วันพุธ, พฤษภาคม 01, 2567

ชีวิตข้างกองพิษ ถ้าเป็นคุณ กลัวไหม “ความไม่ยุติธรรม” ของคนตาก จากเหมืองแม่ตาวถึงกากแคดเมียม "เราทนทุกข์มาตั้งนานแล้ว พอเราจะปลอดโปร่ง จะเอามาให้เราอีกแล้ว"

.....


การขนย้ายกากแคดเมียมชุดแรกจาก จ.สมุทรสาคร เมื่อวันที่ 29 เม.ย.2567



30 เมษายน 2024
บีบีซีไทย

กลางอากาศร้อนจัดปลายเดือน เม.ย. ที่ทะลุเกือบจะ 40 องศาเซลเซียส ตอง พรมทับ หญิงชราวัย 72 ชาว จ.ตาก ย้อนความหลัง เมื่อครั้งโรงถลุงแร่สังกะสีห่างออกไปไม่กี่ร้อยเมตรเดินเครื่องถลุงแร่ ที่ด้านในโรงงานที่เธอกำลังกล่าวถึง กำลังมีความเคลื่อนไหวเพื่อเตรียมรับกากตะกอนแร่แคดเมียมนับหมื่นตัน ที่กำลังถูกขนย้ายกลับมาฝังกลบ

ที่นี่คือ พื้นที่ ต.หนองบัวใต้ อ.เมือง จ.ตาก ห่างจากกรุงเทพมหานคร กว่า 400 กิโลเมตร ใกล้กันกับบ้านยายตอง คือ โรงถลุงแร่ของบริษัท ผาแดงอินดัสทรี จำกัด (มหาชน) ขนาดพื้นที่กว่า 2,500 ไร่ ซึ่งปัจจุบันเปลี่ยนชื่อมาเป็น บมจ. เบาด์ แอนด์ บียอนด์

“ผาแดง” ตามที่ชาวบ้าน จ.ตาก เรียก เปิดดำเนินการมาตั้งแต่ช่วงปี 2525 และเพิ่งหยุดกระบวนการถลุงสังกะสีไปเมื่อปี 2561 ที่ผ่านมา

เช้าตรู่วันที่ 30 เม.ย. นี้ คือช่วงเวลาที่กากแคดเมียมที่ถูกขุดออกไปราว 13,000 ตัน จะถูกขนย้ายกลับมาถึงยังโรงงานแห่งนี้เป็นชุดแรก

ความหลังที่หญิงสูงวัยรายนี้กล่าวถึง คือ กลิ่นที่เธอก็ไม่รู้ว่า มีสารอะไรอยู่ในนั้นบ้าง เธอบอกเพียงว่า มันเป็นกลิ่นคล้ายกับกำมะถัน ในบางวันรุนแรงจนต้องใช้ผ้าปิดจมูก บางวันก็มีฝุ่นควัน


ป้ายบริษัท ผาแดงอินดัสทรี จำกัด (มหาชน) ริมถนนสายเอเชีย อ.เมือง จ.ตาก

ภาพในทรงจำของยายตอง ยังมี "ขี้เกลือ" ที่ปกคลุมผืนนาอีกฝั่งของถนน ซึ่งห่างจากแม่น้ำปิงที่ไหลผ่ากลางเมืองตาก ไม่ถึง 1 กิโลเมตร

"เราก็สู้ชีวิตกับผาแดงมาตั้งกี่สิบปีแล้ว จะกลับมาให้สู้อย่างนี้อีก จะรู้หรือ ว่าสารมันจะฟุ้งยิ่งกว่าที่ตั้งอยู่หรือเปล่า" ยายตอง กล่าวกับบีบีซีไทย

นี่คือ ความรู้สึกของคนเมืองตาก ที่อยู่ใกล้กับต้นทางกากแคดเมียมจำนวนนับหมื่นตัน ซึ่งถูกเจ้าของบริษัทขุดขึ้นมาขายให้กับบริษัทหลอมโลหะแห่งหนึ่งใน จ.สมุทรสาคร ก่อนพบว่ามีการกองเก็บกากแคดเมียมไว้ในโรงงานและโกดัง รวมทั้งหมด 6 จุด ใน จ.สมุทรสาคร จ.ชลบุรี และเขตบางซื่อ กรุงเทพฯ เมื่อช่วงต้นเดือน เม.ย.

