วันจันทร์, สิงหาคม 14, 2566

Digital Footprint : ว่าแต่เขา อิเหนาเป็นเอง


CARE คิด เคลื่อน ไทย
August 30, 2022
·
“...อย่าไปเชื่ออนุทิน ตอนแรกก็บอกว่าจะไม่เลือกประยุทธ์ ตอนหลังเป็นไงหละ...ประยุทธ์ จันทร์โอชา...”
.
การเลือกนายกรัฐมนตรีคนใหม่ ต้องเลือกจากในบัญชีแคนดิเดต ซึ่งฝ่ายรัฐบาลก็เหลือเพียงอนุทิน ที่เต้นฟุตเวิร์ครอแล้ว ถามว่าฝั่งรัฐบาลกับส.ว.จะเลือกไหม ซึ่งฝ่ายป้อมก็คงไม่ยอม คือ ส.ว.และพลังประชารัฐ ส่วนฝั่งประชาธิปไตยก็มีแต่ของเพื่อไทยพรรคเดียว ซึ่งฝ่ายค้านคนอื่นก็คงไม่เลือกเหมือนกัน
.
ทีนี้ก็เหลือว่า จะเลือกนายกรัฐมนตรีคนนนอกไหม ซึ่งต้องใช้เสียง 2 ใน 3 ของ 2 สภารวมกัน ซึ่งก็คือ 500 คน ถามว่า 500 คนนั้นจะเอามาจากไหน มีคนบอกว่าอนุทินคงไม่ยอม
.
ผมบอกได้เลยว่า อย่าไปเชื่ออนุทิน ตอนแรกก็ประกาศยืนยันว่าไม่เลือกพลเอกประยุทธ์ ไม่อยู่ฝ่ายสืบทอดอำนาจ ไม่เอาเผด็จการ แต่ตอนหลังเป็นไงหละ ...พลเอกประยุทธ์ จันทร์โอชาครับ ดังนั้นคนแบบนี้พูดยังไงก็ไม่เชื่อ ผมไม่ฟังครับ
.
#Tonywoodsome
#8ปีประยุทธ์
#นายกเถื่อน
#CareTalk
#คิดเคลื่อนไทย
.....
ไหนว่าจะไม่หลอกกัน! รวม Digital Footprint ที่บอกว่า “เพื่อไทยจะไม่จับมือเผด็จการ”


3 ส.ค. 2566 
ณัฐชัย นาคสุข
The Modernist

หลังจากปล่อยให้ประชาชนงุนงงสงสัยและไม่ไว้ใจสถานการณ์อยู่ระยะหนึ่ง ล่าสุด พรรคเพื่อไทยก็ได้ออกมาเปิดเผยแล้วว่า พรรคเพื่อไทย และ นายเศรษฐา ทวีสิน แคนดิเดตนายกรัฐมนตรีของพรรคเพื่อไทย ยืนยันชัดเจนว่าจะไม่สนับสนุนการแก้ไขมาตรา 112 และการจัดตั้งรัฐบาลใหม่จะไม่มีพรรคก้าวไกลอยู่ในพรรคร่วม เพื่อให้สามารถดำเนินการรวบรวมเสียงสนับสนุนจาก สว. และ ส.ส. เพื่อจัดตั้งรัฐบาลต่อไปได้

อย่างไรก็ตาม หากยังจำกันได้ ตั้งแต่หลังการยุบสภาฯ เมื่อวันที่ 20 มีนาคม 2566 พรรคเพื่อไทยได้มีแคมเปญหาเสียง “เลือกเพื่อไทยแลนด์สไลด์ ประเทศไทยเปลี่ยนทันที” โดยมีจุดมุ่งหมายเพื่อล้มอำนาจของ สว. ที่มาจากการแต่งตั้งของคณะรักษาความสงบแห่งชาติ (คสช.) ที่มี 3 ป. เป็นแกนนำ แต่ทว่าก็มีข่าวลือที่ว่า พรรคเพื่อไทยอาจจะไปจับมือกับพรรคที่สืบทอดอำนาจของ คสช. โดยเฉพาะพรรคพลังประชารัฐ ทำให้พรรคเพื่อไทยจึงต้องเน้นย้ำอยู่เสมอว่า “พรรคเพื่อไทยไม่จับมือกับพรรคเผด็จการ” มาตลอดตั้งแต่ช่วงหาเสียงจนกระทั่งหลังโหวตนายกฯ ครั้งที่ 1

