วันศุกร์, เมษายน 11, 2568

ครบรอบ 15 ปี เหตุการณ์ #10เมษา ท่ามกลางความเปลี่ยนแปรผันผวนทางการเมือง ยังมีผู้เคยร่วมชุมนุม #คนเสื้อแดง ถูกคุมขังอยู่ไม่น้อยกว่า 13 คน แยกเป็นผู้ถูกคุมขังคดี #ม112 อย่างน้อย 8 คน และคดีเกี่ยวกับอาวุธ 5 คน



15 ปี เหตุการณ์ 10 เมษา: ผู้เคยร่วมชุมนุม “เสื้อแดง” ยังถูกจองจำคดี ม.112-คดีอาวุธ อย่างน้อย 13 คน

10/04/2568
ศูนย์ทนายความเพื่อสิทธิมนุษยชน

10 เมษายน ปีนี้ ครบรอบ 15 ปี เหตุการณ์เจ้าหน้าที่เข้าสลายการชุมนุมของคนเสื้อแดง หรือที่ถูกเรียกว่า ‘ปฏิบัติการขอคืนพื้นที่’ บริเวณสะพานผ่านฟ้าถึงสี่แยกคอกวัว ซึ่งนับเป็นเหตุการณ์ความรุนแรงและสถานการณ์การชุมนุมใหญ่ทางการเมืองครั้งสำคัญครั้งหนึ่งในประวัติศาสตร์การเมืองไทย

“ขบวนการคนเสื้อแดง” เต็มไปด้วยความหลากหลาย แม้จะมีองค์กรนำอย่างแนวร่วมประชาธิปไตยขับไล่เผด็จการแห่งชาติ หรือ นปช. แต่ก็มีกลุ่มย่อย กลุ่มอิสระ กลุ่มระดับจังหวัด อำเภอ จำนวนมากที่เข้ามาร่วมในความเคลื่อนไหวเมื่อทศวรรษก่อน แม้แต่การเข้าร่วมชุมนุมในระดับปัจเจกบุคคลที่ไม่ได้สังกัดกลุ่มก้อนใด

จนถึงปัจจุบัน แม้สิ่งที่เรียกว่า “ขบวนการคนเสื้อแดง” จะไม่ได้มีการเคลื่อนไหวภายใต้บริบทการเมืองที่เปลี่ยนไป แต่พบว่าผู้เคยเข้าร่วมชุมนุมหลาย ๆ คน ก็ยังคงพยายามเคลื่อนไหวต่อสู้เพื่อสร้างความเปลี่ยนแปลงในสังคม รวมไปถึงหลายคนยังต้องถูกจองจำในคดีทางการเมืองในสถานการณ์ปัจจุบันอีกด้วย

จากการติดตามของศูนย์ทนายความเพื่อสิทธิมนุษยชน ในกลุ่มผู้ต้องขังในคดีทางการเมืองในปัจจุบัน มีผู้ที่เคยเข้าร่วมการชุมนุมของคนเสื้อแดงในครั้งต่าง ๆ มา ไม่น้อยกว่า 13 คน ในจำนวนนี้อาจพอแยกได้เป็น 2 กลุ่ม ได้แก่

.
1. กลุ่มผู้ถูกคุมขังคดีมาตรา 112 มีอย่างน้อย 8 คน

แน่นอนว่าคนเสื้อแดงที่พอเป็นที่รู้จักอยู่บ้าง ได้แก่ สมบัติ ทองย้อย ผู้เคยทำหน้าที่เป็นการ์ดให้กับการชุมนุมคนเสื้อแดง และ อานนท์ นำภา ผู้ทั้งเป็นทนายความให้กับคดีคนเสื้อแดงตั้งแต่ในช่วงปี 2553 จนก่อตั้งเป็นสำนักกฎหมายราษฎรประสงค์ และเข้าร่วมชุมนุมในฐานะปัจเจก พร้อมกับแต่งบทกวีสนับสนุนการต่อสู้ของคนเสื้อแดง

รวมทั้ง “ไบรท์” ชินวัตร จันทร์กระจ่าง ที่เริ่มเข้ามามีส่วนร่วมชุมนุมคนเสื้อแดงตั้งแต่ยังเป็นเยาวชน เขาระบุว่าเป็นผู้ก่อตั้งกลุ่ม “นนทบุรีปกป้องความเป็นธรรม” เคยเป็นแกนนำกลุ่มสื่อวิทยุประชาชนเพื่อประชาธิปไตย หรือ กวป. รุ่น 2 อีกทั้งในช่วงที่ทักษิณ ชินวัตร ไม่สามารถอยู่ในประเทศไทยได้ เขายังไปเปลี่ยนชื่อจริงของตนเอง เป็น “ชินวัตร” เพื่อต้องการจะช่วยยืนยันว่าในประเทศนี้จะยังคงมีชื่อนี้อยู่ ก่อนรัฐประหารปี 2557 เขาร่วมชุมนุมกับคนเสื้อแดงที่ถนนอักษะ มีส่วนร่วมขึ้นเวทีปราศรัย และหลังรัฐประหาร

ทิวากร วิถีตน เจ้าของเสื้อ “หมดศรัทธาฯ” เป็นอีกคนหนึ่ง ที่ไม่เห็นด้วยกับรัฐประหารตั้งแต่ปี 2549 เขาเข้าร่วมชุมนุมตั้งแต่ก่อนมีขบวน นปช. คือไปร่วมกิจกรรมของ “คนวันเสาร์ไม่เอาเผด็จการ” ช่วงปี 2550 จนพอเกิดขบวนการเสื้อแดง เขาก็เข้าร่วมชุมนุม และเขายังไปร่วมกับกลุ่มวันอาทิตย์สีแดงช่วงหลังสลายการชุมนุมปี 2553 ร่วมผูกผ้าแดงในลักษณะไร้แกนนำ

