วันพุธ, กุมภาพันธ์ 15, 2566

เตอร์ ณธีภัสร์ กุลเศรษฐสิทธิ์ เผยความในใจ "สมรสเท่าเทียม" ที่ไม่ผ่านสภาฯ


เตอร์ ณธีภัสร์ กุลเศรษฐสิทธิ์ - Nateepat Kulsetthasith
16h

ไหนๆสมรสเท่าเทียมก็ไปไม่รอดในสภาผู้แทนราษฎรชุดนี้แล้ว เตอร์ขอเล่าเรื่องที่เก็บอยู่ในใจมานานและไม่เคยเปิดเผยที่ไหนมาก่อนให้ทุกคนฟังครับ อยากใช้พื้นที่ตรงนี้เพื่อบันทึกสถานการณ์ที่ยากลำบาก ความกดดันรอบด้าน การทรยศหักหลัง เกี่ยวกับการทำงานเพื่อสมรสเท่าเทียม ช่วงเวลาที่ต้องต่อสู้เพื่อจะได้ใช้ชีวิตคู่อย่างถูกต้องตามกฎหมาย เมื่อคิดทบทวนว่าอะไรคือแรงขับเคลื่อนของความทุ่มเทตลอดการทำงานนี้ คำตอบคือ เจตนารมณ์ที่อยากทำเพื่อพวกเรา LGBTQ+ และคู่ชีวิตของเตอร์ เราทั้งคู่หวังในกฎหมายฉบับนี้เหมือนเพื่อนๆทุกคน

“เจรจาประสานักการเมือง”

เหตุการณ์แรกเกิดขึ้นช่วงการทำงานใน กมธ. สมรสเท่าเทียมและคู่ชีวิต ตามขั้นตอนแล้วสมาชิกจะต้องเลือกประธานเป็นอันดับแรก จึงเกิดการพูดคุยร่วมกันของพรรคการเมืองทุกพรรค มีการเจรจาและรับปากเป็นมั่นเป็นเหมาะ ให้เสนอรายชื่อบุคคลที่สนับสนุนสมรสเท่าเทียมนั่งตำแหน่งประธาน เพื่อการพิจารณาที่ “ราบรื่น” และลดปัญหาอุปสรรคให้น้อยที่สุด

การพูดคุยเป็นไปอย่างน่าพึงพอใจ แต่เริ่มมีกลิ่นไม่สู้ดีเมื่อถึงวันที่ต้องเลือกประธาน

เหตุการณ์ตื่นเต้นในวันนั้นเริ่มต้นด้วยกองทัพสื่อมวลชนจำนวนมากมารอทำข่าวอยู่หน้าห้องประชุม เพราะกระแสสมรสเท่าเทียมกำลังเป็นที่จับตาของประชาชนหลังผ่านวาะระที่ 1 มาสดๆร้อนๆ รออยู่สักพักใหญ่ก็ยังไม่มีวี่แววจะได้เข้า ผลปรากฏว่า สุดท้ายนักข่าวไม่ได้รับอนุญาตให้เข้าห้องประชุมครับ ทั้งนักข่าวและกรรมาธิการบางคนต่างพากันงง เรียกว่ากีดกันกันตั้งแต่เปิดฉากพิจารณาวันแรกเลยทีเดียว

มิหนำซ้ำผลลัพธ์การเจรจาเรื่องประธานไม่เป็นไปตามที่ตกลงไว้ ตำแหน่งประธานตกเป็นของรัฐมนตรี คาดการณ์ออกไหมครับ ว่าการดำเนินการประชุมจะออกมาในรูปแบบใด ถูกต้องครับ มีโอกาสที่กฎหมายคู่ชีวิตซึ่งเสนอโดย ครม. จะมีภาษีเหนือกว่ากฎหมายสมรสเท่าเทียมที่เสนอโดยพรรคก้าวไกล

อย่างไรก็ตาม เราต้องรับผลที่เกิดขึ้นแล้วเดินหน้าต่อ ที่สำคัญคือเราต้องวางแผนการพิจารณากฎหมาย ให้คงไว้ซึ่งสิทธิและหน้าที่ตามร่างที่พรรคเสนอไว้ให้ได้

