วันอาทิตย์, เมษายน 05, 2558

"หม่อมอุ๋ย" คาดส่งออกไตรมาสเเรก อาจติดลบ 3% ส่งผลจีดีพีไตรมาสแรก ติดลบ1.6% + ส่งออก หดตัว สัญญาณอันตราย จุดตาย เศรษฐกิจ



ที่มา ประชาชาติธุรกิจ
03 เม.ย 2558

ม.ร.ว.ปรีดิยาธร เทวกุล รองนายกรัฐมนตรีด้านเศรษฐกิจ กล่าวในงานสัมมนา SCB Investment Symposium 2015 ว่า การที่รัฐบาลใช้มาตรา 44 น่าจะดีกว่ากฎอัยการศึก และทำให้การท่องเที่ยวของไทยค่อย ๆ ปรับตัวดีขึ้น

โดยเฉพาะนักท่องเที่ยวยุโรปและสหรัฐ และน่าจะช่วยทดแทนการส่งออกที่ติดลบได้บ้าง ซึ่งปีนี้คาดว่าส่งออกไทยไม่ขยายตัว หรือโตแค่ 0% ซึ่งเป็นผลกระทบจากภาวะเศรษฐกิจโลกชะลอตัว โดย 2 เดือนแรก (ม.ค.-ก.พ.) ส่งออกติดลบ 3% และติดลบ 6% ตามลำดับ หากเดือนมีนาคมไม่เติบโต ก็จะทำให้ไตรมาสแรกการส่งออกอาจติดลบ 3% ซึ่งกระทบต่อเศรษฐกิจ (จีดีพี) ไตรมาสแรกติดลบ 1.6%

ม.ร.ว.ปรีดิยาธรกล่าวว่า สิ่งที่รัฐบาลทำได้คือเร่งการเบิกจ่ายภาครัฐ โดยเฉพาะการจ่ายเงินเข้าสู่ระบบเศรษฐกิจโดยเฉพาะต่างจังหวัดมากขึ้น และช่วยกระตุ้นการบริโภค ซึ่งในช่วง 2 เดือนที่ผ่านมา ภาษีมูลค่าเพิ่ม (VAT) เพิ่มขึ้น จึงไม่อยากให้ประชาชนกังวลใจต่อภาวะเศรษฐกิจ เพราะรัฐบาลเน้นวางรากฐานให้เศรษฐกิจแข็งแกร่ง ตอนนี้เติบโตอาจไม่ทันใจบ้าง แต่ทั้งนี้เพื่อให้เศรษฐกิจไทยกลับมาขยายตัวได้เกิน 5% ในอีก 2-3 ปีข้างหน้า

ด้าน นายประสาร ไตรรัตน์วรกุล ผู้ว่าการธนาคารแห่งประเทศไทย (ธปท.) กล่าวว่า มองไปในระยะข้างหน้าเห็นคลื่นลูกใหญ่อาจก่อตัวในตลาดการเงินโลก คือ ความผันผวนจากทิศทางการดำเนินนโยบายที่แตกต่างกัน ซึ่งนำไปสู่การคาดการณ์ของนักเศรษฐกิจศาสตร์ที่ว่า ขณะนี้เศรษฐกิจโลกกำลังปรับตัวเข้าหาจุดสมดุลหลังตกอยู่ในภาวะชะงักงัน นับตั้งแต่เกิดวิกฤตแฮมเบอร์เกอร์

"ความเสี่ยงจากความผันผวนในช่วงที่ตลาดเงินปรับตัวจะยังคงอยู่กับเราไปอีกระยะหนึ่ง จึงเป็นช่วงหัวเลี้ยวหัวต่อที่ทุกองคาพยพของเศรษฐกิจต้องเตรียมวางแผนและปรับตัวเพื่อป้องกันและรองรับผลกระทบที่อาจเกิดขึ้นธปท.ก็มีหน้าที่สร้างความน่าเชื่อถือความมั่นใจให้กับนักลงทุนและเลือกใช้เครื่องมือที่เหมาะสมได้ทันท่วงทีภายใต้กรอบเงินเฟ้อแบบยืดหยุ่น" นายประสารกล่าว

