อีกครั้ง การตัดสินคดีเกาะเต่าก่อความหมางใจต่อ ‘ประเทศไทย’ ในต่างแดนระลอกใหม่
บอกแล้วไง คดีนี้ไม่จบง่ายตราบเท่าที่ลักษณะที่เรียกว่า incompetent ของกระบวนการบังคับใช้กฎหมายในคดีนี้ยังไม่ได้รับการคลี่คลาย
การจะอ้างว่ายังมีขั้นตอนอุทธรณ์ ฎีกา อีกสองระดับ ไม่ได้ทำให้ลักษณะสุกเอาเผากิน หรือกระทั่งข้อหา บิดเบือนความยุติธรรม เบาบางลงได้ ตราบเท่าที่ผู้ต้องหาซึ่งมีเสียงอื้ออึง (นอกกะลา) ว่าเป็นแพะ ต้องรับบาปถูกจองจำรอการประหารชีวิตในคุกไทย
ในเมื่อหลักความยุติธรรมสูงสุดก่อนจะตัดสินใครให้ต้องรับโทษ แม้ไม่ถึงขั้นประหารชีวิต อยู่ที่ต้องถือว่าผู้ต้องหาบริสุทธิ์ “จนกว่าจะพิสูจน์เป็นที่สุดเหนือข้อกังขาอันสมเหตุผลใดๆ” (has been proven beyond any reasonable doubts.)
มิหนำซ้ำเรื่องร้ายๆ เกี่ยวกับทางปฏิบัติภายในกิจการราชทัณฑ์ไทย ใช่ว่าจะไม่เคยได้รับการโพนทะนาในประชาคมโลก
หนังเรื่อง ‘Brokedown Palace’ เมื่อปี ๒๕๔๒ ที่นำแสดงโดยแคลร์ เดน กับ เคท บิ๊กเก็นเซล ซึ่งบทวิจารณ์บอกว่า “is not based on a true story, but most of it plays like some true-life tale that you've read before in your newspaper.”
เป็นเรื่องตบหน้าทั้งกระบวนยุติธรรมและราชทัณฑ์ไทยอย่างแรงในครั้งนั้น (http://www.imdb.com/reviews/199/19986.html)
๑๗ ปีให้หลังทั้งกระบวนยุติธรรมและราชทัณฑ์ไทยถูกตบหน้าอีกครั้ง ยิ่งกว่าหนัง (กรณีหลังนี่ สื่อฝรั่งเขาตั้งกังขาจากการที่เพิ่งมีผู้ต้องหาคอรัปชั่นตายในคุกสองคนอย่างปริศนาน่าหวาดเสียว)
ทว่าครั้งนี้เป็น true story คดีฆาตกรรมกระฉ่อนโลก ที่คนในประเทศ (กรุงเทพฯ) จำนวนไม่น้อยโดยเฉพาะพวกที่มีอันจะกินมากพอจ้างงาน domestic servants ไว้ประจำครัวเรือน มักยักไหล่ส่ง ‘ซิก’ ความหมายว่า “ก็แค่ไอ้หม่องสองคน”
เมื่อวานนี้กระแสรังเกียจประเทศไทยปะทุขึ้นด้วยข้อเขียนบนเฟชบุ๊คของลอร่า วิตเทอริดจ์ ผู้เป็นพี่น้องท้องเดียวกันของแฮนน่าห์ เหยื่อฆาตกรรมเกาะเต่าปี ๕๗ ที่การตัดสินคดีในศาลจังหวัดสมุยทำให้มีการประท้วงอย่างกว้างขวางในพม่าและเมืองใหญ่ๆ ในประเทศตะวันตกอีกบางแห่ง
โดยเฉพาะมีการประท้วงทางอีเล็คทรอนิค โดยกลุ่ม ‘หมวกดำ’ เครือข่ายของขบวนการเพื่อความยุติธรรม ‘Anonymous’ ทางโลกไซเบอร์ เข้าไปแฮ็คยึดครองชั่วคราวเว็บไซ้ท์ทางการตำรวจไทยอย่างได้ผล
นอกจากนั้นยังมีคลิปวิดิโอของอะนอนีมัสประณามการตัดสินคดีเกาะเต่า เล่ารายละเอียดความไร้สมรรถภาพ การบิดเบือน และคอรัปชั่นในกระบวนการบังคับใช้กฎหมายและตัดสินคดีอาชญากรรมเกี่ยวกับคนต่างชาติในประเทศไทย พร้อมทั้งชักนำให้ผู้ติดตามร่วมกัน ‘บอยคอต’ ประเทศไทย
(http://thaienews.blogspot.com/2016/01/anonymous.html)
เนื้อหาหลักๆ ในข้อเขียนสเตตัสยาวเหยียดของลอร่า วิตเทอริดจ์ ปรากฏออนไลน์จากการถ่ายทอดความโดย Pipob Udomittipong แล้วที่นี่http://thaienews.blogspot.com/…/laura-witheridge-sister-han… และตามรายงานของ บีบีซีไทย - BBC Thai ที่นี่https://www.facebook.com/BBCThai/photos/a.1527194487501586.1073741828.1526071940947174/1728651924022507/?type=3&theater
