วันพฤหัสบดี, มกราคม 15, 2558

สุรชาติ บำรุงสุข - วิกฤตสยาม 2558 : อุทกภัยในลุ่มน้ำทั้งห้า


ที่มา มติชนสุดสัปดาห์ 9-15 มกราคม 2558

"ความแตกต่างระหว่างประชาธิปไตยกับเผด็จการก็คือ ในระบอบประชาธิปไตย เราออกเสียงก่อนแล้วจึงรับคำสั่ง แต่ในระบอบเผด็จการ คุณไม่ต้องเสียเวลากับการไปออกเสียงเลย"

ชาร์ลส์ บูเคาว์สกี
กวีชาวอเมริกัน (ค.ศ.1920-1994)

หลังจากการยึดอำนาจในเดือนพฤษภาคม2557 แล้ว ผู้นำทหารเปรียบเทียบฐานอำนาจของคณะรัฐประหารเป็นดังแม่น้ำที่จะไหลมาบรรจบกันอย่างพรั่งพรูจากสายน้ำทั้งห้าได้แก่สภานิติบัญญัติแห่งชาติ(สนช.) คณะรัฐมนตรี (ครม.) สภาปฏิรูปแห่งชาติ (สปช.) คณะกรรมาธิการยกร่างรัฐธรรมนูญ (คยร.) และคณะรักษาความสงบแห่งชาติ (คสช.)

ถ้ามองจากมุมของ คสช. สายน้ำแห่งอำนาจจึงเป็นห้าลุ่มน้ำใหญ่เช่นที่กล่าวแล้ว

และในขณะเดียวกันก็หวังว่าแม่น้ำทั้งสายนี้จะไหลไปอย่างสงบพร้อมๆกับหวังว่าสุดท้ายแล้วจะไม่มีอุทกภัยในลุ่มน้ำทั้งห้านี้ด้วย

แต่ถ้าพลิกมองจากมุมของวิกฤตบ้างก็อยากจะขอเปรียบเทียบเส้นทางของวิกฤตเป็นดังแม่น้ำห้าสายและเป็นแม่น้ำที่อาจจะก่อให้เกิดอุทกภัยได้ตลอดเวลาในปี2558 นี้

ดังนั้น สายน้ำแห่งวิกฤตที่อาจจะก่อให้เกิดภาวะน้ำล้นตลิ่งไปจนถึงสภาวะน้ำท่วมใหญ่จนกลายเป็น "อุทกภัย" ได้แก่


แม่น้ำสายที่ 1

วิกฤตการเมืองไทย

ถ้าเราไม่โกหกตัวเองแล้ว คงต้องยอมรับว่าการเมืองไทยอยู่ในวิกฤต และเป็นวิกฤตที่ดำเนินสืบเนื่องมา จนแม้ปัจจุบันก็ไม่มีความชัดเจนว่าแล้วเราจะเดินออกจากวิกฤตชุดนี้อย่างไร เพราะในท้ายที่สุดแล้วสังคมก็ไม่สามารถตอบได้ว่าอนาคตของประเทศไทยจะอยู่กับระบบการเมืองรูปแบบใด

เมื่อคำตอบสุดท้ายที่ชัดเจนว่าสังคมไทยจะอยู่กับการเมืองแบบใดไม่มีข้อยุติแล้วโอกาสที่การต่อสู้ทางการเมืองจะจบกลายเป็นข้อยุติที่ชัดเจนได้นั้นจึงเป็นสิ่งที่เป็นไปไม่ได้เลย

จนน่ากังวลว่าสภาวะของการต่อสู้ในการเมืองไทยเช่นนี้จะดำเนินต่อเนื่องจนกลายเป็นวิกฤตหรือไม่ในอนาคต

หากย้อนกลับไปพิจารณาจากอดีตของไทยหลังจากการเปลี่ยนแปลงการปกครองในปี2475 เป็นต้นมาแล้ว กลับพบว่ามีการแข่งขันของระบบการเมือง 3 ชุดคือ ระบอบประชาธิปไตย ระบบทหาร และระบอบคอมมิวนิสต์

แม้ระบอบคอมมิวนิสต์จะพ่ายแพ้ไปทั้งในเวทีโลกและเวทีไทย แต่ระบบทหารกลับยังสามารถดำรงสถานะของการเป็นคู่แข่งได้

