วันเสาร์, พฤษภาคม 14, 2559

ย้อนรอย “ค่าโง่คลองด่าน” โครงการบ่อบำบัดน้ำเสีย บทเรียน 3 หมื่นล้าน ราคาที่คนไทยต้องจ่าย





ทุจริตคลองด่าน เกิดขึ้นสมัยชวน หลีกภัย เป็นนายกรัฐมนตรีครั้งแรก..เป็นที่น่าแปลกใจว่า นายชวน หลีกภัย นายกรัฐมนตรี ไม่ต้องรับผิดชอบ ทั้งๆที่ปรากฎหลักฐานประจักษ์แจ้งว่ามีการทุจริต แต่ เพราะเป็นนายกรัฐมนตรี เเละเป็นเพียงผู้กำกับนโยบายเท่านั้น จึงไม่มีความผิด

แต่ขณะเดียวกัน นายกยิ่งลักษณ์ ชินวัตร ต้องโดนกล่าวหาจาก ปปช.ว่า นายกรัฐมนตรี ในฐานะผู้กำกับนโยบาย ต้องรับผิดชอบต่อกรณี "ส่อทุจริต" ในคดีโครงการรับจำนำข้าว ทั้งๆที่ไม่มีข้อมูลว่ามีการทุจริต ปปช.เพียงนำผลงานวิจัย (วิจัยสมัยรัฐบาบอภิสิทธิ์) และพยานปากเอกจาก ปชป.ผู้กล่าวหามาเป็นพยานปากเอก

เมื่อเปรียบทั้งสองโครงการ ของสองรัฐบาล
โครงการหนึ่ง ปรากฎด้วยข้อเท็จจริงและประจักษ์หลักฐานว่ามีการทุจริต แต่นายกรัฐมนตรีขณะนั้น ไม่ต้องรับผิดชอบ

เมื่อมาถึงโครงการอีกรัฐบาลหนึ่ไม่เคยปรากฎหลักฐานและประจักษ์พยานว่ามีการทุจริต แต่ปรากฎว่า ปปช.กลับชี้มูลว่า "ส่อทุจริต"จนนำไปสูการถอดถอนออกจากผู้ดำรงตำเหน่งทางการเมือง(ทั้งๆที่ไม่มีตำเหน่งให้ถอดถอนแล้ว) จาก สนช. (สภาฯที่แต่งตั้งโดย คสช.)มิหนำซ้ำข้อเท็จจริงที่ปรากฎอย่างชัดเจนก็คือ มีชาวนาได้รับประโยชน์ถึง 13 ล้านครัวเรือน และนายกรัฐมนตรีในขณะนั้น ไม่ได้ถือเงินแม้แต่สลึงเดียว

สรุปว่า หากเป็นนายกรัฐมนตรีและรัฐบาลที่ต่อสู้เพื่อประชาชน(ชาวนา) จะต้องถูกทำลายทุกวิถีทาง แต่หากเป็นนายกรัฐมนตรี ที่เป็นผู้รับใช้ระบอบเผด็จการศักดินา ต้องดูแลอุ้มชูกันเต็มที่ ทุจริตก็บอกว่าไม่ทุจริต แต่หากไม่สามารถปกป้องได้ ก็ปล่อยให้หมดอายุความ ซึ่งเป็นการช่วยเหลือผู้รับใช้ระบอบฯ..แบบเนียนเนียน

"หรือว่าไม่จริง"

มิตรสหายท่านหนึ่ง

ooo





สภาพล่าสุดของโครงการบ่อบำบัดน้ำเสีย ต.คลองด่าน อ.บางบ่อ จ.สมุทรปราการ ถูกทิ้งให้รกร้าง ไม่สามารถดำเนินการใดๆ ได้ แม้จะใช้จ่ายงบประมาณไปแล้วกว่า 2 หมื่นล้านบาท และจะต้องเสียค่าโง่ให้กับบริษัทเอกชนผู้รับเหมาอีกกว่า 9.6 พันล้านบาท ที่มาภาพ: Google Earth


ที่มา Thai Publica
22 พฤศจิกายน 2015

พลันที่ที่ประชุมคณะรัฐมนตรี (ครม.) เมื่อวันที่ 17 พฤศจิกายน 2558 มีมติให้จ่ายเงินกว่า 9.6 พันล้านบาท ให้กับบริษัทเอกชน รวม 6 บริษัท ที่เกี่ยวข้องกับโครงการก่อสร้างบ่อบำบัดน้ำเสีย ต.คลองด่าน อ.บางบ่อ จ.สมุทรปราการ ตามคำพิพากษาของศาลปกครองสูงสุด สื่อมวลชนทุกแขนงต่างพาดหัวตรงกันว่าเป็นการจ่าย “ค่าโง่” จากคดีทุจริตคลองด่าน

