วันอังคาร, กุมภาพันธ์ 04, 2568

ช่วยกันลงชื่อเรียกร้องรัฐสภาแก้รัฐธรรมนูญ “ผ่าน 256 สักที! อยากมี สสร. เลือกตั้ง”



The Issue

ในวันที่ 13 ถึง 14 กุมภาพันธ์ 2568 ที่ประชุมรัฐสภาจะมีนัดประชุมครั้งสำคัญ นั่นคือ การพิจารณาร่างรัฐธรรมนูญแห่งราชอาณาจักรไทย แก้ไขเพิ่มเติม (ฉบับที่ ..) พุทธศักราช .... หรือ ร่างแก้ไขรัฐธรรมนูญ ซึ่งมีสาระสำคัญคือ การจัดทำรัฐธรรมนูญฉบับใหม่โดยสภาร่างรัฐธรรมนูญ (สสร.) ที่มาจากการเลือกตั้ง

โดยการพิจารณาร่างแก้ไขรัฐธรรมนูญในครั้งนี้ นับเป็นครั้งแรกและนับเป็นโอกาสครั้งสำคัญของรัฐบาลและรัฐสภาที่จะผลักดันให้มีการจัดทำรัฐธรรมนูญฉบับใหม่เพื่อพาประเทศไทยออกจากวิกฤติการเมืองภายใต้รัฐธรรมนูญ ปี 2560 รวมถึงยังเป็นหนทางเดียวที่รัฐสภาและรัฐบาลจะสามารถดำเนินการจัดทำรัฐธรรมนูญใหม่ได้ทันปี 2570 ซึ่งเป็นไปตามคำแถลงนโยบายของคณะรัฐมนตรีที่แถลงต่อรัฐสภา

ที่ผ่านมา นับตั้งแต่ปี 2563 รัฐสภาเคยมีความพยายามแก้ไขรัฐธรรมนูญเพื่อจัดทำรัฐธรรมนูญใหม่ แต่สุดท้ายก็ไม่ประสบความสำเร็จ เนื่องจากในการพิจารณาในวาระที่สาม (วาระสุดท้ายก่อนประกาศใช้เป็นกฎหมาย) ที่ประชุมรัฐสภามีเสียงเห็นชอบกับการแก้ไขรัฐธรรมนูญเพื่อจัดทำรัฐธรรมนูญใหม่ไม่ถึง ‘กึ่งหนึ่งของจำนวนสมาชิกรัฐสภา’ อีกทั้ง สว. ที่มาจากการแต่งตั้งของคณะรักษาความสงบแห่งชาติ (คสช.) ยังลงมติเห็นชอบไม่ถึงหนึ่งในสามจึงทำให้ร่างแก้ไขรัฐธรรมนูญเป็นอันตกไป

แต่ในปี 2568 ภายใต้รัฐสภาชุดใหม่ ซึ่งมี สส. จากพรรคการเมืองที่มีนโยบายการจัดทำรัฐธรรมนูญใหม่ รวมกันมากกว่า 300 เสียง หากมี สว. ชุดใหม่ที่มาจากการเลือกกันเอง เห็นชอบกับร่างแก้ไขรัฐธรรมนูญเพื่อจัดทำรัฐธรรมนูญใหม่ในครั้งนี้เกินหนึ่งในสาม หรือ 67 เสียง กระบวนการจัดทำรัฐธรรมนูญฉบับใหม่ก็จะเกิดขึ้นได้จริง

โดยร่างแก้ไขรัฐธรรมนูญที่คาดว่าจะเข้าสู่การพิจารณาของรัฐสภาในวันที่ 13 และ 14 กุมภาพันธ์นี้ จะมีอย่างน้อย 2 ฉบับ ได้แก่