ขณะเดียวกันยังมีสามัญชนอีก 4 คน ที่เคยมีประสบการณ์การเข้าร่วมการชุมนุมของคนเสื้อแดง และยังคงมีส่วนร่วมในการเคลื่อนไหวทางการเมืองหลังจากนั้น จนถูกจองจำ ได้แก่ มีชัย อดีตพนักงานโรงแรมที่เกาะช้าง ผู้เริ่มเห็นความไม่ยุติธรรมในสังคมตั้งแต่รัฐประหาร 2549 จนกระทั่งเข้าร่วมชุมนุมกับกลุ่ม นปช. ตั้งแต่ช่วงปี 2552 โดยเขาเคยเดินทางมาร่วมชุมนุมทั้งในกรุงเทพฯ หรือที่โบนันซ่า

เช่นเดียวกับ “วุฒิ” อดีตช่างเชื่อมและพนักงานรักษาความปลอดภัย ชาวเพชรบูรณ์ ที่เริ่มติดตามการเมืองมาตั้งแต่หลังรัฐประหาร 2549 จนไปเข้าร่วมการชุมนุมกับคนเสื้อแดงในฐานะประชาชนอิสระ

รวมทั้ง “มานี” เงินตา แม่ค้าจากยโสธร และ “จินนี่” จิรัชยา แม่ค้าที่ทำธุรกิจเกี่ยวกับห้องเช่า ทั้งสองเข้าร่วมการชุมนุมตั้งแต่ในช่วงปี 2553 ในฐานะมวลชนทั่วไป ไม่ได้สังกัดกลุ่มใด และยังออกมาร่วมกิจกรรมในช่วงที่ พล.อ.ประยุทธ์ จันทร์โอชา ยึดอำนาจทางการเมือง รวมทั้งการเคลื่อนไหวของคนหนุ่มสาวในช่วงปี 2563 นับได้ว่าเป็นกลุ่มพลเมืองผู้กระตือรือร้นทางการเมืองเรื่อยมา

.
2. กลุ่มคดีเกี่ยวกับอาวุธ มีอย่างน้อย 5 คน

คนเสื้อแดงอีกกลุ่มหนึ่งที่ยังถูกคุมขังอยู่ ได้แก่ ผู้ถูกดำเนินคดีเกี่ยวข้องกับอาวุธ โดยมีทั้งกลุ่มที่ถูกคุมขังมานานแล้ว ได้แก่ ยุทธนา และมหาหิน สองผู้ถูกดำเนินคดีเกี่ยวกับเหตุปาระเบิดศาลอาญา ปี 2558 ซึ่งถูกคุมขังมาตั้งแต่ขวบปีนั้น จนถูกศาลพิพากษาจำคุก 34 ปี 4 เดือน และยังอยู่ในเรือนจำเรื่อยมา

รวมทั้ง กฤษดา ที่ถูกดำเนินคดีจากเหตุถูกกล่าวหาว่าร่วมปาระเบิดใส่การชุมนุมของกลุ่ม กปปส. ที่อนุสาวรีย์ชัยสมรภูมิ เมื่อช่วงปี 2557 เขาถูกคุมขังมาตั้งแต่ปลายปี 2561 โดยถูกพิพากษาจำคุกตลอดชีวิต

นอกจากนั้นยังมีกลุ่มที่ถูกคุมขังในช่วงปีสองปีหลังนี้ ได้แก่ กรณีของยงยุทธ หรือ “แดง ชินจัง” คนทำงานก่อสร้างที่เป็นผู้ร่วมชุมนุมเสื้อแดงซึ่งมีเอกลักษณ์เป็นที่รู้จัก โดยมักจะใส่เสื้อกล้ามสีแดง กางเกงสีแดง และใส่วิกผมหยิกฟูสีแดง

ก่อนหน้านี้ยงยุทธเคยถูกซ้อมทรมานหลังถูกควบคุมตัวในช่วงรัฐประหารของ คสช. และถูกคุมขังหลายปีในช่วงนั้น ก่อนเขาเพิ่งมาถูกคุมขังอีกครั้งตั้งแต่เดือนกันยายน 2567 หลังมีการฟ้องคดีเขาเกี่ยวเนื่องกับวัตถุระเบิดฯ จากการชุมนุม กปปส. ในช่วงปี 2557 รวมถึง 5 คดี แม้ทุกคดีศาลจะยังไม่ได้มีคำพิพากษาออกมา แต่เขาก็ไม่ได้รับการประกันตัวระหว่างพิจารณา แม้จะมีการพยายามยื่นประกันเรื่อยมา

รวมทั้งอีกคนหนึ่ง ได้แก่ กรณีของเมธี อมรวุฒิกุล อดีตนักแสดง ซึ่งเข้าร่วมการชุมนุมกับคนเสื้อแดง ซึ่งถูกคุมขังมาตั้งแต่ช่วงกลางปี 2567 หลังถูกพิพากษาจำคุก 2 ปี ในคดีเกี่ยวกับการครอบครองอาวุธปืน ช่วงเจ้าหน้าที่รัฐเข้าสลายการชุมนุมเมื่อวันที่ 10 เม.ย. 2553 ซึ่งครบรอบ 15 ปี ในปีนี้ พอดี

https://tlhr2014.com/archives/74659