วิพากษ์วัฒนธรรมโทษเหยื่อ และการแก้ระดับปัจเจกชน ต่อปัญหาอาชญากรรม ‘ดูดเงิน’ ออนไลน์
มติชนสุดสัปดาห์ ฉบับวันที่ 27 มกราคม - 2 กุมภาพันธ์ 2566
โดย ษัษฐรัมย์ ธรรมบุษดี
11 ธันวาคม พ.ศ.2567
ในช่วงปลายปีที่ผ่านมาต่อเนื่องถึงปีแรกของปี 2566 เหยื่อต่อปัญหาโอนเงินออนไลน์ บางรายอาจสูญเสียเงินหลักพัน หลักหมื่น เหยื่อหลายรายได้รับผลกระทบถึงเงินที่เก็บมาทั้งชีวิตต้องสูญไป
แน่นอนที่สุดเรื่องนี้จบลงในระดับปัจเจกชน การแก้ไขของหน่วยงานที่เกี่ยวข้องคือการตักเตือนให้ประชาชนเกิดความระวังตัว ไม่กดแอพพลิเคชั่นที่ไม่รู้จัก
หรือกระทั่งบางคนที่พอมีทุนทรัพย์ก็หันไปออกโทรศัพท์เครื่องละหลายหมื่นโดยเชื่อว่าสร้างความปลอดภัยมากกว่า
หลายคนก็สับเปลี่ยนการถือครองสินทรัพย์ต่างๆ กลายเป็นเรื่องสร้างความหวาดวิตกไปทั่ว
สำหรับผู้คนที่เป็นเหยื่อนั้น ภายหลังพวกเขาส่วนมากพบว่า ฝั่งตรงข้ามของพวกเขาไม่ได้มีเพียงแค่อาชญากรออนไลน์เท่านั้น
เจ้าหน้าที่ตำรวจ และธนาคาร ก็กลับไม่ได้ช่วยเหลือพวกเขาเต็มที่ ราวกับว่าเป็น “ความผิด” ของพวกเขาในการที่ไม่ระวัง
และมีเพียงคำปลอบใจแกนๆ ว่า “ใครๆ ก็โดนเรื่องนี้กัน”
หากซ้ำร้ายก็จะมีกระแสสังคมและครอบครัวที่โทษว่าเป็น “เคราะห์กรรม” หรือไม่ก็ “ความโลภ” และไม่ระวังตัว ซึ่งมักเกิดบ่อยๆ ในสังคมไทย
เจ้าหน้าที่ตำรวจมักบอกว่า “มิจฉาชีพมีความเก่งกว่าตำรวจมาก”
ธนาคารก็บอกว่าเกินอำนาจรับผิดชอบในเรื่องนี้ ทำได้แต่อายัดบัญชีปลายทางและฟ้องร้องตัวอาชญากรตัวจริงต่อไป
คำถามสำคัญคือเรื่องเหล่านี้ นอกจากการแก้ผ่านการดูแลกันเองไปเรื่อยๆ มันมีต้นตอและทางแก้อย่างไร
คําถามแรก คือความหละหลวมของการปกป้องข้อมูลและระบบป้องกันภัยของธนาคาร
ทุกวันนี้ข้อมูลกลายเป็นสิ่งที่มีค่ามีราคา เพราะมันไม่ได้หมายถึงแหล่งการจับจ่ายของลูกค้าอย่างเดียว
ข้อมูลยังเป็นทุนสำคัญในการกำหนดพฤติกรรมของผู้บริโภค การเปลี่ยนแปลงวิถีชีวิต
ดังนั้น ข้อมูลจึงถูกซื้อขายแลกเปลี่ยนทั้งถูกต้องตามกฎหมาย สีเทาๆ หรือกระทั่งสีดำ
