วันศุกร์, กันยายน 02, 2559

อ่านกั้นยัง 'คุณหมออมยิ้ม' ตอน 'ยายมาตีสาม' กับ 'ทำไมไม่มาในเวลาราชการ'


เรื่องราวของหมอบ้านนอก...กะคนไข้ชาวบ้าน
ที่อยากให้ทุกคนอ่านแล้ว...ยิ้มตาม


https://www.facebook.com/smilingdoctor/?fref=nf

August 29 at 6:39am :ยายมาตีสาม


ตอนที่เพิ่งออกไปทำงานที่โรงพยาบาลชุมชนใหม่ๆ
เช้าวันศุกร์หน้าหนาววันนั้น หมอออกตรวจคนไข้คลินิกเบาหวาน
กว่าจะเดินไปถึงหน้าห้องตรวจได้ก็เกือบเก้าโมงพอดี
ระหว่างทางก่อนเดินเข้าห้องตรวจ ก็เจอคนไข้เบาหวานนั่งรอ
พอเห็นหมอคุณตา คุณยาย ที่นั่งรอมาตั้งแต่เช้าก็ถามหมอ

"คุณหมอเป็นหยังคึมาสายแทะน้อ"
"หลานน้อยฝากคนข้างบ้านไว้ร้องไห้แล้วปานนี้น่ะหมอ"
"หมอป้อนข้าวป้อนนมลูกอยู่เบาะน้อ เป็นหยังคึเพิ่งมา"
"เร็วๆแหน่คุณหมอ ยายสิบ่ทันไปเพล"

ย้อนกลับไปเมื่อคืนวันพฤหัส เป็นวันที่หมออยู่เวรพอดี
เวรวันนั้นตอนกลางคืน มีคนไข้ที่ต้องใส่ท่อช่วยหายใจส่งตัวเข้าโรงพยาบาลศูนย์ กลางดึกก็หลับๆตื่นๆ เนื่องจากต้องมาดูคนไข้เป็นระยะ
อาจจะไม่บ่อยมาก แต่ทุกครั้งที่ตื่นมา กว่าจะข่มตานอนให้หลับได้ ก็ต้องใช้เวลานานเหมือนกัน
พอรุ่งเช้าประมาณหกโมงกว่า ได้รับโทรศัพท์ 
"คุณหมอคะ มีเคสเสียชีวิต ต้องออกชันสูตรค่ะ "
หลังออกชันสูตรเสร็จก็กลับมาอาบน้ำแล้วไปตรวจคนไข้ในต่อ
ซึ่งคนไข้ในวันนั้นก็มีรายที่อาการไม่ค่อยดี
ต้องเขียนใบส่งตัวต่อไปที่โรงพยาบาลศูนย์

กว่าจะทำทุกอย่างเสร็จ และพาตัวเองเดินมาถึงหน้าห้องตรวจเบาหวานในเวลาเก้าโมงได้ ก็แทบหมดแรงแล้ว
พอมาได้ยินคำทักทายจากคุณยาย "คุณหมอคือมาสายแท้"
ก็รู้สึกหมดแรงเหมือนกัน

หันไปมองสีหน้าของคุณยายแต่ละคนที่ทักและถามหมอแบบนั้น
สีหน้าแต่ละคน มีแต่รอยยิ้มที่แห้งๆ ไม่ได้มีสีหน้าโกรธหรือไม่พอใจอะไรเลย คงเป็นคำทักทายตามประสาชาวบ้าน เชิงจริงแกมหยอกนิดนึงมั้ง
แต่หมอก็อดที่จะคิดในใจไม่ได้ว่า
"ยายจะรู้มั้ยนะ ว่ากว่าจะมาถึงหน้าห้องตรวจ ตอนเช้าวันนี้เราทำอะไรมาบ้าง"
"ยายก็เพิ่งมารอตอนเช้า นี่ก็เพิ่งเก้าโมงเอง คึจะรีบแท้"

จนหลายวันต่อมา....
กลางดึกตอนประมาณตีสาม หมอได้รับโทรศัพท์จากห้องฉุกเฉินว่ามีคนไข้อาการไม่ค่อยดี หมอจึงตื่นกลางดึก ปั่นจักรยานจากบ้านพัก เพื่อไปดูคนไข้

