The Issue
ในวันที่ 13 ถึง 14 กุมภาพันธ์ 2568 ที่ประชุมรัฐสภาจะมีนัดประชุมครั้งสำคัญ นั่นคือ การพิจารณาร่างรัฐธรรมนูญแห่งราชอาณาจักรไทย แก้ไขเพิ่มเติม (ฉบับที่ ..) พุทธศักราช .... หรือ ร่างแก้ไขรัฐธรรมนูญ ซึ่งมีสาระสำคัญคือ การจัดทำรัฐธรรมนูญฉบับใหม่โดยสภาร่างรัฐธรรมนูญ (สสร.) ที่มาจากการเลือกตั้ง
โดยการพิจารณาร่างแก้ไขรัฐธรรมนูญในครั้งนี้ นับเป็นครั้งแรกและนับเป็นโอกาสครั้งสำคัญของรัฐบาลและรัฐสภาที่จะผลักดันให้มีการจัดทำรัฐธรรมนูญฉบับใหม่เพื่อพาประเทศไทยออกจากวิกฤติการเมืองภายใต้รัฐธรรมนูญ ปี 2560 รวมถึงยังเป็นหนทางเดียวที่รัฐสภาและรัฐบาลจะสามารถดำเนินการจัดทำรัฐธรรมนูญใหม่ได้ทันปี 2570 ซึ่งเป็นไปตามคำแถลงนโยบายของคณะรัฐมนตรีที่แถลงต่อรัฐสภา
ที่ผ่านมา นับตั้งแต่ปี 2563 รัฐสภาเคยมีความพยายามแก้ไขรัฐธรรมนูญเพื่อจัดทำรัฐธรรมนูญใหม่ แต่สุดท้ายก็ไม่ประสบความสำเร็จ เนื่องจากในการพิจารณาในวาระที่สาม (วาระสุดท้ายก่อนประกาศใช้เป็นกฎหมาย) ที่ประชุมรัฐสภามีเสียงเห็นชอบกับการแก้ไขรัฐธรรมนูญเพื่อจัดทำรัฐธรรมนูญใหม่ไม่ถึง ‘กึ่งหนึ่งของจำนวนสมาชิกรัฐสภา’ อีกทั้ง สว. ที่มาจากการแต่งตั้งของคณะรักษาความสงบแห่งชาติ (คสช.) ยังลงมติเห็นชอบไม่ถึงหนึ่งในสามจึงทำให้ร่างแก้ไขรัฐธรรมนูญเป็นอันตกไป
แต่ในปี 2568 ภายใต้รัฐสภาชุดใหม่ ซึ่งมี สส. จากพรรคการเมืองที่มีนโยบายการจัดทำรัฐธรรมนูญใหม่ รวมกันมากกว่า 300 เสียง หากมี สว. ชุดใหม่ที่มาจากการเลือกกันเอง เห็นชอบกับร่างแก้ไขรัฐธรรมนูญเพื่อจัดทำรัฐธรรมนูญใหม่ในครั้งนี้เกินหนึ่งในสาม หรือ 67 เสียง กระบวนการจัดทำรัฐธรรมนูญฉบับใหม่ก็จะเกิดขึ้นได้จริง
โดยร่างแก้ไขรัฐธรรมนูญที่คาดว่าจะเข้าสู่การพิจารณาของรัฐสภาในวันที่ 13 และ 14 กุมภาพันธ์นี้ จะมีอย่างน้อย 2 ฉบับ ได้แก่
(1) ร่างที่เสนอโดยสส. พรรคประชาชน นำโดย พริษฐ์ วัชรสินธุ ซึ่งมีสาระสำคัญดังนี้
1.1) แก้ไขมาตรา 256 แก้ไขหลักเกณฑ์การแก้ไขรัฐธรรมนูญ
ร่างแก้ไขรัฐธรรมนูญของพรรคประชาชน กำหนดให้การแก้ไขรัฐธรรมนูญจะกระทำได้ต่อเมื่อได้รับความเห็นชอบไม่น้อยกว่ากึ่งหนึ่งของรัฐสภา (สส. และ สว.) หรือ 350 เสียง ซึ่งในจำนวนนี้ต้องมีเสียงเห็นชอบจาก สส. ไม่น้อยกว่าสองในสามของ สส. เท่าที่มีอยู่ หรือ 344 เสียง แต่หากเป็นการแก้ไขรัฐธรรมนูญในหมวด 15 การแก้ไขเพิ่มเติมรัฐธรรมนูญ หรือ การจัดทำรัฐธรรมนูญฉบับใหม่ เมื่อรัฐสภาให้ความเห็นชอบในวาระสามแล้ว จะต้องมีการจัดออกเสียงประชามติด้วย
1.2) เพิ่มหมวด 15/1 เพิ่มหมวดการจัดทำรัฐธรรมนูญใหม่
ร่างแก้ไขรัฐธรรมนูญของพรรคประชาชน กำหนดให้มีการจัดทำรัฐธรรมนูญใหม่โดยสภาร่างรัฐธรรมนูญ (สสร.) ที่มาจากการเลือกตั้งโดยตรงของประชาชน จำนวน 200 คน ซึ่งแบ่งการเลือกตั้งออกเป็นสองรูปแบบ ได้แก่