(1) ร่างที่เสนอโดยสส. พรรคประชาชน นำโดย พริษฐ์ วัชรสินธุ ซึ่งมีสาระสำคัญดังนี้

1.1) แก้ไขมาตรา 256 แก้ไขหลักเกณฑ์การแก้ไขรัฐธรรมนูญ

ร่างแก้ไขรัฐธรรมนูญของพรรคประชาชน กำหนดให้การแก้ไขรัฐธรรมนูญจะกระทำได้ต่อเมื่อได้รับความเห็นชอบไม่น้อยกว่ากึ่งหนึ่งของรัฐสภา (สส. และ สว.) หรือ 350 เสียง ซึ่งในจำนวนนี้ต้องมีเสียงเห็นชอบจาก สส. ไม่น้อยกว่าสองในสามของ สส. เท่าที่มีอยู่ หรือ 344 เสียง แต่หากเป็นการแก้ไขรัฐธรรมนูญในหมวด 15 การแก้ไขเพิ่มเติมรัฐธรรมนูญ หรือ การจัดทำรัฐธรรมนูญฉบับใหม่ เมื่อรัฐสภาให้ความเห็นชอบในวาระสามแล้ว จะต้องมีการจัดออกเสียงประชามติด้วย

1.2) เพิ่มหมวด 15/1 เพิ่มหมวดการจัดทำรัฐธรรมนูญใหม่

ร่างแก้ไขรัฐธรรมนูญของพรรคประชาชน กำหนดให้มีการจัดทำรัฐธรรมนูญใหม่โดยสภาร่างรัฐธรรมนูญ (สสร.) ที่มาจากการเลือกตั้งโดยตรงของประชาชน จำนวน 200 คน ซึ่งแบ่งการเลือกตั้งออกเป็นสองรูปแบบ ได้แก่
  • แบบที่หนึ่ง “สสร. จังหวัด” ซึ่งมาจากการเลือกตั้งแบบแบ่งเขต โดยใช้จังหวัดเป็นเขตเลือกตั้ง จำนวน 100 คน (คล้ายกับการเลือกตั้ง สส.เขต)
  • แบบที่สอง “สสร.บัญชีรายชื่อ” ซึ่งมาจากการเลือกตั้งแบบสัดส่วนบัญชีรายชื่อจำนวน 100 คน (คล้ายกับการเลือกตั้ง สส.บัญชีรายชื่อ)
พริษฐ์ วัชรสินธุ สส.พรรคประชาชน อธิบายเหตุผลของการกำหนดวิธีการเลือกตั้งดังกล่าวว่า การออกแบบระบบเลือกตั้งทั้งสองแบบเพื่อจะทำให้ประชาชนได้เลือก สสร. ในฐานะตัวแทนเชิงพื้นที่ (แบบแบ่งเขต) และตัวแทนเชิงประเด็น-กลุ่มอาชีพ-กลุ่มสังคม (แบบบัญชีรายชื่อ)

โดย สสร. ที่มาจากการเลือกตั้งจะมีอำนาจหน้าที่ในการจัดทำรัฐธรรมนูญฉบับใหม่ทั้งฉบับ แต่ต้องไม่เป็นการเปลี่ยนแปลงการปกครองระบอบประชาธิปไตยอันมีพระมหากษัตริย์ทรงเป็นประมุข หรือการเปลี่ยนแปลงรูปแบบรัฐ ตามที่บัญญัติไว้ในรัฐธรรมนูญมาตรา 255

สำหรับกระบวนการยกร่างรัฐธรรมนูญฉบับใหม่ จะให้อำนาจ สสร. แต่งตั้งคณะกรรมาธิการยกร่างรัฐธรรมนูญขึ้นมาหนึ่งชุด ซึ่งประกอบไปด้วยสมาชิกอย่างน้อย 45 คน ทั้งนี้ สสร. จะมีกรอบเวลาในการจัดทำรัฐธรรมนูญฉบับใหม่ ไม่เกิน 360 วัน โดยในระหว่างการจัดทำรัฐธรรมนูญใหม่ถ้ามีการยุบสภาหรือสภาหมดวาระก็ไม่กระทบต่อการทำหน้าที่ของ สสร.