ควบคู่ไปกับการดำเนินคดี และการสอบข้อเท็จจริงข้าราชการที่มีส่วนเกี่ยวข้องในการให้อนุญาตขนย้าย คณะทำงานรวม 6 กระทรวง ที่คณะรัฐมนตรีของนายเศรษฐา ทวีสิน นายกรัฐมนตรี แต่งตั้ง ได้เร่งให้มีการขนย้ายกากแคดเมียมอันตรายนับหมื่นตันกลับไปยังต้นทาง ท่ามกลางความกังวลของชาวบ้าน ถึงมาตรฐานความปลอดภัย



แผนการขนย้าย

กระทรวงอุตสาหกรรมเปิดเผยเมื่อวันที่ 26 เม.ย. ว่าจะเริ่มทำการขนย้ายในวันที่ 29 เม.ย. ซึ่งเร็วกว่ากำหนดเดิม 1 สัปดาห์ โดยกากแคดเมียมที่ หน่วยงานรัฐร่วมกับตำรวจตรวจสอบติดตามพบล่าสุด อยู่ที่ 12,948 ตัน

ดร.ณัฐพล รังสิตพล ปลัดกระทรวงอุตสาหกรรม เปิดเผยว่า จะเริ่มขนย้ายในวันที่ 29 เม.ย. และคาดว่า การขนย้ายจะเสร็จสิ้นภายในวันที่ 17 มิ.ย. หรือเป็นเวลาเกือบ 2 เดือน โดยการขนย้ายจะทำได้เฉลี่ยวันละ 450 ตัน ด้วย รถบรรทุก 2 ประเภท คือ รถพ่วงคอก และ รถเทรลเลอร์-ท้ายเรียบ ที่ได้รับอนุญาตขนส่งวัตถุอันตราย ผ่านเส้นทางถนนสายเอเชียที่ขึ้นสู่ภาคเหนือ

มาตรการการขนย้ายจะมีการซ้อนถุงบิ๊กแบ็กและมัดปากถุง 2 ชั้น โดยมีการชั่งน้ำหนักพร้อมทดลองบันทึกระบบติดตาม ด้วยการเขียนน้ำหนัก และหมายเลขถุง การเก็บตัวอย่างกากตะกอนตรวจสอบ และดูดฝุ่นใส่ถุงเก็บการขนย้าย

การขนย้ายที่เริ่มในวันที่ 29 เม.ย. จะเริ่มจากโรงงานล้อโลหะไทย เขตบางซื่อ กรุงเทพมหานคร และอีก 3 จุด ใน จ.สมุทรสาคร ส่วน จ.ชลบุรี ยังต้องรอกระบวนการทางกฎหมายในการขอยึดอายัดของกลาง


เจ้าหน้าที่ตรวจสอบปริมาณสารแคดเมียมบริเวณพื้นผิวรถบรรทุกก่อนเคลื่อนย้ายออกจากโรงงาน ที่บริษัท ล้อโลหะไทย เขตบางซื่อ กทม. บ่ายวันที่ 29 เม.ย.2567

โรงถลุงสังกะสี ผาแดงอินดัสทรี จ.ตาก ต้นทางกากแคดเมียม

โรงถลุงแร่สังกะสี บริษัท ผาแดงอินดัสทรี จำกัด (มหาชน) ที่ตั้งของบ่อฝังกลบต้นทางของกากแคดเมียม ตั้งอยู่บนถนนสายเอเชียหรือทางหลวงหมายเลข 1 พหลโยธิน ห่างจากกรุงเทพมหานครกว่า 400 กิโลเมตร

ที่ตั้งของโรงถลุงที่ปิดตัวไปเมื่อไม่กี่ปีที่แล้ว อยู่บนเนินเขาที่มีลักษณะเป็นหลังเต่า ด้านขวาคือหมู่บ้านคลองห้วยทราย ต.หนองบัวใต้ บ้านเกิดของ ศุภโรฒ พรมทับ อดีตพนักงานในโรงถลุงแห่งนี้

ศุภโรฒบอกกับบีบีซีไทยว่า แม้โรงถลุงตั้งอยู่ข้างหมู่บ้านมาหลายสิบปี แต่ชาวบ้านหลายคนเพิ่งมารู้ถึงพิษภัยของแคดเมียมว่าร้ายแรงเพียงใด จากข่าวสารที่รายงานในสื่อทุกแขนงเมื่อแคดเมียมไปโผล่อยู่ใน 3 จังหวัดภาคกลาง

"จากที่ไม่รู้ว่าแคดเมียม คืออะไร อันตรายยังไง ก็ได้รับรู้ ณ ตอนนี้ ทุกคนเริ่มแสวงหาว่า ข่าวมันเป็นยังไง มันอันตรายยัยไง ทำไมถึงไปดังที่สมุทรสาคร" ศุภโรฒ กล่าวกับบีบีซีไทย เมื่อวันที่ 24 เม.ย. ก่อนที่ทางการจะขนย้ายกากแคดเมียมกลับมาฝังในอีกไม่ถึง 1 สัปดาห์


บ่อฝังกลบกากตะกอนแร่ ที่ถูกขุดออกไปจากโรงถลุงสังกะสี บมจ.ผาแดงอินดัสทรี หรือชื่อในปัจจุบัน "เบาด์ แอนด์ บียอนด์"

สิ่งที่ชาวบ้านทำได้ หลังจากรู้ข่าว คือ การยื่นหนังสือคัดค้านการขนย้ายแคดเมียมกลับมาฝังกลบที่เดิมต่อหน่วยงานอุตสาหกรรมจังหวัด