- แบบที่หนึ่ง “สสร. จังหวัด” ซึ่งมาจากการเลือกตั้งแบบแบ่งเขต โดยใช้จังหวัดเป็นเขตเลือกตั้ง จำนวน 100 คน (คล้ายกับการเลือกตั้ง สส.เขต)
- แบบที่สอง “สสร.บัญชีรายชื่อ” ซึ่งมาจากการเลือกตั้งแบบสัดส่วนบัญชีรายชื่อจำนวน 100 คน (คล้ายกับการเลือกตั้ง สส.บัญชีรายชื่อ)
โดย สสร. ที่มาจากการเลือกตั้งจะมีอำนาจหน้าที่ในการจัดทำรัฐธรรมนูญฉบับใหม่ทั้งฉบับ แต่ต้องไม่เป็นการเปลี่ยนแปลงการปกครองระบอบประชาธิปไตยอันมีพระมหากษัตริย์ทรงเป็นประมุข หรือการเปลี่ยนแปลงรูปแบบรัฐ ตามที่บัญญัติไว้ในรัฐธรรมนูญมาตรา 255
สำหรับกระบวนการยกร่างรัฐธรรมนูญฉบับใหม่ จะให้อำนาจ สสร. แต่งตั้งคณะกรรมาธิการยกร่างรัฐธรรมนูญขึ้นมาหนึ่งชุด ซึ่งประกอบไปด้วยสมาชิกอย่างน้อย 45 คน ทั้งนี้ สสร. จะมีกรอบเวลาในการจัดทำรัฐธรรมนูญฉบับใหม่ ไม่เกิน 360 วัน โดยในระหว่างการจัดทำรัฐธรรมนูญใหม่ถ้ามีการยุบสภาหรือสภาหมดวาระก็ไม่กระทบต่อการทำหน้าที่ของ สสร.
(2) ร่างที่เสนอโดยสส. พรรคเพื่อไทย นำโดย วิสุทธิ์ ไชยณรุณ ซึ่งมีสาระสำคัญดังนี้
2.1) แก้ไขมาตรา 256 แก้ไขหลักเกณฑ์การแก้ไขรัฐธรรมนูญ
ร่างแก้ไขรัฐธรรมนูญของพรรคเพื่อไทย กำหนดให้การแก้ไขรัฐธรรมนูญจะกระทำได้ต่อเมื่อได้รับความเห็นชอบไม่น้อยกว่ากึ่งหนึ่งของรัฐสภา (สส. และ สว.) หรือ 350 เสียง ทั้งในวาระหนึ่งและวาระสาม แต่หากเป็นการแก้ไขรัฐธรรมนูญในหมวดที่ 1 บททั่วไป หมวดที่ 2 พระมหากษัตริย์ และหมวดที่ 15 การแก้ไขเพิ่มเติมรัฐธรรมนูญ หรือ การจัดทำรัฐธรรมนูญฉบับใหม่ เมื่อรัฐสภาให้ความเห็นชอบในวาระสามแล้ว จะต้องมีการจัดออกเสียงประชามติด้วย
2.2) เพิ่มหมวด 15/1 เพิ่มหมวดการจัดทำรัฐธรรมนูญใหม่
ร่างแก้ไขรัฐธรรมนูญของพรรคประชาชน กำหนดให้มีการจัดทำรัฐธรรมนูญใหม่โดยสภาร่างรัฐธรรมนูญ (สสร.) ที่มาจากการเลือกตั้งโดยตรงของประชาชน จำนวน 200 คน ซึ่งใช้รูปแบบการเลือกตั้งเพียงแบบเดียว คือ “สสร. จังหวัด” ซึ่งมาจากการเลือกตั้งแบบแบ่งเขต โดยใช้จังหวัดเป็นเขตเลือกตั้ง (คล้ายกับการเลือกตั้ง สส.เขต)
โดย สสร. ที่มาจากการเลือกตั้งจะมีอำนาจหน้าที่ในการจัดทำรัฐธรรมนูญฉบับใหม่ทั้งฉบับ แต่มีข้อห้ามว่า ไม่สามารถแก้ไขหมวดที่ 1 บททั่วไป และบทที่ 2 พระมหากษัตริย์ ในรัฐธรรมนูญ ปี 2560 ได้
สำหรับกระบวนการยกร่างรัฐธรรมนูญฉบับใหม่ จะให้อำนาจ สสร. แต่งตั้งคณะกรรมาธิการยกร่างรัฐธรรมนูญขึ้นมาหนึ่งชุด ซึ่งประกอบไปด้วยสมาชิกอย่างน้อย 47 คน ทั้งนี้ สสร. จะมีกรอบเวลาในการจัดทำรัฐธรรมนูญฉบับใหม่ ไม่เกิน 180 วัน โดยในระหว่างการจัดทำรัฐธรรมนูญใหม่ถ้ามีการยุบสภาหรือสภาหมดวาระก็ไม่กระทบต่อการทำหน้าที่ของ สสร.