ระหว่างทางนั้นผ่านลานตรวจเบาหวาน
มองเห็นคนไข้คุณตาคุณยายแก่ๆ สามสี่คน เอาผ้าขนหนูห่มตัว นั่งคุยกันอยู่ อากาศตอนนั้นหนาวมาก หมอใส่เสื้อกันหนาวสองตัวยังไม่อุ่นเลย แล้วยายนั่งห่มผ้าขนหนูบางๆผืนเดียว มานั่งรอหมอตอนตีสามเพื่อรอตรวจเบาหวาน
หมอถึงกับยกแขนขึ้นมาดูนาฬิกาใหม่ หรือชั้นดูเวลาผิด
นี่มันตีสามจริงๆใช่มั้ย...และคำตอบที่ได้ให้กับตัวเองคือ ตีสามจริงๆ

ขากลับจากดูคนไข้ ระหว่างทางเลยตะโกนถามยาย
"ยายยยย เป็นหยังคึพากันฟ้าวมาแท้ เพิ่งตีสามเอง"

"ย่านบ่ได้คิวแรกคุณหมอ บ่มีคนอยู่นำหลาน ตอนสายๆ พ่อตู้สิไปเฮ็ดงานจ้าคุณหมอ"
"เอ๋าเบาะะะ พากันหนาวบ่หละยายยย"
"หนาวอยู่จ้าคุณหมอ แต่กะอดเอา นี่ยายกะเป็นหวัดจักหน่อยนำ แต่หมอนัดกะอดเอา ต้องมาตามนัดคุณหมอ ยาเบาหวานนี่ขาดบ่ได้ ยากปานได๋ก็ต้องมาหละเนาะคุณหมอ" ยายบอกหมอ

ตีสามวันนั้น...กับภาพที่ได้เห็น
ได้สอนหมอให้เข้าใจมากขึ้น
กับคำว่า "คุณหมอเป็นหยังคึมาสายแท้"
เพราะเวลาที่ยายมา ไม่ได้เริ่มนับจากแปดโมง
บางคนมาตีสองตีสาม บางคนมาเที่ยงคืนก็มี
โดยเฉพาะ...คนไข้คนแก่ลานเบาหวาน

อาจจะทำได้บ้างไม่ได้บ้างกับการพยายามมาตรวจคนไข้ให้เช้าขึ้น
ด้วยเหตุผลที่ต้องทำอะไรหลายๆอย่าง ดูคนไข้หลายๆที่
ทั้งในตึก นอกตึก หรือห้องฉุกเฉินในบางครั้ง
แต่อย่างน้อยก็ทำให้หมอได้เข้าใจคนไข้มากขึ้น
และรู้สึกน้อยลงเวลามีคำพูดเหล่านี้มากระทบใจ
ตอนนี้หมอกลับเป็นฝ่ายที่ต้องแย่งยายพูดก่อน
"ยายยย คิวแรกมาตั้งแต่ตีไหนหนิ"
"ยายยย รอนานบ่ ขอโทษหลายๆเด้อมื้อนี่มาสายน่ะ"

สิ่งที่ได้จากยายคือรอยยิ้ม และคำตอบกลับมาว่า
"บ่เป็นหยังดอกจ้าาาคุณหมอ"

ขอบคุณคุณตาคุณยายมาตีสาม...
ที่สอนหมอน้อยที่เพิ่งออกมาอยู่โรงบาลชุมชน
ให้ได้เห็นอะไรมากขึ้น...


Like This Page · August 27 :ทำไมไม่มาในเวลาราชการ


"เรื่องราวอีกมุมของคนไข้บ้านนอก"
ที่อยากเล่าผ่านมุม ของหมอบ้านนอก


ป้าปวดหัวตั้งแต่เที่ยง ไม่มีรถไม่มีคนพามา
ลูกเลิกงานสี่โมงเย็น ขับรถมอไซค์จากในเมือง
กว่าจะกลับมาถึงหกโมง ถึงได้พามาโรงพยาบาล

ลุงปวดไหล่ปวดหลัง รับจ้างตัดอ้อยดำนา
เลิกหกโมงแลง แต่นอนไม่ได้มันปวด
อยากได้ยาแก้ปวดยานวด พอได้มีแรงไปทำพรุ่งนี้
เลยมาหาหมอสองทุ่ม