(2) ร่างที่เสนอโดยสส. พรรคเพื่อไทย นำโดย วิสุทธิ์ ไชยณรุณ ซึ่งมีสาระสำคัญดังนี้

2.1) แก้ไขมาตรา 256 แก้ไขหลักเกณฑ์การแก้ไขรัฐธรรมนูญ

ร่างแก้ไขรัฐธรรมนูญของพรรคเพื่อไทย กำหนดให้การแก้ไขรัฐธรรมนูญจะกระทำได้ต่อเมื่อได้รับความเห็นชอบไม่น้อยกว่ากึ่งหนึ่งของรัฐสภา (สส. และ สว.) หรือ 350 เสียง ทั้งในวาระหนึ่งและวาระสาม แต่หากเป็นการแก้ไขรัฐธรรมนูญในหมวดที่ 1 บททั่วไป หมวดที่ 2 พระมหากษัตริย์ และหมวดที่ 15 การแก้ไขเพิ่มเติมรัฐธรรมนูญ หรือ การจัดทำรัฐธรรมนูญฉบับใหม่ เมื่อรัฐสภาให้ความเห็นชอบในวาระสามแล้ว จะต้องมีการจัดออกเสียงประชามติด้วย

2.2) เพิ่มหมวด 15/1 เพิ่มหมวดการจัดทำรัฐธรรมนูญใหม่

ร่างแก้ไขรัฐธรรมนูญของพรรคประชาชน กำหนดให้มีการจัดทำรัฐธรรมนูญใหม่โดยสภาร่างรัฐธรรมนูญ (สสร.) ที่มาจากการเลือกตั้งโดยตรงของประชาชน จำนวน 200 คน ซึ่งใช้รูปแบบการเลือกตั้งเพียงแบบเดียว คือ “สสร. จังหวัด” ซึ่งมาจากการเลือกตั้งแบบแบ่งเขต โดยใช้จังหวัดเป็นเขตเลือกตั้ง (คล้ายกับการเลือกตั้ง สส.เขต)

โดย สสร. ที่มาจากการเลือกตั้งจะมีอำนาจหน้าที่ในการจัดทำรัฐธรรมนูญฉบับใหม่ทั้งฉบับ แต่มีข้อห้ามว่า ไม่สามารถแก้ไขหมวดที่ 1 บททั่วไป และบทที่ 2 พระมหากษัตริย์ ในรัฐธรรมนูญ ปี 2560 ได้

สำหรับกระบวนการยกร่างรัฐธรรมนูญฉบับใหม่ จะให้อำนาจ สสร. แต่งตั้งคณะกรรมาธิการยกร่างรัฐธรรมนูญขึ้นมาหนึ่งชุด ซึ่งประกอบไปด้วยสมาชิกอย่างน้อย 47 คน ทั้งนี้ สสร. จะมีกรอบเวลาในการจัดทำรัฐธรรมนูญฉบับใหม่ ไม่เกิน 180 วัน โดยในระหว่างการจัดทำรัฐธรรมนูญใหม่ถ้ามีการยุบสภาหรือสภาหมดวาระก็ไม่กระทบต่อการทำหน้าที่ของ สสร.

สำหรับร่างแก้ไขรัฐธรรมนูญของพรรคเพื่อไทย ชูศักดิ์ ศิรินิล รองหัวหน้าพรรคแถลงแนวทางว่า พรรคเพื่อไทยจะจัดทำรัฐธรรมนูญฉบับใหม่แบบ "ไม่สุดโต่ง" และจะเสนอให้มีการเลือกตั้งสสร. เพื่อมาจัดทำรัฐธรรมนูญฉบับใหม่ แต่ต้องไม่แตะต้อง "หมวด 1 หมวด 2" ของรัฐธรรมนูญ ฉบับปี 2560 คือ ไม่แก้ไขบททั่วไป และบทพระมหากษัตริย์

