ที่มา มติชนออนไลน์
วันที่ 16 เมษายน พ.ศ. 2558วันที่ 16 เม.ย. รศ.ดร.พวงทอง ภวัครพันธุ์ อาจารย์ประจำคณะรัฐศาสตร์ ภาควิชาความสัมพันธ์ระหว่างประเทศ จุฬาลงกรณ์มหาวิทยาลัย ได้แสดงความคิดเห็นถึงกรณีที่สหรัฐฯ แต่งตั้งนายกลิน ทาวน์เซนด์ เดวีส์ นักการทูตอาชีพ และอดีตผู้แทนพิเศษด้านนโยบายเกาหลีเหนือ ระหว่างปี 2555-2557 มาดำรงตำแหน่งเอกอัครราชทูตสหรัฐประจำประเทศไทย ผ่านทางเฟซบุ๊กส่วนตัว โดยระบุว่า
กรณีสหรัฐอเมริกาส่งนายกลิน เดวีส์ (Glyn Davies) นักการทูตที่มีประสบการณ์รับมือกับปัญหายากๆ แบบเกาหลีเหนือ มาประจำประเทศไทย ชี้ว่าสหรัฐฯให้ความสำคัญกับไทยอย่างแน่นอน แต่ไม่ได้หมายความว่าเขากำลังจะหันมาเอาใจรัฐบาลทหารของไทยสักนิด
นายเดวี่ส์ เป็นนักการทูตที่มีประสบการณ์การทำงานในปัญหาด้านความมั่นคงที่สหรัฐฯ ให้ความสำคัญสูง เช่น ปัญหาการสะสมอาวุธนิวเคลียร์ โดยเขาเคยเป็นผู้แทนพิเศษ (ฐานะเท่าเอกอัคราชทูต) ประจำสำนักงานพลังงานปรมาณูระหว่างประเทศ International Atomic Energy Agency (IAEA) จึงทำให้เขาต้องเข้าไปยุ่งเกี่ยวกับปัญหานิวเคลียร์ของอิหร่าน และต่อมาได้เป็น “ผู้แทนพิเศษของรัฐมนตรีต่างประเทศว่าด้วยนโยบายเกาหลีเหนือ” ซึ่งพยายามคิดค้นอาวุธนิวเคลียร์เช่นกัน
(หมายเหตุ: เขาไม่ได้มีตำแหน่งทูตประจำเกาหลีเหนือ เพราะสหรัฐฯ ไม่มีความสัมพันธ์ทางการทูตอย่างเป็นทางการกับเกาหลีเหนือ จึงไม่มีทูตประจำ)
เป็นที่รู้กันว่าทั้งอิหร่านและเกาหลีเหนือเป็นเสมือนกระดูกชิ้นใหญ่ที่เคี้ยวยากสำหรับสหรัฐฯเป็นภัยคุกคามต่อนโยบายความมั่นคงของสหรัฐเสมอมาและมีปัญหาประชาธิปไตย ฉะนั้น จึงกล่าวได้ว่านายเดวีส์ เป็นนักการทูตที่ได้รับมอบหมายให้ทำงานเรื่องสำคัญสำหรับสหรัฐฯ มีประสบการณ์ทำงานกับประเทศยากๆ มาแล้ว การที่สหรัฐฯ ส่งนายเดวีส์มาไทยจึงชี้ว่าสหรัฐฯ ให้ความสำคัญกับไทยไม่น้อย แต่ก็ต้องไม่หลงละเมอเพ้อพกไปว่า ไทยสำคัญอยู่ประเทศเดียว หรือสำคัญที่สุดในภูมิภาคเอเชียตะวันออกเฉียงใต้ จนทำให้สหรัฐฯกำลังจะโอนอ่อนผ่อนตามรัฐบาลทหารไทย เพราะกลัวอิทธิพลจีน
แน่นอนว่าสหรัฐฯ ย่อมไม่สบายใจที่เห็นรัฐบาล คสช. พยายามเล่นไพ่จีน (และรัสเซีย ซึ่งกำลังประสบปัญหาเศรษฐกิจอย่างหนัก) เพื่อตอบโต้ที่สหรัฐฯ กดดันเรียกร้องให้ไทยเคารพในหลักการประชาธิปไตยและสิทธิมนุษยชน แต่ไม่ได้หมายความว่า ความกังวลนี้จะทำให้สหรัฐฯ ละทิ้งแนวนโยบายของตนจากหน้ามือเป็นหลังมืออย่างทันทีทันใด เพราะอะไร