จนแม้ในยุคโลกาภิวัตน์ที่เราเชื่อว่าระบบทหารจะอ่อนแอจนน่าจะหมดสภาพลงในการเมืองไทยแต่กลับไม่เป็นเช่นนั้นและการต่อสู้เช่นนี้ยิ่งนับวันยิ่งกลายเป็นวิกฤตที่หลีกเลี่ยงไม่ได้

วันนี้เรายังมีผู้คนอีกส่วนหนึ่งที่ยังอยากอยู่กับระบบทหารและเชื่อว่าระบบนี้เป็นเครื่องมือของการแก้ไขปัญหาการเมืองและยังใช้ในการ"ทำความสะอาด"ระบบการเมืองอีกด้วย หรือแนวคิดว่าทหารคือ "เทศบาลล้างท่อ" การเมือง

สภาพเช่นนี้ยังทำให้ปัญหาขยายไปสู่การต่อสู้เรื่องรัฐธรรมนูญ ที่มีความพยายามจำกัดสิทธิทางการเมืองผ่านรัฐธรรมนูญที่ถูกออกแบบเพื่อให้เป็น "ประชาธิปไตยครึ่งใบ"

การต่อสู้ในประเด็นเช่นนี้น่าจะดำรงอยู่ต่อไปในการเมืองไทยจนกว่าฝ่ายใดฝ่ายหนึ่งจะชนะอย่างเด็ดขาดเพื่อควบคุมทิศทางการเดินสู่อนาคต

แต่ก็อดกังวลไม่ได้ว่าถ้าการต่อสู้เช่นนี้ยาวนานไม่จบในอนาคตแล้ว วิกฤตการเมืองไทยจะทำให้ประเทศกลายเป็น "คนป่วยแห่งเอเชีย" หรือไม่


แม่น้ำสายที่ 2

วิกฤตชนชั้นนำและชนชั้นกลางไทย

สถานะของชนชั้นนำในการเมืองไทยวันนี้แตกต่างออกไปอย่างมากจากอดีต

สถานะแห่งอำนาจก็เปลี่ยนแปลงไปแน่นอนว่าในท่ามกลางวิกฤตทางการเมืองที่ผ่านๆมาพวกเขาดูเหมือนเข้มแข็งมากขึ้น โดยเฉพาะอย่างยิ่งการได้รับการสนับสนุนจากกลุ่มชนชั้นกลางในเมือง

ซึ่งในระยะไม่กี่ปีที่ผ่านมานั้นคนกลุ่มนี้ได้ขยับตัวออกจากแนวคิดเรื่องประชาธิปไตยมากขึ้นเรื่อยๆ

และขณะเดียวกันก็มองนักการเมืองด้วยสายตาเชิงลบอย่างยิ่ง

ซึ่งทัศนะเช่นนี้ก็คือสิ่งที่เรียกในทางทฤษฎีว่า"อุดมการณ์ต่อต้านการเมือง"อันเป็นแนวคิดหลักของกลุ่มการเมืองในปีกอนุรักษนิยมในหลายๆประเทศที่นำมาใช้เป็นมาตรฐานตัดสินการเมืองแบบประชาธิปไตย

และปัจจุบันความคิดชุดนี้ขยายตัวในหมู่ชนชั้นกลางไทยอย่างมากจนต้องยอมรับในวิกฤตชุดนี้ชนชั้นกลางไทยทวีความเป็นอนุรักษ์มากขึ้น

แต่ชุดความคิดเช่นนี้กลับถูกท้าทายมากขึ้นจากการขยายบทบาททางการเมืองของชนชั้นล่างโดยเฉพาะอย่างยิ่งกลุ่มคนในชนบทมีความคิดแบบเสรีนิยมมากขึ้น

ในขณะเดียวกันชนชั้นกลางเสรีนิยมที่ไม่ได้ถูกครอบงำด้วยอุดมการณ์ต่อต้านการเมืองหรือตกอยู่ภายใต้การโฆษณาชวนเชื่อทางการเมืองของกลุ่มชนชั้นนำแล้วคนเหล่านี้มีทิศทางการเมืองอย่างชัดเจนในการสนับสนุนระบอบประชาธิปไตย

และที่สำคัญคนเหล่านี้ไม่เรียกร้องหาการแก้ปัญหานอกระบบด้วยการใช้รัฐประหารเป็นเครื่องมือ