ทว่าในระหว่างทาง พรรคเพื่อไทยก็มีอาการส่อพิรุธหลายครั้ง ซึ่งสร้างความคลางแคลงใจให้กับประชาชน ทั้งกรณีการพูดคุยหารือกับพรรคการเมืองต่างๆ เช่น พรรคพลังประชารัฐ พรรครวมไทยสร้างชาติ พรรคภูมิใจไทย พรรคชาติพัฒนากล้า และพรรคชาติไทยพัฒนา จนเกิดเสียงวิพากษ์วิจารณ์อย่างแพร่หลาย แต่สุดท้าย พรรคเพื่อไทยก็ตอบคำถามในประเด็นนี้ว่าการหารือดังกล่าวเป็นเพียงการพูดคุยเพื่อหาทางออกของประเทศเท่านั้น

นอกจากนี้ นพ. ชลน่าน ศรีแก้ว หัวหน้าพรรคเพื่อไทย ยังได้ให้สัมภาษณ์ในรายการเรื่องเล่าเช้านี้อีกว่า พรรคการเมืองฝ่ายตรงข้ามจำนวน 10 พรรคนั้น ถ้ารวมเป็น 1 พรรค จะได้ 188 เสียง เป็นอันดับ 1 ในสภา ส่วนพรรคก้าวไกล เป็นอันดับ 2 ได้ 151 และพรรคเพื่อไทย เป็นอันดับ 3 คือได้ 141 พร้อมกล่าวว่า

“เมื่อเราไม่ได้เสียงข้างมากเด็ดขาด จึงมีความลำบากสักนิด สิ่งที่เกิดขึ้นทำให้เห็นภาพว่าทำไมพรรคเพื่อไทยถึงรณรงค์แลนด์สไลด์ เพื่อแก้ปัญหาทั้งหมด สิ่งที่เราได้รับมามันไม่ถึงเป้า ต้องรับสภาพ หาวิธีการดำเนินการให้ดีที่สุด”

สมการอันพิลึกพิลั่นและการให้สัมภาษณ์เช่นนี้ นำไปสู่เสียงวิพากษ์วิจารณ์อย่างรุนแรง และก็ไม่ได้ทำให้ประชาชนรู้สึกเชื่อมั่นในแนวทางของพรรคเพื่อไทยมากขึ้นแต่อย่างใด

และในวาระที่พรรคเพื่อไทยได้ประกาศเจตนารมณ์ที่จะไม่แก้ไขกฎหมายอาญามาตรา 112 อย่างชัดเจน พร้อมแถลงให้พรรคก้าวไกลเป็นฝ่ายค้าน The Modernist ก็ขอนำ Digital Footprint ของพรรคเพื่อไทย มาทบทวนกันหน่อยว่า ที่พรรคเพื่อไทยเคยยืนยันว่าจะไม่จับมือกับพรรคการเมืองที่สืบทอดอำนาจของ คสช. นั้น ที่ผ่านมานั้น พรรคสีแดงนี้เคยพูดอะไรไว้กับประชาชน
 


27 มีนาคม 2566

“ภูมิธรรม” ยัน “เพื่อไทย” ไม่จับมือ พปชร. ตั้งรัฐบาล


เว็บไซต์ ThaiPBS รายงานว่า จากกรณีที่นายวิรัช รัตนเศรษฐ รองหัวหน้าพรรคพลังประชารัฐ กล่าวว่ามีการตกลงกัน ยอมให้ พล.อ.ประวิตร วงษ์สุวรรณ รองนายกรัฐมนตรี และหัวหน้าพรรคพลังประชารัฐ เป็นนายกรัฐมนตรี นายภูมิธรรม เวชยชัย รองหัวหน้าพรรคเพื่อไทย ได้ให้สัมภาษณ์เกี่ยวกับกรณีนี้ว่า พรรคเพื่อไทยโดยคณะกรรมการบริหารพรรคเท่านั้นจะเป็นผู้ตัดสินใจว่าจะร่วมรัฐบาลกับใครหรือไม่

