Never Forget: หนึ่งคนใช้ (กฎหมาย) หลายคนเดือดร้อน เปิดหูฟังเสียงผู้ได้รับ “ผลกระทบ” จากมาตรา 112
มนุษย์
Streamed live on Nov 20, 2022
iLaw
Never Forget: หนึ่งคนใช้ (กฎหมาย) หลายคนเดือดร้อน เปิดหูฟังเสียงผู้ได้รับ “ผลกระทบ” จากมาตรา 112
.
คุยกับ
.
🔵 อานนท์ นำภา จำเลยมาตรา 112 กว่าสิบคดี และทนายควา���มาตรา 112 กว่าสิบปี
🔵 สุริยศักดิ์ จำเลยยุค คสช. ที่ต้องติดคุกฟรีกว่าสองปี
🔵 ปริญญา หรือ พอร์ท ไฟเย็น จำเลยคดีมาตรา 112 ยุคหนีภัยไปประเทศเพื่อนบ้าน
🔵 จุฑาทิพย์ หรือ อั๋ว นักกิจกรรม Free Youth จำเลยคดีมาตรา 112 ยุคใหม่
.
ดำเนินรายการโดย ปรางชณา ภัทรนรากุล iLaw . สดจากตึกกิจกรรมนิสิต คณะรัฐศาสตร์ จุฬาลงกรณ์มหาวิทยาลัย
.....iLaw
1d
“บางวันกำลังนอนฝันเห็นหวย แต่กำไลอีเอ็มดันสั่นขึ้นมากลางดึก”
.
วันที่ 20 พฤศจิกายน 2565 ในวงสนทนากับผู้ได้รับผลกระทบจากมาตรา 112 #NeverForget หนึ่งคนใช้ (กฎหมาย) หลายคนเดือดร้อน
.
อานนท์ นำภา ทนายความสิทธิมนุษยชนเล่าถึงปัญหาการสู้คดีมาตรา 112 ว่า เขาถูกกล่าวหาเกี่ยวกับเนื้อหาที่ปราศรัยบนเวทีชุมนุม เป็นประเด็นเรื่องการปฏิรูปสถาบันกษัตริย์ อัยการบรรยายฟ้องเรื่องการที่อานนท์ปราศรัยไม่ว่าจะการที่รัชกาลที่สิบแปรพระราชฐาน การโอนอัตรากำลังพลและเรื่องทรัพย์สินเป็นเท็จ เขาในฐานะจำเลยขอให้ศาลออกหมายเรียกเอกสารที่เกี่ยวข้องเช่น งบประมาณสถาบันกษัตริย์ แต่ศาลไม่ออกหมายเรียกให้และบอกว่า ไม่เกี่ยวข้องกับคดี เมื่อไม่มีพยานหลักฐานในชั้นศาลเกิดปัญหาว่า จะพิสูจน์อย่างไร บางคดีศาลไปไกลบอกว่า ต่อให้พูดความจริงก็ผิดอยู่ดี ซึ่งมันเป็นการขยายวิธีพิจารณาความที่ประหลาด มันจะประหลาดที่มีบุคคลหนึ่งเกี่ยวพันกับรัฐ แต่เราไม่สามารถพูดถึงได้เลย แต่ตอนนี้คดีดำเนินไปโดยไม่มีหลักฐานเข้ามา
.