ขณะที่ ภาครัฐควรเร่งการเบิกจ่ายงบประมาณโดยเฉพาะงบฯลงทุนให้เป็นไปตามแผนที่วางไว้ เพราะจะเป็นปัจจัยสำคัญที่จะช่วยให้การฟื้นตัวของความเชื่อมั่นและเศรษฐกิจเข้มแข็งขึ้น รวมถึงดำเนินนโยบายทางเศรษฐกิจที่ชัดเจนและให้ต่อเนื่อง ส่วนเอกชนจำเป็นต้องเตรียมพร้อมอย่างน้อย 2 ส่วน ดังนี้ ส่วนแรก การไม่สะสมความเสี่ยงความเปราะบางของฐานะทางการเงินในช่วงที่อัตราดอกเบี้ยทั้งในและต่างประเทศอยู่ในระดับต่ำซึ่งจะทำให้รับมือได้ยากหากต้นทุนการกู้ยืมในตลาดสูงขึ้นในอนาคตเเละปัจจุบันจากภาวะดอกเบี้ยต่ำมานานทั้งยังเริ่มเห็นสัญญาณความเสี่ยงด้านแสวงหากำไรอยู่บ้าง แต่ยังอยู่ในวงจำกัด ส่วนสองคือ การเพิ่มประสิทธิภาพบริหารจัดการความเสี่ยงทางการเงิน โดยเฉพาะการป้องกันความเสี่ยงจากค่าเงินบาท เพื่อช่วยรองรับผลกระทบจากความผันผวนที่เกิดขึ้น

นายประสารกล่าวถึง การที่รัฐบาลใช้มาตรา 44 บริหารประเทศว่า คงส่งผลต่อการตัดสินใจของนักลงทุนบางประเทศบ้าง เนื่องจากมาตรา 44 อำนาจจะผูกขาดกับตัวบุคคล ซึ่งจะไม่มีการคานอำนาจในส่วนของสถาบัน ซึ่งบางประเทศอาจไม่คุ้นเคยกับการบริหารประเทศแบบนี้ จึงควรอธิบายให้ต่างชาติเข้าใจถึงกรณีพิเศษและเกิดขึ้นชั่วคราวเท่านั้น และประเทศไทยกำลังพยายามที่จะดำเนินการเพื่อให้เข้าสู่ระบบที่มีรัฐธรรมนูญ เพื่อนำไปสู่การเลือกตั้ง โดยต้องอธิบายถึงกรอบเวลาให้ชัดเจนด้วย

ooo

ส่งออก หดตัว สัญญาณอันตราย จุดตาย เศรษฐกิจ


ที่มา มติชนออนไลน์
02 เมษายน พ.ศ. 2558

ปัญหาเศรษฐกิจยังเป็นหนึ่งในประเด็นชี้เป็นชี้ตายของรัฐบาลอยู่ต่อไป

ความเคลื่อนไหวที่ผ่านมาสะท้อนปัญหาและความกังวลนี้ได้ดี

26 มีนาคม ที่บ้านเกษะโกมลพล.อ.ประวิตร วงษ์สุวรรณ รองนายกรัฐมนตรีและ รมว.กลาโหม ในฐานะประธานคณะกรรมการขับเคลื่อนยุทธศาสตร์ของคณะรักษาความสงบแห่งชาติ (คสช.) และนายสมคิด จาตุศรีพิทักษ์ ประธานที่ปรึกษา คสช. เชิญนักธุรกิจและภาคเอกชนรายใหญ่ร่วม 20 ราย เข้าร่วมหารือ

อาทิ นายกานต์ ตระกูลฮุนกรรมการผู้จัดการใหญ่ บมจ.ปูนซิเมนต์ไทย นายทองมา วิจิตรพงศ์พันธุ์ กรรมการผู้จัดการใหญ่ บมจ.พฤกษา เรียลเอสเตท นายบุณยสิทธิ์ โชควัฒนา ประธานเครือสหพัฒน์ เพื่อรับฟังความเห็นของภาคเอกชนเกี่ยวกับการดำเนินนโยบายของรัฐบาล ตลอดจนการแก้ไขปัญหาอุปสรรคทางการค้าเพื่อรับมือกับภาวะเศรษฐกิจโลกที่เปลี่ยนแปลงไป

ทำไมต้องเป็นห่วงการค้า

เพราะตัวเลขบ่งชี้ชัดชัด

นายนพพร เทพสิทธา ประธานสภาผู้ส่งสินค้าทางเรือแห่งประเทศไทย (สรท.) เปิดเผยว่า ได้ปรับลดคาดการณ์การส่งออกของไทยปีนี้ 0% จากเดิมที่คาดส่งออกจะขยายตัว 1.5% เนื่องจากขณะนี้มีหลากหลายปัจจัยที่กดดัน ทั้งเรื่องความสามารถในการแข่งขัน ต้นทุนแรงงาน และราคาวัตถุดิบที่ใช้ในการผลิตเพิ่มสูงขึ้น ไปจนอุปสรรคทางการค้า โดยเฉพาะเรื่องกฎระเบียบของประเทศคู่ค้าสำคัญ และเงินบาทที่ยังคงผันผวนในทิศทางแข็งค่าเมื่อเทียบกับคู่แข่ง รวมไปถึงปัญหาการผิดนัดชำระหนี้ที่เริ่มเกิดขึ้นในบางประเทศ