นายภูมิธรรมระบุว่า พรรคเพื่อไทยยังคงยืนยันเดินหน้ารณรงค์หาเสียงให้ได้ ส.ส. ในสภาให้ถึง 310 เสียง เพื่อจัดตั้งรัฐบาล เพราะขณะนี้ปัญหาของประเทศ คือ ส.ว. 250 คน หากพรรคเพื่อไทยได้ 310 เสียง ขึ้นไป ก็ไม่มีเหตุผลที่จะจับมือกับใคร มีเงื่อนไขเดียว คือจับมือกับพรรคการเมืองที่มีกรอบความคิดตรงกันหรือฝ่ายค้านที่เคยทำงานร่วมกันมา จึงขอย้ำอีกครั้งว่า “การจับมือกับพลังประชารัฐ หรือจับมือพรรคนั้นพรรคนี้ เป็นเรื่องเพ้อฝันทั้งสิ้น ขอให้มั่นใจวันนี้พรรคมุ่งมั่นเป็นรัฐบาลให้ได้เพื่อการเปลี่ยนแปลงของสังคมไทยที่เกิดขึ้นและจะไม่ขอพูดเรื่องนี้อีกแล้ว”

18 เมษายน 2566

“แพทองธาร” ประกาศ “เพื่อไทย” ไม่จับมือกับคนที่เคยมีส่วนร่วมรัฐประหาร


เว็บไซต์ประชาไท รายงานว่า วันที่ 18 เมษายน 2566 น.ส.แพทองธาร ชินวัตร แคนดิเดตนายกรัฐมนตรีคนที่ 1 พรรคเพื่อไทย นายภูมิธรรม เวชยชัย รองหัวหน้าพรรคเพื่อไทย นายวิสุทธิ์ ไชยณรุณ รองผู้อำนวยการศูนย์ปฏิบัติการเลือกตั้งสมาชิกสภาผู้แทนราษฎร (ส.ส.) พรรคเพื่อไทย นายชนินทร์ รุ่งธนเกียรติ รองโฆษกพรรคเพื่อไทย ร่วมแถลงยุทธศาสตร์การรณรงค์เลือกตั้งของพรรคเพื่อไทย และการทบทวนยุทธศาสตร์การเลือกตั้งพรรคเพื่อไทย

ในการแถลงข่าว สื่อมวลชนได้ถามคำถามว่า กรณีคะแนนนิยมของพรรคเพื่อไทยที่ลดลง เป็นเพราะความไม่ชัดเจนเรื่องการจับมือกับฝ่ายตรงข้ามหรือไม่ น.ส. แพทองธาร ตอบว่า นายเศรษฐา ทวีสิน แคนดิเดตนายกรัฐมนตรี พรรคเพื่อไทย เคยกล่าวในหลายวาระว่ารังเกียจการรัฐประหาร พร้อมเน้นย้ำว่า

“อยากให้ทุกคนดูหน้าดิฉันไว้ คงไม่ได้ชอบการรัฐประหาร การรัฐประหารครั้งล่าสุดที่เกิดขึ้น 2 ครั้ง ดิฉันไม่ได้ชอบ ดังนั้น การที่ไม่ตอบออกมาตรงๆ หลายครั้งในกรณีนี้ เพราะ ‘เราให้เกียรติประชาชน’ เพราะการเลือกตั้งยังไม่เกิดขึ้น แต่หากถามว่าคนที่ไม่ได้อยู่ฝ่ายประชาธิปไตยร่วมทำรัฐประหาร เราจะอยากจับมือด้วยหรือไม่ เป็นคำตอบที่ประชาชนน่าจะทราบดีอยู่แล้ว และแน่นอนว่าผลกระทบที่ได้รับต้องแยกกัน ดังนั้น การตอบกรณีนี้แบบมีอารมณ์เกินไป คงไม่ใช่แนวทางที่สามารถสื่อสารได้ แต่หากถามว่าอยากจับมือกับคนที่ทำรัฐประหาร 2 ครั้ง ตนเองคิดว่าน่าจะมีความชัดเจนอยู่แล้ว”

21 เมษายน 2566

“เศรษฐา” ประกาศ เพื่อไทยไม่จับมือ พปชร. – รทสช. เหตุมีส่วนร่วมรัฐประหาร


เว็บไซต์ PPTV Online รายงานว่า นายเศรษฐา ทวีสิน แคนดิเดตนายกรัฐมนตรีพรรคเพื่อไทยและประธานที่ปรึกษาหัวหน้าครอบครัวเพื่อไทย กล่าวปราศรัยที่โรงเรียนบ้านวังสะพุง อำเภอวังสะพุง จังหวัดเลย ท่ามกลางประชาชนกว่า 3,000 คน ว่า “มีคำถามตลอดว่าพรรคเพื่อไทยจะไปร่วมกับพรรคพลังประชารัฐ พรรครวมไทยสร้างชาติหรือไม่ พี่น้องอยากให้ไปร่วมหรือไม่ พอแล้ว 8 ปีที่ผ่านมา ยืนยันชัดเจนว่าไม่จับมือกับ 2 พรรคนี้ เพราะ 2 พรรคนี้มีส่วนร่วมในการทำรัฐประหาร ปล้นอำนาจอธิปไตยประชาชน บอกว่าเราเป็นเรือใหญ่ เขาเป็นเรือเล็กพายอยู่ข้างๆ ไม่ต้องมาอยู่ข้างๆ ต่างคนต่างอยู่ ไม่ร่วมกันแน่นอน”

