วันอังคาร, ธันวาคม 02, 2557

อย่าพลาดโอกาสไปร่วมงานสวดอภิธรรมศพ ของคุณ ศักดิ์ชัย บำรุงพงศ์ (เสนีย์ เสาวพงศ์) วัดธาตุทอง ยังมีโอกาสไปร่วมงานได้นะครับ







งานสวดอภิธรรมศพ ท่านทูตศักดิชัย บำรุงพงศ์(เสนีย์ เสาวพงศ์) ณ วัดธาตุทอง

สำหรับท่านที่พลาดโอกาสไปร่วมงานสวดอภิธรรมศพ ของคุณ ศักดิ์ชัย บำรุงพงศ์ (เสนีย์ เสาวพงศ์)

ท่านยังมีโอกาสไปร่วมงานได้นะครับ (โปรดอ่านจากป้ายนี้ !!!)

ป.ล. ขอขอบคุณภาพประกอบจาก Sa-nguan Khumrungroj บก. สำนักข่าวหงวนจัดให้ นะครับ

ooo

“เสนีย์ เสาวพงศ์” ผู้เป็น "คันฉ่อง" สะท้อน"ความอยุติธรรม" ตำนานนักเขียนแห่งประชาชนชาวไทย


ที่มา มติชนออนไลน์

ข่าวการสูญเสียของวงการวรรณกรรมไทย เมื่อวันที่ 29 พฤศจิกายนที่ผ่านมา คือการสูญเสียของเจ้าของนามปากกา "เสนีย์ เสาวพงศ์" ตำนานนักเขียน นักหนังสือพิมพ์ของเมืองไทย ศิลปินแห่งชาติสาขาวรรณศิลป์ ที่เสียชีวิตอย่างสงบในวัย96ปี

ชื่อ "เสนีย์ เสาวพงศ์" อันเป็นนามปากกาของ "ศักดิชัย บำรุงพงศ์" เป็นชื่อที่หนอนหนังสือ และผู้ที่เคลื่อนไหว(และเคยเคลื่อนไหว) ทางการเมืองและสังคมคุ้นหูเป็นอย่างดี ในฐานะเจ้าของผลงานวรรณกรรมชิ้นสำคัญและทรงอิทธิพลทางความคิดและจิตสำนึกทางการเมืองอย่างปฏิเสธไม่ได้

นามปากกา "เสนีย์ เสาวพงศ์" ผลิตงานจำนวนมากออกมา ตลอดระยะเวลา 6 ทศวรรษ ในวงการวรรณกรรมไทย งานเขียนของเสนีย์ เกี่ยวข้องเเละสัมพันธ์กับกระเเสวรรณกรรมต่างๆของสังคมไทย ทั้งในเชิงการจุดกระแสวรรณกรรมและสร้างสรรค์ผลงาน รวมถึงการเปลี่ยนกระบวนทัศน์ทางวรรณกรรมต่างๆ


ขณะที่ความสูญเสียครั้งนี้นั้น นอกจากแสดงให้เห็นถึงความสูญเสียด้านวรรณกรรมครั้งยิ่งใหญ่แล้ว ยังเป็นการสูญเสียบุคคลผู้เป็นพ่อของลูก ซึ่ง นางสาวศราพัส บำรุงพงศ์ บุตรสาว เปิดเผยกับ "มติชนออนไลน์"แสดงความรู้สึกว่าในฐานะลูก ถือเป็นการสูญเสียที่ยิ่งใหญ่มาก โดยตนมีความตั้งใจว่าจะพยายามเผยเเพร่งานของพ่อให้เผยเเพร่มากขึ้น ทั้งนี้เชื่อว่างานเขียนของพ่อเป็นวรรณกรรมที่สร้างเเรงบันดาลใจให้สังคมอย่างมาก อาทิวรรณกรรมเรื่อง"ปิศาจ"ที่กลายเป็นคัมภีร์ของนักศึกษา ซึ่งครั้งหนึ่งเคยเป็นหนังสือต้องห้ามในยุค 14 ตุลา และ 6ตุลา โดยถูกผู้ปกครองซึ่งเป็นเผด็จการยุคนั้นตามเผาถึงร้านหนังสือ แต่บางส่วนก็สามารถเหลือรอดมาได้จนถูกตีพิมพ์ขึ้นใหม่จนถึงทุกวันนี้
 