หลายคนอาจตั้งคำถามว่า อะไรคือค่าโง่ โง่อย่างไร ใครโง่ แล้วรัฐบาล พล.อ. ประยุทธ์ จันทร์โอชา มีอำนาจในการจ่ายเงินประเภทนี้ให้บริษัทเอกชนได้จริงๆ หรือ

คำถามที่หลายคนยิ่งคาใจก็คือ แล้วทำไมยังต้องจ่ายเงินก้อนนี้ ทั้งๆ ที่ก็รู้กันว่า โครงการบ่อบำบัดน้ำเสียคลองด่านมีการทุจริตอย่างเป็นขั้นเป็นตอน และศาลได้ตัดสินแล้วว่ามีความผิดจริง จนใครบางคนต้องหลบหนีและไม่ได้กลับประเทศอีกเลย

สำนักข่าวออนไลน์ไทยพับลิก้า ขอชวนย้อนอดีตคดีมหากาพย์การทุจริตครั้งยิ่งใหญ่ที่สุดคดีหนึ่งในประวัติศาสตร์ เพื่อตอบข้อสงสัยหลากหลายข้างต้น และค้นหาว่า “ความโง่” ครั้งนี้ ได้ทิ้งบทเรียนอะไรเอาไว้บ้าง

เพื่อที่พวกเรา-คนรุ่นหลังจะไม่ทำผิดซ้ำ หรือจะช่วยกันหาวิธีป้องกันไม่ให้ “เรื่องโง่ๆ” เกิดขึ้นอีก …จนราวกับว่าสังคมไทยไม่ได้เรียนรู้อะไรจากประวัติศาสตร์
จุดเริ่มต้นโครงการ “คลองด่าน”

ตัวละครสำคัญในการผลักดันโครงการก่อสร้างบ่อบำบัดน้ำเสียคลองด่าน หรือชื่อเต็มว่า “โครงการก่อสร้างระบบรวบรวมและบำบัดน้ำเสียในเขตควบคุมมลพิษพื้นที่ จ.สมุทรปราการ” ซึ่งเริ่มต้นในปี 2538 มีอยู่ด้วยกัน 3 คน

นายสุวัจน์ ลิปตพัลลภ รัฐมนตรีว่าการกระทรวงวิทยาศาสตร์ เทคโนโลยี และสิ่งแวดล้อม (17 ธันวาคม 2537 – 17 กรกฎาคม 2538 สมัยรัฐบาลนายชวน หลีกภัย)
นายยิ่งพันธ์ มนะสิการ รัฐมนตรีว่าการกระทรวงวิทยาศาสตร์ เทคโนโลยี และสิ่งแวดล้อม (18 กรกฎาคม 2538 – 15 มิถุนายน 2539 สมัยรัฐบาลนายบรรหาร ศิลปอาชา)
นายปกิต กิระวานิช อธิบดีกรมควบคุมมลพิษ กระทรวงวิทยาศาสตร์ เทคโนโลยี และสิ่งแวดล้อม (ระหว่างเดือนเมษายน 2538 – เดือนกันยายน 2540)

โดยนายสุวัจน์ รัฐมนตรีว่าการกระทรวงวิทยาศาสตร์ฯ ขณะนั้น เป็นผู้ริเริ่มผลักดันโครงการนี้เข้าพิจารณาในที่ประชุม ครม. โดยเสนอเรื่องผ่านทางเลขาธิการ ครม. ไปเมื่อวันที่ 19 มิถุนายน 2538 แต่เนื่องจากมีการเปลี่ยนแปลงรัฐบาลก่อน ทำให้โครงการหยุดชะงัก ทว่าเมื่อนายยิ่งพันธ์เข้ามารับตำแหน่งรัฐมนตรีว่าการกระทรวงวิทยาศาสตร์ฯ ก็ยืนยันที่จะเดินหน้าเสนอเรื่องต่อ โดยโครงการนี้เข้าสู่ที่ประชุม ครม. เมื่อวันที่ 17 ตุลาคม 2538 และที่ประชุมมีมติ “เห็นชอบ”

