วันพุธ, มกราคม 15, 2568

“มานี”: ความเปราะบางของชีวิตในเรือนจำ กับ ‘ความหวัง’ ที่ยังคงมีอยู่ "ถ้าขอพรสักข้อ จะขอให้ผู้ต้องขังทุกคนได้รับการประกันตัว เพราะสิทธิการประกันตัวเป็นสิทธิที่ผู้ต้องขังทุกคนควรได้รับ ทั้งขอให้ทุกคนได้ออกไปใช้ชีวิตกับครอบครัว มีโอกาสไปต่อสู้คดีข้างนอก"


ศูนย์ทนายความเพื่อสิทธิมนุษยชน
11 hours ago
·
“มานี”: ความเปราะบางของชีวิตในเรือนจำ กับ ‘ความหวัง’ ที่ยังคงมีอยู่
.
.
ต้นปี 2568 ทนายความได้เข้าเยี่ยม “มานี” เงินตา คำแสน ชาวยโสธร ที่ถูกตคุมขังในคดีตามมาตรา 112 และดูหมิ่นศาล จากกิจกรรม "ยืนบอกเจ้าว่าเราโดนรังแก" และการร้องเพลง "โชคดีที่มีคนไทย" หน้าศาลอาญากรุงเทพใต้ หลังถูกศาลพิพากษาจำคุก 3 ปี 6 เดือน และไม่ได้รับการประกันตัวระหว่างอุทธรณ์ การพบกันครั้งนี้เกิดขึ้นหลังจากห่างหายไปสองสัปดาห์เนื่องด้วยอาการป่วย
.
2 วันที่ทัณฑสถานหญิงกลาง บทสนทนานอกจากทบทวนถึงเรื่องราวในปีที่ผ่านมา และความคาดหวังสิ่งที่อยากเห็นในปี 2568 มานียังเล่าถึงชีวิตปัจจุบันในเรือนจำที่ต้องเผชิญทั้งความเจ็บป่วยและกฎระเบียบที่เข้มงวด แม้กระทั่งเรื่องเล็กน้อยอย่างการจำกัดการใช้เครื่องสำอาง ก็กลายเป็นอุปสรรคสำคัญในชีวิตประจำวันของผู้ต้องขังหญิงหลายคน
.
วันที่ 3 ม.ค. 2568
ทนายความได้พบมานีในช่วงเกือบเที่ยง หลังจากที่ต้องรอนานเนื่องจากเรือนจำมีกิจกรรมกีฬาสีปีใหม่และกิจกรรมเดินแบบผู้ต้องขัง อีกทั้งยังติดรอบเยี่ยมญาติ
.
มานีเล่าถึงอาการป่วยในสัปดาห์ที่ผ่านมา มีอาการหน้ามืด ความดันต่ำ ก่อนหน้านั้นมีอาการไข้ ไอ ประมาณ 2 วัน โดยในช่วงนี้มีผู้ต้องขังป่วยเป็นโรคติดต่อกันมาก เนื่องจากสภาพอากาศที่เปลี่ยนแปลงและสภาพเรือนจำที่แออัด
.
เธอได้ย้ายมาอยู่ห้องใหม่ที่เรือนนอนทับทิม ซึ่งมีสภาพดีกว่าห้องเดิมที่ค่อนข้างแออัดและมีปัญหาจาก "เด็กรอบ" (อดีตนักโทษที่กลับเข้ามาในเรือนจำใหม่) ที่นี่เธอพบเพื่อนที่รู้จักตั้งแต่อยู่แดนแรกรับ แม้จะต้องทำงานบางอย่างเองมากขึ้น เช่น ซักผ้า แต่เธอมองเป็นการผ่อนคลายไปในตัว
.
เรื่องที่น่ายินดี คือมานีได้รับจดหมายให้กำลังใจจากโครงการ Free Ratsadon ของแอมเนสตี้ อินเตอร์เนชั่นแนล ประมาณกว่า 2,000 ฉบับ แม้เจ้าหน้าที่จะอนุญาตให้อ่านเพียง 5 ฉบับ และโปสการ์ดอีก 4 ฉบับ โดยไม่อนุญาตให้นำติดตัวกลับไป ด้วยอ้างเหตุผลความกังวลเรื่องอคติทางการเมือง จดหมายที่ประทับใจเธอมากที่สุดคือจากนักศึกษาปี 1 ที่เขียนข้อความให้กำลังใจ พร้อมวาดรูปหยดน้ำและคลื่นว่า “หนูรู้จักน้าเพราะน้าต่อสู้เพื่อพวกเรา เป็นกำลังใจให้ค่ะ”