เราคงไม่สามารถไว้วางใจใครในการเจรจาตกลงได้ร้อยเปอร์เซ็นต์ การตกปากรับคำ ไม่ได้แปลว่าจะทำตามที่ตอบรับเสมอไป ดังเช่นสุภาษิตที่กล่าวไว้ว่า ไม่มีสัจจะในหมู่โจร

“อคติเต็มใบ”

หลังจากเจรจาเลือกประธานไม่สำเร็จ เตอร์เสนอให้มีการไลฟ์สดการประชุม กมธ. เพื่อแสดงถึงความโปร่งใสและให้ประชาชนมีส่วนร่วมมากที่สุด แต่ก็เหมือนเคยครับ ถูกปฏิเสธอีกครั้ง “เดี๋ยวประชาชนจะรู้ว่าเราแสดงความเห็นอะไรกัน” คือเหตุผลที่กรรมธิการคนหนึ่งได้ชี้แจงไว้

การพิจารณากฎหมายใน กมธ.สมรสเท่าเทียมฯ นี้ เป็นหน้าที่ที่โหดและท้าทายมากครับ ถ้าให้เปรียบอาจจะเหมือนการออกรบ เพราะนอกจากจะต้องพิจารณาปรับแก้ทุกฉบับ รายมาตรา ทั้งหมด 4 ฉบับ แล้ว ยังต้องต่อสู้กับเหล่ากรรมาธิการที่พกอคติและผลประโยชน์แอบแฝงมาอย่างเต็มพิกัด พรรคก้าวไกลเชิญผู้เชี่ยวชาญด้านกฎหมาย และนักต่อสู้เพื่อสิทธิมนุษยชนมาร่วมรบหลายคนครับ แต่ละครั้งเราจะกำหนดทิศทางการประชุมให้เกิดประโยชน์กับประชาชนที่สุด พวกเรามีเป้าหมายเดียวกัน คือให้สมรสเท่าเทียมคงไว้ซึ่งสิทธิและหน้าที่ที่ประชาชนทุกคนควรได้รับ โดยเท่าเทียมและปราศจากข้อยกเว้น

อยากให้ทุกคนเห็นภาพการประชุมแบบละเอียด สมาชิก กมธ. ที่ได้รับการแต่งตั้งมีทั้งหมด 25 คน มีสัดส่วนจากคณะรัฐมนตรี และจากพรรคการเมือง 9 พรรค ทั้งฝ่ายค้านและรัฐบาล สัดส่วนจำนวนคนแตกต่างกันไปแล้วแต่พรรค พวกเราประชุมอาทิตย์ละสองวัน ตามระเบียบแล้วมีการกำหนดองค์ประชุมครับ องค์ประชุมที่ครบตรวจนับจากลายเซ็น ถือว่าเป็นเรื่องธรรมดาที่สมาชิกจะปรากฏตัวที่ห้องประชุมเพื่อเซ็นชื่อ แต่ไม่สามารถร่วมประชุมได้เพราะ “ติดภารกิจ” บ่อยครั้งที่สมาชิกที่ร่วมประชุมด้วยกันจริงๆมีไม่ถึงครึ่ง สมาชิกบางคนไม่เคยเข้าร่วมประชุม ขณะที่สมาชิกบางคนใช้เวลาเข้าร่วมไม่ถึงสิบนาที