22 เมษายน 2566

เลือกตั้ง 2566 : “อุ๊งอิ๊ง” ย้ำเลือก “เพื่อไทย” อย่างมียุทธศาสตร์ แบ่งใจไม่ได้


เว็บไซต์ PPTV Online รายงานว่า นายเศรษฐา ทวีสิน แคนดิเดตนายกรัฐมนตรี พร้อมด้วยแกนนำพรรคเพื่อไทย เปิดเวทีปราศรัยที่วิทยาลัยเกษตรและเทคโนโลยีสุโขทัย อำเภอสวรรคโลก จังหวัดสุโขทัย โดยมีผู้ฟังปราศรัยมากกว่า 20,000 คน

นายเศรษฐา กล่าวว่า “ผมพูดชัดเจนไปเมื่อวานแล้วว่า เราจะไม่จับมือพรรคพลังประชารัฐและพรรครวมไทยสร้างชาติ ดังนั้นทางเดียวคือเราต้องชนะให้แลนด์สไลด์ เราต้องเลือกให้มียุทธศาสตร์ เลือกเพื่อไทยทั้ง 2 ใบ”

4 พฤษภาคม 2566

เลือกตั้ง 2566 : เพื่อไทยปราศรัยบางแค เศรษฐาประกาศทางเดียวที่จะเปลี่ยนประเทศ คือเทคะแนนให้เพื่อไทยชนะขาด


The Standard รายงานว่า เมื่อวันที่ 3 พฤษภาคม 2566 พรรคเพื่อไทยเปิดเวทีปราศรัย ‘คิดใหญ่ ทำเป็น เพื่อไทยทุกคน เพื่อชาวฝั่งธนฯ’ ที่ลานตรงข้ามตลาดบางแค เขตบางแค กรุงเทพมหานคร โดยนายณัฐวุฒิ ใสยเกื้อ ผู้อำนวยการครอบครัวเพื่อไทย ปราศรัยยืนยันว่า จะผลักดันคดีคนเสื้อแดงที่ยังค้างไม่คืบหน้า และใช้กลไกสภาแก้ไขพระราชบัญญัติคณะกรรมการป้องกัน และปราบปรามการทุจริตแห่งชาติ (ป.ป.ช.) เพื่อให้ประชาชนผู้เสียหายในคดีที่ ป.ป.ช. ปัดตก สามารถฟ้องคดีโดยตรงต่อศาลฎีกาแผนกคดีอาญาฯ ได้

“เราเจ็บปวดมากว่า 9 ปี พอแล้วสำหรับรัฐบาลชุดนี้ ทุกคนที่มีจุดหมายเดียวกันที่จะไม่เอา 3 ป. มาร่วมเดินหน้ากับพรรคเพื่อไทย เที่ยวนี้ถ้าต้องการเปลี่ยน ถ้าปลดจากเผด็จการ นับ 1 ที่กรุงเทพฯ นับ 1 ทั้ง 33 เขต กาเพื่อไทยทั้ง 2 ใบไปด้วยกัน เลือกเพื่อไทยทั้งคนทั้งพรรค” นายณัฐวุฒิกล่าว

8 พฤษภาคม 2566

“เศรษฐา” ย้ำ “เพื่อไทย” ไม่เอา 2 ป. ลั่นหาก “อุ๊งอิ๊ง” เป็นนายกฯไม่หนีไปไหน


เว็บไซต์เดลินิวส์ออนไลน์ รายงานว่า นายเศรษฐา ทวีสิน แคนดิเดตนายกรัฐมนตรี พรรคเพื่อไทย (พท.) และประธานที่ปรึกษาหัวหน้าครอบครัวเพื่อไทย ออกรายการผ่านทาง TikTok และ Instagram Live หัวข้อ “หมดเปลือกเพื่อไทย” โดยมีนายคชาภา ตันเจริญ หรือ “มดดำ” พิธีกรชื่อดัง เป็นผู้ดำเนินรายการ

