพียงแค่เขาไม่อยากจะพูด

แต่วันนี้เขาเปิดปาก exclusive interview กับ Third World แบบสบายๆ ที่ Bangkok City City Gallery ซอยสาธร 1 คุณปอร์เช่ที่เราเคยรู้จักเขาแต่ในเรื่องแฟชั่น ใส่เสื้อยืดลายไฟ Thrasher กางเกงของ Vetements และรองเท้า Louis Vuitton x Supreme ที่เขามีก่อนแฟชั่นโชว์จะเริ่มเสียอีก แต่วันนี้เราจะไม่คุยกับเขาเรื่องแฟชั่น เพราะเป็นประเด็นที่คุณปอร์เช่บอกว่าเบื่อจะคุยแล้ว




คิดอย่างไรจึงเริ่มสะสมงานศิลปะครับ?

ไม่คิดเลยครับ เพราะศิลปะมันอยู่ในตัวผม มันอยู่ในเซลเม็ดเลือด ผมเสพติดมันอย่างหนัก ถ้าวันไหนผมไม่ได้ดูงานศิลปะ ผมจะรู้สึกคลุ้มคลั่งเหมือนอาจารย์เฉลิมชัยปวดประจำเดือน

.

มาคุยเรื่องงานชิ้นใหม่สามชิ้นที่เพิ่งซื้อมาดีกว่านะครับ อยากทราบว่า–

(รีบขัด) โอ้ๆๆๆๆ อย่าใช้คำว่าซื้อเลยครับ งานศิลปะมันมีคุณค่ามากกว่าเงิน มันไม่ควรมีการซื้อขาย ใช้คำว่า acquire (ครอบครอง) น่าจะเหมาะกว่า

ครับ อยากทราบว่าสามชิ้นเด็ดที่คุณปอร์เช่เพิ่ง acquire มาใหม่ คือชิ้นไหนครับ?

(หัวเราะ) แหม รู้ได้ยังไงเนี่ย ผมว่าผมซุกไว้ดีแล้วเชียว (หัวเราะ) ได้มาจากญี่ปุ่นครับ อ้อ นี่ไง มาพอดีเลย (คนงานพม่าสามนายเดินเรียงแถวถือภาพขนาดประมาณติดห้องโรงแรมมาคนละภาพ คุณปอร์เช่สั่งทั้งสามให้ยืนถือภาพเรียงหน้ากระดานให้เราดู) สามชิ้นนี้ครับ เพิ่งได้มาสดๆ ร้อนๆ จากญี่ปุ่นเลย พอดีมีผู้ใหญ่ในกรมทรัพย์สินทางปัญญาที่สนิทกันมากท่านหนึ่ง ท่านถือมาฝากจากญี่ปุ่น (มองงานพลางลูบคางครุ่นคิด) มันเป็นภาพที่มีพลังมาก (หรี่ตา ครุ่นคิดหนัก) ผมสนใจบริบทของการเคยมีอยู่ของมัน ที่มันสื่อถึงภาวะแห่งปัจเจกที่เลื่อนไหลไปมาระหว่างจุดอ้างอิงและความคิดอันมากมายอย่างไม่หยุดนิ่ง อันเป็นภาวะย้อยแยงที่ความหมายถูกสร้างขึ้นและผลิตซ้ำอย่างลักลั่น เพื่อนำเสนอภาวะของความไม่คงที่ในฐานะที่สิ่งที่มีศักยภาพในการสร้าง ซึ่งท้าทายและปรับเปลี่ยนวิถีความเข้าใจและมโนทัศน์ของมนุษย์ตลอดเวลา เป็นการตั้งคำถามถึงความมีอยู่ของความไม่มีอยู่รวมถึงต่อต้านเสถียรภาพและความลงรอยเพื่อนำมาซึ่งเหตุการณ์ที่อาจเกิดขึ้นหรือไม่เกิดขึ้น และปัจจัยที่สร้างความเป็นไปได้อื่นๆ เปิดโอกาสอันเชื้อเชิญให้ผู้ชมเดินทางผ่านสิ่งที่ดูเป็นเส้นเดี่ยวอันสับสนน่าฉงน เป็นการทับซ้อนที่ซับซ้อนต่อการดำรงอยู่ของสัญญาของผัสสะมนุษย์ และโลกแห่งวัตถุที่บิดเบือนมาบรรจบกับความเป็นปฏิปักษ์ต่อความมุ่งมันปราถนา ซึ่งมีการควบคุมแบบอัตโนมัติและดำเนินไปอย่างรวดเร็ว เป็นการสำรวจบริบทแห่งความคุ้นเคยในการบริโภคของมวลชนและการทำพิธีกรรมในแต่ละวัน ก่อให้เกิดการสร้างบทสนทนาที่เสมือนการสานต่อการสอบสวนทุนนิยมและความมีอยู่ของการไม่มีอยู่





