วันอาทิตย์, กรกฎาคม 03, 2565

บทแนะนำหนังสือ อ.ธงชัยที่ได้รางวัลจาก EUROSEAS "ช่วงขณะแห่งความเงียบงัน: สภาวะลืมไม่ได้จำไม่ลงของการสังหารหมู่ 6 ตุลา 2519 ที่กรุงเทพฯ)" มีคลิป งานเสวนาเปิดตัวหนังสือ


Puangthong Pawakapan
15h

บทแนะนำหนังสือ Moments of Silence: The Unforgetting of the Oct 6, 1976 massacre in Bangkok (U. of Hawai'i Press, 2020) (ช่วงขณะแห่งความเงียบงัน: สภาวะลืมไม่ได้จำไม่ลงของการสังหารหมู่ 6 ตุลา 2519 ที่กรุงเทพฯ)
ในโอกาสที่หนังสือได้รับรางวัลชนะเลิศสำหรับหนังสือสายมนุษยศาสตร์ประจำปี 2022 จากสมาคมยุโรปเพื่อเอเชียตะวันออกเฉียงใต้ศึกษา หรือ EUROSEAS ขอนำส่วนหนึ่งของข้อเขียนของตัวเองที่ใช้สำหรับเปิดตัวหนังสือ MoS เมื่อวันที่ 6 พ.ย.2020 มาแปะให้ผู้สนใจได้อ่าน สำหรับคลิปเสวนาฉบับเต็ม ดูลิงค์ที่แปะไว้ด้านล่าง แนะนำให้ฟังความเห็นอ.เกษียร เตชะพีระ และคุณก้อง ฤทธิ์ดี สนุกมากค่ะ
• หนังสือเล่มนี้เป็นเรื่องเกี่ยวกับอะไร
ไม่ใช่การเล่าเรื่องว่าเกิดเหตุการณ์อะไรขึ้นบ้างในวันที่ 6 ตุลา ไม่ใช่การวิเคราะห์ว่าใคร กลุ่มใด หรือสถาบันอะไรเกี่ยวข้องกับเหตุการณ์ 6 ตุลาบ้าง แต่หนังสือเล่มนี้เป็นการศึกษาความทรงจำของ 6 ตุลาที่เปลี่ยนแปลงไป เป็นการศึกษาความทรงจำของปัจเจกบุคคล ความทรงจำร่วม (collective memories) ของทั้งฝ่ายซ้าย ฝ่ายขวา ของเหยื่อ และของผู้กระทำความรุนแรง (perpetrators) ของคนเดือนตุลา ของนักวิชาการรุ่นใหม่
ศึกษาความทรงจำ/ลืม 6 ตุลาในกระแสสังคมในแต่ละช่วงเวลา ความทรงจำเหล่านี้แปรเปลี่ยนได้ (โปรดสังเกตว่า Moments of silence มี s) หนังสือเล่มนี้จึงมุ่งอธิบายเงื่อนไขปัจจัยที่ส่งผลต่อความเปลี่ยนแปลงความทรงจำของแต่ละฝ่ายในแต่ละช่วงขณะ
แต่ผู้อ่านมือใหม่ไม่ต้องกังวลว่าถ้าตนไม่มีความรู้เกี่ยวกับประวัติศาสตร์การเมืองไทยสมัยใหม่ แล้วจะอ่านไม่รู้เรื่อง เพราะ อ.ธงชัยจะอธิบายบริบทการเมืองแต่ละช่วงเวลาตั้งแต่ทศวรรษ 2510 จนถึงปัจจุบัน ประกอบการวิเคราะห์ในแต่ละบท เพราะเงื่อนไขทางการเมืองและสังคมในแต่ละช่วงขณะในประวัติศาสตร์เป็นส่วนสำคัญข องกรอบการวิเคราะห์ที่ธงชัยใช้ คือ “Chronopolitics of memory”
• อะไรคือสภาวะที่ธงชัยเรียกว่าเป็น the Unforgetting – ลืมไม่ได้ จำไม่ลง
o ดิฉันเข้าใจว่า เวลาคนส่วนใหญ่ รวมถึงรุ่นพี่ที่ผ่านเหตุการณ์ 6 ตุลามา กล่าวถึงว่า 6 ตุลาเป็นเหตุการณ์ที่ลืมไม่ได้ จำไม่ลงนั้น เรามักจะเข้าใจกันว่า 6 ตุลาคือประวัติศาสตร์บาดแผลที่นิสิตนักศึกษา ถูกกระทำอย่างโหดเหี้ยมทารุณ โดยผู้กระทำผิดไม่เคยต้องรับผิด ขณะที่เหยื่อกลับต้องทุกข์ทนอยู่ในความเงียบ อยู่ในความกลัว ไม่สามารถตั้งคำถามหรือหาคำตอบได้ว่าใครบ้างที่อยู่เบื้องหลังเหตุการณ์นี้ ไม่สามารถทวงคืนความยุติธรรมให้กับผู้ที่สูญเสียได้ ในทางกลับกัน ประวัติศาสตร์บาดแผลนี้กลับไม่มีที่ทางในสังคมอย่างที่มันควรจะเป็น มันมีความพยายามที่จำทำให้การสังหารหมู่ 6 ตุลาไม่ถูกจดจำโดยสังคมไทย มีความพยายามทำให้มันถูกลืม หรือไม่ยอมรับว่ามันเกิดขึ้นจริง แต่พวกเขาก็ลืมไม่ได้ และจะไม่มีวันลืม .... สภาวะการลืมไม่ได้ จำไม่ได้ลงนี้ ได้กลายเป็นบาดแผลในใจ กลายเป็นความเงียบ หรืออาจเป็นความกลัว ความคับแค้นใจต่อความอยุติธรรมที่เกิดขึ้น นี่คือนิยามของภาวะลืมไม่ได้ จำไม่ลง ที่เราคุ้นเคยกัน .... ซึ่งไม่ผิด แต่ไม่ใช่ทั้งหมด