เมื่อพิธีกรถามว่า การเลือกตั้งที่จะเกิดขึ้นในอีก 6 วัน ที่มีกระแสว่า หากเลือกพรรคเพื่อไทย จะไปเล่นเกมจับมือกับ 2 ป. อยู่ดีนั้น นายเศรษฐา กล่าวว่า “เรายึดโยงกับประชาชนไม่เอารัฐประหาร ไม่เอา 2 ป. แน่นอน”

15 พฤษภาคม 2566

‘เพื่อไทย’ ยินดี ‘ก้าวไกล’ ยืนยันไม่รวมเสียงตั้งรัฐบาลแข่ง


เว็บไซต์ ประชาไท รายงานว่า น.พ.ชลน่าน ศรีแก้ว หัวหน้าพรรคเพื่อไทย ได้อ่านแถลงการณ์ของพรรคเพื่อไทยว่า ผลคะแนนเลือกตั้งอย่างไม่เป็นทางการ ปรากฏแล้วว่าพรรคก้าวไกลเป็นพรรคอันดับหนึ่ง พรรคเพื่อไทยเป็นพรรคอันดับสอง

“พรรคเพื่อไทยขอขอบคุณพี่น้องประชาชนที่ออกมาใช้สิทธิเลือกตั้ง และร่วมสนับสนุนเลือกพรรคเพื่อไทยและฝ่ายประชาธิปไตยอย่างท่วมท้น อันแสดงถึงความต้องการของพี่น้องประชาชนในการเปลี่ยนแปลงประเทศให้เป็นประชาธิปไตย ในโอกาสนี้ พรรคเพื่อไทยขอแสดงความยินดีกับพรรคก้าวไกลที่เป็นพรรคอันดับหนึ่ง และพรรคเพื่อไทยขอยืนยันว่า ไม่มีแนวความคิดที่จะจัดตั้งรัฐบาลแข่งกับพรรคก้าวไกล พรรคเพื่อไทยเห็นว่า ในการจัดตั้งรัฐบาล ประเด็นในการหารือ และกระบวนการต่าง ๆ ให้เป็นหน้าที่ของพรรคก้าวไกลเป็นฝ่ายดำเนินการ”

18 พฤษภาคม 2566

เลือกตั้ง 2566 : “สุทิน” ย้ำ “เพื่อไทย” ไม่จัดตั้งรัฐบาลแข่งกับก้าวไกล


เว็บไซต์ PPTV Online รายงานว่า นายสุทิน คลังแสง รองหัวหน้าพรรคเพื่อไทย ยืนยัน พรรคเพื่อไทย ไม่คิดตั้งรัฐบาล แข่งกับพรรคก้าวไกล เปิดให้พรรคที่ได้คะแนนนำอันดับ 1 จัดตั้งรัฐบาล โดยกล่าวว่า “เราจะไปแย่งตั้ง ชิงตั้ง แบบนี้เราจะเรียกว่าเป็นฝ่ายประชาธิปไตยได้อย่างไร”

นายสุทิน มองว่า รอบที่แล้ว ก็ไม่ยอมเคารพเสียงประชาชน ตอนนั้นใครจับได้มากกว่า ก็จัดตั้งได้เลย จึงทำให้คราวที่แล้วถูกตำหนิ และสังคมไม่ยอมรับ ไม่เคารพเสียงประชาชน “มาคราวนี้ทุกคนจึงระมัดระวังเสียงประชาชนมากขึ้น จะเห็นได้ว่าไม่มีจัดตั้งแข่งกัน ทั้งในชีกฝ่ายค้าน และในชีกรัฐบาล ที่ตอนนี้ยังไม่เห็นฝั่งในรัฐบาลจัดตั้งเลย เชื่อว่าทุกคนตระหนักในเรื่องนี้อยู่” นายสุทินกล่าว

22 พฤษภาคม 2566

เลือกตั้ง 2566 : เพื่อไทยปัดดีลพลังประชารัฐ ย้ำครั้งที่ 501 จับมือก้าวไกลตั้งรัฐบาล


