ที่มา เวป พันทิป
เรียน WM และเพื่อนสมาชิกบอร์ดราชดำเนินทุกท่าน
กระทู้คำถามนี้มิได้มีเจตนาชี้นำในการรับร่างหรือไม่รับร่างรัฐธรรมนูญแต่อย่างใด แต่เพียงเพื่ออยากชี้ให้เห็นถึงกติกาการเลือกตั้งตามร่าง รธน. ปี 2559 ว่าจุดบกพร่องในการนำมาใช้จริงในกรณีที่ร่าง รธน. นี้หากผ่านประชามติแล้ว หรือแม้กระทั่งร่างรัฐธรรมนูญไม่ผ่านมติ แต่หลังจากแก้ไขแล้วหรือนำ ม. อะไรก็ตามแต่นำมาใช้ให้เกิดการเลือกตั้งแต่ยังคงยึดกติกาการเลือกตั้งตาม รธน. 2559 จะเกิดปัญหาที่ตามมาอย่างแน่นอน ประเทศชาติอาจต้องเสียหายจากงบประมาณการทำประชามติ รวมไปถึงงบประมาณการเลือกตั้งที่จะเสียไปเปล่า โดยที่ผลของการเลือกตั้งไม่เป็นไปตามที่ รธน. ได้กำหนดไว้ เราเหลือเวลาอีกเพียง 113 วันเท่านั้นก่อนจะถึงวันลงประชามติ จึงวิงวอนให้ทุกท่านเปิดใจด้วยความเป็นกลางและร่วมกันมีส่วนในการพิจารณาข้อบกพร่องนี้ จะรับ-หรือไม่รับ มันคือสิทธิ์ขั้นพื้นฐานของทุกท่าน แต่หากมันไม่สามารถนำไปใช้ได้จริงเพราะยอดรวมการคิดคะแนนจริงไม่ตรงกับยอดรวมตามที่ร่าง รธน. ได้เขียนไว้ ทุกอย่างจะจบแล้วกลับมานับหนึ่งใหม่ในทันที
ผมเคยนำฐานข้อมูลจากผลการเลือกตั้ง ปี 2554 มาคำนวนหาผลสรุปของยอดรวม ส.ส. ในสภาของแต่ละพรรคพึงจะได้ของแต่ละพรรคภายใต้กติกาการเลือกตั้งของร่าง รธน. 59 ดังนี้
จากผลการเลือกตั้งปี 2554 เครดิตภาพวิกิพีเดีย
เนื่องจากจำนวน ส.ส. ระบบแบ่งเขตและระบบบัญชีรายชื่อที่เปลี่ยนไปจาก 375:125 แปรเปลี่ยนไปเป็น 350:150 ตามมาตรา 83
การนำผลตัวเลขเดิมจากปี 54 จึงได้นำ ส.ส. แบ่งเขตที่พรรคต่างๆได้รับนำมาเทียบเทียบบัญญัติไตรยางค์ใหม่ดังนี้
เช่น พรรคเพื่อไทยจากเดิมเดิมได้ ส.ส.ระบบเขต 204 ที่นั่งจาก 375 เขต เมื่อปัจจุบันเหลือเพียง 350 เขต จะได้ ส.ส. = 204*350/375=190 ที่นั่ง พรรคประชาธิปัตย์จะได้ ส.ส. = 109*350/375 = 107 ที่นั่งเป็นต้น
ขอสรุปจำนวน ส.ส. แบ่งเขตที่แต่ละพรรคจะได้ตามกติกาการเลือกตั้งใหม่ดังนี้
เพื่อไทย 190 ที่นั่ง
ประชาธิปัตย์ 107 ที่นั่ง
ภูมิใจไทย 27 ที่นั่ง
ชาติไทยพัฒนา 14 ที่นั่ง
ชาติพัฒนาเพื่อแผ่นดิน 5 ที่นั่ง
พลังชล 6 ที่นั่ง
รักประเทศไทย 0 ที่นั่ง
มาตุภูมิ 1 ที่นั่ง
รักษ์สันติ 0 ที่นั่ง
มหาชน 0 ที่นั่ง
ประชาธิปไตยใหม่ 0 ที่นั่ง
อื่น ๆ 0 ที่นั่ง
รวม 350 ที่นั่ง