ข้อมูลของผู้ใช้ ไม่ว่าจะเป็นทางระบบออนไลน์ ระบบโทรศัพท์ถูกส่งต่อให้บริษัทการตลาดที่ถูกต้องบ้าง หรือมีการรั่วไหลอย่างมากโดยตั้งใจ โดยที่เจ้าของข้อมูลไม่สามารถตัดสินเรื่องนี้ได้
สิ่งเหล่านี้ทำให้เกิดปัญหาใหญ่ที่เราตั้งคำถามอยู่ตลอดว่า “มิจฉาชีพพวกนี้” รู้จักเบอร์เราได้อย่างไร มีข้อมูลได้อย่างไร ซึ่งไม่ได้เกิดจากการใช้งานของเราเพียงอย่างเดียว
เพราะเราเองก็มักได้รับข้อเสนอจากทางบริษัทประกัน ธนาคาร ค่ายมือถือ ที่เราไม่ได้รับการร้องขอหรือเกี่ยวข้องทางออนไลน์เสมอ
จุดนี้นับเป็นจุดเริ่มต้นของความไม่ปลอดภัยของการใช้ข้อมูลทางอินเตอร์เน็ตที่เราต้องได้รับการปฏิบัติ ในฐานะสิทธิส่วนตัวพื้นฐาน ไม่น้อยกว่าการคุ้มครองสิทธิมนุษยชนด้านอื่นๆ
ความลอยตัวของธนาคารและเจ้าหน้าที่รัฐ?
คําพิพากษาศาลฎีกาที่ 1989/2552 ว่าด้วย พ.ร.บ.ว่าด้วยข้อสัญญาที่ไม่เป็นธรรม พ.ศ.2540 มาตรา 4 ได้มีคำพิพากษาแล้วว่าบัตรเครดิต หรือบัตรเดบิตที่ถูกโจรกรรมไป โดยที่ผู้เสียหายต้องชำระหนี้แก่ธนาคารเข้าข่ายสัญญาที่ไม่เป็นธรรม เช่นเดียวกันกับปี 2554-2555 ศาลชั้นต้นก็มีการพิพากษาต่อกรณีการใช้บัตรเดบิตซื้อสินค้าซึ่งพิสูจน์ได้ว่าไม่ได้เป็นธุรกรรมโดยเจ้าของบัตร
ดังนั้น จะเห็นได้ว่ามีแนวปฏิบัติที่ชัดเจนในทางกฎหมาย
และกรณีเหล่านี้ไม่ใช่เป็นกรณีใหม่ เป็นสิ่งที่เกิดขึ้นมานับสิบปีในประเทศไทยแล้ว
เพียงแค่ว่าในปัจจุบันคนใช้งานธุรกรรมออนไลน์มากขึ้น ก็มีเหยื่อมากขึ้น
แต่สิ่งเหล่านี้ไม่ใช่สิ่งใหม่แต่อย่างใดทั้งในไทยและต่างประเทศ
คำถามคือ ธนาคารและเจ้าหน้าที่ของรัฐก็ยังคงมีแนวปฏิบัติเหมือนเดิมเหมือนเมื่อสิบกว่าปีก่อน ทั้งๆ ที่มีแนวปฏิบัติที่ชัดเจนว่าด้วยเงื่อนไขทางคดีความ
จากความเห็นของผู้เสียหายหลายรายประสบปัญหาเดียวกันคือ ธนาคารไม่ให้ข้อมูลพื้นฐานที่สำคัญกับทางคดี ซึ่งจะใช้เป็นหลักฐานในการทุเลาความเสียหายในทางธุรกรรม
เลือกที่จะทำให้ทุกอย่างยาวนานยืดเยื้อ
และผู้เสียหายที่ไม่มีอำนาจต่อรอง ไม่มีเวลา หรือพื้นที่ที่จะได้รับความสนใจ ก็ปล่อยให้เรื่องเงียบหายไป
ทำไมเรื่องนี้ถึงเกิดกับคนธรรมดามากกว่าคนรวย?
