คดีฆาตกรรมที่เกาะเต่าเมื่อเกือบสองปีที่แล้ว
กลับมาเป็นประเด็นให้นานาชาติวิพากษ์วิจารณ์วิธีพิจารณาคดีของศาลไทยต่อสองผู้ต้องหาหนุ่มแรงงานพม่า
เมื่อปรากฏบทความบนเว็บการยุติธรรม ซึ่งเขียนโดย แนด เบิร์กแมน หนึ่งในทีมทนายของผู้ต้องคำพิพากษา
ให้รายละเอียดข้อต่อสู้ในคำอุทธรณ์
ชี้ให้เห็นว่าหากกระบวนการพิจารณาคดีกระทำอย่างถูกต้องตามระเบียบวิธีแล้วละก็
คดีนี้ไม่น่าที่จะมีการประทับรับฟ้องด้วยซ้ำไป
“รอยแผลลึกภายในช่องอวัยวะเพศของเหยื่อฆาตกรรม
ตามผลการชันสูตรของผู้เชี่ยวชาญจากอังกฤษถูกระบุว่า เกิดจากมีดกรีดในการชันสูตรศพของเจ้าหน้าที่ไทย
ไม่ใช่เป็นผลของการข่มเหงทำร้ายทางเพศ” ดังที่ศาลไทยวินิจฉัยแต่อย่างใดไม่
การพิจารณาคดีฆาตกรรม น.ส.แฮนนาห์
วิทเตอริดจ์ และนายเดวิด มิลเลอร์ สองหนุ่มสาวนักท่องเที่ยวชาวอังกฤษ ที่เกาะเต่า
จังหวัดสุราษฎร์ธานี
เมื่อปีที่แล้วเป็นที่วิจารณ์และจับตาโดยสื่อมวลชลตะวันตกอย่างหนักเมื่อปีที่แล้ว
ในขณะที่สื่อมวลชนไทยส่วนใหญ่พากันนิ่งเฉยสงบเสงี่ยม
แม้ว่าทางการอังกฤษส่งคณะผู้เชี่ยวชาญมาสังเกตการณ์และตรวจสอบพยานหลักฐานต่างๆ
หากแต่ศาลไทยไม่ได้รับเอาการข้อมูลของอังกฤษมาใช้
รับฟังแต่หลักฐานข้อมูลของเจ้าหน้าที่ไทยที่ปรักปรำสองแรงงานชาวพม่าวัย ๒๒ ปี
ทั้งที่ในตอนท้ายของการพิจารณาคดี ผู้ต้องหากลับคำให้การ
อ้างว่าที่รับสารภาพไปก่อนหน้านั้นเพราะถูกเจ้าหน้าที่ไทยบังคับทรมาน
ดังรายละเอียดคำอุทธรณ์ ๑๙๘ หน้าตอนหนึ่งชี้ว่า
“สองผู้ต้องหาให้การว่าถูกจับแก้ผ้าระหว่างการสอบสวน และถูกใช้กำลังทำร้าย รวมทั้ง
และไม่จำเพาะแต่การต่อย ทรมานตรงอวัยวะเพศ ถูกเตะและเอาถุงคลุมหัว
รอยแผลและฟกช้ำปรากฏชัดและยืนยันโดยนายแพทย์ไม่ต่ำกว่าสามคน”
“ระหว่างการสอบสวน ทางการตำรวจไทยจัดล่ามที่ตั้งคำถามต่อผู้ต้องหาอย่างข่มขู่
(มีรายงานข่าวก่อนหน้านี้ว่าล่ามปกติประจำศาลถูกผู้มีอิทธิพลท้องที่ก่อกวนก้าวร้าว)
ล่ามคนดังกล่าวไม่สามารถอ่านภาษาเขียนไทยได้ด้วยซ้ำ” ข้อสำคัญ “ผู้ต้องหาไม่ได้รับการแจ้งข้อหาและสิทธิของพวกเขาในการสู้คดี
ตามระเบียบวิธีพิจารณาความในกฎหมายไทยเองด้วย”
ข้ออุทธรณ์อันหนึ่งซึ่งทนายของสองหม่องยกมาต่อสู้ครั้งนี้ตั้งข้อสงสัยว่า
“ทำไมผู้ต้องหาถูกจับกุมในคดีที่ไม่ได้เกี่ยวกับการฆาตกรรมนี้
แล้วกลับถูกตั้งข้อหาว่าฆ่าคนตายโดยไม่มีทนายเคียงข้างคอยรับทราบและแก้ต่าง
แล้วทางการยังนำคำให้การมาใช้เป็นหลักฐานในการฟ้องผู้ต้องหาทั้งสองอีก
เช่นนี้จัดว่าปฏิบัติผิดระเบียบวิธีการพิจารณาคดีในกฎหหมายไทยเอง
ที่ใช้เป็นข้ออ้างให้ยกฟ้องคดีได้”