โรงถลุงแร่สังกะสีของ บมจ.ผาแดง ซึ่งปัจจุบันเปลี่ยนชื่อมาเป็น บมจ. เบาด์ แอนด์ บียอนด์ และมีกระทรวงการคลังเป็น 1 ใน 2 ผู้ถือหุ้นรายใหญ่ เปิดทำการในช่วงตั้งแต่ปี 2525-2564 โดยรับแร่ที่ถูกระเบิดจากเหมืองผาแดงหรือที่เรียกว่าเหมืองแม่ตาว ในเขต ต.พระธาตุผาแดง อ.แม่สอด จ.ตาก ที่อยู่ห่างออกไปราว 80 กม. มาถลุงสกัดแร่สังกะสี

หลังดำเนินการมา 34 ปี เหมืองแร่ได้ปิดตัวลงในปี 2559 โดยบริษัทอ้างว่า ปริมาณแร่สำรองในพื้นที่หมดลง และกากตะกอนแร่จำนวนนับแสนตันได้ถูกฝังกลบไว้ในโรงถลุงดังกล่าว

กากแคดเมียมที่พบว่าถูกขายมายังบริษัทในสมุทรสาคร เป็นของเสียอันตรายจากการทำเหมือง ซึ่งมีการฝังกลบแบบปลอดภัยไปแล้วในบ่อ 7 แห่ง และปิดบ่อไปเรียบร้อยแล้วเมื่อปี 2561 ตามข้อกำหนดมาตรการผลกระทบทางสิ่งแวดล้อม (EIA) ที่ทางบริษัทแจ้งต่อหน่วยงานอุตสาหกรรมเอาไว้

หมู่บ้านข้างกองพิษ

จากการลงพื้นที่ตรวจสอบของกระทรวงอุตสาหกรรม เจ้าหน้าที่ส่วนจังหวัด สมาชิกสภาผู้แทนราษฎร จ.ตาก และชาวบ้านในพื้นที่ พบว่า กากแคดเมียมที่ถูกขุดขึ้นไปจำนวนนับหมื่นตันมาจาก 1 ใน 7 บ่อ และยังพบว่า มีการเปิดวัสดุและทยอยขุดเพิ่มเติมในบ่อใกล้เคียงอีก 1 จุด

ผลการตรวจมาตรฐานของบ่อฝังกลับเมื่อวันที่ 18 เม.ย. ได้สร้างความกังวลให้กับชาวบ้านใกล้เคียง เนื่องจากพบว่า บ่อกลบมีรอยแตกร้าวเป็นระยะ ทำให้คนในชุมชนรอบข้างไม่มั่นใจว่า บ่อฝังกลบจะมีความปลอดภัยและไม่รั่วไหลลงสู่ธรรมชาติ ทั้งดิน น้ำ ที่อาจปนเปื้อนมาสู่ชุมชน

"ถ้าบอกว่ายังใช้บ่อเดิม เราไม่เห็นด้วยเด็ดขาด" ศุภโรฒ กล่าว

พื้นที่ ม.3 และ ม.6 ของ ต.หนองบัวใต้ มีชาวบ้านอาศัยอยู่กว่า 460 หลังคาเรือน ส่วนใหญ่ประกอบอาชีพเกษตรกร พื้นที่บางส่วนยังคงใช้น้ำประปาจากบ่อบาดาล ศุภโรฒ ซึ่งเคยเป็นอดีตพนักงาน แสดงความกังวลว่า หากจัดการบ่อกากพิษไม่ดี อาจก่อให้เกิดการปนเปื้อนสู่ทางน้ำที่เชื่อมต่อออกสู่ทางน้ำสาธารณะ รวมทั้งกิจกรรมการขุดปรับพื้นที่ ขนย้ายกากแคดเมียม ในพื้นที่โรงงาน ซึ่งปากบ่อฝังกลบสูงกว่าพื้นที่ชุมชน หมู่บ้านประมาณ 10-15 เมตร อาจมีความเสี่ยงต่อการฟุ้งกระจายเข้าสู่ชุมชนด้วยหรือไม่

"พอหน้าฝนน้ำหลาก เราก็ไม่รู้ว่าจะชะล้างตามขอบบ่อของคุณที่มีการปนเปื้อน แล้วจะลงไหลสู่แหล่งน้ำตามธรรมชาติหรือเปล่า อันนี้แค่วิตกกังวล เพราะว่าผมไม่เชื่อ 100% หรอกว่า ที่คุณขุดแล้ว ขอบบ่อจะไม่มีการปนเปื้อนเลย" ศุภโรฒ กล่าว



กรมควบคุมมลพิษ ได้เปิดเผยผลการตรวจสิ่งแวดล้อมโดยรอบโรงถลุงผาแดง ทั้งดินนอกโรงงาน น้ำผิวดิน และสารอันตรายในบรรยากาศ ไม่พบว่ามีการปนเปื้อนของสารแคดเมียม แต่คนพื้นที่อย่างศุภโรฒ ไม่ได้วางใจ

"หน่วยงานสิ่งแวดล้อม เขามาตรวจ แต่ไม่ได้ตรวจช่วงที่มีกิจกรรม (การขุด)"

