วันเสาร์, เมษายน 04, 2558

“สภาวะชะงักงัน” ของระบอบรัฐประหาร



สรุปบทเรียน 22 พ.ค.57 (จบ): “สภาวะชะงักงัน” ของระบอบรัฐประหาร

โดย รศ.ดร.พิชิต ลิขิตกิจสมบูรณ์
ตีพิมพ์ครั้งแรกใน “โลกวันนี้วันสุข”
ฉบับวันศุกร์ที่ 3 เมษายน 2558

นักปรัชญาการเมืองยุคกรีกโบราณผู้ยิ่งใหญ่เคยกล่าวไว้ว่า ทรราชย์สามารถขึ้นสู่อำนาจได้ด้วยการหลอกลวงและฆ่าฟันผู้คน แต่เมื่อได้สถาปนาอำนาจปกครองเบ็ดเสร็จแล้ว ระบอบทรราชย์ไม่ว่าที่ใดในโลก แม้จะมีรูปธรรมที่แตกต่างกัน แต่ก็ล้วนประสบปัญหาเหมือนกันสองประการคือ ขาดความชอบธรรม และพฤติกรรมเลวร้ายของตัวทรราชย์เอง ด้วยเหตุนี้ ผู้ปกครองที่เป็นทรราชย์จึงมักจะอยู่ได้ไม่นาน

นักปรัชญาการเมืองยังชี้ต่อไปว่า ปัญหาการขาดความชอบธรรมนั้น ไม่ว่าผู้ปกครองจะทำอย่างไร ก็ไม่มีหนทางแก้ไขได้เพราะเป็นผลจากธรรมชาติและเนื้อแท้ของระบอบทรราชย์นั้นเองที่ปกครองด้วยการสร้างความกลัวในหมู่ประชาชน แต่ผู้ปกครองก็ยังอาจจะยืดอายุระบอบของตนออกไปได้ด้วยการผ่อนเบาพฤติกรรมเลวร้ายของตน ได้แก่ กลวิธีสองประการคือ แบ่งแยกฝ่ายต่อต้านมิให้สามารถรวมตัวกันได้ และประพฤติตนอย่างยับยั้งชั่งใจมิให้ไปละเมิดทรัพย์สินหรือครอบครัวของชนชั้นสูง (ในยุคสมัยปัจจุบัน อาจหมายถึง ผลประโยชน์ของชนชั้นกลางของสังคมที่เป็นฐานสนับสนุนระบอบทรราชย์นั้น)

แต่ถึงอย่างไร การล้มคว่ำลงของผู้ปกครองที่เป็นทรราชย์ก็ไม่อาจหลีกเลี่ยงได้ ในท้ายสุด ระบอบทรราชย์จะเข้าสู่ “สภาวะชะงักงัน” หรือ stasis ที่ซึ่งผู้ปกครองได้สูญเสียความยินยอมจากประชาชน และสูญเสียความสามารถในการสยบฝ่ายต่อต้านไป

ประวัติศาสตร์การเมืองของสังคมมนุษย์ช่วงสองพันปีมานี้ พิสูจน์แล้วว่า คำกล่าวข้างต้นถูกต้องอยู่เสมอ

ระบอบปกครองภายหลังรัฐประหาร 22 พฤษภาคม 2557 ก็เช่นเดียวกันคือ ประสบปัญหาสองประการ ได้แก่ ขาดความชอบธรรม และพฤติกรรมของผู้ใช้อำนาจเอง

การขาดความชอบธรรมนี้เห็นได้อย่างชัดเจนจากต้นกำเนิดที่สถาปนาขึ้นจากสถานการณ์รุนแรง การเคลื่อนไหวของอันธพาลบนท้องถนน ประชาชนทั้งสองฝ่ายและเจ้าหน้าที่ของรัฐบาดเจ็บล้มตายจำนวนมาก เป็นข้ออ้างให้ก่อการยึดอำนาจได้ แม้จะด้วยการสนับสนุนอย่างเข้มแข็งจากชนชั้นกลางในเมืองจำนวนมากที่ต้องการอาศัยอำนาจทหารไปกดและทำลายการต่อสู้ของคนชั้นล่างในเมืองและชนบท