มีสมาชิกอยู่คนหนึ่งที่ไม่สามารถเอ่ยชื่อได้ ร่วมประชุมด้วยกันไม่ถึงห้าครั้ง แต่ละครั้งจะเปิดประเด็นที่สร้างความล่าช้าให้การทำงาน ด้วยความไม่เข้าใจวัตถุประสงค์ของสมรสเท่าเทียม หรือ อาจจะเข้าใจแต่พยายามขัดขวางสมรสเท่าเทียม และยัดเยียด พ.ร.บ. คู่ชีวิตแทน โดยอ้างว่า คู่ชีวิตนั้นได้รับการพัฒนาขึ้นเพื่อกลุ่มคนที่ไม่ใช่เพศปกติ ที่ไม่ใช่ ชาย หญิง ดังนั้นกลุ่มคนเหล่านี้ควรพอใจในกฎหมายฉบับพิเศษฉบับนี้ ไม่ควร(มีสิทธิ์)เรียกร้องอะไรเพิ่มเติม ส่วนประมวลกฎหมายแพ่งและพาณิชย์ คือกฎหมายศักดิ์สิทธิ์ ไม่สมควรมีใครอาจเอื้อมไปแตะต้อง ควรสงวนกฎหมายนี้ไว้เพื่อคนส่วนใหญ่ของประเทศเท่านั้น “อย่าเอาคนเพียงสิบเปอร์เซ็นต์มาทำลายวัฒนธรรมครอบครัวของคนทั้งประเทศ” คือประโยคที่ทำให้หลายคนอึ้งไป มันช่างขัดแย้งกับองค์ความรู้ทางกฎหมายที่ผู้พูดอ้างว่าตนมีเหลือเกิน ทำไมกฎหมายที่มีเพื่อประชาชน ถึงแก้ไขโดยประชาชนไม่ได้

ในช่วงสุดท้ายของการพิจารณา บุคคลคนนี้ สงวนตัดทุกมาตราของสมรสเท่าเทียม เป็นคนเดียวที่กระทำการนี้โดยไม่ลังเล

ตั้งแต่ต้นจนจบการทำงานของ กมธ. เตอร์มั่นใจว่า บุคคลคนนี้พกความอคติต่อความเท่าเทียมมาล้นปรี่จนทะลักออกมาทางคำพูด บุคคลคนนี้คือตัวอย่างของนักการเมืองที่ไม่เปิดใจรับฟังประชาชน ยึดมั่นในทัศนคติโบราณ ไม่เข้าใจความเสมอภาคและหลักของสิทธิมนุษยชนแม้แต่น้อย

“ก้าวพลาด”

โอกาสรอดของสมรสเท่าเทียม คือการหาทางให้กฎหมายได้เข้าสู่วาระการประชุมให้ทันสมัยนี้ พวกเรายังจำกันได้ใช่ไหมครับว่า หลังจากจบการทำงานชั้นกรรมาธิการแล้วเราต่างเฝ้ารอวันที่กฎหมายจะกลับเข้าสู่สภาอีกครั้ง

เตอร์และพรรคก้าวไกล คิดยุทธศาสตร์ได้ว่า ทางออกนั้นคือการขอให้สภาเลื่อนวาระสมรสเท่าเทียมขึ้นมาพิจารณาก่อน ยอมรับว่าพวกเราค่อนข้างกังวลกับแผนการนี้ เพราะรู้ดีว่า พรรคฝ่ายรัฐบาลไม่น่าจะยอมให้เราแซงได้ง่ายๆด้วยข้อได้เปรียบเสียเปรียบและผลประโยชน์ทางการเมือง

จังหวะทางการเมืองช่วงนั้นประจวบเหมาะกับพรรคฝ่ายรัฐบาลต้องการนำ พ.ร.บ. กัญชา ขึ้นพิจารณาก่อน เราจึงอาศัยจุดนี้เจรจาผลักดันจนสมรสเท่าเทียมได้เลื่อนขึ้นไปตามแผนครับ แต่ต้องต่อหลัง พ.ร.บ.กัญชา

ไม่ว่าสิ่งที่เกิดขึ้นจากการเจรจากันครั้งนั้น คือการยึดถือผลประโยชน์ของพรรคการเมือง หรือเพื่อประชาชน เป็นหลัก เราต้องจำใจยอมรับเพื่อต่อลมหายใจให้สมรสเท่าเทียม ตอนนั้นเรายังมีหวัง เพราะหากเป็นสถานการณ์ปกติ คำนวณเวลาที่เหลืออยู่ สมรสเท่าเทียมจะเข้าสภาทันแน่นอน