ด้าน บุญธรรม ไพสน ผู้ใหญ่บ้าน ม.3 ต.หนองบัวใต้ ซึ่งตั้งอยู่ติดกับโรงถลุงกล่าวกับบีบีซีไทยว่า การขนย้ายกากแคดเมียมกลับมา ต้องให้ตัวแทนชาวบ้านเข้าไปร่วมตรวจสอบกระบวนการจัดการภายในพื้นที่ฝังกลับ

"ถ้ามันเป็นไปได้ ถ้าเขาเอาไปแล้ว ไปบริหารอย่างถูกต้อง อยากจะให้เขาเอาไป แต่มันเป็นไปไม่ได้ ก็ต้องกลับมาต้นตอ แต่ขอให้บริการจัดการทำถูกต้อง บ่อที่มันมีรอยแตกรอยร้าว ก็ต้องทำการซ่อมให้อย่างดี ถึงจะคลายความกังวลได้" ผู้ใหญ่บ้านหญิง กล่าว

"มันเป็นสารก่อมะเร็ง ชาวบ้านก็เพิ่งมารู้ตอนนี้เอง จากเมื่อก่อนไม่รู้เขาก็ไม่มีวิตกอะไร แล้วก็อยู่คู่กันมา"


ท่อน้ำใต้ถนนสายเอเชีย ลำรางสาธารณะที่ใกล้กับบ่อพักน้ำของโรงถลุงแร่

อย่างไรก็ตาม ปลัดกระทรวงอุตสาหกรรม ได้แถลงการเตรียมการพื้นที่บ่อฝังกลบล่าสุดเมื่อวันที่ 28 เม.ย. ว่า จะใช้วิธีการเทคอนกรีตบ่อใหม่ทั้งหมด ซึ่งจะใช้เวลาไม่เกิน 2 เดือน ตามข้อกังวลของชุมชนรอบโรงถลุง โดยการขนย้ายกลับไปจะดำเนินการจัดเก็บในโรงเก็บแร่ ที่มีการปูวัสดุดินเหนียวเทียมก่อน เพื่อรอการปรับปรุงบ่อฝังกลบ


ผืนนาฝั่งตรงข้ามกับโรงถลุงแร่ผาแดง บริเวณนี้อยู่ติดกับแม่น้ำปิง ซึ่งไหลกลางเมืองตาก

ขุดและอนุญาตได้อย่างไร ใครควรรับผิดชอบ คำถามถึงเจ้าหน้าที่รัฐและเอกชน

บมจ. เบาด์ แอนด์ บียอนด์ ผู้ประกอบกิจการโรงถลุงแร่ ขุดกากตะกอนแคดเมียมไปขายได้อย่างไร ทั้งที่มีการฝังกลบไปแล้วตามมาตรการรายงานผลกระทบสิ่งแวดล้อม (อีไอเอ) ของโครงการ คือ หนึ่งในประเด็นสืบสวนหลักของกองบังคับการปราบปรามการกระทำความผิดเกี่ยวกับทรัพยากรธรรมชาติและสิ่งแวดล้อม (บก.ปทส.)

การแถลงของ บก.ปทส. ชี้ว่า การขุดและขนย้ายโดยขายให้กับบริษัท เจ แอนด์ บี เมททอล จำกัด ใน จ.สมุทรสาคร มีสัญญาการซื้อขาย ซึ่งไม่ถือว่าเป็นสัญญาการส่งกำจัดกากของเสียอันตราย จึงเป็นความผิดตาม พ.ร.บ.โรงงาน ในหลายกรณี และแม้ว่าบริษัทแห่งนี้จะมีใบอนุญาตหลอมแคดเมียม แต่จากการเข้าตรวจสอบ กลับไม่พบว่ามีเครื่องจักรที่สามารถกำจัดกากแคดเมียมได้

ในปี 2566 บมจ.เบาด์ แอนด์ บียอนด์ ได้ขออนุญาตขุดและเคลื่อนย้ายผ่านระบบอิเล็กทรอนิกส์ ซึ่งได้รับการอนุญาตจากอุตสาหกรรม จ.ตาก ตั้งแต่เดือน มิ.ย. 2566-2567 แต่การให้อนุญาตจากเจ้าหน้าที่ในพื้นที่กำลังถูกสอบสวนจากตำรวจและกระทรวงอุตสาหกรรม

"มันไม่ควรจะอนุญาตเลยด้วยซ้ำ มันต้องถูกฝังกลบตลอดไป" คริษฐ์ ปานเนียม สส.ก้าวไกล จ.ตาก กล่าวกับบีบีซีไทย "มันเป็นไปไม่ได้ที่ (อุตสาหกรรม จ.ตาก) จะไม่รู้ว่า แหล่งแร่ตรงนี้เป็นแร่อันตราย แล้วคุณอนุญาตได้อย่างไร"