ทั้งนี้หนังสือเล่มดังกล่าวได้สร้างแรงบันดาลใจให้กับนักคิด นักเขียนรุ่นใหม่จำนวนมาก เช่น ดร.สมศักดิ์ เจียมธีรสกุล อ.คณะศิลปศาสตร์ ม.ธรรมศาสตร์ และ ศ.ดร.ชาญวิทย์ เกษตรศิริ อดีตอธิการบดีมหาวิทยาลัยธรรมศาสตร์ ที่เพิ่งเขียนถึงคุณพ่อ และกล่าวว่า หนังสือเรื่อง"ปีศาจ" และ"ความรักของวัลยา" เป็นวรรณกรรมที่ทำให้ตนเปลี่ยนความคิดและจุดประกายในหลายเรื่องๆ ทั้งนี้ในช่วงท้ายของชีวิต พ่อได้สอนในหลายๆเรื่องโดยเฉพาะการที่พ่อเป็นลูกชาวนา ก็ได้สอนให้ตนทำตัวให้อ่อนน้อม เป็นประโยชน์ต่อคนเล็กคนน้อยในสังคม เหมือนรวงข้าวยามแก่ตัวที่โน้มตัวลงสู่ดิน

"คือ คุณพ่อนี่มาจากลูกชาวนา คุณพ่อจะสอนเสมอว่า ไม่ว่าจะไปอยู่ที่ไหน จะทำอะไร ว่าอย่าลืมว่าเราคือธุลีดิน และทำตัวให้เหมือนรวงข้าว ที่พอใกล้จะสุก ก็จะโน้มลงดิน คือทำตัวให้เป็นประโยชน์ เหมือนกับข้าวที่เลี้ยงท้องประชาชน แต่เราต้องไม่หยิ่ง ไม่ผยอง ไม่ทรยศประชาชน " นางสาวศราพัส กล่าว

"ศราพัส"ยังยกตัวอย่างความพยายามเข้าใจและเห็นอกเห็นใจคนคนของพ่อ โดยยกตัวอย่างว่า

"คุณพ่อจะเป็นผู้ที่มีความเมตตาสูงมากกับผู้น้อย โดยเฉพาะกับคนระดับล่างของสังคมที่คนไม่ค่อยสนใจและอยากเหยียวเเล เช่นอย่างไปร้านอาหารก็คุยจนสนิทสนมกับเด็กเสิร์ฟ บางทีไปเล่นคุยตลกกับเขาจนถูกคุณแม่ดุบ่อยๆว่าเขาไม่รู้เรื่อง ไม่รับมุขกับเธอหรอก ก็เป็นอะไรที่ลูกๆเห็นอยู่ตลอดเวลาว่าคุณพ่อไม่ถือตัว มีเมตตาสูง และคุณพ่อเป็นคนยุติธรรม เป็นคนที่ยุติธรรมมาก"


ด้าน รศ.ดร.ตรีศิลป์ บุญขจร นักวิชาการด้านวรรณคดีเปรียบเทียบ คณะอักษรศาสตร์ จุฬาฯ เปิดเผยกับ "มติชนออนไลน์"ว่า นามปากกา" เสนีย์ เสาวพงศ์ "เป็นนักเขียนที่สร้างอิทธิพลให้กับคนหนุ่มสาวรุ่นหลังอย่างมาก ในการต่อสู้ของนิสิตนักศึกษายุค 14 ตุลาคม 2516 โดยเฉพาะเรื่อง"ปีศาจ" และ"ความรักของวัลยา" ถือเป็นผู้ที่บุกเบิกวงการวรรณกรรมไทยในหลายมิติ ทั้งในส่วนการใช้ภาษา โดยเฉพาะช่วงหลังสงครามโลกครั้งที่ 2 ที่งานเขียนของ เสนีย์ เสาวพงศ์ ถือเป็นคนที่บุกเบิกการนำเสนองานเขียนในวิธีคิดที่เห็นว่าศิลปะต้องเป็นไปเพื่อการรับใช้ชนหมู่มากในสังคมเป็นศิลปะเพื่อชีวิตช่วงเดียวกันกับศรีบูรพาซึ่งนำเสนอการต่อสู้ทางชนชั้นและอุดมคติที่ให้คนหนุ่มสาวทำงานควรจะทำงานเพื่อคนส่วนรวมจนกล่าวได้ว่าไม่มีใครที่เคยต่อสู้เพื่อสังคมและไม่เคยอ่านงานเขียนเรื่อง"ปีศาจ" และ "ความรักของวัลยา" ที่เป็นการนำเสนอความคิดเพื่อการเปลี่ยนแปลงไปสู่สิ่งที่ดีกว่า และถือเป็นหนังสือที่สร้างแรงบันดาลใจอย่างมากต่อคนหนุ่มสาว

