ที่มา มติชนออนไลน์
วันที่ 03 มีนาคม พ.ศ. 2558
ทั้งๆ ที่ไม่ว่าสภาผู้ส่งออกทางเรือแห่งประเทศไทย (สอท.) ไม่ว่ารัฐมนตรีช่วยว่าการกระทรวงพาณิชย์มีความเห็น "ร่วม" ในเรื่อง "การส่งออก" ว่า
ควรเป็น "วาระแห่งชาติ"
แต่เวลาผ่านไปเกือบ 2 เดือนแล้วนับแต่มีข้อเสนอจากสภาผู้ส่งออกทางเรือแห่งประเทศไทย (สรท.) และมีการขานรับจากกระทรวงพาณิชย์
แต่ทุกอย่างก็ยัง "เงียบ"
ความจริง บทสรุปจากกรมส่งเสริมการค้าระหว่างประเทศที่ออกมาเปิดเผยตัวเลขการส่งออกของเดือนมกราคมที่ว่า
ติดลบร้อยละ 3.46 น่าจะเป็นเหมือน "สัญญาณ"
สัญญาณกระตุก "คสช." สัญญาณกระตุก "รัฐบาล" ให้สำเหนียกและตระหนักในความจำเป็นที่จะต้องเริ่มคิดในแบบ "นอกกรอบ"
ทุกฝ่ายต่างยังเล่นบท "คุณเฉย" เหมือนไม่รู้ร้อนรู้หนาว
อาการเฉยของ ม.ร.ว.ปรีดิยาธร เทวกุล อาจไม่ทำให้รู้สึกแปลก กระนั้น อาการเฉยของ นายสมคิด จาตุศรีพิทักษ์ กลับเป็นความแปลก
เป็น "ความแปลก" อย่างค่อนข้าง "ประหลาด"
ล่วงเข้ามายังเดือนที่ 9 ของรัฐบาลผนวกเข้ากับ คสช.ความเป็นจริงในทางเศรษฐกิจมีความเด่นชัดอย่างเป็นรูปธรรม
กรุงเทพโพลอาจเป็น "ดัชนี" 1
ดุสิตโพลอาจเป็นอีก "ดัชนี" 1
แต่ที่ลึกซึ้งมากยิ่งกว่าโพลทั้งหลายคือ เสียงจาก "เครือสหพัฒน์" คือเสียงจาก "ซิงเกอร์ประเทศไทย"
เพราะ 2 ส่วนนี้คือพื้นฐานและความเป็นจริง
เครือสหพัฒน์ผูกพันกับประชาชนระดับ "ล่าง" ผ่านบะหมี่สำเร็จรูป ซิงเกอร์ ประเทศไทยอยู่ในระบบผ่อนส่งลงลึกไปถึงระดับหมู่บ้าน
ซิงเกอร์ปรับเปลี่ยนระบบผ่อนส่ง ยืดเวลาและลดจำนวนเงิน
เครือสหพัฒน์ออกมายอมรับว่า ยอดขายบะหมี่สำเร็จรูปตก จากที่เคยเติบโตร้อยละ 10 เหลือเพียงระดับร้อยละ 7-8
หนักหนาและสาหัส
เป็นผลสะเทือนจากราคาสินค้าเกษตรตกต่ำ ไม่ว่าข้าว ยางพารา ข้าวโพด มันสำปะหลัง เจ็บกันถ้วนหน้า นี่คือภาวะความเป็นอยู่ของชาวบ้าน
แล้วรายได้ของ "รัฐ" เล่าดำเนินไปอย่างไร
มองรายได้ของรัฐมองจากอะไร 1 มองจากภาวะการส่งออกและนำเข้า เพราะล้วนอยู่ในวงจรของภาษี 1 มองจากผลของการจัดเก็บภาษี
ม.ร.ว.ปรีดิยาธร เทวกุล อาจตื่นเต้นกับเม็ดเงินของ VAT
แต่กรมสรรพากรก็เพิ่งปรับลดประมาณการของรายได้ในปีงบประมาณ 2558 ไม่น้อยกว่า 1.6 แสนล้านบาท
ตรงนี้ต่างหากเล่าคือ "ของจริง"
ขณะเดียวกัน ตัวเลขจากกรมส่งเสริมการค้าระหว่างประเทศอัตราติดลบที่ปรากฏเห็นได้จากการส่งออกไปยังกลุ่มประเทศยุโรปติดลบร้อยละ 5 ไปยังจีนติดลบร้อยละ 19 ไปยังญี่ปุ่นติดลบร้อยละ 13 ไปยังกลุ่มอาเซียนติดลบร้อยละ 5
เมื่อเดือนมกราคมเป็นเช่นนี้แล้วเดือนกุมภาพันธ์จะปรากฏออกมาอย่างไร นี่คือสิ่งที่หลายฝ่ายรอลุ้น
เพราะหากตัวเลขเดือนกุมภาพันธ์ออกมา "ติดลบ" ก็เท่ากับเป็น "สัญญาณ"
สัญญาณไปยังไตรมาส 2 สัญญาณไปยังไตรมาส 3 และสัญญาณไปยังไตรมาส 4 ว่าเป้าการส่งออกที่ร้อยละ 4 น่าจะต้องปรับลด
สัญญาณนี้ไม่เป็นผลดีอย่างแน่นอน
ไม่ว่าจะมองจาก "คสช." ไม่ว่าจะมองจาก "รัฐบาล"
สภาพการณ์ในทางเศรษฐกิจจึงเหมือนกับจะดำเนินไปในลักษณ์แห่ง "พระศุกร์เข้า พระเสาร์แทรก"
นั่นก็คือ รายได้ของประชาชนระดับพื้นฐานเสื่อมทรุดเนื่องจากราคาสินค้าเกษตรตกต่ำ ขณะเดียวกัน รายได้ของรัฐโดยเฉพาะจากการส่งออกก็เสื่อมทรุด
ยากจนกัน "ถ้วนหน้า" ลำบากกัน "ถ้วนหน้า"
(ที่มา:มติชนรายวัน 3 มีนาคม 2558)