หนึ่ง ในแง่เศรษฐกิจ นับแต่สงครามเย็นยุติลง ใครๆ ก็มองว่าประเทศไทยจะกลายเป็นศูนย์กลางความร่วมมือทางเศรษฐกิจของอาเซียน ซึ่งอาเซียนมีศักยภาพในการเติบโตสูงมากจนกลายเป็นสาวเนื้อหอมสำหรับนักลงทุนจากทั่วทุกภูมิภาค ความมั่นคงทางการเมืองของไทยจึงสำคัญต่อกระเป๋าเงินของทั้งภูมิภาคและนักลงทุนทั่วโลก
แต่ความขัดแย้งทางการเมืองที่ผ่านมาจนเกือบจะครบทศวรรษและยังไม่มีท่าทีจะยุติลงในระยะเวลาอันใกล้แถมประชาธิปไตยและสิทธิมนุษยชนกลับถดถอยลงนับแต่การรัฐประหารโดย คสช. ทำให้นักลงทุนทั้งหลายเริ่มเห็นว่าการฝากความหวังให้ไทยเป็นศูนย์กลางเศรษฐกิจของภูมิภาค โดยไม่มองหาช่องทางอื่นบ้าง คงไม่ปลอดภัยสำหรับพวกเขาแน่ ฉะนั้น นับแต่ปีที่ผ่านมา เราเริ่มเห็นบรรรษัทใหญ่ๆ เริ่มย้ายฐานการลงทุนอุตสาหกรรมไปยังประเทศเพื่อนบ้านมากขึ้นๆ
สอง ในแง่เศรษฐกิจ สหรัฐฯ สำคัญกับไทยมากกว่าที่ไทยสำคัญต่อสหรัฐฯ สหรัฐฯ เป็นหนึ่งในสามตลาดที่ใหญ่ที่สุดของสินค้าไทย แค่สหรัฐฯ และอียูประกาศลดระดับสถานะประเทศที่ป้องกันการค้ามนุษย์ของไทย จากระดับ 2 ไปเป็นระดับ 3 ก็ทำให้เจ้าหน้าที่ไทยเต้นเป็นจ้าวเข้าได้
ไม่มีใครรับประกันได้ว่าหากปีหน้า ประเทศไทยยังไม่มีเลือกตั้งเสียที เราจะเจอกับมาตรการลงโทษทางเศรษฐกิจจากสหรัฐฯด้วยหรือไม่ เพราะขณะนี้ทั่วโลกรู้ดีว่าเศรษฐกิจไทยกำลังวิกฤติ และเชื่อว่าจะส่งผลต่อเสถียรภาพของรัฐบาลทหาร ซึ่งที่ผ่านมา ผู้เชี่ยวชาญอเมริกัน เช่น Joshua Kurlantzick ก็ได้เสนอให้สหรัฐฯ เพิ่มมาตรการกดดันทางเศรษฐกิจต่อรัฐบาลทหารไทย เพราะเชื่อว่าจะทำให้แรงกดดันในประเทศเพิ่มสูงขึ้นแน่นอน
สาม ในแง่การทหาร ไทยกับสหรัฐฯ มีความสัมพันธ์แนบแน่นมาตั้งแต่ยุคจอมพลสฤษดิ์ ในปัจจุบันก็ยังมีข้อตกลงความร่วมมือด้านการทหารหลายฉบับ หนึ่งในข้อตกลงที่สำคัญคือ คอบร้าโกลด์ อันเป็นการฝึกร่วมทางทหารที่ใหญ่ที่สุดในเอเชีย-แปซิฟิค โดยไทยเป็นฐานสำหรับการฝึกซ้อมร่วม แต่พอรัฐประหารปุ๊บ สหรัฐฯก็ประกาศ “ลดระดับ” การฝึกซ้อมกับไทย ให้เหลือแค่การช่วยเหลือด้านมนุษยธรรมและภัยธรรมชาติ และยังส่งสัญญาณว่าอาจพิจารณาย้ายที่ฝึกซ้อมร่วมไปออสเตรเลียแทน
นอกจากนี้ สหรัฐมองว่าการแอบอิงจีนไม่สามารถตอบสนองความต้องการด้านอาวุธของกองทัพไทยได้อย่างน่าพึงพอใจ เพราะเทคโนโลยี่ด้านอาวุธของสหรัฐฯ นั้น มีเหนือกว่าจีนมาก แง่นี้แปลว่า เราต้องการสหรัฐฯ มากกว่าที่สหรัฐฯ ต้องการเรา
