วันอาทิตย์, ธันวาคม 08, 2567

ชวนทำความรู้จักแนวร่วมกลุ่มต่อต้านรัฐบาลอัสซาด มีที่มาอย่างไร และทำไมถึงสามารถยึดเมืองสำคัญอย่างรวดเร็ว?



แนวร่วมกบฏซีเรียฉวยจังหวะรัสเซีย-อิหร่านยุ่ง ยึดอเลปโปจากรัฐบาลอัสซาด

7 ธันวาคม 2567
ประชาไท

แนวร่วมกลุ่มต่อต้านรัฐบาลอัสซาดนำโดย HTS และกองทัพแห่งชาติซีเรียที่ได้รับการสนับสนุนจากตุรกี ร่วมปฏิบัติการ "ป้องปรามการรุกราน" บุกยึดเมืองเศรษฐกิจสำคัญอย่างอเลปโป ขณะที่พันธมิตรของรัฐบาลอย่างรัสเซียและอิหร่านกำลังวุ่นวายกับสงครามในที่อื่น ชวนทำความรู้จักแนวร่วมกลุ่มกบฏเหล่านี้ประกอบด้วยใครบ้าง และมีที่มาอย่างไร และทำไมถึงสามารถยึดเมืองสำคัญอย่างรวดเร็ว?

แนวร่วมกองกำลังฝ่ายต่อต้านในซีเรียได้ปฏิบัติการโจมตีแบบสายฟ้าแล๊บ สามารถยึดพื้นที่ส่วนใหญ่ของเมืองอเลปโปเอาไว้ได้ และขับไล่กองกำลังฝ่ายรัฐบาลออกจากเมือง

ในบริบทของการเมืองซีเรียนั้น ประกอบด้วยกลุ่มกบฏฝ่ายต่อต้านหลายกลุ่มสู้รบกับรัฐบาลเผด็จการ บาชาร์ อัล อัสซาด หลังจากที่ในปี 2554 อัสซาดได้โต้ตอบการชุมนุมประท้วงอย่างสันติด้วยความรุนแรง จนทำให้ประชาชนจับอาวุธขึ้นสู้ มีการก่อตั้งกลุ่มกองกำลังฝ่ายต่อต้านขึ้นมาหลายกลุ่ม และกลุ่มเหล่านี้มีแนวทางแตกต่างกันไป บางทีก็ร่วมมือกันบางทีก็แยกกัน สับเปลี่ยนไปมาหลายครั้ง แต่กลุ่มต่อต้านก็เริ่มรุกคืบยึดพื้นที่จากฝ่ายรัฐบาลได้อย่างรวดเร็ว โดยเฉพาะตั้งแต่ปี 2559 เป็นต้นมา

ในหมู่กลุ่มแนวร่วมฝ่ายต่อต้านของซีเรียนั้นมีปฏิบัติการร่วมกันที่เรียกว่า Deterrence of Aggression หรือแปลตรงตัวว่าปฏิบัติการ "ป้องปรามการรุกราน" ซึ่งเป็นการปฏิบัติการรุกคืบยึดอเลปโปได้อย่างรวดเร็วในครั้งนี้

"ป้องปรามการรุกราน" ยึดอเลปโปคืนจากฝ่ายรัฐบาล

เมื่อ 8 ปี ก่อนหน้านี้ รัสเซียได้เข้ามาช่วยเหลือรัฐบาลอัสซาดในการรุกยึดเมืองอเลปโปอย่างรวดเร็วจากกลุ่มกบฏ ทำให้อัสซาดกลับมามีแต้มต่อในสงครามกลางเมืองซีเรีย แต่เมื่อไม่นานนี้ก็มีกลุ่มแนวร่วมฝ่ายต่อต้านของซีเรียภายใต้ธงปฏิบัติการ "ป้องปรามการรุกราน" ได้ทำการยึดเมืองอเลปโปไว้ได้ภายในเวลา 72 ชั่วโมง และได้รุกคืบต่อไปถึงเมืองฮามา ทำให้เกิดการยกระดับความขัดแย้งในซีเรียและเป็นการสร้างผลกระทบอย่างหนักต่ออัสซาด

กลุ่มปฏิบัติการ "ป้องปรามการรุกราน" นี้ประกอบด้วยกลุ่มติดอาวุธฝ่ายต่อต้านสายอิสลามหลายกลุ่มที่ถึงแม้ว่าจะมีแนวทางแตกต่างกันแต่ก็ร่วมมือกันสู้รบต่อต้านทั้งอัสซาด, ไอซิส และกลุ่มติดอาวุธอื่นๆ ที่ได้รับการหนุนหลังโดยอิหร่าน