หรือคดีที่พื้นฐานเรื่องการนำทรัพย์สินของรัฐเป็นของตนเอง ทำให้กษัตริย์ถูกฟ้องร้องได้ เช่นรัชกาลที่เจ็ดถูกฟ้อง ยึดพระราชวังและขาย มีคำพิพากษาแล้วแต่อัยการบรรยายฟ้องว่า เป็นเท็จ เขาจึงขอคำพิพากษาศาลแพ่ง แต่ศาลไม่ออกหมายเรียกเอกสารให้ ทั้งหลายทั้งปวงเราก็ยังสู้คดีอย่างเมามัน “ผมคิดว่า ทุกคนในสังคมรู้ว่า สิ่งที่เราพูดไปเป็นความจริง โอเคอาจจะมีคนปราศรัยไม่เหมาะสมไปบ้างกับบริบทสังคมไทย แต่ว่า มันไม่ได้ผิด ไม่ได้เป็นการใส่ความ คือเป็นภาษาวัยรุ่น เรื่องพวกนี้เป็นกระพี้มากๆ” “มันพยายามจะย้อนกลับไปละเมิดสิทธิแบบโบราณาโดยอ้างเรื่องจารีตหรืออะไรก็ตาม แต่ทั้งนี้ทั้งนั้นมันชัดแล้วว่า ความชอบธรรมมันอยู่ฝั่งพวกเราคือ ถ้าไม่ชอบธรรมหลายคนไม่สามารถประกันตัวได้ เรือนจำและศาลเอง ในหลายๆคดีศาลก็รู้ว่าพวกนี้มันไม่ใช่อาชญากร มันเป็นคนที่ออกมาต่อสู้เพื่อประชาธิปไตย ทุกคนมีความบริสุทธิ์ใจ แต่ละคนไม่ได้มีเบื้องลึกเบื้องหลังใด”
.
อานนท์กล่าวถึงเงื่อนไขการประกันตัวหรือเรื่องอื่นๆที่เป็นข้อจำกัดหลังถูกดำเนินคดีมาตรา 112 ไม่ว่าจะการจำกัดเวลาที่จะออกบ้าน และทำกิจกรรมบางอย่างไม่ได้เช่น ลงทะเลไม่ได้ ไปว่ายน้ำกับลูกไม่ได้ จะเดินทางไปต่างจังหวัดก็ต้องขับรถไป ขึ้นเครื่องบินไม่ได้ บางวันกำลังนอนฝันเห็นหวย แต่กำไลอีเอ็มดันสั่นขึ้นมากลางดึกเขาบอกว่า มันหงุดหงิด การมีคนตามมันหงุดหงิด หรือเรื่องการโพสต์ข้อความแสดงออกที่ตำรวจอาจจะถอนประกันได้ “ข้อจำกัดมันเยอะมากแต่เราก็ดำเนินชีวิตแบบเย้ยยุทธจักร มึงห้ามกู ก็ใช้ชีวิตปกติ ห้ามพูดเรื่องสถาบันกษัตริย์เราก็พูด เรื่องความไม่เป็นธรรมนั่นนี่ การไปศาลว่า ความในคดี เอาเรื่องราวในศาลมาบอกเล่า”
.
“....เป็นชีวิตที่สนุกดี มันพยายามจะทำให้เราเป็นทุกข์ เครียด เราก็ต้องทำให้มันสนุกวันดีคืนดีเราชาร์จแบตอยู่ไฟวอบแวบๆ เราก็จิบเบียร์ดูไฟ เราก็คิดว่า เป็นไฟเทค อีกมุมหนึ่งให้สนุกกับมัน ไปศาลก็ไปอย่างรื่นเริง ล่าสุดก็เปลี่ยนสีผมหน่อย กวนตีน....อยู่กับมันให้ได้และสู้กับความจำกัด...”
.
อานนท์สรุปในเรื่องประมวลกฎหมายอาญามาตรา 112 ว่า มาตรา 112 ไม่ควรมีอยู่ มีปัญหาเช่น ตัวบทมีเรื่องโทษและการตีความของผู้ร้องทุกข์ ที่ทำให้อัยการกับตำรวจเป็นบ้าไปด้วย คดีขโมยพระบรมฉายาลักษณ์หน้าหมู่บ้าน ลากไป ตอนแรกตำรวจลักทรัพย์และศปปส.ไปแจ้งมาตรา 112 อ้างว่า ขโมยก็จริงแต่ต้องแบกด้วยความเคารพ สุดท้ายเป็นข้อหาที่เกินจริง ล่าสุดมีการแจ้งข้ามจังหวัดแบบกลั่นแกล้งกัน สิ่งที่เกิดขึ้นยกเลิกมาตรา 112 คงไม่พอ แต่ต้องทำให้สถาบันกษัตริย์เป็นสถาบันในระบอบประชาธิปไตยอย่างแท้จริง
.