อันที่จริงในแง่การทหาร นับแต่สงครามเย็นยุติลง บทบาทของสิงคโปร์ด้านความร่วมมือด้านการทหาร ได้โดดเด่นขึ้นมาแทนที่ฟิลิปปินส์ นับแต่ปี 1992 สิงคโปร์เปิดและพัฒนาฐานทัพของตน เป็นฐานโลจิสติคส์ให้กับกองเรือรบที่ 7 (หน่วยรบนอกประเทศที่ใหญ่ที่สุดของสหรัฐฯ ทำงานประสานกับฐานทัพทหารสหรัฐฯในญี่ปุ่นและเกาหลีใต้) และกองทัพอากาศของสหรัฐฯ
นอกจากนี้ ยังมีแนวโน้มว่าฟิลิปปินส์อาจเปิดฐานทัพของสหรัฐฯ อีกครั้งหนึ่ง เพื่อคานอำนาจทางทหารกับจีน อันเนื่องมาจากข้อพิพาทเขตแดนในทะเลจีนใต้
สี่ นับแต่สงครามเย็นยุติลง ภัยคอมมิวนิสต์ยุติลง สหรัฐฯและยุโรปเริ่มใช้มาตรการสิทธิมนุษยชนและประชาธิปไตย มาดำเนินความสัมพันธ์กับพันธมิตรทั้งเก่าและใหม่ของตนมากขึ้น เพื่อสถาปนาภาพลักษณ์ของผู้นำเสรีนิยม แต่ทั้งนี้ ไม่ได้หมายความว่าสหรัฐฯ จะต้องใช้หลักการนี้อย่างเท่าเทียมกับทุกประเทศ มันขึ้นกับการประเมินว่าแนวทางไหนกับประเทศใดที่จะทำให้เขาได้ประโยชน์สูงสุด ในกรณีของไทย ปัจจุบันยังไม่มีภัยคุกคามที่น่ากลัวจนทำให้สหรัฐฯต้องละทิ้งหลักการปชต.แล้วหันมาจูบปากกับรัฐบาลทหาร แบบที่เคยเกิดขึ้นในยุคคอมมิวนิสต์มาแล้ว
ห้า ความขัดแย้งทางการเมืองที่ยืดเยื้อนับแต่รัฐประหารปี 2549 ดูเหมือนจะทำให้ผู้นำสหรัฐฯ เริ่มเปลี่ยนทัศนคติที่เคยมีต่อชนชั้นนำ-กลุ่มอำนาจเก่าของไทยอย่างมีนัยสำคัญ
ในอดีต ความร่วมมือระหว่างไทยกับสหรัฐฯ กระทำผ่านกลุ่มชนชั้นอนุรักษ์นิยมเป็นหลัก เพราะมีจุดยืนต่อต้านคอมมิวนิสต์ร่วมกัน และสหรัฐฯมองว่ากลุ่มนี้คือ ผู้กุมอำนาจและกำหนดทิศทางการเมืองไทยเป็นหลัก ทำให้การเมืองมีเสถียรภาพได้อย่างน่าพอใจ แม้จะมีรัฐประหารบ่อย แต่เสถียรภาพทางการเมืองก็ไม่ได้ถูกสั่นคลอนจริงๆ การร่วมมือกับคนชนช้ำนำอนุรักษ์นิยม ไม่เพียงตอบสนองผลประโยชน์ของสหรัฐฯอย่างราบรื่น แต่ยังรับได้ในเชิงหลักการด้วย (หลักการต่อต้านคอมฯ)
แต่ปัจจุบัน สหรัฐฯ เริ่มตระหนักว่ากลุ่มอำนาจเก่าของไทยคือ หนึ่งในสาเหตุของปัญหาที่ยืดเยื้อ นั่นคือ การปฏิเสธไม่ยอมรับกติกาการเมืองประชาธิปไตย ไม่เคารพเสียงส่วนใหญ่ของประเทศ เหยียบย่ำหลักการหนึ่งสิทธิหนึ่งเสียงของประชาชน เอาชนะฝ่ายทักษิณไม่ได้ ก็หันใช้ตุลาการภิวัตน์ ก่อม๊อบปิดหน่วยราชการเพื่อสร้างภาวะ failed state ไปจนถึงทำรัฐประหาร แม้จนกำลังจะกลายเป็นคนป่วยแห่งเอเชีย ก็ยังไม่มีท่าทีว่ากลุ่มอำนาจเก่าจะยอมปรับเปลี่ยนหรือเรียนรู้ข้อผิดพลาดของตนแต่ประการใด ยังคงเดินหน้าใช้อำนาจกดปราบประชาชน ช่วยกัน เขียนรธน. เพื่อใช้เป็นเครื่องมือกดเสียงส่วนใหญ่ของประเทศต่อไป โดยไม่ไยดีต่อความคับแค้นของประชาชนเสียงข้างมากของประเทศที่รอวันเอาคืนแต่ประการใดในช่วงหลายปีที่ผ่านมาจากที่ได้เคยพูดคุยกับนักการทูตจากตะวันตกหลายประเทศดิฉันพบว่านี่คือมุมมองหลักที่พวกเขามีในปัจจุบัน