แนวร่วมนี้เริ่มต้นพัฒนามาจากศูนย์บัญชาการ ฟาตาห์ อัล-มูบิน ที่เป็นศูนย์บัญชาการปฏิบัติการต่างๆ ของกลุ่มกบฏในทางตะวันตกเฉียงเหนือของซีเรียภายใต้การควบคุมของรัฐบาลกอบกู้ซีเรีย SSG ซึ่งมีการก่อตั้งมาตั้งแต่ปี 2560 เป็นกลุ่มสายการเมืองที่ตั้งอยู่ที่เมืองอิดลิบในพื้นที่ทางตอนเหนือที่ฝ่ายกบฏควบคุมอยู่

ฮายัต ทาห์รีร์ อัล-ซัม HTS

ในปฏิบัติการ "ป้องปรามการรุกราน" นี้ กลุ่มที่น่าจะเป็นที่รู้จักมากที่สุดและมีความเข้มแข็งมากที่สุดกลุ่มหนึ่ง มีชื่อว่า ฮายัต ทาห์รีร์ อัล-ซัม HTS หรือที่รู้จักในอีกชื่อหนึ่งคือองค์กรเพื่อการปลดปล่อยลิแวนต์ กลุ่มๆ นี้ก่อตั้งโดย อาบู โมฮัมหมัด อัล-กอลานี ผู้บัญชาการทหารที่มีประสบการณ์การรบมาตั้งแต่วัยหนุ่ม ในตอนนั้นเขาอยู่ในกลุ่มอัลกออิดะห์ที่อิรักและได้ทำการสู้รบต่อต้านสหรัฐฯ ในช่วงที่สหรัฐฯ บุกโจมตีอิรัก โดยที่ต่อมา กอลานี ก็ถูกจับกุมตัวและคุมขังในอิรัก

หลังจากที่กอลานีได้รับการปล่อยตัวเขาก็เดินทางไปที่ซีเรียเพื่อก่อตั้งกลุ่มจาบัต อัล-นุสรา ซึ่งเป็นกลุ่มในสังกัดของอัลกออิดะห์ที่ซีเรีย ก่อนที่ต่อมาจะแยกตัวจากอัลกออิดะห์ในปี 2559 เพราะไม่ลงรอยกันในทางอุดมการณ์กับเรื่องแนวทางการต่อต้านไอซิส ทำให้กอลานีหันมาตั้งกลุ่ม HTS ในช่วงต้นปี 2560

ถึงแม้ว่ากอลานีจะพยายามทำให้กลุ่มใหม่ของเขาวางตัวออกห่างจากอัลกอดิดะฮ์และไอซิส แต่สหรัฐฯ และประเทศตะวันตกก็ยังคงจัดให้กลุ่ม HTS นับเป็นกลุ่มก่อการร้าย และมีการตั้งค่าหัวกับกอลานี 10 ล้านดอลลาร์ ในตอนที่กอลานีให้สัมภาษณ์กับสื่อ PBS เขาปฏิเสธการถูกแปะป้ายว่าเป็นผู้ก่อการร้ายและบอกว่ากลุ่ม HTS "ไม่ได้เป็นภัยต่อชาติตะวันตกหรือสังคมยุโรป"

ในช่วงที่ฝ่ายอัสซาดสามารถยึดอเลปโปจากฝ่ายกบฏไว้ได้ในปี 2559 กลุ่ม HTS ก็ต้องล่าถอยไปปักหลักอยู่ที่อิดลิบ เมืองทางตะวันออกของอเลปโป และได้ทำการควบคุมเมืองอิดลิบโดยมีกำลังพลอยู่ราว 30,000 นาย

นาตาชา ฮอลล์ นักวิจัยอาวุโสโครงการตะวันออกกลางที่ศูนย์เพื่อการศึกษายุทธศาสตร์และนานาชาติกกล่าวว่า HTS มีอำนาจควบคุมภาคส่วนเศรษฐกิจแทบทั้งหมดในอิดลิบ และยังเป็นกลุ่มหลักที่ดำเนินปฏิบัติการโจมตีเพื่อยึดคืนอเลปโปครั้งล่าสุดด้วย

แนวร่วม "กองทัพแห่งชาติซีเรีย" SNA

กลุ่มแนวร่วมหลักที่มีส่วนในการโจมตียึดคืนอเลปโปคือแนวร่วมกบฏที่ชื่อ กองทัพแห่งชาติซีเรีย หรือ SNA ซึ่งมีกลุ่มกบฏหลายสิบกลุ่มจากหลากหลายอุดมการณ์เข้าไปเป็นแนวร่วม มีหลายกลุ่มในที่นี้ได้รับเงินสนับสนุนและการติดอาวุธจากตุรกี จนเปรียบได้กับการเป็นผู้ทำสงครามตัวแทนสำหรับตุรกี เช่น กลุ่มอาห์ราร์ อัล-ชัม ที่มีเป้าหมายโค่นล้มรัฐบาลอัสซาดแล้วจัดตั้งรัฐอิสลามภายใต้กฎหมายชะรีอะฮ์