.
เมื่อทบทวนปีที่ผ่านมา ผู้ต้องขังวัย 44 ปี บอกว่าเป็นปีแห่งความสูญเสีย เจ็บปวดที่สูญเสียคนรุ่นใหม่ที่สามารถทำประโยชน์ให้กับสังคมได้อีกมาก อย่าง “บุ้ง” ไป และเป็นปีที่เหนื่อยกับการต่อสู้ แต่ไม่ได้ท้อ
.
ส่วนถ้าขอพรสักข้อ จะขอให้ผู้ต้องขังทุกคนได้รับการประกันตัว เพราะสิทธิการประกันตัวเป็นสิทธิที่ผู้ต้องขังทุกคนควรได้รับ ทั้งขอให้ทุกคนได้ออกไปใช้ชีวิตกับครอบครัว มีโอกาสไปต่อสู้คดีข้างนอก
.
วันที่ 10 ม.ค. 2568
มานีเล่าถึงอาการป่วยของเธอว่ายังคงเหมือนเดิม แต่กำลังประสบปัญหาความอึดอัดจากกฎระเบียบที่เข้มงวดของผู้ปกครองเรือนนอนคนใหม่ โดยเฉพาะการจำกัดการใช้ห้องน้ำระหว่างกิจกรรม ส่งผลให้ระบบการขับถ่ายของเธอผิดปกติไปจากเดิมที่เคยเป็นเวลา
.
ปัญหาสำคัญอีกประการคือการห้ามผู้ต้องขังพกเครื่องสำอางลงมาจากเรือนนอน อนุญาตเพียงลิปและกระจกส่องหน้าเท่านั้น หากฝ่าฝืนจะถูกลงโทษให้บำเพ็ญประโยชน์ทั้งเรือนนอน ประมาณ 300-400 คน โทษที่กำหนด เช่น การล้างห้องน้ำ มานีรู้สึกไม่เข้าใจกฎระเบียบนี้ เพราะทางเรือนจำเองก็มีการขายเครื่องสำอาง แต่กลับห้ามนำมาใช้ ให้เก็บไว้ในล็อกเกอร์ ซึ่งมีเวลาเปิด-ปิดที่จำกัด
.
นอกจากนี้ตารางเวลาประจำวันที่เข้มงวดก็ทำให้ผู้ต้องขังลำบาก เริ่มจาก 06.00-06.30 น. เป็นเวลาอาบน้ำ และ 07.15 น. ต้องขึ้นแถวนับยอดและเคารพธงชาติ ล็อกเกอร์จะเปิดให้ใช้เฉพาะช่วงอาบน้ำจนถึงก่อนขึ้นแถว ซึ่งเวลาค่อนข้างกระชั้น ทำให้ไม่มีเวลาแต่งหน้า ผู้ต้องขังจึงต้องพกเครื่องสำอางลงมาใช้หลังพิธีเคารพธงชาติ แต่กลับถูกตำหนิและลงโทษ อีกทั้งไม่สามารถนำกลับไปเก็บได้เพราะล็อกเกอร์ปิดแล้ว
.
มานีสะท้อนความรู้สึกว่าไม่ใช่เพียงเธอคนเดียวที่รู้สึกอึดอัด ผู้ต้องขังคนอื่นก็รู้สึกเช่นเดียวกัน เพราะสิ่งเล็ก ๆ น้อย ๆ เหล่านี้ช่วยบรรเทาความหดหู่ในเรือนจำได้ “สิ่งเล็ก ๆ พวกนี้มันทำให้เรารู้สึกดีได้ ทำไมต้องห้ามกันด้วย”
.
อย่างไรก็ตาม มานีเห็นความเปลี่ยนแปลงที่ดีขึ้นในเรื่องการจ่ายยา โดยเฉพาะการเข้าถึงยาที่จำเป็น เช่น ยาเหน็บช่องคลอด ซึ่งเธอคิดว่าอาจเป็นผลจากการที่เธอได้พูดในวันปฐมนิเทศเมื่อปีที่แล้ว และเธอแจ้งว่าจะมีเจ้าหน้าที่จากกระทรวงสาธารณสุขมาเยี่ยมเรือนจำในวันที่ 27 ม.ค. 2568 แต่ไม่แน่ใจว่าจะถูกกันตัวไว้บนเรือนนอนเหมือนครั้งก่อนหรือไม่
.
.
อ่านบันทึกเยี่ยมเต็มที่ลิงค์ในคอมเมนต์

https://tlhr2014.com/archives/72215