o ในหนังสือเล่มนี้ (และจริงๆ บทความภาษาไทยอีกหลายชิ้นที่รวมอยู่ในหนังสือ "6 ตุลา: ลืมไม่ได้ จำไม่ลง" พิมพ์โดยสนพ.ฟ้าเดียวกัน) ธงชัยชี้ให้เห็นว่า สภาวะลืมไม่ได้ จำไม่ลง ของคนกลุ่มต่าง ๆ มีความแตกต่าง หลายหลายมาก และมันไม่ได้หยุดนิ่ง ตายตัวเสมอไป แต่มันสามารถแปรเปลี่ยน ผิดเพี้ยน ลื่นไหลไปตามเงื่อนไขปัจจัยต่างๆในแต่ละช่วงเวลา และการรับมือกับความทรงจำบาดแผลของคนแต่ละกลุ่ม แต่ละบุคคล ก็แตกต่างกัน.
o สภาวะลืมไม่ได้ จำไม่ลงของ 6 ตุลาในแต่ละช่วงเวลาในประวัติศาสตร์ ก็ส่งผลต่อสมาชิกของกลุ่มฝ่ายขวา ในระดับที่แตกต่างกันด้วยเช่นกัน ความทรงจำหรือเรื่องเล่าเกี่ยวกับ 6 ตุลาในทัศนะของฝ่ายขวาก็ถูกกำกับ ปรับเปลี่ยนด้วยเงื่อนไขทางการเมืองเช่นกัน เช่น หลัง 6 ตุลาใหม่ ๆ พวกเขาต่างภาคภูมิใจในวีรกรรมของตนเอง ที่มีส่วนสำคัญในการป้องกันชาติบ้านเมืองจากภัยคอมมิวนิสต์ แต่เมื่อเวลาผ่านไป 6 ตุลากลายเป็นภาพแทนของความเหี้ยมโหดผิดมนุษย์มนา ไม่มีที่ทางให้กับการเมืองแบบขวาจัด พวกเขาต้องอยู่อย่างเงียบๆ ไม่กล้าโอ้อวดวีรกรรมของตนเอง ... หรือฝ่ายขวาจัดที่เราเห็นกันอยู่ทนโท่ในปี 2519 แต่พอถึงทศวรรษ 1980 พวกเขาต่างพยายามถีบตัวเองออกห่างจากเหตุการณ์ 6 ตุลา เช่น คนอย่าง สมัคร สุนทรเวช จำลอง ศรีเมือง และนักการเมืองกลุ่มซอยราชครู (ชาติชาย ชุนหะวัณ และประมาณ อดิเรกสาร คือหัวหอกของกลุ่มขวาพิฆาตซ้ายในขณะนั้น)
o ในส่วนของฝ่ายผู้ถูกกระทำ ธงชัยแสดงให้เห็นถึงผลกระทบต่อเหยื่อที่แตกต่างหลากหลาย พวกเขามีหลายอย่างที่ร่วมกัน เช่น ความทุกข์ระทมจากการสูญเสียคนที่รักไป และคับแค้นต่อความอยุติธรรมที่เกิดขึ้น แต่ไม่ใช่ทุกคนอยู่ในความเงียบ หรือความกลัว และความเงียบสำหรับบางคนไม่ได้แปลว่าความกลัวเสมอไป
o ความเงียบของบางคนอาจหมายถึง “ความหวัง” ดังเช่น กรณีพ่อจินดาและแม่ลิ้ม ทองสินธุ์ (คุณพ่อคุณแม่ของจารุพงษ์ ทองสินธุ์) ความเงียบของท่าน หมายถึงความหวัง หมายถึงการรอคอยว่าวันหนึ่งลูกจะกลับบ้าน แต่ความจริงต่างหากที่มาทำลายความหวังของท่าน ... ซึ่งสิ่งนี้ตรงกันข้ามกับสิ่งเรามักจะพูดกันว่า ความจริงคือความยุติธรรม ความทรงจำบาดแผลจะได้รับการเยียวยาต่อเมื่อเหยื่อได้รับรู้ความจริง สังคมจะเดินหน้าต่อไปได้ก็ต่อเมื่อเราได้รับรู้ความจริง อันนี้อาจจะเป็นความจริงในระดับสังคม (ดิฉันเองก็เรียกร้องสิ่งนี้มาตลอด) แต่ในระดับปัจเจกบุคคล ความจริงอันโหดร้ายทำให้ความหวังของพ่อแม่คู่หนึ่งต้องสิ้นสุดลง -- ความหวังว่าวันหนึ่งลูกจะกลับมา
