วันศุกร์, กุมภาพันธ์ 06, 2558

ตระกูลชินวัตรกับพรรคเพื่อไทย :บทเรียน 22 พ.ค. 57 (2)


โดย รศ.ดร.พิชิต ลิขิตกิจสมบูรณ์ ตีพิมพ์ครั้งแรกใน “โลกวันนี้วันสุข” ฉบับวันศุกร์ที่ 6 กุมภาพันธ์ 2558



แนวทางของพ.ต.ท.ทักษิณ ชินวัตร นับแต่ชนะเลือกตั้ง 3 กรกฎาคม 2554 เป็นต้นมา คือการเดินแนวทางคู่ขนาน โดยด้านหนึ่ง มุ่งสลายคนเสื้อแดงจากขบวนเคลื่อนไหวการเมืองไปเป็นเพียงฐานคะแนนเสียงเลือกตั้ง และอีกด้านหนึ่งคือ แสวงหาการ “นิรโทษกรรมเหมาเข่ง” โดยพ.ต.ท.ทักษิณเชื่อว่า นี่จะสามารถแก้ปัญหาความขัดแย้งทางการเมืองของประเทศและแก้ปัญหาของตนเองได้ (คือกลับประเทศไทย “แบบเท่ ๆ”)

                พ.ต.ท.ทักษิณและตระกูลชินวัตรยังคงมีความเพ้อฝันลมๆ แล้งๆ ที่จะประนีประนอม ได้รับความเมตตาและอภัยจากพวกจารีตนิยมอยู่ตลอดเวลา หวังที่จะกลับเข้าไปอยู่ในร่มโพธิ์ร่มไทรของพวกเขาอยู่ทุกวันคืน ดังที่ พ.ต.ท.ทักษิณได้เคยกล่าวไว้ในที่ชุมนุมคนเสื้อแดงครั้งหนึ่งว่า ตนเป็น “สุนัขบ้าน” ที่ถึงอย่างไรก็รัก ซื่อสัตย์ภักดีต่อเจ้าของ นี่คือโซ่ตรวนทางความคิดที่พ.ต.ท.ทักษิณและตระกูลชินวัตรไม่เคยคิดที่จะสลัดทิ้งไม่ว่าจะเกิดอะไรขึ้น ความเพ้อฝันนี้ทำให้พวกเขาตกลงไปในกลลวงของฝ่ายตรงข้ามครั้งแล้วครั้งเล่าโดยไม่รู้จักถอดถอนบทเรียน และ “เหยื่อล่อ” ที่ดีที่สุดที่ฝ่ายนั้นใช้เพื่อให้พ.ต.ท.ทักษิณทำลายรัฐบาลพรรคเพื่อไทยและขบวนคนเสื้อแดงด้วยน้ำมือของตนเองก็คือ “นิรโทษกรรมเหมาเข่ง”

                พ.ต.ท.ทักษิณได้รับ “สัญญาณเหมาเข่ง” ครั้งแรกเมื่อพฤษภาคม 2555 ด้วยความมั่นใจว่าจะประนีประนอมกับพวกจารีตนิยมได้สำเร็จ ถึงขั้นประกาศในที่ชุมนุมคนเสื้อแดงที่ราชประสงค์ว่า “ประชาชนพาตนมาขึ้นบกแล้ว ตนจะไปขึ้นเขา พี่น้องไม่ต้องแบกเรือตามมา ขอให้แยกย้ายกลับบ้าน” ซึ่งก็คือ ขอให้สลายขบวนคนเสื้อแดงเสีย แล้วหลังจากนั้น พรรคเพื่อไทยก็เร่งผลักดัน พรบ.ปรองดองแห่งชาติ (ฉบับเหมาเข่ง) อย่างเร่งรีบ ซึ่งก็ล้มเหลวในที่สุด

                การผลักดันพรบ.นิรโทษกรรมเหมาเข่งในเดือนตุลาคม 2556 ก็เหมือนครั้งแรกคือ เกิดจากการประเมินท่าทีฝ่ายตรงข้ามและพลังความเข้มแข็งของตนผิดพลาด พอได้รับ “สัญญาณเหมาเข่ง” จากฝ่ายตรงข้าม ก็รีบกระโดดเข้าตะครุบทันทีด้วยอาการดีใจลิงโลดว่าได้บรรลุหนทางสุดท้ายในการแก้ปัญหาของตนเสียที

