วันศุกร์, มีนาคม 06, 2558

112 the series ณัฐ : เหตการณ์เดิมๆ กับสถานที่แห่งเดิม



ที่มา ILAW

ผมรู้จัก ณัฐ ชายร่างสูงเพรียว ท่าทางกระฉับกระเฉง มาเกือบๆ 2 ปีแล้ว จำไม่ได้ว่าครั้งแรกเราพบกันที่ไหนและเมื่อไหร่ ถ้าไม่ใช่ที่ศาลก็คงเป็นที่เรือนจำ ซึ่งเป็นที่ๆ คนอื่นคงไม่อยากเฉียดใกล้

ณัฐเล่าให้ฟังว่า เขาเริ่มสนใจการเมืองตั้งแต่ช่วงปี 49 เคยไปสมัครเป็นสมาชิกเว็บบอร์ดแห่งหนึ่งเพื่อแสดงความเห็นทางการเมืองบ่อยๆ ผมแย็บถามเขาไปว่า เรียนอะไรมาถึงได้สนใจการเมือง ณัฐบอกว่าเขาเรียนมาไม่สูง ไม่จบปริญญาตรีด้วยซ้ำ

คำตอบของณัฐทำให้ผมอึ้ง เพราะจากท่วงทำนองในการสนทนา เขาดูจะมีความรู้เรื่องความเป็นมาเป็นไปของการเมืองไทยและโลกเป็นอย่างดี ระหว่างการสนทนา เขาใช้คำพูดทับศัพท์ภาษาอังกฤษอยู่บ่อยๆ หลายๆ คำผมเองก็ไม่รู้จัก ดูเหมือนณัฐจะมีความรู้รอบตัวและรู้ภาษาอังกฤษมากกว่าคนจบปริญญาหลายๆ คนเสียอีก

ณัฐเผยเคล็ดลับในความรอบรู้ของเขาว่า เพราะเรียนน้อย เขาจึงต้องดิ้นรนหาความรู้ด้วยตัวเอง ทั้งจากหนังสือ อินเทอร์เน็ต และการพูดคุยกับคนต่างชาติ เพราะความสนใจและความตื่นตัวทางการเมือง ณัฐเริ่มเขียนอีเมลโต้ตอบกับชาวต่างชาติคนหนึ่ง ที่เขาไม่เคยเจอตัวมาก่อน ท้ายที่สุดเขาก็ถูกจับเพราะส่งอีเมลโต้ตอบกับชาวต่างชาติซึ่งเป็นคนที่ทางการไทยจับตามองอย่างใกล้ชิด อีเมล์ของเขาถูกมองว่าเข้าข่ายผิดกฎหมายอาญามาตรา112

[ อ่านรายละเอียดคดี 112 ของณัฐ ได้ที่ http://freedom.ilaw.or.th/th/case/28]

ณัฐเล่าถึงเหตุการณ์ขณะถูกจับกุมอย่างออกรสว่า บ่ายวันที่ 13 ตุลาคม 2552 ขณะอยู่ที่คอนโด เสียงเคาะประตูก็ดังขึ้น เมื่อเปิดประตู ณัฐพบแขกผู้มาเยือนกว่า 10 คนในชุดพนักงานออฟฟิศ ผู้มาเยือนแจ้งณัฐว่าพวกเขามาจากกรมสอบสวนคดีพิเศษหรือดีเอสไอ พร้อมทั้งแสดงหมายจับและทำการค้น

ตอนที่ทราบว่าผู้มาเยือนเป็นใคร เขาตื้อไปหมด ทุกอย่างเกิดขึ้นเร็วมาก หลังเจ้าหน้าที่ค้นบ้านเสร็จ ก็พาตัวเขาไปสอบสวนที่ดีเอสไอ ณัฐยอมรับว่าระหว่างสอบสวนเขารู้สึกกลัวมาก จนยอมให้พาสเวิร์ดอีเมลกับเจ้าหน้าที่ไป แม้เหตุการณ์จะผ่านมาหลายปีแล้ว แต่ณัฐยังเล่าเรื่องที่เขาถูกจับกุมด้วยน้ำเสียงที่ดูตื่นเต้นมาก ทำให้ผมรู้สึกเครียดไปด้วย แต่แล้วณัฐก็หักมุมเรื่องแบบดื้อๆโดยตั้งข้อสังเกตว่า เท่าที่เขาเคยเห็นมา ห้องขังของดีเอสไอดูจะหรูที่สุดเพราะมีแอร์ ไม่เหมือนห้องขังโรงพักทั่วไป

ณัฐเป็น "แขกพิเศษ" ที่ดีเอสไอ 2 คืนก่อนจะถูกส่งตัวไปฝากขังที่เรือนจำพิเศษกรุงเทพ โชคยังเข้าข้างเขาอยู่บ้าง หลังจากย้ายไปนอนที่เรือนจำได้สองสัปดาห์ ณัฐก็ได้ประกันตัวในช่วงปลายเดือนตุลาคม 2552 ด้วยเงินประกัน 400,000 บาท