วัตถุประสงค์ของโครงการนี้ ก็คือ “เพื่อให้มีการแก้ไขปัญหามลพิษของ จ.สมุทรปราการ โดยเฉพาะในด้านน้ำเสีย ตลอดจนฟื้นฟูคุณภาพน้ำแม่น้ำเจ้าพระยาตอนล่างอย่างเป็นรูปธรรมและรวดเร็ว หลังจากประกาศให้ จ.สมุทรปราการเป็นเขตควบคุมมลพิษ” โดยจะมีศักยภาพในการบำบัดน้ำเสีย รวม 525,000 ลูกบาศก์เมตร (ลบ.ม.) ต่อวัน มากที่สุดในทวีปเอเชียขณะนั้น




ทั้งนี้ เดิมโครงการบ่อบำบัดน้ำเสียนี้จะก่อสร้างขึ้นใน 2 ฝั่งแม่น้ำเจ้าพระยาใน จ.สมุทรปราการ ประกอบด้วย ต.บางปูใหม่ อ.เมือง (ฝั่งตะวันออก) ขนาดที่ดิน 1,550 ไร่ ระบายน้ำเสียลงทะเล และ ต.ในคลองบางปลากด อ.พระสมุทรเจดีย์ (ฝั่งตะวันตก) ขนาดที่ดิน 350 ไร่ ระบายน้ำเสียลงคลอง ภายใต้วงเงิน 13,612 ล้านบาท โดยใช้ลักษณะการว่าจ้างแบบเหมารวม (Turn Key) คือให้บริษัทเอกชนที่ชนะการประมูลเป็นทั้งผู้จัดหาที่ดิน ออกแบบ และก่อสร้าง

แต่ต่อมากลับมีการรวบโครงการนี้ไว้ในที่ดินผืนเดียวกันของฝั่งตะวันออก ใน ต.คลองด่าน อ.บางบ่อ ขนาดพื้นที่ 1,900 ไร่ ทั้งที่ผลการศึกษาของบริษัท มอนต์โกเมอรี่ วัตสัน เอเชีย จำกัด (จัดทำขึ้นในปี 2537 โดยการว่าจ้างของธนาคารเพื่อการพัฒนาแห่งเอเชีย หนึ่งในผู้ให้ทุนโครงการ) ระบุว่า พื้นที่ดังกล่าวไม่เหมาะสมกับการก่อสร้างด้วยเหตุผลสำคัญ 4 ประการ คือ
เป็นพื้นที่ดินอ่อนเหลว
อยู่ห่างไกลจากเขตอุตสาหกรรม
ปริมาณน้ำบำบัดแล้วกว่า 5 แสน ลบ.ม.ต่อวัน จะทำให้น้ำทะเลบริเวณนั้นจืด ปลาอยู่ไม่ได้ ส่งผลกระทบต่อชาวประมง
การสร้างระบบบำบัดน้ำเสียไว้ 2 ฝั่งแม่น้ำเจ้าพระยา จะเป็นวิธีที่ดีที่สุดในระยะยาว มีค่าใช้จ่ายต่ำ และมีความเสี่ยงต่อการผิดพลาดน้อยที่สุด

นอกจากนี้ ในการประชุม ครม. เมื่อวันที่ 25 มีนาคม 2558 นายยิ่งพันธ์ยังเสนอให้เพิ่มวงเงินโครงการเป็น 22,955 ล้านบาท โดยที่ประชุม “เห็นชอบ”

ตลอดทั้งปี 2539 กระทรวงวิทยาศาสตร์ฯ โดยกรมควบคุมมลพิษ (คพ.) ได้เดินหน้าการประกวดราคา เพื่อหาบริษัทเอกชนมาดำเนินการก่อสร้าง เริ่มแรกมีผู้แสดงความสนใจซื้อซองประมูลถึง 13 ราย แต่เนื่องจากมีการกำหนดคุณสมบัติแบบเฉพาะเจาะจงไว้ในทีโออาร์ ว่าต้องมี “ประสบการณ์ในการก่อสร้างบ่อบำบัดน้ำเสีย”ทำให้มีผู้ยื่นซองประมูลจริงเพียง 4 ราย และผ่านคุณสมบัติเพียง 2 ราย ได้แก่ “กิจการร่วมค้า NVPSKG” และ “กลุ่มบริษัท มารูบินี่”

ต่อมา เมื่อวันที่ 6 ธันวาคม 2539 นายปกิต กิระวานิช อธิบดี คพ. ขณะนั้น ได้แก้เงื่อนไขการประมูลให้รวมทำโครงการบ่อบำบัดน้ำเสียนี้ บน “ที่ดินผืนเดียว” (ทั้งที่ มติ ครม. ระบุว่าจะทำบนที่ดิน 2 ผืน) ทำให้กลุ่มบริษัท มารูบินี่ถอนตัวเพราะหาที่ดินไม่ทัน กิจการร่วมค้า NVPSKG จึงชนะการประมูล โดยเสนอราคา 22,949 ล้านบาท