แต่ พ.ร.บ. กัญชา เจ้าปัญหานี้ ถูกใช้เป็นข้อต่อรองทางการเมือง และอย่างที่ทุกคนรู้กันว่ามีการเล่นเกมส์ “สภาล่ม” จนหมดเวลาสภาชุดนี้ไปในที่สุด

สมรสเท่าเทียมจึงต้องหยุดพักชั่วคราว รอการเดินทางต่อหลังการเลือกตั้งปีนี้

“สมน้ำหน้า”

เดือนมกราคมที่ผ่านมา เตอร์พยายามพูดคุย หารือ กับนักการเมืองหลายคน เพื่อให้สมรสเท่าเทียมเข้าสู่การพิจารณาในวาระ 2 ให้ได้ สิ่งที่ได้กลับมาคือคำพูดถากถาง “ทำใจซะ” ทั้งๆที่อธิบายแล้วว่ามันยังเป็นไปได้ และที่เลวร้ายไปกว่านั้นครับ มีนักการฝ่ายรัฐบาล ฝากคำเยาะเย้ยมาว่า “สมน้ำหน้า อยากเอาไปพ่วงต่อกับกฎหมายกัญชาเอง” ประโยคที่สื่อถึงเจตนาร้ายเช่นนั้นตอกย้ำถึงความบกพร่องและเสื่อมถอยของการทำงานของพรรคการเมือง และบ่งบอกถึงคุณสมบัติเฉพาะตัวของนักการเมืองส่วนใหญ่ ที่ต้องการถือครองสิทธิเลือกออกกฎหมายเฉพาะฉบับที่เอื้อประโยชน์ต่อพวกพ้อง แต่ละเลยกฎหมายฉบับที่เป็นธรรมต่อประชาชน และหนึ่งในนั้นคือ กฎหมายสมรสเท่าเทียม

แม้ว่าจะต้องเผชิญกับเหตุการณ์บั่นทอนจิตใจเหล่านี้ เตอร์ จะไม่ยอมหมดหวังครับ

22 มกราคม เตอร์พูดกับตัวเองว่า “ถ้าไม่ลองทำวันนี้ จะรู้สึกเสียใจไปตลอดชีวิต” จากนั้นเดินหน้าขอเข้าพบประธานสภา โดยตั้งเป้าเพื่อขอคำอนุมัติให้เพิ่มวันพิจารณากฎหมาย และเพื่อให้สมรสเท่าเทียมได้รับบรรจุเป็นวาระด่วน ซึ่งเตอร์มั่นใจว่าเป็นเรื่องที่สามารถทำได้ แต่ทั้งนี้จะขึ้นอยู่กับดุลยพินิจของประธานและการได้รับฉันทามติจากทั้งฝ่ายค้านและรัฐบาล โดยต้องคำนึงถึงความจำเป็นและผลกระทบของกฎหมายเป็นอันดับแรก

เหตุการณ์ที่เกิดขึ้นคือ ประธานไม่อนุญาตในตอนแรกโดยให้เหตุผลว่า ต้องเป็นไปตามวาระ และแนะนำเพิ่มเติมว่า ให้ทุกคนร่วมกันรักษาองค์ประชุม กฎหมายกัญชาจะได้จบลงตามกำหนดการ แต่ก็น่าแปลกที่กฎหมายจากฝั่งรัฐบาลกลับได้รับการบรรจุเป็นวาระเร่งด่วนและเพิ่มวันพิจารณาอย่างรวดเร็ว เช่น พ.ร.บ. ศาลภาษี หรือ พ.ร.บ. ราชวิทยาลัยจุฬาภรณ์

ด่านแรกไม่สำเร็จ เตอร์ไปต่อด่านสอง พยายามติดต่อทุกคนที่จะช่วยให้ภารกิจนี้ลุล่วงได้ ซึ่งต้องยอมรับว่า ไม่มีคนไหนเสี่ยงทำหน้าที่ที่ไม่ได้รับมอบหมายเช่นนี้ รอบนี้ไปดักรอหน้าห้องประธาน จนได้พูดคุยกันอีกครั้ง โดยได้รับการช่วยประสานงานจากบุคคลคนหนึ่ง หลังจากอธิบายโน้มน้าวในถึงสิ่งที่เป็นไปได้ ในที่สุด ประธานยอมเพิ่มวันพิจารณาให้สมรสเท่าเทียมครับ โดยมีเงื่อนไขว่า ให้เจรจาหาข้อตกลงร่วมกันระหว่างพรรค ฝ่ายค้านและรัฐบาล เมื่อได้ข้อสรุปให้ส่งเรื่องอีกครั้ง