สำคัญคือ การวิพากษ์วิจารณ์สถาบันกษัตริย์ คนรุ่นใหม่ใช้ถ้อยคำที่ไม่เหมาะสมบ้าง แต่แก่นคือเขาต้องการวิพากษ์วิจารณ์ที่เป็นผลดีต่อสถาบันกษัตริย์ ตัวอย่างคือ การออกมาวิจารณ์เรื่องขบวนเสด็จและท้ายสุดก็ปรับปรุงไม่ให้มีผลกระทบ ขณะนี้ เขามองว่า สถาบันมีการปรับตัวมากขึ้น ทำให้สถานะของสถาบันอยู่คู่กับประชาธิปไตยได้มากขึ้น ไม่เพียงเท่านี้ศาลเองก็ปรับตัวมากขึ้น เดิมสั่งพิจารณาลับ แต่เมื่อมีการวิพากษ์วิจารณ์ศาลก็ปรับตัวมากขึ้น แต่ต้นทุนในการปรับตัวก็มีบ้างเช่น การถูกดำเนินคดีแต่คิดว่า คุ้มค่าต่อสังคมที่เคลื่อนไปข้างหน้ามากขึ้น
.....
iLaw
1d
“ถ้าเข้าไปแล้วได้ประกันตัวแล้วสู้อย่างเป็นธรรมอีกเรื่องหนึ่ง แต่ของผมอยู่ศาลทหาร นัดฝ่ายโจทก์ ไม่มา...ไม่มา ไม่มาครั้ง 100 กว่าวัน 3-4 ครั้งร่วมปี”
.
วันที่ 20 พฤศจิกายน 2565 ในวงสนทนากับผู้ได้รับผลกระทบจากมาตรา 112 #NeverForget “หนึ่งคนใช้ (กฎหมาย) หลายคนเดือดร้อน"
.
สุริยศักดิ์ ฉัตรพิทักษ์กุล อดีตแกนนำนปช. จังหวัดสุรินทร์ เขาถูกจับกุมในคดีก่อการร้ายและอายัดซ้ำในคดีตามประมวลกฎหมายอาญามาตรา 112 คดีนี้ศาลชั้นต้นยกฟ้องแล้ว เขากล่าวว่า ก่อนรัฐประหาร 2549 ตอนนั้นเขาไม่มีความรู้ทางการเมืองเลย แต่เมื่อมีการรัฐประหารจึงสงสัยว่า ทำไมประเทศนี้มันแปลกจังเลย ตามด้วยการเรียกร้องประชาธิปไตยที่สนามหลวงจึงเข้าไปร่วมในลักษณะศึกษาการเมือง จากนั้นเข้าสู่ขบวนการเสื้อแดงก็ต่อสู้เรียกร้องเรื่อยมา จนกระทั่งรัฐประหาร 2557 ก็หยุดการเคลื่อนไหว วันที่ 18 มีนาคม 2560 เช้าตรู่คุณแม่มาเคาะประตู สุนัขที่บ้านร้องกันเสียงขรมเลย ผิดปกติ พอเขามองลงมาก็เห็นเจ้าหน้าที่จำนวนมาก ราวกับว่า มาจับคดีฆาตกรรม เจ้าหน้าที่แจ้งข้อกล่าวหา จากนั้นถูกพาตัวไปที่ค่ายทหารจังหวัดสุรินทร์ก่อน และพาคุมตัวในมทบ. 11 เป็นเวลาเจ็ดวัน ก่อนออกจากค่ายทหารไปที่กองปราบปราม เจ้าหน้าที่ปิดตาเขาและหิ้วปีกขึ้นรถ เหมือนกับเราเป็นผู้ต้องหารายสำคัญเลย
.
