ปีหน้า ๒๕๖๑ จะเป็นปีที่ คสช.
ยังครองเมืองต่อไปเต็มๆ ทั้งอำนาจและเงิน
โดยไม่มีวี่แววว่าจะเพลามือหรือปูทางเพื่อการปกครองอย่างประชาธิปไตยผ่านการเลือกตั้ง
รวมทั้งคายคืนเสรีภาพในการแสดงความคิดเห็นต่าง และกำหนดวิถีชีวิตตนเองของประชาชน
ทั้งที่ตลอดกว่าสามปีที่ผ่านมา
ประชาชนประสพภาวะข้าวยากหมากแพงเพิ่มขึ้นเรื่อยๆ ปีหน้าก็ยังจะเป็นปีที่รัฐบาลจัดสรรงบประมาณจับจ่ายไว้มากถึง
๒.๙ ล้านล้านบาท อ้างว่าเพื่อกระตุ้นเศรษฐกิจให้ฟื้นตัวจนได้
โดยเฉพาะกระทรวงศึกษาฯ ที่ได้รับงบประมาณในปี
๖๑ มากที่สุด ๕ แสนกว่าล้าน นัยว่าเพื่อการพัฒนาประชาชน ๔.๐
สร้างทักษะรองรับเศรษฐกิจดิจิทัล เสริมส่งธุรกิจสต๊าร์ทอัพ
แต่ทุกวันนี้ยังมีนักศึกษาถูกดำเนินคดีจากการแสดงความคิดเห็นโต้แย้งคณะรัฐประหาร
และนักเรียนทหารเสียชีวิตจากการ ‘ซ่อม’
ลำดับรองลงมาเป็นงบกลาง จำนวนเกือบ ๔
แสนล้าน อันเป็นประหนึ่งถุงเงินข้างกายที่รัฐบาลสามารถควักจับจ่ายได้โดยง่าย ตามด้วยอันดับสาม
งบฯ กลาโหม เกือบ ๓ แสน ๕ หมื่น ๖ พันล้าน เป็นอีกถุงเงินที่คณะทหารแจกจ่ายกันใช้เปรมปรีย์
เมื่อดูอัตราการเพิ่มขึ้นของงบประมาณที่ให้กับกระทรวงต่างๆ
ซึ่ง ‘ไทยพับลิก้า’ ทำเป็นกร๊าฟฟิคไว้
พบว่ามหาดไทยได้เพิ่มมากที่สุด กว่า ๒ หมื่นล้าน ตามด้วยคลังใกล้เคียงกัน ๒
หมื่นกว่าล้าน ที่สามเป็นคมนาคม ๑ หมื่น ๕ พันกว่าล้าน รัฐวิสาหกิจมาอันดับสี่ ๑
หมื่น ๒ พันกว่าล้าน แล้วจึงถึงกลาโหมเกือบ ๘ พัน ๙ ร้อยล้าน
มหาดไทยที่ตัวเอ้คณะยึดอำนาจ (สอง ป.) กำอยู่นั้นได้รับทั้งงบฯ
และงานไปมากมายตลอดสามปีที่ผ่านมา แต่ไม่ได้เห็น ‘ผล’ อะไรเป็นชิ้นอัน ส่วนกลาโหมได้ติดหนึ่งในห้า เพราะอะไรไม่ต้องพูดถึงแล้วมั้ง
ใครๆ รู้กันทั่ว รถถัง เรือดำน้ำ จรวด ฯลฯ ของเล่นวันเด็กทั้งนั้น
คมนาคมก็ได้เพิ่มไม่น้อย
เอาไว้จ่ายจีนเข้ามาสร้างรถไฟไล่ฝุ่นลูกรัง ขณะที่รัฐวิสาหกิจได้เพิ่มสำหรับใช้อุ้มการบินไทยซึ่งขาดทุนย่อยยับ
เพราะพนักงานบริการบนเครื่องคอยคิดแต่จะทำกาแฟหกใส่คนนั้นคนนี้ที่เธอเกลียด
ขณะที่กระทรวงคลังได้รับงบฯ เพิ่มไว้ใช้หนี้
แต่ว่าก่อนปิดงบฯ ปี้นี้ “กู้มากอง” ให้จำนวนเงินคงคลัง ‘ดูดี’ ถึง ๕.๒ แสนล้านบาท
แล้วยังเตรียมการหาเงินด้วยวิธีขอดเกล็ด ถอนขน แยบยล ภาษีบาป ภาษีผัก และภาษีเพลง
กรณีหลังนี่มีคนเม้าท์กันแซดบนไซเบอร์ว่า
สรรพสามิตเตรียมไล่เก็บภาษีสวนอาหารและผับ ในอัตรา ๑๐ เปอร์เซ็นต์
อันจะทำให้พนักงานและผู้ประกอบการในแวดวงบันเทิงได้ ‘ตกงาน’ กันระบม
เรื่องนี้ไม่ค่อยกระโตกกระตาก
ตั้งแต่เมื่อกลางเดือนตุลามาแล้ว อธิบดีสรรพสามิตประกาศว่าที่ผ่านมา ภีสถานบริการได้ไม่เต็มเม็ดเต็มหน่วยแค่ระดับร้อยล้าน
ปีหน้าจึงต้อง ‘เข้มงวด’
จัดการเก็บภาษีให้ได้มากขึ้น
