วันเสาร์, ธันวาคม 21, 2567

20 ธันวาคม 2567 ศาลสมุทรสาครยกคำร้องว่าสยามไม่ใช่บุคคลสาบสูญ โดยให้เหตุผลว่า สยามยังมีหมายจับมาตรา 112 และเชื่อว่าอาจหลบซ่อนอยู่ แต่ทุกคนเชื่อ ว่า กรณีของสยามนั้นไม่ต่างจากผู้ลี้ภัยคนอื่นๆ คือ ถูก ‘อุ้มหาย’



สยาม ธีรวุฒิ บุคคลสูญหายที่ยังไม่มีสิทธิสาบสูญ

20 ธ.ค. 67
รุ่งฤทธิ์ เพ็ชรรัตน์
Thairath Plus

Summary
  • สยาม ธีรวุฒิ ถูกหมายจับมาตรา 112 จากการแสดงละคร ‘เจ้าสาวหมาป่า’ และลี้ภัยออกจากประเทศหลังรัฐประหาร 2557 จากนั้นมีข่าวถูกจับกุมและส่งกลับไทยในปี 2562 แต่ไม่มีใครทราบว่าหน่วยงานใดเป็นผู้จับกุม
  • ตั้งแต่รัฐประหาร 2557 สยามเป็นหนึ่งใน 9 ผู้ลี้ภัยทางการเมืองที่ถูกบังคับให้สูญหาย หรือ ‘อุ้มหาย’ โดยไม่มีใครทราบชะตากรรมหรือได้ข่าว โดย 2 คนจากทั้งหมดถูกพบเสียชีวิตแล้ว
  • แม่ของสยามยื่นคำร้องต่อศาลให้สยามที่ ‘สูญหาย’ เป็นบุคคล ‘สาบสูญ’ เพื่อจะได้ดำเนินการต่างๆ ทางแพ่งได้ แต่ศาลยกคำร้อง เพราะสยามมีหมายจับ และเชื่อว่าอาจหลบซ่อนอยู่
หลังสูญหายไปตั้งแต่ปี 2562 ไม่มีใครรู้ว่า สยาม ธีรวุฒิ อยู่ที่ไหน ชะตากรรมของคนหนุ่มที่หากเขา ‘ยังอยู่’ จะมีอายุ 38 ปี ถูกกำกับด้วยเครื่องหมายคำถามมาเป็นเวลา 5 ปี ไม่มีใครเคยได้ข่าว และทุกคนเชื่อว่า กรณีของสยามนั้นไม่ต่างจากผู้ลี้ภัยคนอื่นๆ คือ ถูก ‘อุ้มหาย’

กัญญา ธีรวุฒิ แม่ของสยาม ยื่นคำร้องต่อศาลเมื่อ 20 กันยายน 2567 เพื่อสั่งให้ สยาม ธีรวุฒิ ที่ ‘สูญหาย’ ไป 5 ปี เป็น ‘บุคคลสาบสูญ’ ตามประมวลกฎหมายแพ่งและพาณิชย์ มาตรา 61 เพื่อให้ครอบครัวมีสิทธิและหน้าที่ในการดำเนินการต่างๆ ทางแพ่ง เพื่อใช้สิทธิในฐานะทายาท

วันนี้ 20 ธันวาคม 2567 ศาลสมุทรสาครยกคำร้องว่าสยามไม่ใช่บุคคลสาบสูญ เพราะยังมีหมายจับมาตรา 112 และเชื่อว่าอาจหลบซ่อนอยู่

บุคคลสาบสูญคืออะไร

บุคคลสาบสูญคือการสิ้นสภาพ ‘บุคคล’ ถูกระบุไว้ในประมวลกฎหมายแพ่งและพาณิชย์ ว่า

“มาตรา 61 ถ้าบุคคลใดได้ไปจากภูมิลำเนาหรือถิ่นที่อยู่ และไม่มีใครรู้แน่ว่าบุคคลนั้นยังมีชีวิตอยู่หรือไม่ตลอดระยะเวลา 5 ปี เมื่อผู้มีส่วนได้เสียหรือพนักงานอัยการร้องขอ ศาลจะสั่งให้บุคคลนั้นเป็นคนสาบสูญก็ได้”