ที่กองปราบปราม มีตำรวจและกองทัพสื่อมวลชนเป็นร้อยชีวิตเลย บนโต๊ะที่แถลงข่าวมีอาวุธสงครามและวัตถุระเบิดเต็มไปหมดเลย เขาถามคู่คดีที่ไม่เคยรู้จักมาก่อนว่า เป็นของๆใคร ทุกคนปฏิเสธ สื่อออกข่าวหลายวัน แต่พอคดียกฟ้องแล้ว ความเสียหายที่เกิดขึ้นมันชดเชยอย่างไร สิ่งที่กระทำไปก่อนหน้านี้มันจะแก้ไขกันอย่างไร ต่อมาดีเอสไอ แจ้งข้อกล่าวหาว่า ก่อการร้าย และถูกฝากขังเจ็ดผลัด จากนั้นได้รับการปล่อยตัวและอายัดตัวซ้ำไปที่ปอท.แจ้งข้อกล่าวหามาตรา 112 และฝากขังยาว ให้เหตุผลว่า เป็นคดีโทษสูง เขาพยายามจะขอประกันตัวหลายครั้ง แต่ไม่ได้รับการประกันตัวระหว่างการพิจารณาเป็นเวลาสองปี ปัจจุบันศาลยกฟ้องแล้ว เหตุจากพยานหลักฐานไม่ชัดเจน
.
“เรารู้อยู่แล้วว่า การที่เรามาเป็นนักต่อสู้มันต้องเจอเหตุการณ์แบบนี้ไม่วันใดก็วันหนึ่ง เพราะฉะนั้นถ้าเกิดเราทำใจได้ไม่ว่าอะไรจะเกิดขึ้น ทุกคนที่เป็นนักต่อสู้คงจะคิดเหมือนผม ยิ่งมาโดนคดีต่างๆ มันเฉยๆ แต่ความรู้สึกจริงๆ ลึกๆ ความเป็นธรรมมันควรจะมีในประเทศนี้ ไม่ใช่เวทีของมึง กติกาก็ของมึง อย่างนี้มันไม่ใช่ในความรู้สึกของผม ถ้าที่ใดมีความยุติธรรมผมเชื่อแบบนี้”
.
สุริยศักดิ์เล่าว่า การดำเนินคดีในศาลทหารและศาลยุติธรรมมีความแตกต่างกัน ศาลยุติธรรมดำเนินกระบวนพิจารณาคดีไม่ถึงสองปีก็มีคำพิพากษาแล้ว แต่ศาลทหารไม่ใช่ ระหว่างการพิจารณาอัยการหมายเรียกพยานที่ร้องทุกข์ แต่เมื่อถึงวันนัดหมายพยานไม่มา ทำให้ต้องนัดหมายใหม่เรื่อยๆ และไม่เสร็จสิ้นจนกระทั่งศาลทหารหมดอำนาจในการพิจารณาคดีตามคำสั่งหัวหน้าคสช. เมื่อปี 2562 ต้องโอนคดีมาที่ศาลยุติธรรม [หมายเหตุ ศาลทหารดำเนินกระบวนการพิจารณาคดีที่ไม่ต่อเนื่อง นัดแบบ ‘ฟันหลอ’ เช่น นัดวันที่ 1 เดือนมกราคมและเว้นไปอีกเดือนหนึ่งหรืออาจหลายเดือน ต่างกับศาลยุติธรรมที่จะนัดต่อเนื่องเป็นสัปดาห์หรือเดือน]
.
ในประเด็นเรื่องมาตรา 112 สุริยศักดิ์กล่าวว่า ทุกคนอยากทำให้บ้านเมืองมันดีขึ้น ทีนี้กฎหมายมาตรา 112 คือ การใช้ปิดปากทั้งจากคนที่ไม่พอใจคนคิดต่าง หรือฝ่ายเผด็จการใช้เป็นเครื่องมือหยุดคนเห็นต่าง กระบวนการการพิจารณาคดีก็ต้องไปแก้ต่าง ในกระบวนการที่ถูกจับกุมและควบคุม ทำให้เสียเวลา ขณะที่อัตราโทษสูง และใครก็สามารถร้องทุกข์ได้ ความเฮงซวยคือ ผิดถูกอย่างไรก็ไปแก้ตัวในศาลแล้วกัน ซึ่งทำให้ได้รับผลกระทบ
.