สามชิ้นนี้ได้มาจากแกลเลอรี่ไหนในญี่ปุ่นครับ

จากโรงแรมครับ คือผมไม่เชื่อว่าศิลปะที่ดีต้องอยู่แต่ในแกลเลอรี่ พอดีท่านคนนี้เขาสะสมงานประเภทศิลปะหยิบยืม หรือ appropriation art ซึ่งท่านก็ทราบว่าเป็นแนวทางที่ผมชื่นชอบเหมือนกัน ท่านเคยเชิญผมไปค้างคืนที่บ้านของท่านแล้วผมประทับใจมาก ท่านเป็นนักสะสมตัวยง ข้าวของทุกชิ้นในบ้านของท่าน เป็นของที่ appropriate มาจากโรงแรมและเครื่องบินทั้งหมด ไม่ว่าจะแปรงสีฟัน ผ้าขนหนู ผ้าปูที่นอน พรมเช็ดเท้า ข้าวของในห้องทำงานของท่าน ก็ appropriate มาจากที่ทำงานจริงๆ แม้แต่คนใช้ในบ้านของท่าน ท่านก็ลักพาตัวมาจากโรงแรมในเวียดนาม ซึ่งในแง่นี้ ผมมองว่าท่านไม่ได้เป็นแค่นักสะสมงานศิลปะ แต่ท่านเป็นศิลปินด้วย

งานศิลปะแบบไหนที่คุณปอร์เช่ชอบสะสมครับ

ก็อย่างที่บอก ว่าผมชอบงาน appropriation art แล้วผมก็มีท่านจากกรมทรัพย์สินทางปัญญาท่านนี้เป็นต้นแบบในการสะสมงานครับ ต่างกันที่ท่านเขาจะชอบพวกภาพเขียน ส่วนผมจะสนใจพวก sculpture มากกว่า ตอนนี้ผมก็สะสมพวกรูปปั้นตามวัด ตามสวนสาธารณะ ไฟถนน กรวยจราจร ตู้ไปรษณีย์ แต่ตอนนี้กำลังอยากได้ป้ายชื่อห้างพาราก้อน เพราะผมชอบงานที่พูดในประเด็นบริโภคนิยม ก็กำลังหาทางให้คนงานไปเอาลงมาอยู่

แบบนี้ไม่เรียกว่าขโมยเหรอครับ ทำแบบนี้ไม่น่ารักเลยนะครับ

(ฉุน) คือคอลเล็คเตอร์ในเมืองไทยส่วนใหญ่สะสมงานโดยใช้เงินซื้อ ซึ่งผมแอนตี้ตรงจุดนี้มาก ผมมองว่ามันทำให้งานศิลปะไม่บริสุทธิ์ ทุกครั้งที่เกิดการหยิบยืมหรือที่คุณใช้คำว่าขโมย มูลค่าของงานก็จะเพิ่มขึ้นเอง ดูงานโมนาลิซ่า, ฟาน ก๊ก, ปิกัสโซ่, โมเนต์ เป็นตัวอย่าง ในโลกศิลปะไม่มีคำว่าขโมยครับ อย่าลืมนะครับว่าไม่มีอะไรออริจินัล อย่างการ appropriate ภาพเขียนสามภาพนี้มาจากโรงแรม จุดประสงค์ที่แท้จริงของท่านคือต้องการเพิ่มคุณค่าและเรื่องราวให้ตัวงาน! ผมถึงบอกไง ว่าท่านคนนี้ไม่ได้เป็นแค่คอลเล็คเตอร์ แต่ท่านเป็นศิลปิน! จำไว้นะครับ Good artists copy. Great artists steal.

นอกจากจะมีความรอบรู้ด้านแฟชั่นและธุรกิจแล้ว วันนี้เรายังได้เรียนรู้มุมมองทางด้านศิลปะที่น่าสนใจจากคุณปอร์เช่ นี่คืออีกหนึ่งคนมีระดับที่หลงไหลศิลปะอย่างแท้จริง เป็นสิ่งที่ศิลปินและคอลเล็คเตอร์ควรเอาเป็นเยี่ยงอย่าง





The events depicted in this story and “Stuff” section in Third World Magazine are fictitious. Any resemblance to actual persons, living or dead, or actual events is purely coincidental.

อ่าน บทสัมภาษณ์เต็มได้ที่