การเจรจาดังกล่าวเกิดขึ้น แต่โชคร้าย ไม่มีฝ่ายใดเห็นด้วยกับคำร้องขอของเตอร์ สิ่งที่ทำได้ ณ เวลานั้น คือน้อมรับในความพ่ายแพ้ และเคารพกติกา

ส่งท้ายกันด้วยเรื่อง “ความเหลือเชื่อ” ที่เกิดขึ้นใน กมธ. เป็นการรวบรวมคำพูดและการกระทำต่างๆที่ทำให้เกิดความรู้สึกสะเทือนใจและไม่อยากเชื่อว่าจะได้รับรู้สิ่งเหล่านี้ครับ

กรรมาธิการบางคน เรียก LGBTQ ไม่ถูก ไม่รู้ว่าคือตัวย่อของอะไร ยังสารภาพอีกด้วยว่า เคยได้ยิน แต่ไม่รู้ว่ามีความหมายอะไร เราเรียกคนกลุ่มนี้ว่า กลุ่ม “ไม่รู้” ส่วนอีกกลุ่ม เป็นกลุ่ม “นิยมปิตาธิปไตย” ผู้ชายอยู่เหนือเพศอื่นโดยสิ้นเชิง และมีโอกาสที่จะเข้าถึงสิทธิได้ ขณะที่เพศอื่นต้องพิสูจน์ตัวเองมากกว่า กลุ่มสุดท้ายคือ กลุ่ม “ขี้หวง” หวงแหนคำว่า สามี ภรรยา เทิดทูนคำเหมือนเป็นของขลัง ต้องการให้คำนี้คงอยู่ในกฎหมายทุกฉบับ ไม่ยินยอมให้ใครมาร่วมใช้นอกจากเพศ หญิงและชาย แถมยังเสนอแนะให้พวกเราไปหาคำอื่น เช่น คู่ชีวิต มาใช้แทน

ขอบคุณกรรมาธิการ ที่ปรึกษา และ ส.ส. บางคน แม้จะเป็นส่วนน้อย ที่อยู่ข้างเดียวกับประชาชน ต่อสู้กับ อคติและความเกลียดชังอันแรงกล้า ตลอดระยะเวลาหลายเดือนที่ร่วมประชุมด้วยกันครับ

สมรสเท่าเทียมโดนอุปสรรคซัดกระหน่ำมาโดยตลอด ข้อเท็จจริงที่เตอร์สรุปได้คือ เวลา จะช่วยให้ผู้ที่ขาดความรู้ ความเข้าใจเกี่ยวกับพวกเรา เปลี่ยนทัศคติที่มีต่อพวกเราได้ในที่สุด การส่งสารของพลังมวลชนอันบริสุทธิ์ ด้วยข้อมูลที่ถูกต้อง ครบถ้วน และสันติวิธี จะนำเสรีภาพและความเสมอภาคมาสู่พวกเราทุกคน

หน้าที่ในสภาของเตอร์ใกล้สิ้นสุดลงแล้ว แต่หน้าที่ต่อสมรสเท่าเทียมจะสิ้นสุดลงเมื่อทุกคนมีกฎหมายสมรสเท่าเทียมใช้อย่างเป็นทางการ

เรื่องราวทั้งหมดล้วนเกิดขึ้นจากการทำงานภายใต้อุดมการณ์เดียวกัน เตอร์เป็นหนึ่งในคนทำงานอีกหลายคน ที่พิสูจน์ให้เห็นว่า เราทำในสิ่งที่เชื่อ เรายอมแลกกับทุกสิ่งเพื่อรักษาสัญญาที่ให้ไว้กับประชาชน