“ผมมีครอบครัว ลูกกำลังเรียน กำลังใช้เงินใช้ทอง พอเสาหลักของครอบครัว เข้าไปลำบากเลย ทุกอย่างมันเปลี่ยนไปหมดเลย ถ้าเข้าไปแล้วได้ประกันตัวแล้วสู้อย่างเป็นธรรมอีกเรื่องหนึ่ง และของผมอยู่ศาลทหารด้วย นัดฝ่ายโจทก์ ไม่มา...ไม่มา ไม่มาครั้งหนึ่งร้อยกว่าวัน สามสี่ครั้งร่วมปี มาอยู่เหมือนกูบ้างสิมึงจะอยู่ยังไง...ไม่ใช่คนคิดต่างกับพวกมึงเป็นศัตรู มันไม่ใช่” ช่วงท้ายเขาย้ำว่า การเสนอยกเลิกมาตรา 112 ไม่ใช่การยกเลิกสถาบันฯ แต่คือ ทำให้มันถูกต้อง ทำให้มันดีขึ้น
.....
iLaw
1d
“ไม่ควรมีคนต้องถูกฆ่าเพราะเรื่องนี้ การวิจารณ์เป็นเรื่องปกติมากๆ เรื่อง 112 ไม่ควรจะมีแล้ว”
.
วันที่ 20 พฤศจิกายน 2565 ในวงสนทนากับผู้ได้รับผลกระทบจากมาตรา 112 #NeverForget “หนึ่งคนใช้ (กฎหมาย) หลายคนเดือดร้อน"
.
พอร์ท-ปริญญา ชีวินกุลปฐม สมาชิกวงไฟเย็น เล่าว่า ก่อนหน้ารัฐประหาร 2557 พอร์ทเล่นดนตรีกับวงทับทิมสยามและมีเหตุให้ต้องคลุกคลีกับวงไฟเย็นเรื่อยมา ช่วงนั้นก็ยังไม่ได้เข้าสมาชิกวงไฟเย็นและจับผลัดจับพลูมาเข้าวงไฟเย็นเนื่องจากมีสมาชิกออกไป จึงมีที่ว่างให้เขาเข้าร่วมสมาชิก การทำหน้าที่ของวงไฟเย็นเหมือนกับวงสามัญชนในปัจจุบันลักษณะรณรงค์ทางการเมือง เนื้อหาของเพลงวงนี้คือ เสียดสีสถาบันกษัตริย์ หลังการรัฐประหารสมาชิกวงไฟเย็นหลายคนถูกคสช.เรียกรายงานตัว จึงตัดสินใจลี้ภัยทางการเมืองไปที่ลาว ตัวเขาไม่ได้มีหมายเรียกรายงานตัวแต่ยังอยากทำเพลงกับเพื่อนร่วมวงจึงข้ามไปมาไทยลาวอย่างถูกกฎหมายต่อเนื่องเรื่อยมาจนถึงเดือนกรกฎาคม 2559 วันดังกล่าวเขาไปร้องเพลงที่อนุสรณ์สถาน 14 ตุลา จากนั้นถูกตำรวจเรียกไปที่สน.ชนะสงคราม อ้างเรื่องฉลากซีดีเพลง ทำให้เขาเริ่มกลัวว่า จะตกเป็นเป้าหมาย ต่อมาเขาจึงกลับไปที่ลาวและอยู่ยาว
.