และมีการลงนามในสัญญาโครงการ เมื่อวันที่ 20 สิงหาคม 2540

(เอกสารการชี้มูลความผิดในคดีคลองด่านของ ป.ป.ช. เมื่อวันที่ 8 ธันวาคม 2554 ได้กล่าวถึงบทบาทของนายปกิต กิระวานิช อธิบดี คพ. ในโครงการนี้ไว้อย่างละเอียด พร้อมระบุว่า การดำเนินโครงการก่อสร้างบ่อบำบัดน้ำเสียคลองด่านฝ่าฝืนต่อระเบียบสำนักนายกรัฐมนตรีว่าด้วยการพัสดุ พ.ศ. 2539 “เกือบทุกขั้นตอน”)
ปมปัญหาเรื่องคุณสมบัติกิจการร่วมค้า NVPSKG

สำหรับกิจการร่วมค้า NVPSKG ประกอบด้วยบริษัทผู้รับเหมาซึ่งเป็นที่รู้จักกันอย่างดี โดยบางบริษัทมีสายสัมพันธ์กับบุคคลในรัฐบาลขณะนั้น (แต่ในปี 2539 ยังไม่มีกฎหมายห้ามกิจการของผู้ดำรงตำแหน่งทางการเมืองเข้าเป็นคู่สัญญากับหน่วยงานของรัฐ)

N – บริษัท นอร์ธเวสต์ วอเตอร์ อินเตอร์เนชั่นแนล จำกัด

V – บริษัท วิจิตรภัณฑ์ก่อสร้าง จำกัด

P – บริษัท ประยูรวิศว์การช่าง จำกัด (ชื่อขณะนั้น-ก่อตั้งโดยนายวิศว์ บิดาของนายสุวัจน์ ลิปตพัลลภ)

S – บริษัท สี่แสงการโยธา (1979) จำกัด (ใกล้ชิดกับนายบรรหาร ศิลปอาชา)

K – บริษัท กรุงธน เอนจิเนียร์ จำกัด

G – บริษัท เกตเวย์ ดิเวลลอปเมนต์ จำกัด (มีสายสัมพันธ์กับบริษัท ปาล์มบีช ดีเวลลอปเม้นต์ จำกัด ของนายวัฒนา อัศวเหม ผ่านทางผู้ถือหุ้นคนหนึ่ง)





โดยมีแค่ N ที่มีเงื่อนไขเข้าคุณสมบัติการยื่นซองประมูลกวดราคา คือเคยมีประสบการณ์ในการก่อสร้างบ่อบำบัดน้ำเสียมาก่อนตามทีโออาร์ แต่ก่อนที่กิจการร่วมค้า NVPSKG จะลงนามทำสัญญากับ คพ. ปรากฏว่า N ขอถอนตัว ทำให้เกิดข้อสงสัยตามมาว่า กิจการร่วมค้าดังกล่าวยังมีคุณสมบัติพอที่จะเป็นคู่สัญญากับ คพ. ในการก่อสร้างบ่อบำบัดน้ำเสียในเขตพื้นที่ จ.สมุทรปราการได้หรือไม่

จากข้อสงสัยดังกล่าว นำไปสู่การยื่นคำร้องให้หน่วยงานตรวจสอบการทุจริตคอร์รัปชันขณะนั้น โดยภาคประชาชนอย่างต่อเนื่องระหว่างปี 2542-2547 ทั้งต่อคณะกรรมการป้องกันและปราบปรามการทุจริตและประพฤติมิชอบในวงราชการ (ป.ป.ป.) และคณะกรรมการป้องกันและปราบปรามการทุจริตแห่งชาติ (ป.ป.ช.) ที่ตั้งขึ้นมาแทน ป.ป.ป. ให้เข้ามาตรวจสอบโครงการนี้ โดยแบ่งประเด็นที่เรียกร้องให้ตรวจสอบออก เป็น 2 กรณี 