สำหรับ ส.ส. เขต ไม่มีปัญหาแต่อย่างใดครับ แต่สิ่งที่เป็นไฮไลท์อยู่ที่การคำนวน ส.ส. ระบบบัญชีรายชื่อที่ไม่ลงตัวตามร่าง รธน.59 ได้กำหนดไว้
สำหรับ ส.ส. แบบบัญชีรายชื่อคิดคร่าวๆจากฐานคะแนนเดิมของแต่ละพรรคที่ได้ทั้งหมด (โดยคาดการณ์ว่าการเลือกตั้งที่ผ่านมาคนส่วนใหญ่เลือกทั้งคนเลือกทั้งพรรค และครั้งนี้นำคะแนนรวมของแต่ละเขตที่แต่ละพรรคได้มารวมกัน) สรุปคะแนนที่จะนำมาคิด ส.ส. แบบบัญชีรายชื่อได้ดังนี้
เพื่อไทย 15,744,190 คะแนน
ประชาธิปัตย์ 11,433,762 คะแนน
ภูมิใจไทย 1,281,577 คะแนน
ชาติไทยพัฒนา 906,656 คะแนน
ชาติพัฒนาเพื่อแผ่นดิน 494,894 คะแนน
พลังชล 178,110 คะแนน
รักประเทศไทย 998,603 คะแนน
มาตุภูมิ 251,702 คะแนน
รักษ์สันติ 284,132 คะแนน
มหาชน 133,772 คะแนน
ประชาธิปไตยใหม่ 125,784 คะแนน
อื่น ๆ 692,322 คะแนน
รวม 32,525,504 คะแนน
การคำนวนหา ส.ส. ระบบบัญชีรายชื่อของแต่ละพรรคที่ได้คือ 32,525,504/500 = 65,051 นำตัวเลขนี้เป็นตัวหาร และนำคะแนนรวมของแต่ละพรรคเป็นตัวตั้ง
เช่นพรรคเพื่อไทยได้คะแนนรวม 15,744,190 คะแนน จำนวน ส.ส. ที่พึงจะมีได้คือ 15,744,190/65,051 = 242 คน แล้วนำตัวเลข 242 ไปลบกับจำนวน ส.ส. ระบบแบ่งเขตที่ได้มา จะได้เป็นจำนวน ส.ส. ระบบบัญชีรายชื่อที่พรรคนั้นจะได้รับคือ 242-190 = 52 ที่นั่ง (ค่อยๆอ่านอีกรอบนะครับจะได้ไม่งง)
ในส่วนของพรรคประชาธิปัตย์ จำนวน ส.ส. ที่พึงจะมีได้คือ 11,433,762/65,051 = 176 คน มี ส.ส.ระบบบัญชีรายชื่อ 176-107 = 69 ที่นั่ง
สรุปทุกพรรคสำหรับที่นั่งระบบบัญชีรายชื่อ
เพื่อไทย 52 ที่นั่ง
ประชาธิปัตย์ 69 ที่นั่ง
ภูมิใจไทย 0 ที่นั่ง (จำนวน ส.ส. ที่พึงจะมีได้ต่ำกว่าจำนวน ส.ส. แบบแบ่งเขต ตามมาตรา 91 ข้อ 4 ทำให้ไม่ได้ ส.ส.บัญชีรายชื่อ)
ชาติไทยพัฒนา 0 ที่นั่ง (เช่นเดียวกับพรรคภูมิใจไทย)
ชาติพัฒนาเพื่อแผ่นดิน 3 ที่นั่ง
พลังชล 0 ที่นั่ง (เช่นเดียวกับพรรคภูมิใจไทย)
รักประเทศไทย 15 ที่นั่ง
มาตุภูมิ 3 ที่นั่ง
รักษ์สันติ 4 ที่นั่ง
มหาชน 2 ที่นั่ง
ประชาธิปไตยใหม่ 2 ที่นั่ง
ไฮไลท์มันอยู่ตรงที่พรรคอื่นๆอีก 692,322 คะแนนครับ หากเรามองว่านี่เป็นค่ารวมจากพรรคเล็กพรรคน้อยอีกหลายๆพรรคที่ไม่มีชื่อดังพรรคข้างต้น ได้พรรคละนิดละหน่อยจนรวมๆกันเป็นได้เป็นคะแนนเกือบเจ็ดแสนคะแนน แต่ละพรรคอาจมีคะแนนรวมนำมาหารกับ 65,051 แล้วไม่ได้ที่นั่งปาร์ตี้ลิสต์เลย แต่อีกทางหนึ่งหากไม่ใช่คะแนนจากพรรคเล็กพรรคน้อย หากแต่เป็นคะแนนจากพรรคทางเลือกอื่นๆที่รองลงมาอีกและมีต้นทุนทางการเมืองรองรับอยู่แล้วเช่นสุเทพ เทือกสุบรรณ+คุณชายหมู พรรคจากบ้านเลขที่ 111 พรรคจากกลุ่มพันธมิตร หรือแม้กระทั่งพรรคจากสายเขียวมาร่วมลงสมัครด้วย ฉะนั้นแล้ว 692,322 คะแนน ไม่ใช่คะแนนที่เสียเปล่าโดยไม่มีผลต่อจำนวน ส.