รอยแตกร้าวบริเวณบ่อฝังปลับกากตะกอนแร่

จนถึงวันที่ 29 เม.ย. ตำรวจ บก.ปทส.ยังอยู่ระหว่างรวบรวมหลักฐานร่วมกับกระทรวงอุตสาหกรรม ในการแจ้งความเอาผิดกับ บมจ.เบาด์ แอนด์ บียอนด์ ต้นทางผู้ขุดกากแคดเมียม หลังจากแจ้งข้อหาดำเนินคดีกับปลายทางที่พบการเก็บกากแดคเมียมในพื้นที่ 3 จังหวัด ทำให้ชาวบ้าน ต.หนองบัวใต้ เรียกร้องให้เจ้าหน้าที่เร่งรัดไปร้องทุกข์กล่าวโทษกับเอกชนโดยเร็ว

"มีการดำเนินคดีกับทุกรายทุกจุดอย่างแน่นอน" สมชัย เอมบำรุง ผอ.กองกฎหมาย กระทรวงอุตสาหกรรม ตอบคำถามต่อบีบีซีไทยระหว่างการแถลงข่าว

เขาอธิบายว่า กลุ่มผู้กระทำผิด 3 กลุ่ม ได้แก่ โรงงานต้นทาง โรงงานที่รับกากแร่ และโรงงานที่รับกากแร่อีกทอดหนึ่ง ทั้ง 3 กลุ่มมีความผิดตาม พ.ร.บ.โรงงาน และ พ.ร.บ.วัตถุอันตราย แตกต่างกัน เพราะบางรายเป็นโรงงาน และบางรายไม่ได้เป็นโรงงาน แต่เป็นโกดัง


ดร.ณัฐพล รังสิตพล ปลัดกระทรวงอุตสาหกรรม

ผู้บริหารกระทรวงอุตสาหกรรมชี้แจงด้วยว่า การดำเนินคดีกับบริษัทต้นทางผู้ขุดและขนย้ายแร่ต้องใช้เวลาดำเนินการอย่างรอบคอบ เพราะเป็นส่วนที่ควบคุมทิศทางของคดีทั้งหมด โดยคาดว่าจะร้องทุกข์กล่าวโทษได้ในสัปดาห์หน้า

ด้าน ดร.ณัฐพล รังสิตพล ปลัดกระทรวงอุตสาหกรรม ระบุว่า กระทรวงได้ตั้งคณะกรรมการตรวจสอบหลายชุดตรวจสอบการปฏิบัติหน้าที่ของข้าราชการ และมีการตรวจสอบจากคณะกรรมการป้องกันและปราบปรามการทุจริตในภาครัฐ (ป.ป.ท.) อีกทางหนึ่ง

"(คณะกรรมการ) ทุกชุดตั้งใจเอาความโปร่งใสเป็นหลัก เอาเรื่องจริงขึ้นมาพูด ไม่มีมวยล้มต้มคนดู" ดร.ณัฐพลกล่าว

ปี 2566 บมจ. เบาด์ แอนด์ บียอนด์ ขออนุญาตขนย้ายกากตะกอนแร่ที่ฝังกลบอยู่ในพื้นที่ของโรงถลุง หลังจากฝังกลบไปแล้วเมื่อปี 2561 มีคำถามว่า เหตุใดทุนใหญ่รายนี้จึงขุดกากเหล่านี้ขึ้นมาอีกครั้ง

เพ็ญโฉม แซ่ตั้ง ผอ.มูลนิธิบูรณะนิเวศ องค์กรพัฒนาเอกชนซึ่งติดตามเฝ้าระวังปัญหาสิ่งแวดล้อมจากอุตสาหกรรม กล่าวกับบีบีซีไทยว่า หลุมฝังกลบกากของ บมจ.เบาด์ แอนด์ บียอนด์ หรือ ผาแดงอินดัสทรีในชื่อเดิม เป็นหลุมฝังกลบชนิดที่มีความมั่นคงถาวรป้องกันการรั่วซึมของสารพิษที่ลงสู่ใต้ดิน หรือแหล่งน้ำใต้ดิน (secured landfill)

เมื่อกิจการเหมืองสังกะสีจบลงก็ดำเนินการฝังกลบกากตะกอนแร่ทั้งหมดที่เกิดขึ้นจากการทำเหมืองสังกะสี ตามมาตรการกำจัดของกากของเสียอุตสาหกรรมตามรายงานผลกระทบสิ่งแวดล้อม (อีไอเอ) และมีการปิดหลุมหลุมสุดท้ายไปเมื่อปี 2560 เศษ ๆ โดยได้รับการตรวจสอบจาก กรมอุตสาหกรรมพื้นฐานและการเหมืองแร่ (กพร.) เรียบร้อยแล้ว

แต่การขุดขึ้นมาใหม่นั้น เพ็ญโฉมวิเคราะห์ว่า น่าจะเป็นเหตุผลในการนำที่ดินไปพัฒนาพื้นที่ในเชิงธุรกิจ ในขณะเดียวกัน กากอันตรายโดยเฉพาะแคดเมียมก็เป็นกากของเสียที่มีมูลค่าทางเศรษฐกิจ เพราะเมื่อสกัดแล้วจะมีราคาที่ตันละกว่า 1 แสนบาท จึงน่าจะเป็นเหตุผลที่เอกชนขุดขึ้นมาใหม่