การใช้อำนาจหน้าที่โดยมิชอบ รวบรวมที่ดินและนำไปออกโฉนดทับที่สาธารณะประโยชน์ รวม 5 แปลง 1,903 ไร่ โดยมีการปั่นราคาขายที่ดินจาก 1 แสนบาท/ไร่ เป็น 1.1 ล้านบาท/ไร่ (ปมที่ดิน)
การใช้อำนาจหน้าที่โดยมิชอบ ผลักดันและเปลี่ยนแปลงรายละเอียดโครงการ เอื้อประโยชน์ให้กับตัวเองและพวกพ้อง ทั้งการรวมที่ดินเป็นผืนเดียวทำให้กิจการร่วมค้า NVPKSG ชนะการประมูล และการเพิ่มวงเงินโครงการ จาก 13,612 ล้านบาท เป็น 22,955 ล้านบาท (ปมโครงการ)

ต่อมา ในปี 2546 นายประพัฒน์ ปัญญาชาติรักษ์ รัฐมนตรีว่าการกระทรวงทรัพยากรธรรมชาติและสิ่งแวดล้อม ซึ่งกำกับดูแล คพ. ขณะนั้น ได้ตั้งคณะกรรมการขึ้นมาตรวจสอบโครงการก่อสร้างบ่อบำบัดน้ำเสียคลองด่านด้วย ก่อนจะพบความผิดปกติหลายประการ โดยเฉพาะการที่ไม่มี N ซึ่งเป็นผู้เชี่ยวชาญร่วมทำสัญญา จึงสั่งให้กิจการร่วมค้า NVPSKG ยุติการดำเนินโครงการ และระงับการจ่ายเงิน หลังดำเนินก่อสร้างไปแล้วกว่า 95% มีการจ่ายเงินไป 54 งวด จากทั้งหมด 58 งวด รวมเป็นเงินกว่า 2 หมื่นล้านบาท

ขณะที่กิจการร่วมค้า NVPSKG ได้ยื่นคำร้องให้อนุญาตโตตุลาการเข้ามาไกล่เกลี่ยหาข้อยุติ โดยเฉพาะการเรียกร้องให้จ่ายเงินที่เหลืออยู่

ผลการดำเนินคดีอาญา โดย ป.ป.ช. และศาลอาญา ปรากฏว่า “รัฐชนะคดี” เป็นส่วนใหญ่ โดยเฉพาะคดีทุจริตคอร์รัปชัน

แต่ผลการตัดสินคดีของอนุญาโตฯ ที่ต่อเนื่องไปยังศาลปกครอง ปรากฏว่า “รัฐแพ้ทุกคดี” นำมาสู่การต้องจ่าย “ค่าโง่” เพิ่มเติมนับหมื่นล้านในเวลาต่อมา
ชนะคดีอาญา แต่แพ้อนุญาโตตุลาการ

เมื่อคดีคลองด่านเข้าสู่การไต่สวนขององค์กรอิสระอย่าง ป.ป.ช. ปรากฏว่ามีการตั้งคณะอนุกรรมการไต่สวนเป็น 2 คณะ คณะแรก – รับผิดชอบเกี่ยวกับที่ดิน และคณะที่ 2 – รับผิดชอบเรื่องการผลักดันโครงการ

โดยนักการเมืองรายหนึ่งที่เป็นผู้ถูกกล่าวหาทั้ง 2 คดี คือ
นายวัฒนา อัศวเหม รัฐมนตรีช่วยว่าการกระทรวงมหาดไทย (14 พฤศจิกายน 2540 – 17 กุมภาพันธ์ 2544 สมัยรัฐบาลนายชวน หลีกภัย)

แม้นายวัฒนาจะไม่เกี่ยวข้องกับการผลักดันโครงการก่อสร้างบ่อบำบัดน้ำเสียคลองด่านโดยตรง นอกเหนือจากการเป็น ส.ส.สมุทรปราการ แต่ในเอกสารของ ป.ป.ช. กลับระบุสายสัมพันธ์ระหว่างนายวัฒนากับนายยิ่งพันธ์-ผู้ผลักดันโครงการนี้ โดยเฉพาะการเป็น ส.ส. “กลุ่มงูเห่า” ร่วมกัน กลายเป็นช่องทางในการให้บริษัทเอกชนที่นายวัฒนาถือหุ้น 2 แห่ง ได้แก่ บริษัท ปาล์มบีช ดีเวลลอปเม้นท์ จำกัด และบริษัท คลองด่านมารีน แอนด์ ฟิชเชอรี่ จำกัด เข้าไปกว้านซื้อที่ดิน เพื่อใช้ในโครงการนี้แต่เพียงผู้เดียว




นายวัฒนา อัศวเหม อดีตรัฐมนตรีช่วยว่าการกระทรวงมหาดไทย ที่มาภาพ: http://www.nationtv.tv/main/content/social/378406788/