อย่างไรก็ตามการกล่าวเช่นนี้มิได้ต้องการนำไปสู่ข้อสรุปว่าสถานการณ์การเมืองไทยปัจจุบันกำลังเดินไปสู่"สงครามชนชั้น"

แต่อย่างน้อยคงต้องยอมรับว่าการต่อสู้ทางการเมืองหลังรัฐประหาร 2549 เป็นต้นมา ปัจจัยทางด้านชนชั้นเข้ามามีส่วนเกี่ยวข้องมากขึ้น

และในอีกด้านหนึ่งชนชั้นล่างและ/หรือคนชนบทหลายส่วนเองก็เกิดความรู้สึกในบริบทของความเป็นชนชั้นมากขึ้น

สภาพเช่นนี้ก็คือสัญญาณโดยตรงที่บ่งบอกว่าอำนาจของชนชั้นนำในแบบเดิมที่เคยมีพลังในการควบคุมสังคมการเมืองไทยกำลังเปลี่ยนแปลงไป

แน่นอนว่าอำนาจเช่นนี้ไม่ได้หมดพลังไปจนไม่มีศักยภาพในการเมืองไทยหากแต่การถูกท้าทายจากพลวัตของการเมืองไทยร่วมสมัยทำให้สถานะอันทรงพลังของชนชั้นนำถูกสั่นคลอนโดยตรง

ด้านหนึ่งพวกเขาอาจจะเชื่อมั่นในการสนับสนุนของชนชั้นกลางอนุรักษนิยมที่จะทำให้อำนาจของชนชั้นนำมีความเข้มแข็งมากขึ้น

และในอีกด้านหนึ่งพวกเขาก็เชื่อมั่นอย่างมากกับกระบวนการผลิตซ้ำทางความคิดที่จะทำให้ผู้คนหลายๆภาคส่วน โดยเฉพาะอย่างยิ่งชนชั้นกลางของสังคมไทยให้การสนับสนุนต่อกลุ่มชนชั้นนำเดิม ทั้งในทางความคิดและอุดมการณ์

แต่ปัญหาก็คือสภาวะเช่นนี้จะดำรงอยู่ต่อไปได้อีกนานเท่าใดในโลกที่เปลี่ยนแปลงของการเมืองไทย

หรือชนชั้นนำไทยเชื่อว่าพวกเขายังสามารถอยู่ในโลกเก่าได้ เท่าๆ กับที่ชนชั้นกลางมองว่าพวกเขากำลังทำภารกิจอันศักดิ์สิทธิ์ในการกวาดล้างคราบสกปรกทางการเมือง


แม่น้ำสายที่ 3

วิกฤตรัฐบาล

คงต้องยอมรับความจริงที่ไม่อาจโต้แย้งประการหนึ่งว่ารัฐบาลไทยปัจจุบันเป็น"รัฐบาลทหาร"และการเมืองก็อยู่ใน "ระบบทหาร" การเมืองในระบบนี้ไม่เป็นที่ยอมรับในเวทีสากล โดยเฉพาะอย่างยิ่งในยุคโลกาภิวัตน์ มีทิศทางการเมืองที่เป็น "กระแสประชาธิปไตย" ซึ่งกระแสนี้ได้พัดผ่านทั่วทุกมุมโลกหลังจากการสิ้นสุดของยุคสงครามเย็นเป็นต้นมา

จนถือกันว่าการเมืองในยุคโลกาภิวัตน์นั้นเป็นการเมืองในระบอบประชาธิปไตย

ดังนั้นจึงไม่แปลกอะไรที่จะพบว่าการเมืองภายในของหลายๆ ประเทศหลังจากการสิ้นสุดของสงครามเย็นหรือสงครามคอมมิวนิสต์แล้ว ได้เกิด "ระยะเปลี่ยนผ่านสู่ประชาธิปไตย" ที่นำพาประเทศก้าวออกจากระบบอำนาจนิยม

ผลของการขับเคลื่อนของกระแสประชาธิปไตยในเวทีโลกในด้านหนึ่งทำให้ระบบอำนาจนิยมในหลายประเทศต้องยอมยุติบทบาทลง

ดังจะเห็นได้ว่าในการเมืองโลกปัจจุบันมีประเทศที่ยังคงการปกครองในระบบดังกล่าวเหลืออยู่เพียงไม่กี่ประเทศเท่านั้น

