ผลพวงจากอำนาจที่เหลือเฟือของ สว.สีน้ำเงิน คงทำให้องค์กรแบบจัดตั้งคล้ายคลึงกัน คือศาล รธน. จะยังคงอำนาจที่ล้นเกินรัฐธรรมนูญต่อไปอีกนาน ดูได้จากการยกหางตนเองของประธาน ตลก.คนที่ถึงเวลาไปแล้ว เขายังไม่ให้ไป
ศาลรัฐธรรมนูญอายุครบ ๒๗ ปีวานนี้ (๑๑ เมษา) มีคำพูดหล่อๆ ออกมาจากปาก นครินทร์ เมฆไตรรัตน์ ผู้ยังดำรงตำแหน่งประธานฯ แม้จะหมดวาระรอบสองไปแล้ว ยังต้องอยู่ต่อเพราะ สว.เสียงข้างมากหักดิบไม่รับ ๒ ผู้ได้รับการคัดสรร
หนึ่งในนั้นเป็นที่ทราบกันว่าคือ อจ.สิริพรรณ นกสวน สวัสดี ที่ได้รับคะแนนท่วมท้น ๘ ต่อ ๐ จากคณะฯ ประธานศาลต่างๆ ขณะนี้อยู่ในระหว่างกระบวนการคัดสรรใหม่ ที่ผู้สมัครคนหนึ่งประกาศเอาฤกษ์วันจักรีเข้าสู่การแข่งขัน นัยว่าคนนี้สีน้ำเงินโอเค
ผลงานของ สว.สีน้ำเงิน (ไม่มีแดงปนเลยแล้ว) ได้รับการตอกย้ำความสำคัญโดยประธาน ตลก.คนที่ยังอยู่นี่ละ “เรื่องที่มาหากอยากให้มีการเปลี่ยนแปลงก็ต้องไปแก้ที่รัฐธรรมนูญ ซึ่งปัจจุบันกฎหมายกำหนดว่าการสรรหาเห็นชอบต้องผ่านวุฒิสภา”
นั่นเป็นคำอ้างอาญาสิทธิ์ของกฎหมาย
โดยไม่ได้ตั้งคำถามว่ากฎหมายนั้นมาได้อย่างไร ซึ่งก็วนไปวนมา
เหมือนที่มาของ
ตลก.รธน.นั่นเอง นครินทร์บอกว่า การสรรหามีที่มา ๒ ส่วน “คือผู้แทนจากที่ประชุมใหญ่ศาลฎีกา
ซึ่งต้องผ่านความเห็นชอบจากวุฒิสภา
และที่ประชุมใหญ่ศาลปกครอง ๒ คนก็ต้องผ่านความเห็นชอบของวุฒิสภา และกรรมการสรรหาอีก ๔ คน ก็ต้องผ่านวุฒิสภา” ส่วนวุฒิสภาชุดนี้มายังไง แม้จะมีการฟ้องร้องกัน ก็ยังไม่สามารถแหกด่านของพลังแห่งอำนาจล้นพ้นไปได้
อดีต ตลก.รธน.คนหนึ่งออกมาปาฐกถาถึงความสำคัญของศาลรัฐธรรมนูญว่า เป็น “ผู้พิทักษ์รัฐธรรมนูญ มิได้มีหน้าที่เพียงแค่การตีความบทบัญญัติของกฎหมายรัฐธรรมนูญเท่านั้น แต่ยังต้องธำรงไว้ซึ่งเจตนารมณ์และหลักการพื้นฐานของรัฐธรรมนูญ”
นั่นคือ “เป็นกลาง ตีความเท่าทันต่อพลวัตสังคม วินิจฉัยประเด็นใหม่รอบด้าน” จรัญ ภักดีธนากุล พูดครั้งนี้หล่อมาก ต่างจากอดีตชนิดพลิกฝ่าเท้าเป็นหลังมือ อย่างที่ Atukkit Sawangsuk ชวนให้รำลึกความหลัง เรื่อง “รับไปก่อน แก้ทีหลัง ยังจำได้ไหม ใครเชื่อลิ้นจรัญ”
อย่างไรก็ดี มิใช่ดีแต่พูด หนทางมีอยู่สำหรับการแก้ไขข้อเสียต่างๆ ดัง ศ.วรเจตน์ ภาคีรัตน์ อดีตคณะนิติราษฎร์ วิจารณ์บทบาทและพัฒนาการศาล รธน.ไว้แม่นเหมาะ เริ่มจากความเข้าใจสถานะของศาลฯ ที่ไม่ชัดเจนในช่วง รธน.๔๐
มาสู่บทบาททางการเมืองในช่วง รธน.๕๐ ยุค ‘ตุลาการภิวัฒน์’ จนถึงอำนาจล้นเกินหลัง รธน.๖๐ ทำให้เกิดการตีความเรื่อง ‘ล้มล้างการปกครอง’ ที่ก้าวล้ำอำนาจอื่นๆ กับการทำ ‘ความเห็นส่วนตน’ ที่กลายเป็นการสำแดงอัตตามากกว่าชอบธรรม
(https://www.posttoday.com/politics/domestic/722347=vw2LIrQ, https://www.facebook.com/Posttoday/posts/RU3iLzqnVX และ https://www.thaipost.net/hi-light/771034/)