โดยคดีแรก ป.ป.ช. มีมติเมื่อปี 2550 ชี้มูลความผิดนายวัฒนา กับเจ้าหน้าที่กรมที่ดินอีกจำนวนหนึ่ง ฐานใช้อำนาจข่มขืนใจหรือจูงใจให้ราษฎรขายที่ดินให้ และออกเอกสารสิทธิที่ดินโดยมิชอบรุกล้ำที่ดินสาธารณะประโยชน์ ขณะที่ศาลฎีกาแผนกคดีอาญาของผู้ดำรงตำแหน่งทางการเมือง มีคำพิพากษา เมื่อปี 2551 ในคดีหมายเลขดำที่ อม.2/2550 และคดีหมายเลขแดงที่ อม.2/2551 จำคุกนายวัฒนาเป็นเวลา 10 ปี เนื่องจากมีความผิดตามประมวลกฎหมายอาญา (ป.อาญา) มาตรา 148 แต่ปัจจุบัน นายวัฒนาอยู่ระหว่างหลบหนีไม่มารับโทษตามคำพิพากษา

ส่วนคดีที่ 2 ป.ป.ช. มีมติเมื่อปี 2554 ชี้มูลความผิดนายวัฒนา รวมถึงอดีตผู้บริหารและเจ้าหน้าที่ คพ. แต่ให้ยุติการพิจารณาในส่วนของนายยิ่งพันธ์ (เพราะเสียชีวิตไปแล้ว) และยกฟ้องนายสุวัจน์ ปัจจุบันคดีอยู่ระหว่างการพิจารณาของอัยการสูงสุด

นอกจากนี้ เมื่อวันที่ 3 มีนาคม 2547 กรมที่ดินยังได้มีคำสั่งเพิกถอนโฉนดที่ดิน จำนวน 4 ใน 5 แปลง ที่ใช้ในโครงการก่อสร้างบ่อบำบัดน้ำเสียคลองด่าน รวมเนื้อที่ 1,358 ไร่ จากทั้งหมด 1,903 ไร่ เนื่องจากมีการออกเอกสารสิทธิ์โดยมิชอบ

แสดงให้เห็นว่า โครงการนี้มีความ “ไม่ชอบมาพากล” และมีปัญหาเรื่อง “การทุจริต” อย่างชัดเจน

ทว่า ผลการพิจารณาคดีพิพาทในอนุญาโตตุลาการกลับออกมาอีกทาง !

โดยเมื่อปี 2554 อนุญาโตฯ ตัดสินให้ คพ. จ่ายเงินที่ค้างอยู่กับกิจการร่วมค้า NVPSKG ในคดีข้อพิพาทหมายเลขดำที่ 50/2546 หมายเลขแดงที่ 2/2554 เป็นเงินที่ค้างชำระและดอกเบี้ยในอัตรา 7.5% ต่อปี และค่าเสียหายอื่นๆ รวมเป็นเงินกว่า 9 พันล้านบาท

และเมื่อ คพ. นำคดีไปฟ้องต่อศาลปกครอง ขอให้ชี้ขาดว่า “คำตัดสินของอนุญาโตฯ ชอบด้วยกฎหมายหรือไม่”ปรากฏว่า ทั้งศาลปกครองชั้นต้นและศาลปกครองสูงสุด ต่างมีคำพิพากษาว่าคำตัดสินของอนุญาโตฯ ชอบด้วยกฎหมาย

เมื่อรวมดอกเบี้ยที่เพิ่มขึ้น ทำให้จนถึงปี 2558 คพ. จะต้องจ่ายเงินให้กับกิจการร่วมค้า NVPSKG เป็นเงินกว่า 9.6 พันล้านบาท โดยที่ไม่ได้อะไรกลับคืนมา แม้แต่บ่อบำบัดน้ำเสียที่จ่ายงบประมาณไปแล้วกว่า 2 หมื่นล้านบาท ก็ไม่สามารถนำไปใช้งานได้จริง จนสุดท้ายต้องทิ้งให้รกร้างว่างเปล่า

เป็นการจ่ายเงินซื้อ “บทเรียน” อันแสนแพงด้วย “ค่าโง่” มูลค่าเกือบ 3 หมื่นล้านบาท
บทเรียนจาก “ค่าโง่”