เว็บไซต์ PPTV Online รายงานว่า นพ.ชลน่าน ศรีแก้ว หัวหน้าพรรคเพื่อไทย กล่าวเกี่ยวกับการวิเคราะห์ว่าจะมีการยุบพรรคพลังประชารัฐแล้วรวมกับเพื่อไทยเพื่อจัดตั้งรัฐบาลว่า “เรื่องนี้เพื่อไทยไม่เคยรับรู้รับทราบเลย และขอปฏิสธว่าไม่มีส่วนเกี่ยวข้องใดๆ แม้เหตุการณ์ยุบพรรคจะเกิดขึ้นจริงหรือไม่จริง ความเป็นไปได้ที่พรรคเพื่อไทยจะรวมกับพรรคพลังประชารัฐหลังจากเขายุบพรรคนั้น มันเป็นไปไม่ได้ และที่สำคัญที่สุดที่บอกว่าเพื่อไทยจะเป็นแกนนำจัดตั้งรัฐบาลนั้น ยืนยันครั้งที่ 501 ว่าเรายังยึดมั่นตามเจตนารมณ์ที่เราประกาศที่จะสนับสนุนนายพิธาเป็นนายกฯคนที่ 30 และร่วมมือกับก้าวไกลจัดตั้งรัฐบาลให้ได้”

เมื่อถามอีกว่ากระแสข่าวดีลลับที่ฮ่องกงจะสร้างความหวาดระแวงต่อพรรคร่วมรัฐบาลด้วยกันหรือไม่ นพ.ชลน่าน กล่าวว่า “ข่าวลือดีลลับอะไรต่างๆ เป็นสิ่งที่ทุกคนเล่าลือได้ แต่ยืนยันตรงนี้ เวทีนี้อย่างชัดแจ้งว่าพรรคเพื่อไทยยังยึดมั่นในเจตนารมณ์ของพี่น้องประชาชน และยืนยันว่าเพื่อไทยยังจับมือไปกับก้าวไกลไม่ว่าอะไรจะเกิดขึ้นก็แล้วแต่”

23 พฤษภาคม 2566

“ชูศักดิ์” ยัน “เพื่อไทย” ดัน “พิธา” นายกฯ 100% ดับข่าว พปชร.ย้ายเข้า “เพื่อไทย”


เว็บไซต์ Voice Online รายงานว่า นายชูศักดิ์ ศิรินิล รองหัวหน้าพรรคเพื่อไทย ระบุถึง MOU ร่วมจัดตั้งพรรคร่วมรัฐบาลกับก้าวไกล ที่มีการแก้ไขเพิ่มเติมแล้วว่า เป็นหลักการบริหารแผ่นดินภาพกว้าง แต่เน้นตรงจุดที่คิดว่าเป็นเรื่องสำคัญและถือเป็นนโยบายร่วมกัน เช่น เรื่องรัฐธรรมนูญ ฟื้นฟูประชาธิปไตย จัดทำรัฐธรรมนูญฉบับใหม่ของประชาชน โดยมีสมาชิกสภาร่างรัฐธรรมนูญ (ส.ส.ร.) ที่มาจากการเลือกตั้งโดยตรงของประชาชน กฎหมายสมรสเท่าเทียม การใช้งบประมาณฐานศูนย์เป็นต้น ซึ่งตนเชื่อว่าทุกอย่างจะดำเนินการต่อไปได้ เพราะทุกฝ่ายคิดมาอย่างรอบคอบแล้ว เพียงแต่บางเรื่องที่เห็นไม่ตรงกัน ก็ปล่อยให้เป็นสิทธิของพรรคการเมืองนั้นๆ ที่อาจนำเสนอผ่านกระบวนการบริหาร หรือกระบวนการสภาในขั้นตอนต่อไป

รองหัวหน้าพรรคเพื่อไทย ยังโต้กระแสข่าวที่ระบุว่าจะมีการยุบพรรคพลังประชารัฐ แล้วมารวมกับพรรคเพื่อไทยจัดตั้งรัฐบาลว่า ไม่มีทางเกิดขึ้นแน่นอน เนื่องจากปัจจุบันในกฎหมายไม่มีระบุเรื่องการยุบพรรค แต่เป็นการเลิกพรรคการเมือง ซึ่งก็เป็นเรื่องที่เคยเกิดขึ้นมาแล้วกับพรรคการเมืองหนึ่งก่อนหน้านี้ ซึ่งเมื่อเลิกพรรคการเมืองแล้ว สมาชิกในพรรคก็จะสามารถย้ายไปเข้าสังกัดพรรคการเมืองอื่นได้ กับอีกวิธีหนึ่งคือการขับออกจากพรรคการเมือง ซึ่งก็จะมีเวลาให้บุคคลนั้นไปสมัครเข้าสังกัดพรรคการเมืองอื่นได้เช่นกัน แต่วิธีการทั้งหมดนี้ ตนมองว่าเป็นวิธีการที่ไม่เคารพเสียงประชาชนเนื่องจากประชาชนเลือกพรรคการเมืองเลือกบุคคลของพรรคนี้มาแล้วจนชนะการเลือกตั้ง