                เสียงข้างมากเด็ดขาดของพรรคเพื่อไทยในสภาผู้แทนราษฎร ความมั่นคงของรัฐบาลตลอดปี 2554-56 และคะแนนนิยมของนายกรัฐมนตรียิ่งลักษณ์ ทำให้ตระกูลชินวัตรเกิดความมั่นใจ ประเมินความแข็งแกร่งของตนเกินจริง หลงในอำนาจ เชื่อว่าด้วยเสียงข้างมากในสภาผนวกกับ “สัญญานเหมาเข่งที่ดีวันดีคืน” ก็เพียงพอแล้วที่จะทำอะไรก็ได้ในทางการเมือง โดยไม่ต้องสนใจวิธีการและความชอบธรรมในสายตาประชาชนทั้งสิ้น พวกเขาจึงกล้าลงมือกระทำการ “ลักหลับในสภา” ด้วยการประกาศอย่างแข็งขันเป็นคำสัตย์ต่อสาธารณชนว่า จะไม่มีการแปรญัตติเป็นเหมาเข่งในวาระสองของการพิจารณาพรบ.นิรโทษกรรมเป็นอันขาด แล้วคำสัตย์ก็กลายเป็น “คำโกหกระดับชาติ” เมื่อพวกเขาทำการหมกเม็ดยัดไส้ แก้หลักการให้เป็น “เหมาเข่งสุดซอย” แล้วโมเมเร่งรัดลงมติผ่านวาระสองในลักษณะ “โจรตีหัวเข้าบ้าน”
ทักษิณกับยิ่งลักษณ์ ชินวัตร ยืนข้างกำแพงยักษ์

                ทั้งเนื้อหาของพรบ.นิรโทษกรรมเหมาเข่งและวิธีการสกปรกที่ใช้ในการผลักดันกฎหมายนี้ ได้ทำลายความชอบธรรมทางการเมืองของรัฐบาลพรรคเพื่อไทยลงอย่างสิ้นเชิงในเวลาเพียงชั่วข้ามคืน และที่สำคัญคือ ได้ทำลายความชอบธรรมของระบอบรัฐสภาและการเมืองแบบเสียงข้างมากไปจนหมดสิ้น แล้วยังสร้างความแตกแยกขนานใหญ่ในขบวนคนเสื้อแดง และกระตุ้นความโกรธแค้นอย่างรุนแรงในหมู่ชนชั้นกลางในเมืองที่ไม่พอใจรัฐบาลอยู่แล้ว เปิดช่องให้ฝ่ายตรงข้ามซึ่งรอคอยที่จะโค่นล้มรัฐบาลพรรคเพื่อไทยมาสองปี ได้โอกาสลงมือ ก่อกระแสมวลชนหลายแสนคนทั่วประเทศเพื่อคัดค้านนิรโทษกรรมเหมาเข่งโดยแกนนำพรรคประชาธิปัตย์ กลุ่มฟัสซิสต์ และกลุ่มอันธพาลติดอาวุธ ขยายผลไปเป็นการขับไล่รัฐบาล สร้างสถานการณ์จลาจลนองเลือดยืดเยื้อที่รัฐบาลควบคุมไม่ได้ เป็นความชอบธรรมให้กับการก่อรัฐประหาร 22 พฤษภาคม 2557 ในที่สุด

                ในการรับมือกระแสต่อต้านคัดค้านอย่างกว้างขวาง ตระกูลชินวัตรและพรรคเพื่อไทยที่เคย “ฮึกเหิมและอหังการ์” ตอนผลักดันเหมาเข่ง ก็กลายเป็น “ขวัญเสีย ตาลีตาลาน แตกตื่น” ถอยกรูดอย่างไม่มีกระบวนท่าใดๆ ทั้งสิ้น กระทำการผิดพลาดซ้ำซ้อนมากขึ้น ตั้งแต่การยอมยุบสภาตาม “คำขอมา” เมื่อวันที่ 10 ธันวาคม 2556 ทำให้รัฐบาลเป็นเพียงรักษาการที่ไม่มีอำนาจสั่งการใดๆ การไม่ปกป้องการเลือกตั้ง 2 กุมภาพันธ์ 2557 ปล่อยให้มวลชนอันธพาลและกลุ่มติดอาวุธก่อจลาจลทำร้ายประชาชนผู้บริสุทธิ์ทั่วกรุงเทพฯได้อย่างเสรี กระทั่งทำร้ายเจ้าหน้าที่ตำรวจที่ถูกรัฐบาลห้ามติดอาวุธใดๆ จนบาดเจ็บล้มตายจำนวนมาก ทั้งหมดนี้ยิ่งเป็นการทำลายภาวะการนำของนายกรัฐมนตรีและรัฐบาลลงไปเรื่อยๆ

                จากนั้นตระกูลชินวัตรก็กระทำการผิดพลาดที่ร้ายแรงครั้งสุดท้ายคือ การตกลงร่วมมือ “ซุปเปอร์ดีล” กับกลุ่มทหารที่ก่อรัฐประหาร 22 พฤษภาคม 2557 ด้วยข้อแลกเปลี่ยนที่กลุ่มทหารจะไม่กระทำการใดๆ ต่อตระกูลชินวัตร ขณะที่รัฐบาลและพรรคเพื่อไทยจะไม่ต่อต้านรัฐประหารไม่ว่าในทางใด อีกทั้งจะให้ “ความร่วมมือ” กับคณะรัฐประหารแต่โดยดีในการ “ทำความเข้าใจ” กับเครือข่ายคนเสื้อแดงมิให้เคลื่อนไหวต่อต้าน