สำหรับการส่งออกไทยเดือนกุมภาพันธ์ มีมูลค่า 17,230 ล้านดอลลาร์สหรัฐ ลดลง 6.14% เมื่อเทียบกับเดือนเดียวกันในปีก่อน ทำให้มูลค่าการส่งออก 2 เดือน (มกราคม-กุมภาพันธ์) มีมูลค่า 34,478 ล้านดอลลาร์สหรัฐ ลดลง 4.82% เมื่อเทียบกับปีที่ผ่านมา

ตลาดที่มีการส่งออกปรับตัวลดลงสูงที่สุดในช่วง 2 เดือนที่ผ่านมา อาทิ ตลาดจีนลดลง 17.4% จากเป้าหมายที่ 1%, แอฟริกาลดลง 11.9% จากเป้าหมายที่ 2%, ญี่ปุ่นลดลง 9.6% จากเป้าหมายที่ 2% และสหภาพยุโรป ลดลง 4.90% จากเป้าหมายที่ 3%

ส่วนตลาดส่งออกที่มีอัตราขยายตัวได้เกินเป้าหมายที่ตั้งไว้ อาทิ สหรัฐอเมริกาขยายตัวถึง 5.5% จากเป้าหมายที่ 3% รองลงมาคืออินเดีย

ขณะที่ธนาคารแห่งประเทศไทยคาดว่าภาคการส่งออกยังขยายตัวได้ที่ 0.8%

เพราะการส่งออกคือสัดส่วนร้อยละ 70 ของมูลค่าจีดีพี การขยายตัวหรือหดตัวจึงส่งผลต่อเศรษฐกิจรุนแรงกว่าปัจจัยอื่นๆ

นายศุภวุฒิ สายเชื้อ กรรมการผู้จัดการฝ่ายวิจัย บริษัทหลักทรัพย์ภัทร กล่าวว่า ตัวเลขส่งออกเดือนกุมภาพันธ์น่าประหลาดใจมาก เพราะไม่คิดว่าจะตกมากขนาดนั้น สำหรับอัตราการขยายตัวทางเศรษฐกิจ (จีดีพี) ไตรมาส 1/2558 เทียบกับช่วงเดียวกันของปีก่อนก็น่าจะถึง 3% ตามที่ทางการคาด ซึ่งระดับดังกล่าวถือว่าต่ำมากแล้ว เมื่อเทียบกับฐานปีก่อนที่ไตรมาสแรกจีดีพีหดตัว 0.6% ส่งออกหดตัว 0.8%

ปัญหาส่งออกเป็นเรื่องใหญ่ที่สุดของการสร้างการเติบโตทางเศรษฐกิจของประเทศ เพราะมีน้ำหนักมากที่สุดในจีดีพี ขณะเดียวกันก็จะเห็นว่าด้านการนำเข้าใน 2 เดือนที่ผ่านมาก็ยังหดตัว 6.7% ส่วนการนำเข้าสินค้าทุนแม้จะขยายตัว 2.8% แต่ก็นับว่าไม่ได้เพิ่มมากนัก สะท้อนว่ากำลังซื้อในประเทศก็หายไปด้วย และภาคธุรกิจก็ไม่ได้ลงทุนเพิ่ม

"สิ่งที่สำคัญคือประเทศไทยต้องมีแผนยุทธศาสตร์ด้านการส่งออก จะเพิ่มการส่งออกอย่างไร แผนในระยะ 5-10 ปีจะเป็นอย่างไร ซึ่งยังไม่เห็นตรงนี้เลย รัฐมีนโยบายสร้างรถไฟ สร้างระบบราง แต่ไม่มีนโยบายด้านการส่งออก

"รัฐบาลชุดนี้เข้ามาเพื่อแก้ปัญหาการเมือง จึงไม่ได้มีแนวคิดด้านการพัฒนาเศรษฐกิจ ในเวลาที่สถานการณ์เศรษฐกิจทั้งในและต่างประเทศเปลี่ยนแปลงเร็วมาก

"ขณะที่การเมืองในประเทศหลังจากร่างรัฐธรรมนูญออกมาจะเป็นปัจจัยเสี่ยงเพิ่มขึ้น"

เสียงนี้จะสะท้อนถึงใครบ้าง?