ในที่นี้เราใช้บล็อกของ ‘Andrew Drummond’ สำหรับพาดพิงถึงเนื้อหาบางตอนในข้อเขียนของลอร่า โดยที่แอนดรูว์ ดรัมมอนด์ เป็นสื่อมวลชนอิสระที่เคยอาศัยในพื้นที่เกาะเต่าเกาะพงัน แต่ย้ายออกไปหลังเกิดคดีเกาะเต่า เพราะหวาดกลัวอิทธิพลผู้มีอำนาจในท้องถิ่น
(http://www.andrew-drummond.com/…/witheridge-family-breaks-s…)
“เห็นชัดว่าเธอมีความโกรธต่อการที่ทางการไทยปฏิบัติต่อครอบครัวของเธอ และพยายามจะกวาดขยะเข้าใต้พรม จึงได้ให้ลิ้งค์วิดีโอของอะนอนีมัส” ตอนใกล้จะจบ
ดรัมมอนด์เกริ่นถึงลอร่าว่า “ข้อเขียนโจมตีของเธอถูกจุดไฟโดยภาพโปสเตอร์ที่ควบไปกับเรื่องของลุ้ค มิลเลอร์” นักท่องเที่ยวหนุ่มชาวอังกฤษอีกคนหนึ่งที่เพิ่งเสียชีวิตบนเกาะเต่า “พร้อมคำบรรยายว่า ไทยเป็นประเทศงดงามที่สุดในโลก”
“ความเห็นของคนผู้นั้นเป็นตัวอย่างชี้ให้เห็นว่าทำไมฉันต้องมาเสียเวลา (เขียนเรื่องนี้ยืดยาว) คนเรามักจะไม่ค่อยใส่ใจ และหลายต่อหลายคน ส่วนใหญ่เลยก็ได้ มีความจำสั้นแต่เวลาเหลือเฟือ”
ลอร่าเขียนถึงการเสียชีวิตของลุ้ค มิลเลอร์ ไว้ว่า “ฉันมีความสงสัยอย่างแรงต่อโศกนาฏกรรมรายใหม่นี้ คนไทยคงบอกว่านี่เป็นอุบัติเหตุเกิดจากอาการเมายา ปิดบังความจริงแล้วยัดเรื่องราวที่เข้าไคล้ไปแทน เป็นสิ่งที่พวกเขาทำกันสม่ำเสมอ...”
“คนไทยจำนวนมากไม่ใยดีกับชีวิตมนุษย์ (อื่น) หลักฐานของฉันที่พูดอย่างนี้น่ะเหรอ แรกทีเดียวเป็นคำกล่าวต่อครอบครัวเราที่หัวใจแหลกสลาย ซึมเศร้าอาลัย โดยผู้พิพากษาและเจ้าหน้าที่ศาลในระหว่างการพิจารณาคดีสองผู้ต้องหาแรงงานชาวพม่า
ไม่รู้พวกคุณจะมากันทำไม ติดใจอะไรหนักหนา ถึงอย่างไรเธอก็ตายไปแล้ว
ทำไมถึงต้องกังวลกันนักนะ กลับบ้านไปทำลูกใหม่อีกคนสิ
ไหงต้องฉุนเฉียวกันด้วย อีก ๓๐ วันเธอก็จะไปเกิดใหม่เป็นอะไรสักอย่างแล้วละ คราวหน้าเธออาจโชคดีกว่านี้ก็ได้”
ถ้าผู้พิพากษาในอังกฤษหรืออเมริกาพูดกับ (ญาติมิตร) ผู้เสียหายในคดีจนเขาเจ็บช้ำแบบนี้ อย่างดีก็โดนร้องให้เปลี่ยนตัวไปจากคดี อย่างร้ายอาจถูก reprimand สอบสวนความประพฤติอันนำไปสู่การถูกถอดจากตำแหน่งก็ได้
“คุณจะว่าไงถ้าฉันบอกว่า มีคนไทยปองร้ายขู่เอาชีวิตฉันนับตั้งแต่พวกเขาฆ่าพี่สาวของฉัน ล่ะว่าเขาขีดฆ่ารูปหน้าของฉันแล้วบอกว่า คนที่ฆ่า (พี่สาว) ยังไม่จบกระบวนการที่ทำไปครึ่งเดียว แล้วก็มีคนไปคอมเม้นต์บนรูปเหล่านั้นด้วยข้อความว่า ยังมีเวลาอยู่นะ ติ๊กต็อก ติ๊กต็อก
หรือถ้าฉันบอกว่ามีคนส่งภาพในที่เกิดเหตุ (เมื่อยังใหม่ๆ สดๆ) มาให้ดู และหากฉันบอกว่ามีคนไล่ตามฉันขณะอยู่บนรถ
แล้วถ้าฉันบอกคุณอีกว่ามีคนไทยเสนอให้เงินตอบแทนถ้าหากเราหุบปากเสียได้ แน่นอนเรารู้สึกถูกหยามอย่างนั้น และได้แต่ตอกกลับไปว่าไม่มีทาง”
เมื่อตอนมีการเปิดเผยคำพิพากษาคดีเกาะเต่าใหม่ๆ ครอบครัววิตเทอริดจ์แถลงว่า
“ตลอดปีที่ผ่านมาทำให้ครอบครัวของเราได้รับความกดดันอย่างหาที่สุดมิได้ เราพบว่ากระบวนการพิจารณาคดีเป็นเรื่องหนักหนาเหลือเกิน และการเดินทางไปฟังคดียิ่งเป็นสิ่งที่คร่ำเครียดเกินพรรณนา...
เราต้องตรากตรำจำทนกับความปวดร้าวและสับสนในเนื้อหาข้อมูลที่ได้รับ ในฐานะที่เป็นครอบครัว เราต้องการเวลาในการขบย่อยผลลัพท์ที่ออกมา และคำนึงหนทางที่เหมาะสมในการสนองตอบ”
ข้อเขียนของลอร่าชิ้นนี้เอง เป็นท่าทีปฏิกิริยาของตระกูลวิตเทอริดจ์ ที่หลายส่วนเฝ้าคอย อันเป็นเรื่องน่าเศร้าที่ศักดิ์ศรีของประเทศไทยต้องมาถูกตั้งข้อสงสัย อีกครั้ง