ผู้เชี่ยวชาญหลายคนระบุว่าอาห์ราร์ อัล-ชัม เป็นกลุ่มอิสลามสายกลาง หลังจากที่มีการยึดเมืองอเลปโปกลับมาเป็นของฝ่ายกบฏ รองผู้บัญชาการของกองกำลังนี้คือ อาห์เหม็ด อัล-ดาลาตี ได้รับคำสั่งให้รวบรวมผู้นำศาสนาอิสลามในพื้นที่เพื่อกำชับให้พวกเขาคอยคุ้มครองชนกลุ่มน้อยทางเชื้อชาติและศาสนาที่อยู่ในอเลปโป ไม่ว่าจะเป็นชาวคริสต์ ชาวอาร์เมเนีย หรือผู้ที่มาจากนิกายใดก็ตาม ไม่ใช่แค่ชาวมุสลิมเท่านั้น

อย่างไรก็ตามนักวิชาการอย่างฮอลล์ก็มองว่าการใช้กลุ่มติดอาวุธที่ได้รับการหนุนหลังจากตุรกีนั้นอาจจะก่อปัญหาได้ เพราะกลุ่มกองกำลังชาวเคิร์ด ซึ่งเป็นกลุ่มติดอาวุธที่มีส่วนร่วมในสงครามกลางเมืองของซีเรียด้วย เป็นกลุ่มที่มีความขัดแย้งกับตุรกีมาเป็นเวลานานแล้ว และตุรกีก็มักจะมีปฏิบัติการทหารโจมตีกลุ่มกองกำลังพรรคแรงงานเคิร์ดดิสถาน PKK อยู่หลายครั้ง ซึ่งตุรกีอ้างว่ากลุ่ม PKK นี้เป็นกลุ่มก่อการร้าย

"แทนที่จะต่อสู้เพิ่อสิ่งที่ถูกต้องสำหรับประชาชนชาวซีเรีย แต่พวกเขา(ตุรกี)ก็ต่อสู้เพื่อรัฐบาลของตุรกีเอง" ฮอลล์กล่าว

กลุ่มอื่นๆ ที่ร่วมปฏิบัติการยึดอเลปโป

นอกจากนี้แล้ว ยังมีกลุ่มอื่นๆ ที่ร่วมปฏิบัติการยึดอเลปโป เช่น กลุ่มแนวหน้าแห่งชาติเพื่อการปลดปล่อยหรือ NFL ที่ประกอบด้วยกลุ่มย่อยอื่นๆ ทางตอนเหนือของซีเรีย อย่าง จาอิช อัล-นัซร์, ชัมคอร์ป และฟรีอิดลิบอาร์มี เป็นกลุ่มที่ก่อตั้งมาตั้งแต่ปี 2561 ที่อิดลิบ มีบางกลุ่มที่อยู่ใต้ร่มของฟรีซีเรียนอาร์มี เป็นอีกหนึ่งกลุ่มที่คอยต่อสู้เพื่อต้านทานไม่ให้กองกำลังรัฐบาลอัสซาดเคลื่อนพลเข้ายึดอิดลิบ

กลุ่มต่อมาคือ จาอิช อัล-อิซซา ซึ่งเป็นส่วนหนึ่งของฟรีซีเรียนอาร์มี เน้นปฏิบัติการที่ส่วนเหนือของฮามาและบางส่วนของลัตตาเคีย มีการประเมินว่าพวกเขามีกำลังพลอยู่ราว 2,000-5,000 นาย และได้รับการสนับสนุนจากตะวันตกซึ่งรวมถึงการได้รับอาวุธอานุภาพสูงด้วย

อีกกลุ่มหนึ่งคือ นูร์ เอดดิน ซินกี เป็นกลุ่มที่มีอิทธิพลกลุ่มหนึ่งที่ตั้งขึ้นเมื่อปี 2557 พวกเขาพยายามเข้าร่วมกับ HTS ในปี 2560 แต่ก็ไม่สำเร็จเพราะซินกีได้แยกตัวออกมาแล้วก็สู้รบกันเองในปี 2561 จนกระทั่งซินกีพ่ายแพ้ถูกขับออกจากอเลปโปเมื่อต้นปี 2562 แต่อีกหนึ่งปีให้หลังซินกีก็เจรจาต่อรองคืนดีกับ HTS นักรบของพวกเขากลับมาต่อสู้ในแนวหน้าของการรบและมีส่วนในปฏิบัติการยึดอเลปโปครั้งล่าสุด

