วันพฤหัสบดี, กุมภาพันธ์ 05, 2558

วุฒิภาวะทางอารมณ์ของผู้นำ :ชำนาญ จันทร์เรือง



ในช่วงระยะหลังๆนี้ท่านผู้นำของเรามักจะมีการออกอาการอารมณ์เสียอยู่เสมอในเวลาให้สัมภาษณ์ต่อสื่อมวลชน ซึ่งก็มีการวิพากษ์วิจารณ์ในกันในวงกว้างที่พอแบ่งออกได้เป็นสองแง่ แง่หนึ่งก็คือในแง่ของวุฒิภาวะทางอารมณ์ (Emotional Intelligence - EI) ของท่านผู้นำเอง

หรืออีกแง่หนึ่งก็คือการที่สื่อมวลชนพยายามที่จะจี้จุดเดือดของท่านผู้นำ เมื่อจี้ได้แล้วก็พากันหัวเราะชอบใจเป็นที่ขบขัน ซึ่งนอกจากจะทำความเข้าใจผิดแก่ตัวท่านผู้นำเองว่าเป็นที่ชื่นชอบของผู้สื่อข่าวแล้ว ยังมองไปได้ว่าสื่อมวลชนเองนั่นแหล่ะที่เป็นผู้หวังดีแต่ประสงค์ร้ายต่อท่านผู้นำ

หากเราได้ศึกษาประวัติศาสตร์ของชาติต่างๆ ทั่วโลก จะทราบว่าแต่ละชาติก็จะมีประวัติของผู้นำที่ได้รับการกล่าวขวัญถึงอย่างชื่นชมในฐานะวีรบุรุษหรือรัฐบุรุษอยู่มากมาย อาทิ มหาตมะ คานธี, จอห์น เอฟ เคเนดี, ลิงคอล์น, วินสตัน เชอร์ชิล ฯลฯ

ซึ่งเราพบว่าผู้นำที่ประสบความสำเร็จเหล่านี้จะมีคุณสมบัติที่สำคัญอยู่ 2 ประการ คือ ฉลาดเชี่ยวชาญในการบริหารภารกิจต่างๆ ให้บรรลุเป้าหมาย (Task-Oriented) และในขณะเดียวกันก็สามารถสร้างแรงบันดาลใจ กระตุ้นเร่งเร้าให้ผู้ใต้บังคับบัญชามีความศรัทธา เชื่อมั่น เชื่อฟังในตัวผู้นำ และทำงานตามที่มอบหมายให้สำเร็จ ซึ่งเรียกว่ามี ความฉลาดเรื่องคน (People Smart)

(ที่มา http://www.arunsawat.com)

ซึ่งผู้นำแต่ละคนนั้นอาจจะมีวิธีการในการบริหารงานและบริหารคนไม่เหมือนกัน แต่ผลลัพธ์ที่ได้นั้นออกมามีประสิทธิผลเหมือนกัน ดังนั้น สไตล์และบุคลิกภาพของผู้นำจึงมีได้หลายประเภท แต่สรุปได้ว่าประสิทธิภาพของผู้นำจะวัดได้จากผลงานที่เกิดขึ้น โดยมีความสัมพันธ์ที่ดีระหว่างผู้นำและผู้ตามเป็นพื้นฐาน

อย่างไรก็ตาม ผู้คนโดยมากมักมุ่งประเด็นไปที่ผลงานเป็นหลัก จนละเลยหลงลืมไปว่าก่อนที่ผลงานจะออกมาได้นั้น สัมพันธภาพและการร่วมแรงร่วมใจระหว่างผู้นำและผู้ตามเป็นรากฐานสำคัญ ที่ผู้นำจะต้องสร้างปัจจัยนี้ให้เกิดขึ้นก่อน และความสามารถที่เรียกว่า People Smart นี้จะสะท้อนถึงวุฒิภาวะทางอารมณ์ (Emotional Intelligence หรือ EI) ของผู้นำโดยตรง

วุฒิภาวะหมายถึงอะไร

จากบทความของนายแพทย์สุรพงศ์ อำพันวงษ์ ได้อธิบายไว้ว่า บางคนอาจคิดว่าหมายถึงความเป็นคนสูงอายุ ซึ่งเราทราบดีว่าไม่ใช่เช่นนั้น แน่นอนว่าผู้สูงอายุควรจะมีวุฒิภาวะในการแสดงออก ไม่ว่าจะเป็นความคิด อารมณ์และการกระทำ เนื่องจากผู้มีอายุมากได้มีโอกาสผ่านประสบการณ์มากมายในชีวิต น่าจะนำประสบการณ์ต่างๆ ที่ได้เรียนรู้มาแล้วสร้างวุฒิภาวะให้กับตนเอง แต่น่าเสียดายที่มันไม่ได้เป็นเช่นนั้นเสมอไป

Gordon M. Alport นักจิตวิทยาชาวอเมริกันได้อธิบายคุณสมบัติของบุคคลที่มีวุฒิภาวะ (Maturity) ไว้ 6 ประการ คือ

1.    มีปรัชญาชีวิตหรือค่านิยมของชีวิต ซึ่งทำให้บุคคลผู้นั้นใช้ชีวิตอย่างมุ่งมั่น บากบั่น มีจุดมุ่งหมาย