ส่วนที่เกี่ยวกับดีเอ็นเอของสองผู้ต้องคำพิพากษาประหารชีวิตโดยศาลจังหวัดเกาะสมุย
ที่อ้างว่าพบตรงกันกับดีเอ็นเอในช่องอวัยวะเพศเหยื่อเพศหญิงที่ตาย
แต่ไม่พบเลยบนอาวุธจอบของกลางที่ใช้สังหารสองนักท่องเที่ยว โดยเฉพาะใบหน้าฝ่ายหญิงเป็นแผลเหวอะนั้น
วิธีการเก็บดีเอ็นเอจากสองผู้ต้องหา
ไม่ได้ผ่านการยินยอมของเจ้าตัว ไม่มีทนายรับรู้
ตำรวจอ้างต่อศาลว่าได้ส่งดีเอ็นเอไปอ่านผลที่สิงคโปร์ แต่ความจริงเป็นการอ่านผลเองโดยเจ้าหน้าที่ไทย
ซึ่งใช้วิธีการจัดเก็บดีเอ็นเอไม่ต้องตามระเบียบสากล
รายงานผลชันสูตรศพมีเพียงสี่หน้าซึ่งเป็นการแสดงความเห็นของแพทย์
ไม่ใช่การอ่านผลโดยมีตัวเลขและภาพถ่ายทางวิทยาศาสตร์แต่อย่างใด
ซ้ำร้ายแฟ้มรายงานผลดีเอ็นเอของผู้ต้องหาทั้งสองระบุชือของแต่ละคนไว้ล่วงหน้า
อันเป็นวิธีการผิดระเบียบอย่างยิ่ง ผลการตรวจดีเอ็นเอต้องระบุแต่ตัวเลขประจำแฟ้มไม่ให้รู้ว่าเป็นของใครเพื่อป้องกันการบิดเบือน
เกี่ยวกับข้อหาอันนำไปสู่การพิพากษาประหารชีวิตแรงงานพม่าทั้งสอง
ที่ว่าได้เห็นแฮนนาห์และเดวิดร่วมเพศกันอยู่ที่ชายหาดแล้วเกิดอารมณ์ใคร่
จึงเข้าไปข่มขืนแฮนนาห์ เมื่อเธอขัดขืนจึงใช้จอบทำร้ายเสียชีวิต รวมทั้งเดวิดที่เข้าช่วยคนรักนั้น
หนังสืออุทธรณ์แย้งว่า “ไม่มีหลักฐานใดๆ
เลยที่สนับสนุนว่าแฮนนาห์ถูกข่มขืน” ดีเอ็นเอที่พบภายในช่องเพศของเธอไม่ใช่ของผู้ต้องหาทั้งสอง
แต่สำนวนฟ้องก็ไม่ได้ระบุว่าเป็นของใคร รวมทั้งหลักฐานอีกหลายอย่างทีจะช่วยพิสูจน์ความบริสุทธิ์ของสองหม่อง
ทางการไทยฝ่ายโจทก์บกพร่อง (หรือละเลย) ที่จะนำเสนอ
รวมทั้งรอยมือบนโทรศัพท์ของผู้ตายที่ไม่ใช่ของสองผู้ต้องหา
อย่างเช่นภาพจากกล้องโทรทัศน์ซีซีทีวีที่ท่าเรือขณะเรือแล่นออกจากท่า
ซึ่งคำฟ้องอ้างว่าผู้ต้องหาหนีขึ้นเรือทันทีหลังจากฆาตกรรมสองหนุ่มสาวอังกฤษ
ซึ่งในคลิปดูไม่รู้ว่ามีผู้ต้องหาอยู่หรือไม่ ศาลก็ไม่ได้ใช้ประกอบการพิจารณา
รวมทั้งประเด็นเส้นผมสีบลอนด์ในมือของผู้ตาย
ที่ปรากฏอยู่ในสำนวนสอบสวนเบื้องต้นถูกตัดออกไป ศาลไม่ได้สั่งให้มีการพิสูจน์หรือสืบค้นว่าเป็นของใคร
ทำให้ดูเหมือนว่าหลักฐานใดๆ ที่จะทำให้ผู้ต้องหาทั้งสองหลุดพ้นความผิด beyond
reasonable doubt หรือนอกเหนือข้อกังขาอันสมเหตุผลใดๆ กลับไม่ได้ถูกบรรจุไว้ในการพิจารณาคดีนี้
จนทำให้การพิพากษาประหารบุคคลทั้งสองเป็นที่ตั้งข้อสงสัยในประสิทธิภาพของระบบยุติธรรมไทยโดยหน่วยงานสิทธิมนุษยชนนานาชาติเป็นอย่างยิ่ง
โดยเฉพาะข้อครหาเกี่ยวกับน้องชายของผู้ทรงอิทธิพลท้องถิ่นซึ่งปรากฏชื่อในข่าวว่า ‘Mon’
ถูกควบคุมตัวหลังตำรวจทราบเหตุในฐานผู้ต้องสงสัย แล้วได้รับการปล่อยตัวไปโดยในคดีไม่มีการเอ่ยถึงอีกเลย