                ตระกูลชินวัตรเลือกที่จะทำ “ซุปเปอร์ดีล” กับทหารกลุ่มนี้ นอกจากเพื่อหลีกเลี่ยงการสูญเสียชีวิตประชาชนที่อาจจะเกิดขึ้นจากการต้านรัฐประหารแล้ว ยังเป็นผลมาจากแนวทางยอมจำนน มุ่งเอาแต่ต่อรองแลกผลประโยชน์ระดับ “บุคคล” โดยไร้หลักการ พวกเขาจึงยอมถอยทุกทาง ยอมเสียทุกอย่างเพราะเชื่อว่า พวกตนมี “ไม้เด็ดสุดท้าย” คือ “ไพ่ตองแจ๊ค” อยู่ในมือ ซึ่งเพียงแต่รอเวลาที่จะเปลี่ยนเป็น “ไพ่ตองคิง” เอาชนะคู่กรณี “กินรอบโต๊ะ” ได้ในที่สุด

                กลุ่มทหารจึงสามารถเข้ายึดอำนาจได้อย่างราบรื่น และในระยะแรกก็ดูเหมือนจะทำตาม “ซุบเปอร์ดีล” นั้น แต่ในช่วงพฤศจิกายน-ธันวาคม 2557 กลุ่มปกครองสามส่วนอันได้แก่ พวกจารีตนิยม กลุ่มอำมาตย์ และกลุ่มทหาร ก็สามารถประสานผลประโยชน์กันลงตัว บริหารจัดการ “การเปลี่ยนผ่าน” ในเบื้องต้นได้ราบรื่น ความจำเป็นที่กลุ่มทหารจะ “เว้นตระกูลชินวัตรไว้ชั่วคราว” จึงหมดไป นับแต่ต้นปี 2558 จึงเป็นการเริ่มกระบวนการจัดการกับตระกูลชินวัตรและพรรคเพื่อไทยอย่างเป็นระบบ โดยเริ่มจากการถอดถอนตำแหน่งนายกรัฐมนตรีของนางสาวยิ่งลักษณ์ในสภานิติบัญญัติแห่งชาติ และอัยการสูงสุดสั่งฟ้องคดีโครงการจำนำข้าวในศาลฎีกาแผนกคดีอาญาผู้ดำรงตำแหน่งทางการเมือง

                การประสานผลประโยชน์กันได้สำเร็จภายในกลุ่มปกครอง การที่ตระกูลชินวัตรได้สร้างความแตกแยกในขบวนคนเสื้อแดงอย่างถึงรากในกรณีเหมาเข่ง และท้ายสุดคือ การสูญเสีย “ไพ่ตองแจ๊ค” ในมือไป ได้ทำให้ตระกูลชินวัตรอ่อนแอลงในทางการเมืองอย่างมาก ทำให้สถานะต่อรองของพวกเขาหมดสิ้นไป ถึงกระนั้น คดีอาญาของนางสาวยิ่งลักษณ์จะทำให้ตระกูลชินวัตรยิ่งวิงวอนและหาทางประนีประนอมมากขึ้น หากพวกเขายังจะเดินแนวทางนี้ต่อไป หนทางข้างหน้าของตระกูลชินวัตรและพรรคเพื่อไทยก็จะมีแต่จะถูกแยกสลายและถูกทำลายในที่สุด

แม้ว่า พ.ต.ท.ทักษิณและตระกูลชินวัตรจะเคยมีคุณปูการอย่างมากมายต่อการเติบโตของขบวนประชาธิปไตย ทว่าตั้งแต่เหตุการณ์เมษายน-พฤษภาคม 2553 จนถึงปัจจุบัน ความผิดพลาดและฉวยโอกาสทางการเมืองของพวกเขาก็ได้สร้างความเสียหายให้กับขบวนประชาธิปไตยอย่างมากมายซ้ำซาก ขบวนประชาธิปไตยได้ “แยกทางกันเดิน” กับพวกเขาไปแล้วตั้งแต่กรณีนิรโทษกรรมเหมาเข่ง และ ณ วันนี้ แม้จะประสบความเสียหายอย่างหนักจากรัฐประหาร ก็จะต้องเริ่มต้นใหม่ เดินหน้าต่อไปด้วยกำลังของตนเอง เพื่อไปให้ถึงเป้าหมายของระบอบประชาธิปไตยเสรีนิยมให้จงได้