2.    มีจิตเพื่อบุคคลอื่นและเพื่อสังคมส่วนรวม สามารถร่วมสร้างสรรค์แบ่งปันความรู้ ความคิด ทุกข์ สุข กับบุคคลในครอบครัว เพื่อนนอกวงงานและเพื่อนร่วมงาน รวมทั้งมีจิตใจเพื่อสังคมส่วนรวม (Social concern)

3.    สามารถสร้างไมตรีกับผู้อื่นได้ ไม่อิจฉาหรือรู้สึกเป็นเจ้าข้าวเจ้าของบุคคล วัตถุ ตำแหน่ง อย่างหลงไหล (Crippling possessiveness ) รู้จักเป็นผู้ให้ ผู้รับ และรู้จักปลง

4.    กล้าเผชิญกับทุกข์ยากของชีวิตได้
5.  มีอารมณ์ที่ไม่ขึ้นลงรวดเร็วและรุนแรง มีอารมณ์ขันและมีความยืดหยุ่น
6. กล้าเผชิญและยอมรับทั้งความด้อยและความเด่นของตน ของบุคคลอื่นและของสังคม คนที่เห็นตัวเองและคนอื่นด้อยสุดหรือเด่นสุด ชั่วสุดหรือดีสุด คือคนที่ยังคิดแบบเด็กๆ เพราะไม่มีมนุษย์คนใดจะมีวุฒิภาวะเต็มเปี่ยม แต่ละคนมีระดับของวุฒิภาวะแตกต่างกันไป
เมื่อผู้นำโยนเปลือกกล้วยใส่นักข่าว

กอปรกับบทความของกรมสุขภาพจิต (www.dmh.go.th) ทำให้เราทราบว่าความสามารถที่จะประเมินถึงระดับสูงต่ำวุฒิภาวะทางอารมณ์ (Emotional Intelligence หรือ EI) ของผู้นำ ได้แก่

1.   สามารถแยกแยะต้นเหตุของการเกิดอารมณ์ต่างๆ ของตัวเองได้
2.   ไม่รู้สึกกดดัน แม้อยู่ภายใต้สถานการณ์ตึงเครียด
3.   สร้างแรงจูงใจในการทำงานได้ด้วยตนเอง
4.   รู้ว่าพฤติกรรมของเขามีผลกระทบต่อผู้อื่นอย่างไร
5.   ริเริ่มวิธีการในการแก้ไขปัญหาความขัดแย้งกับผู้อื่นได้ประสบผลสำเร็จ
6.   สงบอารมณ์ได้อย่างรวดเร็วเมื่อเกิดความโกรธ
7.   รู้ว่าเมื่อไรตนเองกำลังรู้สึกโกรธ
8.   ตั้งสติได้อย่างรวดเร็วหลังจากพลาดพลั้งไป
9.   สามารถสังเกตเห็นว่าเมื่อใดผู้อื่นกำลังอารมณ์หดหู่
10. สามารถบรรลุความร่วมมือกับผู้อื่น
11. สามารถใช้ประสาทสัมผัสทั้งห้าในการรับรู้สิ่งที่เกิดขึ้นรอบตัวได้อย่างรวดเร็ว
12. สามารถสำรวจทบทวนตนเองเพื่อเปลี่ยนสภาวะอารมณ์ของตน
13. สร้างแรงจูงใจให้ตนเองเมื่อต้องทำงานที่ไม่น่าสนใจ
14. ช่วยเหลือผู้อื่นในการจัดการกับอารมณ์ต่างๆ ของพวกเขา
15. ทำให้ผู้อื่นรู้สึกดี
16. รู้ว่าเมื่อไรตนเองกำลังมีอารมณ์แปรปรวน
17. รักษาความเยือกเย็นไว้ได้เมื่อตนเองเป็นเป้าอารมณ์โกรธของผู้อื่น
18. หยุดและเปลี่ยนกิจวัตรที่ไม่มีประสิทธิผลของตนเอง
19. แสดงความเห็นอกเห็นใจผู้อื่น
20. ให้คำแนะนำและความช่วยเหลือสนับสนุนทางด้านอารมณ์และจิตใจแก่ผู้อื่น เมื่อเป็นที่ต้องการ
21. รู้ว่าเมื่อไรเริ่มรับไม่ได้และต้องการแก้ตัว
22. รู้ว่าเมื่อไรกำลังคิดในแง่ลบ และสามารถดึงตัวออกจากความคิดนั้นได้
23. เป็นคนพูดอย่างไรทำอย่างนั้น
24. สามารถคุยเรื่องส่วนตัวกับผู้อื่นได้
25. สามารถบอกให้ผู้อื่นทราบถึงอารมณ์ ที่เป็นอยู่ของเขาได้อย่างถูกต้อง

จากที่กล่าวมาทั้งหมดนี้แสดงให้เห็นว่า เราคงไม่สามารถวัดวุฒิภาวะทางอารมณ์ของท่านผู้นำได้เพียงการแสดงออกถึงอารมณ์โกรธหรือไม่โกรธที่แสดงออกต่อสาธารณะเท่านั้น คงต้องดูทั้งหมดแล้วจึงค่อยนำมาประมวลผล โดยตัดความชอบหรือไม่ชอบส่วนตัวออกไป

ส่วนจะสอบได้หรือสอบตกหรือไม่นั้นก็สุดแล้วแต่ว่าผลที่ออกมาจะเป็นเช่นไร
-------------

หมายเหตุ เผยแพร่ครั้งแรกในกรุงเทพธุรกิจฉบับประจำวันพุธที่ 4 กุมภาพันธ์ 2558