การขาดความชอบธรรมยังเห็นได้จากวิธีการซึ่งก็คือ การใช้กฎอัยการศึก ศาลทหาร และอำนาจในมาตรา 44 ของรัฐธรรมนูญชั่วคราว ปกครองประชาชน ปราบปรามฝ่ายตรงข้าม สร้างความสงบราบคาบ ซึ่งก็คือ ใช้ความกลัวในหมู่ประชาชนเป็นเครื่องมือในการรักษาการปกครองไว้

ผู้ปกครองภายหลังรัฐประหารรู้สำนึกดีว่า การปกครองของตนนั้นขาดความชอบธรรม จึงได้พยายามที่จะสร้างความชอบธรรมขึ้น หรืออย่างน้อยก็ผ่อนเบาความไม่ชอบธรรมของตนด้วยการ “เร่งสร้างผลงาน” ดังจะเห็นได้ว่า ในระยะแรก ได้แสดงท่าทีเร่งรัดโครงการพัฒนาต่าง ๆ ทั้งด้านคมนาคม สาธารณูปโภค พลังงาน การจัดการน้ำ ฯลฯ สร้างภาพ “เผด็จการคุณธรรม” (benevolent dictatorship) หรือ “เผด็จอำนาจที่ทรงภูมิปัญญา” (enlightened despotism)

แต่ทว่า ปัจจุบัน ระบอบรัฐประหารได้ผ่านเข้าสู่ช่วงเวลาที่ยากลำบากอย่างยิ่งและกำลังมุ่งไปสู่ “สภาวะชะงักงัน” อย่างชัดเจน ที่ผู้ปกครองไม่สามารถปกครองได้อย่างราบรื่นอีกต่อไป แต่ขณะเดียวกัน ก็ไม่สามารถ “ถอย” จากการใช้อำนาจปกครองด้วยกฎอัยการศึก ศาลทหาร และม.44 ได้

ประการแรก ความพยายามที่จะสร้างความชอบธรรมหรือผ่อนเบาความไม่ชอบธรรมของตนด้วยการ “เร่งสร้างผลงาน” ตามรอยอย่างประเทศเผด็จการอื่น ๆ ไม่ประสบความสำเร็จ บรรดาโครงการต่าง ๆ มีลักษณะสะเปะสะปะ ไร้ทิศทาง ไม่มีบูรณาการบนฐานของภาพรวมเศรษฐกิจของประเทศ ยังเป็นเพียง “มติที่ประชุม” ที่ไร้ปฏิบัติในระยะปัจจุบัน จึงไม่มีผลไปกระตุ้น “การคาดหวังเชิงบวก” ในหมู่ประชาชนและธุรกิจ

ประการที่สอง ความรุนแรงทางการเมืองโดยอันธพาลการเมืองนับแต่ปลายปี 2556 ผ่านการรัฐประหาร จนถึงการใช้กฎอัยการศึกและศาลทหาร ได้ทำลายความเชื่อมั่นของประชาชนที่มีต่อเศรษฐกิจ สังคมและการเมืองของประเทศ การใช้จ่ายบริโภคและลงทุนในประเทศหยุดชะงัก ทำให้ระบบเศรษฐกิจไทยเข้าสู่สภาวะซบเซาตั้งแต่กลางปี 2557 เลวร้ายลงเป็นการถดถอยและ “เงินฝืด” ในต้นปี 2558 ความล้มเหลวทางเศรษฐกิจกำลังมีผลบั่นทอนแรงสนับสนุนจากประชาชนและชนชั้นกลางจำนวนมากขึ้นเรื่อย ๆ