25 พฤษภาคม 2566

คลิปจดหมายกัมปนาท ยัน “เพื่อไทย” ไม่จัดตั้งรัฐบาลแข่งกับ “ก้าวไกล”


ไทยรัฐออนไลน์ รายงานว่า จากกรณีที่มีการปั่นกระแสทำให้สังคมเข้าใจผิดคิดว่าพรรคเพื่อไทยจะจัดตั้งรัฐบาลแข่งกับพรรคก้าวไกล พรรคเพื่อไทย ได้ปล่อยคลิปจดหมายกัมปนาท ใน TikTok ยืนยันว่า พรรคเพื่อไทยจะไม่มีทางที่จะจัดตั้งรัฐบาลแข่งกับพรรคก้าวไกล พร้อมระบุว่ามีการประกาศหลายรอบแล้ว ทำไมยังไม่ฟัง ทำไมยังไม่เชื่อ ถ้ายังมีการปั้นข่าวอีกจะให้กิน “ยาสีฟัน” แทน “มิ้นต์ช็อก”

29 พฤษภาคม 2566

เลือกตั้ง 2566 : “ทักษิณ” ปัดดีลลับตั้งรัฐบาลเพื่อไทย ยัน “อิ๊งค์” หนุน “พิธา” นั่งนายกฯ


ThaiPBS รายงานว่า ภายหลังจากที่เมื่อวันที่ 28 พฤษภาคม 2566 นายชูวิทย์ กมลวิศิษฎ์ นักเคลื่อนไหวทางการเมือง ได้โพสต์ข้อความลงในเฟซบุ๊ก ระบุว่า “ดีลลับรัฐบาลใหม่ “ไม่มีก้าวไกล” มีการเจรจาลับผลัก “ก้าวไกล” ไปเป็นฝ่ายค้าน รวมเสียงเกินกึ่งหนึ่งได้ เพื่อไทย ภูมิใจไทย พลังประชารัฐ ประชาธิปัตย์ ชาติไทยพัฒนา ส.ว. ผ่านฉลุย 376 ได้จัดตั้งรัฐบาลแน่” นายทักษิณ ชินวัตร อดีตนายกรัฐมนตรี ได้ทวีตข้อความว่า “ผมงงมากกับดีลลับที่คุณชูวิทย์พูด ทั้งๆ ที่น้องอิ๊งก็ยืนยันที่จะสนับสนุนคุณพิธาเป็นนายกฯ และผมเองก็ไม่ได้พบตัวแทนพรรคไหนเลย แม้กระทั่งโทรศัพท์ก็ไม่มี งงจริงๆ ครับ”

29 พฤษภาคม 2566

“เต้น” ขัดใจเสื้อแดง! ประกาศ พท. ไม่ถอนตัว หนุนพิธานายกฯ


ไทยโพสต์ ออนไลน์ รายงานว่า นายณัฐวุฒิ ใสยเกื้อ ผู้อำนวยการครอบครัวเพื่อไทย โพสต์ข้อความผ่านเฟซบุ๊กว่า “การเลือกตั้งจบลงแล้ว แต่การจัดตั้งรัฐบาลยังไม่จบ ปรากฏความเคลื่อนไหวทั้งในทางที่เป็นจริง และข่าวลับ ลือ ลวง มากมายในสถานการณ์ หนึ่งในนั้นคือ การยื่นข้อเรียกร้องของกองเชียร์พรรคเพื่อไทยกลุ่มหนึ่ง ขอให้พรรคถอนตัวจากการร่วมรัฐบาลกับพรรคก้าวไกล”

“ประกาศชัดว่านี่เป็นความเห็น ความต้องการในกลุ่มของพวกเขา และพร้อมเคารพต่อการตัดสินใจของพรรคเพื่อไทย ไม่ว่าจะตรงกับข้อเรียกร้องหรือไม่ แน่นอนว่าผมไม่เห็นด้วยกับประเด็นนี้ แต่ผมก็เห็นความจริงด้วยว่า กลุ่มที่มายื่นหนังสือเป็นพี่น้องที่ร่วมต่อสู้กันมา และเป็นหนึ่งในผู้สนับสนุนพรรคเพื่อไทยตัวจริง การไม่เห็นด้วยนี้ จึงยืนอยู่บนความเข้าใจ และเคารพในความคิด ความรู้สึกของพวกเขา”