เพ็ญโฉม อธิบายว่า เมื่อเป็นกากของเสียอันตราย การขุดขึ้นมาต้องมีการประเมินผลกระทบทางสิ่งแวดล้อมอีกครั้งหนึ่ง การขุดกากตะกอนแร่ขึ้นมา ตามที่ขออนุญาตการขุดและขนย้ายในปี 2566 จึงเป็นการกระทำผิดตามมาตรการอีไอเอ


กระทรวงอุตสาหกรรม ระบุว่า จากการตรวจองค์ประกอบกากตะกอนแร่ พบว่ามีแคดเมียมอยู่ที่ 30-48% สังกะสี 19-35% และทองแดง 11-20%

"มาตรการอีไอเอ เป็นการฝังกลบที่เป็นขั้นตอนสุดท้ายของการจัดการกากอุตสาหกรรม จากเหมืองแร่สังกะสี คุณต้องปล่อยมันนอนนิ่งอยู่อย่างนั้น เพราะมันคือขั้นสุดท้ายแล้วตามที่อีไอเอระบุไว้ การที่ขุดขึ้นมาเป็นการทำผิดกฎหมายขั้นที่หนึ่งแล้ว" ผอ.มูลนิธิบูรณะนิเวศ กล่าว พร้อมกับบอกว่า เอกชนรายนี้ มีความผิดฐานบกพร่องในการประเมินศักยภาพของบริษัทปลายทางที่จะรับกากอันตรายไปบำบัดและกำจัดด้วย

ส่วนบริษัท เจ แอนด์ บี เมททอล จำกัด ปลายทางที่รับซื้อกากแคดเมียมจาก จ.สมุทรสาคร แม้ได้ขอใบอนุญาตประกอบกิจการโรงงาน ลำดับที่ 60 โรงงานหล่อหลอมแคดเมียม เมื่อเดือน เม.ย.2566 แต่ด้วยศักยภาพของบริษัท เจ แอนด์ บี ทั้งพื้นที่จัดเก็บ และเตาหลอม ที่มีอยู่ไม่สามารถรับการหลอมและการบดแคดเมียมได้ อาจเป็นสาเหตุที่ทำให้เกิดการขายต่อให้กับโรงงานที่มีเจ้าของเป็นชาวจีนที่ ต.คลองกิ่ว อ.บ้านบึง จ.ชลบุรี หรืออาจเป็นการรับซื้อมาเพื่อต้องการขายต่อตั้งแต่ต้น

"ไม่ว่ายังไงก็ตาม ถ้าคุณจะรับมา แล้วเห็นว่าคุณทำไม่ไหว ต้องการขายต่อ หรือต้องการขายต่อตั้งแต่ทำสัญญากับ เบาด์ แอนด์ บียอนด์แล้ว คุณทำผิดกฎหมายหมดเลย" เพ็ญโฉม กล่าว


เพ็ญโฉม แซ่ตั้ง ผู้อำนวยการมูลนิธิบูรณะนิเวศ

ถ้ากระบวนการทางต้นทางผิดขั้นตอน แล้วทางภาครัฐ อนุมัติอนุญาต ให้ทำเช่นนี้ได้อย่างไร บีบีซีไทยถาม

"อันนี้เป็นคำถามว่า อุตสาหกรรม จ.ตาก ตัดสินใจด้วยเหตุผลอะไร มันเป็นการละเว้นการปฏิบัติหน้าที่ของอุตสาหกรรม จ.ตาก หรือว่าการใช้อำนาจหน้าที่ในทางที่มิชอบ" เพ็ญโฉม กล่าว

เธอบอกด้วยว่า อุตสาหกรรม จ.ตาก ควรตรวจสอบด้วยว่าโรงงานปลายทางมีมาตรฐานและศักยภาพในการรับมือกากปริมาณมากเท่านี้หรือไม่ เช่น มีเตาหลอมหรือไม่ มีพื้นที่ โรงบดย่อย หรือไม่ มาตรฐานการป้องกันสิ่งแวดล้อม มาตรการควบคุมมลพิษที่จะเกิดขึ้นกับการหลอม และความพร้อมของเทคโนโลยีเป็นอย่างไร

"ถ้าอุตสาหกรรม จ.ตาก อนุมัติเรื่องที่ใหญ่ขนาดนี้ โดยที่ไม่มีการตรวจสอบปลายทางว่ารับมือไหวหรือไม่ ถือเป็นความบกพร่องของอุตสาหกรรม จ.ตาก พูดง่าย ๆ เป็นการปฏิบัติหน้าโดยประมาท" ผอ.บูรณะนิเวศน์ กล่าว และบอกด้วยว่า ส่วนหนึ่งเป็นผลมาจากระบบการขออนุญาตทางอิเล็กทรอนิกส์ ที่ทำให้การตรวจสอบหละหลวม

"ระบบการขออนุมัติแบบนี้มันรวดเร็ว และง่ายมาก ซึ่งมันคือช่องโหว่ของกฎหมายในการกำกับดูแลเรื่องกาก (อันตราย) ด้วย"