สำหรับร่างแก้ไขรัฐธรรมนูญของพรรคเพื่อไทย ชูศักดิ์ ศิรินิล รองหัวหน้าพรรคแถลงแนวทางว่า พรรคเพื่อไทยจะจัดทำรัฐธรรมนูญฉบับใหม่แบบ "ไม่สุดโต่ง" และจะเสนอให้มีการเลือกตั้งสสร. เพื่อมาจัดทำรัฐธรรมนูญฉบับใหม่ แต่ต้องไม่แตะต้อง "หมวด 1 หมวด 2" ของรัฐธรรมนูญ ฉบับปี 2560 คือ ไม่แก้ไขบททั่วไป และบทพระมหากษัตริย์
เมื่อดูเนื้อหาของร่างแก้ไขรัฐธรรมนูญที่ทั้งสองฉบับ ทางกลุ่มประชาชนร่างรัฐธรรมนูญ หรือ Con for All เห็นว่า หากรัฐสภาต้องการจะจัดทำรัฐธรรมนูญฉบับใหม่เพื่อให้เป็นรัฐธรรมนูญฉบับประชาชน รัฐสภาจะต้องแสดงความจริงใจในการผลักดันการจัดทำรัฐธรรมนูญฉบับใหม่ บนหลักการ “เขียนรัฐธรรมนูญใหม่ทั้งฉบับ-เลือกตั้ง สสร. 100%” ซึ่งเป็นหลักการที่มีประชาชนกว่า 211,904 คน ร่วมกันเข้าชื่อเสนอเป็นคำถามประชามติ เมื่อปี 2566
ทั้งนี้ เพื่อให้กระบวนการจัดทำรัฐธรรมนูญใหม่ดำเนินการไปอย่างสำเร็จลุล่วง ทางกลุ่ม Con for All จึงอยากเชิญชวนประชาชนลงชื่อในแคมเปญ “ผ่าน 256 สักที! อยากมี สสร. เลือกตั้ง” ซึ่งมีข้อเรียกร้องต่อรัฐสภาและคณะรัฐมนตรี ดังต่อไปนี้
1. ทุกพรรคการเมือง โดยเฉพาะพรรคการเมืองฝ่ายรัฐบาล ควรรักษาคำพูดที่แถลงนโยบายไว้ และแสดงความจริงใจด้วยการเสนอร่างแก้ไขรัฐธรรมนูญ เพื่อจัดตั้งสสร. ฉบับของรัฐบาลเข้าสู่การพิจารณาพร้อมกัน เพื่อดำเนินตามนโยบายของรัฐบาลนี้ และยืนยันว่ารัฐบาลจะดำเนินการอย่างเต็มที่เพื่อให้จัดทำรัฐธรรมนูญใหม่แล้วเสร็จก่อนการเลือกตั้งในปี 2570
2. รัฐสภา ซึ่งประกอบไปด้วย สส. และ สว. ควรแสดงความจริงใจในการผลักดันการจัดทำรัฐธรรมนูญฉบับใหม่ ด้วยการยืนยันว่าจะให้ความเห็นชอบร่างแก้ไขรัฐธรรมนูญทุกฉบับและนำความคิดเห็นที่แตกต่างกันไปถกเถียงในชั้นกรรมาธิการ โดยให้ประชาชนได้มีส่วนร่วมในการออกแบบที่มาของ สสร.
3. เพื่อให้กระบวนการจัดทำรัฐธรรมนูญฉบับใหม่ได้ผลลัพธ์เป็นรัฐธรรมนูญฉบับประชาชนอย่างแท้จริง กลุ่มประชาชนร่างรัฐธรรมนูญ หรือ Con for All ขอยืนยันว่า การจัดทำรัฐธรรมนูญใหม่ ต้องเป็นการจัดทำรัฐธรรมนูญใหม่ "ทั้งฉบับ" เพื่อยืนยันหลักการอำนาจสถาปนารัฐธรรมนูญเป็นของประชาชน และเพื่อยกเลิกมรดกทางกฎหมายที่ตกทอดมาจากการรัฐประหารทั้งหมดและต้องให้ สสร. มาจากการเลือกตั้งของประชาชนโดยตรง "ทั้งหมด 100%" เน้นให้ประชาชนมีส่วนร่วมได้ ไม่มีตำแหน่งพิเศษที่มาจากช่องทางอื่นและมีอำนาจมากกว่าตัวแทนของประชาชน
/////////////////////////////
ดาวน์โหลดภาพกราฟิกเพื่อใช้รณรงค์ในแคมเปญนี้ได้ที่ https://drive.google.com/drive/folders/1YRsG2de3i-a_Rb3W1AfBePpY6yS_WnDW
ร่วมลงชื่อได้ทาง https://www.change.org/passed-256