ณัฐได้ออกมาสูดกลิ่นอายแห่งอิสระภาพเป็นช่วงสั้นๆเท่านั้น 14 ธันวาคม 2552 สองเดือนเต็มหลังถูกจับกุม ณัฐไปขึ้นศาลและให้การรับสารภาพ ศาลจึงมีคำพิพากษาในวันเดียวกันให้จำคุก 9 ปี ก่อนจะลดโทษเหลือ 3 ปี 18 เดือน อิสระภาพของณัฐหลุดลอยไปทันทีการอ่านคำพิพากษาเสร็จสิ้น

ในเรือนจำ ณัฐพบปัญหาการปรับตัวในช่วงแรก เขาไม่กล้าบอกคนอื่นว่าเข้ามาเพราะคดีอะไร จึงไม่ค่อยกล้าคุยกับใคร ณัฐเล่าให้ผมฟังว่าช่วงเวลาหกเดือนแรกที่อยู่ในเรือนจำ เขาต้องทำงาน "ปั่นถ้วย" ซึ่งหมายถึงการทำถ้วยกระดาษก้นแหลม ที่มักติดไว้กับตู้น้ำดื่มสาธารณะ ซึ่งมีการให้นักโทษทำกันเป็นเล่าเป็นสัน 5 วัน ต่อสัปดาห์ โดยจ่ายเงินปันผลเดือนละ 100 บาท

เดือนสิงหาคม 2553 ชีวิตของณัฐเปลี่ยนแปลงอีกครั้ง เมื่อเรือนจำประกาศให้ผู้ต้องขังสอบแข่งขันเข้าทำงานฝ่ายการศึกษา ด้วยความที่เคยจับคอมพิวเตอร์มาก่อน ณัฐจึงสมัครสอบและได้รับคัดเลือกเข้าทำงานในฝ่ายการศึกษา ไม่ต้องนั่งปั่นถ้วยอีกต่อไป หน้าที่ใหม่ของณัฐคือการเป็นผู้ช่วยสอนคอมพิวเตอร์ เขาจะต้องเข้าไปประกบเพื่อนผู้ต้องขังและสอนวิธีใช้โปรแกรมต่างๆ ในขณะที่ผู้สอนอีกคนบรรยายที่หน้าชั้น ณัฐบอกว่าคนที่นำสอนจะต้องพูดจาฉะฉานและที่สำคัญ เสียงต้องดัง ณัฐบอกว่าสอนหนังสือผู้ต้องขังจะพูดเสียงเบาเหยาะแหยะไม่ได้ ณัฐทำหน้าที่ผู้ช่วยสอน จนเดือนเมษายน 2555 เมื่อเขาได้รับการปล่อยตัว

ณัฐได้รับการปล่อยตัวก่อนกำหนด เพราะเขามีความประพฤติดี ณัฐเล่าว่า พลันที่เขาย่างเท้าออกจากเงาทะมึนของเรือนจำ เขามีความสุขอย่างบอกไม่ถูก

แม้จะพ้นโทษแล้ว ณัฐก็ยังแวะเวียนกลับไปที่เรือนจำบ่อยๆ เพื่อเยี่ยมและให้กำลังใจอดีตเพื่อนร่วมชะตากรรมบางคน นั่นคงเป็นช่วงเวลาที่ณัฐได้มีส่วนร่วมในกิจกรรมทางสังคม และคงเป็นโอกาสที่ผมกับเขาได้รู้จักกัน ณัฐบอกว่า การไปเยี่ยมเพื่อนนักโทษ ไม่ใช่แค่นักโทษได้รับกำลังใจ หรือความช่วยเหลือจากคนไปเยี่ยม แต่คนไปเยี่ยม ก็จะได้เรียนรู้อะไรบางอย่างจากนักโทษด้วย

ตั้งแต่ถูกปล่อยตัวในปี 55 จนถึง เดือนพฤษภาคม 57 ณัฐก็ประกอบอาชีพสุจริตมาโดยตลอด ด้วยความเป็นคนใฝ่รู้และชอบความท้าทาย ณัฐลองผิดลองถูกธุรกิจหลายอย่าง ไปได้ดีบ้าง ล้มเหลวบ้าง รวมทั้งเคยมาช่วยงานของผมและเพื่อนบ้างเป็นครั้งคราว แต่ณัฐก็ไม่เคยทำอะไรที่เข้าไปใกล้จะผิดกฎหมายอีกเลย เพราะเขาตั้งใจไว้อย่างแน่วแน่แล้วว่าจะไม่กลับเข้าไปในเรือนจำอีก