นอกจากนี้ เมื่อดูโครงสร้างของผู้ถือหุ้นของ บมจ.เบาด์ แอนด์ บียอนด์ รายงาน ณ วันที่ 28 ธ.ค.2566 พบว่า กระทรวงการคลัง เป็นผู้ถือหุ้นรายใหญ่ลำดับที่ 2 มีสัดส่วนการถือหุ้นกว่า 10% รองจาก บริษัท คันทรี่ กรุ๊ป โฮลดิ้งส์ จำกัด (มหาชน) ที่ถือครองหุ้นอยู่ที่ 38.9%

ผอ.บูรณะนิเวศ แสดงความเห็นว่า กระทรวงการคลังต้องออกมารับผิดชอบด้วย ในฐานะที่เป็นผู้ถือหุ้นหลักของ บมจ. เบาด์ แอนด์ บียอนด์

"เรายังไม่เคยเห็นการแถลงความรับผิดชอบในฐานะกระทรวงการคลัง ตั้งแต่ยุคสมัย เศรษฐา เป็นนายกฯ และ รมว.คลัง น่าจะต้องกล่าวคำขอโทษสาธารณะ ในฐานะผู้ถือหุ้นหลักของ เบาด์ แอนด์ บียอนด์ ว่าจะรับผิดชอบในเรื่องนี้อย่างไร"

ก่อนหน้านี้นายเศรษฐา ซึ่งเคยดำรงตำแหน่ง รมว.คลัง ระบุ เมื่อวันที่ 8 เม.ย. ว่า กรณีการขนย้ายกากแคดเมียม พบว่ามีข้อบกพร่องในแต่ละขั้นตอน แต่ไม่ได้กล่าวถึงความรับผิดชอบของกระทรวงการคลังแต่อย่างใด

ความล้มเหลวในการกำจัดกากอันตรายอุตสาหกรรม

ผอ.มูลนิธิบูรณะนิเวศ ชี้ว่า เหตุการณ์ที่กากของเสียอุตสาหกรรมทะลักปนเปื้อนสู่ชุมชนในหลายพื้นที่ เช่น จ.พระนครศรีอยุธยา เพชรบูรณ์ หรือกรณีล่าสุดของ บริษัท วินโพสเสส จำกัด ที่บ้านหนองพะวา ต.บางบุตร อ.บ้านค่าย จ.ระยอง ซึ่งชุมชนรอบโรงงานชนะคดีในการฟ้องร้องค่าเสียหายต่อโรงงานเมื่อปี 2565 และเพิ่งเกิดเหตุไฟไหม้โรงงานเก็บกากสารเคมี "เป็นตัวอย่างที่ชัดมาก ๆ ของความล้มเหลวของระบบการกำจัดกากอุตสาหกรรมของสารอันตราย" และยังมีอีกหลายพื้นที่ที่ยังไม่ถึงขั้นการฟ้องร้องเรียกความเสียหาย เช่น ใน จ.เพชรบุรี พระนครศรีอยุธยา และลพบุรี

เพ็ญโฉมกล่าวว่า รัฐบาลส่งเสริมการผลิตอุตสาหกรรมด้านต่าง ๆ ที่ก่อให้เกิดกากอุตสาหกรรมอันตราย ซึ่งการบำบัดกากเหล่านี้ ต้องหาบริษัทที่มีมาตรฐานในการกำจัด แต่ด้วยราคาการกำจัดที่ค่อนข้างแพง ตั้งแต่ตันละ 5,000-10,000 บาท กระบวนการเหล่านี้ทำให้อุตสาหกรรมมีกำไรลดลง เอกชนจึงต้องการลดต้นทุนด้วยการเลือกบริษัทกำจัดกากที่มีราคาไม่สูง

"หลายบริษัท รวมถึง เจ แอนด์ บี บริษัทเหล่านี้ เป็นบริษัทให้บริการรับกำจัดกากด้วยราคาที่ถูก มันคาดเดาได้เลยว่า เขาไม่ได้เอาไปกำจัดจริง เขาต้องเอาไปลักลอบในที่ใดที่หนึ่ง" เพ็ญโฉม กล่าว และบอกว่า กระบวนการในการกำกับดูแลของรัฐล้มเหลวทั้งหมดจากการทุจริตของข้าราชการ


ความเสียหายจากไฟไหม้ของบริษัท วินโพรเสส บริษัทกำจัดกากสารเคมี ที่ จ.ระยอง

“เป็นคุณ คุณจะไม่กลัวหรือ”