เมื่อดูเนื้อหาของร่างแก้ไขรัฐธรรมนูญที่ทั้งสองฉบับ ทางกลุ่มประชาชนร่างรัฐธรรมนูญ หรือ Con for All เห็นว่า หากรัฐสภาต้องการจะจัดทำรัฐธรรมนูญฉบับใหม่เพื่อให้เป็นรัฐธรรมนูญฉบับประชาชน รัฐสภาจะต้องแสดงความจริงใจในการผลักดันการจัดทำรัฐธรรมนูญฉบับใหม่ บนหลักการ “เขียนรัฐธรรมนูญใหม่ทั้งฉบับ-เลือกตั้ง สสร. 100%” ซึ่งเป็นหลักการที่มีประชาชนกว่า 211,904 คน ร่วมกันเข้าชื่อเสนอเป็นคำถามประชามติ เมื่อปี 2566

ทั้งนี้ เพื่อให้กระบวนการจัดทำรัฐธรรมนูญใหม่ดำเนินการไปอย่างสำเร็จลุล่วง ทางกลุ่ม Con for All จึงอยากเชิญชวนประชาชนลงชื่อในแคมเปญ “ผ่าน 256 สักที! อยากมี สสร. เลือกตั้ง” ซึ่งมีข้อเรียกร้องต่อรัฐสภาและคณะรัฐมนตรี ดังต่อไปนี้

1. ทุกพรรคการเมือง โดยเฉพาะพรรคการเมืองฝ่ายรัฐบาล ควรรักษาคำพูดที่แถลงนโยบายไว้ และแสดงความจริงใจด้วยการเสนอร่างแก้ไขรัฐธรรมนูญ เพื่อจัดตั้งสสร. ฉบับของรัฐบาลเข้าสู่การพิจารณาพร้อมกัน เพื่อดำเนินตามนโยบายของรัฐบาลนี้ และยืนยันว่ารัฐบาลจะดำเนินการอย่างเต็มที่เพื่อให้จัดทำรัฐธรรมนูญใหม่แล้วเสร็จก่อนการเลือกตั้งในปี 2570

2. รัฐสภา ซึ่งประกอบไปด้วย สส. และ สว. ควรแสดงความจริงใจในการผลักดันการจัดทำรัฐธรรมนูญฉบับใหม่ ด้วยการยืนยันว่าจะให้ความเห็นชอบร่างแก้ไขรัฐธรรมนูญทุกฉบับและนำความคิดเห็นที่แตกต่างกันไปถกเถียงในชั้นกรรมาธิการ โดยให้ประชาชนได้มีส่วนร่วมในการออกแบบที่มาของ สสร.

3. เพื่อให้กระบวนการจัดทำรัฐธรรมนูญฉบับใหม่ได้ผลลัพธ์เป็นรัฐธรรมนูญฉบับประชาชนอย่างแท้จริง กลุ่มประชาชนร่างรัฐธรรมนูญ หรือ Con for All ขอยืนยันว่า การจัดทำรัฐธรรมนูญใหม่ ต้องเป็นการจัดทำรัฐธรรมนูญใหม่ "ทั้งฉบับ" เพื่อยืนยันหลักการอำนาจสถาปนารัฐธรรมนูญเป็นของประชาชน และเพื่อยกเลิกมรดกทางกฎหมายที่ตกทอดมาจากการรัฐประหารทั้งหมดและต้องให้ สสร. มาจากการเลือกตั้งของประชาชนโดยตรง "ทั้งหมด 100%" เน้นให้ประชาชนมีส่วนร่วมได้ ไม่มีตำแหน่งพิเศษที่มาจากช่องทางอื่นและมีอำนาจมากกว่าตัวแทนของประชาชน

/////////////////////////////

ดาวน์โหลดภาพกราฟิกเพื่อใช้รณรงค์ในแคมเปญนี้ได้ที่ https://drive.google.com/drive/folders/1YRsG2de3i-a_Rb3W1AfBePpY6yS_WnDW

ร่วมลงชื่อได้ทาง https://www.change.org/passed-256