o อีกตัวอย่างของภาวะลืมไม่ได้ จำไม่ลง คือกรณี “คนเดือนตุลา” ในฐานะที่เป็น the praxis of memory – ปฏิบัติการของความทรงจำ (บทที่ 10) ธงชัยมองว่า “คนเดือนตุลา” คืออัตลักษณ์ร่วม ที่ถูกสร้างจากความทรงจำร่วม (collective memory) ของคนที่อยู่ในช่วงเหตุการณ์ 14 และ 6 ตุลา เป็นอัตลักษณ์ร่วมที่ก่อตัวขึ้นมาในปี 2539 โดยอ.เสกสรรค์ ประเสริฐกุล จากคำปราศรัยของอ.เสกสรรค์ในงาน 20 ปี 6 ตุลา อันเป็นวาระที่พวกเขาสามารถทำลายความเงียบของ 6 ตุลาได้เป็นครั้งแรก อ.ธงชัยมองว่า “คนเดือนตุลา” ไม่ได้หมายถึงองค์รวมของอดีตนักกิจกรรมเดือนตุลาแต่ละคน ไม่ได้หมายถึงใครบางคนจริงๆ แม้ว่าจะมีคนอยู่ในกลุ่มนี้จริง ๆ แต่คือ “อัตลักษณ์ร่วมทางการเมือง” ที่ถูกสร้างขึ้นมาในช่วงขณะหนึ่งทางประวัติศาสตร์ อันเป็นช่วงขณะที่พวกเขาสามารถทำลายกำแพงที่กดประวัติศาสตร์ของพวกเขาไว้ถึง 20 ปี
o ประเด็น “คนเดือนตุลา” โต้แย้งกับหนังสือ The Rise of the Octobrists ของ อ.กนกรัตน์ เลิศชูสกุล - เรื่องนี้ คนที่สนใจควรกลับไปอ่านเอง และจะเห็นว่า approach ของทั้งสองคนแตกต่างกัน -- สมมติฐานเริ่มต้นที่ต่างกัน ก็จะทำให้เราได้ภาพและข้อสรุปที่ต่างกัน
o กรอบการวิเคราะห์ Chronopolitics of memory คืออะไร?
เราไม่สามารถทำความเข้าใจความทรงจำ/ความเงียบของ 6 ตุลา โดยไม่ทำความเข้าใจการเปลี่ยนแปลงทางการเมืองในแต่ละช่วงเวลาได้ ซึ่งความเปลี่ยนแปลงที่ว่านี้เกี่ยวข้องกับสารพัดปัจจัย ไม่ว่าจะเป็นความสัมพันธ์ทางอำนาจที่เปลี่ยนไปของคนแต่ละกลุ่ม วาทกรรมทางการเมือง (ว่าด้วยความมั่นคงของชาติ ความรู้รักสามัคคีของคนในชาติ ความปรองดองสมานฉันท์- ความเป็นไทย พลังของอุดมการณ์ชาติ ศาสน์ กษัตริย์) คติความเชื่อแบบพุทธ กฎหมาย ตลอดจนการล่มสลายของ พคท. การสิ้นสุดของสงครามเย็น ค่านิยมทางการเมืองของคนรุ่นใหม่ การเมืองสีเสื้อ และการเติบโตของขบวนการนักเรียนนิสิตนักศึกษาในปัจจุบัน
ปัจจัยต่างๆ เหล่านี้มีพลังต่อกลุ่มคน ในช่วงเวลาหนึ่ง ๆ แตกต่างกันไป นั่นหมายความว่า ความทรงจำหรือความเงียบ ไม่ใช่สิ่งที่หยุดนิ่งตายตัว แต่สามารถจะถูกปรับ ถูกแก้ไข ลื่นไหล ผิดเพี้ยนได้ ถูกอธิบายใหม่ได้ ถูกทำให้มีชีวิตใหม่ได้ เช่น ในช่วงเวลาหนึ่ง 6 ตุลาคือความเงียบของคนรุ่นหนึ่ง แต่ 20 ปีให้หลัง 6 ตุลา (และ 14 ตุลา) กลายมาเป็นส่วนหนึ่งของอัตลักษณ์ที่น่าภาคภูมิใจของคนที่เรียกตัวเองว่าเป็น “คนเดือนตุลา”
ขณะเดียวกัน การต่อสู้ทางการเมืองของฝ่ายต่าง ๆ หรือคนเดือนตุลาที่กลายเป็นรอยัลลิสต์ เป็น กปปส. ก็ทำให้ “คนเดือนตุลา” กลายมาเป็นอัตลักษณ์ที่คนรุ่นใหม่หัวเราะเยาะเย้ยถากถางได้เช่นกัน
อย่างไรก็ตาม แม้ว่าธงชัย จะให้ความสำคัญกับเงื่อนไขทางสังคมและการเมืองในแต่ละช่วงเวลา แต่ก็ไม่ได้ละเลย การเลือก การตัดสินใจของปัจเจกบุคคล ที่จะทำหรือไม่ทำอะไร กระนั้น การเลือกการตัดสินใจของปัจเจกบุคคล หรือกลุ่มบุคคล ก็ไม่ได้กระทำในสภาวะสูญญากาศ แต่มีเงื่อนไขปัจจัยที่ธงชัย พยายามทำความเข้าใจ พูดแบบนี้ไม่ได้แปลว่า ธงชัยกำลังบอกว่า ฉะนั้น ปัจเจกบุคคลไม่ต้องรับผิดชอบอะไร หรือไม่สำคัญ แต่ดิฉันคิดว่าธงชัยเสนอว่าเราสามารถมี judgement ต่อ “การกระทำของบุคคลหรือกลุ่มบุคคล” แต่ขอให้เรามองเห็นเงื่อนไขปัจจัยที่ร้อยรัดพวกเขาไว้
ลิงค์งานเสวนาเปิดตัวหนังสือ https://www.youtube.com/watch?v=raiGWajbzI4