ส. แน่นอน นำตัวเลขจากพรรคการเมืองอื่นๆที่มีชื่อเสียงต้นทุนทางการเมืองมาก่อน มาหารกับ 65,051 แล้วจะได้จำนวน ส.ส. บัญชีรายชื่ออีกถึง 10 คน
เราลองมานับจำนวน ส.ส. บัญชีรายชื่อที่ได้กันดูนะครับ 52+69+0+0+3+0+15+3+4+2+2+10 =
160 ที่นั่ง เกินกว่าจำนวน ส.ส. ตามมาตรา 83 มา 10 ที่นั่ง ทำให้มีจำนวน ส.ส. รวม 2 ระบบรวมเป็น 510 ที่นั่ง!
หากถามว่า 10 ที่นั่งนี้มันเกินมาจากไหน ทำไมมันถึงหารไม่ลงตัว คือมันมาจากการที่ ส.ส. ของพรรคที่พึงจะมีได้ มีจำนวนที่ต่ำกว่าจำนวน ส.ส. แบบแบ่งเขตที่ได้รับเลือกมา ตามมาตรา 91 ข้อ 4 คือพรรคภูมิใจไทยได้ ส.ส. แบบแบ่งเขตมา 27 ที่นั่ง แต่ ส.ส. ที่พรรคตัวเองพึงจะมีได้คือ 1,281,577/65,051 = 20 ที่นั้ง ทำให้ ส.ส. ในระบบเขตเกินกว่าที่พึงจะมีได้ อยู่ 7 ที่นั่ง และพรรคพลังชลได้ ส.ส. แบบแบ่งเขตมา 6 ที่นั่ง แต่ ส.ส. ที่พรรคตัวเองพึงจะมีได้คือ 178,110/65,051 = 3 ที่นั้ง ทำให้ ส.ส. ในระบบเขตเกินกว่าที่พึงจะมีได้ อยู่ 3 ที่นั่ง รวมทั้งหมดนั่นก็คือเจ้า 10 ที่นั่งที่เกินมา
เราจะไปลดจำนวน ส.ส. ของพรรคที่เกินมาก็ไม่ได้เพราะเขาชนะเลือกตั้งมาตามกติกาทุกประการและมีมาตรา 91-4 บอกไว้อยู่แล้วว่า (๔) ถ้าพรรคการเมืองใดมีผู้ได้รับเลือกตั้งเป็นสมาชิกสภาผู้แทนราษฎรแบบแบ่งเขตเลือกตั้งเท่ากับหรือสูงกว่าจำนวนสมาชิกสภาผู้แทนราษฎรที่พรรคการเมืองนั้นจะพึงมีได้ตาม (๒) ให้พรรคการเมืองนั้นมีสมาชิกสภาผู้แทนราษฎรตามจำนวนที่ได้รับจากการเลือกตั้งแบบแบ่งเขตเลือกตั้ง และไม่มีสิทธิได้รับการจัดสรรสมาชิกสภาผู้แทนราษฎรแบบบัญชีรายชื่อ
จำนวน ส.ส. ที่เกินมานี้ ทาง กรธ. จะทำอย่างไรในเมื่อมาตรา ๘๓ กำหนดไว้ว่า สภาผู้แทนราษฎรประกอบด้วยสมาชิกจำนวนห้าร้อยคน ดังนี้
(๑) สมาชิกซึ่งมาจากการเลือกตั้งแบบแบ่งเขตเลือกตั้งจำนวนสามร้อยห้าสิบคน
(๒) สมาชิกซึ่งมาจากบัญชีรายชื่อของพรรคการเมืองจำนวนหนึ่งร้อยห้าสิบคน