ต่อมา ช่วงปลายปี 2561 เขาป่วยหนักต้องกลับมารักษาตัวที่ไทย พอร์ทถูกจับกุมตามหมายจับในเดือนมีนาคม 2564 เป็นคดีที่เขาไม่รู้มาก่อนว่า มีอยู่ หลังการจับกุมศาลอาญามีคำสั่งไม่ให้ประกันตัว พอร์ทบอกว่า ตอนนั้นทำใจแล้วคงไม่ได้ประกันแน่ เพราะเทียบเคียงกับสถานการณ์ในช่วงรัชกาลที่เก้าที่ผู้ถูกดำเนินคดีมาตรา 112 ต้องสู้คดีในเรือนจำ “ผมบอกคนที่อยู่ในคุก ในห้องเดียวกันว่า ติดยาวแน่นอน แน่นอนผมก็ต้องสู้ตามกระบวนการเผื่อได้มันก็ดี มันยื่นหลายครั้งไม่ได้สักที” ท้ายสุดศาลอาญามีคำสั่งปล่อยตัวชั่วคราวในเดือนพฤษภาคม 2564
.
“ผมคิดอยู่แล้วว่า มันต้องเจออะไรแบบนี้ มันต้องเจออยู่แล้ว จะช้าจะเร็วเท่านั้นเอง ผมยังคิดว่า ผมจะตายด้วยซ้ำ ถูกอุ้มฆ่าอย่างเพื่อนผม ยังคิดอยู่เลยว่า วงไฟเย็นโชคดีที่รอดมาได้ ที่เหลือก็อย่างที่เราเห็น...เราไม่อยากเห็นเรื่องนี้มันเกิด แต่เรารู้ว่า เผด็จการไทยมันเหี้ยเลยเป็นอย่างนี้ ไม่ควรมีคนต้องถูกฆ่าเพราะเรื่องนี้ การวิจารณ์เป็นเรื่องปกติมากๆ เรื่อง 112 ไม่ควรจะมีแล้วนะ ต่างประเทศหลายประเทศเขาไม่มีนะที่หมิ่นกษัตริย์แล้วติดคุก 3-15 ปีบางประเทศถึงมีก็ไม่ใช้ เลิกใช้เลย ทำไมประเทศไทยไม่เปลี่ยนตรงนี้ การพูดเรื่องนี้เป็นเรื่องธรรมดา เหมือนกับวิจารณ์นักการเมืองหรือคนอื่นในสังคม มันไม่ควรมีใครต้องติดคุก หรือถูกตามล่า ตามฆ่า ตามคุกคาม”
.
ในเรื่องมาตรา 112 พอร์ทระบุว่า เขายืนยันว่าต้องยกเลิกเท่านั้น สมมติแก้ไขให้ความผิดมันลดลง แต่ยังมีโทษจำคุกอยู่ดี ฉะนั้นจะไม่ทำให้นักโทษ 112 ได้ออกจากเรือนจำ ฉะนั้นถ้าต้องการให้ประเทศนี้ไม่มีนักโทษ 112 ต้องยกเลิกเท่านั้น ที่ผ่านมามีพรรคการเมืองที่เสนอให้แก้ไขมาตรา 112 เป็นการเคลื่อนไหวที่ดี ที่กล้าหาญ แต่ยังไม่เพียงพอ ขณะที่คณะก้าวหน้า โดยปิยบุตร แสงกนกกุล มีข้อเสนอให้ยกเลิกกฎหมายหมิ่นทั้งระบบ และร่างขึ้นมาใหม่คุ้มครองเทียมกันในมาตราเดียวกัน ไม่มีโทษจำคุก ซึ่งเขามองว่า เป็นข้อเสนอที่ฟังได้มากที่สุด พอร์ทระบุว่า ก่อนหน้านี้เขาจะวิจารณ์ท่าทีของพรรคอนาคตใหม่และปิยบุตรหลายเรื่อง
.
ทั้งนี้คดีมาตรา 112 ของพอร์ทสืบเนื่องจากการโพสต์เฟซบุ๊กสามข้อความระหว่างเดือนเมษายนถึงกรกฎาคม 2559 และดำเนินการสืบพยานในช่วงต้นปี 2565 วันที่ 15 สิงหาคม 2565 ศาลพิพากษาลงโทษจำคุกกรรมละ 3 ปีรวม 9 ปี จำเลยให้การเป็นประโยชน์ลดโทษเหลือ 6 ปี