ประการที่สาม การต่อต้านของรัฐบาลประเทศตะวันตกต่อรัฐประหาร กฎอัยการศึกและศาลทหาร เป็นไปอย่างรุนแรงและชัดเจน ทั้งความเย็นชาทางการทูต การระงับการเจรจาทางการค้า การชะลอการลงทุนของนักธุรกิจต่างชาติในประเทศไทย การเคลื่อนย้ายฐานการผลิตออกไปเนื่องจากความไม่มั่นคงทางการเมืองและการที่ประเทศไทยได้สูญเสียสิทธิพิเศษทางการค้ากับยุโรป ตลอดจนภาวะเศรษฐกิจโลกที่ซบเซาที่ทำให้การส่งออกสินค้าไทยเสื่อมทรามลง เหล่านี้เป็นการซ้ำเติมความไม่ชอบธรรมและสภาวะเศรษฐกิจถดถอยในประเทศให้เลวร้ายยิ่งขึ้น

ประการที่สี่ ความพยายามที่จะชดเชยการคว่ำบาตรจากประชาคมโลกด้วยการ “เล่นไพ่จีน” ไม่ประสบความสำเร็จ เพราะถึงที่สุดแล้ว แนวทางการเมืองต่างประเทศของจีนนั้นเป็นการแสวงหาประโยชน์เฉพาะตนฝ่ายเดียวที่เปล่าเปลือยและดุดันยิ่งกว่าสหรัฐอเมริกาและชาติตะวันตกอื่น ๆ เสียอีก จนตระหนักได้ว่า รัฐบาลเผด็จการจีนไม่อาจเป็นพันธมิตรระยะยาวทั้งทางเศรษฐกิจและการเมืองได้

ประการที่ห้า ปัจจัยสำคัญที่สุดนอกเหนือจากกฎอัยการศึก ศาลทหาร และ ม.44 ที่ทำให้ระบอบรัฐประหารในปัจจุบันยังคงอยู่ต่อไปได้อีกระยะหนึ่งก็คือ “เวลา” ซึ่งไม่ได้มีอยู่อย่างไม่จำกัด และกำลังจะหมดลงในเร็ววัน

ประการสุดท้าย แม้ว่าระบอบรัฐประหารจะประสบความสำเร็จในการแยกสลายขบวนประชาธิปไตย ด้วยการมึนชาตระกูลชินวัตรและพรรคเพื่อไทยให้ยินยอมไม่ต่อต้าน แล้วยังกลับ “ให้ความร่วมมือ” กับคณะรัฐประหาร รวมทั้งสามารถควบคุมและสลายเครือข่ายคนเสื้อแดงของพรรคเพื่อไทยได้ จากนั้นก็หันมาจัดการกับตระกูลชินวัตรด้วยการถอดถอนและดำเนินคดีอาญากับนางสาวยิ่งลักษณ์ ชินวัตร เป็นการยุติบทบาททางการเมืองของตระกูลชินวัตรและแยกสลายพรรคเพื่อไทยได้สำเร็จ แต่คณะรัฐประหารกลับเผชิญกับ “พลังต่อต้านใหม่” ที่คาดไม่ถึง ซึ่งก็คือ พลังนิสิตนักศึกษาปัญญาชน อดีตคนเสื้อแดงที่เคยต่อต้านนิรโทษกรรมเหมาเข่ง และกลุ่มคนชั้นกลางในเมือง “เสื้อขาว”

แม้ว่าการต่อต้านดังกล่าวจะยังมีขนาดเล็กและกระจัดกระจาย แต่พวกเขาก็มีสิ่งที่คณะรัฐประหารไม่สามารถทำลายได้คือ อุดมการณ์ประชาธิปไตย ความชอบธรรมทางการเมือง เครือข่ายสื่อสารไร้พรมแดน ความสนับสนุนจากประชาคมโลก และที่สำคัญคือ พวกเขามี “เวลา”

ดังเช่นที่นักปรัชญาการเมืองกรีกท่านนั้นได้กล่าวไว้ว่า ในที่สุด “สภาวะชะงักงัน stasis” จะแตกหักลงด้วยหนทางสามประการคือ ทรราชย์เก่าถูกแทนที่ด้วยทรราชย์ใหม่ ทรราชย์ถูกแทนที่ด้วยประชาธิปไตยจอมปลอมที่ชนชั้นนำยังคงผูกขาดอำนาจต่อไป และท้ายสุดคือ ทรราชย์เผชิญการปฏิวัติจากประชาชน