ขณะที่งานเขียนยุคหลังอย่างเรื่อง "บัวบานในอะมาซอน" หรือ "ไฟเย็น"ที่กล่าวได้ว่าอาจจะเป็นวรรณกรรมยุคหลังอาณานิคมหรือ Postcolonial literature ของไทย ที่นำเสนอเรื่องราวของคนหนุ่มสาวในอเมริกาใต้ยุคหลังที่เจ้าอาณานิคมออกไป นอกจากนี้ยังมีเรื่องสั้นและความเรียงจำนวนมาก ดังนั้น การสูญเสียครั้งนี้ถือเป็นการสูญเสียครั้งยิ่งใหญ่ของสังคมไทย เป็นนักเขียนที่ได้ชื่อว่าเป็น "คันฉ่อง" และ "โคมฉาย"ผู้ที่สะท้อนให้เห็นความไม่เท่าเทียมในสังคม แต่ก็ได้ให้ความหวังในการเปลี่ยนแปลงกับคนรุ่นใหม่ และจะมีผลงานที่เป็นอมตะตลอดไป ไม่มีวันตาย


ประเด็นสำคัญเลยของอาจารย์ คือ การเป็นนักเขียน ไม่ได้เขียนเพื่อรับใช้อารมณ์ส่วนตัว งานของอาจารย์เป็นงานเพื่อคนส่วนใหญ่ตามแนวทางศิลปะเพื่อชีวิต อย่างที่ปรากฏในงานเขียนเรื่อง "ความรักของวัลยา"ที่เห็นว่าศิลปะที่ดีต้องทำเพื่อคนส่วนมากไม่ใช่ระบายอารมณ์ส่วนตัว แม้เรื่องราวที่ท่านเขียนจะเป็นเรื่องความรักของหนุ่มสาว แต่อาจารย์เคยไปบรรยายที่คณะอักษรศาสตร์จุฬาฯว่า อาจารย์พูดถึงความรักระหว่างชนชั้น แต่ในการพูดถึงความรักระหว่างชนชั้น อาจารย์พูดให้เห็นว่าสังคมมันไม่เท่าเทียมและความแตกต่างทางชนชั้นมันยังมีอยู่ และเป็นสิ่งที่จะต้องมีการเปลี่ยนแปลง เราจะเห็นแนวคิดนี้อยู่ในงานเขียนอาจารย์ทุกเรื่อง ทุกเล่ม จนถือเป็นแกนหลักของงานอาจารย์ ซึ่งเป็นวรรกรรมที่สร้างวาทกรรมชุดใหม่ในช่วงนั้นที่ทำให้เห็นว่าศิลปะควรรับใช้สังคม" รศ.ดร.ตรีศิลป์กล่าว

ทั้งนี้นายศักดิชัยถือเป็นนักคิดนักเขียนเจ้าของผลงานวรรณกรรมชื่อดังหลายเรื่อง และนักหนังสือพิมพ์ที่ทรงอิทธิพลอย่างมาก จนได้รับเลือกให้เป็นศิลปินแห่งชาติสาขาวรรณศิลป์ เมื่อปี 2528 และได้รับรางวัลศรีบูรพาอีกด้วย