ซึ่งหากเข้าข่ายมาตรา 61 แล้ว ก็จะตามมาด้วยมาตรา 62 ที่บอกว่า

“มาตรา 62 บุคคลซึ่งศาลได้มีคำสั่งให้เป็นคนสาบสูญ ให้ถือว่าถึงแก่ความตายเมื่อครบกำหนดระยะเวลาดังที่ระบุไว้ในมาตรา 61”

เมื่อศาลยกคำร้องของกัญญา โดยให้เหตุผลว่าอาจหลบซ่อนอยู่ แปลความตรงตัวว่า ศาลเชื่อว่าสยามยังมีชีวิตอยู่ และยังคงหลบหนีคดี

หรือนัยหนึ่งอาจพูดได้ว่า การยกคำร้องคือการไม่ยอมให้สยามได้มีสิทธิตายทางกฎหมาย

สยาม ธีรวุฒิ คือใคร

ไอซ์ - สยาม ธีรวุฒิ เป็นคนอำเภอกระทุ่มแบน จังหวัดสมุทรสาคร จบการศึกษาจากคณะรัฐศาสตร์ มหาวิทยาลัยรามคำแหง

สยามคือผู้ต้องหาคดีมาตรา 112 จากการแสดงละครเรื่อง ‘เจ้าสาวหมาป่า’ ที่ถูกแจ้งความและดำเนินคดีตาม มาตรา 112 ในปี 2556 จนผู้เกี่ยวข้องกับการจัดทำละคร ภรณ์ทิพย์ มั่นคง และ ปติวัฒน์ สาหร่ายแย้ม ถูกจับกุมตัวและต้องโทษจำคุก 2 ปี ส่วนสยามลี้ภัยออกจากประเทศหลังรัฐประหาร 2557 และมีการรื้อฟื้นคดีมาตรา 112 - ขณะนั้นเขาอายุ 29 ปี และสยามยังคงเคลื่อนไหวเรียกร้องประเทศไทยเปลี่ยนแปลงทางการเมืองผ่านสื่อออนไลน์โดยตลอด

ชื่อของ สยาม ธีรวุฒิ หรือ ‘สหายข้าวเหนียวมะม่วง’ ปรากฏเป็นข่าวเมื่อ 9 พฤษภาคม 2562 หลังจาก เพียงดิน รักไทย ผู้ลี้ภัยคนหนึ่ง แพร่กระจายข่าวผ่านยูทูบว่า สยามและนักจัดรายการวิทยุใต้ดิน ลุงสนามหลวง - ชูชีพ ชีวะสุทธิ์ รวมทั้ง สหายยังบลัด - กฤษณะ ทัพไทย ถูกจับกุมตัวที่เวียดนาม และถูกส่งตัวกลับไทยแล้วหนึ่งวันก่อนหน้าโดยที่ไม่มีใครทราบข่าว

ช่วงเวลานั้น ผู้ลี้ภัยทางการเมืองและมาตรา 112 หลายคนถูกอุ้มหาย กรณีที่เป็นข่าวใหญ่คือ สองร่างที่ถูกพบเป็นศพถูกสังหารอย่างโหดเหี้ยมบริเวณแม่น้ำโขง สหายภูชนะ - ชัชชาญ บุปผาวัลย์ และ สหายกาสะลอง - ไกรเดช ลือเลิศ ส่วน สุรชัย แซ่ด่าน ที่สูญหายไปพร้อมกันยังไม่มีใครพบ

เช่นเดียวกับ ดีเจซุนโฮ - อิทธิพล สุขแป้น, โกตี๋ - วุฒิพงศ์ กชธรรมคุณ และ วันเฉลิม สัตย์ศักดิ์สิทธิ์ รวมผู้ลี้ภัยทั้งหมด 9 คน ที่เชื่อว่าถูกบังคับสูญหาย หรือ ‘อุ้มหาย’

หลังมีข่าวถูกส่งตัวกลับไทย กัญญา ธีรวุฒิ ยื่นหนังสือกับหลายหน่วยงานต่างๆ เพื่อขอให้ตรวจสอบข้อเท็จจริง เพราะข่าวต้นทางมีการเผยแพร่พาสปอร์ตปลอมของบุคคลทั้งสาม แต่ทั้งตำรวจและทหารต่างปฏิเสธการควบคุมตัว หลังจากนั้นก็ไม่มีใครได้ข่าว สยาม ธีรวุฒิ อีกเลย
 