นอกจากนี้ สื่อมวลชนใหญ่ๆ ของโลกยังมีผลต่อมุมมองของรัฐบาลในประเด็นปัญหาสำคัญๆ ด้วย หากเรากลับไปอ่านสื่อใหญ่ๆ เช่น New York Times, BBC, the Economist, Wall Street Journal, CNN ฯลฯ เราจะพบข้อเขียนที่วิพากษ์กลุ่มอำนาจเก่าของไทยอย่างเข้มข้นมากขึ้นเรื่อยๆ
ฝ่ายอนุรักษ์นิยมมักปลอบใจตัวเองว่าสื่อพวกนี้ถูกทักษิณซื้อไปแล้วแต่ข้อเท็จจริงคือสื่อเหล่านี้รังเกียจทักษิณอย่างยิ่งเช่นกัน เขาอาจพูดถึงข้อดีของนโยบายต่างๆ ของทักษิณต่อคนจนและคนชนบท แต่เขามักบรรยายคุณสมบัติของทักษิณว่าเป็นพวกอำนาจนิยม คอรัปชั่นเชิงนโยบาย สงครามต่อต้านยาเสพติดทำให้คนบริสุทธิ์ตายจำนวนมาก ฯลฯ
หก เวลาสหรัฐฯ ต้องดีลกับประเทศยากๆ สหรัฐฯ ไม่ใช้วิธีโอ๋เอาใจ แต่จะใช้ทั้งไม้นวมและไม้แข็ง โดยอีกฝ่ายมักต้องแสดงท่าทียอมอ่อนให้ก่อน สหรัฐฯ จึงจะใช้ไม้นวมตาม เช่น กรณีเกาหลีเหนือ ยื่นเงื่อนไขการเจรจาว่าเกาหลีเหนือจะยกเลิกการวิจัยนิวเคลียร์เพื่อแลกกับการที่สหรัฐฯและโลกตะวันตกยกเลิกการคว่ำบาตรทางการทูตและเศรษฐกิจและให้ความช่วยเหลือด้านเศรษฐกิจแก่เกาหลีเหนือแต่เมื่อเกาหลีเหนือปฏิเสธไม่ให้ผู้แทนภายนอกเข้าไปตรวจสอบการดำเนินการของตนตามการเงื่อนไขของสหรัฐฯ สหรัฐฯ ก็พร้อมจะยุติการเจรจาเช่นกัน
นอกจากนี้ เมื่อปีที่แล้ว เกาหลีเหนือยังเจรจาทำนองขู่ว่าตนจะยินดียกเลิกการทดลองนิวเคลียร์ หากสหรัฐฯกับเกาหลีใต้ยกเลิกการฝึกซ้อมทางทหารร่วมกัน สหรัฐฯ บอกไม่สน เดินหน้าซ้อมรบกับเกาหลีใต้ต่อไป
สุดท้าย สิ่งที่สหรัฐฯ กังวลเกี่ยวกับไทยก็คือ คนป่วยคนนี้ยังมองหาสาเหตุความเจ็บป่วยของตนเองไม่เจอ แถมยังงมงายอยู่กับแนวทางเผด็จการปนไสยศาสตร์พ่อมดหมอผี หากเป็นที่แน่ชัดว่า ไทยจะไม่มีการเลือกตั้งภายในต้นปีหน้า มีการละเมิดสิทธิของประชาชนด้วยมาตรา 44 อย่างกว้างขวางมากขึ้น ก็อย่าหวังเลยว่าสหรัฐฯ ภายใต้นายเดวีส์ จะหันมาฮันนีมูนกับไทย การกดดันเป็นเครื่องมือเพื่อเข้าถึงจุดหมายที่สหรัฐฯใช้มากกว่าการโอ้โลมปฏิโลม
คนจำนวนไม่น้อยในประเทศนี้ยังหวังลมๆแล้งๆ ว่าที่ผ่านมาประเทศไทยเจอปัญหามามากมาย ก็เอาตัวรอดมาได้ด้วยดี พระสยามเทวาธิราชจะยังช่วยเราต่อไปแน่ๆ ยังไงเราก็เอาตัวรอด ทะยานกลับมายิ่งใหญ่ได้อีกเหมือนเดิม แต่คนที่เขามองมาจากข้างนอก เขาเชื่อว่า “โชค” ที่ว่านั้น หมดไปนานแล้ว