หลานยายไข้สูงตั้งแต่กลางวัน พ่อแม่ไปทำงานกรุงเทพ
ยายให้กินยา เช็ดตัว แล้วไข้ยังขึ้นๆลงๆ
ตอนห้าทุ่มก็ยังตัวร้อน แถมยายนึกได้ว่ามันเคยชัก
กลัวว่าจะชักอีก ยาลดไข้ก็หมด แบกหลานซ้อนจักรยานมากับตา ปั่นมาจากอีกหมู่บ้านนึง

ทั้งหมดนี้คืออาการที่ "ไม่ฉุกเฉิน"
และเรามักจะหงุดหงิด ว่า "ทำไมไม่มาในเวลาราชการ"

แม้แต่ตัวเองบางทีที่โดนตามตอนดึกๆ ยังหงุดหงิดเพราะความง่วง แต่ก็ข่มใจไว้และไม่เคยแสดงอาการหงุดหงิดเลย (และคนที่เหนื่อยกว่าหมอคือพี่พยาบาล)

แต่บางทีเราอาจลืมนึกไปว่า...
ตามบ้านนอก กลางดึกไม่มีร้านขายยาเปิดสักร้าน
ตามบ้านนอก ไม่มีเซเว่นในบางที่
หรือแม้แต่มีร้านขายในตอนกลางวัน
ในบางคน เค้าก็ไม่มีเงินซื้อ

บางทีเราอาจลืมนึกไปว่า...
บางคน เค้ามีเรื่องในชีวิตที่เค้าให้ความสำคัญมากกว่ามาหาหมอ
คนไข้ชาวบ้าน ที่ไปรับจ้างตัดอ้อยกลางวันได้เงิน300บาท กับการมาหาหมอในเวลาราชการรับยากระเพาะแล้วไม่ได้ไปรับจ้าง ถ้าเลือกได้ เค้าก็คงไปรับจ้าง แล้วเลิกงานค่อยมารับยา (เพราะไม่ด่วน ทนได้ ไปทำงานต้องอดทนปวดท้อง เพราะต้องหาเงิน300 มาเป็นค่ากับข้าวให้ลูกให้หลาน)

บางทีเราอาจลืมนึกไปว่า...
ถ้าเราเจ็บป่วย คงไม่อยากลุกมาจากเตียงยามดึกดื่นตีสองตีสามเพื่อบากหน้าเดินทางมาหาหมอ

บางทีเราก็อาจลืมนึกไปว่า...
ตอนที่ตัวเราป่วยเอง เราอยากไปหาหมอตอนไหน
หรือเราอาจจะเข้าถึงการรักษาง่าย
จนลืมนึกถึงคนที่เค้าเข้าถึงการรักษายากไปเลย

ภาพคุณยาย....
ที่ถือหม้อข้าวสารมาจุดคัดกรอง
และบอกพี่พยาบาลจุดคัดกรองว่า


"ยายปวดหลังปวดขา รักษายายให้หายแน
ยายบ่มีเงินเด้อ มีข้าวสารหม้อเดียวนี่หละมาแลก"


ถึงบ้านเมืองเราจะก้าวไกลไปแค่ไหน
จะมีเทคโนโลยีใหม่ๆ จะมีหมอเก่งๆ รักษาโรคยากได้มากมาย
แต่อย่าลืมว่า เรายังมีชาวบ้านชาวไร่ชาวนาคนยากคนจน
ซึ่งยังเป็นคนส่วนใหญ่ของประเทศ

ที่ยังมีคุณหมอเป็นที่พึ่ง ยามที่เค้าเจ็บป่วย
เพียงแค่เค้าอ่านหนังสือไม่ออก เขียนไม่ได้
ไม่มีโทรศัพท์ ไม่มีอืนเตอร์เน็ต
ที่จะมาบอกผ่านเฟสบุ๊คได้เท่านั้นเอง

ถ้าตายายบอกได้ เค้าคงบอกว่า
"อย่าทอดทิ้งพวกเรานะคุณหมอ"

เขียนแทนชาวบ้าน...
เพราะอยากแชร์อีกบางมุม

จากการเป็นเด็กบ้านนอกมาตั้งแต่เกิด
และจากการเป็นหมอบ้านนอกเท่าที่ได้สัมผัสมา

27 สิงหาคม 2559 ; 21.20 น.