“การไม่เป็นพรรคอันดับ 1 ในการเลือกตั้งเป็นความสูญเสีย ผิดหวัง และบาดเจ็บครั้งใหญ่ ที่พรรคเพื่อไทยไม่เคยเจอ แต่เราต้องผ่านมันไปให้ได้ ด้วยสติ ปัญญา ความตระหนักรู้ในสถานการณ์ และความศรัทธาเชื่อมั่นในระบอบประชาธิปไตย เพื่อจะกลับมายืนในที่เดิมที่เคยยืนมาตลอดอีกครั้ง”

5 มิถุนายน 2566

“ภูมิธรรม” ย้ำชัด “เพื่อไทย” ไม่ตั้งรัฐบาลแข่ง “ก้าวไกล”


ฐานเศรษฐกิจ ออนไลน์ รายงานว่า นายภูมิธรรม เวชยชัย รองหัวหน้าพรรคเพื่อไทย โพสต์เฟซบุ๊กชี้แจงประเด็นการจัดตั้งรัฐบาลร่วมกับ 8 พรรคการเมืองว่า “จากข่าวที่คุณอนุชา ขำดวง พิธีกรจากไทยพีบีเอสได้ทวิตบทสรุปของคุณอนุชาที่ถามผมในบทสัมภาษณ์เรื่องการจับมือกันจัดตั้งรัฐบาล 8 พรรคว่ามีความเป็นไปได้หรือไม่ที่จะสลับขั้วไปจัดตั้งรัฐบาลกับพรรคอื่นนอกเหนือจาก 8 พรรคเดิม จนก่อให้เกิดความเข้าใจผิด ซึ่งเป็นบทสรุปที่คลาดเคลื่อนจากข้อเท็จจริง จนก่อให้เกิดความไม่สบายใจของประชาชนและสมาชิกบางส่วนของพรรคแกนนำเกิดความเคลือบแคลงสงสัย ในความร่วมมือของพรรคเพื่อไทย ที่จะร่วมมือกันเพื่อจัดตั้งรัฐบาลนั้น ผมขอเรียนยืนยันอย่างหนักแน่นในจุดยืนของพรรคเพื่อไทยที่ผมเป็นส่วนหนึ่งของคณะผู้บริหารว่า พรรคเพื่อไทยยืนยันในจุดยืนที่ชัดเจนที่ประกาศต่อสาธารณะหลายครั้ง ว่าเราจะไม่จัดตั้งรัฐบาลแข่งกับพรรคก้าวไกล แม้ว่าเราจะเป็นพรรคอันดับสอง”

“ผมและพรรคเพื่อไทยมีท่าทีหลายครั้งที่ชัดเจนว่าเรายืนยันที่จะสนับสนุนและผลักดันให้การจัดตั้งรัฐบาล ของพรรคก้าวไกลและ 8 พรรคร่วม ที่ได้แถลงอย่างชัดเจนว่าจะจับมือกันและสนับสนุนให้คุณพิธาซึ่งเป็นแคนดิเดตนายกฯ ของพรรคแกนนำได้บรรลุเป้าหมายจนสามารถจัดตั้งรัฐบาลได้สำเร็จ”

1 กรกฎาคม 2566

“เศรษฐา” ลั่นเลอะเทอะ เพื่อไทยจับมือ พปชร. ตั้งรัฐบาล


PPTV Online รายงานว่า นายเศรษฐา ทวีสิน แคนดิเดตนายกรัฐมนตรี พรรคเพื่อไทย ให้สัมภาษณ์ว่า การที่พรรคก้าวไกลเปิดตัวนายปดิพัทธ์ สันติภาดา ส.ส.พิษณุโลก ชิงประธานสภาฯ เป็นสิทธิ ส่วนที่มีกระแสข่าวสูตรในการจัดตั้งรัฐบาลที่พรรคเพื่อไทยจับมือกับพรรคพลังประชารัฐ นายเศรษฐา มองว่า เลอะเทอะ ถามกี่ครั้งก็จะตอบว่าเลอะเทอะ

และนี่คือหลายเสียงและหลายโอกาส ที่เพื่อไทยยืนยันถึงจุดยืนไม่จับมือกับเผด็จการ ก่อนที่สุดท้าย ทุกอย่างจะกลับตาลปัตร และเพื่อไทยยอม “เสียสัตย์” เพื่อให้ชาติเดินต่อไปได้

อ้างอิง : thaipbs 1 2 3 / pptvhd36 1 2 3 4 5 / prachatai 1 2 / thestandard / dailynews / thairath / voicetv / thaipost / thansettakij