เช่น อัตราภาษีสถานบริการเต้นรำและกินดื่ม
ประเภทไนต์คลับ ดิสโกเธค ผับและบาร์ ๑๐% นั้น “ในธุรกิจสวนอาหาร
หรือ ผับบางแห่ง อ้างว่าไม่เข้าข่ายต้องเสียภาษีเพราะไม่มีฟลอร์เต้นรำตามที่กฎหมายระบุไว้”
ปีหน้าอ้างไม่ได้แล้ว เพราะมีตัวอย่างศาลตัดสินให้ ‘ซานติก้าผับ’ ต้องจ่ายภาษีสรรพสามิตแล้ว ทั้งที่อ้างได้ว่าไม่มีฟลอร์เต้นรำ
เช่นเดียวกับร้านสะดวกซื้อที่ขายเบียร์สดกันโดยไม่ต้องจ่ายภาษีสรรพสามิต
ขณะที่โรงเบียร์สด หรือ craft beers ซึ่งเป็นกิจการสต๊าร์ทอัพอย่างหนึ่งกลับต้องขอรับใบอนุญาตและเสียภาษีสรรพสามิต
ปีหน้าจะไม่สะดวกกันเหมือนเดิมแล้ว
เห็นเขาแชร์โพสต์ของ Tuaytep David Wibunsin กันว่า
การเก็บภาษีสรรพสามิตร้านอาหาร ร้านนวด และสปานั้น เก็บ ๑๐ เปอร์เซ็นต์ของรายได้ ‘ก่อนหักค่าใช้จ่าย’ เพิ่มเติมจากสารพัดภาษีที่มีอยู่...
ดีใจจนน้ำตาไหลครับ
ร้านอาหารที่มีดนตรีจะต้องเลิกกิจการกี่แห่ง...หรือไม่ก็นักดนตรีทั่วประเทศจะตกงานอีกเท่าไร
หมอนวดแผนไทยอีกเท่าไร”
เพจ พงศกร รอดชมภู เลยได้จังหวะเสริม “บรรยากาศประเทศไทย
สวรรค์นักท่องเที่ยว ปิดฉากลงอย่างถาวรนับแต่นี้ไป...พังแล้ว พังเลย
ไม่มีกลับมาอีกแล้ว”
ปีที่สี่ของ คสช. ‘ชาวบ้านชาวเมือง’ ที่บางส่วนเคยลอยชายเพราะกวักมือเรียกคณะทหารให้มายึดอำนาจ
ทำท่าจะไม่สบายอีกต่อไปนักแล้ว หลังจากที่ ‘ชาวไร่ชาวนา’ โดนหนักใกล้จะกระอักเลือดกันมากว่าสามปี
ดูเหมือน คสช.
จะพุ่งความใส่ใจไปให้ชาวไร่ชาวนามาก
คงอยากได้ฐานเสียงของรัฐบาลเก่าเอามาไว้รองรับการอยู่ยาวอีกสี่ซ้าห้าปี (ตามโพล ‘ไทยคู่ฟ้า’ ไง)
เมื่อวันก่อน รมว. เกษตรฯ
คนใหม่พาทีมไปเซ่นไหว้สิ่งศักดิ์สิทธิ์ประจำกระทรวงก่อนประเดิมเริ่มงาน
คงได้สัญญานจากผีบ้านผีเมือง เสร็จพิธีประกาศก้องจะแก้ปัญหาราคาพืชผลตกต่ำให้ได้ภายในสามเดือน
“โดยเฉพาะเรื่องยางพารา
และข้าว โดยจะดูแลไม่ให้ราคาต่ำกว่าต้นทุน”
ฝ่ายทั่นช่วยเกษตรฯ รมช. ก็คุยคำโต “เตรียมประกาศแพ็คแก็ตใหญ่
ออกมาช่วยหนี้เกษตรกร” นายลักษณ์ วจนานวัช ออกไอเดียบรรเจิด
นำพระราชวิเทโสบายรัชกาลที่ ๙ (บางคนเขาเรียกอภิปรัชญา
-metaphysics เทียบเท่าศาสนาด้วยแน่ะ) วิธีการ ‘แก้มลิง’ แก้ปัญหาน้ำมาใช้กับผลิตผลทางการเกษตร
“เป็นแก้มลิงพืชผลการเกษตรได้
ให้มีที่เก็บเพราะออกสู่ตลาดมากไป ทำให้ราคาต่ำ และค่อย ๆ
ปล่อยออกมาตามความต้องการแท้จริงของตลาด”
โอว วิเศษจัง แต่ขอถามนิด
ไอ้ผลิตผลทางการเกษตรเนี่ยมันเป็น perishable เน่าเสียและเสื่อมสภาพตามกำหนดเวลาระยะสั้นมิใช่เหรอ
แม้วิทยาศาสตร์ยุคใหม่สามารถจัดเก็บไว้ได้นานพอควร แต่ไม่น่าจะนานพอสำหรับกำหนดราคาได้หรอกนะทั่น
ที่เขาว่ากัน ยุคหนึ่งดีแต่พูด ยุคนี้ ‘ดีแต่พล่าม’ ตามผู้ณรรมไหมล่ะ