ลำดับเหตุการณ์ สยาม ธีรวุฒิ

14 ตุลาคม 2556 สยาม ธีรวุฒิ ร่วมเล่นละครเวที ‘เจ้าสาวหมาป่า’ ในงานรำลึก 40 ปี เหตุการณ์ 14 ตุลาคม 2516 ที่มหาวิทยาลัยธรรมศาสตร์

22 พฤษภาคม 2557 คสช. นำโดย พลเอกประยุทธ์ จันทร์โอชา ทำรัฐประหารรัฐบาล ยิ่งลักษณ์ ชินวัตร

9 พฤษภาคม 2562 ครอบครัว สยาม ธีรวุฒิ ทราบข่าวการจับกุมตัวสยามและพวกโดยทางการเวียดนามและส่งให้ทางการไทยตั้งแต่วันที่ 8 พฤษภาคม

10 พฤษภาคม 2562 ครอบครัวสยามเดินทางไปกองบังคับการปราบปรามที่เป็นต้นสังกัดของพนักงานสอบสวนผู้ขอออกหมายจับ เพื่อยืนยันและตรวจสอบว่ามีการจับกุมตัวสยามกลับมาหรือไม่

13 พฤษภาคม 2562 ครอบครัวสยามยื่นเรื่องต่อสถานทูตเวียดนามเรียกร้องให้ตรวจสอบกรณีการจับกุมสยามและพวก

14 พฤษภาคม 2562 ครอบครัวสยามเข้าให้ข้อเท็จจริงเกี่ยวกับการหายตัวของสยามต่อสำนักงานข้าหลวงใหญ่สิทธิมนุษยชนแห่งสหประชาชาติ (OHCHR) เพื่อให้ติดตามกรณีนี้

8 ธันวาคม 2565 กัญญา ธีรวุฒิ ขอใช้สิทธิความเป็นผู้เสียหายที่จะได้รับค่าตอบแทนตาม พ.ร.บ. ค่าตอบแทนผู้เสียหายและค่าทดแทนและค่าใช้จ่ายแก่จำเลยในคดีอาญา พ.ศ. 2544

กุมภาพันธ์ 2566 คณะอนุกรรมการพิจารณาค่าตอบแทนผู้เสียหาย ยกคำขอ ให้เหตุผลว่า กัญญาหรือสยามไม่ใช่ผู้เสียหายตาม พ.ร.บ. นี้ เพราะไม่ปรากฏแน่ชัดว่าสยามถึงแก่ชีวิตหรืออาจมีอันตรายแก่ร่างกายและจิตใจ

24 มีนาคม 2566 ครอบครัวสยามยื่นอุทธรณ์ต่อคณะอนุกรรมการฯ แต่ต่อมาก็ถูกยกคำร้อง ปัจจุบันอยู่ระหว่างการร้องต่อศาลอุทธรณ์

20 กุมภาพันธ์ 2567 คณะกรรมการสิทธิมนุษยชนแห่งชาติ ออกรายงานผลการตรวจสอบการละเมิดสิทธิมนุษยชน จากข้อร้องเรียนขอให้ตรวจสอบการบังคับสูญหายผู้ลี้ภัยทางการเมืองในประเทศเพื่อนบ้าน 9 ราย โดยมีสยามหนึ่งในนั้น ซึ่งคณะกรรมการสิทธิฯ มีมติว่าการหายตัวไปของบุคคลทั้ง 9 ราย น่าเชื่อว่าเป็นการบังคับบุคคลให้สูญหายตามอนุสัญญาระหว่างประเทศว่าด้วยการคุ้มครองบุคคลทุกคนจากการหายสาบสูญโดยถูกบังคับ อันเป็นการละเมิดสิทธิมนุษยชน

20 กันยายน 2567 กัญญา ซึ่งเป็นมารดาโดยชอบด้วยกฎหมาย ได้ยื่นคำร้องต่อศาลจังหวัดสมุทรสาครขอให้ศาลสั่งให้สยามเป็นบุคคลสาบสูญ โดยศาลได้นัดไต่สวนคำร้องในวันที่ 21 ตุลาคม