สังคมไทยได้รับบทเรียนอะไรจากคดีคลองด่าน และการจ่ายค่าโง่ครั้งนี้

นางนวลน้อย ตรีรัตน์ ประจำคณะเศรษฐศาสตร์ จุฬาลงกรณ์มหาวิทยาลัย ซึ่งศึกษาโครงการบ่อบำบัดน้ำเสียคลองด่านมาตั้งแต่เริ่มแรก กล่าวว่า โครงการนี้จะเป็บทเรียนกับคนไทยในอนาคตว่า หากมีการก่อสร้างระบบสาธารณูปโภค หรือโครงการลงทุนขนาดใหญ่ (mega project) ควรสร้างการมีส่วนร่วมจากประชาชน

“รวมถึงต้องรับฟังความเห็นจากนักวิชาการหรือผู้เชี่ยวชาญที่ไม่มีส่วนได้ส่วนเสียกับโครงการ ให้ช่วยตรวจสอบความถูกต้อง เพื่อไม่เปิดช่องให้มีการทุจริต” นางนวลน้อยกล่าว

ทั้งนี้ นับตั้งแต่โครงการนี้ได้รับการอนุมัติจาก ครม. และทำสัญญากับบริษัทเอกชน เมื่อปี 2540 ชาวบ้านใน อ.บางบ่อ ซึ่งส่วนใหญ่มีอาชีพหลักในการทำประมง โดยมี “ปลาสลิดบางบ่อ” เป็นสินค้าขึ้นชื่อประจำถิ่น ได้เคลื่อนไหวคัดค้าน และยื่นหนังสือถึงผู้เกี่ยวข้อง ทั้งนายชวน หลีกภัย นายกฯ ขณะนั้น รัฐมนตรีว่าการกระทรวงวิทยาศาสตร์ฯ ผู้ว่าราชการ จ.สมุทรปราการ ฯลฯ เพื่อบอกเล่าปัญหาที่เกิดขึ้นจากโครงการ รวม 11 ข้อ ทั้ง ผลกระทบด้านสิ่งแวดล้อมที่ชาวบ้านจะได้รับ จากการไม่ทำรายงานวิเคราะห์ผลกระทบด้านสิ่งแวดล้อม (environmental impact assessment : EIA) และความไม่โปร่งใสการผลักดันโครงการที่เสมือนเอื้อประโยชน์ให้กับบริษัทเอกชน

(นับตั้งแต่รัฐธรรมนูญแห่งราชอาณาจักรไทย พ.ศ.2540 เป็นต้น ก็มีการบัญญัติไว้ว่า โครงการใดที่อาจส่งผลกระทบต่อสิ่งแวดล้อมจะต้องจัดทำ EIA และต้องให้ผู้เชี่ยวชาญให้ความเห็นประกอบก่อนการดำเนินงาน (รัฐธรรมนูญแห่งราชอาณาจักรไทย พ.ศ.2540 มาตรา 56 วรรคสอง และรัฐธรรมนูญแห่งราชอาณาจักรไทย พ.ศ.2550 มาตรา 67 วรรคสอง”)

โครงการนี้ยังถูกวิพากษ์วิจารณ์จากบรรดานักวิชาการ เรื่องการนำระบบบำบัดน้ำเสียทั้งจังหวัดมารวมไว้ในจุดเดียว ว่าเป็นแนวคิดที่ล้าหลัง และสูญเสียงบประมาณค่าท่อและค่าไฟฟ้าในการปั๊มน้ำเสีย โดยจะต้องปั้มน้ำเสียส่งไปตามยาวกว่า 125 กิโลเมตรเพื่อส่งไปยังบ่อบำบัดน้ำเสีย โดยคาดกันว่าจะต้องจ่ายค่าไฟฟ้าถึง 1 ล้านบาท/วัน เฉพาะแค่การปั๊มน้ำเสียเข้าระบบเพียงอย่างเดียว ยังไม่รวมถึงค่าไฟฟ้าในการบำบัดและนำน้ำที่บำบัดแล้วไปทิ้งทะเล

นายเกษมสันต์ สุวรรณรัต อดีตกรรมการสมาคมวิศวกรรมสิ่งแวดล้อม เคยให้ความเห็นว่า “ระบบรวม เป็นการพาน้ำเสียไปเที่ยว ก่อนนำมาบำบัด ทำไมไม่มีการพิจารณาทางเลือกที่จะสร้างบ่อบำบัดน้ำเสียขนาดเล็ก ที่เหมาะสมกระจายไปทั่วเมืองซึ่งบริหารจัดการง่ายกว่า สิ้นเปลืองพลังงานน้อยกว่า ไม่ต้องลงทุนมาก”