และในอีกด้านหนึ่งก็ทำให้ประชาธิปไตยถูกถือเป็นเกณฑ์"มาตรฐานทางการเมือง"ที่จะใช้วัดสถานะของประเทศ

สภาพเช่นนี้ทำให้การเมืองในระบบทหารไม่เป็นที่ยอมรับโดยเฉพาะในเวทีสากลแล้ว

รัฐบาลทหารถูกมองด้วยสายตาเหยียดหยามอย่างยิ่ง

อย่างน้อยบทเรียนของรัฐบาลทหารของเมียนมาร์เป็นเรื่องที่บ่งบอกถึงการถูกปฏิเสธด้วยการ"แซงก์ชั่น"ที่ไม่ต้องการให้เกิดการติดต่อสัมพันธ์ในทางเศรษฐกิจกับรัฐบาลทหารเป็นต้น

รัฐบาลทหารไทยปัจจุบันอาจจะโชคดีที่ไม่ถูกมาตรการแซงก์ชั่นจากรัฐบาลตะวันตกแต่ก็เห็นได้ชัดเจนว่าสถานะของรัฐบาลกรุงเทพฯในขณะนี้มีความจำกัดในเวทีสากลเป็นอย่างมากซึ่งสถานะเช่นนี้ยังถูกสำทับด้วยการประกาศกฎอัยการศึกภายในประเทศด้วย

จนอาจจะต้องยอมรับสถานะของความเป็นรัฐบาลทหารก็คือวิกฤตในตัวเองของความเป็นรัฐบาลในโลกปัจจุบันนั่นเอง


แม่น้ำสายที่ 4

วิกฤตกองทัพ

เราคงต้องยอมรับว่า กองทัพในสภาวการณ์รัฐประหารนั้นเป็นกองทัพที่มีวิกฤตในตัวเองอย่างหลีกเลี่ยงไม่ได้

ในด้านหนึ่งผู้นำทหารก็เปรียบเสมือนกับการอยู่"บนหลังเสือ"การจะลงจากหลังเสืออาจจะไม่ใช่เรื่องง่ายอย่างที่คิดเลย

ผู้นำทหารในปีก"hard liners" คิดเหมือนกันในทุกยุคว่า การเมืองภายใต้ "อำนาจจากปากกระบอกปืน" นั้น เป็นการเมืองที่กองทัพสามารถควบคุมได้

กล่าวเปรียบเทียบได้ว่า ในสนามการรบ พวกเขาเชื่อมั่นใน "อำนาจการยิง" ฉันใด ในสนามการเมือง พวกเขาก็เชื่อมั่นใน "อำนาจปืน" ฉันนั้น

แต่สำหรับนักทฤษฎีการทหารที่เข้าใจสงคราม พวกเขาตอบได้ทันทีว่า อำนาจการยิงไม่ใช่ปัจจัยชี้ขาดในการสงครามฉันใด อำนาจปืนก็ไม่ใช่ปัจจัยชี้ขาดในการเมืองฉันนั้น

ดังนั้น กองทัพที่ทำรัฐประหารไม่เพียงแต่จะต้องนำพาสถาบันทหารเข้าไปเกี่ยวข้องกับการเมืองเท่านั้น หากแต่ยังทำให้ผู้นำทหารต้องเข้าไปมีบทบาททางการเมืองโดยตรง โดยเฉพาะบทบาทของการใช้สถาบันทหารเป็นเครื่องมือของการควบคุมทางการเมืองด้วย

ในสภาพเช่นนี้ผู้นำกองทัพจึงต้องสวมบทบาทเป็นทั้งนักการเมืองและนักการทหารควบคู่กันไป

เป็นแต่เพียงว่าสนามรบของพวกเขาในครั้งนี้คือเวทีการเมืองของประเทศ

ฉะนั้นไม่ว่าอะไรจะเกิดขึ้นในการเมืองไทยผลกระทบย่อมตกโดยตรงแก่กองทัพทั้งในเชิงสถาบันและเชิงตัวบุคคล

และสภาพเช่นนี้ยังทำลายความเป็นวิชาชีพของทหาร(militaryprofessionalism)