20 ธันวาคม 2567 ศาลสมุทรสาครยกคำร้องว่าสยามไม่ใช่บุคคลสาบสูญ

ผู้สูญหายยังไม่มีโอกาสสาบสูญ

สยาม ธีรวุฒิ ซึ่งเชื่อว่าถูกอุ้มหายไปตั้งแต่ปี 2562 เป็นหนึ่งในผู้ลี้ภัยที่ถูกบังคับสูญหาย จนถึงวันนี้ หลายคนเชื่อว่า สยามและผู้ลี้ภัยคนอื่นๆ ไม่น่าจะมีชีวิตอยู่แล้ว ดังนั้น การทำให้บุคคลผู้สูญหาย ได้รับสิทธิในการ ‘สาบสูญ’ หรือได้รับความตายทางกฎหมาย เพื่อให้ครอบครัวหรือญาติจัดการเรื่องต่างๆ ในฐานะทายาท จึงเป็นช่องทางเดียวพอจะร้องความเป็นธรรมเสี้ยวเล็กๆ ได้จากภาครัฐ

มูลนิธิผสานวัฒนธรรม ผู้ให้ความช่วยเหลือด้านคดี บรรยายถึงส่วนหนึ่งของคำสั่งศาลที่ยกคำร้อง ไม่ให้สยามเป็นบุคคลสาบสูญ โดยสรุปว่า

ผู้ร้อง (กัญญา) ทราบดีถึงการจากภูมิลำเนาไปหรือถิ่นที่อยู่ในประเทศไทยของสยาม รวมทั้งทราบว่าสยามยังคงมีชีวิตอยู่ภายหลังไปจากภูมิลำเนาในประเทศไทยแล้ว ส่วนที่ผู้ร้องเบิกความทำนองว่า สยามมีที่อยู่เป็นหลักแหล่งอยู่ที่ลาว ผู้ร้องและน้องสาวสยามติดต่อสยามไม่ได้ตั้งแต่ประมาณเดือนมกราคม 2562 เมื่อวันที่ 8 และวันที่ 9 พฤษภาคม 2562 ผู้ร้องทราบข่าวว่าสยามถูกเจ้าพนักงานตำรวจสาธารณรัฐสังคมนิยมเวียดนามจับกุมตัวส่งให้ทางการไทย จึงไปติดตามสอบถามที่กองบังคับการปราบปราม สำนักงานตำรวจแห่งชาติ และสถานทูตเวียดนาม แต่เจ้าหน้าที่กองบังคับการปราบปรามปฏิเสธว่าไม่ได้จับกุม ส่วนสถานทูตไม่ให้ข้อมูลใดๆ จากพยานหลักฐานของผู้ร้องไม่ปรากฏว่านายสยามอาศัยอยู่ ณ บ้านเลขที่หรือสถานที่ใดแน่นอนในลาว ทั้งบุคคลที่แจ้งเรื่องสยามถูกจับกุมตัว ไม่ปรากฏว่าทราบเหตุดังกล่าวได้อย่างไร และมีความน่าเชื่อถือเพียงใด

นอกจากนี้ หากสยามอาศัยอยู่ที่ลาวจริง การจับกุมตัวสยามก็ย่อมต้องกระทำโดยเจ้าพน้กงานตำรวจของประเทศลาว แต่กลับได้ความจากผู้ร้องว่าสยามถูกจับกุมตัวโดยเจ้าพนักงานตำรวจเวียดนามโดยไม่ปรากฏสถานที่จับกุมที่แน่นอนว่าอยู่ในประเทศใด สยามจึงอาจไม่ได้อาศัยอยู่ที่ลาวอย่างถาวร อันจะถือเป็นถิ่นที่อยู่หรือภูมิลำเนาของสยามได้

นอกจากนี้ ผู้ร้องเบิกความว่าสยามถูกออกหมายจับในข้อหาตามประมวลกฎหมายอาญามาตรา 112 หลังเดินทางออกไปจากประเทศไทยแล้ว บางครั้งมีเหตุการณ์ที่สยามต้องหลบซ่อนจากภัยอันตรายระหว่างการลี้ภัย ประกอบกับสำเนารายงานประจำวันรับแจ้งเป็นหลักฐานเอกสารที่ผู้ร้องยื่นมา มีข้อความส่วนหนึ่งว่า พนักงานสอบสวนได้ทำการตรวจสอบในระบบแล้วพบว่าสยามมีหมายจับของกองปราบปรามเมื่อปี 2562 แต่พยานหลักฐานของผู้ร้องก็ยังไม่เพียงพอให้รับฟังเป็นยุติ ได้ว่าสยามเป็นคนสาบสูญ ตามประมวลกฎหมายแพ่งและพาณิชย์ มาตรา 61 จึงมีคำสั่งให้ยกคำร้อง

https://plus.thairath.co.th/topic/politics&society/105035