พฤษภาคม 2557 คณะทหารยึดอำนาจการปกครองประเทศพร้อมทั้งประกาศเรียกคนจำนวนมากเข้ารายงานตัว ณัฐเองก็ถูกหางเลข มีชื่อในคำสั่งเรียกรายงานตัวด้วย แต่เขาไม่เข้าไปรายงานตัวตามกำหนด เพราะไม่แน่ใจในความปลอดภัย นั่นทำให้ในเดือนมิถุนายน 2557 ณัฐถูกเจ้าหน้าที่บุกจับตัวอีกครั้ง ที่คอนโดแห่งเดิมและถูกนำตัวไปไว้ที่ค่ายทหารแห่งหนึ่งเป็นเวลา 7 วัน เพื่อ"ปรับทัศนคติ" ก่อนที่จะกลับมาพบว่า มีหมายจับในความผิดฐานไม่ไปรายงานตัวตามคำสั่งรอเขาอยู่ที่บ้าน

[อ่านรายละเอียดคดีไม่มารายงานตัวของณัฐได้ที่ http://freedom.ilaw.or.th/th/case/612]

ณัฐประสานกับเจ้าหน้าที่ตำรวจว่าจะเข้าไปพบที่สน.สามเสน แต่ก่อนถึงวันนัด เจ้าหน้าที่จากอีก สน.หนึ่งบุกจับเขาที่คอนโดอีกครั้งเป็นคำรบที่สองในปีนั้น และเป็นครั้งที่สามในชีวิตของเขา แม้ว่าณัฐจะประสานขอมอบตัวไปก่อนแล้วก็ตาม

มกราคม 2558 ใกล้ถึงวันที่ศาลนัดพิพากษาในความผิดฐานไม่มารายงานตัวงวดเข้ามา ณัฐเริ่มโพสต์สเตตัสแสดงความกังวลต่อคดีของเขา มิตรสหายหลายคนพยายามให้กำลังใจเขา เพราะเท่าที่ผ่านมา ผู้ถูกดำเนินคดีฐานไม่มารายงานตัวตามคำสั่งคสช.ก็ได้รับการรอลงอาญาโทษจำคุกกันหมด ผมเองก็เคยส่งข้อความไปหาเพื่อให้เขาคลายความกังวลเช่นกัน ปรากฎว่า ผมและหลายๆคนคิดผิด!

วันที่ 22 มกราคม 2558 ศาลแขวงดุสิตพิพากษาจำคุกณัฐเป็นเวลา 1 เดือนกับ 10 วัน (ลดจาก 2 เดือน 20 วัน เพราะเขารับสารภาพ) โดยไม่รอลงอาญา ศาลให้เหตุผลว่า เขากระทำความผิดหลังพ้นโทษจากคดี 112 มาไม่ถึง 5 ปี จึงไม่ให้รอลงอาญา ณัฐยื่นขอประกันตัวด้วยหลักทรัพย์ 40,000 บาท แต่ศาลไม่มีคำสั่งในวันนั้น และส่งให้ศาลอุทธรณ์เป็นผู้สั่งแทน ณัฐจึงต้องเข้าไปนอนรอคำสั่งในเรือนจำพิเศษกรุงเทพอีกครั้ง

ผมไปเยี่ยมเขาในวันรุ่งขึ้นหลังเขาถูกส่งเข้าไปยังสถานที่ที่เขายืนยันว่าไม่พร้อมจะกลับเข้าไป

"ที่นี่เปลี่ยนไปมากนะ กำแพงอะไรก็สร้างใหม่ และที่ตกใจมากคือตอนนี้คดี112 เยอะมาก เต็มไปหมดเกือบห้าสิบคน" ณัฐเล่า

"ถ้าศาลอุทธรณ์ไม่ให้ประกันตัวก็ไม่ต้องยื่นแล้วนะ สองเดือนผมอยู่ได้" เขาบอกอย่างมีกำลังใจ

เป็นเวลา 4 คืน ในสถานที่แห่งเดิม ก่อนที่ศาลอุทธรณ์จะอนุญาตให้ประกันตัวในวันที่ 26 มกราคม 2558

ผมพบกับณัฐอีกครั้งหลังได้ประกันตัว ณัฐมาในทรงผมสั้นเกรียนติดหัว ซึ่งเป็นทรงที่คนในเรือนจำทุกคนต้องตัด ณัฐบอกว่าเขาไม่รู้สึกแย่กับผมทรงใหม่ เพราะเข้าใจว่าสภาพแวดล้อมในเรือนจำ การไว้ผมยาวคงไม่เหมาะ แต่สิ่งที่เขารู้สึกแย่ คือการที่เขาต้องกลับไปอีกครั้ง ทั้งๆที่เขาก็อยู่เฉยๆไม่ได้ทำอะไร ที่สำคัญชะตากรรมของณัฐก็ยังแขวนอยู่บนเส้นด้าย หากศาลอุทธรณ์มีคำพิพากษายืน ณัฐก็อาจต้องกลับไป "พักร้อน" ในเรือนจำอีก 1 เดือน กับ 6 วัน ที่เหลืออยู่

อ่าน 112 the series เรื่องอื่นได้ที่ http://freedom.ilaw.or.th/blog/112-series