อะไรทำให้ฝ่ายกบฏในซีเรียยึดคืนอเลปโปได้อย่างรวดเร็ว

ในความขัดแย้งสงครามกลางเมืองที่ซีเรียนั้น มีผู้เล่นในเวทีโลกเข้ามามีส่วนเกี่ยวข้องด้วย ไม่ว่าจะเป็นชาติตะวันตก รัสเซีย อิหร่าน หรือตุรกี ฝ่ายต่อต้านรัฐบาลอัสซาดในซีเรียนั้นเดิมทีไม่ได้มีศูนย์กลางชัดเจนและมีแนวทางอุดมการณ์แตกต่างกันไป ทำให้บางกลุ่มอาจจะสู้รบกันเอง ในช่วงระหว่างที่มีการสู้รบนั้น กลุ่มที่สุดโต่งกว่าอย่าง อัลกออิดะฮ์ และ ไอซิส ก็เริ่มแสดงความต้องการแผ่อิทธิพลในซีเรีย แต่ทว่า กลุ่มกบฏในซีเรียจำนวนมากเป็นกลุ่มสายกลางที่ไม่ยอมรับอัลกออิดะห์และไอซิส

สหรัฐฯ และชาติตะวันตกในตอนนั้นมีความกลัวว่าไอซิสจะทำให้ซีเรียกลายเป็นศูนย์กลางการก่อการร้ายโดยถาวรจึงได้ยื่นมือเข้าไปช่วยเหลือกลุ่มติดอาวุธที่พวกเขาไว้ใจเพื่อให้ช่วยจัดการกับไอซิส คือ กองกำลังประชาธิปไตยซีเรียน SDF ซึ่งเป็นนักรบชาวเคิร์ด ส่วนรัฐบาลรัสเซียกับอิหร่านนั้นคอยหนุนหลังรัฐบาลเผด็จการอัสซาดอยู่ก่อนแล้ว ขณะที่ตุรกีก็ได้หนุนหลังกองกำลังอีกฝ่ายหนึ่งดังที่กล่าวถึงก่อนหน้านี้

ต่อมาในปี 2563 รัสเซียและตุรกีได้ตกลงหยุดยิงในอิดลิบและตกลงว่าจะจัดตั้งพื้นที่ความมั่นคงที่จะลาดตระเวณร่วมกัน หลังจากนั้นก็ไม่มีเหตุการณ์ใหญ่ๆ อะไรเกิดขึ้นกับการสู้รบในซีเรียจนกระทั่งเหตุการณ์ยึดอเลปโปล่าสุด

มีการประเมินว่าสิ่งที่ทำให้กลุ่มกบฏในซีเรียร่วมกันกลับมารุกคืบในครั้งนี้น่าจะเป็นการฉวยโอกาสในช่วงที่รัฐบาลอัสซาดกำลังอ่อนแอลง เนื่องจากพันธมิตรหลักๆ ของเขาอย่างรัสเซีย และอิหร่าน ต่างก็กำลังยุ่งอยู่กับการสู้รบที่อื่น

มุสตาฟา อับดุล จาเบอร์ หนึ่งในผู้บัญชาการของกลุ่มจาอิช อัล-อิซซา มองว่าสาเหตุที่ปฏิบัติการยึดอเลปโปประสบความสำเร็จอย่างรวดเร็วนั้นน่าจะเป็นเพราะฝ่ายรัฐบาลอัสซาดขาดกำลังพลจากอิหร่านมาช่วยโต้ตอบพวกเขา

รัสเซียเริ่มรุกรานยูเครนในปี 2565 และตั้งแต่นั้นมาก็ทุ่มเททรัพยากรทางการทหารไปกับยูเครน ส่วนอิร่านนั้นกำลังเผชิญกับการโจมตีอย่างต่อเนื่องจากอิสราเอล ทำให้นักวิเคราะห์มองว่ากลุ่มกบฏในซีเรียได้อาศัยช่องโหว่ช่วงนี้ปฏิบัติการรุกคืบ

การยึดอเลปโปได้นั้นส่งผลเสียต่ออัสซาดอย่างมากเพราะอเลปโปเป็นเมืองใหญ่ที่สุดในแง่ประชากรและเศรษฐกิจ รวมถึงเป็นเมืองเก่าแก่ มีการประเมินว่าฝ่ายกบฏน่าจะรุกคืบต่อไปทางตอนใต้คือฮามา และฮอม โดยที่ฮามานั้นเป็นเมืองสำคัญในแง่ของการเป็นเส้นทางลำเลียงเสบียงระหว่างอเลปโปกับเมืองหลวงดามัสกัส


เรียบเรียงจาก
Syrian rebels have taken Aleppo, the country’s second biggest city. Here’s who they are, CNN, 03-12-2024
Who are Hayat Tahrir al-Sham and the Syrian groups that took Aleppo?, Aljazeera,
02-12-2024
What’s happening in Syria? A simple guide, CNN, 05-12-2024

(https://prachatai.com/journal/2024/12/111616)