มีการตั้งคำถามเช่นกันว่า ทำไมเหล่ามิจฉาชีพถึงไม่ทำการโจรกรรมคนรวยที่มีทรัพย์สินมากมายที่เงินหายหลักแสนหลักล้านก็ไม่กระทบอะไร ทำไมถึงจ้องกับคนธรรมดาที่เงินหลักพันหลักหมื่นก็เป็นเงินที่สำคัญสำหรับชีวิตพื้นฐานของแต่ละคน และเงินหลักแสนก็หมายถึงเงินเก็บทั้งชีวิต
ด้วยสาเหตุเบื้องต้นคือคนรวยมีสินทรัพย์ที่ไม่ต้องใช้ในชีวิตประจำวันมหาศาล พวกเขาสามารถแบ่งทรัพย์สินให้อยู่ในสินทรัพย์ที่สภาพคล่องต่ำได้
ส่วนสินทรัพย์ที่สภาพคล่องสูงก็เป็นการจัดการผ่านรูปแบบบริษัท หรือองค์กรธุรกิจที่มีความปลอดภัยสูง
ขณะที่คนธรรมดาการเก็บเงินที่มีความจำเป็นให้อยู่ในสินทรัพย์ที่มีสภาพคล่องสูงสุดนับเป็นสิ่งจำเป็น อย่างเลี่ยงไม่ได้จึงไม่ต้องตั้งคำถามว่าเหตุใดถึงเก็บเงินไว้เยอะแยะขนาดนั้น
ปัญหาสำคัญคือกลุ่มธุรกิจการเงินขนาดใหญ่กำลังลอยตัวในเรื่องนี้ ที่ควรต้องรับผิดชอบต่อความเสียหายที่เกิดจากความบกพร่องของระบบความปลอดภัยพื้นฐาน มากกว่าจะมองว่าเป็นเรื่องส่วนตัว หรือเรื่องเคราะห์กรรมเฉพาะของแต่ละคน
มูลค่าความเสียหายต่อการโจรกรรมทางอินเตอร์เน็ตสูงมาก แต่ถูกให้ความสำคัญน้อยกว่าที่ควรจะเป็นทั้งมาตรการด้านความปลอดภัยและการชดเชยเยียวยาในเรื่องนี้ ที่เราจำเป็นต้องเปลี่ยนแปลงทัศนคติของสังคมต่อเรื่องนี้ไปพร้อมกันด้วยว่า เรื่องนี้ไม่ใช่เรื่อง “ความโชคร้าย” และ “ไม่ใช่ทุกคนที่สามารถเริ่มใหม่ได้”
เราควรสร้างแรงกดดันไปที่เจ้าหน้าที่รัฐในการทำงาน และธนาคารให้มีมาตรการมากกว่าการป้องกัน ป้องปราม
แต่ต้องมีมาตรการชดเชยเยียวยาในเรื่องนี้ด้วย
และต้องนิยามความเสียหายจากการโจรกรรมให้ครอบคลุมมากกว่าศตวรรษก่อน
หากเกิดโจรปล้นธนาคารธนาคารย่อมชดเชยความเสียหายต่อลูกค้าผู้รับบริการ
เช่นเดียวกันเมื่อวันนี้ธนาคารมาอยู่ในมือถือก็ย่อมต้องเป็นความรับผิดชอบของธนาคารอยู่เช่นกันในการป้องกัน และการชดเชยเยียวยายังเป้นสิ่งจำเป็นที่ต้องกระทำโดยไว
จึงเป็นเรื่องที่น่าคิดว่าหรือเป็นเพียงเพราะเรื่องนี้เกิดกับคนธรรมดาทั่วไปในประเทศนี้ ทุนการเงินและรัฐจึงปล่อยผ่านเรื่องนี้เหมือนกับความทุกข์ร้อนอื่นๆ ของประชาชนในประเทศนี้ที่ถูกทำให้เป็นเคราะห์กรรม ความประมาทส่วนตน
ที่ไม่ได้เกี่ยวข้องกับระบบของผู้ประกอบการที่ผิดพลาดและระบบยุติธรรมอันล่าช้า?
https://www.matichonweekly.com/column/article_644075