ซึ่งสิ่งเหล่านี้กัดกร่อนกองทัพและจะกลายเป็นวิกฤตอย่างหลีกเลี่ยงไม่ได้

จนน่าติดตามดูว่า การเมืองภายใต้การรัฐประหารปัจจุบันนั้นจะนำไปสู่ "วิกฤตทหาร" ในอนาคตอย่างไร


แม่น้ำสายที่ 5

วิกฤตเศรษฐกิจ

ถ้าวันนี้ใครเชื่อว่ารัฐประหารคือกลไกที่จะช่วยขับเคลื่อนการพัฒนาเศรษฐกิจแล้วคงต้องยุติความคิดดังกล่าวได้เลย

ในโลกทุนนิยมและประชาธิปไตยเช่นในปัจจุบันรัฐประหารไม่ใช่ปัจจัยเชิงบวกต่อเศรษฐกิจไม่ว่าจะเป็นในบริบทการค้า การลงทุนก็ตาม

ผลที่เกิดขึ้นจริงอาจจะเป็นปัจจัยเชิงลบเสียมากกว่า และยังส่งผลกระทบต่อประเด็นทางเศรษฐกิจอื่นๆ เช่นการท่องเที่ยว เป็นต้น

นอกจากนี้ ปัจจัยทางเศรษฐกิจภายในปัจจุบันประสบปัญหาอย่างมาก ดังที่ทราบกันโดยทั่วไปว่า เศรษฐกิจไทยพึ่งพาอยู่กับปัจจัยหลักๆ เช่น การส่งออก สินค้าเกษตร การประมง การท่องเที่ยว ตลอดรวมถึงธุรกิจขนาดกลางและขนาดย่อม (เอสเอ็มอี) ด้วย

ซึ่งตัวชี้วัดจากเศรษฐกิจส่วนนี้ในปี 2557 บ่งบอกถึงสัญญาณเตือนภัยว่า เศรษฐกิจไทย 2558 ไม่สวยหรูเท่าใดนัก

และโดยเฉพาะอย่างยิ่งการลดลงของการส่งออกสินค้าเกษตรและจำนวนนักท่องเที่ยวที่ลดลงจากปี2557

อย่างน้อยราคาสินค้าเกษตรเช่นข้าว ยางพารา มันสำปะหลัง และข้าวโพด เป็นสัญญาณเตือนที่สำคัญ

และวันนี้เราอาจจะต้องยอมรับด้วยความขมขื่นอีกประการว่าเรากำลังเผชิญกับ"วิกฤตยางไทย"ครั้งสำคัญ

สัญญาณเหล่านี้ล้วนบ่งบอกว่าเศรษฐกิจไทยในปี 2558 เป็นเรื่องที่เปราะบางและน่าเป็นห่วงเป็นอย่างยิ่ง

อย่างไรก็ตาม อาจจะมีปัจจัยเชิงบวกบางประการที่ทำให้ได้สบายใจกันสักนิดก็คือ การที่กลุ่มผู้ผลิตน้ำมันหรือ "โอเปค" (OPEC) ตัดสินใจลดราคาน้ำมัน ซึ่งก็น่าจะเป็นสัญญาณว่า ปีหน้าราคาน้ำมันอาจจะถูกลงกว่าที่เคยประมาณการ

หรืออย่างน้อยปีใหม่นี้เราอาจจะไม่ต้องเผชิญกับปัญหาความมั่นคงด้านพลังงานในระบบเดิม

แต่กับเศรษฐกิจส่วนอื่นๆของไทยแล้วดูเหมือนสัญญาณบวกแทบจะมองไม่เห็นเท่าใดนักและหากปัญหาในส่วนนี้ทรุดตัวลงไปกว่าที่เป็นอยู่แล้ว ก็น่ากังวลว่า 2558 อาจจะเป็นปีวิกฤตของเศรษฐกิจไทยได้ไม่ยากนัก

ดังนั้น หากแม่น้ำทั้งห้าสายที่กล่าวมาไหลทะลักเอ่อล้นท่วมกะทันหันอย่างรุนแรง ก็ทำให้การเมืองไทย 2558 เผชิญกับปัญหา "มหาอุทกภัย" ได้ไม่ยากนัก... อุทกภัยทางธรรมชาติยังพอทำเนา

แต่อุทกภัยจากวิกฤตเศรษฐกิจการเมืองนั้น มักจะรุนแรงกว่าที่คาดคิดไว้เสมอ!