เมื่อการเลือกตั้งหากได้ถูกจัดขึ้นมาภายใต้กติกานี้ แล้วผลการเลือกตั้งเกิดปัญหา จำนวนยอดไม่ลงตัว เกินมาเป็นสิบคน จะไล่ ส.ส.เขตออกก็ไม่ได้เพราะเขาก็ชนะมาตามกติกาที่ถูกกำหนดไว้ให้ ประชาชนในพื้นที่ก็จะเสียคะแนไปเปล่า มาตราต่างๆก็ได้กำหนดจำนวน ส.ส. ไว้แล้ว ท่านจะทำเช่นไร หรือการเลือกตั้งนั้นจะเป็นโมฆะ แล้วมานั่งเสียเวลาเขียนกติกา หรือร่างรัฐธรรมนูญขึ้นมาใหม่อีกครั้ง เราจะยอมเสียงบประมาณไปประเทศชาติเสียเวลาการเดินหน้าของประเทศไทยไปเปล่าๆอย่างงั้นหรือ จึงอยากเรียนให้ทุกท่านได้เห็นถึงจุดบกพร่องในครั้งนี้ เรื่องตัวเลขเป็นเรื่องสำคัญจึงไม่อยากให้ทุกคนมองข้ามโดยเฉพาะคณะผู้ร่างรัฐธรรมนูญ อยากให้มีการพิจารณาหรือตรวจคำตอบให้ถี่ถ้วนมากกว่านี้ก่อนจะนำมาให้ประชาชนทั้งประเทศใช้ มันจะเสียเงินและเสียเวลาประเทศไปโดยเปล่าประโยชน์
สมัยเด็กๆตอนที่พวกเราเรียนหนังสือเวลาเราทำโจทย์คณิตศาสตร์ ก็มักจะมีช่วงเวลาของการตรวจคำตอบเสมอจึงอยากให้ กรธ.59 ลองนำมาประยุกต์ใช้ เพื่อนผมทำงานเกี่ยวกับด้ายบัญชี-การเงิน ผมเคยรอมันนั่งรถกลับบ้านเป็นชั่วโมงเพราะเงินหายไปจากระบบแค่ 50 สตางค์ มันนั่งงมหากับหัวหน้ามันจนเจอถึงได้กลับบ้านได้ ผมเป็นช่างกลมาก่อนการวัดค่าทางด้านเทคนิคมีหน่วยวัดเป็นไมครอน(เศษ 1 ส่วน 1,000 มิลลิเมตร) เสียด้วยซ้ำ แต่ในส่วนของตัวเลขของพวกท่านอยู่แค่หลักหน่วย หลักสิบ หลักร้อย จึงอยากให้ท่านพิจารณาให้ถ้วนถี่ก่อนจะนำมาใช้งานจริง ก่อนที่จะรู้ตัวว่ามันมีข้อบกพร่อง ประเทศก็เสียหายและย้อนเวลากลับไปเอาคืนไม่ได้ นอกจากกลับมาเริ่มนับหนึ่งใหม่อีกครั้ง โดยส่วนตัวจะรอดูต่อไปการนับคะแนน หลักเกณฑ์และวิธีการคำนวณ การคิดอัตราส่วน และการประกาศ ผลการเลือกตั้ง ให้เป็นไปตามพระราชบัญญัติประกอบรัฐธรรมนูญว่าด้วยการเลือกตั้ง สมาชิกสภาผู้แทนราษฎร ว่าจะออกมาอย่างไร หากออกมาตามแนวเดียวกับที่ร่าง รธน. 59 ได้เขียนไว้โดยไม่ได้รับการแก้ไข ก็เตรียมตัวเสียงบประมาณเปล่าแน่นอน โมฆะ ครับ
อยากให้ทุกๆท่านค่อยๆอ่านอย่างละเอียดอีกรอบนะครับ การคำนวนอาจมีความยุ่งยากบ้างเล็กน้อย แต่คิดว่าไม่เกินความสามารถของทุกท่านแน่นอน
ขอบคุณฐานข้อมูลเรื่องผลการเลือกตั้งปี 2554
การเลือกตั้งสมาชิกสภาผู้แทนราษฎรไทยเป็นการทั่วไป พ.ศ. 2554
อ่านร่างรัฐธรรมนูญ 2559 ได้ตามลิ้งค์นี้
http://cdc.parliament.go.th/draftconstitution2/ewt_dl_link.php?nid=429&filename=index%E2%80%9C
The Mario 16 เมษายน 2559 15.15 น.