นอกจากนี้ ยังเป็นบทเรียนให้กับข้าราชการได้ตระหนักว่า การร่วมมือกับนักการเมืองทุจริต สุดท้ายอาจได้รับผลร้ายเพียงฝ่ายเดียว โดยคดีนี้มีข้าราชการของกรมควบคมมลพิษ กระทรวงวิทยศาสตร์ฯ และกรมที่ดิน กระทรวงมหาดไทย ถูก ป.ป.ช. ชี้มูลความผิดทั้งทางอาญาและทางวินัย ไม่รวมถึงการถูกหน่วยงที่เกี่ยวข้องเรียกค่าเสียหายทางละเมิด (ค่าสินไหม) รวมเป็นเงินกว่า 6,637 ล้านบาท ขณะที่ตัวนักการเมืองผู้เกี่ยวข้องได้หลบหนีออกนอกประเทศก่อนที่ศาลฎีกาฯ จะมีคำพิพากษาให้จำคุกเป็นเวลา 10 ปี

ผลของคดีคลองด่าน รวมถึงคดีทุจริตคอร์รัปชั่นอื่นๆ ก่อนหน้าที่เกิดจากการล็อกสเปกเอื้อประโยชน์ให้กับบริษัทเอกชนบางราย นำไปสู่การสร้างกลไกในการป้องกัน ทั้งการออกกฎหมายอย่าง พ.ร.บ.ว่าด้วยความผิดเกี่ยวกับการเสนอราคาต่อหน่วยงานของรัฐ พ.ศ.2542 (พ.ร.บ.ฮั้ว) หรือการกำหนดให้รัฐต้องเปิดเผยข้อมูลการดำเนินงานให้โปร่งใสมากขึ้น เพื่อที่ภาคประชาชนจะเข้าไปตรวจสอบได้ อย่าง พ.ร.บ.ข้อมูลข่าวสารของราชการ พ.ศ.2540





การดำเนินคดีคลองด่านที่ล่าช้า ใช้เวลาถึง 12 ปี และไม่สามารถนำตัวนายวัฒนาลงโทษได้ ก็เป็นอีก 1 บทเรียนที่กระบวนการยุติธรรมของไทยต้องปรับตัวเช่นกัน

โดยนายสมเกียรติ ตั้งกิจวาณิชย์ ประธานสถาบันวิจัยเพื่อการพัฒนาประเทศไทย (Thailand Development Research Institute : TDRI) ระบุว่า คดีคลองด่าน เป็นบทเรียนที่แสดงให้เห็นถึงปัญหาของกระบวนการยุติธรรมไทย ซึ่งต้องเร่งแก้ไข 2 ประการ

ระบบการส่งตัวผู้ร้ายข้ามแดนของไทยยังไม่สามารถนำตัวผู้ต้องหาที่หลบหนีไปต่างประเทศมาลงโทษได้ เพราะแม้ไทยจะเป็นประเทศภาคีสมาชิกสนธิสัญญาต่อต้านคอร์รัปชั่นขององค์การสหประชาชาติ (ยูเอ็น) แต่ยังไม่มีการออกกฎหมายรองรับทำให้ประเทศภาคีสมาชิกอื่นๆ ไม่จำเป็นต้องร่วมมือกับไทย
กระบวนการยุติธรรมของไทยล่าช้ามาก (คดีคลองด่านใช้เวลาถึง 12 ปี) TDRI เคยเสนอให้มีกลไกติดตามคดีคอร์รัปชั่นว่ามีความคืบหน้าไปถึงไหน หากไปล่าช้าที่หน่วยงานใดประชาชนจะได้สามารถติดตามตรวจสอบได้ นอกจากนี้ ยังเคยมีการเสนอให้ตั้ง “ศาลชำนาญการพิเศษคอร์รัปชั่น” เพื่อให้การดำเนินคดีคอร์รัปชั่นเป็นไปอย่างรวดเร็ว

คดีคลองด่านจึงทิ้ง “บทเรียน” ไว้ให้กับสังคมไทย ทั้งทางตรง-ทางอ้อม ให้ร่วมกันหาวิธีป้องกัน ไม่ให้เกิดเหตุการณ์ “ซ้ำรอยคลองด่าน” จนต้องมานั่งเสียดายกับเงินภาษีหลายหมื่นหลายพันล้านบาท ที่เสียไปเปล่าๆ ปลี้ๆ ให้กับค่าโง่ที่เกิดจากการทุจริต โดยที่ไม่ได้อะไรกลับคืนมา