ห่างออกไป 80 กิโลเมตรจากโรงถลุงแร่ คือ ที่ตั้งของเหมืองที่ บมจ.ผาแดงอินดัสทรี ดำเนินกิจการขุดแร่เป็นระยะเวลากว่า 30 ปี ในบริเวณลุ่มน้ำห้วยแม่ตาว อ.แม่สอด จ.ตาก สถานที่ที่เมื่อ 20 ปีที่แล้ว พื้นที่ 3 ตำบล โดยรอบเหมือง ได้แก่ ต.แม่ตาว ต.แม่กุ และ ต.พระธาตุผาแดง ถูกตรวจพบว่ามีสารแคดเมียมในดินและพืชผลการเกษตร บริเวณห้วยแม่ตาว โดยการตรวจสอบของสถาบันการจัดการทรัพยากรน้ำนานาชาติ (International Water Management Institute : IWMI) ร่วมกับกรมวิชาการเกษตร ผลการศึกษาที่แจ้งต่อกระทรวงอุตสาหกรรมในปี 2546 พบว่า มีการปนเปื้อนสารพิษแคดเมียมในพืชผลการเกษตร โดยเฉพาะข้าว กระเทียมและถั่วเหลือง เกินกว่าค่ามาตรฐาน

ระหว่างปี 2546-2547 โรงพยาบาลแม่สอด ได้ตรวจร่างกายของชาวบ้าน พบว่ามีปริมาณของสารแคดเมียมในร่างกายในระดับสูงกว่าปกติเป็นจำนวนมากถึง 844 ราย

ญาณพัฒน์ ไพรมีทรัพย์ สมาชิกสภาเกษตรกร จ.ตาก เขต อ.แม่สอด กล่าวกับบีบีซีไทยว่า ในช่วง 3 ปีหลังจากการตรวจพบการปนเปื้อน รัฐได้มีมาตรการชดเชยการสั่งห้ามทำนา การซื้อข้าวออกจากยุ้งฉาง และการเกี่ยวข้าวไปทิ้ง โดยรัฐเลิกจ่ายชดเชยให้กับชาวบ้านในปี 2549 ทำให้ชาวบ้านกว่า 1,000 คน รวมตัวกันฟ้องต่อศาลปกครองพิษณุโลกในปีถัดมา

ศาลปกครองพิษณุโลก มีคำพิพากษาในปี 2556 ให้ชาวบ้าน 3 ตำบล ที่ได้รับผลกระทบจากการทำเหมืองแร่ ชนะคดี ที่ร่วมกันฟ้องร้องคณะกรรมการสิ่งแวดล้อมแห่งชาติ และอีกหลายหน่วยงาน โดยให้ออกกฎกระทรวง กำหนดให้ลุ่มน้ำแม่ตาว อ.แม่สอด เป็นเขตพื้นที่คุ้มครองสิ่งแวดล้อม และในส่วนของคดีแพ่ง ศาลได้พิพากษาให้ บมจ.ผาแดงอินดัสทรี และ บริษัท ตากไมนิ่ง จำกัด ผู้ได้รับสัมปทานเหมืองอีกราย ชดใช้ค่าเสียหายให้กับชาวบ้านรายละตั้งแต่ 52,000-104,000 บาท

"ผลจากคำพิพากษาของศาลปกครอง บ่งชี้ชัดว่า ทั้งสองบริษัท เป็นผู้ทำให้เกิดการแพร่กระจายของสารแคดเมียม และในคำสั่งอีกศาลปกครองได้สั่งให้ประกาศพื้นที่คุ้มครองสิ่งแวดล้อมลุ่มน้ำแม่ตาว มาวันนี้เองประกาศมาปีกว่า แต่เรายังไม่เห็นแผนในการฟื้นฟู หรือแผนในการแก้ไขปัญหาอย่างเป็นรูปธรรม" ญาณพัฒน์ กล่าว

"ไม่มีใครเอาแคดเมียมออกจากดิน ชาวบ้านก็ต้องทนอยู่กับสิ่งที่ตัวเองรู้และกังวล แล้วยังต้องส่งมอบมรดกที่ปนเปื้อนแคดเมียมให้กับลูกหลาน"



หลักฐานของความเสียหายจากสารพิษ คือ บัตรผู้ป่วยโครงการแคดเมียม ที่ชาวบ้านยังเก็บไว้ ตั้งแต่ปี 2547 คือการยืนยันว่าพวกเขามีสารแคดเมียมในร่างกายสูงกว่ามาตรฐาน ซึ่งสันนิษฐานว่าเข้าสู่ร่างกายจากการกินข้าวในผืนนาที่พวกเขาปลูก และดื่มน้ำในลำห้วยที่ถูกตรวจพบสารแคดเมียมที่ปนเปื้อนมาจากการทำเหมือง

ปี 2567 ที่ อ.เมือง จ.ตาก กากพิษอันตรายชนิดเดียวกันนี้ ถูกขุดและเปิดบ่อขึ้นมาอีกครั้ง

"ไม่ยุติธรรม เราทนทุกข์มาตั้งนานแล้ว พอเราจะปลอดโปร่ง จะเอามาให้เราอีกแล้ว" ตอง พรมทับ ชาวบ้านข้างโรงถลุงผาแดง ตัดพ้อ

"กลัวไหม กลัวสิ อย่างเป็นคุณ คุณจะไม่กลัวหรือ ถ้าอยู่ใกล้"

https://www.bbc.com/thai/articles/cd13k9n1wj4o