จาก 6 ตุลา 19 ถึง 6 ตุลา 63 เปิดตัวหนังสือ Moment of Silence : The Unforgetting of october 6, 1976

Streamed live on Nov 6, 2020

PITVFANPAGE

งานเสวนา เนื่องในโอกาสเปิดตัวหนังสือ Moment of Silence : The Unforgetting of october 6, 1976, Massacre in Bangkok จาก 6 ตุลา 19 ถึง 6 ตุลา 63 "ความเงียบ ความทรงจำ ความจริง" ร่วมเสวนาโดย
- ศ.ดร.เกษียร เตชะพีระ (รัฐศาสตร์ มธ.)
- รศ.ดร.พวงทอง ภวัครพันธุ์ (รัฐศาสตร์ จุฬาฯ)
- ก้อง ฤทธิ์ดี (นักเขียน – วิจารณ์ภาพยนตร์)
- ศ.ธงชัย วินิจจะกูล (วิสคอนซิน สหรัฐอเมริกา)
- ผศ.ดร.ประจักษ์ ก้องกีรติ (รัฐศาสตร์ มธ.) ดำเนินรายการ
ณ ห้อง ร. 103 ชั้น 1 คณะรัฐศาสตร์ มธ. ท่าพระจันทร์ วันที่ 6 พฤศจิกายน 2563